วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

จดหมาย "คิงมงกุฎ" ถึงแอนนา เปลี่ยนจาก TO เป็น DEAR และคดีเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น


ต้องยอมรับว่าการค้นพบสำเนาพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีไปถึงแอนนา เลียวโนเวนส์ คงไม่สามารถคลี่คลายปัญหาทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแจ่มแจ้ง แต่สำเนาจดหมายเหล่านี้ย่อมเปรียบเสมือนแสงไฟที่ฉายเข้าไปในห้องที่เคยมืดมิดมาตลอด ๑๐๐ กว่าปี พื้นที่ส่วนที่แสงไฟฉายไปถึงย่อมให้ความสว่าง ณ จุดนั้นได้บ้าง ส่วนที่อยู่นอกเหนือไปก็ย่อมต้องรออยู่ในความมืด รอแสงไฟดวงต่อไปในอนาคต

จดหมาย หรือสำเนาพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแหม่มแอนนา "ครูฝรั่งวังหลวง" ที่ได้นำลงในศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้เริ่มเปิดประเด็นในการคลี่คลายปมปัญหาบางส่วนของแอนนา กับข้อถกเถียงที่ว่าแอนนาไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกิจการของบ้านเมือง หรือแม้แต่มีส่วน "มีปากมีเสียง" เกี่ยวกับเรื่อง "ทาส" คำตอบในเรื่องเหล่านี้ชัดเจนอยู่ในจดหมายฉบับก่อนนั้นแล้ว

ครั้งนี้เป็นสำเนาพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกส่วนหนึ่งจำนวน ๓ ฉบับกล่าวถึงเรื่องทั่วไป ปะปนไปกับเรื่องที่ทรงกล่าวพาดพิงถึงแนวคิดของแอนนา ซึ่งน่าจะมีนัยสำคัญอยู่ แต่เราไม่สามารถล่วงรู้เรื่องเหล่านั้นได้ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่พบสำเนาจดหมายของแอนนาถวาย "คิงมงกุฎ"

อย่างไรก็ดี ทั้งจดหมายฉบับก่อนและที่นำมาในครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นสิ่งสำคัญบางอย่าง คือข้อทักท้วง ติติงต่างๆ ของแอนนา ในเรื่องเกี่ยวพันกับการเมือง หรือวัฒนธรรมสยาม มักจะได้รับการ "ปฏิเสธ" จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างประนีประนอม คือทรงเป็น "ผู้ดี" ในสำนวนจดหมายอย่างหาใครเปรียบได้ยาก

จดหมายทั้ง ๓ ฉบับในคราวนี้ก็เช่นกัน เราได้เห็นว่าการใช้คำขึ้นต้นและลงท้าย รวมไปถึงสำนวนการโต้ตอบว่าทรง "นุ่มนวล" เพียงใด นอกจากนี้ยังได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในคำขึ้นต้นที่ "เป็นกันเอง" มากยิ่งขึ้น จากช่วงปี ๒๔๐๖ ถึง ๒๔๐๗ ทรงขึ้นต้นจดหมายว่าถึง (To) และลงท้ายว่าฉันขอคงไว้ซึ่งความเป็นเพื่อนที่ดี (I beg to remain your good friend) ต่อมาในปี ๒๔๐๘ คำขึ้นต้นเปลี่ยนไปเป็นคุณที่รักของฉัน (My Dear Mam!) และลงท้ายด้วยคำว่าฉันขอคงไว้ในความเป็นเพื่อนแท้ของเธอ (I beg to remain your true friend)

แน่นอนว่าคำว่า Dear ย่อมไม่จำเป็นต้องมีความหมายลึกซึ้งเพียงอย่างเดียว ในการเขียนจดหมายถึง "เพื่อน" ทั่วๆ ไปก็สามารถใช้คำนี้ได้เช่นกัน แต่ระดับความ "เป็นกันเอง" ของคำว่า Dear ย่อมแตกต่างจาก To อย่างแน่นอน ดังนั้นความพยายามของใครหลายๆ คนที่จะวางแอนนาไว้แต่เพียง "ลูกจ้าง" ของวังหลวงจำเป็นต้องอ่านจดหมายทั้ง ๓ ฉบับนี้ และตอบคำถามให้ได้ว่าเหตุใด "คิงมงกุฎ" จึงต้องบอกเล่าเรื่องสัพเพเหระ ไปจนถึงเรื่องการเมืองกับ "ลูกจ้าง" คนนี้

จดหมายฉบับเลขที่ ๗๖ ทรงมีไปถึงแอนนาซึ่งเดินทางไปทำธุระหรือพักผ่อนที่สิงคโปร์ เนื้อหาในจดหมายไม่มีสาระสำคัญมากนัก นอกจากจะแสดงความห่วงใยตามธรรมเนียม ทิ้งท้ายด้วยความหวังว่าจะกลับมาโดยเร็ว เพราะลูกศิษย์คิดถึง แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือลูกสาวของแอนนาคือเอวิส ซึ่งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ก็ยังมีจดหมายมาถึงคุณข้าหลวง ซึ่งแสดงว่าชาววังหลวงรู้จักสนิทสนมกับครอบครัวของแอนนามากกว่าที่เราคิด

จดหมายฉบับที่ ๒ ไม่ปรากฏเลขที่ ทรงชี้แจงเรื่องที่เราไม่สามารถทราบได้ว่าเกิดปัญหาอะไรกันขึ้น แต่พอจะสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นเรื่องที่แอนนาท้วงติงเกี่ยวกับสวัสดิภาพของคนรับใช้ ซึ่ง "คิงมงกุฎ" ก็ทรงรับว่าจะสอบสวนเรื่องนี้ด้วยพระองค์เอง และยังทิ้งท้ายว่า

"ฉันจะให้ความสนใจต่อคำตำหนิของเธอเป็นพิเศษ"

ทำให้เห็นความหมายของคำว่า

"แมมเนวละเวน ครูสอนหนังสือเจ้านายในนี้ เดี๋ยวนี้ซุกซนเอานี่ซนนั่น เอานั่นซนนี่ แล้วก็กล้านัก"

ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

จดหมายฉบับที่ ๓ เลขที่ ๘๐ ทรงมีมาจากเมืองสวรรคโลก ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๐๘ ขึ้นต้นด้วยการบอกเล่าสารทุกข์สุกดิบตามธรรมเนียม แต่มีจุดสนใจในตอนกลางของจดหมายที่ว่า

"ฉันจะคุยกับเธอเรื่องที่เราเคยคุยกันในตอนที่เรากลับไปยังบางกอก แต่อย่างเป็นความลับ"

ทรงคุยอะไรกันค้างไว้ เหตุใดต้องคุยเป็นการลับ เราไม่มีทางรู้ได้ แต่สิ่งนี้ย่อมสามารถไขข้อข้องใจบางอย่างในเรื่องบทบาทของแอนนา ย่อมไม่ใช่เพียงแค่ครูฝรั่งวังหลวงทั่วๆ ไป หรือเลขานุการคอยแก้ไวยากรณ์ในจดหมายภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ย่อมมีบทบาทในการเสนอแนะ ติติง อยู่บ้างในบางโอกาส

สิ่งสำคัญที่สุดในจดหมายฉบับนี้คือประโยคสุดท้ายของจดหมายคือ

"ป.ล.๒ ฉันขอแจ้งให้เธอทราบว่าฉันได้ให้อภัยโทษแก่คุณกลิ่น นักเรียนของเธอ ตามคำขอร้องของสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว"

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือของแอนนาเรื่อง The English Governess at the Siamese Court บทที่ ๑๒ เรื่อง Shadows and Whispers of the Harem เป็นเรื่องราวของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นถูกลงพระราชอาญาให้จำขัง เพราะเหตุว่าให้ลูกชายคือพระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงแต่งตั้งพี่ชายของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเป็นเจ้าเมืองแทนลุงหรืออา (พระยาเกียรติ์) ที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยที่ไม่รู้ว่าทรงแต่งตั้งบุคคลอื่นไปแล้ว ทำให้เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นถูกข้อหาบ่อนทำลายพระราชอำนาจ เนื่องจากเป็นเชื้อสายมอญ (คชเสนี) จากนั้นแอนนาก็ได้ไปขอร้องให้สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ช่วยกราบทูลขออภัยโทษให้กับเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น

เรื่องนี้จะเท็จจริงแค่ไหนไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ตามประวัติตระกูลเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นนั้น เป็นตระกูลที่เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) มาตั้งแต่ชั้นปู่ เรื่อยมาจนถึงน้องของท่านก็รับราชการเป็นผู้ว่าราชการเมืองนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๕

ดังนั้นเรื่องการที่จะถวายฎีกาในเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ และการลงโทษเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นก็เป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับปัจฉิมลิขิตที่ว่า "ป.ล.๒ ฉันขอแจ้งให้เธอทราบว่าฉันได้ให้อภัยโทษแก่ คุณกลิ่น นักเรียนของเธอ ตามคำขอร้องของสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว"

การติดตามตรวจสอบแอนนายังจะไม่ยุติเพียงแค่นี้ ฉบับหน้าศิลปวัฒนธรรมจะได้เสนอสำเนาพระราชหัตถเลขาที่แสดงถึงความกล้าของแอนนาอย่างที่สุด เมื่อเสนอให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกระทำในสิ่งที่ราชสำนักสยามไม่เคยทำมาก่อน!


ปรามินทร์ เครือทอง.

ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 04

ที่มา : pantown.com

หมายเหตุ
การเน้นข้อความและการจัดหน้าบทความบางส่วน ทำไปโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: