วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ประวัติศาสตร์ดัดจริต


ได้อ่านบทบรรณาธิการของศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๔๖ "ประวัติศาสตร์ญาติพี่น้องถูกต้องและดีงามกว่าประวัติศาสตร์สงคราม" ขออนุญาตถกเถียงด้วย

ผมเห็นด้วยว่าประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมทุกชนิดสนใจสงครามการรบพุ่งเพื่อเน้นวีรกรรมของบรรพบุรุษ ชนะก็เน้นปรีชาสามารถ แพ้ก็เน้นความเสียสละรักชาติยิ่งชีพ เน้นจนกระทั่งมองข้ามมิติอื่นๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรต่างๆ ในภูมิภาค ลงท้ายพานนึกว่าตนเองวิเศษเหนือชาติอื่น มองเพื่อนบ้านเป็นอริราชศัตรูอยู่ร่ำไป

แต่ผมไม่เห็นด้วยว่าควรจะ "ยกเลิกประวัติศาสตร์สงคราม" เพราะถูกต้องดีงามน้อยกว่าประวัติศาสตร์ญาติพี่น้อง ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าประวัติศาสตร์สงครามมิได้ถูกผิดดีเลวในตัวมันเอง แต่ถูกทำให้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ความ "เท็จ" อย่างที่บทบรรณาธิการกล่าว อันที่จริงเราต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์สงครามความขัดแย้งให้หนัก แต่ต้องมิใช่ประวัติศาสตร์ "เท็จ"

ต้องไม่ใช่เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ กล่อมเกลาประชาชนของเราเอง หลอกตัวเองหรือเพื่อยกตนข่มผู้อื่น

คำตอบคือเราต้องเข้าใจว่าการสงครามในอดีตอยู่ภายใต้การเมืองแบบไหน บริบทอะไร เพื่ออะไร บทบรรณาธิการได้ให้คำตอบแล้วข้อหนึ่ง คือเป็นการสงครามระหว่างวงศ์กษัตริย์ มิใช่ระหว่างชาติหรือประชาชนไพร่ฟ้าพลเมือง

ผมขอเสริมอีกคำตอบว่า ในหลายกรณีเป็นสงครามระหว่างกษัตริย์และอาณาจักรที่แย่งชิงความเป็นใหญ่ในภูมิภาค แย่งกันเป็นองค์จักรพรรดิราช แต่ส่วนใหญ่ของการสงครามในอุษาคเนย์เป็นเรื่องขององค์ราชาธิราชหรือจักรพรรดิต้องการแผ่อำนาจด้วยการกำราบปราบปรามกษัตริย์และอาณาจักรที่อ่อนแอกว่าตน เพื่อสถาปนาความเป็นใหญ่เหนือวงศ์กษัตริย์อื่น นี่เป็นปรากฏการณ์ปกติของการเมืองสมัยโบราณ เป็นเรื่องที่พระราชพงศาวดารไม่เคยอับอาย ไม่ต้องอำพราง ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนหรือให้เหตุผลแก้ตัว เพราะเป็นภารกิจประการหนึ่งของกษัตริย์ในสมัยโบราณ

กล่าวอย่างตรงไปตรงมา สงครามในอดีตของ "ไทย" นั้น บางครั้ง "ไทย" เป็นฝ่ายถูกรังแก หลายครั้งเป็นการปะทะเพื่อตัดสินว่า "ไทย" กับ "พม่า" ใครจะเหนือกว่ากัน แต่ส่วนข้างมากของสงครามการรบที่ "ไทย" กระทำเป็นเรื่องของการแผ่ขยายอำนาจสถาปนาความเป็นใหญ่ของกษัตริย์สยาม

ประวัติศาสตร์ที่ไม่กล้ายอมรับว่าสงครามในอดีตเป็นการอวดศักดาขยายอำนาจ และกลับทำให้คนรุ่นหลังคิดว่า "ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด" เกิดจากความดัดจริตของคนไทยสมัยใหม่ ภายใต้การเมืองแบบสมัยใหม่ที่ทุกประเทศ (ควรจะ) เคารพอธิปไตยของกันและกัน ไม่รุกรานกัน จากความดัดจริตดังกล่าวเราจึงไม่กล้าเผชิญความจริงของอดีตด้วยปัญญาและใจเป็นธรรม

ประวัติศาสตร์ดัดจริตชวนให้เราหลงตนเอง ไม่สำเหนียกว่าเราสามารถเคารพอดีตได้ด้วยปัญญา เคารพเพื่อนบ้านได้ด้วยใจอุเบกขาและเป็นธรรม เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้โดยไม่จำเป็นต้องยกตนข่มผู้อื่น

หากเราเรียนประวัติศาสตร์ด้วยจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ การสงครามยังคงเป็นเรื่องน่าเรียนรู้ จำเป็นต้องเรียนรู้ และเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์เครือญาติหรือเรื่องอื่นๆ


ธงชัย วินิจจะกูล

ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 24 ฉบับที่ 7


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : บทบรรณาธิการ

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: