วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ว่าด้วยกฎเกณฑ์และอาญาทัพของทหารยุคจารีตไทย : รางวัลและการลงโทษ


พูดถึงสงครามการรบในสมัยโบราณ คงแน่ใจได้ว่าไม่มีใครในปัจจุบันเคยได้พบเห็นหรือมีส่วนร่วมจริงๆจังๆ ถึงแม้บางคนจะบอกว่าเราก็ได้ดูผ่านภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ไง แต่คำถามคือ

มันใช่แบบนั้นจริงๆหรือ?

และที่แน่ๆ สิ่งหนึ่งซึ่งในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ไม่ค่อยได้เอ่ยถึงคือ รางวัลและบทลงโทษของทหารในสงคราม

คราวนี้เราจะมาดูกันว่า ท่ามกลางสงครามมากมายที่เกิดขึ้นในยุคจารีตไทย (ยุคที่รูปแบบการปกครองเป็นการใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ตามคติทางศาสนาเป็นแกนหลัก ในประเทศไทยยุคนี้เริ่มตั้งแต่สมัยโบราณก่อนอยุธยามาจนถึงรัชกาลที่ 3 แห่งรัตนโกสินทร์)

เหล่าทหารไทยรบแล้วได้อะไร?


ไอยการพระราชสงคราม :
ตัวกำหนดรางวัลและบทลงโทษของทหารที่ไปรบ

แม้จะบอกว่ามีสงครามเกิดขึ้นตลอดยุคจารีตไทย แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของการรบทัพจับศึกของทหารไทยที่หลงเหลือมา กลับสืบสาวกลับไปได้แค่ในสมัยอยุธยาเท่านั้น โดยได้มีพระไอยการส่วนที่ว่าด้วยการศึกสงครามปรากฎอยู่ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งเชื่อว่าตราขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระไอยการดังกล่าวมีชื่อว่า “ไอยการพระราชสงคราม”

เหตุที่ไอยการดังกล่าวปรากฏขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น อาจเป็นเพราะรัชสมัยของพระองค์และก่อนหน้านั้น อาณาจักรอยุธยาได้มีการทำศึกสงครามทั้งเชิงรุกและรับกับอาณาจักรข้างเคียงอยู่บ่อยครั้ง การที่จะรวบรวมกำลังทหารให้กระหายในชัยชนะ รบได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อตอบแทนให้รางวัลความดีความชอบกับผู้ที่สร้างผลงาน และลงโทษผู้ที่สร้างความเสียหายแก่กองทัพ

โดยหลักฐานที่เป็นเครื่องยืนยันความจำเป็นของพระไอยการดังกล่าวได้อย่างดีคือ การที่กองทัพอยุธยายุคก่อนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ออกศึกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการยกทัพไปตีสุโขทัยถึงแปดครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) การปราบขอมของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) จนมาถึงสงคราม 24 ปีกับล้านนาในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งทั้งหมดล้วนสะท้อนให้เห็นความจำเป็นของไอยการพระราชสงครามเพื่อกำหนดรางวัลและบทลงโทษแก่ทหารได้เป็นอย่างดี


สงครามคือทางลัดจากไพร่สู่ขุนนาง

ในสังคมอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ ผู้ที่ถูกกำหนดว่าเป็นชนชั้นขุนนางหรือมูลนายนั้น ต้องมีศักดินา ๔๐๐ ขึ้นไป ซึ่งถ้าพิจารณาตามบรรดาศักดิ์แล้ว หมายความว่า ต้องมีบรรดาศักดิ์เป็น “ขุน” ขึ้นไปเท่านั้นถึงจะเป็นชนชั้นขุนนางหรือมูลนายได้ ซึ่งในสถานการณ์ปกติแล้วโอกาสที่ไพร่จะได้เป็นขุนนางนั้นแทบไม่มีเลย แต่จะยกเว้นก็แต่กรณีได้ความชอบครั้งใหญ่ เช่นได้จากในสงคราม โดยไอยการพระราชสงครามได้ตรากฏเกณฑ์สำหรับการที่ไพร่จะได้ความชอบและเลื่อนสถานะทางสังคมขึ้นเป็นชนชั้นขุนนางไว้ดังนี้

กรณีที่ 1

ถ้าไพร่พลชาวเลือกชาวรอง (ไพร่พลทั้งหลาย) ตัดช่องโจมทับ (ทัพ) ทลวง (ทะลวง) ฟันข้าศึกแตกพ่ายหนีจากทับ (ทัพ) ให้เงิน ๑ ตะหลับทอง (ตลับทอง) เสื้อผ้า ตั้งขึ้นเปนขุน

กรณีที่ 2

ถ้าผู้ไปสู้สองคนรอดตัวออกมา (คนเดียวเข้าไปสู้กับข้าศึกสองคนแล้วชนะกลับมา) ได้ทัง (ทั้ง) อาวุธข้าศึกมาด้วย บำเหนจ์ (บำเหน็จ) ขันทองเสื้อห้า ตั้งให้เปนขุน

กรณีที่ 3

ถ้าพลหอกดาบดั้งเสโลพลตีน (เหล่าพลราบเดินเท้าทั้งหมด) ได้ช่วยด้วยช้าง แล (และ) ผู้ชนช้างนั้นมีไชย (ชัย) เพราะพลตีนไซ้ (แล้ว) ให้ยกพลนั้น (พลราบคนนั้น) ขึ้นเปน (เป็น) ขุน รางวัน (รางวัล) เงินลากทองลาก ลูกหลานให้เลี้ยงสืบไป ฝ่ายผู้ชนช้างนั้นรางวัน (รางวัล) ดุจเดียว

นอกจากการได้เป็นขุนนางผ่านการได้รับบรรดาศักดิ์ “ขุน” จากสงครามแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกรณีที่ถือได้ว่าเป็นบำเหน็จรางวัลขึ้นสุดยอดของชนชั้นไพร่คือ การได้ก้าวกระโดดไปเป็นเจ้าเมืองและยังได้ภรรยาพระราชทาน โดยต้องกระทำความชอบคือ

“ถ้าพลไพร่องรักษนาราย (ไพร่ราบธรรมดาที่ขึ้นสังกัดเป็นกององครักษ์ของพระเจ้าแผ่นดิน) ขึ้นไปถึงนา ๔๐๐ (จนถึงไพร่ระดับสูง เช่น หัวหมู่ หัวพัน หัวหมื่น และออกขุน) ได้ตัวท้าวพญา (แม่ทัพนายกองสูงศักดิ์) บำเหนจ์ (บำเหน็จ) ทองลากเงินลาก ได้กินเมือง (เป็นเจ้าเมือง) ได้เมียนาง (ภรรยาพระราชทานหนึ่งคน) ถ้าได้ตัวช้าง (ได้ช้างศึกของแม่ทัพคนนั้นมาด้วย) บำเหนจ์ (บำเหน็จ) เงิน ๑ ตะหลับทอง (ตลับทอง) เสื้อผ้า”


ชนช้างเป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นบ่อยๆในสนามรบ

ในไอยการพระราชสงครามระบุถึงรางวัลที่จะได้รับหากชนช้างชนะไว้ถึง 3 ลักษณะด้วยกัน ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าในสนามรบนั้น การชนช้างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งจนต้องมีการตรากำหนดรางวัลไว้เพื่อให้สะดวกต่อการตอบแทนความดีความชอบของไพร่พล โดยรางวัลจากการชนช้างนั้นมีดังนี้

กรณีที่ 1

ถ้าผู้ใดชนช้างชะนะ (ชนะ) บำเหนจ์ (บำเหน็จ) หมวกทองเสื้อสนอบทองปลายแขน ยกที่ขึ้นถึงนา ๑๐๐๐๐ (ยกศักดินาขึ้นถึงหนึ่งหมื่นซึ่งสูงสุดสำหรับขุนนาง) ถ้านา ๑๐๐๐๐ แล้ว ให้ร่มคันทองคานหามทอง

กรณีที่ 2

ผู้ใดชนช้างมีไชยแลข้าศึกขาดหัวช้าง (ตัดหัวข้าศึกได้) บำเหนจ์ (บำเหน็จ) ได้พานทองหมวกร่มคันทองคานหามทองและเมียนาง (ได้รับพระราชทานภรรยาหนึ่งคน) ถ้าได้ตัวท้าวพญาบำเหนจ์เท่ากัน (คือถ้าจับตัวแม่ทัพยศสูงได้เป็นๆก็รางวัลเท่ากัน)

กรณีที่ 3

ถ้าพลหอกดาบดั้งเสโลพลตีน (เหล่าพลราบเดินเท้าทั้งหมด) ได้ช่วยด้วยช้าง แล (และ) ผู้ชนช้างนั้นมีไชย (ชัย) เพราะพลตีนไซ้ (แล้ว) ให้ยกพลนั้น (พลราบคนนั้น) ขึ้นเปน (เป็น) ขุน รางวัน (รางวัล) เงินลากทองลาก ลูกหลานให้เลี้ยงสืบไป ฝ่ายผู้ชนช้างนั้นรางวัน (รางวัล) ดุจเดียว


รางวัลยิ่งสูง บทลงโทษยิ่งหนาว

แม้รางวัลในการชนะศึกนั้นมากมาย ตั้งแต่ได้เสื้อผ้ามีราคาจนไปถึงได้เป็นเจ้าเมือง ทว่าเมื่อมีรางวัลมากมาย บทลงโทษตามอาญาทัพก็หนักหน่วงเช่นกัน ดังกรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้

กรณีที่ 1

ถ้าผู้ใดถอยแต่ชั่วเส้าหนึ่ง ลงอาชัา (อาญา) ตัดหัวตัดเท้า ทเวนรอบทัพ (นำตระเวณรอบกองทัพ) ลูกหลานอย่าเลี้ยงเมื่อหน้า (ประหารทั้งชั่วโคตร)

กรณีที่ 2

อนึ่งเข้าทับ (ทัพ) เข้าศึกตามกระบวนแล้ว (เข้าประจำกระบวนทัพแล้ว) แล (และ) ยกเข้าจะยุท (ยุทธ หมายถึงจะเข้าต่อสู้) ด้วยราชศัตรู แล (และ) ถอยออกมา ๓ ชั่วตัวช้าง ให้ฆ่าเสีย

กรณีที่ 3

อนึ่งผู้ใดบันดาชนช้าง (ผู้ใดเริ่มเข้าชนช้าง) แล (และ) เกี่ยวช้างถอยหนี ให้ฟันลงกับหลังช้าง (ให้กลางช้างฟันตกจากหลังช้าง) แล (และ) ตัดหัวประจาน ลูกหลานสืบไปอย่าเลี้ยง (ประหารทั้งชั่วโคตร)
เป็นต้น

สรุป

จะเห็นได้ว่าในการออกศึกของไพร่พลนั้น รางวัลคือเครื่องมือให้ไพร่พลทั้งหลายเดินหน้า เพื่อนำพากองทัพไปสู่ชัยชนะ ส่วนบทลงโทษนั้นมีเพื่อไม่ให้ไพร่พลถอยหนีจากสมรภูมิซึ่งอาจทำให้ไพร่พลคนอื่นสูญเสียกำลังใจจนนำความพ่ายแพ่มาสู่กองทัพได้ ไอยการพระราชสงครามจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อควบคุมไพร่พลให้รบได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เรียบเรียงโดย ฝ่ายวิชาการที่อ้วนที่สุดในโลก

อ้างอิง

สถาบันปรีดี พนมยงค์ (กำธร เลี้ยงสัจธรรม บรรณาธิการ).

กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑ ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแก้ไขปรับปรุงใหม่. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.

มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. ขุนนางอยุธา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547.


ที่มา : http://www.eqplusonline.com/column_detail.php?id=272

ไม่มีความคิดเห็น: