แม้ว่าจะมีนักวิชาการที่เป็นคนชั้นกลางบางคน ร่วมมือกับสื่อบางส่วน รณรงค์ 2 ไม่เอา คือ ไม่เอาทั้งทักษิณ และไม่เอาทั้งพันธมิตร แต่ผมก็ไม่คิดว่าแนวทางนี้จะเป็นคำตอบให้กลับสังคมแต่อย่างใด มันเหมือนกับการซุกปัญหาไว้ใต้พรม ไม่ได้เป็นการบ่งหนองแต่อย่างใด ซึ่งมันก็เหมือนกับไปรณรงค์ให้คนรักทักษิณ ศรัทธาทักษิณ และเชื่อมั่นในระบอบทักษิณ นั้น "ไม่เอาทักษิณอีกต่อไป" แนวทางนี้ย่อมเป็นที่น่าหัวร่อ เพราะมันเท่ากับไปเปลี่ยนจุดยืน อุดมการณ์และอุดมคติของคนทั้งสองฝ่าย มันย่อมเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับผมไปรณรงค์จูงใจให้ “พวก 2 ไม่เอา” นายจอน อึ้งภากร หรือ นายปริญญา เทวานรมิตรกุล หันมาชอบหรือศรัทธาทักษิณนั้นเอง พวกนี้ก็คงทำใจไม่ได้เช่นกัน
พวกริบบิ้นสีขาวผมว่าขบวนการนี้มีกลิ่น เพราะการเคลื่อนไหวไปเข้าทางพันธมิตร คือ "ขวางทางปืนให้พันธมิตร" แท้ที่จริง การเคลื่อนไหวสอดประสานจนเหมือนกับเป็น "ปีกหนึ่งของพันธมิตร หรือแนวร่วมนั้นเอง"
ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสองแนวทางนั้น มันไม่มีทางที่จะมีแนวทางที่สามขึ้นมาได้ เหมือนกับ "สงครามกลางเมืองอเมริกัน" ที่มีความขัดแย้งหลักที่เป็นเนื้อหาสำคัญ คือ "มีทาส" กับ "ไม่มีทาส" มันไม่มีแนวทางที่สามได้ที่ "มีทาสกับไม่มีทาส” อยู่ด้วยกันได้ เพราะรากฐานของปัญหายังคงอยู่ หากไม่แก้รากฐานของปัญหา ความขัดแย้งก็ไม่มีทางสิ้นสุด สุดท้ายสงครามคือการตัดสิน เพราะผมคาดว่า ทั้งสองฝ่ายได้เสนอแนวทาง เหตุผลของตนเองจนหมดสิ้นแล้ว และเหตุผลหลักการ ความเชื่อของแต่ละฝ่ายมันไม่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนใจได้ ธรรมชาติของโลก สงครามจึงจะเป็นตัวตัดสินเมื่อไม่มีทางออกอื่นได้อีก
ผมอยากจะทราบเหมือนกันว่าหากพวก "สองไม่เอา" หรือพวกแนวทางที่สามนี้ ไปรณรงค์ในยุคสงครามกลางเมืองอเมริกันให้เกิดสันติ ประนีประนอม พวกเขาจะรณรงค์อย่างไร ให้พวกไม่ชอบทาส กับพวกที่ชอบทาสยอมรับได้ ผมคิดไม่ออกจริง ๆ เพราะหากทั้งสองฝ่ายประนีประนอม มันก็หมายถึง “ทาส” ยังคงมีอยู่ และพวกไม่ชอบการมีทาส ก็ดูเหมือนว่าจะแพ้ สุดท้ายเขาก็คงยอมรับไม่ได้
ในที่สุดของปัญหา ก็เกิดสงครามขึ้นในอเมริกา ตายกันเป็นเบือ แต่มันก็ "แก้ไขปัญหาไปได้เด็ดขาด" คือพวกไม่เอาทาสชนะ และอเมริกาก็พัฒนาต่อไป ไม่ใช่ประเทศอเมริกาล่มสลายลงเมื่อเกิดสงคราม สังคมมนุษย์ย่อมพัฒนาการต่อไป หากมนุษย์ไม่ตายหมดประเทศไปก่อน
สงครามแม้มนุษยชาติจะไม่ชอบมัน แต่มันคือ "เครื่องมือที่ดีสุดเมื่อไม่มีทางออกอื่นให้เลือกอีกแล้ว"
การขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอื่นๆ ร่วมสมัย ที่เราเห็นได้ชัดคือ ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ "เนปาล" ระหว่างพวก "ไม่เอากษัตริย์" กับ "พวกเอากษัตริย์ลัทธิเหมา" ที่ต่อสู้กันมายาวนานกว่า 20 ปี คนตายไปหลายพัน ก็ได้ข้อสรุปที่ "ไม่เอากษัตริย์" ก็ชนะ บัลลังค์ของกษัตริย์เนปาล ที่เปรียบเสมือนสมมุติเทพ ในศาสนาฮินดูก็สิ้นสุดลง เทพนิยายยุคกลาง ความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ปกครองนั้น คนสมัยใหม่ยุคศตวรรษที่ 21 เขายอมรับไมได้ เพราะโลกสื่อสารกันได้ทั่วถึง ความคิดและอุดมการณ์ไหลถ่ายเทกันได้ ความเชื่อเก่า ๆ ไม่อาจยืนหยัดได้อีกต่อไป
มันคือ ทฤษฎี Dialectic ของลัทธิมาร์กธรรมดา ที่การต่อสู้กันระหว่างสองขั้ว (Thesis, antithesis) จะนำไปสู่พัฒนาการใหม่ ไม่มีที่ยืนให้ "ขั้วที่สาม" ที่มาร์กซิสต์เรียกว่า "พวกปฏิกิริยา" หรือนิยามของเมืองไทยให้เห็นภาพคือ "พวกสองไม่เอา" นั่นเอง
คือทั้งสองขั้วต้องสู้กันไปจนกว่าจะมีขั้วที่ชนะ ส่วนใหญ่ขั้วที่ก้าวหน้าจะชนะ เพราะสังคมต้องพัฒนาไปข้างหน้า ไม่ใช่ย้อนหลัง คือ หากพวกอำมาตยาธิปไตยชนะ สังคมไทยก็พัฒนาการย้อนหลังหรือหยุดนิ่งกับที่ เพราะหากสังคมพัฒนาไปข้างหน้า พวกอำมาตย์ย่อมโดนขจัดออกจากการเป็นขั้วอำนาจทางการเมืองอยู่ดี
สรุป ทางออกอย่างสันติผมยังมองไม่เห็น ยกเว้นกลุ่มที่เราเรียกว่าพวก "ศักดินาล้าหลัง" หรือพวกผ้าพันคอสีต่างๆ จะย้อมแพ้ เหมือนในยุครัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญแต่โดยดี ทำให้ระบบเก่ากับระบบใหม่สามารถอยู่ร่วมกันไปได้ในสภาพการณ์ใหม่ได้อย่างดี แต่หากจะหยุดสังคมไว้มันก็จะเหมือนกันเนปาลหรือ หลายๆ ประเทศที่ประสบมา
ความขัดแย้งในขณะนี้มันผ่านเลยเรื่อง “เอาทักษิณ และไม่เอาทักษิณไปแล้ว” ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องทักษิณแล้ว แค่ทักษิณเป็นคนเดินไปสะดุดคนรากหญ้าให้ตื่นขึ้นมาเท่านั้นเอง แม้ทักษิณไม่อยู่ "แต่นักการเมือง พรรคการเมืองของคนรากหญ้าหรือพรรคการเมืองที่มีนโยบายสนับสนุนคนรากหญ้า" ย่อมยังคงอยู่ เพราะจำนวนคนรากหญ้ามีมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ
ยกเว้นประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง จนจำนวนคนชั้นกลางมีมากกว่า 50% ของประชากรทั้งหมด เมื่อนั้นพรรคของคนชั้นกลางจะชนะ
ตอนนี้ผมไม่ได้ใส่ใจกับพวกที่นอนที่สะพานมัฆวานรังสรรค์อีกแล้วละครับ เพราะในขณะนี้ การชุมนุมของคนพวกนี้มันไม่ได้มีผลกระทบทางการเมืองมากมายจนเราต้องหวาดหวั่นอีกแล้ว อยากอยู่ต่อไป ก็เชิญอยู่ ผมว่าอยากปิดถนนสร้างบ้านถาวรเลยก็ทำไปเลย แต่ผมไม่เสียอารมณ์ กับคนเหล่านี้อีกแล้ว พวกเขาหลุดโลกไปแล้ว ไม่มีเป้าหมายที่จะสร้างเงื่อนไขที่รุนแรงได้แล้ว พลังของคนกลุ่มนี้ "แสดงได้สูงสุดก็แค่นี้" ไม่ได้น่ากลัวแต่อย่างใด รวมพลสูงสุดไม่ได้เกิน 15,000 คน แล้วคิดเปลี่ยนรัฐบาลของประเทศ เป็นเรื่องที่น่าตลกพอสมควร
การยึดสะพานมัฆวานฯ ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยึดประเทศไทยได้
อีกหน่อยรถที่จำต้องผ่านบริเวณนั้นก็จะชินไปเอง หรือหาทางออกได้เอง สงสารแต่นายทุนที่ต้องจ่าย และคนที่ชุมนุม เข้าหน้าฝน ก็ต้องทนทุกข์ทรมาน แต่สังคมจะชินไปเอง
หากพวกเขาไม่ใจร้อน "ระบอบทักษิณ" นั้น หากปล่อยให้พัฒนาการต่อไปจะกลืนกินตัวเองคือ จะทำให้มีคนชั้นกลางเข้ามาในระบบเรื่อยๆ สุดท้ายพรรคที่คนชั้นกลางสนับสนุนก็จะชนะ ระบอบทักษิณคือระบอบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ เป็นกระแสโลกในปัจจุบัน การสร้างแบบจำลองแบบ “สังคมสุขสงบแบบภูฐาน” มาแข่งขันกับระบอบโลกาภิวัฒน์ มันก็ไม่ได้แตกต่างจากยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในยุโรป ซึ่งมีการสร้างเมืองแบบ “ยูโทเปีย” ขึ้นมาปลุกระดมคนยุคนั้นให้เห็นสังคมแบบเพ้อฝัน ซึ่งสิ่งที่ไม่ตั้งอยู่บนรากฐานของความเป็นจริงย่อมอยู่ไม่ได้ในโลกของความเป็นจริง
ตอนนี้คนรากหญ้าตื่นขึ้นมาแล้ว แต่ "พวกศักดินาล้าหลัง" ดันไปทำลาย "ระบอบทักษิณ" คนรากหญ้าที่ตื่นขึ้นมาแล้วก็ไม่ยอมนอนหลับอีกต่อไป ผลมันก็คือความวุ่นวายของสังคมไม่รู้จักจบสิ้น
เพราะมีพวกล้าหลัง "คนล้าหลัง เพ้อฝันอยู่ในโลกที่ตัวเองอุปโลกน์ขึ้นว่าจะมั่นคงถาวรไม่เปลี่ยนแปลง" คนกลุ่มนี้เอาเท้าไปสะดุดระบอบทักษิณ ทำให้ระบอบทักษิณหยุดชะงัก
"ยักษ์หลับคือคนรากหญ้า" เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วไม่มีอาหารกิน ท้องหิวมันก็ต้องอาละวาด สุดท้ายมันก็จะจับพวกศักดินาล้าหลังนั่นแหละกินเป็นอาหาร
มันเกิดขึ้นมาแล้วทุกประเทศ
ยกเว้นแต่จะมีทางลงดี ๆ เช่น ญี่ปุ่นหรืออังกฤษ นั่นเอง
ลูกชาวนาไทย
ที่มา : Thai E-News : ยักษ์หลับ คือคนรากหญ้า : เขาตื่นขึ้นมาแล้ว และก็ไม่ยอมนอนหลับอีกต่อไป
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำตามเวบต้นทางของบทความที่ thaifreenews
วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2551
ยักษ์หลับ คือคนรากหญ้า : เขาตื่นขึ้นมาแล้ว และก็ไม่ยอมนอนหลับอีกต่อไป
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 6:28 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ลูกชาวนา ก็สมควรไปไถนาอยู่ที่บ้าน
แสดงความคิดเห็น