วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

สัมภาษณ์พอล แฮนด์ลีย์ ใน New Mandala โดย นิโคลาส ฟาร์เรลลี


นิว แมนดาลา (New Mandala) คือชื่อเว็บไซต์ที่ติดตามประเด็นการเคลื่อนไหวทางวิชาการในภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่สำคัญซึ่งมีทั้งข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางวิชาการที่สำคัญ, กระดานสนทนาที่มีนักวิชาการจากทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนกันแล้ว บทสัมภาษณ์ในนิว แมนดาลา (NM Interviews) คือคอลัมน์ที่ผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวในภูมิภาคแห่งนี้ติดตามอย่างใกล้ชิด

ฟ้าเดียวกันออนไลน์ อาสาเป็นสะพานเชื่อมต่อความเคลื่อนไหวทางวิชาการด้านภูมิภาคอุษาคเนย์มาสู่โลกภาษาไทย ด้วยบทสัมภาษณ์นักเขียนที่ “ร้อน” ที่สุดของวงการไทยศึกษา Paul Handley


สัมภาษณ์พอล แฮนด์ลีย์
19 กันยายน 2550 โดย นิโคลาส ฟาร์เรลลี


นิโคลาส ฟาร์เรลลี: ผู้อ่านส่วนใหญ่ของ New Mandala รู้จักคุณในฐานะคนเขียน The King Never Smiles แต่ว่าคุณเขียนเรื่องเมืองไทยมานานหลายปีก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์ คุณไปเมืองไทยได้ยังไงทีแรก? ทำไมถึงไป?


พอล แฮนด์ลีย์: ผมไปเอเชียทีแรกหลังจากจบมหาวิทยาลัย (International Studies, มหาวิทยาลัยอเมริกันในวอชิงตันดีซี) ไปเรียนภาษาจีนที่ไต้หวันสามปี แล้วก็ได้งานทำกับนิตยสารธุรกิจน้ำมันที่ฮ่องกง ผมถูกส่งไปอินโดนีเซีย มันกลายเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญทีเดียว หลังจากอยู่ที่นั่นสองสามปี ผมมีโอกาสได้ทำงานให้กับ Far Eastern Economic Review พอรัฐบาลซูฮาร์โตไล่ผมออกมาในปี 2529 เพราะไปเขียนเกี่ยวกับธุรกิจของลูกชายของเขา

FEER ก็ให้ผมทำงานเต็มเวลาที่ฮ่องกงหลังจากนั้นสักพัก ผมก็ขอไปประจำที่ไต้หวันหรือไม่ก็เกาหลี แต่เขาส่งผมมากรุงเทพฯ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมไม่ได้เลือก แต่กลายเป็นโอกาสที่ดี วันที่สองที่ไปถึงกรุงเทพฯ ผมเดินลุยน้ำท่วม 1-2 ฟุตจากถนนวิทยุไปสุขุมวิท 49 ก็รักเมืองไทยตั้งแต่นั้นมา


นิโคลาส: ผู้อ่านของเราคงจะอยากรู้ว่าคุณเขียนอะไรบ้างตอนอยู่เมืองไทยช่วงแรกๆ มีอะไรที่เด่นๆ บ้าง?


พอล: ผมไปถึงเมืองไทยเดือนกันยายน 2530 จังหวะที่เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเริ่มรุ่งพอดี และไทยก็เป็นหัวหอก มันเป็นบทเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ดีมาก และยิ่งดีกว่านั้นอีกเมื่อเศรษฐกิจพังในอีกสิบปีต่อมาผมเขียนหลายเรื่อง เกี่ยวกับธุรกิจใหม่ๆ เกี่ยวกับผลจากการเติบโตที่มีต่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจและกระบวนการประชาธิปไตยด้วย

ปัญหาความขัดแย้งประเภทสนามกอล์ฟกับสิ่งแวดล้อม บริโภคนิยมที่แพร่ไปต่างจังหวัด ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับทุน ความขัดแย้งต่างๆ ผมเขียนเกี่ยวกับเมกะโปรเจ็คท์ต่างๆ จำได้มั้ยเรื่องการจราจรก่อนหน้าที่จะมีรถไฟลอยฟ้า? การดำเนินโครงการต่างๆ ยุ่งเหยิงมากในประชาธิปไตยแบบไทยๆ ผมคิดว่าบทความชิ้นแรกๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการห้ำหั่นกันระหว่างบรรหารกับสมัคร สองคนนี้เป็นคนคดอย่างที่สุดเท่าที่คุณจะจินตนาการได้เลยทีเดียว

ผมเขียนเรื่องโครงการต่างๆ เป็นบทความชิ้นใหญ่ให้กับนิตยสาร Institutional Investor และอีกชิ้นหนึ่งให้ Asia Research Center at Murdoch University ทั้งสองชิ้นใช้ตัวอย่างการแปรรูปโครงสร้างพื้นฐานในปากีสถาน อินเดียจนถึงจีนเพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมโครงการต่างๆ จึงไม่ประสบความสำเร็จและก็จะต้องล้มไปในที่สุด ซึ่งก็ล้มจริงๆ ผมยังคิดว่ามันเป็นลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่ไม่ค่อยมีใครเข้าใจนัก ของการเมืองและเศรษฐกิจที่หวือหวาของเอเชียในตอนนั้นเรื่องอื่นๆ ที่เข้มข้นก็มีเรื่องรสช.ในปี 2534 กับพฤษภาทมิฬ 2535 เนื่องจากว่ามีเรื่องราวมากมายอยู่เบื้องหลังการถ่ายทำ ที่ผมไม่เข้าใจ ผมจึงเริ่มมีความคิดจะเขียนหนังสือขึ้นมา


นิโคลาส: แล้วเมื่อไหร่ที่คุณตัดสินใจจะเขียนจริงๆ ? หลายปีที่อยู่เมืองไทยมีอิทธิพลต่อหนังสือยังไงบ้าง?


พอล: ผมลาออกจาก FEER ในปี 2537 และกำลังคิดจะไปจากประเทศไทย ผมคิดว่าผมอยากจะเขียนบทความขนาดยาวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งผมตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองและวัฒนธรรมไทย หลังจากที่อยู่มาหลายปี ผมเริ่มค้นคว้า เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ต่างๆ ในฐานะที่เป็นสถาบันทางการเมืองในยุคสมัยใหม่ ยิ่งค้นคว้าก็พบว่ายิ่งน่าสนใจ จนถลำลึกเสียจนถอนตัวไม่ขึ้น มันจึงใช้เวลานานและต้องเริ่มใหม่อยู่สองสามครั้งเพื่อเรียบเรียงเรื่องทั้งหมด


นิโคลาส: ตั้งแต่พิมพ์ออกมาในปี 2549 หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม หลายคนสนับสนุนประเด็นของคุณ ที่ New Mandala ที่เดียว มีความเห็นเป็นร้อยๆ ความเห็นเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ แน่นอนว่าหลายคนวิจารณ์งานค้นคว้าของคุณและพยายามชี้ให้เห็นว่าคุณมี “วาระ” อะไร แรงจูงใจของคุณคืออะไร? ตอนที่คุณเริ่มเขียน คุณได้นึกมั้ยว่าจะได้รับปฏิกริยาแบบนี้?


พอล: ผมถูกตั้งคำถามจากผู้คนทุกประเภท ตั้งแต่นักการทูตชั้นนำที่เฉลียวฉลาดของไทยไปจนถึงนักวิชาการที่ใครๆ ก็นึกว่าน่าจะรู้ดีกว่า

ทำไมคุณถึงเขียนหนังสือเล่มนี้?

คำตอบคือ จริงๆ แล้ว ทำไมถึงไม่มีใครเขียนก่อนผม? คุณมีประมุขของประเทศที่ครองตำแหน่งมายาวนานที่สุดในโลกและยังมีชีวิตอยู่ เป็นกษัตริย์ที่ประชาชนเทิดทูนเหนือกว่าใคร

เป็นสถาบันกษัตริย์ที่อิงอยู่กับระบบความเชื่อแบบพุทธ ฯลฯ แล้วไม่เคยมีใครนั่งลงแล้วเขียนถึงเคล็ดลับในความสำเร็จของพระองค์ ปรัชญาของพระองค์ วิธีการทำงานของพระองค์ ผลงานที่พระองค์ทำประโยชน์แก่โลก เป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้รับความนิยมและเทิดทูนมาเป็นเวลาหกทศวรรษ มีอะไรที่จะน่าเขียนถึงมากไปกว่านี้อีกไหม?

ผมยอมรับว่าผมไม่เคยหลงใหลได้ปลื้มไปกับเรื่องอะไรแบบนี้ แต่ก็ไม่มี “วาระ” อะไร และผมก็เปลี่ยนทัศนะของผมที่มีต่อพระองค์หลายครั้งหลายหนในกระบวนการค้นคว้าเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้สำหรับปฏิกริยา แทบไม่มีอะไรนอกเหนือความคาดหมาย มีแปลกใจอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นคือความบังเอิญประจวบเหมาะของเหตุการณ์ หนังสือเสร็จสมบูรณ์พร้อมตีพิมพ์ในช่วงเวลาเดียวกับที่ทักษิณกำลังถูกมวลชนเสื้อเหลืองไล่ลงจากอำนาจ ในวาระการครองราชย์ 60 ปีของพระองค์


นิโคลาส: จากคำบรรยายของสำนักพิมพ์ เป็นหนังสือที่ “มีการค้นคว้าอย่างละเอียดกว้างขวาง รวบรวมข้อเท็จจริงตั้งแต่ยังทรงเยาว์และพัฒนาการของพระองค์ การเสด็จขึ้นครองราชย์ การจัดการทางการเมืองที่มีทักษะ และความพยายามทำให้ไทยเป็นราชอาณาจักรพุทธ” อยากให้คุณเล่าถึงการค้นคว้าของคุณว่าทำยังไง ใช้วิธีการ (methodology) อะไร?


พอล: ผมเป็นนักหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ของผมจะนอกตำราอยู่สักหน่อย ก็อ่านประวัติศาสตร์กับเรื่องราวต่างๆ ที่แพร่หลายก่อน แล้วค่อยอ่านเอกสารหนังสือหนักๆ บางอันเพิ่งจะเขียนในตอนนั้นโดยนักประวัติศาสตร์จริงๆ ผมอ่านหนังสือกับนิตยสารเก่าๆ เยอะ ทั้งไทยและอังกฤษ เอกสารที่เป็นทางการต่างๆ จำนวนมาก หนังสือรำลึกในวาระต่างๆ

ทุกอย่างที่หาได้ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับราชวงศ์ ในห้องสมุด ตามแผงขายหนังสือเก่าที่จตุจักร ในบ้านคนอื่น ผมศึกษาภาพถ่ายและวันเวลา ทำเส้นเวลาลำดับเหตุการณ์ขึ้นมา แล้วก็เห็นว่าไม่ได้ตรงกับเรื่องราวฉบับที่เป็นทางการเสมอไป อย่างเช่น มีเอกสารทางการจำนวนมากที่บอกว่าพระองค์ทรงเริ่มสร้างเขื่อน หรือเริ่มเลี้ยงปลานิลในเวลาเท่านั้นเท่านี้

แต่คุณก็มาเห็นรูปภาพและคำบรรยายในนิตยสารที่แสดงว่ามันมีมาห้าปีก่อนหน้านั้นแล้ว บางอย่างก็ไม่มีนัยยะอะไร แต่บางอย่างก็มีความหมาย ด้วยเหตุผลนี้ ก็เลยอาจจจะมีการเน้นเรื่องวันเวลาต่างๆ มากสักหน่อยในหนังสือที่ผมเขียน แต่ก็เป็นประเด็น ภาพของพระองค์ท่านคือมักทรงงานอยู่ตลอดเวลา การเสด็จไปเยือนอเมริกากับยุโรปในปี 2503 ก็เป็นเรื่องงานทั้งหมด ไม่มีอะไรผิดในเรื่องนี้

แค่ว่าในฉบับที่เป็นทางการพระองค์ทรงไม่เคยพักผ่อนเลยกระบวนการถอดรื้อ-ประกอบใหม่ (deconstruction-reconstruction) นี้ทำให้ผมใช้เวลานานมาก แล้วผมก็ศึกษาบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ละเอียดมากขึ้น แล้วก็ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยและสถาบันกษัตริย์ที่ช่วยก่อรูปมุมมอง และแน่นอนคุยกับทุกคนที่คุยได้ในเมืองไทย

หลายครั้งก็ถามเรื่องนี้ตอนสัมภาษณ์ในเรื่องอื่นอยู่ ผมบอกใครต่อใครไม่ได้ว่ากำลังเขียนหนังสือเรื่องนี้และผมก็ไปสัมผัสบรรยากาศพระราชพิธีต่างๆ เมื่อมีโอกาส ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ ชมผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ เพื่อจะได้ซึมซับความรู้สึก ผมยังสามารถทำอย่างนั้นไปได้อีกเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็ต้องหยุดและลงมือเขียน


นิโคลาส: คุณพยายามยังไงบ้างในการที่จะขอพระราชทานสัมภาษณ์กับพระองค์และบุคคลอื่นในพระราชสำนัก? มีการตอบสนองอยางไร?


พอล: นี่คือจุดอ่อนที่ชัดเจนของหนังสือเล่มนี้ พอเห็นปฏิกริยาตื่นตกใจจากคนไทยที่มีต่อโครงการนี้ของผม ซึ่งรวมนักวิชาการสองสามคนที่ผู้อ่านของคุณก็รู้จัก ทำให้ผมสรุปว่าผมไม่สามารถติดต่อใครในพระราชสำนักจนกว่าจะถึงตอนท้ายสุด แต่พอถึงตอนที่ผมได้ร่างเป็นรูปเป็นร่างและได้ผู้ตีพิมพ์แล้ว ผมตัดสินใจว่าคงไม่มีประโยชน์และอาจจะมีผลยุ่งยากต่อการตีพิมพ์

พระราชสำนักไม่ใคร่จะให้สัมภาษณ์แก่ใคร และอาจจะขอดูต้นฉบับเป็นเงื่อนไขก่อนที่จะพิจารณาว่าจะให้ผมพบหรือไม่เสียด้วยซ้ำ หลังจากปรึกษาสำนักพิมพ์กับผู้เชี่ยวชาญเรื่องไทยหลายคนแล้ว ผมตัดสินใจว่าไม่มีโอกาสสำเร็จ และเป็นไปได้มากว่ารัฐบาลอาจจะขัดขวางไม่ให้หนังสือได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ


นิโคลาส: ข้อวิจารณ์หลักประการหนึ่งต่อหนังสือเล่มนี้คือ มันอ้าง “ข่าวซุบซิบ” กับ “ข่าวลือ” คุณว่ายังไง?


พอล: ข่าวลือซุบซิบบางอย่างก็เป็นประโยชน์แก่พระราชสำนัก ยกตัวอย่าง ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 มีคำเล่าลือแพร่หลายว่าในหลวงทรงขับรถในกรุงเทพฯ โดยปกปิดพระองค์เพื่อทรงสัมผัสรสชาติของการจราจรที่ติดขัด ทุกคนได้ยินเรื่องนี้ ทุกคนเชื่อในเรื่องนี้ ว่าพระองค์ก็ทรงลำบากลำบนเหมือนอย่างที่พวกเขาประสบ ไม่มีใครที่ผมรู้จักจะได้ประสบเรื่องนี้ด้วยตัวเองเลย มันเป็นข่าวลือ

ข่าวลือในแง่ดีคนวิจารณ์จะเน้นเฉพาะข่าวลือในแง่ลบที่ผมนำมารวบรวมไว้ ส่วนใหญ่เป็นข่าวลือที่มีทั้งที่ผมเชื่อว่าจริงและอาจจะไม่จริงแต่ถึงยังไงก็มีผลสำคัญต่อภาพพจน์ที่ประชาชนมองสถาบันกษัตริย์และพระราชวงศ์ จะบวกหรือลบก็ตาม สิ่งที่ประชาชนเชื่อเกี่ยวกับพระองค์ที่เป็นที่เคารพเทิดทูนมาก และเกี่ยวกับพระราชวงศ์ที่อาจจะเป็นที่เคารพเทิดทูนน้อยกว่า มีความสำคัญต่อความสำเร็จและปัญหาในรัชสมัยของพระองค์


นิโคลาส: ตั้งแต่หนังสือออกมา คุณสามารถกลับไปเมืองไทยได้ไหม? คุณอยากกลับไปไหม? คุณเคยได้รับการเตือนหรือกล่าวโทษอย่างเป็นทางการจากทางการไทยไหม? หรือโดยใครอื่น?


พอล: แน่นอน ผมอยากกลับไป เมืองไทยมีเสน่ห์ ผมมีเพื่อนที่นั่น มันเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผม 13 ปีประมาณนั้น คุณจะหาอาหารไทยอร่อยๆ ได้ที่ไหนนอกเมืองไทย? แต่ผมเข้าใจว่าการเขียนหนังสือเล่มนี้คงทำให้ผมไม่ได้กลับไปอีก ผมไม่ได้รับคำเตือนหรือคำขู่อะไร ผมไม่ได้ตรวจสอบว่าพวกเขาขึ้นบัญชีดำผมไว้หรือเปล่า ผมไม่ได้ยินว่ามีการตั้งข้อกล่าวหาอะไรต่อตัวผม

คือว่า ทัศนะทางการที่มีต่อหนังสือของผมคือ ไม่มีหนังสือเล่มนี้อยู่ในโลก ดังนั้นการตั้งข้อหากล่าวโทษผมจะเท่ากับเป็นการยอมรับว่ามีหนังสือเล่มนี้อยู่ ยังไม่มีใครมาข่มขู่ผม ผมคิดว่าใครๆ ก็พากันโทษทักษิณกันหมด เขาแย่งซีนไปหมดเลย


นิโคลาส: คุณมีแผนการอะไรต่อจากนี้? ผมเข้าใจว่าการเกษียณตัวเองไปอยู่เงียบๆ ในรีสอร์ทริมหาดในไทยคงเป็นไปไม่ได้แล้ว คุณมีโครงการอะไรอีกบ้างไหม?


พอล: ผมมีงานที่ไม่น่าตื่นเต้นในสำนักข่าวที่วอชิงตันดีซี ผมกำลังฝันว่าจะได้ไปประจำที่อื่น กลับมาเอเชียได้ก็จะเยี่ยมมาก
หนังสือเล่มเดียวก็พอเพียงแล้วสำหรับในตอนนี้…



ที่มา : ฟ้าเดียวกันออนไลน์

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ(บทสัมภาษณ์)

ไม่มีความคิดเห็น: