วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

วิเคราะห์ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา”


เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยานี้ มีปรากฎอยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ เรื่องกรุงเก่า ความยาวเพียง ๕๘ คำกลอน หรือ ๒๙ บทกลอนธรรมดา ในคำให้การของชาวกรุงเก่าว่า เป็นคำพยากรณ์ของสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระพุทธเจ้าเสือ) แต่เป็นคำร้อยแก้วและเนื้อความสั้นกว่า มีหมายเหตุท้ายเรื่องบอกว่า จบเรื่องพระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนายกรุงแต่เท่านี้ เรื่องนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ ในบทวิจารณ์ว่า

“เนื้อความตามที่กล่าวในเพลงยาวบทนี้ มีคำพยากรณ์มาแต่ก่อนว่า กรุงศรีอยุธยาจะสมบูรณ์พูนสุขเป็นอย่างเลิศล้นจนศักราชได้ ๒,๐๐๐ ปี พ้นนั้นไปจะเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์ ๑๖ ประการ” เหตุด้วยพระมหากษัตริย์ไม่ทรงทศพิธราชธรรม บ้านเมืองจะมีเภทภัยต่าง ๆ ที่สุดถึง ฆ่าฟันกันตาย จนกรุงศรีอยุธยาจะสูญไปตลอดอายุพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี

ในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังมีต่อไปว่า ผู้แต่งเพลงยาวคงจะเห็นวิปริตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามคำพยากรณ์ จึงได้แต่งเอาไว้ด้วยความอาลัยกรุงศรีอยุธยา เป็นการบันทึกเรื่องราวไว้ให้คนรุ่นหลัง ลงท้ายว่า…


“กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข

แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์

จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์

นับวันแต่จะเสื่อมสูญเอย”



สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยอีกว่า ผู้แต่งไม่ใช่ผู้พยากรณ์เพราะมีเค้าเงื่อนอยู่ใน “มหาสุบินชาดก” จากนิบาตชาดก มีเนื้อความว่า พระเจ้าปะเสนทิผู้ครองแคว้นโกศลอยู่ ณ เมืองสาวัตถีราชธานี ทรงพระสุบินนิมิตอย่างแปลกประหลาด ๑๖ ข้อ (ตรงกับจำนวนมหัศจรรย์ ๑๖ ประการในเพลงยาว) พวกพราหมณ์โหราพยากรณ์ว่า เป็นเหตุร้ายนัก ให้ทำพิธีบูชายัญป้องกันอันตราย แต่นางมัลลิกามเหสีไม่เห็นด้วยเกรงว่ายิ่งจะเป็นบาป เพราะการบูชายัญ จะต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทูลขอให้พระเจ้าปะเสนทิไปทูลถามพระพุทธเจ้าเสียก่อน ซึ่งพระพุทธพยากรณ์ตรัสตอบว่าร้ายจริง แต่เหตุร้ายนั้น จะยังไม่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าปะเสนทิและในพุทธกาล คือจะเกิดขึ้นเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม และมนุษย์ทิ้งกุศล สุจริต จึงจะถึงยุคเข็ญ

ในพระนิพนธ์วิจารณ์เพลงยาวบทนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเปรียบเทียบไว้เพียงสองข้อ ตามความในเพลงยาวว่า


“กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย

น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม”



ซึ่งตรงกับพระสุบิน ข้อ ๑๒ กับข้อ ๑๓ ของพระเจ้าปะเสนทิ แตกต่างกันที่ข้อ ๑๓ นั้น พระเจ้าปะเสนทิทรงพระสุบินเห็นหินก้อนใหญ่เท่าเสาเรือนลอยน้ำ หาใช่กระเบื้องไม่

ข้อแตกต่างระหว่างเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยากับมหาสุบินชาดก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชี้ว่า มี ๒ แห่ง แห่งหนึ่งพระพุทธเจ้ามิได้ทรงพยากรณ์ว่า ยุคเข็ญนั้นจะเกิดที่ประเทศใด เป็นแต่ว่า จะเกิดเมื่อพระราชามิได้อยู่ในราชธรรม แต่ในเพลงยาวเขียนว่า จะเกิดแก่กรุงศรีอยุธยา และอีกแห่งหนึ่ง พระพุทธพยากรณ์มิได้มีกล่าวไว้ว่าจะเกิดยุคเข็ญนั้นเมื่อใด ซึ่งเพลงยาวบอกว่าเกิดในศักราช ๒๐๐๐ ปี ทำให้องค์พระนิพนธ์คือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสังเกตว่า ไม่น่าจะเป็นพุทธศักราช เพราะพุทธศักราช ๒๐๐๐ นั้น ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นเวลาที่กรุงศรีอยุธยายังรุ่งเรืองอยู่ ถ้าจะเป็นมหาศักราชก็ยังอีกนาน ไม่น่าจะมีแนวโน้มให้เห็นได้ว่า จะเข้ายุคเข็ญ (มหาศักราชตั้งหลังพุทธศักราช ๖๒๑ ปี เช่นปีนี้ พ.ศ. ๒๕๔๓ ตรงกับ ม.ศ. ๑๙๒๒ เหลืออีก ๗๒ ปี จึงจะถึง ม.ศ. ๒๐๐๐) ยิ่งเป็นจุลศักราชด้วยแล้ว ยังเหลืออีกนานนัก เพราะปีนี้เพิ่งจะ จ.ศ. ๑๓๖๒ เท่านั้น เหลืออีก ๖๓๘ ปี

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสรุปเรื่องศักราชนี้ว่า คนที่แต่งเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาจะตั้งใจให้เป็นจุลศักราช ที่เหลือเวลาอีกหลายร้อยปี เพื่อมิให้คนตกใจ เพราะจุลศักราชช้ากว่าพุทธศักราชถึง ๑๑๘๑ ปี กว่าจะถึงศักราช ๒๐๐๐ ก็อีกนานโข ไม่รู้ว่าคนเราจะตายแล้วเกิดกี่ครั้ง จึงจะเห็นเหตุวิปริตดังกล่าวในคำพยากรณ์ น่าเสียดายที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงลืมว่า มีคริสต์ศักราช ซึ่งเป็นศักราชที่ประเทศมหาอำนาจใช้กัน และให้ใช้เป็นกลางไปทั่วโลก แลปีนี้ก็เป็นศักราช ๒๐๐๐ พอดี เหตุการณ์ต่าง ๆ กำลังบังเกิดขึ้นตามพุทธทำนายไม่มีผิด และเกิดแก่กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาแห่งนี้เสียด้วย

เหตุวิปริตดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากพระมหากษัตริย์ทรงละทิ้งทศพิธราชธรรมตามคำพยากรณ์เพราะพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ผู้ทรงครองกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบัน ทรงเป็นเพียงพระประมุขของประเทศตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนผู้ปกครองประเทศที่แท้จริงคือรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ อาจจะหมายถึงผู้บริหารต่าง ๆ ตามหน่วยงานด้วยความในเพลงยาวพยากรณ์ที่บอกว่า


“คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย

จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นนั้น

ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม์

จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ”



สิบหกประการมีอะไรบ้างในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาบอกไว้


“คือดินดาวเดือนฟ้าจะอาเพด

อุบัติเหตุเกีดทั่วทุกทีศาน

มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล

เกิดนิมิตพิศดานทุกบ้านเมือง

พระคงคาจะแดงเดือดเป็นเลือดนก

อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง

ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง

ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร

พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี

พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้

พระธรณีจะตีอกให้

อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม”



กล่าวไปเพียง ๑๒ ประการ ก็บอกว่าเหมือนที่มีคำทำนายเอาไว้จริง ๆ ในเพลงยาวเขียนต่อไปว่า


“ในลักษณะทำนายไว้บ่อห่อนผิด

เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม

มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม

มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด

มิใช่เทศกาลหนาวหนาวก็พ้น

มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ

ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด

เกิดวิบัตินานาทั่วสากล”



จากนั้นก็เป็นเรื่องของคำพยากรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องมาจาก มหาสุบินชาดก ดังพระนิพนธ์วิจารณ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในบทพระนิพนธ์ดังกล่าวได้ทรงกล่าวถึงเพียงความฝันที่ ๑๒ และ ๑๓ ที่กล่าวมาแล้วว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม” เท่านั้น

เพื่อประกอบเรื่องราวและคำพยากรณ์ว่า ในปีศักราช ๒๐๐๐ ได้เกิดอะไรขึ้นในกรุงศรีอยุธยาแห่งนี้ วิเคราะห์ว่า เป็นไปตามพระพุทธทำนายไว้หรือเปล่า จะขอยกเอาพระสุบินของพระเจ้าปะเสนทิโกศล มาพูดถึงเป็นข้อ ๆ พร้อมกับพุทธทำนาย และเหตุการณ์ที่ปรากฎในศักราช ๒๐๐๐ เพื่อเป็นที่สังเกต

รายละเอียดเกี่ยวกับพระสุบินของพระเจ้าปะเสนทิโกศลนี้ ได้มาจากหนังสือ มหาสุบินคำฉันท์ ของ เจ้าประคุณพระธรรมโมลี (เกตุ ดิสสโร) อดีตเจ้าคณะมณฑลปัตตานี คณะกรรมการจัดงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน ได้พิมพ์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานนั้น (ถ้าท่านผู้ใดอยากจะได้หนังสือนี้คงจะต้องขอไปที่สำนักงานจังหวัดปัตตานี ไม่ทราบว่าจะยังมีเหลือหรือไม่ เพราะพิมพ์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ สองปีมาแล้ว)


พระสุบินข้อแรก

ทรงนิมิตเห็นหญ้าขึ้นเต็มท้องพระโรง สัตว์จตุบาท ๔ ชนิด จะมาแย่งกันกินหญ้า แต่มีพลังวิเศษกดดันให้กระเด็นไปคนละทิศละทาง

พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะวิปริต มีคนชั่วมาบวช ขาดความละอายใจ หลอกลวงประชาชน ข้าราชการไม่เห็นอกเห็นใจประชาชนที่เดือดร้อน ในข้อนี้ได้ทรงพยากรณ์ต่อไปยืดยาวว่า จะเกิดความวิบัติทั่วไป ฟ้าจะสั่นดินจะสะเทือน ผีป่าจะเข้าเมือง ผีเมืองจะถูกแย่งที่ หนูจะไม่กลัวแมว น้ำจะแดงดังสีเลือด ผู้หญิงจะแต่งตัวเป็นชาย ส่วนชายแต่งกายเป็นสตรี สมณะจะทำการค้าขายราวฆราวาส กษัตริย์จะเสด็จไปอยู่ไพร ชาวป่าจะเข้ามาบริหารบ้านเมือง วัดจะหาพระสงฆ์แท้จริงได้ยาก คนจะเห็นแก่ตัวไปทั่ว แต่ก็ทรงแก้เคล็ดไว้ว่า เมื่อใดผู้คนถือความสัตย์สุจริต จะแคล้วคลาดจากภัยเหล่านี้ได้ นี่เพียงพระสุบินและคำพยากรณ์ข้อแรก ศักราช ๒๐๐๐ ปีของกรุงศรีอยุธยา เป็นอย่างนี้หรือไม่ ลองพิเคราะห์ดู

ในเพลงยาวพยากรณ์แต่งไว้เพียงว่า “เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล”

ข้อต่อไปพระสุบินของพระเจ้าปะเสนทิว่าต้นไม้อ่อนเพิ่งเกิดไม่นานมีผลดกเต็มต้น ฝูงนกพากันจิกกินอย่างสนุกสนาน พระพุทธเจ้าทำนายว่าหญิงชายจะลืมชาติสกุลของตัว ขาดความสำนึกในเครือญาติ พ่อแม่สมสู่กับลูกตนเหมือนมิใช่เลือดเนื้อเชื้อไข เด็กอายุยังไม่ถึงสิบสองก็เป็นผัวเป็นเมียกันแล้ว พ่อแม่ลูกไม่รู้จักกัน ลูกไม่เชื่อคำพ่อแม่ ผู้ปกครองจะอุปถัมภ์ค้ำชูคนโกง กว่าจะกลับกลายดีก็ล่วงไปนับพันปี

กรุงศรีอยุธยาในศักราชสองพันนี้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงตระหนัก

พระสุบินนิมิตข้อที่ ๓ ว่า

แม่โคละทิฐิขอนมลูกกิน ข้อนี้พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ถวายพระเจ้าปะเสนทิว่า คนชราที่หมดสมรรถภาพแล้วจะขอพึ่งพาลูก ๆ แต่ไม่สมหวัง ลูกกลับจะด่าทอว่าขี้เกียจไม่รู้จักทำมาหากิน ข้อนี้ความฝันสั้น ๆ พุทธทำนายก็สั้น แต่มีความสมบูรณ์ในตัว เมื่อใดที่บุตรมีความกตัญญูรู้คุณ ภัยร้ายก็จะหายได้

ข้อต่อไปทรงพระสุบินนิมิตว่า โคใหญ่ไม่ยอมรับคันไถ ปล่อยลูกโคที่ยังไม่เติบโตพอ ต้องทำงานแทนอย่างเหนื่อยยาก พระพุทธเจ้าทำนายว่า พระมหากษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ระดับสูงจะคบคนพาลตั้งแต่ยังเยาว์ ให้อำนาจราชศักดิ์ ตุลาการจะขาดความยุติธรรมเห็นแก่อามิส คนจนจะรับกรรม คนรวยล้มบนฟูก ทั้งนี้เพราะความโลภหลง จนกว่าบุคคลเหล่านี้หันมาประพฤติตามพระธรรมวินัย นั่นแหละ ความเลวร้ายจึงจะสูญ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อใด

ความฝันข้อที่ ๕ บอกว่า มีม้าสองปาก อดอยากมากกินไม่รู้อิ่ม คนสองคนป้อนอาหารจนเหนื่อยก็ไม่รู้จักพอ จนต้องนั่งลงทำตาปริบ ๆ ข้อนี้ทำนายว่า พวกทนายความจะสร้างหลักฐานเท็จให้ทั้งฝ่ายโจทก์จำเลยสู้กัน ตนเองรับสินจ้างจากทั้ง ๒ ฝ่าย รีดจนเลือดชิบ เดือดร้อนไปทั่ว ถ่วงเวลาว่าความหน่วงเหนี่ยว เลี้ยงไข้ด้วยความโลภ ใครจะเดือดร้อนอย่างไรไม่สนใจ (ยิ่งเรื่องโกงเลือกตั้ง ยิ่งแล้วใหญ่ หมดสมัย ส.ส. แล้วยังสืบพยานไม่สำเร็จ) ในศักราช ๒๐๐๐ นี้เป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือไม่ ท่านก็คงเห็น

ความฝันข้อที่ ๖ ฝันว่า

เครื่องภาชนะราชูปโภคที่สุกใส แต่สุนัขขึ้นไปนั่งอยู่อย่างเหิมเกริมทะนงตน พระพุทธองค์ทรงไขว่า พวกไพร่จะได้ดีมียศศักดิ์ พาลคะนองไม่นึกถึงกำพืดตน จองหองเหมือนกิ้งก่าได้ทอง อวดตนเสมอพระราชาหรือพระราชวงศ์ ดูแต่รัฐสภาก็แล้วกัน สามัญชนทั้งนั้น แต่เรียกกันว่า ท่านนั่นท่านนี่ เสมอหม่อมเจ้าเปรอะไปหมด ถ้าละทิฐิเสียก็คงจะดีขึ้น

ข้อต่อไป พระเจ้าปะเสนทิ ทรงเห็นคนโง่ฟั่นเชือกหนังปล่อยปลายลง สุนัขก็มากัดกินปลายเชือกนั้น ฟั่นเท่าไรก็ไม่ยาวออกพอใช้การได้สักที ข้อนี้พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า สามีอุตส่าห์หาเลี้ยงภรรยาปานใด ฝ่ายหญิงก็ไม่รู้คุณ ไปคบชู้สู่ชายอื่น ซ้ำยังด่าทอข่มขู่สามีต่าง ๆ นานา เมื่อใดที่คนมีธรรมะเรื่องนี้ก็จะดีขึ้น

ความฝันข้อต่อไปว่า ชาวบ้านพากันตักน้ำใส่ตุ่มใหญ่ใบเดียว ใบเล็กใบน้อยนับร้อย นับพันกลับว่างเปล่า ทำนายว่าประชาชนยากจน หาได้ไม่พอกินพอใช้ ผู้ปกครองกลับรีดภาษี เอาเนื้อหนูปะเนื้อช้าง ยกย่องเศรษฐีกัน ทำนองมีเงินมีทองพูดได้ มีไม้มีไร่ปลูกเรือนงาม ใครให้เงินซื้อเสียงก็ชื่นชมจ่ายบำรุงพรรคมากก็ได้เป็นเสนาบดี คนจนเดือดร้อน จำนองจำนำก็ไม่มีปัญญาไถ่ถอน เดือดร้อนกันทั่ว รอว่าเมื่อใดที่โลกมีเมตตาธรรม นั่นแหละความเดือดร้อนนี้จึงจะหมดไป

ข้อที่ ๙ ในพระสุบินว่า

มีสระน้ำประหลาดริมสระน้ำใสสะอาด มีสัตว์น้ำชุกชุม กลางสระกลับขุ่นขัน หญ้าแฝกขึ้นเต็ม พยากรณ์ว่า ประเทศที่รุ่งเรืองทอดทิ้งจารีตประเพณี รับเอาวัฒนธรรมต่างชาติ ทั้งแนวคิดและวิถีชีวิต ขาดศีลธรรมไปประพฤติชั่ว มั่วยาเสพย์ติด ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ติดการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน เหล่านี้ ปรากฎอยู่ใจกลางสระจนขุ่นข้น แต่ขอบสระหรือชนบทรอบนอกยังสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจน้ำในสระนี้ เมื่อใดมีศีลธรรมในเมืองใหญ่ดีขึ้นนั่นแหละน้ำจึงจะใสสะอาดไปทั้งสระ

ความฝันข้อที่ ๑๐ มีหญิงโง่หุงข้าวในหม้อเดียวกัน มีทั้งสุก ทั้งไหม้ ทั้งแฉะ ทั้งดิบ ไม่พอดี ทำนายว่า เสื้อเมืองทรงเมืองจะบันดาลให้บ้านเมืองวิปริต ไม่ใช่หน้าฝนฝนก็ตก หน้าหนาวกลับร้อนร้อนกลับหนาว แร้งลงกลางนครตอนกลางวันแสก ๆ ไก่ป่านกไส้เข้ามาอยู่ในเมือง ฆ้องกลองระฆังดังเองหอกดาบศาสตราวุธของมีคมจะแดงฉานดังสีเลือดและโชติช่วงในตอนกลางคืน เทวดาประจำเมืองใฝ่ต่ำ ยกย่องให้คนพาลได้ใจเที่ยวโอ้อวดศักดา เบ่งบารมีตามผับ เสกสรรปั้นเรื่องต่าง ๆ นานา ใครสอนก็ไม่ฟัง แต่ก็เป็นไปตามกฎแห่งกรรม เมื่อใดที่กลับใจทำดี ชาติก็จะอยู่รอด

อีกหกข้อเท่านั้น ทนอ่านต่อไปอีกหน่อย จะเห็นว่า ศักราช ๒๐๐๐ ปีนี้เป็นอย่างคำพยากรณ์หรือเปล่า

ความฝันข้อต่อไปว่า มีคนโง่ได้แก่นจันทน์มา แต่ไม่รู้ค่าจึงเอาไปแลกนมโค พยากรณ์ว่า พระสงฆ์จะลดละวินัย เอาพระธรรมไปขายแลกเงินทองศาสนาจะมัวหมอง ของดีกลับชั่ว สิ่งชั่วกลับดี แก่นจันทน์คือธรรมะ นมโคคือเงินทองของสงฆ์ ซึ่งอวดวิเศษกันทั่วไป ลวงให้คนเชื่อ ทำตนเป็นหมอดูบ้างเป็นนักเทศน์บิดเบือนคำสอนของพระศาสนาบ้างและจะเป็นอย่างนี้จนกว่าพระสงฆ์จะมีหิริโอตัปปะละอายแก่ใจนั่นแหละ

พระสุบินข้อ ๑๒ ข้อ ๑๓ นี้ ในพระนิพนธ์อธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีอยู่แล้วคือ “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม” ในเพลงยาว แต่มหาสุบินชาดกบอกว่า ข้อ ๑๒ ฝันว่า น้ำเต้าจม ข้อสิบสามว่าเสาหินลอยน้ำ ทำนายว่า ในปี ๒๐๐๐ นี้ นักปราชญ์จะตกต่ำไม่มีใครเขาชื่นชม คำสอนดี ๆ จะถูกเหยียดหยาม คนพาลจะเหิมเกริม ที่เสาหินลอยน้ำนั้นก็คือ ผู้มีอำนาจจะรักคนพาลที่คอยสอพลอปอปั้น ยกย่องขึ้นมาให้มีอำนาจเป็นเสนาบดีใหญ่โต ทำความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไปทุกหย่อมหญ้า ฉ้อราษฎร์บังหลวงกันทั่ว ถ้าใครร้องเรียนหรือทักท้วงจะโดนกลั่นแกล้ง ดีไม่ดีจะเป็นไข้โป้ง ไม่ตายก็คางเหลืองเหมือนเรื่องที่ปรากฎโด่งดังอยู่ทุกวันนี้ ถ้าคนพาลเหล่านี้ไม่เปลี่ยนสันดาน บ้านเมืองก็จะเกิดยุคเข็ญอยู่อย่างนี้

ข้อ ๑๔ ฝันเห็น

กบเขียดไล่กัดงูนับร้อยนับพันตัว งูพยายามหนีแต่ก็ไปไม่รอด ทำนายว่า สตรีพาลจะข่มผัว ฝักใฝ่การพนัน ดื่มสุรายาเมา ไม่สนใจการบ้านการเรือน ขี้เกียจ ไม่ยอมใช้น้ำพักน้ำแรงของตน ละทิ้งหน้าที่ของกุลสตรี ต่อเมื่อสตรีมีศีลธรรมนั่นแหละจึงจะพ้นภัย

อีกข้อหนึ่งฝันว่า หงส์ไปอยู่ปนอยู่ฝูงกา และพากันมามั่วอยู่ในเมือง ข้อนี้พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า ผู้มีตระกูลสูงหรือตำแหน่งสูง แต่งตั้งคนพาลเป็นที่ปรึกษาและงานบังคับบัญชา คอยยุยงให้ทำความชั่ว แจ้งทรัพย์สินอันเป็นเท็จ สอพลอปอปั้น ต่อหน้ามะพลับ หลับหลังตะโก ทำนองคบคนพาลพาลพาไปหาผิด เหมือนพระเจ้าอชาตศัตรูไปคบพระเทวทัต ทำปิตุฆาตพระเจ้าพิมพิสารนั่นเอง

มาถึงข้อสุดท้ายจนได้ พระเจ้าปะเสนทิโกศลนิมิตเห็น เนื้อสมันไล่กัดเสือ กระต่าย ขู่หมี อวดฤทธิ์วางก้ามใหญ่ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงทำนายว่าลูกศิษย์คิดล้างครู ลูกไม่รู้คุณพ่อแม่ เมียกดขี่ผัว บ่าวคดต่อนาย ข้าทรยศเจ้า อลัชชีข่มอาจารย์ ลูกด่าพ่อแม่ คนดีต้องหนีหรือละวาง

อย่างไรก็ตาม สิ่งร้ายที่เกิดขึ้นทุกข้อ พระพุทธองค์ทรงบอกทางแก้ไขไว้เรียบร้อยคือ ให้คนหันหน้าเข้าหากัน รู้รักสามัคคี มีเมตตา รู้จักพอ ตั้งมั่นในศีลธรรม แล้วโลกก็จะพ้นยุคเข็ญ

เนื้อหาใน เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ๒๙ บท ๕๘ คำกลอน ในแปดบทแรกกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาครั้งรุ่งเรืองว่า ความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยานี้จะมีมาจนถึงศักราช ๒๐๐๐ แล้วจะเกิดอาเพศ เพราะผู้ปกครองประเทศไม่อยู่ในธรรม ปกป้องคนผิด ข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง อวดอำนาจสารพัด แล้วก็เข้าเรื่องพุทธทำนายเหมือนมหาสุบินชาดก ในนิบาตชาดก ซึ่งมีที่มาจาก คัมภีร์สุตันตปิฏก แต่ในฉบับบาลีมิได้ขยายความมีแต่ข้อความสั้น ๆ ว่า พระเจ้าปะเสนทิโกศลทรงฝันเห็น โคอุสุภราช ๑ ต้นไม้ ๑ แม่โค ๑ โคสามัญ ๑ ม้า ๑ ถาดทองคำ ๑ สุนัขจิ้งจอก ๑ หม้อน้ำ ๑ สระโบกขรณี ๑ ข้าวสารที่หุงไม่สุก ๑ แก่นจันทน์ ๑ แก่นจันทน์ ๑ น้ำเต้าจมน้ำ ๑ หินลอยน้ำ ๑ นางเขียดกลืนงูเห่า ๑ หงส์ทองแวดล้อมกา ๑ เสือกลัวแพะ ๑ ดังนี้ แต่ที่คำพยากรณ์นั้นเห็นจะเล่ากันมาดังพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นส่วนที่เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาได้พูดถึง

โครงเรื่องของเพลงยาวพยากรณ์เรื่องนี้ ถ้าจะพิจารณาต่อไปก็จะผสมผสาน มาปรากฎอยู่ใน กาพย์พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ ที่กล่าวถึงพาราสาวะถี ซึ่งเคยรุ่งเรืองมา จนกระทั่งวันหนึ่ง


“อยู่มาเหล่าข้าเฝ้า ก็หาเยาวนารี

ที่หน้าตาดีดี ทำมโหรีที่เคหา

ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา

หาได้ให้ภริยา โลโภพาให้บ้าใจ”


และ

“คดีที่มีคู่ คือไก่หมูเจ้าสูภา

ใครเอาข้าวปลามา ให้สุภาก็ว่าดี

ที่แพ้แก้ชนะ ไม่ถือพระประเวณี

ขี้ฉ้อก็ได้ดี ไล่ด่าดีมีอาญา

ที่ซื่อถือพระเจ้า ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา

ผู้เฒ่าเหล่าเมธา ว่าใบ้บ้าสาระยำ

ภิกษุสมณะ เล่าก็ละพระสะธำม์

คาถาว่าลำนำ ไปเร่งร่ำทำเฉโก”


และในที่สุด

“ผีป่ามากระทำ มรกำม์เชาบุรี

น้ำป่าเข้าธานี ก็ไม่มีที่อาไศย”

เหตุการณ์ดำเนินไปจนถึง

“วันนั้นครั้นดินไหว เกิดเหตุใหญ่ในปฐพี

เล็งดูรู้คดี กาลกิณีสี่ประการ

ประกอบชอบเป็นผิด กลับจริตผิดโบราณ

สามัญอันธพาล ผลาญคนซื่อถือสัจธรรม์

ลูกศิษย์คิดล้างครู ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน

ส่อเสียดเบียดเบียนกัน ลอบฆ่าฟันคือตัณหา

โลภลาภบาปบ่คิด โจทก์จับผิดริษยา

อุระพสุธา ป่วนเป็นบ้าฟ้าบดบัง

บรรดาสามัญสัตว์ เกิดวิบัติปัติปาปัง

ไตรยุคทุกขะตรัง สังวัจฉระอวสาน”


กาลกิณีสี่ประการของสุนทรภู่นี้ก็คือ วิบัติมหัศจรรย์ ๑๖ ประการ ในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยานั่นเอง

พระเจ้าปะเสนทิ ผู้ทรงพระสุบิน ๑๖ ประการนั้น เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นโกศล ซึ่งมีเมืองสาวัตถีเป็นราชธานี พระเจ้าปะเสนทิทรงอยู่ร่วมสมัยกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นคงจะมีกษัตริย์สืบต่อีกหลายพระองค์จนถึงสมัยของพระไชยสุริยาครองพาราสาวัตถี มีมเหสีชื่อนางสุมาลี แล้วข้าเฝ้าเหล่าเสนาก็ฉ้อราษฎร์บังหลวง จนเกิดผีป่ามากระทำ พระไชยสุริยาต้องพามเหสีพร้อมด้วยบริวารลงเรือหนี ถูกพายุกระหน่ำเรือแตกกลางมหาสมุทร ข้าราชบริพารทั้งหลายไม่หลงเหลือ ล้วนเป็นเหยื่อแก่เต่าปลา ส่วนพระไชยสุริยากับนางสุมาลีเกาะขอนไม้ว่ายเข้าฝั่งได้

กรุงสาวัตถี นั้นรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัย ป.(ปะเสนทิ) ปกครองมาเสื่อมสิ้นในสมัยของ ช.(ไชยสุริยา) นี่เอง ไม่รู้ว่ากรุงศรีอยุธยาตามเพลงยาวพยากรณ์นั้นรุ่งเรืองสมัย ป. ไหน (ป.แปลก, ป.ปรีดี หรือ ป.เปรม) แล้วมาเสื่อมสลายในสมัยของ ช.ใด (ช.ชาติ, ช.ชวน, ช.อาชา. หรือ ช.ชวลิต) ขอท่านผู้อ่านพิเคราะห์และตัดสินเองก็แล้วกัน



อำพล สุวรรณธาดา :
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต :


วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ :
ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 : มหาวิทยาลัยรังสิต


บรรณานุกรม

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ เรื่องกรุงเก่า.กรุงเทพฯ:องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๒

ศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร),พระยา.มูลบทบรรพกิจ.กรุงเทพฯ:ศิลปบรรณาการ,๒๕๑๐

ธรรมโมลี (เกตุ ติสสโร),พระ.มหาสุบินคำฉันท์.กรุงเทพฯ:มังกรการพิมพ์,.๒๕๔๑


หมายเหตุ

วิเคราะห์ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” ฉบับนี้ปรับปรุงจากคำบรรยายของผู้เขียน ในการเสวนาเรื่อง “กรุงแตก:บทเรียนจากอดีต” ณ ห้อง ๗ - ๑๐๐ อาคารหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๓


คัดลอกโดย : ขุนนางอยุธยา

ที่มา : Historical and Archaeological Webboard


เพิ่มเติม :


เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา


....จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา
เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนา
มหาดิเรกอันเลิศล้น เป็นที่ปรากฏรจนา
สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรียสีมามณฑล
จบสกลลูกค้าวานิช

ทุกประเทศสิบสองภาษา
ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุทยาเป็นอัคะนิด
ประชาราษฎร์ปราศจากไภยพิศม์
ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์
ฝ่ายองค์พระบรมราชา
ครองขันทสิมาเป็นศุข
ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก
จึ่งอยู่เย็นเป็นศุขสวัสดี

เป็นที่อาไศรยแก่มนุษย์ในใต้หล้า
เป็นที่อาไศรยแก่เทวาทุกราศรี
ทุกนิกรนรชนมนตรี
คะหะบดีชีพราหมณพฤฒา
ประดุจดั่งศาลาอาไศรย
ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันษาขา
ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา
เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาน

ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ
อาจปราบไภรีทุกทิศาน
ทุกประเทศเขตขัณท์บันดาน
แต่งเครื่องบัณาการมานอบนบ

กรุงศรีอยุทยานั้นสมบูรณ์
เพิ่มพูลด้วยพระเกรียศคะจรจบ
อุดมบรมศุขทั้งแผ่นภิภพ
จนคำรบศักราชได้สองพัน

คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย
จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศมิตราชธรรม์
จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ

คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพด
อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล
เกิดนิมิตพิศดานทุกบ้านเมือง

พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก
อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง
ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร

พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี
พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้
อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม

ในลักษณะทำนายไว้บ่อห่อนผิด
เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม
มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด

มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น
มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด
เกิดวิบัตินานาทั่วสากล

เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา
จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปรุษย์จะแพ้แก่ทระชน
มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก

ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว
คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก
จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย

ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ
นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม

ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า
เพราะจันทานมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์
เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา

พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท
ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา
อาสัจจะเลื่องฤๅชา
พระธรรมาจะตกฦกลับ

ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ
จะสาบสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์
สัปรุษย์จะอับซึ่งน้ำใจ

ทั้งอายุศม์จะถอยเคลื่อนจากเดือนปี
ประเวณีจะแปรปรวนตามวิไส
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป
ผลหมากรากไม้จะถอยรส

ทั้งแพศพรรว่านยาก็อาเพด
เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด
จวงจันทน์พรรณไม้อันหอมรส
จะถอยถดไปตามประเพณี

ทั้งข้าวก็จะยากหมากจะแพง
สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิศม์มิคสัญญี
ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน

กรุงประเทศราชธานี
จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล
จะสาละวนทั่วโลกทั้งหญิงชาย

จะร้อนอกสมณาประชาราช
จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย
ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ

ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก
เวียงวังก็จะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงสาราสัตว์เนื้อเบื้อ
นั้นจะหลงหลอเหลือในแผ่นดิน

ทั้งผู้คนสาระพัดสัตว์ทั้งหลาย
จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาลจะมาผลาญแผ่นดิน
จะสูญสิ้นการณรงสงคราม

กรุงศรีอยุทยาจะสูญแล้ว
จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม
ไปจนคำรบปีเดือนคืนยาม
จนสิ้นนามศักราชห้าพัน

กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข
แสนสนุกนี้ยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นแพศยาอาทัน
นับวันจะเสื่อมสูญเอยฯ


จาก : หนังสือ อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากให้แปลแบบถอดร้อยแก้วไปทีละบทๆจะได้เข้าใจ