วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2551

อภิวัฒน์สยาม


ตอนที่

ประกาศคณะราษฎร


เช้าตรู่วันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้อ่านคำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ ๑ ดังมีใจความดังนี้


ราษฎรทั้งหลาย

เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาเป็นไปตามหวังที่คิดไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม

ดังที่จะเห็นได้ในการตกต่ำในการเศรษฐกิจและความฝืดเคืองทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่น ๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร

จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ใช้ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว


รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง ! บ้านเมืองกำลังอัตคัตฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม

เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบ้านเมืองให้มีงานทำจึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินมีเท่าไหรก็เอาฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย


เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว

เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุก ๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ

เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฏหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า


๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่)

๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น

๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร


ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริย์” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า


คณะราษฎร

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕


(ต่อมาเมื่อคณะราษฎรซึ่งท่านปรีดีฯเป็นผู้แทนคนหนึ่งเข้าเฝ้า ขอพระราชทานขมาโทษต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้กราบทูลว่า

“การที่พวกข้าพระพุทธเจ้าได้ประกาศข่าวข้อความในวันเปลี่ยนแปลงด้วยถ้อยคำรุนแรงกระทบกระเทือนถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและพระบรมวงศานุวงศ์ก็ด้วยมุ่งถึงผลสำเร็จทันทีทันใดเป็นใหญ่..จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนี้ กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษอีกครั้งหนึ่ง” )



ตอนที่


ในวันที่ ๒๔ มิถุนายนนั้นเอง ภายหลังที่หัวหน้าคณะราษฎรได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ลานพระบรมรูปทรงม้าแล้ว ก็ได้เข้าไปตั้งกองบัญาการในพระที่นั่งอนันตสมาคมและเชิญธงไตรรงค์ขึ้นสู่ยอดโดมของพระที่นั่งฯ ขณะที่แต่งตั้งพระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร โดยมีเจ้าคุณพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎร เป็นหัวหน้า

คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ ณ วังไกลกังวล หัวหิน ขออัญเชิญกลับสู่พระนครเพื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็ได้สั่งให้นายนาวาตรีหลวงศุภ ชลาสัย(บุง ศุภชลาศัย)ผู้ก่อการฯสายทหารเรือ นำเรือหลวงสุโขทัยไปยังหัวหิน เพื่อกราบบังคมทูลให้เสด็จพระราชดำเนินกลับโดยเรือรบลำนั้น

เมื่อหลวงศุภชลาศัยได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในตอนกลางวันของวันเสาร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้วก็ได้ส่งโทรเลขแจ้งมายังผู้รักษาพระนครฯ ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วยกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จะเสด็จกลับจากหัวหินโดยทางรถไฟและไม่มีกองทหารติดตาม

ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม คณะราษฎรได้เชิญประชุมเสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างๆ เมื่อเวลา ๑๖ น. ของวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เมื่อการยึดอำนาจรัฐได้เป็นผลสำเร็จแล้ว พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎรได้ขอให้หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม เป็นผู้แถลงแทนคณะราษฎร การประชุมซึ่งใช้เวลา ๒ ชั่วโมง จนถึง ๑๘ น. มีรายงานที่บันทึกไว้ดังนี้ (รายงานการประชุมเสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างๆ พร้อมกับคณะราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕)


๑. พระยาพหลฯ กล่าวว่า การที่เชิญท่านเสนาบดีและปลัดฉลองมาวันนี้เพื่อปรึกษาถึงกิจการซึงจะต้องกระทำร่วมกัน และขอให้หลวงประดิษฐ์ มนูธรรมเป็นผู้แถลงแทนคณะราษฎร

๒.หลวงประดิษฐ์ฯ แถลงว่า บัดนี้การที่คณะราษฎรได้ยึอำนาจการปกครองไว้ได้ และได้เชิญพระบรมวงศานุวงศ์มาประทับ ณ ที่นี้แล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นประกันความปลอดภัยของคณะฯ คณะฯหาได้มุ่งร้ายที่จะทำการทารุณแต่ประการใดไม่ ระหว่างที่ท่านประทับอยู่คณะราษฎรได้แสดงความเคารพ สิ่งสำคัญที่คณะราษฎรประสงค์ก็เพื่อจะต้องการให้ประเทศได้มีธรรมนูญการปกครองจึงได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้การปกครองสืบไป

๓. ธรรมนูญการปกครองนี้จะจัดทำขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ในเวลานี้เป็นการจำเป็นที่คณะทหารจะต้องมีอำนาจเหนือพลเรือน เหตุฉะนั้นจึงต้องมีคณะผู้รักษาการฝ่ายทหาร ส่วนธรรมนูญการปกครองนี้ คณะฯ ได้เตรียมร่างขึ้น และจะได้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุดที่สามารถทำได้


สภาผู้แทนราษฎรนั้น ตามปกติควรจะได้รับเลือกตั้งตามความเห็นชอบของราษฎร แต่จะกระทำโดยเร็ววันยังมิทัน จึงได้คิดไว้ว่าในชั้นต้นจะมีบุคคลที่ได้ร่วมกิจการครั้งนี้เป็นสมาชิกชั่วคราวก่อน ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งในเวลาอันเร็วแต่รู้สึกอยู่ว่า พวกที่ร่วมกิจการครั้งนี้ แม้จะได้รับการศึกษามาบ้าง อย่างไรก็ดีคณะฯ ก็ยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่เป็นส่วนมาก จึงปรึกษากันที่จะอัญเชิญผู้ใหญ่ในทางราชการและผู้ที่ประกอบอาชีพในทางอื่น ซึ่งเป็นผู้ที่เห็นแก่ชาติบ้านเมืองมาเป็นสมาชิกร่วมในสภาด้วยต่อไป

ในสมัยที่ ๒ คือเมื่อบ้านเมืองเรียบร้อยแล้วก็จะให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนของตนมาเป็นสมาชิกในสภา และคณะราษฎรก็จะได้ตั้งผู้แทนเข้าเป็นจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้เพื่อที่จะระวังให้นโยบายของราษฎรได้ดำเนินไปเพื่อราษฎร

และในสมัยที่ ๓ คือเมื่อราษฎรได้รักการศึกษา ซึ่งจะได้กำหนดตามหลักสูตรใหม่ มีจำนวนมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนพลเมืองทั้งประเทศและก็ไม่เกินกว่า ๑๐ ปี ราษฎรก็จะได้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรของตนฝ่ายเดียวเท่านั้น ไม่ต้องมีผู้แทนคณะราษฎรกำกับ ความคิดนี้จะได้นำเสนอสภาเพื่อหารือกันต่อไป

เหตุฉะนั้น คณะราษฎรจึงขอให้ท่านเสนาบดีและปลัดทูลฉลองช่วยกันรักษาความสงบ และขอให้แจ้งไปยังพนักงานกรมกองต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ ให้ปฏิบัติการไปตามเดิม สิ่งใดที่เป็นงานเคยปฏิบัติ ก็จะพิจารณาให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทำไป สิ่งใดที่เคยเป็นปัญหานโยบายก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร

สิ่งสำคัญที่จะต้องทำโดยด่วน ก็คือ กิจการที่เกี่ยวแก่การต่างประเทศ ว่ารัฐบาลคราวใหม่นี้ไม่คิดที่จะล้างผลาญชีวิตและทรัพย์สมบัติของคนในบังคับต่างประเทศ สิ่งใดที่เคยกระทำมา ตลอดจนสัญญาทางพระราชไมตรีก็จะได้ดำเนินต่อไป

ขอให้ช่วยกันระวังอย่าให้มีการแทรกแซงของการต่างประเทศได้ ไม่ว่าในประเทศใดๆ ปัญหาในทางการต่างประเทศ คณะการเมืองต่างๆ ก็มีความเห็นลงรอยกัน ทุกประเทศอื่นย่อมไม่เกี่ยวข้องกับกิจการภายในของอีกประเทศหนึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศ ภายหลังสงครามนี้ที่ได้มีสันนิบาตชาติขึ้น การแทรกแซงไม่ใช่นโยบายของสันนิบาตชาติ แต่อย่างไรก็ดี การแทรกแซงของต่างประเทศนั้น ถ้าหากมีขึ้นย่อมกระทบถึงคนไทยทุกชั้น ไม่ว่าเจ้านายหรือราษฎรสามัญ จะถือว่ายุ่งแต่เฉพาะราษฎรไม่ได้



ตอนที่

เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ (กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย)ทรงแถลงว่า ก่อนอื่นอยากจะทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตอบมาอย่างไรในเรื่องรัฐบาลใหม่นี้


๔. หลวงประดิษฐ์ฯ กล่าวว่า ในเวลานี้ยังไม่ได้รับตอบ แต่การแจ้งไปให้คณะทูตทราบในปัญหาของชาติทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะ ซึ่งจะต้องจัดการโดยเร็วที่สุด หาเกี่ยวข้องธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน เพราะเกรงว่าอาจมีการแทรกแซงได้ อาศัยที่ประเทศเราเป็นประเทศที่เล็ก

๕. เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า เวลานี้เข้าใจว่าคงไม่มี

๖. หลวงประดิษฐ์ฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การแจ้งไปให้คณะทูตทราบถึงกิจการและทางดำเนินของคณะรัฐบาลใหม่เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องกระทำโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ประเทศทั้งหลายทราบถึงความประสงค์อันดีของรัฐบาลใหม่ที่ได้ตั้งขึ้นนี้

๗. เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศทรงถามว่า จะให้แจ้งถึงพฤติการณ์ที่ได้เป็นไปอันไม่เกี่ยวแก่การขอให้รับรอง หรือจะขอให้รับรองรัฐบาลใหม่ด้วย

๘. หลวงประดิษฐ์ฯ กล่าวว่า ต้องการขอให้รับรองรัฐบาลใหม่ด้วย

๙. เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การขอให้รับรองรัฐบาลคณะใหม่นั้น ถ้าเป็นการขอให้รับรองเดอยือร์แล้ว ก็จะต้องได้รับตอบจากพระเจ้าอยู่หัวก่อนหรือมิฉะนั้นข้าพเจ้าก็ลาออก

๑๐. หลวงประดิษฐ์ฯ ขอให้แจ้งไปว่าเวลานี้เสนาบดีได้ทำการไปด้วยความเห็นชอบของคณะราษฎร และขอให้แจ้งวิฑีดำเนินการของรัฐบาลใหม่ต่อสถานทูตทุกประเทศ

๑๑. เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศรับรองที่จะแจ้งไปยังคณะทูตทราบ

๑๒. พระยาพหลฯ กล่าวว่าในเรื่องนี้ได้คิดกันมานานและได้พยายามที่จะใช้วิธีล่ะม่อมที่สุดซึ่งจะหาวิธียอดเยี่ยมกว่านี้ได้

๑๓. พระยาศรีวิสารฯ (ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ) กล่าวว่าถ้ารัฐบาลชั่วคราวได้จัดการระวังอย่างเต็มที่แล้ว การแทรกแซงไม่มี

๑๔. หลวงประดิษฐ์ฯ กล่าวว่าเรื่องการจัดการรักษาความเรียบร้อยของประชาชนนี้ ทางคณะราษฎรได้จัดการทุกทางที่จะมิให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ผู้รักษาตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจภูธรได้จัดการระวังอย่างเต็มที่ ส่วนตามหัวเมืองก็ขอให้ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย (พระยาราชนุกูล)แจ้งไปให้ทางฝ่ายบ้านเมืองรักษาความสงบเรียบร้อยไปตามเดิม

๑๕. ปลัดทูลฉลองกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม (พระยาพิพิธสมบัติ)แถลงว่าเวลานี้มีกิจการบางอย่างซึ่งปลัดทูลฉลองไม่มีอำนาจลงนามเพราะเสนาบดีไม่ได้มอบอำนาจไว้

๑๖.หลวงประดิษฐฯกล่าว ตามที่เข้าใจในระเบียบการปกครอง เห็นว่าเมื่อเสนาบดีไม่อยู่ ปลัดทูลฉลองก็มีอำนาจเซ็น แต่ถ้าปลัดทูลฉลองไม่ได้รับมอบอำนาจจากเสนาบดีไว้ ก็มีอำนาจทำได้โดยคำสั่งของคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร


ในวันรุ่งขึ้น คือวันเสาร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๕ พร้อมกับที่ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้รับโทรเลขจาก น.ต.หลวงศุภชลาศัย แจ้งเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ จากหัวหินโดยทางรถไฟ ก็ได้รับพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับอัญเชิญเสด็จกลับพระนครเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินด้วย ทางคณะราษฎรจึงได้เตรียมการที่จะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องราวต่างๆ

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนเล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ดังนี้


“ต่อมาในตอนค่ำวันที่ ๒๕ มิถุนายนนั้น พระยาพหลฯ จึงเชิญพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ (วัน จามรมาน) อดีตอธิบดีกรมกฤษฎีกาแห่งกระทรวงมุรธาธร ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ พิจารณาตรวจร่างกฎหมายก่อนที่พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณานั้น ไปร่วมพิจารณากับคณะราษฎร ๓ คน (คือ พระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์)และปรีดีฯ หัวหน้าฝ่ายพลเรือน เรื่องร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมและร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งปรีดีฯเป็นผู้ร่างเบื้องต้นไว้เพื่อจะนำไปถวายพระมหากษัตริย์ในวันที่ ๒๖ เดือนนั้น ณ วังสุโขทัย พระยานิติศาสตร์ฯ ยืนยันว่าในหลวงเคยมีพระราชดำริที่จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน แต่ถูกอภิรัฐมนตรีและนายสตีเวนส์(เรย์มอนด์ บ.สตีเวนส์ ที่ปรึกษาการต่างประเทศ)กับพระยาศรีวิสารวาจา (ปลัดทูลฉลอง)ได้คัดค้านไว้

หัวหน้าคณะราษฎรจึงปรารภแก่พระยานิติศาสตร์ฯ ว่า เป็นน่าเสียดายที่ในหลวงมิได้ประกาศพระราชดำริให้ประชาชนทราบ ถ้าคณะราษฎรทราบก่อนแล้วก็จะไม่เอาชีวิตมาเสี่ยงในเรื่องที่จะได้อยู่แล้ว

พระยานิติศาสตร์ฯ ได้ขอให้ฝ่ายคณะราษฎรกล่าวไว้ในอารัมภบท(ของพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕) ตามใจความที่ในหลวงรับสั่งในพระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๕ ว่า

อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้ เราก็ได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่คณะราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ด้วย และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ อาณาประชาชนแท้ๆ จะหาการกระทำหรือเพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยก็หามิได้

ฝ่ายคณะราษฎรได้ตกลงตามที่พระยานิติศาสตร์ฯ เสนอ

เมื่อผู้แทนคณะราษฎรได้นำร่างพระราชกำหนดดังกล่าวทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่วังสุขโขทัยเมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น พระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยพระราทานทันที

แต่รายละเอียดของพระราชดำริที่จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น คณะราษฎรเพิ่งทราบเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ จากพระราชกระแสที่พระราชทานแก่ผู้แทนคณะราษฎร ๕ คนที่มีรับสั่งให้เข้าเฝ้า คือ พระยามโนปกรณ์ฯ พระยาศรีวิสารฯ พระปรีชาชลยุทธ พระยาพหลฯ หลวงประดิษฐ์ฯ โดยมีเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เป็นผู้จดบันทึก”

(จากบันทึกฉบับ ๖ มีนาคม ๒๕๒๖ ของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “ตอบคำถามบางประการของนิสิตนักศึกษา” ในหนังสือ “แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์”,มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โครงการ ๖๐ ปีประชาธิปไตยพ.ศ.๒๕๓๕ หน้า ๕๐)


ตอนที่

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จจากหัวหินกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟพิเศษเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๕ มิถุนายน เวลา ๑๙.๔๕ น. เสด็จลงที่สถานีรถไฟจิตรลดาวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน เวลา ๐.๓๗ น. แล้วเสด็จตรงไปประทับที่วังสุโขทัย แล้วมีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าที่วังสุโขทัยเวลา ๑๑.๐๐ น. ของวันที่ ๒๖ มิถุนายนนั้น

เวลา ๙.๑๑ น. ของเช้าวันนั้น เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นำรถยนต์หลวง ๒ คัน เชิญนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระยาพหลฯ ได้ให้นายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี นายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ นายพันตรีหลวงวีระโยธา พร้อมด้วยรถยนต์หุ้มเกราะ ๒ คัน นักเรียนร้อย ๒ หมวด และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี นายจรูณ ณ บางช้าง นายสงวน ตุลารักษ์ ผู้แทนคณะราษฎร จากพระที่นั่งอนันตสมาคม ถึงพระราชวังสุโขทัยเมื่อเวลา ๑๑.๐๕ น.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกท้องพระโรงเมื่อเวลา ๑๑.๑๕ น.พอคณะผู้แทนคณะราษฎรขึ้นท้องพระโรง พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ได้เบิกตัวนายพลเรือตรี พระศรยุทธเสนี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และคณะราษฎรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้

ครั้นแล้วหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ยืนขึ้นอ่านพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสดับฟัง และทรงพยักพระพักตร์เป็นคราวๆ ด้วยความพอพระราชหฤทัย เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ได้อ่านถวายสิ้นกระแสความแล้ว จึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมนามาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินมีข้อความยืดยาว เพียงแต่ทรงสดับยัไม่เข้าใจดี จึงขอทอดพระเนตรเองอีกครั้งหนึ่ง แล้วหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้น้อมเกล้าถวายพระธรรมนูญการปกครอง ครั้นแล้วเวลา ๑๒.๑๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้น

ครั้นเวลา ๑๒.๔๐ น. พระยาอิศราธิราชเสวีได้นำพระกระแสพระบมราชโองการว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงให้คำตอบในวันที่ ๒๗ เดือนนี้ เวลา ๑๗ น. ตามทางราชการท่านปรีดี พนมยงค์ได้เล่าเสริมความบางตอนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าว ดังนี้


“อันที่จริงธรรมนูญฉบับที่ทูลเกล้าฯ ถวายในวันนั้น พระยาพหลฯได้อนุญาตให้ข้าพเจ้าเชิญพระยามโนปกรณ์ฯ และพระยานิติศาสตร์ฯ มาช่วยพิจารณาตั้งแต่คืนวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้วได้นำเสนอพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระฤทธิ์ฯ เห็นชอบด้วยก่อน แล้วจึงนำมาถวายในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถ้ากรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรียังเก็บแฟ้มธรรมนูญฉบับนั้นก็จะเห็นลายมือของพระยามโนฯ ที่แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้น”


และอีกตอนหนึ่ง


“ในวันนั้น เมื่อในหลวงเสด็จขึ้นแล้ว พระยาอิศราธิราชเสวีได้เชิญผู้แทนคณะราษฎรออกไปนั่งที่ระเบียงพระตำหนักเพื่อรอคอยพระกระแสรับสั่ง และเมื่อมีพระกระแสพระบรมราชโองการมาว่าจะทรงให้คำตอบในวันรุ่งขึ้น คณะผู้แทนของคณะราษฎรก็เดินทางกลับ ต่อมาในวันจันทร์ที่ ๒๗ มิถุนายน คือวันรุ่งขึ้นเวลา ๑๗ น. เจ้าพระยามหิธรฯ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรก็ได้นำธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ทูลเกล้าฯถวาย ณ วังสุโขทัยในวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน ซึ่งได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว มาพระราชทานคณะราษฎรที่พระที่นั่งอนันตสมาคม”


ตอนที่

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้อธิบายเรื่องการลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครอง ฉบับดังกล่าวเอาไว้ดังนี้


“การปกครองแผ่นดินสยามตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช์นั้นไมมีบทกฎหมายกำหนดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เพราะพระมหากษตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมายมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการปกครองแผ่นดินตามพระราชอัธยาศัย"

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้ยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

วันที่ ๒๖ มิถุนายน คณะราฎรได้ส่งคณะผู้แทนเข้าเฝ้าขอพระราชทาน "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินตามที่คณะราษฎรได้ร่างถวาย" พระมหากษัตริย์ทรงรับไว้พิจารณาต่อมาในวันที่ ๒๗ เดือนนั้น ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้ายังทรงมีพระราชอำนาจสมบูรณ์ทำการแทนปวงชนชาวสยามได้นั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯลงพระปรมาภิไธยพระราช

ทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น โดยทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" ไว้ต่อท้ายคำว่า "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" ทั้งนี้มีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้ธรรมนูญนั้นไปชั่วคราวก่อน แล้วให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรตั้งอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวารขึ้นใช้ต่อไป


ข้อสังเกตุ

(๑) ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ตราขึ้นโดยถูกต้องทั้งทางนิตินัยและพฤตินัยตามหลักนิติศาสตร์ทุกประการ

(๒) ธรรมนูญฯ ฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้สถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ในระยะหัวต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองสยามเป็นเวลาหลายพันปี กับระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มขึ้น

กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวนี้เป็นกฎหมายฉบับท้ายสุดแห่งการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ต้องมี

"ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ"



ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับแรกของสยาม
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีสาระสำคัญที่ดังนี้


มาตรา ๑ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย

มาตรา ๒ ให้มีบุคคลและคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร คือ

กษัตริย์
สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมการราษฎร
ศาล

มาตรา ๓ กษัตริย์เนประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติ คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆก็ดี จะต้องกระทำในนามกษัตริย์

มาตรา ๔ ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศ คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสืบมรดกให้เป็นไปตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗ และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา ๗ การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา ๘ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจออกพระราชบัญญัติทั้งหลาย พระราชบัญญัตินั้นเมื่อกษัตริย์ได้ประกาศให้ใช้แล้ว ให้เป็นอันใช้บังคับได้

มาตรา ๙ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศและมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎร หรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้

มาตรา ๑๐ คณะราษฎร โดยคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน ๗๐ นายเป็นสมาชิกสภา เมื่อราษฎรทั่วพระราชอาณาจักรได้สอบไล่วิชาประถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง และอย่างช้าไม่เกิน ๑๐ ปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น

มาตรา ๒๘ คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจและหน้าทที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา ๓๑ ให้เสนาบดีกระทรวงต่างๆเป็นผู้รับผิดชอบต่อคณะกรรมการราษฎรให้กิจการทั้งปวง

มาตรา ๓๒ คณะกรรมการราษฎรประกอบด้วยประธานกรรมการราษฎร ๑ นายและกรรมการราษฎร ๑๔ นาย รวมเป็น ๑๕ นาย

มาตรา ๓๓ ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกสมาชิกสภาฯ ผู้หนึ่งเป็นประธานกรรมการราษฎร และให้ผู้เป็นประธานนั้นเลือกสมาชิกสภาฯอีก ๑๔ นายเป็นกรรมการราษฎร โดยความเห็นชอบของสภาฯ



โดย : แด่บรรพชนผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕

ที่มา : dedicate for the Revolution 2475

แยกออกเปน 5 ตอนดังนี้

บทความที่๓๙๘ : อภิวัฒน์สยาม ตอนที่๑

บทความที่๓๙๙ : อภิวัฒน์สยาม ตอนที่๒

บทความที่๔๐๐ : อภิวัฒน์สยาม ตอนที่๓

บทความที่๔๐๑ : อภิวัฒน์สยาม ตอนที่๔

บทความที่๔๐๒ : อภิวัฒน์สยาม ตอนที่๕


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: