วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

กบฎเจ้าท่าทราย : กบฎนอกพระราชพงศาวดาร


หากเปรียบเทียบเรื่องกบฎเจ้าท่าทราย กับเรื่องกบฎพระอาทิตยวงศ์ ( ผู้ประทับอยู่ “ริมวัดท่าทราย” ) ว่าต่างก็นำพรรคพวกประมาณ ๒๐๐ คนเข้ายึดพระราชวังหลวงได้ชั่วคราว ความคล้ายคลึงกันของข้อมูลอาจทำให้สงสัยว่ากบฎเจ้าท่าทรายนั้นเป็นเหตุการณ์เดียวกับกบฎพระอาทิตยวงศ์………


“เมื่อเวลาประมาณสี่ทุ่มคืนวันที่ ๒๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๖๔๒ ( พ.ศ. ๒๑๘๕ ) ได้เกิดกบฎขึ้นที่พระราชวังหลวงในกรุงศรีอยุธยา “เจ้าท่าทราย” พระราชโอรสองค์หนึ่งของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งตอนนั้นมีพระชนม์เพียง ๑๖ หรือ ๑๗ พรรษา ได้นำไพร่พล ๑๕๐ ถึง ๒๐๐ คนเข้ายึดพระราชวังหลวงได้สำเร็จ ทรงประกาศพระองค์เป็น
“พระเจ้าแผ่นดิน” พร้อมกับทรง “สวมมงกุฎ” ให้พระองค์เอง พระมหากษัตริย์ในตอนนั้น ( สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ) พร้อมพระมเหสีและพระราชโอรสองค์ใหญ่ต้องทรงหลบหนีออกจากพระราชวังหลวงอย่างกระทันหันเพื่อไปเตรียมต่อสู้กับพวกกบฎเช้าวันรุ่งขึ้น ( วันที่ ๒๙ ธันวาคม )

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระอนุชาและพระราชโอรสองค์ใหญ่ พร้อมขุนนางและไพร่พล ได้บุกเข้าไปตีพระราชวังหลวง ปรากฎว่าประตูวังเปิดอยู่บานหนึ่ง เจ้าท่าทราย หัวหน้ากบฎทรงช้างรอกองทัพหลวงอยู่หน้าประตูวังแห่งนั้น ทรง “สวมมงกุฎ” อยู่และดูเหมือนไม่ทรงเกรงกลัวสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเลย กลับทรงพระสรวลเสียด้วยซ้ำ แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้ทรงแสดงท่าทีว่าจะต่อสู้กับทัพหลวงก่อนที่เจ้าท่าทรายจะเข้ามาใกล้สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ก็ถูกทหารคนหนึ่งฟันตกจากคอช้างแล้วก็ถูกปลงพระชนม์ทันทีที่ทรงตกจากช้างบรรดาพรรคพวกบริวารของเจ้าท่าทรายจึงสลายตัวไปเกือบหมดพร้อมด้วยเพชรพลอย เครื่องทองและเงินตรา ๕๐๐ ชั่ง ซึ่งพวกเขาได้ปล้นหรือขโมยมาจากในพระราชวัง ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด”


ข้อความข้างต้นนี้ได้มาจากเอกสารบันทึกรายวัน ( dagregister ) ของพ่อค้าชาวฮอลันดาชื่อเรเนียร์ ฟอน ทชุม ( Reijnier van Tzum ) และจากบันทึกรายวันของพ่อค้าชาวฮอลันดาอีกรายหนึ่งชื่อ อิซาค มูรได๊ค ( Isaack Moendijck ) พ่อค้าทั้งสองคนนี้เคยเป็นหัวหน้าสำนักงานบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ( V.O.C ) ประจำกรุงศรีอยุธยา เอกสาร V.O.C เหล่านี้เก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติของประเทศเนเธอร์แลนด์

เรื่องราวเกี่ยวกับกบฎเจ้าท่าทราย ( ในตัวเอกสารสะกดว่า “Thasaij ) ไม่ปรากฎอยู่ในหลักฐานของไทยเลย พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่าง ๆ ระบุแต่เรื่องราวของกบฎพระอาทิตยวงศ์ ในตอนที่พรรณนาถึงเรื่องเหตุการณ์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า พระอาทิตยวงศ์ทรงเป็นโอรสของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และเนื่องจากทรงพระเยาว์จึงไม่สามารถปกครองอาณาจักรได้ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษตริย์แทน ในปีจุลศักราช ๙๙๙ ( พ.ศ. ๒๑๗๙ ) พระอาทิตยวงศ์

“ขึ้นนั่งห้อยเท้าอยู่บนหลังกำแพงแก้ว”

ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จมาร่วมพิธีจุดเทียนพรรษา เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทอดพระเนตรเห็นเข้า ก็ทรงลดยศพระอาทิตยวงศ์และให้ออกไปประทับอยู่นอกพระราชวังหลวง “ให้ไปปลูกเรือนเสาไม้ไผ่ ๒ ห้อง ๒ หลัง ริมวัดท่าทราย… ให้คนอยู่ด้วย ๒ คน แต่พออยู่ตักน้ำหุงข้าว” อยู่มาถึงปี พ.ศ. ๒๑๘๐ พระอาทิตยวงศ์ก็คิดกบฎ ก็กรูกันเข้าไปในพระราชวัง…"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทันรู้พระองค์” กบฎพระอาทิตยวงศ์ถูกนำไปประหารชีวิต

หากเปรียบเทียบเรื่องกบฎเจ้าท่าทรายกับเรื่องกบฎพระอาทิตยวงศ์ ( ผู้ประทับอยู่”ริมวัดท่าทราย” ) ว่าต่างก็นำพรรคพวกประมาณ ๒๐๐ คนเข้ามายึดพระราชวังหลวงได้ชั่วคราวความคล้ายคลึงกันของข้อมูลอาจทำให้สงสัยว่ากบฎเจ้าท่าทรายนั้นเป็นเหตุการณ์เดียวกับกบฎพระอาทิตยวงศ์ ปัญหาอยู่ที่ว่าเอกสารชั้นต้นของฮอลันดาและพงศาวดารไทยฉบับภาษามคธต่างก็ยืนยันว่า พระอาทิตยวงศ์ถูกสำเร็จโทษไปตั้งแต่ตอนสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเริ่มขึ้นครองราชย์แล้ว ( ช่วง พ.ศ. ๒๑๗๒ ) ผู้ศีกษาประวัติศาสตร์อยุธยาจึงต้องพยายามหาข้อสรุปว่ากบฎเจ้าท่าทรายคือกบฎพระอาทิตยวงศ์ หรือเป็น กบฎนอกพระราชพงศาวดาร

คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ ได้หยิบยกเรื่องนี้มาอภิปรายแล้ว แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้อย่างเป็นเอกฉันท์ว่ากบฎเจ้าท่าทรายกับกบฎพระอาทิตยวงศ์เป็นเหตุการณ์เดียวกันหรือไม่ ประเด็นที่ทำให้ไม่สามารถลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์คือเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูล

โดยหลักวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่ว่าข้อมูล “ร่วมสมัย” ซึ่งบันทึกขึ้นในช่วงเวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้นย่อมน่าเชื่อถือกว่าข้อมูลที่ “ชำระ” หรือเขียนขึ้นใหม่ในสมัยหลัง ข้อมูลของฮอลันดาเกี่ยวกับพระอาทิตยวงศ์และกบฎเจ้าท่าทรายก็น่าจะเชื่อถือได้มากกว่าข้อความในพระราชพงศาวดารซึ่งชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นเวลากว่า ๑๔๐ ปีหลังเหตุการณ์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

แต่ถ้าคิดว่าผู้ชำระพระราชพงศาวดารน่าจะทราบเรื่องราวเกี่ยวกับราชวงศ์และเหตุการณ์ในพระราชสำนักดีกว่าพวกชาวตะวันตกก็คงจะไม่เชื่อว่า พระอาทิตยวงศ์ทรงถูกสำเร็จโทษไปตั้งแต่ตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว ก็คงจะมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่ากบฎเจ้าท่าทรายนั้นก็คือกบฎพระอาทิตยวงศ์นั่นเอง เพียงแต่พ่อค้าชาวฮอลันดาเข้าใจผิดไปว่ามีพระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมหลงเหลืออยู่อีกองค์หนึ่ง ที่เรียกขานกันว่า “ท่าทราย”

ไม่ว่าเราจะยอมรับในเรื่องพระอาทิตยวงศ์หรือไม่ เราก็คงจะยังสามารถนำหลักฐานจากเอกสารฮอลันดาเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ในการศึกษาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

นอกจากข้อความที่ได้เอ่ยถึงข้างต้นแล้วยังมีเรื่องราวอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ เรื่องหนึ่งก็คือหลักฐานเกี่ยวกับการกวาดล้างเจ้านายในราชวงศ์เก่าภายหลังกบฎเจ้าท่าทราย ฟอนทซุม รายงานว่าเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๖๔๒ ( พ.ศ. ๒๑๘๕ ) ตนได้ทราบมาว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงให้สำเร็จโทษทั้ง “พระเชษฐาองค์โต” และ “พระเชษฐภคินีหรือกนิษฐภคินี” ของเจ้าท่าทราย ในปีต่อมา ( เดือนกันยายน ค.ศ. ๑๖๔๓ ( พ.ศ. ๒๑๘๖ ) ) ฟอนทซุม ก็บันทึกไว้ว่าได้มีการสำเร็จโทษ “ทายาทฝ่ายชายองค์สุดท้าย” ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ฟอน ทซุม อ้างว่าเจ้าองค์นี้เป็นพระราชโอรสของ “พระเจ้าแผ่นดินที่ตาบอด” ( สมเด็จพระศรีเสาวภาค ) ส่วนมูรได๊คนั้นบันทึกไว้ในเอกสารบันทึกรายวันของสำนักงานบริษัท V.O.C ว่า ที่จริงแล้วยังคงมีพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเหลืออยู่อีกหนึ่งองค์เรียกกันว่า “พระองค์กำพร้า” ในปี ค.ศ. ๑๖๔๔ ( พ.ศ. ๒๑๘๖ - ๒๑๘๗ ) สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสั่งประหารชีวิต แต่พระพันปีหลวง ( พระชนนีของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ) ผู้ทรงเคยเลี้ยงดูพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ได้ทรงช่วยให้รอดชีวิตไปได้โดยทรงเดือน “พระองค์กำพร้า” ไม่ให้เสด็จมาที่พระราชวังหลวง อย่างไรก็ตาม มูรได๊คกล่าวว่ามีข้าราชการสยามเชื่อว่า “พระองค์กำพร้า” คงจะรอดไปอีกไม่ได้นาน เป็นที่น่าเสียดายว่าหลักฐานเกี่ยวกับ “พระองค์กำพร้า” ในจดหมายเหตุ V.O.C. นั้นมีอยู่เพียงเท่านี้

ความไม่สงบภายในราชสำนักไทยในสมัยนี้รวมทั้งกบฎเจ้าท่าทราย สืบเนื่องมาจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโค่นอำนาจราชวงศ์เก่าตราบใดที่ยังคงมีเจ้านายฝ่ายชายในราชตระกูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเหลืออยู่ในกรุงศรีอยุธยาก็จะยังมีการคิดกบฎหรือการกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่า “คิดกบฎ” เจ้าท่าทรายจึงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมที่พยายามท้าทายอำนาจของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่เช่นเดียวกับในกรณีสมเด็จพระเชษฐาธิราช ( และกรณีพระอาทิตยวงศ์? ) ก็ต้องปราชัยไปในที่สุด



วินัย พงศ์ศรีเพียร :
อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร :

วารสารโลกประวัติศาสตร์ :
เอกสารวิชาการประวัติศาสตร์ และไทยศึกษา :
ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2538


คัดโดย : ขุนนางอยุธยา

ที่มา : Historical and Archaeological Webboard

ไม่มีความคิดเห็น: