วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

"รัฐประหารไทยในสายตาสื่อเทศ" : ชื่อนั้นสำคัญเช่นนี้


หมายเหตุ
บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทความ

"รัฐประหารไทยในสายตาสื่อเทศ" โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ จากหนังสือ

"รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

ของทาง สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน




ชื่อนั้นสำคัญเช่นนี้


“คณะปฏิรูปการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไม่เพียงทำให้คนไทยมีปัญหาในการจำชื่อคณะรัฐประหารอันยาวเหยียด และทำให้ผู้ประกาศข่าวบางคนถึงกับตะกุกตะกักในการอ่านข่าววันแรก ๆ สื่อต่างประเทศเองก็ประสบปัญหาไม่น้อยในการแปลชื่อนี้ แถมไม่ยอมเชื่อด้วยว่า ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อเต็ม ๆ ของคณะรัฐประหารจริง ๆ

ในสองสามวันแรก ทั้งสำนักข่าวและหนังสือพิมพ์ในต่างประเทศดูเหมือนจะเชื่อว่า ชื่อของคณะรัฐประหารคือ ”คณะปฏิรูปการปกครอง” เท่านั้น โดยวลีส่วนที่เหลือเป็นแค่คำขยายความ ความเข้าใจเช่นนี้เองที่ทำให้มีการตีความขยายเกินเลยเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในการรัฐประหาร

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian) แปลชื่อของ คปค. เพียงแค่ว่า “Council of Administrative Reform” เฉย ๆ โดยไม่มีสร้อยต่อท้าย สำนักข่าวเอพีแปลว่า “Council of Administrative Reform” แล้วขยายความต่อท้ายว่า with King Bhumibol Adulyadej as head of state. (“คณะปฏิรูปการปกครอง” อันมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นประมุข)

สำนักข่าวอินดีเพนเดนท์แปลว่า “Council of Administrative Reform” with the King as head of state. (“คณะปฏิรูปการปกครอง” อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”)

หนังสือพิมพ์เทเลกราฟแปลโดยไม่ใส่เครื่องหมายคำพูดเจาะจงที่วลีไหนว่า “…that a council for political reform, with the king as head of state…” (“...คณะปฏิรูปการเมืองซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...”

ส่วนหนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลเฮรัลด์ทรีบูน (International Herald Tribune) แปลแบบนี้ว่า ‘…a “council of administrative reform” including the military and the police had seized power in the name of King Bhumibol Adulyadej.’ (‘...”คณะปฏิรูปการปกครอง” อันประกอบด้วยกองทัพและตำรวจได้ยึดอำนาจในพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช’) (Seth Mydans and Thomas Fuller, “Military seizes power in Thailand,”International Herald Tribune, 19/09/2006.)

แต่อีกบทความหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน กลับเขียนออกมาดังนี้: “The Administrative Reform Council, which has his Majesty the King as its leader,...”

“คณะปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้นำ...” !

(Thomas Fuller, “Leader of coup in Thailand sets timetable,” International Herald Tribune, 20/09/2006.)

และโปรดสังเกต หนังสือพิมพ์และสำนักข่าวต่างประเทศทั้งหมดพร้อมใจกันตัดคำว่า “ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย” ออกไปจากชื่อของ คปค. เสียเฉย ๆ

ตรรกะของสื่อต่างประเทศคงเป็นไปในทำนองนี้: ก็ในเมื่อการรัฐประหารไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย การมีคำว่า “ประชาธิปไตย” อยู่ในชื่อของ คปค. จึงขัดแย้งในตัวเอง คอลัมนิสต์ชาวต่างชาติจึงจัดการแก้ไขข้อขัดแย้งนั้นให้เองโดยพลการ

แต่ในภาษาไทย เมื่อพ้นจากช่วงแรกของความตะกุกตะกักและความขบขันตาม “ลักษณะเฉพาะแบบไทย ๆ” ไปแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ชื่อ “คณะปฏิรูปการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แม้ไม่กระชับกะทัดรัด แต่ก็ตั้งชื่อได้ดีในแง่ของการแสดงวัตถุประสงค์ คนไทยสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า คปค. ต้องการทำอะไร มีเป้าหมายอย่างไรและตั้งอยู่ภายใต้อุดมการณ์อะไร รัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในเรื่องของ “การปกครอง” หรือการบริหารราชการแผ่นดิน ชื่อของ คปค.ก็ระบุชัดเจนว่า สิ่งที่คณะรัฐประหารประกาศจะเข้ามาแก้ไขคือ “การปกครอง” และไม่ว่าแก้ไขออกมาแบบไหนอย่างไร ประเทศไทยก็จะยังอยู่ภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยไม่มีทางเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปได้ อีกทั้งเมื่ออ่านชื่อภาษาไทยของ คปค. แล้ว ชาวไทยย่อมไม่คิดสับสนไปเองว่า พระมหากษัตริย์ทรงเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

น่าเสียดายที่ คปค. ไม่ได้เตรียมชื่อภาษาอังกฤษไว้ล่วงหน้า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวคิดของคณะผู้ก่อการยังมีลักษณะแบบ “ไทย ๆ” ดังที่สะท้อนอยู่ในคำให้สัมภาษณ์ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และ นายอานันท์ ปันยารชุน กล่าวคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นกิจการภายในของประเทศไทย คนไทยมีวิธีการแก้ปัญหาแบบไทย และประชาธิปไตยของเราก็ไม่ต้องเหมือนใคร แนวคิดในแบบ “คิดระดับโลก ปฏิบัติระดับท้องถิ่น” (“think global, act locally”) ยังเป็นของแปลกและแปลกแยกสำหรับชนชั้นนำบางกลุ่มและกองทัพไทย

ซ้ำร้ายกว่านั้น ชื่อภาษาอังกฤษเวอร์ชั่นแรกของ คปค. กล่าวคือ “The Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy (CDRM)” ไม่ใช่การแปลชื่อที่ดีเลย แทนที่จะใช้คำว่า “council of administrative reform (หรือยักกระสายเป็น political reform) อย่างที่สื่อต่างประเทศใช้กันในช่วงแรก ความที่อาจเสียดายคำว่า “ประชาธิปไตย” หรืออย่างไร ทำให้ผู้แปลชื่อพยายามคงคำนี้ไว้อย่างไร้เหตุผล เพราะแม้พยายามบอกว่า การปฏิรูปครั้งนี้จะเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย แต่ชื่อไม่ได้สื่อให้เข้าใจว่า คปค. ตั้งใจจะปฏิรูปอะไรและปฏิรูปแล้วจะกลายเป็นระบอบอะไร กระนั้นก็ตาม นามของคน เงาของต้นไม้ ชื่อนั้นสำคัญไฉน? มีพรรคหรือสถาบันการเมืองมากมายถมเถไปที่ชื่อกับกระบวนการปฏิบัติไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันเลย สื่อต่างประเทศคงสนใจการปฏิบัติจริงมากกว่าแค่ชื่อ

แต่คำว่า “Constitutional Monarchy” ต่างหาก ที่สะท้อนให้เห็นความซับซ้อนอันลึกซึ้งในจารีตการเมืองไทย

ความตั้งใจดั้งเดิมของ คปค. คงต้องการแปลชื่อออกมาให้ตรงกับภาษาไทยมากที่สุด ในความรู้สึกของคนไทยทั่วไป ระบอบประชาธิปไตยของเราคือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งมีความหมายเดียวกับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” และ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ก็มีความหมายเดียวกับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ด้วยเหตุนี้ ความหมายของ “Constitutional Monarchy” ในทัศนะของคนไทย ย่อมแตกต่างจากความหมายของ “Constitutional Monarchy” ในความหมายของคนประเทศอื่น เช่น อังกฤษ เป็นต้น (ซึ่งตอกย้ำอยู่ในคำให้สัมภาษณ์ของพลเอกเปรมและนายอานันท์ข้างต้น)

ด้วยทัศนะที่แตกต่างนี่เอง ในขณะที่ คปค. ใช้คำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” คปค. ย่อมหมายถึง “Constitutional Monarchy” อยู่ในใจ (แม้จะเป็นเรื่องยอกย้อนสักหน่อยที่ คปค. ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งก็ตาม) แต่สื่อต่างประเทศย่อมไม่คิดเช่นนั้น สื่อเกือบทุกฉบับจึงแปลคำไทยเป็นอังกฤษตรง ๆ ด้วยวลีว่า “with the King as Head of State” (ส่วนกรณีหนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลเฮรัลด์ทรีบูน ถือได้ว่าเป็นการแปลแบบผิดถ้อยกระทงความ)

แม้ในภายหลัง คปค. จะเปลี่ยนคำแปลชื่อภาษาอังกฤษเป็น “The Council for Democratic Reform (CDR)” เพื่อป้องกันไม่ให้สื่อต่างประเทศเข้าใจผิดว่า คปค. กระทำการโดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันกษัตริย์ก็ตาม ทว่าความเข้าใจผิดของสื่อไม่น่าจะเกิดมาจากชื่อภาษาอังกฤษ แต่น่าจะเกิดมาจากการแปลชื่อภาษาไทยของ คปค. ตั้งแต่ต้น รวมทั้งเกิดมาจากทัศนะของจารีตทางการเมืองที่แตกต่างกันด้วย

ไม่ว่า คปค. จะพยายามสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องตามทัศนะของ คปค. อย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้ของไทยในสายตาของสื่อต่างชาติ มีจุดโฟกัสไปที่สถาบันกษัตริย์ ในอดีตที่ผ่านมา บทบาททางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน มักเป็นการแก้ไขคลี่คลายวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือ “พฤษภาเลือด” ใน พ.ศ. 2535 แต่สำหรับรัฐประหาร 19 กันยา 2549 นี้ กล่าวได้ว่าสถาบันกษัตริย์ไทยถูกดึงเข้าไปพัวพันทั้งในเบื้องต้น เบื้องกลางและเบื้องปลาย จนนำไปสู่การรัฐประหารยุคศตวรรษที่ 21 ในที่สุด สถาบันกษัตริย์ถูกยกมาอ้างเป็นข้อกล่าวหาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ การเรียกร้องมาตรา 7 การรบกวนเบื้องพระยุคลบาทจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องมีพระราชดำรัสตักเตือนทุกฝ่าย (ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี พันธมิตรฯ ไปจนถึงตุลาการ) และประเด็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นข้อหา 1 ใน 4 ประการที่ คปค. แถลงว่าเป็นสาเหตุของการรัฐประหาร

ชื่อนั้นสำคัญเช่นนี้


ภัควดี วีระภาสพงษ์


ที่มา : บอร์ดฟ้าเดียวกัน : ว่าด้วยคำแปลภาษาอังกฤษสำหรับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ปล.
การเน้นข้อความทำโดยผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: