วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ทวีป วรดิลก กวีและนักเขียน ฝ่ายประชาชน


ทวีป วรดิลก กวีและนักเขียน ฝ่ายประชาชน เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ที่จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของพระทวีปธุรประศาสน์ (วร วรดิลก) อดีตเจ้าเมืองกระบี่และชลบุรี และนางดำรัส ชีวกานนท์ และเป็นน้องชายร่วมสายโลหิตของ สุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) เรียนจบชั้นสามัญศึกษาที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ และได้เข้าศึกษาต่อวิชากฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่ทวีปมีความสนใจอย่างมากในการเขียนบทกวี และได้เริ่มเขียนคำฉันท์ชื่อ “อุษาแห่งสันติสมัย” ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ชาติไทยรายสัปดาห์ เป็นครั้งแรก

ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ธรรมศาสตร์นี้เอง ได้เกิดการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินอยู่ภายใต้อิทธิพลของปรีดี พนมยงค์ต้องยุติลง กองทัพบกได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ในระยะนี้เอง ทวีป วรดิลก ได้เริ่มตื่นตัว รับแนวความคิดที่ก้าวหน้าและเข้าไปมีส่วนโดยตรงในการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา

ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๙๒ ทวีปก็ได้รับเลือกจากนักศึกษาให้เป็นกรรมการนักศึกษาและบรรณาธิการวารสาร "ธรรมจักร" ของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัย และตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็ได้เริ่มใช้นามปากกาว่า ทวีปวร เขียนบทกวีลงเผยแพร่ในวารสารอักษรสาส์น บทกวีของทวีปวร สะท้อนเนื้อหาใหม่แห่งการต่อสู้ของประชาชน และวิพากษ์จารีตประเพณีเก่าอย่างมีพลัง ดังจะเห็นได้จากบทกลอน เรื่อง “ทำลายเพื่อสร้าง” ในอักษรสาส์น ฉบับ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๓ ได้เสนอให้ทำลายการแบ่งชนชั้นในสังคมไทย และแสดงจุดมุ่งหมายที่จะ “สถาปนาภาวะชื่นผืนดินไทย สังคมใหม่รวมพลังไม่หวังวาย” แต่บทกลอนที่เด่นมากของ ทวีปวร คือบทกลอนเรื่อง “ประวัติศาสตร์อยู่ที่ไหน” ซึ่งวิพากษ์การอธิบายประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างชัดเจน มีสาระสำคัญคือ


ประวัติศาสตร์ของชาติไทยอยู่ไหนเล่า
ได้แต่เฝ้าใฝ่จิตต์คิดกังขา

อ่านประวัติคัดเขียนพากเพียรมา

ช่างไร้สาระแห่งศาสตร์อนาถใจ

ล้วนแต่วาด “ราชประวัติ” จัดมาอ้าง

โกหกบ้างจริงบ้างต่างขานไข

ชีวิตผองของคนบนแดนไทย

ไม่เคยได้เปิดเผยหรือเอ่ยกัน


ภาพสังคมชมชื่นยั่งยืนสุข

จะปลอบปลุกภพปวงดุจสรวงสวรรค์

ราชสำนักศักดินาสารพัน

ล้วนแต่ปั้นเป็นพิมานโอฬารเรือง

โอ้เผ่าฟ้าจากฟ้ามาครอบฟ้า

เด่นเดชาทศทิศคิดฟุ้งเฟื่อง

แต่ไพร่ฟ้าเลี้ยงฟ้ามานั่งเมือง

ไม่กระเดื่องดุจฟ้าบ้าหรือดี ?

(อักษรสาส์น, มีนาคม ๒๔๙๓ : ๑๒๑)


จากนั้น ทวีปวร ก็ได้เขียนโคลงเพื่อตอบโต้กับวรรณคดีเก่า ที่ให้ความหมายความสุขของสังคมว่า ด้วยใจความว่า

“สุขเพราะผ่านฟ้า สุขสมบูรณ์” ทวีปวรได้โต้แย้งว่า


สุขเพราะไพร่ฟ้า สุขสมบูรณ์

คือสัจจธรรมจักทูน เทิดไว้

เสพย์สวัสดิ์ภัทร เพิ่มพูน เพราะไพร่ ผองนา

คุณยิ่งคุณใดได้ ดั่งนี้ทวีผล


ตนตรึกสำนึกแล้ว สุขสมบูรณ์

คือสัจจธรรมจักทูน เทิดไว้

เสพย์สวัสดิ์ภัทร เพิ่มพูน เพราะไพร่ ผองนา

คุณยิ่งคุณใดได้ ดั่งนี้ทวีผล

(อักษรสาส์น, พฤษภาคม ๒๔๙๓ : ๒๙)


ใน พ.ศ. ๒๔๙๓ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา และส่งทหารไทยไปร่วมก่อการรุกรานในสงครามเกาหลี กลุ่มปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์จำนวนมาก ไม่เห็นด้วยกับการก่อการรุกรานเช่นนี้ และเรียกร้องให้แก้ไขปัญญาเกาหลีด้วยสันติวิธี จึงได้มีการก่อตั้งกันขึ้นเป็นขบวนการสันติภาพ เคลื่อนไหวให้ประชาชนไทยลงชื่อคัดค้านสงคราม ทวีป วรดิลก ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขัน จึงได้รับเลือกเป็นรองประธานคณะกรรมการสันติภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ด้วยเหตุนี้ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ทางฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย จึงได้พิจารณาลงโทษโดยการลบชื่อ ทวีป และนักศึกษาอื่น ๆ อีก ๔ คน ออกจากทะเบียนนักศึกษา ในข้อหากระทำความผิดฐานยุยงให้นักศึกษากระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลในขณะนั้น ทวีปจึงได้รับเพียงแค่อนุปริญญา

ต่อมา ทวีปวรได้เขียนบทกวีชื่อ “แด่ วัยดรุณของชีวิต” เพื่อมอบให้กับธิดาที่เพิ่งถือกำเนิดของสุภา ศิริมานนท์ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า



จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย เกรียงไกรในพลังสร้างสรรค์

เพื่อความดีงามร่วมกัน แห่งชั้นชาวชนคนงาน

เข้าร่วมรวมพลังบังเกิด แจ่มเจิดภพใสไพศาล

ชีพมืดชืดมาช้านาน หรือจะทานแสงทองส่องฟ้า


จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย พลังใหม่เข้มแข็งแกร่งกล้า

พากเพียรเรียนรู้โลกา เปลี่ยนแปลงสู่อาริยะยุค

แรงอรุณหนุนเนื่องเรืองล้ำ แรงดรุณจักนำสันติสุข

มืดมนอนธกาลทานทุกข์ มือสองจักปลุกประกายพลัน

(อักษรสาส์น, มีนาคม ๒๔๙๕ : ๘)


ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ทวีป วรดิลก ก็ได้เริ่มประกอบอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ ทำงานประจำในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร พิมพ์ไทย ของบริษัทไทยพาณิชยการ และเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งมีการกวาดล้างกบฏสันติภาพ ทวีปยังสามารถรอดพ้นมาได้ จากนั้นก็ได้ย้ายไปทำหนังสือพิมพ์อื่นเช่น เสถียรภาพ ข่าวภาพ และหนังสือพิมพ์รายวัน เสียงอ่างทอง จนกระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๐๓ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทวีปจึงถูกจับเข้าคุกครั้งแรก ในข้อหากระทำผิดพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในระหว่างนี้ได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ควบคุมออกมาสอบไล่วิชากฎหมาย ณ เนติบัณฑิตยสภา และได้เป็นเนติบัณฑิต

ทวีป วรดิลก อยู่ในคุกจนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ก็ถูกปล่อยตัวออกมา จากนั้นจึงได้เปลี่ยนมาประกอบวิชาชีพทนายความ โดยเป็นทนายความประจำสำนักงานทนายความ มารุต บุนนาค และได้เป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของธนาคารไทยพัฒนา จำกัด ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ และตลอดระยะเวลาดังกล่าว ทวีปยังคงผลิตงานด้านการประพันธ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากกวีนิพนธ์ ยังมีงานเขียนและงานแปลเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ กวีและวรรณกรรมต่างประเทศ ประวัติศาสตร์และการเมืองต่างประเทศหลายเล่ม ที่สำคัญในระยะหลัง ๑๔ ตุลาคม ก็คือ ได้ใช้นามปากกาว่า เทอด ประชาธรรม เขียนหนังสือเรื่อง “เหมาเจ๋อตง ผู้นำจีนใหม่” และ แปลเรื่อง “เบ้าหลอมนักปฏิวัติ” ของ นิโกไล ออฟทรอฟสกี เป็นต้น

หลังจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ทวีป ก็ยังมีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ เช่นนวนิยายแปลเรื่อง วิมานมายา (๒๕๒๑) เหมืองนรก (๒๕๒๒) ท็อปบูตทมิฬ (๒๕๒๓) และ งานเขียน เช่น ตีโต ผู้นำยูโกสลาเวีย นอกจากนี้ ยังได้เริ่มเขียนประวัติศาสตร์จีน จากสงครามฝิ่นถึงการปฏิวัติซินไฮ่ (๒๕๒๔) ซึ่งต่อมาจะขยายเป็นประวัติศาสตร์จีนเล่มใหญ่ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๓๘ และบทกวีของ ทวีปวร ได้ถูกนำมาพิมพ์รวมเล่มในชื่อหนังสือว่า “จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒

ที่น่าสังเกตคือหนังสือเล่มนี้มิได้รวมเอาบทกวี “ประวัติศาสตร์อยู่ที่ไหน” เอาไว้ด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงเพลงที่ประพันธ์เนื้อร้อง เช่น "โดมในดวงใจ" "มาร์ช ม.ธ.ก." "ศกุนตลา" "มนต์รักนวลจันทร์" และ "นิมิตสวรรค์" เป็นต้น และในระหว่างที่อยู่ในคุกก็แต่งเนื้อร้องของเพลง "เทิดสิทธิมนุษยชน" โดยจิตร ภูมิศักดิ์แต่งทำนอง

ทวีป วรดิลก สมรสกับกานดา เจ้าของนามปากกา "นารียา" ซึ่งเชี่ยวชาญวรรณกรรมจีน และเป็นผู้แปลวรรณกรรมสำคัญเรื่อง “อ้ายเหลือบ” เขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๘ อายุได้ ๗๗ ปี และในที่นี้จะขอลงท้ายด้วยบทกวีบาทหนึ่งของทวีปวร ใจความว่า


“ชัยชนะจะสมปองต้องต่อสู้

มิใช่อยู่ที่กราบไหว้ให้เขาหยัน”




ตำนานจากปกหลัง

ที่มา : ไฟลามทุ่ง (เวบไซต์เพื่อการสื่อสารของประชาชน) : ทวีป วรดิลก กวีและนักเขียน ฝ่ายประชาชน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: