อันที่จริง กรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ทั้งในระยะก่อนหน้ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีนี้ ควรจะถือเป็นโอกาสหนึ่งที่หลายฝ่ายน่าจะได้พิจารณาอย่างจริงจังว่า ถึงที่สุดแล้ว “ระบบคิด” ที่กำกับอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวหรือที่กลุ่มพันธมิตรฯ นำมาใช้เคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนนั้นแท้จริงแล้วมีคุณูปการอย่างไรต่อสังคมไทยกันแน่? ในเมื่อประเด็นหลักสำคัญที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล และคณะนำมาใช้เคลื่อนไหวปลุกกระแสความเกลียดชังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างได้ผลนั้น ล้วนแต่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ความกลัว” ต่าง ๆ เกี่ยวกับ “ชาติ” และ “สถาบัน” (ทั้งในด้านการผลิตซ้ำและขยายใหม่) ฉะนั้น เราจึงได้เห็นการโยงประเด็นปัญหาต่าง ๆ เข้ากับกรอบความขลาดกลัวดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องของการไม่จงรักภักดี หมิ่นสถาบัน ขายชาติ จนถึงการเสียดินแดนเขาพระวิหาร
ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันที่จริงสิ่งที่รัฐบาลสมัครเสนอขึ้นมานี้ยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่มากนัก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่มีความชอบธรรมที่จะนำมาใช้ตั้งแต่แรก แม้ฝ่ายสนับสนุนและกลุ่มพันธมิตรฯ จะอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติกันมา แต่ทุกคนต่างก็รู้ดีว่ารัฐประหาร 19 กันยา’ ต่างหากที่เป็นปัจจัยกำหนดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลายกรณีเห็นได้ชัดว่าประเด็นจริง ๆ ของกลุ่มพันธมิตรฯ อยู่ที่การล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตั้งแต่แรก และเป็นการปกป้องเจตนารมณ์ของการรัฐประหาร โดยหวังให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้งด้วยวิถีทางดังกล่าว
ก็ตาม ในเมื่อปัญหาอยู่ที่ “ระบบคิด” ไม่ใช่ตัวบุคคลหรือกลุ่มขบวนการ การโต้กลับการเคลื่อนไหวลักษณะนี้จึงไม่ควรใช้กลไกการปราบปรามของรัฐเอง เช่น ตำรวจ หรือทหาร เพราะจะยิ่งสร้างเงื่อนไขให้การเคลื่อนไหวตาม “ระบบคิด” ดังกล่าวมีความชอบธรรมยิ่งขึ้น ความอดทนอดกลั้นไม่ใช่แต่เพียงความจำเป็นเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่นี่จะเป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งของสิทธิความเป็นประชาธิปไตยของรัฐเองในระยะยาวด้วย แต่ดูเหมือนความวิตกกังวลของหลายฝ่ายจะเป็นในลักษณะว่า การประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ จะนำมาซึ่งข้ออ้างในการก่อรัฐประหารขึ้นมาอีก
รัฐประหารเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงต่อความเป็นประชาธิปไตย ความคิดที่สนับสนุนหรือนำไปสู่การรัฐประหารก็ควรถูกพิจารณาในลักษณะเดียวกัน!
ถ้าไม่เปลี่ยนแนวคิดหรือไม่มีการต่อสู้ทางความคิดที่ได้ผลเพียงพอ โอกาสจะเกิดรัฐประหารรวมทั้งการเคลื่อนไหวแบบกลุ่มพันธมิตรนี้ก็ยังจะมีอยู่ต่อไป!
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับการสร้างเงื่อนไขจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก การตีความ “ชาติ” และ “สถาบัน” ของ คมช. และกลุ่มพันธมิตรฯ มีความสอดคล้องลงรอยกันเป็นอย่างดี นอกเหนือจากสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เชื่อมต่อกันระหว่าง พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร และแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งหมดนี้เราถึงจำเป็นต้องพิจารณาดูที่มาที่ไปของการตีความ “ชาติ” และ “สถาบัน” ที่ทั้งคมช. และกลุ่มพันธมิตรฯ นำมาใช้อย่างได้ผล
ทั้งหมดนี้เราสามารถย้อนกลับไปพิจารณาดูจากประวัติศาสตร์ได้มากน้อยเพียงไหน?
อะไรคือเงื่อนไขให้เกิดการเคลื่อนไหวตามแนวคิดการตีความดังกล่าว?
ที่ผ่านมาความพยายามในการตีความ “ชาติ” ให้สัมพันธ์สอดคล้องกับ “สถาบัน” ในการเมืองไทยนั้นสามารถจำแนกอย่างหยาบ ๆ ได้เป็น 4 ยุคด้วยกันดังนี้
(1).
2475 : ภายหลังจากเปลี่ยนระบอบการปกครองได้มีความพยายามของกลุ่มเจ้าที่ต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เอื้อต่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน กลุ่มนี้ได้ขัดแย้งและช่วงชิงอำนาจนำกับคณะราษฎร จนนำไปสู่การปิดสภาโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา รัฐประหาร พ.ศ. 2476 สงครามกลางเมืองระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชในปีเดียวกัน โดยในการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านคณะราษฎรครั้งนั้นได้ชูประเด็นสำคัญเรารู้จักกันดีในปัจจุบันคือ “พระราชอำนาจ” แต่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายต่อต้านเอง
เป็นที่ทราบกันดีในภายหลังว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มกบฏบวรเดชนั้น ไม่ใช่จะรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาใหม่ แต่กลุ่มนี้ต้องการปรับปรุงโครงสร้างบางอย่างเพื่อให้ “สถาบัน” ได้มีพื้นที่ทางอำนาจในการปกครองระบอบใหม่ “ความเป็นชาติ” ระหว่างกลุ่มบวรเดชและคณะราษฎรแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงด้วยเหตุประการนี้ เพราะการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรนั้นยืนยันชัดเจนว่า “ประเทศเป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ดังที่เขาหลอกลวง” แต่ขณะเดียวกันคณะราษฎรก็ใช่จะต้องการเปลี่ยนสู่ระบอบสาธารณรัฐ ดังที่ฝ่ายตรงข้ามมักใช้โจมตี เพียงแต่ประเด็นข้อแตกต่างสำคัญนั้นอยู่ที่ “พระราชอำนาจ” คณะราษฎรไม่เห็นควรจะให้สถาบันมีอำนาจครอบงำเหนือ “การเมือง” อีกต่อไป อำนาจบริหารควรตกเป็นของผู้นำสามัญชนที่มาจากการเลือกตั้ง ตรงจุดนี้เองถูกขยายความโดยนักคิดนักเขียนและนักปาฐกถาจำนวนมาก เกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องความจำเป็นที่จะต้องแยกระหว่าง “ชาติ” กับ “สถาบัน” ออกจากกัน ยกพระองค์ไว้เป็นที่เคารพสักการะ ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง
(2).
2490-2500 : สถานการณ์ได้ผันเปลี่ยนทำให้อำนาจนำทางการเมืองได้เปลี่ยนมือจากคณะราษฎรเป็นฝ่ายตรงข้าม กลุ่มการเมืองที่เคยเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับเหตุการณ์กบฏบวรเดชเมื่อปี พ.ศ. 2476 ได้กลับฟื้นมามีบทบาทอีกครั้งในการเมืองไทยระยะปี พ.ศ. 2490 ถึงทศวรรษ 2500 “รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จากเดิมที่เคยเป็นจริงแต่เพียงในนามเท่านั้น กลายเป็น “ความเป็นจริงทางสังคม” ในแง่ที่รัฐบาลเริ่มแสดงการกระทำเชิงสัญลักษณ์ว่าตนเป็นรัฐบาลที่มีสิทธิธรรมจากการเป็นตัวแทนของสถาบันในการบริหาร เนื่องจากกลุ่มผู้นำระยะ 2490 ถึง 2500 ล้วนแต่มีปัญหาสิทธิธรรมตามระบบที่มีมาแต่ครั้ง 2475 พวกเขาไม่ได้รับเลือกจากราษฎรส่วนข้างมากตามจารีตที่มีขึ้นหลัง 2475 แต่คงอยู่ในอำนาจได้ก็ด้วยการรัฐประหาร ซึ่งแกนนำรัฐประหารต่างรู้ดีว่าขณะนั้นกำลังเกิดเงื่อนไขใหม่ขึ้นในการเมืองไทยคือ การเสด็จนิวัติกลับพระนครเป็นการถาวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในปี พ.ศ. 2494
ต่อมาเราจึงเห็นได้ว่าผู้นำเผด็จการทหารต่างอ้างความชอบธรรมจากสถาบัน กระทำการเชิงสัญลักษณ์ว่าตนเป็นรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ความเป็นชาติ” ที่เคยเป็นเพียงจินตนาการความฝันที่ไม่เคยถูกยอมรับมาปฏิบัติจริงของกลุ่มกบฏบวรเดชถูกผลิตซ้ำและสร้างใหม่อย่างมากมายในยุคเผด็จการ ดูเหมือนสิ่งนี้เองจะเป็นประสบการณ์
“ความจัดเจน” อย่างแท้จริงของสถาบันในยุคต่อมาว่า ผู้นำเผด็จการที่ขึ้นสู่อำนาจจากการรัฐประหารนั้นไว้ใจได้ในเรื่องความจงรักภักดี แม้พวกนี้จะคอรัปชั่น คดโกงอย่างไร ก็ไม่ถูกนำมาเป็นประเด็น (อย่างน้อยก็ในระยะที่ยังอยู่ในอำนาจ) อย่างไรก็ตามระยะเผด็จการครองอำนาจนี้เอง ความสัมพันธ์ระหว่างกลไกรัฐ (และความเป็นชาติ) ได้มีการเชื่อมต่อกับ “สถาบัน” ไว้หลายมิติด้วยกัน กระทั่งกล่าวได้ว่ารูปแบบรัฐที่นิยามความเป็น “ชาติ” หมายถึงอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร ที่คณะราษฎรได้สร้างทำไว้นั้นถูกยกเลิกเป็นอำนาจสูงสุดเป็นของสถาบันไปโดยปริยาย
(3)
14 ตุลา’ ถึงสงครามประชาชน : แม้ว่าการเคลื่อนไหวระยะแรกของขบวนการ 14 ตุลา’ นั้น จะยังคงอ้างอิง “พระราชอำนาจ” มาใช้ในการเคลื่อนไหว แต่ปรากฏว่าขบวนการได้ขยายในเชิงคุณภาพ แนวคิดสังคมนิยมจาก พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ได้เข้ามาชิงการนำของขบวนการ มีการรื้อฟื้นแนวคิดและบทบาทความสำคัญของขบวนการฝ่ายซ้ายไทยในอดีต การวิพากษ์สังคมไทยว่า เป็น “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” นำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อบทบาทของรัฐบาลและสถาบันอย่างรุนแรง “ศักดินา” กลายเป็นตัวการสำคัญในทางประวัติศาสตร์ที่เป็นอุปสรรคหยุดยั้งพัฒนาการความก้าวหน้าของสังคมไทย จากจุดนี้สงครามประชาชนได้เริ่มขึ้น นอกเหนือจากรัฐบาลได้ดำเนินการปราบปรามกำลังนักรบทปท. (กองทหารปลดแอกแห่งประเทศไทย) ในชนบทอย่างรุนแรง ตั้งแต่ยุทธการภูหลวงกลางปี พ.ศ. 2515 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2516 รัฐบาลจอมพลถนอมที่เคยมองกันว่าอ่อนแอนั้นกลับทุ่มเทกำลังคนและงบประมาณในการปราบปรามกำลัง ทปท. มากกว่ารัฐบาลเผด็จการก่อนหน้านั้น
ฝ่ายสถาบันก็ยังทำการเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างต่อเนื่อง พระองค์ทรงวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปราม พคท. ที่เน้นเฉพาะแต่กำลังอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงอย่างเดียว ต่อมาทรงเสนอการปราบด้วยวิธีการเมืองมวลชนหรือที่รู้จักกันในศัพท์ “การเมืองนำการทหาร” ก่อนที่ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร จะนำเสนอแนวคิดนี้มาเคลื่อนไหวในหมู่นายทหารเสียอีก การยุติบทบาทลงไปของพคท. จึงถือเป็นชัยชนะของฝ่ายสถาบันที่เชื่อมโยงกับการต่อสู้ของรัฐบาลในสถานการณ์สงครามประชาชน ความสำคัญของเหตุการณ์ “ป่าแตก” ที่ยังไม่ค่อยมีการกล่าวถึงกันมากนัก ก็คือเหตุการณ์นี้นำมาซึ่งการล่มสลายของ “คู่ตรงข้าม” หรือศัตรูสำคัญของสถาบันมากกว่าอื่นใด จากนั้นนับแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา เราจึงได้เห็นการแพร่ระบาดของกระแสความนิยมในตัวองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากกว่ายุคใด ปราศจากซึ่งคู่ตรงข้ามที่สามารถท้าทายหรือมีพื้นที่ในการต่อต้านไปแล้วนั่งเอง
แต่ทว่ามรรคผลของการพยายามครอบงำเหนือรัฐเพื่อใช้ในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามมาหลายปี ก็ทำให้ฝ่ายสถาบันเห็นความจำเป็นที่ต้องกระทำการเยี่ยงนั้นต่อไป เพราะเห็นชัดแล้วว่ารัฐ (ที่ต่อเนื่องกับชาติ) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้ช่วงชิงการนำจากประชาชน “ข้าราชการ” จึงเป็น “ข้า ‘ราช ’ การ” ต่อไป ไม่ยินยอมให้คนเหล่านี้มีสำนึกว่าตนเป็น “ข้าราษฎร” ตามเจตนารมย์ของ ๒๔๗๕ อีกต่อไป และระยะนี้เองนายทหารระดับคุมกำลังต่างถือตัวว่าเป็นทหารของในหลวง และถือว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “จอมทัพ” อย่างแท้จริง ไม่ใช่แต่เพียงการยกย่องโดยนามเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐ/ชาติ(เช่น นายกรัฐมนตรี) กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะระยะดังกล่าวนี้นายกรัฐมนตรีคนสำคัญที่ครองอำนาจยาวกว่าใคร ได้แก่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ซึ่งทำให้ประชาชนและนายทหารมีนายกเป็น “ป๋า” (ป๋าเปรม?) นับจากเคยมีนายกเป็น “พ่อ” ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ (พ่อขุน?) ระบอบป๋ารับใช้สถาบันอย่างเต็มที่ “ในหลวงมาก่อนประชาชน” และ “ในหลวงก็คือชาติ”
(4)
พฤษภาคม 2535 : การนำ พล.อ. สุจินดา คราประยูร กับ พล. ต. จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยพลอ. เปรม ติณสูลานนท์ ทั้งที่ปกติต้องเป็นหน้าที่ของราชเลขาธิการ สร้างภาพเป็นบวกแก่สถาบันอย่างสูง กลายเป็นว่าปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้ของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 นั้นจบลงก็ด้วยพระบารมี ดูประหนึ่งว่าสังคมไทยมีสิ่งซึ่งเป็นกลางที่สำคัญสูงสุด ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยากแก่การประนีประนอม แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทของพระองค์ในเหตุการณ์ครั้งนั้นปรากฏออกมาในระยะที่สถานการณ์ต่อสู้กำลังเป็นไปโดยที่ฝ่ายประชาชนค่อนข้างจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ สุจินดาและระบอบ รสช. กำลังพบจุดจบอยู่รอมร่อ การแสดงบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับทำให้ฝ่ายเผด็จการได้รับผลกรรมจากการเข่นฆ่าประชาชนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
จากที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จบลงเช่นนั้น ฝ่ายรัฐและการเมืองถูกมองถูกรับรู้ด้วยภาพของความขัดแย้ง ความรุนแรง ฯลฯ ขณะที่ภาพลักษณ์และความทรงจำเกี่ยวกับบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองเป็นตรงกันข้าม ทรงถูกทำให้เป็นศูนย์รวมของความรู้สึกในชาติ ชาตินิยมจากเดิมที่เคยเป็นพลังอำนาจอย่างหนึ่งของรัฐประชาชาติ รัฐซึ่งมีนิยามอย่างกว้างว่าอำนาจสูงสุดในทางการเมืองการปกครองเป็นของประชาชน ลุถึงทศวรรษ 2540 ชาตินิยมได้ผูกติดแนบแน่นกับผลประโยชน์ของสถาบัน ซึ่งก็เป็นอันสรุปได้ว่าความพยายามในช่วงที่ผ่านมาของเหล่าบรรดานักกษัตริย์นิยมประสบผลสำเร็จในการชี้นำให้สังคมเห็นว่าผลประโยชน์ของสถาบันนั้นเป็นอย่างเดียวกับผลประโยชน์ของชาติ หรือกล่าวอีกนัยคือ ผลประโยชน์ของคนบางหมู่เหล่าถูกเกลื่อนกลบด้วยข้ออ้างว่าเป็นผลประโยชน์ของชาตินั่นเอง เป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่ก่อนปฏิรูปการเมืองประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 จนถึงการมาของนายกรัฐมนตรี เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ในการประท้วงขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นับว่านายสนธิ ลิ้มทองกุล และกลุ่มพันธมิตรฯ มีความแหลมคมอยู่มากที่ใช้เงื่อนไขบางประการจากความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์มาใช้เคลื่อนไหว แต่การฉวยโอกาสเยี่ยงนี้สมควรแก่การประณามมากกว่ายกย่อง ความคิดที่นำมาใช้เคลื่อนไหวของนายสนธิและกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นอุปสรรคที่แท้จริงของประชาธิปไตยไทยตลอด 76 ปีที่ผ่านมา ความคิดนี้เป็นความคิดเผด็จการแบบไทย ๆ ที่หาดูได้ไม่ยากจากประวัติศาสตร์ โดยพื้นฐานความคิดนี้เทียบได้กับกลุ่มกษัตริย์นิยมที่ต่อต้านคณะราษฎรและ พคท. รวมถึงการต่อสู้ของประชาชนในช่วงระยะที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นการขยายความคิด “ราชาธิปไตย” ลงสู่การเคลื่อนไหวมวลชนระดับล่างเท่านั้น ยังห่างไกลอย่างยิ่งจากสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองใหม่” ดังที่บางคนในแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ อวดอ้างอย่างไร้สติ!
และก็ด้วยการขาดการยั้งคิดเช่นนี้ ทำให้ไทยขัดแย้งกับเพื่อนบ้านด้วยการปลุกกระแสเรื่องการเสียดินแดนที่จบสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ตลอดระยะเวลากว่า 46 ปีที่ผ่านมา มีพวกคลั่งชาติไม่น้อยที่ไม่ยอมรับว่าเขาพระวิหารโดยเฉพาะตัวปราสาทนั้นเป็นของเขมร ครั้งหนึ่งพวกนี้เคยสร้างทฤษฎีหลอกลวงด้วยซ้ำว่า “ขอม” ไม่ใช่ “เขมร” (ฉะนั้น เขมรจึงไม่มีสิทธิครอบครองเขาพระวิหาร เหมือนอย่างที่เคยบอกว่าไม่มีสิทธิครอบครองนครวัดมาก่อน) กรณีการเสนอเป็นมรดกโลกแทนที่จะเป็นโอกาสในการยอมรับจริง ๆ เสียทีว่าเขาพระวิหารเป็นของเขมรด้วย ไม่ใช่แต่ของไทยฝ่ายเดียว กลับถูกใช้เป็นประเด็นการเมืองอย่างฉาบฉวย ขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น หากจะกล่าวว่ากลุ่มพันธมิตรฯ มีความเป็นชาตินิยม ก็เป็นชาตินิยมที่เป็นสุดยอดของการเอาแต่ตัวเองเป็นใหญ่ ไม่เห็นหัวคนอื่น ไม่คิดว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร และไม่คิดว่าเขาอาจตอบโต้เราดังที่เราทำกับเขาก็ได้ เขมรก็มีชาตินิยมของตนเอง ทางออกจึงควรเป็นการสงบและสันติมากกว่าจะยั่วยุหรือเปิดช่องให้อีกฝ่ายแสดงอิทธิฤทธิ์ของตนออกมา แล้วผลลัพธ์จะได้แก่ การสูญเสียทั้งสองฝ่าย กระนั้นหรือ?
ที่จริงตลอดระยะเวลากว่า 46 ปีที่ผ่านมา ก็พิสูจน์แล้วว่ารัฐไทยยังคงอยู่รอดปลอดภัยมาได้ กรณีเขาพระวิหารไม่ได้ทำให้รัฐไทยถึงแก่กาลอวสานแต่อย่างใดเลย อธิปไตยมีองค์ประกอบที่ซับซ้อนและหลากหลายเกินจะสูญสลายด้วยเหตุปัจจัยเพียงเท่านั้น เช่นเดียวกัน ปัจจุบันกล่าวได้ว่า “สถาบัน” มีฐานรากที่มั่นคงแข็งแกร่งเกินจะสั่นคลอนด้วยเหตุเพียงเพราะใครบางคนไม่จงรักภักดีหรือมีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์ แท้จริงแล้วพวกนี้ออกจะดูหมิ่น... มากกว่าคนที่เขากล่าวหาว่าดูหมิ่นเสียอีก หากจะถือว่าการเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยของสถาบันเป็นความจริงโดยแท้อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ต้องมีขบวนการทางการเมืองสำหรับปกปักรักษาหรืออวดอ้างว่า “เราจะสู้เพื่อ...” นายสนธิและกลุ่มพันธมิตรกำลังหลอกลวงประชาชนอย่างมโหฬาร
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า การเคลื่อนไหวด้วยแนวคิดและการชูธง “ราชาธิปไตย” เช่นนี้ ผลลัพธ์คือความบอบช้ำอย่างยาวนานของสังคมและประชาธิปไตยไทย การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าถูกยับยั้งด้วยพวกปฏิกริยาล้าหลัง ขบวนการนี้กำลังนำพาประชาชนให้ต่อสู้ในประเด็นซึ่งไม่ใช่ปัญหาปากท้องของพวกเขาอย่างแท้จริง
การต่อสู้เช่นนี้มีค่าเท่ากับไม่ได้ต่อสู้!
ขบวนการนี้ไม่ใช่ขบวนการประชาธิปไตย
แต่เป็นราชาธิปไตยสำหรับยุคสมัยนี้อย่างแท้จริง
พันธมิตรประชาชนเพื่อราชาธิปไตย (ไม่ใช่ประชาธิปไตย?)
พอเสียทีเถอะ..
สำหรับการเคลื่อนไหวที่ปฏิกริยาเช่นนี้!
การเคลื่อนไหวมวลชนควรเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นไปเพื่อต่อสู้ในประเด็นปัญหาของพวกเขาเอง ไม่ใช่ “ชาติ” หรือ “สถาบัน” ถึงตรงนี้เราควรแยก “ชาติ” กับ “สถาบัน” ออกจากกัน “ชาติ” ไม่ใช่พื้นที่ที่ “สถาบัน” ควรยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด!
กำพล จำปาพันธ์
นิสิตปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ที่มา : ข่าวประชาไท : บทวิจารณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ: พันธมิตรประชาชนเพื่อราชาธิปไตย?
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551
บทวิจารณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ: พันธมิตรประชาชนเพื่อราชาธิปไตย?
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 7:41 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น