1.
กรณีนายจักรภพ เพ็ญแข ถูกฟ้อง น่าจะมีความเชื่อมโยงกับการเมือง เพราะคนที่นำเรื่องขึ้นมาโปรโมทมากๆ ได้แก่กลุ่มพันธมิตรและพรรคประชาธิปัตย์ และที่น่าสังเกตคือ ปาฐกถาที่นายจักรภพให้ไว้ ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) นั้นเกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว กล่าวคือในเดือนสิงหาคม 50
2.
สังคมและสื่อจำนวนไม่น้อยได้ฟันธงเรียบร้อยก่อนศาลในขณะที่ส่วนใหญ่ไม่กล้าลงเนื้อหาของปาฐกถาของนายจักรภพ ซึ่งสะท้อนถึงการไม่มีพื้นที่ที่จะพูดถึงสถาบันอย่างปกติธรรมดา (แม้ในภาษาอังกฤษ) โดยไม่ต้องถูกดำเนินการทางกฎหมายและสังคม ประเด็นนี้น่าเป็นห่วงเพราะสื่อทำตัวเป็นผู้นำในการจัดการกับนายจักรภพเสียเอง แถมทำหน้าที่แทนกลไกรัฐและกระบวนการยุติธรรมเสียอีก
มันสะท้อนในเห็นว่ากลไกการคุกคามผู้แสดงความเห็นต่างต่อสถาบัน มิได้จำกัดอยู่แค่กลไกรัฐ แต่สื่อกลับมีบทบาทสำคัญในกระบวนการปั่นพองสถาบันกษัตริย์
3.
กรณีนี้สะท้อนถึงความคิดแบบขาวดำ กล่าวคือถ้าคุณตั้งคำถามต่อบทบาทสถาบันก็เท่ากับคุณต่อต้านสถาบัน ไม่มีพื้นที่ตรงกลางในที่สาธารณะ การแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าทันหรือตั้งคำถามได้ถูกโยงเหมารวมไปเป็นเรื่องหมิ่น หรือพูดเท็จ ในขณะที่การประจบเทิดทูนสถาบันเกินเลยอย่างเช่น ท่านทรงเป็นพระอัครอัจฉริยะในทุกด้าน กลับไม่ถือเป็นการโกหกหรือหมิ่น ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมตอกย้ำวัฒนธรรมหน้าไหว้หลังหลอก อย่างที่ ผบ.สส. บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ บอกว่า เรื่องนี้พูดที่ลับได้แต่ไม่ควรพูดในที่สาธารณะ นี่ยิ่งทำให้เห็นว่า ความหน้าไหว้หลังหลอกประเภทซุบซิบนินทาเกี่ยวกับสถาบัน กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่ทำได้ไปเสีย
4.
กฎหมายหมิ่นฯ ในปัจจุบัน ใครฟ้องก็ได้ ทำให้ทุกคนสามารถเป็นเกสตาโปได้ เป็นกฎหมายที่สร้างวัฒนธรรมอันน่ากลัวยิ่ง
5.
วิธีการจัดการ (หรือยับยั้ง) ความเห็นต่าง เห็นเท่าทัน หรือตั้งคำถามต่อสถาบันนั้นแยบยลและสลับซับซ้อนกว่าที่ผู้เขียนเคยคิด มีการจัดการทั้งใต้โต๊ะ บนโต๊ะ หรือเหนือโต๊ะ กล่าวคือ อย่างกรณีผู้เขียน ก็เพิ่งทราบเมื่อเดือนเมษายน ว่าถูกแบล็กลิสต์โดยทางการ โดยผู้ที่บอกผู้เขียน ซึ่งเป็นคนที่น่าเชื่อถือได้ กำชับว่า ไม่ควรเปิดเผยให้ใครทราบ ว่าผู้เขียนทราบจากใคร การแบล็กลิสต์นี้ สืบเนื่องมาจากบทความเชิงวิชาการเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อกระแสหลัก และปรากฎการณ์ปั่นพองซึ่งเกิดขึ้นโดยกฎหมายหมิ่นฯ และการเซ็นเซอร์ของสื่อกระแสหลัก ที่เสนอต่อที่ประชุมวิชาการไทยคดีศึกษา เดือนมกราคม 51 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ บทวิเคราะห์: ปรากฏการณ์ปั่นพอง-ปฏิกิริยาโต้กลับ : กฎหมายหมิ่นเบื้องสูงและการเซ็นเซอร์ตัวเองของ นสพ.)
การที่ผู้เขียนได้รับแจ้งว่าถูกแบล็กลิสต์นั้นมีลักษณะแปลกประหลาดตรงที่ว่ามันไม่มีใบเสร็จ เสมือนกับว่า ทางการต้องการแบล็กลิสต์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องการมีหลักฐานว่ามีการแบล็กลิสต์เกิดขึ้น ทำให้ดูเหมือนกับว่าสังคมนี้เป็นสังคมเสรี ผู้คนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งที่ในความเป็นจริง อาจมิใช่ แถมมีการเตือนว่า อาจถูกอุ้ม ทำให้สงสัยว่า บ้านเมืองนี้มันเป็นอย่างไร มีขื่อมีแปหรือไม่
อีกกรณีหนึ่งล่าสุดได้แก่การที่ร้านหนังสือนายอินทร์ ตัดสินใจเลิกจำหน่ายวารสารฟ้าเดียวกัน ซึ่งทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเพิ่งทราบเมื่อประมาณอาทิตย์ที่ผ่านมา
หลายวิธีของการเซ็นเซอร์นั้น รวมถึงการเซ็นเซอร์โดยทางการขอมา อย่างเช่นกรณีขอให้หนังสือพิมพ์คุณภาพภาษาไทยฉบับหนึ่งให้ความร่วมมือโดยการไม่เสนอข่าวการที่ตำรวจบุกจับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสองคนที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบัน ที่ใช้นามปากกาว่า พระยาพิชัย และท่อนจัน การเซ็นเซอร์โดย บก. เอง เซ็นเซอร์โดยทำให้นักข่าวเชื่อว่า เรื่องที่เท่าทันต่อสถาบัน เป็นเรื่องที่ไม่เป็นประเด็นข่าวที่สำคัญ การเซ็นเซอร์โดยการบล็อคเว็บไซต์ หรือแบล็กลิสต์นักข่าวและตัวบุคคล เซ็นเซอร์โดยใช้วัฒนธรรมความกลัวอย่างกรณีขู่ทำร้ายนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง (สัมภาษณ์ "โชติศักดิ์" ผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง-กลุ่ม ‘เราคนขอนแก่นรักแผ่นดิน’ ประณาม ‘โชติศักดิ์’) เซ็นเซอร์โดยการเชือดไก่ให้ลิงดูอย่างกรณีนายจักรภพ หรือคนที่อยากเป็นนักการเมืองในอนาคตคิดหนัก หากอยากแสดงความเห็นเท่าทันหรือตั้งคำถามเรื่องสถาบัน และการเซ็นเซอร์โดยการที่สื่อพยายามทำให้ทุกคนเชื่อว่าคนไทยทั้งหมดมีความเห็นต่อสถาบัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือแม้กระทั่งการเซ็นเซอร์นักข่าวต่างประเทศ ที่รายงานข่าวเกี่ยวกับสถาบันอย่างเท่าทันอย่างเช่นกรณีนายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซี ประจำประเทศไทย
6.
การที่บางคนออกมาโต้ในอินเทอร์เน็ตว่า ถ้าคิดต่างก็ไปอยู่ต่างประเทศสิ คนที่ใช้ตรรกะเช่นนี้ มิต่างจากสื่อกระแสหลักที่พยายามเหมารวมว่าคนไทยทุกคนคิดเหมือนกัน ว่าด้วยเรื่องนี้ และคนคิดต่างไม่น่าจะเป็นคนไทย นี่เป็นการต่อสู้ทางวาทกรรมว่าด้วย “ความเป็นไทย” ที่มีนัยยะสำคัญ มันเป็นการต่อสู้เพื่อควบคุม ช่วงชิงนิยามความเป็นไทย ว่าควรคิดประพฤติปฎิบัติเยี่ยงใด และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมทางการเมืองชนิดหนึ่ง ฝ่ายที่สามารถกำหนดความเป็นไทยได้ คือฝ่ายที่มีอำนาจเหนือผู้อื่น (นายโชติศักดิ์ จึงต้องถูกทำให้ “เป็นอื่น” หรือไม่เป็นไทย โดยถูกกล่าวหาว่า แม่หรือพ่อเป็นพม่า หรือมีผิวคล้ำเหมือนมีเชื้อแขก)
แท้จริงแล้ว อำนาจในการกำหนดความเป็นไทยหรือไม่ใช่ไทย ก็คืออำนาจในการกำหนดว่าผู้อื่นควรหรือไม่ควรปฎิบัติอย่างไร
7.
เมืองไทยไม่ได้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่กระแสสื่อ กระแสสังคมกำลังผลักดันให้เกิดสภาวะปั่นพองที่เอียงไปในทางนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนดูเหมือนจะไม่มีจุดพอดี หรือพอเพียงเกี่ยวกับการเทิดทูน หรือประจบสถาบัน – มันไม่มีคำว่า พอ ด้วยซ้ำไป
กระแสเทิดทูนนิยมเจ้า ถูกปั่นพองเสียจนยากที่จะรู้ได้ว่าสถาบันนั้น แท้จริงเป็นที่นิยมเทิดทูนมาก เหมือนกับภาพด้านเดียว มิติเดียว ที่สื่อกระแสหลักนำเสนอหรือไม่
ในแง่หนึ่งก็มีการเทิดทูนปั่นพองความนิยมกันสุดๆ แต่ในอีกแง่ก็ประคบประหงม จนใครตั้งคำถามในที่สาธารณะไม่ได้ ทำให้ช่องทางฟีดแบ็กอย่างแท้จริงต่อสถาบัน แทบจะไม่มี หรือไม่มีเลยก็ว่าได้
สื่อกระแสหลักเพลย์เซฟอย่างเดียว โดยอ้างว่า เป็นธุรกิจพันล้าน ต้องระวังห่วงพนักงานเป็นพันชีวิต ซึ่งเป็นจริงอยู่บ้าง แต่สื่อไม่เคยคิดว่า การเสนอข่าวด้านเดียวมิติเดียวเช่นนี้จะนำไปสู่อะไรในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า และพวกเขาก็ไม่สนใจจะรับผิดชอบ
8.
การตั้งคำถามเรื่องสถาบันอย่างเปิดเผยมิได้ย่อมมีผลต่อการคิดและตั้งคำถามเรื่องอื่นๆ ในชีวิตและสังคมมิมากก็น้อย แถมมีผลต่อระดับวุฒิภาวะสังคมโดยตรง
ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น
ไม่มีเหตุผลอันใดที่สถาบันมิควรโปร่งใส หรือตรวจสอบมิได้
9.
ในสภาพที่ไม่มีพื้นที่เปิดสำหรับความเห็นต่างในสังคมไทยอย่างแท้จริงและคนไทยจำนวนมิน้อย ดูเหมือนยังมิสามารถอยู่กับความเห็นต่างอย่างสันติ โดยมิต้องไปทำลายหรือทำร้ายใคร ความต่างบางชนิดถูกทำให้เป็นอาชญากรรม
10.
สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่รู้จักโต สื่อไทยเสนอข่าวเรื่องสถาบันด้านเดียว การที่สื่อวาดภาพมิติเดียวทำให้นึกถึงเหตุการณ์ปีที่แล้วเมื่อประธานนาธิบดีอิหร่าน นายอามาดินาจัด (Ahmadinajad) พูดที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในกรุงนิวยอร์ก คราวไปเยือนประเทศสหรัฐฯ ว่าในอิหร่านนั้นไม่มีเกย์หรือคนรักเพศเดียวกัน จนเกิดการโห่ฮาจากนักศึกษาและผู้ฟังอื่นๆ จนเป็นข่าว
11.
สิ่งที่สังคมไทยขาด คือการเสริมสร้างวุฒิภาวะให้คนคิดเอง ตั้งคำถามเอง ตัดสินใจเอง และพยายามกำหนดอนาคตตนเอง โดยไม่ต้องรอให้ทหารก่อรัฐประหาร ผู้ใหญ่ไม่ว่าทักษิณหรือใครมาอุปถัมภ์ เรื่องขาดวุฒิภาวะนี้แม้กระทั่งกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างนายสุริยะใส กตะศิลา ก็มีความเห็นทำนองมิไว้ใจในวุฒิภาวะของผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เองเมื่อคนออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่แน่ใจว่า จะให้กลุ่มสีขาวออกมาพูดบนเวทีพันธมิตรฯ หรือไม่ เพราะเกรงว่า ผู้ชุมนุมจะ “สับสน”
ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนเคยพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ช่วยผู้พิพากษาว่า ทำไมคำพิพากษาควรจะถูกสื่อวิจารณ์ได้ ซึ่งทางฝ่ายผู้ช่วยผู้พิพากษาคนหนึ่งที่เห็นต่างก็บอกว่า สาธารณะและสื่อไม่ควรมีสิทธิวิจารณ์คำพิพากษา เหมือนกับที่ลูกไม่ควรมีสิทธิวิจารณ์ เวลาพ่อต่อว่าลูก มุมมองเช่นนี้เป็นมุมมองที่เชื่อว่าประชาชนไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจเองได้
12.
เรื่องนายจักรภพ สื่อส่วนใหญ่มัวแต่ถกเถียงว่าสิ่งที่นายจักรภพพูดนั้น หมิ่นหรือไม่หมิ่น แต่กลับไม่มีใครสนใจที่จะลงไปดูในรายละเอียดว่าสิ่งที่นายจักรภพพูดนั้น เป็นจริงถูกต้องมากน้อยเพียงไร (อย่างเช่นนายจักรภพพูดว่า ระบบอุปถัมภ์ทำให้คนไทยเป็นเด็กไม่รู้จักโต)
13.
ไม่มีอะไรที่น่ากลัวไปกว่าระบบโฆษณาชวนเชื่อ
ที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว และชื่นชอบ
ไม่มีอะไรที่น่ากลัวไปกว่าระบบโฆษณาชวนเชื่อ
ที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว และชื่นชอบ
ไม่มีอะไรที่น่ากลัวไปกว่าระบบโฆษณาชวนเชื่อ
ที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว และชื่นชอบ
ไม่มีอะไรที่น่ากลัวไปกว่าระบบโฆษณาชวนเชื่อ
ที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว และชื่นชอบ
14.
ถ้าอยากรู้ว่ากระแสปั่นพองความนิยม เทิดทูนสถาบันไปไกลแค่ไหน ก็ขอให้ลองคิดดูว่า “สีเหลือง” เมื่อ 15 หรือแม้กระทั่ง 10 ปีที่แล้ว มีความหมายพิเศษอันใดหรือไม่ ผู้เขียนจำได้ว่า เคยซื้อเสื้อสีเหลือง โดยมิได้รู้สึกว่ามันมีความหมายอันใดเป็นพิเศษเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หากทุกวันนี้ มันเป็นไม่ได้ที่จะใส่เสื้อตัวนี้ โดยมิถูกผู้คนตีความว่าเป็นรอยัลลิสต์
15.
ในสภาพเช่นนี้การที่สื่อกระแสหลักชอบอ้างว่า สื่อไทยมีเสรีภาพระดับแนวหน้าในอาเซียน (อย่างน้อยก็ก่อนถูกทักษิณแทรกแซงและก่อนถูกทหารแทรกแซงหลัง 19 ก.ย.49) นั้น เอาเข้าจริงมันเป็นเพียงมูลโค (Bull shit) เพราะว่าด้วยเรื่องสถาบันแล้ว สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง เป็นประจำมิน้อยหน้าไปกว่าเกาหลีเหนือ
16.
หากเลิกกฎหมายหมิ่นฯ ยังมิได้ ก็ควรที่จะปล่อยให้สำนักพระราชวัง เป็นคนฟ้องแทนที่จะปล่อยให้ใครก็ได้ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
17.
การคิด พูดเท่าทัน ตั้งคำถามหรือวิพากษ์สถาบันกษัตริย์มิได้เลยนั้น เป็นประโยชน์ต่อผู้ใด และเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมจริงหรือ
18.
มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งมิได้เป็นกลุ่มเล็ก ปั่นพองกระแสเทิดทูนสถาบัน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของพวกตน
19.
สถานะของคนที่คิดเท่าทัน หรือตั้งคำถามต่อสถาบันนั้น ย่ำแย่กว่าเกย์หรือเลสเบี้ยนในเมืองไทยเสียอีก เพราะไม่เพียงแต่ไม่เป็นที่ยอมรับ ของสื่อกระแสหลักและรัฐ แต่ยังต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ แสดงความเห็นโดยมิกล้าแสดงตนในที่สาธารณะ อยู่ในเว็บก็ถูกไล่ปราบ ไล่บล็อค
นี่หรือคือยุคแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง
20.
ไม่ว่าคุณจะสนับสนุนสถาบันกษัตริย์หรือไม่ก็ตาม การสร้างความเท่าทันต่อสื่อ ต่อสถาบันต่างๆ รวมถึงสถาบันกษัตริย์จะช่วยให้สังคมมีวุฒิภาวะ ช่วยให้สังคมคิดเป็น พึ่งตนเองทางปัญญาได้
21.
ในสังคมไทย ความจริงดูเหมือนไม่มีค่าเท่ากับคำพูดหน้าไหว้หลังหลอก ประจบสอพลอ หรือเทิดทูน สุดๆ อย่างพร่ำเพรื่อ
เมื่อความจริงบางอย่าง คำถามบางชนิด พูด เขียน มิได้ และกลายเป็นอาชญากรรม สังคมไทยจะหวังเป็นประชาธิปไตย มีความเสมอภาค และเสรีภาพ ได้อย่างไร
ประวิตร โรจนพฤกษ์
หมายเหตุ: ผู้เขียนปรับปรุงจากเนื้อหาในการอภิปรายในโครงการเสวนา: สิทธิมนุษยชนกับความเห็นที่แตกต่าง (2) ปรากฏการณ์จักรภพ เพ็ญแข: ภาพสะท้อนสังคมการเมืองไทย เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มา : ข่าวประชาไท : บทความประวิตร โรจนพฤกษ์: 21 ข้อสังเกตเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
*การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551
21 ข้อสังเกตเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 7:49 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น