วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2551

“วันนี้” ที่ “ถูกลืม”


24 มิถุนายน 2549…8.30น.

มันเป็นเวลาเช้าตรู่ของวันหยุดสุดสัปดาห์ปลายเดือนมิถุนายน
ผมพบตัวเองนั่งสะลึมสะลืออยู่บนรถประจำทาง
รถไม่ติด เพราะเป็นเช้าวันเสาร์ มันพาผมมุ่งหน้าไปเรื่อยๆ
ผ่านสะพานปิ่นเกล้า จนในที่สุด ผ่าน “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”
ผมหายง่วง เพราะนึกอะไรบางอย่างออก มองออกไปนอกหน้าต่าง
คิดถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 74 ปีก่อนคิดถึง
ชายคนหนึ่ง หญิงคนหนึ่ง และวันๆ หนึ่ง


16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2471…
4 ปี ก่อนเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม

ปรีดี พนมยงค์ วัย 28 ปี เข้าพิธีสมรสกับนางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ ขณะรับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือคณะกรรมการกฤษฎีกา) และสอนหนังสือที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์)

พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ วัย 17 ปี อาจไม่ทราบเลยว่า การร่วมชีวิตกับชายผู้นี้คือการเริ่มต้นก้าวย่างบนเส้นทางสายประวัติศาสตร์


“…นายปรีดีแก่กว่าฉัน 11 ปี พ่อของฉันและพ่อของนายปรีดีเป็นญาติกัน จึงฝากฝังบุตรชายให้มาเรียนกฎหมายในกรุงเทพฯ นายปรีดีนี่มาอยู่ที่บ้านจึงรู้จักกันตั้งแต่ฉันอายุ 9 ขวบ พอเรียนจบได้เป็นเนติบัณฑิตแล้ว ก็ได้ทุนไปเรียนต่อทางกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาเจ็ดปีพอนายปรีดีกลับมา ฉันอายุ 16 ปี…"

“…ตอนที่นายปรีดีพาพ่อจากอยุธยามาขอหมั้น ฉันยังไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ตามปรกติ ตอนนั้นฉันเรียนอยู่ Standard 7 …คุณพ่อฉันก็ยอม และไม่ได้เรียกร้องอะไรนอกจากแหวนเพชรวงหนึ่ง…”


ที่เรือนหอย่านสีลม ชีวิตสงบสุขของทั้งคู่ดำเนินไปตามอัตภาพ หน้าที่ราชการปรีดีก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ท่านผู้หญิงเล่าถึงชีวิตช่วงนั้นไว้ว่า


“สมัยนั้นมีดอกเตอร์ไม่กี่คน ผู้ที่มารดน้ำในงานแต่งงานบางท่านก็อวยพรว่า จะโชคดีมีโอกาสเป็นเสนาบดีแน่นอน ตอนนั้นนายปรีดีเพิ่งได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอกหลวงประดิษฐ์มนูธรรม…”

“เมื่อนายปรีดีรับเงินเดือนมา ได้มอบให้ข้าพเจ้าทั้งหมดโดยไม่หักไว้ใช้ส่วนตัวเลย เนื่องจากนายปรีดีมีรายได้พิเศษจากค่าสอนและโรงพิมพ์ส่วนตัว…”


ที่จังหวัดพระนคร ชีวิตสำหรับสามีภรรยาคู่หนึ่งดำเนินไปอย่างสวยงามและราบรื่น แต่ถ้ามองไปที่ชนบทส่วนใหญ่ของสยามสมัยนั้น สถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำอันเป็นผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สร้างความลำบากยากแค้นให้คนทั่วประเทศ รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัชกาลที่ 7 ในขณะนั้นได้พยายามดำเนินการลดทอนรายจ่ายลง เช่น ปลดข้าราชการออกและตัดรายจ่ายส่วนพระองค์

แต่นั่น..มิได้หมายความว่าสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะต้นตอปัญหาอีกส่วนเกิดจากตังระบอบการปกครองเอง โดยหนึ่งในข้อเสียที่ร้ายรงที่สุดก็คือ การจำกัดตำแหน่งสำคัญไว้ให้คนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีเชื้อเจ้าโดยมิได้พิจารณาบุคคลตามความสามารถ คนดีน้อยคนนัก จะมีโอกาสเสนอความคิดเห็นในการดูแลบ้านเมืองและร่วมบริหารงานท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติของประเทศในเวลานั้น

สามีของท่านผู้หญิงพูนศุขนั้น ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เห็นถึงปัญหาดังกล่าว เพราะเขามาจากครอบครัวชาวนา และซาบซึ้งชะตากรรม
“โง่ จน เจ็บ” ของอาชีพที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศตั้งแต่เด็ก โดยในช่วงอายุ 11 ขวบ ปรีดีได้รับทราบเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฎ ร.ศ.130” ซึ่งคณะผู้ก่อการเวลานั้นถูกจับได้ก่อนทำการสำเร็จ

เขาได้ยินคำว่า “ประชาธิปไตย” ครั้งแรก และนับแต่นั้น หน่ออ่อนความคิดอภิวัฒน์ก็งอกงามในใจของเขาเงียบๆ แม้ว่าต่อมา เขาจะสามารถสอบได้ทุนไปเรียนต่อทางกฎหมายที่ฝรั่งเศสและมีอนาคตอันสดใสรออยู่เบื้องหน้า แต่เขาก็ไม่เคยลืมเรื่องนี้ โดยได้วางแผนกับนักเรียนไทยที่มีความรักชาติทำการปฏิวัติสยามให้ “อำนาจ” มิได้อยู่ที่คนๆ เดียวอีกต่อไป

แต่ต้องตกอยู่กับประชาชนคนสามัญและเป็นอำนาจที่สามารถตรวจสอบได้

เป็น “ประเทศ” ที่เป็นของ “ประชาชน”

เป็น “ประเทศ” ที่ผู้ทุกข์ยากมีโอกาสใช้ตัวแทนของตนเองเข้าไปบริหารและแก้ไขปัญหาของประเทศ (แต่ในเวลาต่อมาตัวแทนเหล่านั้นส่วนมากหลงระเริงอำนาจจนทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในตัวนักการเมือง และลามไปถึงระบอบประชาธิปไตยซึ่งโดยตัวของมันเองนั้นจะทำงานได้ดีถ้ามีนักการเมืองที่ดี-ผู้เขียน)

การดำรงอยู่อย่างมีความสุขเพราะอนาคตทางราชการมีทีท่ารุ่งเรืองจึงมิใช่เป้าหมายของปรีดี ในเวลาต่อมา การอภิวัฒน์ 2475 จึงเกิดขึ้น

“อภิวัฒน์” ที่มีความหมายว่า “เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญก้าวหน้า” มิใช่ “ชิงสุกก่อนห่าม” แบบที่นักการเมือง หรือนักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวถึงเหตุการณ์นี้อย่างดูถูกเหยียดหยามเจตนารมย์ผู้ก่อการ ด้วยปัจจุบันมีหลักฐานแล้วว่าหากการปฏิวัติ 2475 กระทำการไม่สำเร็จ ประเทศไทยจะมีระบอบการปกครองอีกแบบหนึ่ง

สุพจน์ ด่านตระกูล เคยปาฐกถาในเรื่องดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2540 โดยสรุปว่า


“พระปกเกล้าฯ ทรงเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฝรั่งว่า ในเรื่องที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น ทรงเคยปรึกษากับฟรานซิส บี แซร์ (พระยากัลยาณไมตรี--ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ) เมื่อ พ.ศ.2469 มาแล้วครั้งหนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2475 จึงรับสั่งให้พระยาศรีวิศาลวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรมอนต์ บี สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญถวายและกำหนดกันว่าจะพระราชทานในวันจักรี 6 เมษายน 2475…”


ทั้งนี้ ยังมีการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่า แผนพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งนั้นถูกทัดทานจากพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน จนต้องยกเลิกไป โดยที่หลายคนอาจเข้าใจว่า เนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับที่จะพระราชทานนั้นคงจะเหมือนกับที่คณะราษฎรจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในภายหลัง หรือน่าจะดีกว่า

แต่ความจริงนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เป็นเพียงการจัดรูปแบบการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่เท่านั้น


“ฝ่ายบริหาร ให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทนองค์พระมหากษัตริย์ ให้นายกรัฐมนตรี มีสิทธิเลือกคณะรัฐมนตรี แต่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยพระองค์เองตามพระราชอัธยาศัย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นสมาชิกสภาโดยตำแหน่ง จะทำหน้าที่บริหารโดยมีกำหนดวาระ แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงแต่งตั้งใหม่ หรือพระมหากษัตริย์จะทรงให้ออกเมื่อใดก็ได้…”


ไม่นับสมาชิกสภาซึ่งถูกระบุว่าส่วนมากมาจากการแต่งตั้ง กึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม พระมหากษัตริย์จะทรงยุบสภาเมื่อใดก็ได้ จะทรงทำสัญญากับต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านสภา ฯลฯ (การเมือง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย--ชัยอนันต์ สมุทวนิช)

ทั้งนี้ยังปรากฎบันทึกของทูตญี่ปุ่นในขณะนั้นที่ระบุความเห็นว่าหากไม่เกิดการปฏิวัติขึ้นในตอนนั้นประชาธิปไตยของไทยก็ยังไม่อาจเริ่มต้นเดินหน้าไปได้


2

23 มิถุนายน 2475…

พูนศุข พนมยงค์ พร้อมลูกๆ ไปส่งปรีดีที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ขากลับแวะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเยี่ยมเพื่อน ก่อนจะเดินทางกลับบ้าน ตกดึก…พูนศุขหลับไม่สนิทนัก เพราะลูกชาย (ปาล พนมยงค์) ร้องไห้ตลอดเวลา

ท่านผู้หญิงเปิดเผยกับวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บก.สารคดี คราวสัมภาษณ์ถึงสถานการณ์หนนั้นว่า


“รุ่งขึ้นวันที่ 24 มิถุนายน จำได้ว่าท้องฟ้ามืดครึ้ม มีฝนตกปรอยๆ ตามปรกติเราจะถ่ายรูปลูกๆ เป็นระยะ ลูกปาลอายุครบ 6 เดือน จึงเอามาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ อุ้มลงไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่ตึกใหญ่ของคุณพ่อ…สักครู่ท่านเจ้าพระยายมราชบ้านอยู่ศาลาแดงที่เป็นดุสิตธานีเวลานี้ ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นน้าของคุณแม่ ฉันเรียกท่านว่าคุณตา ก็มาที่บ้านป้อมเพชร์ ท่านถามว่ารู้เรื่องมั้ย เกิดเรื่องใหญ่ คนเรือของท่านที่อยู่ใกล้วังบางขุนพรหมมารายงานท่านว่า ที่วังบางขุนพรหมมีทหารมาจับทูลกระหม่อมชาย…”


ในตอนนั้นที่ใจกลางเมืองหลวง ปฏิบัติการจับรัฐมนตรีคนสำคัญของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เริ่มขึ้น บรรยากาศทั่วพระนครตกอยู่ใต้ความตึงเครียด ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาก้าวออกมาอ่านแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรหน้าแถวทหารจำนวนมาก เกิดการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ก่อการกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7 ) ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่วังไกลกังวล

แต่ด้วยยุคนั้น “สีลม” เป็นชุมชนห่างไกลใจกลางพระนคร เต็มด้วยป่ารก ถนนก็เป็นเพียงทางดินเล็กๆ ต้องรอจนเวลาล่วงเลยมาถึง 5 ทุ่ม ท่านผู้หญิงจึงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด เพราะมีทหารสองคนมาที่บ้าน


“…บอกว่าจะมาขอเครื่องแต่งกายนายปรีดี ขอเสื้อกับผ้าม่วง เพราะว่าพรุ่งนี้จะมีประชุมเสนาบดี แล้วก็ขออาหาร…ก็เลยรู้ว่านายปรีดีเป็นผู้ก่อการคนหนึ่ง”


ในที่สุด รัชกาลที่ 7 ก็ทรงยินยอมรับเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น 1 อาทิตย์มีจดหมายฉบับหนึ่งถูกส่งมาถึงท่านผู้หญิง

ในจดหมายลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2475 มีเนื้อความว่า


“ขอโทษอย่างมากที่ต้องปกปิดในวันนั้นว่าจะไปอยุธยา เพราะถ้าบอกความจริงก็เกรงว่าจะมาจากบ้านไม่ได้ และผลร้ายจะเกิดขึ้นเป็นแม่นมั่น คือเจ้าหน้าที่ได้คิดจะทำการจับกุมฉันในวันรุ่งขึ้นเวลา 10 นาฬิกา เท่าที่ได้ทราบมา…ที่ไม่บอกมาแต่ต้นก็เพราะกลัวว่าจะตกใจ และเมื่อ(ถอดความไม่ออก) ข่าวตกใจแพร่งพรายออกไปก็จะเสียการที่คิดไว้ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนลงมือกระทำก็ได้เป็นห่วงและคิดไว้ว่าถ้าตายลงไป ก็คงพอมีเงินเลี้ยงลูกและเธอโดยมีประกันชีวิตและเงินสดในธนาคารที่ได้โอนให้เมื่อก่อนหน้ากระทำการสักสองสามวัน"

(น่าจะเป็นวันที่ 22 หรือ 23 มิถุนายน 2475 – ผู้เขียน)


ในจดหมายกล่าวถึงแผนจะนำเงินส่วนต่างๆ มาจุนเจือซึ่งแสดงถึงความเป็นห่วงของปรีดีที่มีต่อหลังบ้าน ในขณะที่ทำตามอุดมคติสร้าง “ชาติ” ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ

ชาติที่ประชาชนไม่ว่ายากดีมีจนสามารถมีส่วนร่วมในการปกครอง

มีสิทธิพูด มีสิทธิคิด มีสิทธิเขียน

ซึ่งสำหรับท่านผู้หญิงเองแล้ว ก็ได้สนับสนุนมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เพราะปู่ท่านนั้นเป็นหนึ่งในคณะบุคคลที่ยื่นคำกราบบังคมทูลขอเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5


“ตอนนั้นกรมพระนเรศวรวรฤทธิ์ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นคณะราชทูตไทยในอังกฤษ และปู่ของฉันคือหลวงวิเสศลาลีเป็นผู้ช่วยทูต พวกนี้มีจดหมายกราบบังคมทูลขอให้ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และให้มีสภาในการปกครองประเทศ แต่ในหลวงท่านก็ไม่เปลี่ยน แต่ท่านไม่กริ้วนะ ก็นับว่าเป็นความกล้าหาญ มีเจ้านายกับข้าราชการรวม 11 คน กราบบังคมทูลเพื่อเห็นแก่ความเจริญของบ้านเมือง…”


3

24 มิถุนายน 2549…8.30น.

มันเป็นเวลาเช้าตรู่ของวันหยุดสุดสัปดาห์ปลายเดือนมิถุนายน
ผมพบตัวเองนั่งสะลึมสะลืออยู่บนรถประจำทาง
รถไม่ติด เพราะเป็นเช้าวันเสาร์ มันพาผมมุ่งหน้าไปเรื่อยๆ
ผ่านสะพานปิ่นเกล้า ผ่าน “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”
ผมหายง่วง มองออกไปนอกหน้าต่าง
คิดถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 74 ปีก่อน
คิดถึง ชายคนหนึ่ง หญิงคนหนึ่ง
เกตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง และคิดถึงวันสำคัญวันหนึ่ง

วันสำคัญ
ที่สังคมไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย “ลืม” ไปเรียบร้อยแล้ว….


สุเจน กรรพฤทธิ์


บรรณานุกรม

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต. LIFE บทสัมภาษณ์คัดสรร 20 ปี สารคดี (กรุงเทพฯ : OPEN Books) 2548.


ที่มา : ชุมชนประชาไท : เรือนพักนักเดินทาง : “วันนี้” ที่ “ถูกลืม”

หมายเหตุ
การเน็นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: