วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สนธิสัญญาของพระพุทธเจ้าหลวงฯ กับฝรั่งเศส และ ปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา


“เส้นแบ่งพรมแดน” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ มีอายุไม่เกิน 150 ปี เพราะเพิ่งจะถูกกำหนดให้มีขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ของสิ่งที่เรียกว่า “แผนที่” เป็นเครื่องกำหนดอาณาเขตอำนาจทางการเมืองระหว่างผู้ปกครองกลุ่มต่างๆ ให้ชัดเจน มั่นคง ตายตัว ตามรูปแบบรัฏฐาธิปัตย์สมัยใหม่ ที่เรียกว่า “รัฐประชาชาติ (Nation State)” แต่ก่อนหน้าที่จะมีการปักปันเขตแดน ในรูปแบบของการทำแผนที่สมัยใหม่นั้น ผู้ปกครองกลุ่มต่างๆ เช่น อาณาจักรทั้งหลาย มักรับรู้ปริมณฑลอำนาจของตนว่า ครอบคลุมพื้นที่ไม่ชัดเจนและไม่มั่นคง เพราะขอบเขตอำนาจอาจเปลี่ยนแปลงขยายกว้างออกหรือหดแคบเข้า มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับอำนาจบารมีและอิทธิพลทางการทหาร และในบางครั้งพรมแดนอาจผลัดเปลี่ยนไปอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรอื่นๆ ได้ หรือ บางพื้นที่อาจไม่มีอิทธิพลอำนาจของอาณาจักรใดเลย ที่จะเคยแผ่เข้าไปถึงมาก่อน

เมื่อทำความเข้าใจกันในเบื้องต้นดังนี้แล้ว ขอตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ สนธิสัญญาของพระพุทธเจ้าหลวงฯ กับฝรั่งเศส และ ปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา ดังนี้


ประเด็นที่ 1

เมื่อราชอาณาจักรสยาม ก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “สมัยใหม่” สิ่งที่เรียกว่า “แผนที่ประเทศ” ก็เพิงเริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมขึ้น และหากกล่าวแต่เฉพาะดินแดนทางด้านทิศตะวันออกของสยามแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ คือผู้ที่เริ่มทรงสร้าง “แผนที่ประเทศสยาม” เป็นพระองค์แรก เพราะทรงทำสนธิสัญญาฉบับต่างๆ กับฝรั่งเศส เพื่อแบ่งปันแย่งชิงดินแดนในลาวและกัมพูชา ดังนี้

ฉบับแรก 15 กรกฎาคม พ.ศ.2410 ฝ่ายสยามยอมรับอำนาจของฝรั่งเศสเหนือกัมพูชา และฝ่ายสยามจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการของกัมพูชา ทั้งนี้พระตะบองและเสียมเรียบยังขึ้นอยู่กับฝ่ายสยาม

ฉบับที่สอง 3 ตุลาคม พ.ศ.2436 (ผลจาก รศ.112 [กรกฎาคม 2436]) ฝ่ายสยามยอมสละอำนาจออกจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งเกาะแก่งทั้งหมดในแม่น้ำโขงให้เป็นของฝรั่งเศส และสยามจะไม่ตั้งฐานที่มั่นทางทหารในพระตะบอง เสียมเรียบ และภายในรัศมี 25 กิโลเมตร ตลอดฝั่งขวาของแม่น้ำโขง

ฉบับที่สาม 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2447 ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับดินแดนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขง เช่น หลวงพระบาง พิชัย น่าน และเมืองอื่นๆ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อความจากสนธิสัญญาฉบับ ปี พ.ศ.2436

ฉบับที่สี่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2447 ฝ่ายสยามยอมยกตราดและด่านซ้าย เพื่อแลกกับจันทบุรี ซึ่งอยู่ภายใต้การยึดครองของฝรั่งเศส

ครั้งหลังสุด 23 มีนาคม 2450 ฝ่ายสยามตกลงยกพระตะบอง เสียมเรียบ และศรีโสภณ เพื่อแลกกับด่านซ้ายและตราด รวมทั้งหมู่เกาะต่างๆ ของอำเภอแหลมงอบในปัจจุบัน มาเป็นของสยาม (ทั้งนี้ไม่รวมเกาะกง เพราะไม่ได้ระบุไว้ในสนธิสัญญา) และสนธิสัญญาฉบับนี้เอง ที่ปรากฏว่าการปักปันเขตแดนและแผนที่ซึ่งทำขึ้นฉบับล่าสุด กำหนดให้พื้นที่ของปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา ซึ่งทั้งสยามและฝรั่งเศสต่างยอมรับตามข้อตกลงทั้งหมด


ดังนั้น หากถือว่าสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งทำขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ กับรัฐบาลฝรั่งเศสแล้ว แผนที่และสนธิสัญญาครั้งหลังสุด พ.ศ.2450 ฝ่ายสยามน่าจะพอใจแลกด่านซ้ายและตราด รวมทั้งหมู่เกาะต่างๆ ของอำเภอแหลมงอบในปัจจุบัน กับเขตแดนตามแนวเทือกเขาพนมดงรักและจังหวัดต่างๆ ในเขตกัมพูชา รวมทั้งปราสาทเขาพระวิหารด้วย


ประการที่ 2

เอาเข้าจริงแล้ว กรณีพิพาทเรื่อง ปราสาทเขาพระวิหาร เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2483 รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำสงครามกับฝรั่งเศส เพื่อแย่งชิงดินแดนในเขตอินโดจีน ทำให้ฝ่ายรัฐบาลไทยบุกเข้ายึดดินแดน 4 จังหวัด คือ ไซยะบุรีและจำปาสักในลาว กับ เสียมเรียบและพระตะบองในกัมพูชา ฝ่ายไทยจึงได้ครอบครองปราสาทนครวัด-นครธม และโบราณสถานของอื่นๆ ในเขตกัมพูชา รวมทั้งปราสาทเขาพระวิหารด้วย แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2488 เมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยซึ่งเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น จึงต้องคืนดินแดนที่เข้าไปยึดครองทั้งหมดให้กับฝรั่งเศส จนกระทั่งฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามอินโดจีนในปี พ.ศ.2497 ฝ่ายไทยจึงถือโอกาสส่งทหารเข้าไปครอบครองพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร โดยไม่มีกฎหมายหรือสนธิสัญญาใดๆ รองรับ

ต่อมา พระบาทสมเด็จนโรดมสีหนุ แห่งกัมพูชา ทรงยื่นฟ้องคดี “ปราสาทพระวิหาร” ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2502 จึงทำให้ประชาชนชาวไทยเริ่มรู้จักปราสาทเขาพระวิหารเป็นครั้งแรก ศาลโลก ณ กรุงเฮก ได้ไต่สวนคดีจำนวนทั้งสิ้น 73 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 ปี และมีคำพิพากษาในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2505 ว่า ให้ “ปราสาทพระวิหาร” เป็นของกัมพูชา ด้วยมติ 9 ต่อ 3 เสียง โดยยืนยันความถูกต้องบริบูรณ์ของสนธิสัญญาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทำกับฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2450 และการที่สยามยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือเขาพระวิหารอย่างเป็นทางการ โดย “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อปี พ.ศ.2472 ที่ทรงขึ้นเขาพระวิหาร โดยแจ้งอย่างเป็นทางการไปยังฝ่ายฝรั่งเศส มีพิธีต้อนรับโดยการประดับของธงฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ มีการถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานและทรงลงนามในสมุดเยี่ยมปราสาทเขาพระวิหารด้วย

ผลการตัดสินของศาลโลกทำให้ฝ่ายไทยต้อง

1.คืนเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ ให้แก่กัมพูชา
2.คืนวัตถุโบราณจำนวน 50 ชิ้น และ
3.ถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากพื้นที่

แต่หลังจากนั้นไม่นาน เกิดสงครามขึ้นภายในประเทศกัมพูชา ปราสาทเขาพระวิหารจึงเปิดให้เข้าชมช่วงสั้นๆ ในปี พ.ศ.2513 และในปี พ.ศ.2518 ก็ปิดไปเนื่องจากถูกเขมรแดงเข้ายึดครอง และเมื่อสงครามสงบลง ปราสาทเขาพระวิหารก็เปิดอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2535 และถูกปิดไปอีกในปีต่อมา จนพระทั่งในปลายปี พ.ศ.2541 จึงเปิดให้เข้าชมอีกครั้ง และเปิดเรื่อยมาเมื่อ พ.ศ.2546 กัมพูชาได้สร้างถนนเข้าไปถึงปราสาทเขาพระวิหารจนสำเร็จ ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบันนั้น หากมีปัญหาการกระทบกระทั่งกันตามแนวชายแดน ก็อาจมีข่าวเป็นระยะๆ ว่า เขาพระวิหารปิดให้เข้าชมโดยมิได้แจ้งล่วงหน้า

ดังนั้น ในกรณีข้อพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร แม้ว่าจะยังมีผู้แสดงความคิดเห็น “เก็บตก” เพื่อโต้แย้งคำตัดสินของศาลโลก หรือ ขั้นตอนความถูกต้องของการปักปันเขตแดน ตามหลักสากลเรื่องสันปันน้ำ หรือ ทางขึ้นเขาพระวิหารอยู่ฝั่งไทยย่อมน่าจะเป็นของไทย หรือ เหตุผลอื่นๆ เพื่อปลุกปั่น รื้อฟื้นข้อพิพาทคดี “ปราสาทพระวิหาร” ขอตั้งข้อสังเกตว่า สนธิสัญญาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงทำเพื่อแลกดินแดนกับฝ่ายกัมพูชาของฝรั่งเศสนั้น ทรงทำด้วยพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ประเทศชาติของเราก็ได้ผลประโยชน์ในดินแดนอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย หากประชาชนในปัจจุบันไม่ยอมรับเอาพระบรมราชวินิจฉัยของพระพุทธเจ้าหลวงฯ เอาไว้โดยดุษณีแล้ว ก็ขอให้คิดว่า ชาติไทยในปัจจุบันมีฐานะไม่ลำบากไปกว่ากัมพูชา จะมามัวคิดเล็กคิดน้อย “ไม่เป็นผู้ใหญ่” และ “ไม่บรรลุนิติภาวะ” อยู่ทำไม


ประเด็นที่ 3

“There is no ‘if’ in the History - ไม่มีคำว่า ‘ถ้า’ ในวิชาประวัติศาสตร์” หมายความว่า วิชาประวัติศาสตร์ ว่าด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ตามที่เราต้องการได้ แต่ “ถ้า” จะใช้วิชาประวัติศาสตร์ ก็ “ควร” ใช้เพื่อเข้าความใจมนุษย์และสังคม เพื่อสร้าง “สันติสุขสมานฉันท์” เพราะ “ถ้า” นำมาใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการปลุกปั่นและรองรับตัณหาทางการเมือง เพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำ “ประวัติศาสตร์ของชาติ” มาสร้าง “ความเคียดแค้นชิงชัง” ต่อกันและกันแล้ว เราจะเหลือความภาคภูมิใจใน “ชาติ” และ “บรรพชน” อยู่อีกสักกี่มากน้อย

ในสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดเช่นนี้ มุทิตา คือ ความพลอยยินดี และ อุเบกขา คือ ความวางเฉยไม่ซ้ำเติม เป็นข้อปฏิบัติที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา บรรดาความ “เพ้อเจ้อเหลวไหล” ของกลุ่มการเมืองและบุคคลบางคน ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือ สิ่งที่ควรพิจารณาให้เห็นถ่องแท้ว่า “ปราสาทเขาพระวิหาร” และวาทะกรรมยุยงให้ “รังเกียจชนชาติเขมร” กำลังถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง นั่นเอง

เท่าที่จำได้ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยบรรยายในห้องเรียนอยู่เสมอๆ ว่า


“คนไทยเรา ถ้าเอาแต่หลงตัวเอง มัวแต่ยกตนข่มท่าน ไม่เรียนรู้เข้าใจเพื่อนบ้านในทางที่เหมาะสมแล้ว วันดีคืนร้าย หากเขาไม่พอใจ เราก็อาจถูกทวงเอาภาษาคืนได้ เช่น คนไทยอาจเดินไม่ได้อีกต่อไป เพราะคำว่า เดิน มาจาก เดิรฺ หรือ ดำเนิน ในภาษาเขมร และคนไทยก็อาจหายใจไม่ออก หากไม่มีภาษาเขมรให้ยืมคำว่า จมูก นี่ยังไม่ต้องพูดถึงตัวเลขหรือราชาศัพท์ทั้งหลาย”


ขอจบท้ายด้วย บทประพันธ์จากหนังสือ เพลงดนตรีประวัติศาสตร์ ของ กรมศิลปากร จัดพิมพ์ในปี พ.ศ.2481 โดย หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นคิดเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม เป็น ไทย เมื่อปี พ.ศ.2482 ซึ่งหน้าที่ 8 ของหนังสือเล่มนี้ ผูกกลอนที่ให้ภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างชาติไทยกับกัมพูชา เอาไว้อย่างดีพอเหมาะสม ความว่า


“....เลือดของไทยเข้าไปปนเขมร ทำให้เด่นเกียรติไทยได้ส่งเสริม
เลือดเขมรปนไทยไกลจากเดิม ไทยยิ่งเพิ่มเขมรกลายเป็นไทยแท้…”




อัครพงษ์ ค่ำคูณ

โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ที่มา : ข่าวประชาไท : สนธิสัญญาของพระพุทธเจ้าหลวงฯ กับฝรั่งเศส และ ปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา

หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางส่วนทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: