วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เนปาลเลิกสถาบันกษัตริย์ ตั้งระบอบสาธารณรัฐ ประชาชนนับหมื่นร้องรำทำเพลงเฉลิมฉลองบนท้องถนน


ชาวเนปาลนับหมื่นออกมาชุมนุมร้องรำทำเพลงบนท้องถนนในกรุงกาฐมาณฑุ รอฉลองวินาทีประวัติศาสตร์การก่อเกิดสาธารณรัฐและจุดจบของสถาบันกษัตริย์ เมื่อสมัชชาชุดใหม่ที่พวกเหมาอิสต์เป็นใหญ่ ประชุมลงมติเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศ และล้มล้างระบอบราชาธิปไตยที่อายุยืนนาน 240 ปีแห่งอาณาจักรฮินดู

สมัชชาร่างรัฐธรรมนูญของเนปาลที่ผ่านการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนเพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งไปเมื่อวันอังคาร และในวันพุธสมาชิกสมัชชาได้เรียกประชุมนัดแรกเพื่อลงมติประกาศให้เปลี่ยนราชอาณาจักรเนปาลเป็นสาธารณรัฐเนปาล

ขณะที่ด้านนอกสมัชชาและถนนหลายสายของกรุงกาฐมาณฑุ ประชาชนนับหมื่นคนพากันมาชุมนุมฉลอง โห่ร้องเต้นระบำกันกลางท้องถนน โดยมีตำรวจมากกว่า 1,500 นายรักษาการณ์อย่างเข้มงวดป้องกันเหตุร้าย หลังจากที่เกิดระเบิดหลายครั้งในช่วง 2-3 วันมานี้ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยบางฝ่ายกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มที่จงรักภักดีต่อกษัตริย์

"จงมาเฉลิมฉลองรุ่งอรุณแห่งสาธารณรัฐด้วยกิริยาอันสง่างาม" เสียงโฆษกประกาศผ่านลำโพงที่ติดอยู่เหนือรถแท็กซี่ พวกอดีตกบฏเหมาอิสต์มากกว่า 10,000 คน ที่กลายมาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่มีที่นั่งมากที่สุดในสมัชชา 601 ที่นั่ง พากันเดินขบวนกลางเมืองหลวง พร้อมโบกธงค้อนเคียวและชูกำปั้นร้องตะโกนว่า

"ระบอบกษัตริย์จงพินาศ"

"นี่คือชัยชนะของประชาชน"
คามัล ดาฮัล อดีตกบฏเหมาวัย 22 กล่าว

"ด้วยคำประกาศตั้งสาธารณรัฐวันนี้ เราได้บรรลุสิ่งที่เราต่อสู้แล้ว"

คาดกันว่า กษัตริย์กิยาเนนทราผู้ไม่ทรงเป็นที่ชื่นชอบของพสกนิกรเนปาลนัก จะต้องเสด็จออกจากพระราชวังทันทีหลังการลงมติของสมัชชา พระองค์ไม่ได้ตรัสถึงแผนการในอนาคตของพระองค์มากนัก เว้นแต่ทรงยืนยันจะประทับอยู่ที่เนปาลต่อไป แต่รัฐบาลได้ขีดเส้นตายไว้แล้วให้พระองค์เสด็จออกจากวัง มิเช่นนั้นจะใช้กำลังบังคับ

ระบอบกษัตริย์ของเนปาลเคยเป็นดั่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กษัตริย์เป็นดั่งสมมติเทพของชาวฮินดูที่เชื่อว่าทรงเป็นปางอวตารของพระวิษณุ แต่หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมปลงพระชนม์หมู่เมื่อปี 2544 ที่มกุฎราชกุมารทิเพนทราทรงลั่นไกปลงพระชนม์กษัตริย์พิเรนทรา พระราชบิดาและสมาชิกอีก 8 พระองค์ของราชวงศ์ ก่อนทรงหันปากกระบอกปืนปลงพระชนม์พระองค์เอง และทำให้กษัตริย์กิยาเนนทราได้ขึ้นครองราชย์ อันเป็นจุดกำเนิดของการเสื่อมความนิยม เมื่อพระองค์ทรงขับไล่รัฐบาลและยึดอำนาจไว้เองเมื่อปี 2548 ก่อนจะถูกประชาชนต่อต้านจนทรงยอมคายอำนาจในปีต่อมา

ปัจจุบัน พระองค์ถูกริบอำนาจจนหมด พระบรมฉายาลักษณ์ถูกกำจัดออกจากธนบัตร พระนามถูกลบจากเพลงชาติ และพระองค์ถูกขอให้จ่ายค่าน้ำค่าไฟเอง

"พระมหากษัตริย์มีเวลา 15 วันที่จะออกจากพระราชวัง จากนั้น พระราชวังนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์" ราม จันทรา พูเดล รัฐมนตรีกระทรวงสันติภาพและการฟื้นฟูบูรณะประเทศกล่าวเมื่อวันพุธ


ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ 29 พค.2551


ความเห็น

เมื่อสังคมมนุษย์พัฒนาเข้าสู่ระบอบทุนนิยม ชนชั้นนายทุน ผู้มาใหม่ ก็ค่อยๆล้มเลิกสถาบันกษัตริย์์ในประเทศส่วนมากของโลก ระบอบประชาธิปไตยได้วิวัฒน์เข้าแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในประเทศเหล่านั้น

สถาบันกษัตริย์ที่คงเหลืออยู่ในประเทศทุนนิยมส่วนน้อย เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม เดนมาร์ก มาเลเซีย ฯลฯ ล้วนเป็น กษัตริย์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ(constitutional monarchy or a limited monarchy)หรือเป็นสถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและสนับสนุนประชาธิปไตย

ตามประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา มีเพียง 4 ประเทศที่พรรคคอมมิวนิสต์ ได้อำนาจในขณะที่ประเทศยังคงมีระบอบกษัตริย์ คือ บัลเกเรีย โรมาเนีย ยูโกสลาเวีย และลาว

ในบัลเกเรีย ประชาชนทั่วประเทศลงประชามติให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์

ในยูโกสลาเวีย สภาแห่งชาติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั่วประเทศ ลงมติเลิกสถาบันกษัตริย์

ในโรมาเนียและลาว กษัตริย์ของ 2 ประเทศนี้ได้สละราชสมบัติ และสภาแห่งชาติ ลงมติให้ใช้ระบอบสาธารณรัฐ (Republic)

สำหรับกัมพูชา พรรคคอมมิวนิสต์ของฮุนเซน ได้รื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ เป็นสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ

เนปาล เป็นประเทศล่าสุด ที่พรรคคอมมิวนิสต์(เหมาอิสต์)ชนะการเลือกตั้ง ได้รับเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญของเนปาลมากที่สุด ชนะการเลือกตั้งทั่วประเทศที่ได้จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน

เนปาลเลือกเดินเส้นทางของประเทศยูโกสลาเวีย คือ สมัชชาร่างรัฐธรรมนูญได้ลงมติให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ เปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ

ที่มีการบิดเบือนว่าขบวนการสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ เป็นขบวนการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ จึงไม่ตรงกับความจริงของประวัติศาสตร์โลกและเป็นการใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมือง

พิจารณาจากประวัติศาสตร์โลก สถาบันกษัตริย์ จะอยู่ได้หรือไม่ อยู่ที่
การปรับตัวและการวางตัวของสถาบันฯเอง ดังที่คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง ได้กล่าวว่า "ผู้ที่ดำรงตน ให้เหมาะสมกับสถานะของตน ย่อมดำรงอยู่ได้ยาวนาน "

เมื่อดำรงตนอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ เป็นสถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและสนับสนุนประชาธิปไตย และเป็นสถาบันกษัตริย์ที่ทำประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน เมื่อนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ย่อมโอบอุ้มสนับสนุนและสถาบันฯย่อมสามารถดำรงอยู่ได้ยาวนาน ดังเช่นที่เห็นในประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น

ปัญหาความปั่นป่วนวุ่นวาย มักเกิดขึ้นจากพวกคลั่งสถาบันกษัตริย์(ultra-royalism) หรือที่นายปรีดีเรียกว่า "ผู้เกินกว่าราชา" พวกนี้ จะอ้างว่า กลุ่มตนจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ยิ่งกว่าใครอื่น จะโจมตีฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายอื่นว่า ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ โดยการหยิบยกเรื่องราวต่างๆ มาบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี โยนข้อหาหมิ่นฯเข้าใส่ผู้อื่นตลอดเวลา ก่อความแตกแยกภายในชาติ

ตัวอย่างเช่น แค่การมีรูปขึ้นปกหนังสือ ก็เอามาใส่ร้ายทางการเมืองกันได้ หรือเฉพาะรูปพระราชวงศ์ จึงสามารถนำขึ้นปกหนังสือได้ ?

นับเป็นพวก "ดึงฟ้าให้ต่ำ" อย่างแท้จริง เพราะยิ่งแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์มากขึ้นเท่านั้น พวกนี้ จึงเป็นพวกที่อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยและต่อสถาบันกษัตริย์เองด้วย


เขียนโดย : ไท

เมื่อ : 29 พฤษภาคม, 2008


ที่มา : อารยชน ( ประชาธิปไตย ปฎิรูป สมานฉันท์ ) : เนปาลเลิกสถาบันกษัตริย์..

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความ