“นเรศวร...
พระมหาวีรราชเจ้าจอมไทย
กู้อิสรภาพ ปราบเสี้ยนหนามไพรี
พระต้านต่อตีเทอดศรีอโยยา...”
ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเพลงมาร์ช ‘นเรศวร’ ก็ชวนให้คึกคักไปถึงกระแสโลหิตแม้จะรู้ว่าบางทีก็เป็นเรื่องราวที่ตอกย้ำอคติและความไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกันของรัฐโบราณในประวัติศาสตร์ แต่ในเมื่อพระราชประวัติอันพิศดารล้ำลึกเข้มแข็งถูกผลิตสร้างขึ้นแล้ว การแสวงหาต้นธารแห่งความเชื่อก็เป็นเรื่องที่ควรรับรู้และถกเถียงเช่นกัน เพราะมันอาจนำไปสู่ความเข้าใจในคำตอบของปัจจุบันว่าประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งมันสามารถกลมกลืนเข้าไปสู่ความทรงจำและกลายเป็น ‘ความเชื่อ’ ร่วมของคนสยามประเทศไทยได้อย่างไร
การเดินทางรอบนี้จะพาไปมองที่มาการผลิตสร้างของประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งจากสมองและปลายปากกาปัญญาชนสยามคนสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่สามารถทำให้เรื่องราวหนึ่งยังคงทรงพลังในการเกาะกุมวิญญาณคนตั้งแต่ยุคนั้นมาจนถึงยุคกาลสมัยปัจจุบัน
เมื่อวันเสาร์ - อาทิตย์ที่ 14 -15 มิ.ย.ที่ผ่านมา มูลนิธิโตโยต้า จัดเสวนาและเดินทางเยือน ‘ศรีเทพ - ละโว้ - อโยธยา’ พร้อมเปิดตัวหนังสือ นเรศวร ที่เขียนโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้ทำฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Kennon Breazeal ใช้ชื่อหนังสือว่า ‘A Biography of King Naresuan the Great’ พร้อมหนังสืออีกเล่มชื่อ ‘The Writings of Prince Damrong Rajanubhab : A Chronology with Annotations’ ซึ่งเป็นการอธิบายสั้นๆเกี่ยวกับหนังสือที่สมเด็จกรมพระยาดำรงค์ฯทรงพระนิพนธ์ไว้เป็นการประกอบหนังสือเล่มแรก ส่วนหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ถูกนำเสนอด้วยคือ ‘อยุธยาศึกษา : ตลาดวิชาสำหรับครู - อาจารย์’ มี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นบรรณาธิการ
สำหรับเรื่องราวที่เกี่ยวของกับ ‘สมเด็จพระนเรศวร’ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาและวีรบุรุษคนสำคัญในความทรงจำของปัจจุบันที่ส่งผ่านมาทางสมเด็จกรมพระยาดำรงค์ฯ มีนัยย์สำคัญที่จะต้องแปลเป็นความรู้สู่สากลได้อย่างไรนั้น ดร.สุเนตร ชุตรินธรานนท์ นักวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้อธิบาย
หนังสือประวัติศาสตร์ ‘สมเด็จพระนเรศวร’ เขียนโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเพื่อถวายรัชกาลที่ 8 คาดว่าน่าจะเขียนขึ้นก่อน พ.ศ. 2485 ในขณะที่ยังเสด็จลี้ภัยอยู่ในปีนัง แม้ว่าใน พ.ศ. 2485 จะทรงได้เสด็จกลับสยามแต่ในปีต่อมาคือ พ.ศ. 2486 ก็ทรงสิ้นพระชนม์ก่อนที่รัชกาลที่ 8 จะนิวัติกลับพระนครอีกครั้ง ใน พ.ศ. 2488 อย่างไรก็ตามคาดว่า รัชกาลที่ 8 จะทรงเห็นต้นฉบับ และนำมาตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2493 ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ
แต่ข้อสังเกตคือ ก่อนหน้าการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรถูกรับรู้ในด้านใดและจากเอกสารใดบ้าง และเมื่อเกิดหนังสือเล่มนี้แล้วเกิดผลในเชิงประวัติศาสตร์ต่อไปอย่างไร
ดร.สุเนตร ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า เดิมการรับรู้เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรก่อนหน้านี้โดยทั่วไปมาจากพงศาวดารแต่ไม่ยึดในฉบับที่เขียนในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีเรื่องราวที่เขียนไม่ยืดยาว แต่ยึดเอาฉบับที่เขียนขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ชำระประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวรในภายหลังโดยเฉพาะพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (กรมหลวงวงศาธิราชสนิท) ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นฉบับที่มีเรื่องราวอัศจรรย์ต่างๆ เช่น การที่สมเด็จพระนเรศวรฝันว่าได้ฆ่าจระเข้ใหญ่ก่อนสงครามยุทธหัตถี เรื่องการยิงพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง ซึ่งเรื่องราวหล่านี้เขียนขึ้นทีหลังสมัยอยุธยาแต่เรารู้จักมักคุ้นที่สุด
หลักฐานอีกอย่างหนึ่งเป็นประเภทตำนานหรือคำให้การของเชลยศึก นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่กล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรทั้งภาษามอญและพม่า พงศาวดารฉบับภาษาพม่านั้นถูกแปลมาเป็น ‘คำให้การชาวกรุงเก่า’ ซึ่งพม่าเรียกว่า ‘พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา’ ข้อแตกต่างจากพงศาวดารฉบับหลวงจะไม่มีเรื่องเล่าปากต่อปากของชาวบ้านเช่น เรื่องสมเด็จพระนเรศวรเล่นชนไก่ชนกับพระมหาอุปราช แต่ในคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ผ่านคำให้การชาวกรุงเก่ามีพูดถึงไว้จนกลายมาเป็นการรับรู้ในปัจจุบัน นอกจากนี้บางส่วนสามารถรับรู้เรื่องราวผ่านวรรณกรรมอย่างลิลิตเตลงพ่าย หรือแม้แต่ในภาพวาดจิตรกรรม เช่น จิตรกรรมที่วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดอยุธยา ซึ่งวาดพระราชประวัติในสมัยรัชกาลที่ 7
ทั้งหมดนี้ทำให้รู้ว่าก่อนมีหนังสือของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรเป็นที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว
แต่หากถามว่า ความสำคัญของหนังสือสมเด็จพระนเรศวรฉบับกรมพระยาดำรงฯ คืออะไร ??
ดร.สุเนตร ให้คำตอบว่า แม้ว่าก่อนหน้าการเขียนหนังสือเล่มนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เคยเขียนเรื่องสมเด็จพระนเรศวรมาบ้าง เช่น หนังสือไทยรบพม่า สาส์นสมเด็จฯ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการนำเสนอพระประวัติในลักษณะบุคคลตั้งแต่ประสูติจนสวรรคต ในขณะที่เดิมทีเรื่องราวของพระนเรศวรมีลักษณะกระจัดกระจาย ไม่เคยมีการร้อยรัดที่ชัดเจนมาก่อน หนังสือเล่มนี้จึงหนังสือประเภทชีวประวัติที่สมบูรณ์และผ่านการวิเคราะห์รอบด้าน ถ้วนทั่ว เป็นเรื่องราวของวีรประวัติวีรบุรุษที่โดดเด่นที่สุดจนกลายเป็นต้นตอความรู้และความทรงจำของคนไทยที่มีต่อสมเด็จพระนเรศวรและอาศัยหนังสือเล่มนี้เป็นหลัก ทำให้เรื่องราวที่ถูกเขียนในหนังสือจึงได้มาอยู่ในความเข้าใจของคนไทยยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นเรื่องราวซุบซิบของชาวบ้านก็ได้เข้ามาสู่การรับรู้ด้วย เช่น กรณีการเป็นองค์ประกันของสมเด็จพระนเรศวรนั้นไม่ถูกเขียนไว้ในพงศาวรดารไทย อาจสันนิษฐานได้สองแนวคือเป็นเรื่องปกติ หรืออาจเป็นเรื่องที่ราชสำนักไม่ต้องการให้รับรู้แต่ได้มันไปอยู่ในเรื่องราวซุบซิบของชาวบ้านและบันทึกฝรั่ง ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ประมวลทั้ง ‘คำให้การ’ หรือ ‘ตำนาน’ มาผสมผสานกับในทุกเรื่อง ทำให้เรื่องการ ‘ตีไก่’ ในการซุบซิบของชาวบ้านก็มาปรากฏขึ้น และเรื่อง การ ‘แลกตัว’ เอาพระสุพรรณกัลยาไปเป็นองค์ประกันแทนสมเด็จพระนเรศวรจึงมีปรากฏในหนังสือเล่มนี้เช่นกัน แต่การสันนิษฐานเรื่องการ ‘แลกตัว’ ของกรมดำรงสวนทางกับการสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์ทั่วไปที่รับรู้กันว่าทั้งสองพระองค์ไปพร้อมๆกัน
ดังนั้น ความสำคัญในชั้นต้นของหนังสือเล่มนี้ คือ การรับรู้เข้าใจของปัจจุบันผ่านหนังสือของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งเรื่องความถูกความผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่หนังสือได้สะท้อนว่า “เราเชื่ออะไร” และหนังสือเล่มนี้คือ “ต้นรากแห่งความเชื่อ”
แม้ว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จะมีข้อสันนิษฐานในบางข้อต่างจากประวัติศาสตร์ที่รับรู้ทั่วไป แต่หนังสือเล่มนี้ได้เปิดโลกทัศน์ของอยุธยาที่สัมพันธ์กับพม่าในยุคนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯมีคนแปลพงศาวดารพม่าทำให้ หนังสือเล่มนี้ใช้หลักฐานจากทางพม่าด้วย เช่น การที่ทรงเชื่อตามเอกสารพม่าว่าหลังสงครามช้างเผือก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิถูกนำตัวกลับไปพม่าด้วย
นอกจากนี้ คำว่า ‘เจ้าฟ้านเรศ’ ในหนังสือเล่มนี้ระบุว่าไม่ใช่พระนามแรก และ ตำแหน่ง ‘เจ้าฟ้า’ ไม่มีมาก่อนในอยุธยา แต่เป็นตำแหน่งของทางรัฐฉาน ซึ่งเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาบิดาสมเด็จพระนเรศวรหันมาสวามิภักดิ์กับหงสาวดีก็ได้ให้ความสัมพันธ์กับทางพม่ามากกว่าจึงถูกแต่งตั้งเป็น ‘เจ้าฟ้าสองแคว’ และใช้รียกสมเด็จพระนเรศวรด้วย คำว่า ‘ตองเจ’ ที่พม่าเรียกสมเด็จพระนเรศวรคือการออกเสียงเรียก ‘สองแคว’ ไม่ชัด และนาม ‘เจ้าฟ้านเรศเชษฐาธิบดี’ ก็เป็นการเรียกตามตำแหน่งที่พม่าตั้งให้และไม่มีปรากฏในหนังสือเล่มอื่น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องราวของพระนเรศวรมีความกระจัดกระจายในหลักฐาน ดังนั้นการร้อยเรื่องราวให้ต่อกันจึงต้องอาศัยการตีความที่สร้างความสมเหตุสมผลเชิง ‘อัตถาธิบาย’ เพื่อให้เรื่องสัมพันธ์กันผ่านการตีความและประสบกการณ์ แต่งานเขียนชิ้นนี้สมเด็จกระมพระยาดำรงฯเขียนเมื่อตอนอายุ 80 ปี ความเข้าใจจึงค่อนข้างตกผลึกในเรื่องการอัตถาธิบาย หลายเรื่องจึงมีความละเอียดและน่าสนใจ เช่น การอธิบายยุทธวิธีกรณีที่สมเด็จพระนเรศวรใช้กำลังน้อยรบชนะกำลังมากในศึกพระมหาอุปราช พ.ศ.2128
ในการศึกษางานประวัติศาสตร์นิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ยังให้ข้อเท็จจริงในสองมิติ มิติแรกคือเรื่องราวที่ต้องการเล่า แต่อีกมิติคือการสะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ในสมัยของกรมพระยาดำรงเองด้วย
ดร.สุเนตร กล่าวว่าในงานสมเด็จพระนเรศวรมีมุมทางการเมืองในช่วงที่ทรงพระราชนิพนธ์แทรกอยู่ มีการวิเคราะห์ว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯกับรัชกาลที่ 8 ทรงมีความสัมพัน์กันแน่นแฟ้นมากซึ่งรวมไปถึงความสัมพันธ์ทางจิตใจด้วย ทั้งนี้ก่อนเสด็จนิวัติกลับพระนครครั้งแรก รัชกาลที่ 8 ทรงแวะปีนังก่อน สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงไปรับที่เรือด้วยพระองค์เอง เมื่อกลับมาที่พักก็ทรงเรียกลูกหลานมารับอย่างจารีตเดิม
ทรงแนะบอกให้ รัชกาลที่ 8 เรียนพุทธศาสนาด้วยเพราะทรงไปเรียนที่ต่างประเทศมานาน ในขณะที่เมื่อรัชกาลที่ 8 นิวัติถึงพระนคร สมเด็จกรมพระยาดำรงฯก็ทรงรับฟังข่าวและรับรู้ว่าได้รับการต้อนรับและชื่นชมจากประชาชนมาก จึงทรงคิดถึงรัชกาลที่ 8 ว่าเป็นกษัตริย์หนุ่ม เป็นความหวังในช่วงที่บ้านเมืองเวลานั้นเป็นกลียุคในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทรงได้กลับไปพระนครก็เห็นญี่ปุ่นเต็มบ้านเมืองไปหมด เหมือนสูญเสียเอกราช แต่มีกษัตริย์หนุ่มเป็นความหวังและได้ไปร่ำเรียนมาจากต่างประเทศเหมือนสมเด็จพระนเรศวร
ในวิธีคิดต่อกษัตริย์ สิ่งที่กษัตริย์ควรรู้ในสมัยโบราณคือต้องเรียน ‘พงศาวดาร’ เพื่อเรียนรู้ศาสตร์แห่งการปกครองทั้งด้านดีและล้มเหลวของกษัตริย์ในอดีต สมเด็จกรมพระยาดำรงฯจึงทรงนิพนธ์ประวัติพระนเรศวรให้รัชกาลที่ 8 ได้เรียนรู้ผ่านเนื้อความแบบพงศาวดารเมื่อกลับมาครองราชย์นั่นเอง
โดย : ประชาไท
ที่มา : ข่าวประชาไท : หลากมิติประวัติศาสตร์ ‘นเรศวร’ ผ่านงานนิพนธ์ ‘ดำรงราชานุภาพ’
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551
หลากมิติประวัติศาสตร์ ‘นเรศวร’ ผ่านงานนิพนธ์ ‘ดำรงราชานุภาพ’
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 3:47 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น