วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2551

กรณีริบหนังสือกฎหมาย ในรัชกาลที่ ๓


หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "ศิลปวัฒนธรรม", ปีที่ ๕, ฉบับที่ ๙, กรกฎาคม ๒๕๒๗, หน้า ๒๒-๓๒; ปรับปรุงแก้ไขและตีพิมพ์ครั้งที่สองใน "รพี" ๒๙", ปีที่ ๙, ฉบับที่ ๙, ๗ สิงหาคม ๒๕๒๙, หน้า ๒๔-๓๕; เขียนขึ้นใหม่เกือบทั้งหมดจากการพบข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมเพื่อนำเสนออีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้.



ปลายรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คณะมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาสอนศาสนาคริสต์ได้ตั้งโรงพิมพ์หนังสือไทยขึ้นในกรุงเทพฯ มีผู้นำเอากฎหมายฉบับเขียนไปจ้างให้พิมพ์เพื่อจำหน่าย จนเกิดความขึ้นถึงกับมีการริบหนังสือกฎหมายที่พิมพ์ขึ้นทั้งหมด และมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้หลายคน. กรณีริบหนังสือกฎหมายนับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในสมัยนั้น ดังมีผู้บันทึกเรื่องราวไว้ทั้งในเวลาใกล้เคียงและสมัยต่อมา.

ข้าพเจ้าเห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องพิกลว่าเหตุใดจึงมีการริบหนังสือกฎหมายที่พิมพ์เผยแพร่แก่ราษฎร ซึ่งขัดกับความเข้าใจในปัจจุบันที่ว่า กฎหมายเป็นเรื่องที่ใช้บังคับแก่ราษฎร จึงควรให้ราษฎรได้รู้กฎหมายเพื่อจะได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง. กฎหมายทั่วไปในปัจจุบันถึงกับถือว่า บุคคลทุกคนต้องรู้กฎหมาย จะอ้างความไม่รู้กฎหมายเพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดหาได้ไม่. เมื่อสบโอกาสจึงได้สอบค้นเรื่องราวจากหนังสือต่างๆ มาวิเคราะห์หาต้น สายปลายเหตุ เพื่อเสนอเรื่องราวของกรณีนี้แก่ผู้ที่สนใจต่อไป.


ข้อมูลเบื้องต้นอันเป็นเค้าเงื่อน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงกรณีนี้ว่า "อีกเรื่อง ๑ เป็นหนังสือฉบับมีตำนาน คือกฎหมายเขียนในเล่มสมุดขาวของนายโหมด อมาตยกุล ซึ่งมีเรื่องปรากฏว่าเมื่อหมอบรัดเลแรกตั้งโรงพิมพ์สำเร็จหาหนังสือไทยจะพิมพ์ขาย นายโหมด อมาตยกุล เกิดเลื่อมใสเอากฎหมายฉบับนี้ (เดิมน่าจะเป็นของพระยามหา อำมาตย์ (ป้อม) บิดา) ให้หมอบรัดเลไปพิมพ์. พอพิมพ์เป็นสมุดฝรั่งได้เล่ม ๑ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กริ้ว ดำรัสว่า ถ้าใครๆ มีกฎหมายอยู่ในมือไม่เลือกหน้า พวกเจ้าถ้อยหมอความก็จะเอาไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคดโกงให้ยากแก่กระบิลเมือง จึงดำรัสสั่งให้ริบหมดทั้งฉบับเขียนและฉบับพิมพ์. ฉบับ เขียนคงริบเอาส่งไว้ที่กรมอาลักษณ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ ส่วนฉบับพิมพ์นั้นหม่อมฉันเคยถามพระยาเพชรพิชัย (เจิม อมาตยกุล) แต่ก่อนนั้นว่า นายโหมด อมาตยกุล ยักเอาไว้ได้บ้างหรือไม่ แกไปค้นหามาได้เล่ม ๑ หม่อมฉันได้ส่งหนังสือกรมอาลักษณ์ส่งไปยังหอพระสมุดอีกพวก ๑."

และทรงกล่าวไว้อีกว่า "หนังสือระบาทกระสาปน์นั้นฉันทราบเรื่องเดิมอยู่ในหนังสือบางกอกคาเลนดาร์ของหมอบรัดเลก็เล่าเรื่องไว้ว่า เมื่อหมอบรัดเลแรกตั้งโรงพิมพ์หนังสือไทยขึ้นในกรุงเทพฯ พวกไทย "สมัยใหม่" ในเวลานั้นพากันนิยมการพิมพ์หนังสือ นายโหมด อำมาตยกุล ซึ่งภายหลังได้เปนพระยากระสาปนกิจโกศลในรัชชกาลที่ ๔ หรือต้นรัชชกาลที่ ๕ ฉันจำไม่ได้แน่ส่งหนังสือกฎหมายฉะบับเขียนไปให้หมอบรัดเลพิมพ์. พิมพ์ได้เพียงเล่มที่ ๑ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กริ้ว ดำรัสว่า เอากฎหมายบ้านเมืองไปพิมพ์โฆษณาเช่นนั้นจะทำให้พวกมดต่อหมอความทำให้ยุ่งยากแก่บ้านเมือง. ดำรัสสั่งให้เก็บริบหนังสือกฎหมายที่นายโหมดให้ไปพิมพ์คราวนั้นทั้งต้นฉะบับเขียนและฉะบับที่หมอบรัดเลพิมพ์. ถึงรัชชกาลที่ ๔ จึงพระราช ทานอนุญาตให้พิมพ์กฎหมาย. เมื่อฉันเปนนายกหอพระสมุดฯ เคยถามพระยาเพ็ชรพิชัย (เจิม) บุตรนายโหมด กระสาปน์ อำมาตยกุลว่า กฎหมายที่ถูกริบนั้นฉะบับพิมพ์ยังเหลืออยู่ที่บ้านบ้างหรือไม่ พระยาเพ็ชรพิชัยได้ไปค้นหามาให้หอพระสมุดฯ ได้เล่ม ๑ ยังอยู่ในหอพระสมุดฯ จนเดี๋ยวนี้. ต่อมาเมื่อฉันได้เปนเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ตรวจสมุดไทยฉะบับเขียนซึ่งสะสมไว้ในกระทรวงนั้นพบหนังสือกฎหมายฉะบับเขียนชุด ๑ หลายเล่ม มีหนังสือเขียนบอกไว้ที่เล่มว่าเปนหนังสือระบาทกระสาปน์ ฉันเห็นเข้าก็เข้าใจว่าคือต้นฉะบับกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้ริบมานั้นเอง. ริบมาแล้วส่งไปไว้ที่กรมอาลักษณ์ จึงรักษากันต่อมา ฉันได้ให้ส่งไปยังหอพระสมุดฯ เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ในหอพระสมุดฯ."

นายโหมด อมาตยกุล เล่าเรื่องนี้ไว้ในบันทึกความทรงจำว่า "ครั้นเป็นความมรดกคุณน้าพระกลิ่น ข้าฯจ้างเขาเขียนกฎหมายที่โรงอาลักษณ์เป็นเงิน ๑๐๐ บาท เอามาอ่านดูแล้วจึงคิดเห็นว่าคนที่เป็นความไม่รู้กฎหมายแล้วลำบากนัก ประการหนึ่งก็ทุนซื้อกฎหมายไว้ด้วย ถ้าตีพิมพ์ขายเห็นจะดี จะได้คืนทุนได้ด้วย. ในปีมะแมนั้นจึงได้จ้างหมอมิชชันเนรีตีพิมพ์ ๒๐๐ ฉบับเป็นราคา ๕๐๐ บาท. ครั้นมาถึงปีจอจึงสำเร็จแล้วแต่เล่ม ๑ เล่ม ๒ ยังค้างอยู่ ขายเล่มหนึ่งไปได้บ้างก็ยังค้างอยู่. เจ้าคุณสำเร็จราชการกรมท่ายังเป็นราชามาตย์อยู่ได้ซื้อไป ๑๐ เล่ม ยังไม่ได้ให้เงิน. พอเซอร์เยมส์ บรุกเข้ามา จะพูดจาสิ่งไร เซอร์เยมส์ บรุกก็รู้เรื่องราวหมด. ครั้นเซอร์เยมส์ บรุกกลับออกไป จึงรับสั่งให้สืบถามบรรดาลูกจ้างฝรั่งและผู้ใดเอาความไปพูดจาบอกเล่า อยู่ในที่ท่านสงสัยพระจอมเกล้าฯ ด้วย. เจ้าคุณกรมท่ากลัวจะร้อนร้าวไปถึงพระจอมเกล้าฯ จึงเอากฎหมายที่ซื้อเชื่อข้าฯไปเล่ม ๑ กับหนังสือพิมพ์ว่าด้วยราชการต่างๆ ของสังฆราชยองเล่ม ๑ เข้าไปถวาย. จึงรับสั่งให้กรมหลวงวงษากับพระเพชรพิไชยขุนทองเมื่อยังเป็นอินทรเทพเอาข้าฯแลลูกจ้างพวกหมอไปถามพอเป็นเหตุแล้ว ก็ให้เอากฎหมายที่ข้าฯทำไว้โรงหมอว่าทำพระเจดีย์วัดสระเกษแล้วให้เอาบรรจุเสีย. ครั้นถึงปีกุน เดือนห้า ขึ้นค่ำหนึ่ง พระจอมเกล้าฯ เข้ามาประทับอยู่ที่คลังศุภรัตได้สัก ๑๓-๑๔ วัน รับสั่งกับกรมหลวงวงษาว่านายโหมดตีพิมพ์กฎหมายเป็นคุณต่อแผ่นดิน ไม่ควรจะเก็บเอาของเขามาบรรจุพระเจดีย์ จะต้องให้เอากฎหมายตีพิมพ์ขึ้นไว้อีก จะเป็นคุณกับบ้านเมือง. กรมหลวงจึงทูลว่า กฎหมายนั้นอยู่ยังไม่ได้เอาไปบรรจุพระเจดีย์. จึงรับสั่งว่า ถ้าดังนั้นคืนให้เจ้าของเขาเสีย จะได้เอาไปซื้อขายอย่าให้ขาดทุนเปล่า เราซื้อไว้บ้าง จะได้แจกทุกโรงทุกศาล. ข้าฯก็ไปรับเอามาถวายหลวงบ้างวังหน้าบ้าง เหลือนั้นก็ขายเล่มละ ๑๐ บาทไปจนหมด."

ร. แลงกาต์กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "จนกระทั่งรัชชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประชาชนได้รู้จักประมวลกฎหมายของรัชชกาลที่ ๑ นี้ก็แต่โดยอาศัยสำเนาซึ่งเข้าใจว่ามีผู้คัดลอกมาจากฉะบับรองทรง. ในรัชชกาลที่ ๓ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันได้นำเอาเครื่องพิมพ์หนังสือไทยเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์เป็นครั้งแรก. เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ นายโหมด อมาตยกุล (ต่อมาเลื่อนเป็นพระยากระสาปน์) ได้แสวงหาสำเนาของประมวลกฎหมายรัชชกาลที่ ๑ มาได้ครบ ๑ ชุด จึงเริ่มพิมพ์ขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ. ฉะบับพิมพ์นี้จะเป็นหนังสือสองเล่มชุด แต่พอนำเล่มที่ ๑ ออกขายก็มีพระราชโองการให้ริบเสียสิ้นและให้เอาไปเผา. ในทุกวันนี้มีบางฉะบับเหลือ เช่นมีอยู่หนึ่งเล่มที่ได้ตกทอดมาเป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติ. ความพยายามของนายโหมดได้เป็นที่กลับรื้อฟื้นมีขึ้นอีกในรัชชกาลที่ ๔ โดยหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ด.บ. บรัดเลย์ หมอผู้นี้ได้พิมพ์หนังสือเล่มที่ ๑ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ และต่อมาปีหนึ่งก็ได้พิมพ์เล่มที่ ๒ ขึ้น."

ชัย เรืองศิลป์ ก็เขียนไว้ด้วยว่า "หนังสือที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยในรัชกาลที่ ๓ มีแต่เรื่องศาสนาคริสต์ ซึ่งหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันและบาดหลวงนิกายคาทอลิคเป็นผู้พิมพ์แจกประชาชนเป็นพื้น มีเรื่องที่เป็นความรู้อยู่เรื่องเดียวคือกฎหมายไทย ซึ่งนายโหมดส่งต้นฉบับมาให้หมอบรัดเลพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓. หมอบรัด เลแยกพิมพ์เป็นสองเล่ม พอพิมพ์เล่ม ๑ เสร็จและนำออกขาย รัฐบาลก็สั่งริบทั้งเล่ม ๑ ที่พิมพ์เสร็จกับเล่ม ๒ ที่กำลังพิมพ์ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รู้ได้เห็นหนังสือซึ่งประชาชนควรจะต้องรู้เป็นอย่างยิ่ง. ถึงรัชกาลที่ ๔ รัฐบาลจึงคืนหนังสือกฎหมายที่ริบเอาไว้ให้แก่โรงพิมพ์ ทางโรงพิมพ์จึงได้มีโอกาสจำหน่ายหนังสือกฎหมายให้แก่ประชาชนทั้งเล่ม ๑ และเล่ม ๒."

ข้อเขียนเหล่านี้ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นอันเป็นเค้าเงื่อนสำคัญในการค้นหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์เรื่องราวต่อไป เพื่อทำความเข้าใจกรณีริบหนังสือกฎหมายในรัชกาลที่ ๓.


เหตุเกิดเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓

หนังสือกฎหมายที่นายโหมด อมาตยกุล นำไปจ้างหมอบรัดเลพิมพ์นั้นเป็นฉบับเขียนในเล่มสมุดขาว (สมุด ไทยขาว) ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ และทรงสันนิษฐานไว้ด้วยว่าเดิมเป็นของพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) บิดานายโหมด แต่นายโหมดเองระบุว่าจ้างพวกโรงอาลักษณ์เขียนขึ้นใหม่ทั้งฉบับเป็นเงิน ๑๐๐ บาท หาใช่ฉบับเดิมของพระยามหาอำมาตย์ผู้เป็นบิดาไม่.

ร. แลงกาต์สันนิษฐานว่ากฎหมายฉบับเขียนที่นายโหมดนำไปพิมพ์นั้นคัดลอกมาจากฉบับรองทรง มิใช่ฉบับหลวงตราสามดวง ซึ่งคงจะเป็นเช่นนั้น เพราะ ร. แลงกาต์ได้ใช้ฉบับพิมพ์ของนายโหมดสอบทานกับฉบับอื่นๆ ในการตรวจชำระเพื่อจัดพิมพ์ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ (กฎหมายตราสามดวง) ฉบับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๒ จึงย่อมรู้ดีว่าฉบับเขียนของนายโหมดคัดลอกมาจากฉบับใด.

นายโหมดเล่าว่าได้จ้างหมอบรัดเลพิมพ์หนังสือกฎหมายจำนวน ๒๐๐ ฉบับ (น่าจะหมายถึง ๒๐๐ ชุด ชุดหนึ่งมี ๒ เล่ม เป็นจำนวน ๔๐๐ เล่ม) เป็นเงิน ๕๐๐ บาท เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๙๐ ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ จึงพิมพ์เสร็จเพียงเล่ม ๑ ส่วนเล่ม ๒ ยังพิมพ์ไม่เสร็จ และขายเล่ม ๑ ไปได้บ้างยังมีเหลืออยู่ก็เกิดเหตุการณ์ริบหนังสือกฎหมายเสียก่อน. แต่ ร. แลงกาต์อ้างว่านายโหมดเอาหนังสือกฎหมายไปให้หมอบรัดเลพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ ซึ่งคงจะดูจากฉบับพิมพ์ของนายโหมดเล่ม ๑ ที่ระบุว่าพิมพ์เมื่อปีระกา จ.ศ. ๑๒๑๑ หรือ พ.ศ. ๒๓๙๒ แต่พิมพ์เสร็จจริงเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ อย่างที่นายโหมดเล่าไว้. ฉะนั้นปีที่เกิดกรณีริบหนังสือกฎหมายจึงเป็นปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ ตามบันทึกของนายโหมด.

ปี พ.ศ. ๒๓๙๓ เป็นปีปลายรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในปีถัดมา. ในรัชกาลนี้คนไทยเริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกที่แผ่เข้ามาในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะการที่อังกฤษรบชนะพม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ และรบชนะจีนเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ แต่ผู้ปกครองของไทยยังอิดเอื้อนที่จะเป็นไมตรีกับชาติตะวันตกอยู่ บางครั้งแม้จะยอมเป็นไมตรีก็ทำอย่างเสียไม่ได้. อย่างไรก็ตาม การที่มิชชันนารีนิกายโปรเตสแตนต์ได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์และวิชาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตกในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในรัชกาลนี้ ได้ปลุกคนไทยส่วนหนึ่งให้ตื่นตัวรู้สึกถึงความล้าหลังของเมืองไทยและต้องการจะเปลี่ยนแปลงเมืองไทยให้ทันสมัยขึ้น คนไทยส่วนนี้มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัวเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎฯ และนายโหมด อมาตยกุลรวมอยู่ด้วย. ดังที่ชัย เรืองศิลป์ กล่าวไว้ว่า "การ ดำเนินงานของมิชชันนารีอเมริกันปลุกชนชั้นสูงและชนชั้นกลางรุ่นหนุ่มหลายคนให้ตื่นตัวรับรู้ความจริงว่า ประเทศไทยยังด้อยความเจริญกว่าประเทศฝรั่งมาก และวิทยาการสมัยใหม่ของพวกฝรั่งประเสริฐเลิศล้ำกว่าวิทยา การที่คนไทยได้รับจากอินเดียและลังกามากนัก. พวกรุ่นหนุ่มที่กล่าวนี้จึงตั้งหน้าตั้งตาศึกษาภาษาอังกฤษ ซึ่งถือกันว่าเป็นลูกกุญแจที่จะนำไปไขตู้สรรพวิทยาสมัยใหม่ บางคนศึกษาวิชาที่ตนสนใจจากพวกมิชชันนารีบ้างและจากตำราภาษาอังกฤษบ้าง ข้าพเจ้าขอเรียกพวกรุ่นหนุ่มที่คิดจะฟื้นฟูเมืองไทยให้เจริญอย่างฝรั่งว่า "พวกหัวใหม่" . พวกหัวใหม่มีทั้งเจ้านายและข้าราชการ ผู้ที่ดีเด่นสมควรบันทึกชื่อให้ปรากฏในประวัติศาสตร์มี ๙ ท่านคือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์ ซึ่งทรงผนวชเป็นภิกษุตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๖๗ จนตลอดรัชกาลที่ ๓, สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิสเรศรังสรรค์, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวงษาสนิท, เจ้าพระยานคร (น้อย), จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง), จมื่นราชามาตย์ (ขำ), หม่อมราชวงศ์กระต่าย, นายดิศ และนายโหมด. คนเหล่านี้ล้วนตระหนักในความล้าสมัยของเมืองไทย จึงตั้งหน้าศึกษาภาษาอังกฤษและวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อ จะได้มีโอกาสสร้างเมืองไทยให้ทันสมัย."

กรณีริบหนังสือกฎหมายในรัชกาลที่ ๓ อาจจะเป็นเหตุการณ์หนึ่งของการปะทะกันระหว่างพวกหัวใหม่ดัง กล่าวกับพวกหัวเก่าที่ยังยึดมั่นในระบอบเดิมอยู่ ซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวถึงต่อไป.


ทำไมนายโหมดคิดพิมพ์หนังสือกฎหมาย

นายโหมดเล่าไว้ในบันทึกความทรงจำว่า ครั้งที่ท่านถูกฟ้องเรื่องมรดกของคุณน้าพระกลิ่น ท่านได้จ้างเขาคัดลอกกฎหมายที่โรงอาลักษณ์เป็นเงิน ๑๐๐ บาท เมื่อเอากฎหมายที่คัดลอกนั้นมาอ่านดูแล้ว "จึงคิดเห็นว่า คนที่เป็นความไม่รู้กฎหมายแล้วลำบากนัก" อีกประการหนึ่งก็ได้ลงทุนเป็นค่าจ้างคัดลอกกฎหมายนั้นด้วย "ถ้า ตีพิมพ์ขายเห็นจะดี จะได้คืนทุนได้ด้วย". ทำให้สามารถวิเคราะห์ความประสงค์ของนายโหมดได้ไม่ยากนัก.

คนสมัยนั้นที่จะลงทุนเป็นร้อยเป็นชั่งเพื่อเรียนรู้กฎหมายไว้สู้ความอย่างนายโหมดคงจะหาได้ยาก เพราะเงิน ๑๐๐ บาทในสมัยรัชกาลที่ ๓ ไม่ใช่เงินเล็กน้อย ถือได้ว่าเป็นจำนวนที่มากโขอยู่ แต่นายโหมดก็ยินดีลงทุนเพื่อการนี้.

ส่วนเหตุที่นายโหมดคิดพิมพ์หนังสือกฎหมายนั้น ประการหนึ่งคือต้องการให้คนทั่วไปได้รู้กฎหมายด้วย เพราะเมื่อนายโหมดได้อ่านกฎหมายที่คัดลอกแล้วคิดเห็นว่า คนที่เป็นความแต่ไม่รู้กฎหมายได้รับความลำบาก มาก คงมีความหมายกว้างกว่าตัวนายโหมดเองเป็นแน่; อีกประการหนึ่งก็ได้ลงทุนจ้างเขาคัดลอกกฎหมายไว้เป็นเงิน ๑๐๐ บาท ถ้าเอาไปตีพิมพ์ขายคงจะดี จะได้ทุนที่ลงไป ๑๐๐ บาทนั้นคืนด้วย. แต่การที่จะได้ทุนคืนดัง กล่าว นายโหมดต้องลงทุนเพิ่มอีก ๕๐๐ บาทเป็นค่าจ้างหมอบรัดเลพิมพ์หนังสือกฎหมายครั้งนี้ ซึ่งนอกจากแสดงให้เห็นหัวการค้าของนายโหมดแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่านายโหมดมีความนิยมเลื่อมใสการพิมพ์หนังสือที่เพิ่งมี ขึ้นในสมัยนั้นอย่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้.

ความนิยมเลื่อมใสการพิมพ์ในสมัยนั้น นอกจากเป็นการเผยแพร่หนังสือให้แพร่หลายยิ่งกว่าแต่ก่อนหลาย ร้อยเท่าตัวแล้ว (อย่างที่นายโหมดพิมพ์หนังสือกฎหมายครั้งนี้ถึง ๒๐๐ ฉบับ ซึ่งเดิมคัดลอกได้ทีละฉบับเท่านั้น) ยังเป็นการลงทุนเพื่อหากำไรอย่างงามชนิดหนึ่งในสมัยนั้น (เช่น นายโหมดลงทุนพิมพ์หนังสือกฎหมาย ๒๐๐ ชุด ชุดละ ๒ เล่ม รวม ๔๐๐ เล่ม เป็นเงิน ๕๐๐ บาท ขายเล่มละ ๑๐ บาท ถ้าขายหมดจะได้เงิน ๔,๐๐๐ บาท กำไรถึง ๗ เท่าตัวทีเดียว).

การพิมพ์หนังสือกฎหมายครั้งนี้ถือเป็นการพิมพ์กฎหมายสำคัญทั้งฉบับออกเผยแพร่แก่คนทั่วไปครั้งแรกใน เมืองไทย แม้จะพิมพ์เสร็จเพียงเล่ม ๑ ก็ถูกริบเสียก่อนก็ตาม. การกระทำของนายโหมดครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญมาก เพราะเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อกฎหมายว่าด้วยขี้ฉ้อหมอความ, ไม่อาลัยต่อทำเนียมการ ศึกษากฎหมายที่จำกัดอยู่ในหมู่เจ้านายและขุนนางจำนวนน้อยเท่านั้น และขัดต่อพระราชนิยมของพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แม้จะโปรดให้จารึกสรรพวิทยาของไทยไว้ในแผ่นศิลาประดับบริเวณวัดพระเชตุพนเมื่อคราวปฏิสังขรณ์ พ.ศ. ๒๓๗๘-๒๓๙๑ แต่ก็มิได้จารึกกฎหมายไว้ด้วย. ควรจะสรรเสริญ นายโหมดได้ว่า เป็นผู้มีความคิดและการกระทำอันก้าวหน้าล้ำยุคสมัยของตน และเป็นผู้มีคุณูปการต่อการ ศึกษากฎหมายของราษฎรไทยอีกด้วย.

ข้อชวนคิดต่อไปอีกก็คือหมอบรัดเลมีบทบาทอย่างไรในกรณีนี้นอกจากเป็นผู้รับจ้างพิมพ์หนังสือกฎหมายดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว. เป็นไปได้ว่านายโหมดมีความคิดโดยลำพังในการนำเอาหนังสือกฎหมายมาพิมพ์อย่างที่นายโหมดบันทึกไว้ และก็อาจเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่าหมอบรัดเลเป็นผู้แนะนำให้นายโหมดเอาหนังสือกฎหมาย มาพิมพ์ ซึ่งนายโหมดก็เห็นดีด้วย จึงเกิดการพิมพ์หนังสือกฎหมายขึ้น. ความเป็นไปได้อันหลังนี้มีเค้าจากหลักฐาน ๒ ประการ. ประการแรกนายโหมดมีความสนิทสนมกับหมอบรัดเลมาก่อนโดยหมอบรัดเลเป็นผู้สอนวิชาแยก ธาตุแก่นายโหมด. ดังที่กาญจนาคพันธุ์เล่าไว้ว่า "หมอบรัดเลย์เป็นที่รู้จักดีของคนไทยนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวลงมาจนเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหมด และชอบพอสนิทสนมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเจ้าฟ้า ใหญ่ (พระจอมเกล้า), เจ้าฟ้าน้อย (พระปิ่นเกล้า), กรมหมื่นวงษาสนิท (ต้นสกุลสนิทวงศ์), หลวงนายสิทธิ์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์), นายโหมด อมาตยกุล. หมอบรัดเลย์ได้เป็นครูสอนแนะนำวิชา ความรู้ต่างๆ หลายอย่าง เช่น สอนภาษาอังกฤษแก่เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์, สอนวิชาแพทย์แก่กรมหมื่นวงษาฯ ทรงเรียนวิชาแพทย์ฝรั่งจนมีความรู้ได้ประกาศนียบัตรจาก New York Academy of Medicine แห่งอเมริกา, แนะนำการต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่งแก่หลวงนายสิทธิ์, สอนวิชาแยกธาตุแก่นายโหมด อมาตยกุล. นอกจากนี้หมอบรัดเลย์ยังช่วยตรวจแปลหนังสือราชการที่สำคัญหลายครั้ง."๑๐ เป็นโอกาสที่หมอบรัดเลจะแนะนำความคิดใหม่ๆ รวมทั้งความคิดที่จะพิมพ์หนังสือกฎหมายแก่นายโหมดด้วย. ประการที่สองเมื่อเกิดกรณีริบหนังสือกฎหมายในรัชกาลที่ ๓ แล้ว ไม่ปรากฏว่านายโหมดคิดจะพิมพ์หนังสือกฎหมายขึ้นอีก แต่หมอบรัดเลได้เอาใจใส่พิมพ์หนังสือกฎหมายขึ้นใหม่ด้วยทุนของตนเองในรัชกาลที่ ๔ และได้พิมพ์ซ้ำอีกราว ๑๐ ครั้งในเวลาต่อมา. หลักฐาน ๒ ประการนี้แสดงให้เห็นรางๆ ว่า หมอบรัดเลคงจะเป็นต้นคิดและนายโหมดก็ลงเนื้อเห็นด้วยในการพิมพ์หนังสือกฎหมายคราวที่ถูกริบ. ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง หมอบรัดเลก็ควรจะได้รับเกียรติเช่นเดียวกับนายโหมดด้วย นอก จากที่ได้รับอยู่แล้วในฐานะผู้พิมพ์หนังสือเรื่องกฎหมายเมืองไทย ๒ เล่มที่เรียกกันติดปากว่า "กฎหมายหมอบรัดเล".


ข้ออ้างในการริบ

นายโหมดเล่าไว้ว่า กรณีริบหนังสือกฎหมายมีสาเหตุมาจากการที่เซอร์เยมส์ บรุก ทูตอังกฤษเข้ามาเจรจาความเมืองกับไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓ แล้วแสดงตนว่ามีความรู้เรื่องเมืองไทยมาก ฝ่ายไทย "จะพูดจาสิ่งไร เซอร์เยมส์ บรุกก็รู้เรื่องราวหมด" จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระแวงว่าจะมีคนไทยนำ เรื่องราวต่างๆ ของทางราชการไปบอกแก่เซอร์เยมส์ บรุก. เมื่อเซอร์เยมส์ บรุกกลับออกไปแล้ว มีรับสั่ง ให้สืบถามพวกลูกจ้างของหมอบรัดเลและคนอื่นๆ ว่าใครเป็นผู้นำเอาเรื่องราวไปบอกเล่าแก่เซอร์เยมส์ บรุก และทรงสงสัยว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระยศในขณะนั้น ต่อมาเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) จะมีส่วน เกี่ยวข้องอยู่ด้วย. จมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี เสนาบดีกรมท่าในรัชกาลที่ ๔) ปลัดกรมพระตำรวจในซ้ายกลัวว่าเรื่องนี้จะกระทบถึงเจ้าฟ้ามงกุฎ จึงนำเอาหนังสือกฎหมายฉบับพิมพ์ที่ซื้อเชื่อไปจากนายโหมดเล่มหนึ่งกับหนังสือว่าด้วยราชการต่างๆ ของสังฆราชยอง (บาทหลวงฌัง บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์) อีกเล่มหนึ่งเข้าไปถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว. มีรับสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวงศาสนิท (ต่อมาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทในรัชกาลที่ ๔) กับพระอินทรเทพ (ขุนทอง ซึ่งต่อมาเป็นพระเพชรพิไชยในรัชกาลที่ ๔) เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้ายเอานายโหมดและพวกลูกจ้างของหมอบรัดเลไปซักถาม "พอเป็นเหตุ" แล้ว โปรดให้ริบหนังสือกฎหมายที่นายโหมดจ้างหมอบรัดเลพิมพ์ทั้งหมด และมีรับสั่งว่าเมื่อพระเจดีย์ที่วัดสระเกศสร้างแล้วเสร็จให้นำเอาหนังสือกฎหมายที่ริบนั้นบรรจุไว้ในพระเจดีย์ทั้งหมด.

นายโหมดมิได้ระบุว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ริบหนังสือกฎหมายครั้งนี้ด้วยข้ออ้างอะไร แต่น่าสังเกตว่าโปรดให้ริบเฉพาะหนังสือกฎหมายของนายโหมดเท่านั้น หาได้ริบหนังสือพิมพ์ว่าด้วยราชการ ต่างๆ ของสังฆราชยองด้วยไม่. เรื่องจึงน่าจะเป็นอย่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ว่า เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กริ้วว่าการนำเอากฎหมายบ้านเมืองไปพิมพ์จำหน่าย ทำให้หนังสือกฎหมายตกอยู่ในมือของคนทั่วไปไม่เลือกหน้า เปิดโอกาสให้ "พวกเจ้าถ้อยหมอความ" หรือ "พวกมดต่อหมอความ" นำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคดโกงทำให้เกิดความยุ่งยากต่อบ้านเมือง จึงทรงสั่งให้ริบหนังสือกฎหมายของนายโหมดทั้งหมด คือทั้งฉบับเขียนที่เป็นต้นฉบับและฉบับพิมพ์ด้วย.

การเอาหนังสือกฎหมายไปพิมพ์จำหน่ายนั้น ไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายตราสามดวงบัญญัติว่าเป็นความ ผิด แต่มีบทบัญญัติว่าการกระทำเป็นคนขี้ฉ้อหมอความ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มิได้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เข้าว่าต่าง (ฟ้องคดีแทน) หรือแก้ต่าง (สู้คดีแทน) แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือช่วยแนะนำการเขียนคำฟ้องหรือคำให้การให้แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นความผิด (ตามพระไอยการลักษณรับฟ้อง มาตรา ๒, ๕๔, ๕๕; พระไอยการลักษณตระลาการ มาตรา ๔๔; พระไอยการอาชาหลวง มาตรา ๑๑; กฎ ๓๖ ข้อ ข้อ ๑๒; พระราชกำหนดเก่า ฉบับ ๖๒; พระราชกำหนดใหม่ ฉบับ ๖)๑๑ และคู่ความที่เป็นความแต่ไม่ฟ้องคดีเองกลับให้ผู้อื่นฟ้องคดีแทน การกระทำของคู่ความนั้นก็เป็นความผิด (พระไอยการลักษณตระลาการ มาตรา ๔๓ วรรค ๒)๑๒ เช่นนี้นับเป็นช่องว่างของกฎหมายประการหนึ่ง. การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยว่าการพิมพ์หนังสือกฎหมายออกจำหน่าย จะทำให้พวกเจ้าถ้อยหมอความเอาไปใช้เป็นเครื่องมือในการคดโกง ซึ่งจะทำให้ยากแก่กระบิลเมืองตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพทรงกล่าวไว้นั้น เท่ากับพระองค์ทรงอุดช่องว่างของกฎหมายนี้ โดยถือว่าการพิมพ์หนังสือกฎหมายออกจำหน่ายเป็นการสนับสนุนการกระทำเป็นคนขี้ฉ้อหมอความจึงเป็นความผิดไปด้วย.

ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าพระองค์ทรงวินิจฉัยเช่นนี้ เป็นการวินิจฉัยโดยเทียบเคียงกับพระไอยการลักษณตระลาการ มาตรา ๔๓ วรรค ๒ ที่ว่าคู่ความไม่ฟ้องความเองให้ผู้อื่นฟ้องแทนก็มีความผิด ซึ่งมีลักษณะเป็นการสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำตนเป็นคนขี้ฉ้อหมอความเช่นเดียวกัน.

การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยกรณีนี้ไปตามครรลองของกฎหมายเช่นนี้ ในทาง นิติศาสตร์ถือว่าการวินิจฉัยโดยการเทียบเคียงบทกฎหมายเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ และกระทำกันมากในอดีต ด้วย. ดังที่ลาลูแบร์กล่าวไว้ว่า "แต่ในประเทศนั้น (สยาม) ก็มีการถกเถียงกันด้วยเรื่องการตีความบท กฎหมายเช่นประเทศนี้ (ฝรั่งเศส) เหมือนกัน พยายามใช้การเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นแก่คู่ความ และโดยที่เรื่องราวที่เกิดเป็นถ้อยร้อยความกันขึ้นนั้น มักจะไม่ค่อยมีระบุไว้ในกฎหมาย และหาที่ตรงกับตัวบท กฎหมายที่มีอยู่โดยยาก เจ้าเมืองแต่ผู้เดียวจึงเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดและประกาศคำพิพากษานั้นแก่คู่ความ แล้ว ให้บันทึกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร."๑๓ แต่ก็เป็นการวินิจฉัยไปตามกฎหมายเก่าที่ใช้กันมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมุ่งจะป้องกันและปราบปรามการกระทำเป็นคนขี้ฉ้อหมอความ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เป็นการจำกัดความรับรู้กฎหมายของราษฎรเป็นอย่างมาก กล่าวคือราษฎรได้รับรู้กฎหมายลายลักษณ์อักษรแต่เฉพาะเรื่องเฉพาะราวที่เกี่ยวข้องกับตน โดยการประกาศกฎหมายแบบ "ตีฆ้องร้องป่าว" ของทางราชการเท่านั้น๑๔ ไม่มีโอกาสได้รับรู้กฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งระบบ เพราะระแวงว่าจะกระทำตนเป็นคนขี้ฉ้อหมอ ความให้ยากแก่กระบิลเมืองท่าน.

เป็นความจริงที่ว่า กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในขณะนั้นมิได้มีแต่เพียงเท่าที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎ หมายตราสามดวงเท่านั้น หากยังมีกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร อันได้แก่จารีตประเพณีของชุมชนอีกด้วย ซึ่งราษฎรทุกคนย่อมจะได้รับรู้กฎหมายชนิดนี้อยู่แล้วโดยการถ่ายทอดสืบต่อกันมาในชุมชนของตน. จารีตประเพณีเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้รับการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเท่ากับว่าราษฎรย่อมจะรู้ถึงกฎหมายส่วนนี้ในกฎหมายตราสามดวงด้วย แม้ว่าจะไม่มีโอกาสได้อ่านกฎหมายตราสามดวงก็ตาม. แต่มีข้อ เท็จจริงอีกประการหนึ่งที่เราควรจะตระหนักว่า กฎหมายตราสามดวงนั้นได้พัฒนาจากสภาพที่เป็นกฎหมาย ของชาวบ้าน (Volksrecht) ซึ่งอยู่ในรูปของจารีตประเพณี มาเป็นกฎหมายของนักกฎหมาย (Juristenrecht) ซึ่งอยู่ในรูปของหลักกฎหมายที่นักกฎหมายได้สกัดมาจากจารีตประเพณีหรือคิดคืบไปจากจารีตประเพณี โดยอาศัยเหตุผลทางกฎหมายเป็นเครื่องปรุงแต่ง. กฎหมายตราสามดวงจึงมิใช่แต่เป็นเพียงการบันทึกจารีตประเพณีเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่กอปรด้วยหลักกฎหมายจำนวนมากหรือเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ ราษฎรทุกคนจะเรียนรู้ได้เองทั้งหมดอย่างจารีตประเพณี เฉพาะนักกฎหมายที่ได้ร่ำเรียนมาเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น จึงจะรู้และสามารถใช้กฎหมายตราสามดวงทั้งหมดอย่างเป็นระบบได้. ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้อาจหาหลักฐานมา ยืนยันได้เป็นจำนวนมากจากบทบัญญัติต่างๆ ในกฎหมายตราสามดวงนั้นเอง.

ความเป็นกฎหมายของนักกฎหมายของกฎหมายตราสามดวงนั้น บ่อยครั้งแม้แต่นักกฎหมายใหญ่ๆ ก็ยังไม่ สามารถทำความเข้าใจและใช้กฎหมายบางบทแก่คดีได้ เป็นปัญหาที่จะต้องกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยสำหรับบทกฎหมายที่เป็นปัญหานั้น. ดังมีตัวอย่างปรากฏในพระราชบัญญัติ ฉบับที่ ๒ ของกฎหมายตราสามดวงว่า นักกฎหมายใหญ่อย่างพระเกษมราชสุภาวดี เจ้ากรมศาลแพ่งเกษม และเป็นผู้ปรับบทกฎหมายแก่คดีต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดคู่กับขุนหลวงพระไกรศรีราชสุภาวดี เจ้ากรมศาลแพ่งกลาง ยังเกิดปัญ หาในการปรับใช้บทกฎหมาย คือไม่เข้าใจกฎหมายบางบทจนไม่รู้ว่าจะปรับใช้แก่คดีอย่างไร ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยบทกฎหมายนั้น ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงวินิจฉัย โดยมีพระราชปรารภถึงความสลับซับซ้อนของกฎหมายตอนหนึ่งว่า "บทพระไอยะการคำบุราณท่านว่าไว้ศุกขุมคำภีรภาพ ยากที่บุกคนจะรู้..."๑๕

เมื่อกฎหมายตราสามดวงอยู่ในสถานะที่ราษฎรไม่อาจรู้ได้เองเช่นนี้แล้ว ก็ควรที่จะให้ราษฎรได้มีโอกาสได้อ่านกฎหมายตราสามดวงเพื่อจะได้ปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับบทกฎหมาย แต่ราษฎรหามีโอกาสเช่นนั้นไม่ เพราะผลจากกฎหมายว่าด้วยขี้ฉ้อหมอความนั่นเอง.

การพิมพ์หนังสือกฎหมายออกเผยแพร่แก่ราษฎรนั้น กล่าวได้ว่าเป็นการกระทำที่มุ่งโจมตีจุดอ่อนของกฎ หมายว่าด้วยขี้ฉ้อหมอความที่เป็นการจำกัดความรับรู้กฎหมายของราษฎร ซึ่งเป็นการเผชิญหน้าระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ประการหนึ่งในสมัยนั้น.

กฎแห่งความเป็นจริงของสังคมมนุษย์ประการหนึ่งก็คือ สังคมย่อมตกอยู่ในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงชั่ว นิรันดร์ จากสิ่งเก่าสู่สิ่งใหม่ และสิ่งเก่านั้นย่อมถูกต้องใช้ได้เสมอตราบเท่าที่ยังไม่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมาเปรียบเทียบ. สังคมไทยก็เช่นกัน ไม่อาจธำรงรักษาระบอบสมัยกรุงศรีอยุธยาที่พยายามสืบทอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นไว้ได้ตลอดไป จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไม่ช้าก็เร็ว และการเปลี่ยนแปลงถูกเร่งให้มาถึงเร็วขึ้น เมื่อต้อง เผชิญหน้ากับการขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกในอาณาบริเวณนี้นับแต่รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา. บทนำของ การเปลี่ยนแปลงคือการเผชิญหน้าระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ ซึ่งก็คือกฎหมายว่าด้วยขี้ฉ้อหมอความที่เป็นการจำกัดความรับรู้กฎหมายของราษฎรซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาย่อมเป็นสิ่งถูกต้องใช้ได้ตราบเท่าที่ยังไม่มีความคิดเรื่องความชอบธรรมของราษฎรที่จะได้รับรู้กฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งระบบเกิดขึ้นมาท้าทาย. และแม้หนังสือกฎหมายที่พิมพ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้กฎหมายแก่ราษฎรเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ จะถูกริบด้วยข้อ อ้างตามกฎหมายว่าด้วยขี้ฉ้อหมอความ แต่การยอมรับกันในเวลาต่อมาว่าจะต้องให้ราษฎรรู้กฎหมายลายลักษณ์ อักษรทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศกฎหมายหรือการพิมพ์หนังสือกฎหมายออกเผยแพร่แก่ราษฎร ย่อม เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความคิดเรื่องความชอบธรรมของราษฎรที่จะได้รับรู้กฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งระบบโดยการพิมพ์หนังสือกฎหมายในรัชกาลที่ ๓ เป็นสิ่งใหม่ที่ก้าวหน้าและถูกต้องยิ่งกว่ากฎหมายว่าด้วยขี้ฉ้อหมอความที่เป็นการจำกัดความรับรู้กฎหมายของราษฎรซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา.


ผลของการริบ

เมื่อริบหนังสือกฎหมายแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่าฉบับเขียนได้ส่งไปเก็บไว้ในกรมอาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๓ และต่อมาตกทอดอยู่ในหอพระสมุดฯ แต่ไม่ได้ทรงกล่าวถึงฉบับพิมพ์ว่ามีความเป็นไปอย่างไร เพียงแต่ต่อมาเมื่อทรงเป็นนายกหอพระสมุดฯ ในรัชกาลที่ ๕ นั้น ทรงให้พระยาเพชรพิไชย (เจิม อมาตยกุล) บุตรนายโหมดไปค้นหาว่ายังมีฉบับพิมพ์หลงเหลืออยู่ที่บ้านบ้างหรือไม่ ปรากฏว่าหามาได้ ๑ เล่ม จึงเก็บไว้ในหอพระสมุดฯ ซึ่ง ร. แลงกาต์ระบุว่าได้ตกทอดมาเป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน.

นายโหมดกล่าวถึงฉบับพิมพ์ที่ถูกริบว่าเมื่อริบแล้วมีรับสั่งให้เก็บไว้รอบรรจุในพระเจดีย์ที่วัดสระเกศ ซึ่งยังสร้างไม่เสร็จในขณะนั้น. ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ มีการเปลี่ยนรัชกาลเป็นรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทว่า การที่นายโหมดพิมพ์กฎหมายนั้น "เป็นคุณต่อแผ่นดิน" ไม่ควรจะริบเอามาบรรจุพระเจดีย์ และ "จะต้องให้เอากฎหมายตีพิมพ์ขึ้นไว้อีก จะเป็นคุณกับบ้านเมือง". พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทกราบทูลว่า กฎหมายที่ริบมานั้นยังเก็บไว้มิได้เอาไปบรรจุพระเจดีย์. จึงมีรับสั่งให้เอากฎหมายที่ริบไว้คืนแก่นายโหมด เพื่อนำไปขายมิให้ขาดทุน และพระองค์จะทรงซื้อไว้บ้างเพื่อแจกแก่โรงศาลทุกแห่ง. เมื่อนายโหมดไปรับหนังสือกฎหมายที่ริบมาแล้ว ก็นำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้าง ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้าง ส่วนที่เหลือก็ขายแก่คนทั่วไปเล่มละ ๑๐ บาทจนหมด.

ที่ ร. แลงกาต์กล่าวว่ากฎหมายฉบับพิมพ์ที่ริบมีพระราชโองการ "ให้เอาไปเผา" นั้นไม่ทราบว่าท่านได้หลักฐานจากไหน ซึ่งขัดแย้งกับที่นายโหมดเล่าไว้ข้างต้น.

ส่วนชัย เรืองศิลป์ เขียนไว้ว่าหนังสือกฎหมายที่ริบนั้นรัฐบาลเก็บไว้จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงคืนให้แก่โรงพิมพ์ ทางโรงพิมพ์จึงมีโอกาสจำหน่ายแก่ประชาชนทั้งเล่ม ๑ และเล่ม ๒ ด้วย. ความดูคล้ายกับที่นายโหมดกล่าวไว้ แต่ต่างกันที่นายโหมดระบุว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้คืนหนังสือกฎหมายที่ริบแก่นายโหมด มิใช่โรงพิมพ์ของหมอบรัดเล และนายโหมดได้จำหน่ายแก่ประชาชนเพียงเล่ม ๑ จำนวนที่เหลืออยู่เท่านั้น มิใช่โรงพิมพ์เป็นผู้จำหน่ายแก่ประชาชนทั้งเล่ม ๑ และเล่ม ๒. ฉบับที่หมอบรัดเลพิมพ์ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกนั้นเล่ม ๑ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ และเล่ม ๒ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ตามที่ ร. แลงกาต์กล่าวไว้ ซึ่งเป็นการพิมพ์คนละคราวห่างกันถึง ๑๓-๑๔ ปี.

ผลของการพิมพ์หนังสือกฎหมายของนายโหมดไม่เพียงแต่มีการริบหนังสือเท่านั้น บุคคลที่เกี่ยวข้องถูกจับกุมคุมขังหลายคน. ดังที่หมอบรัดเลเขียนจดหมายเหตุไว้ว่า "ปีจอ จ.ศ. ๑๒๑๒ พ.ศ. ๒๓๙๓...ตุลาคม พวกเสมียนและครูไทยที่ไปทำการกับมิชชันนารีถูกจับขังหลายคน (เข้าใจว่าจะเป็นคราวที่เกิดความเรื่องนาย โหมด อมาตยกุล พิมพ์กฎหมาย---ข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)."๑๖ และยอร์จ ฮอส์ เฟลตัส เขียนไว้ว่า "พอกองเรือรบอังกฤษแล่นจากไป ได้มีการจับกุมพวกที่เป็นครูของมิชชั่นทันที. แต่เมื่อพวก ศาสนฑูตถามถึงเหตุผลก็ได้รับคำตอบว่า เป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นละเมิดกฎหมายที่ไปสอนภาษาบาลีอันศักดิ์ สิทธิ์ให้แก่คนต่างด้าว. ส่วนเหตุผลที่แท้จริงก็คือมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทยคนหนึ่งได้ขอร้องให้โรงพิมพ์ ของคณะแบพติสพิมพ์กฎหมายของประเทศไทยเป็นภาษาบาลี ทางโรงพิมพ์ก็รีบพิมพ์ให้. ต่อมาพวกคน ใช้ได้ถอนตัวออกจากบ้านของพวกมิชชันนารี."๑๗ นอกจากนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คณะมิชชันนารีอเมริกันต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากการเพ่งเล็งของทางราชการ จนกระทั่งคิดจะยุติการดำเนินงานในเมืองไทยโดยย้ายไปอยู่ที่อื่น. ดังที่ยอร์จ ฮอส์ เฟลตัส เขียนว่า "สถานการณ์ของคณะมิชชั่นอยู่ในภาวะเลวร้าย จนต้องมอบอำนาจให้หมอเฮาส์รายงานเหตุการณ์ไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงนิวยอร์ค และขออนุมัติให้พวกศาสนฑูตเดินทางออกจากประเทศไทยไปเป็นศาสนฑูตในประเทศอื่นๆ. อีก ๙ เดือนต่อมาจึงได้รับอนุมัติตามที่ได้ขอไป โดยกำหนดให้หมอเฮาส์ไปช่วย ด.ร.แฮปเปอร์ในประเทศจีนเป็นการชั่วคราว. พวกศาสนฑูตต้องหาโอกาส หนีโดยทางเรือ นับว่างานของมิชชั่นเกือบจะต้องล้มเหลวหมด."๑๘ แต่เคราะห์ดีที่มีการเปลี่ยนรัชกาลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นมิตรกับคณะมิชชันนารีอเมริกันมาแต่ก่อน ความคิดของ คณะมิชชันนารีอเมริกันที่จะยุติการดำเนินงานในเมืองไทยจึงยกเลิกไป.

ส่วนนายโหมดกับหมอบรัดเลไม่ปรากฏว่าถูกลงโทษแต่ประการใด. เพียงแต่นายโหมดซึ่งได้ถวายตัวเป็น มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็นมหาดเล็กรายงานกำกับ ราชการกรมช่างสิบหมู่, ช่างทำเรือพระที่นั่งและเรือกระบวนต่างๆ แล้วให้ไปกำกับช่างสานเสื่อเงินสำหรับปูลาดในมณฑปพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี มิได้มีตำแหน่งหน้าที่ราชการในรัชกาลที่ ๓ สูงกว่าตำแหน่งมหาดเล็กรายงานนั้นเลย.๑๙ นายโหมดมามีตำแหน่งราชการสูงขึ้นจนเป็นพระยากสาปนกิจโกศลในรัช กาลที่ ๔. ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า "ส่วนนายโหมด อมาตยกุล นั้นเอาใจใส่กระบวนเครื่องจักรกลแลวิธีประสมธาตุ กำลังพาหนะน้อยกว่าท่านทั้ง ๒ ที่กล่าวมาแล้ว พยายามโดยลำพังตนเองจนทำเครื่องมือกลึงเกลียวแลเครื่องแช่ทองอย่างฝรั่งได้, แต่นายโหมดไม่ได้มีตำแหน่งราชการเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ด้วยเกิดระแวงผิดเพราะเหตุอย่าง ๑ ซึ่งอาจจะเห็นกันว่าน่าหัวเราะในเวลานี้ คือเอาหนังสือพระราชกำหนดกฎหมายส่งให้หมอบรัดเลพิมพ์ เกิดความต้องเก็บหนังสือนั้นหมด ด้วยถือกันในเวลานั้นว่าทำโดยไม่ได้รับอนุญาตรัฐบาลก่อน เปนการล่วงละเมิด. จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงตั้งนายโหมดเปนนายพิจิตรสรรพการหุ้มแพร แล้วต่อมาเปนที่พระวิสูตรโยธามาตย์, ครั้นเมื่อตั้งโรงกระสาปน์สิทธิการขึ้นเปนครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้เปนที่พระยากระสาปนกิจโกศล เจ้ากรมโรงกระสาปน์ ด้วยเปนผู้มีชื่อเสียงว่าชำนาญกระบวนช่างกลแลกระบวนธาตุมาแต่ในรัชกาลที่ ๓."๒๐


การพิมพ์กฎหมายขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔

กฎหมาย ๒ เล่มของหมอบรัดเลที่พิมพ์จำหน่ายในรัชกาลที่ ๔ นั้น ร. แลงกาต์มิได้กล่าว ไว้ว่าพิมพ์ขึ้นโดยได้รับอนุญาตจากใคร. นายโหมดบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่า "จะต้องให้เอากฎหมายตีพิมพ์ขึ้นไว้อีก จะเป็นคุณกับบ้านเมือง" และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ว่า "ถึงรัชชกาลที่ ๔ จึงพระราชทานอนุญาตให้พิมพ์กฎหมาย" แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้พิมพ์หนังสือกฎหมายขึ้นอีก จึงพระราชทานอนุญาตเป็น การทั่วไปให้พิมพ์หนังสือกฎหมายได้ ดังนั้นหมอบรัดเลจึงพิมพ์หนังสือกฎหมายออกจำหน่ายโดยมิต้องขอ อนุญาตเป็นการเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด.

แต่เดือน บุนนาค สันนิษฐานไว้แปลกออกไปว่า "ถัดมาก็มีหมอบรัดเลย์นำกฎหมายตรา ๓ ดวง นี้มาพิมพ์ขึ้นเป็นกฎหมาย ๒ เล่ม หมอบรัดเลย์ได้ใช้หนังสือของนายโหมดเป็นต้นฉะบับเรียกว่า "กฎหมาย ๒ เล่ม". การพิมพ์คราวหลังนี้ไม่ได้ห้าม เห็นจะเป็นเพราะฝรั่งเป็นผู้พิมพ์กระมัง."๒๑ ส่วนชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับวิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ ไปไกลถึงกับสรุปว่า "เพราะผู้พิมพ์เป็นชาวต่างประเทศ ดังนั้นราชสำนักจึงมิได้ยึดไปเผา ในขณะเดียวกันความคิดแบบโบราณก็เริ่มเปลี่ยนไปบ้างแล้วในสมัยนั้น."๒๒

เรื่องนี้ความน่าจะอยู่ข้างนายโหมดกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้พระราชทานอนุญาตแล้วหมอบรัดเลก็คงไม่กล้าพิมพ์หนังสือกฎหมายอีก ด้วยเคยประสบ กับกรณีริบหนังสือกฎหมายในรัชกาลที่ ๓ มาแล้ว และกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ยังมิได้ยกเลิก. ขอแย้งเดือน บุนนาค และชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับวิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ ที่กล่าวในทำนองว่า เพราะผู้พิมพ์จำหน่ายครั้งหลัง นี้คือหมอบรัดเลเป็นฝรั่งหรือชาวต่างประเทศ ทางการหรือราชสำนักจึงมิได้ห้ามหรือยึดเอาไปเผานั้น อันที่จริงเมื่อเกิดกรณีริบหนังสือกฎหมายในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบดีว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของหมอบรัดเล เพราะมีรับสั่งให้เอาพวกลูกจ้างของหมอบรัดเลหลายคนไปคุมขังและซักถาม แล้วจึงมีรับสั่งให้ริบหนังสือกฎหมาย มิได้ทรงเกรงกลัวว่าหมอบรัดเลเป็นฝรั่งหรือชาวต่างประเทศแต่อย่างใด. ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงกลัวหมอบรัดเลจนไม่กล้าห้ามหรือริบหนังสือ กฎหมายที่หมอบรัดเลพิมพ์ขึ้นอีกนั้น คงเป็นไปไม่ได้.

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิเพียงแต่พระราชทานอนุญาตให้พิมพ์หนังสือกฎหมายได้เท่านั้น ยังโปรดให้ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ เพื่อประกาศข่าวราชการและกฎหมายต่างๆ แก่ข้าราชการและราษฎรเป็นตัวอย่างอีกด้วย.๒๓ เมื่อหมอบรัดเลพิมพ์หนังสือกฎหมายขึ้นอีกในเวลาต่อมาคือ พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๔๐๖ ด้วยทุนของตนเอง จึงต้องด้วยพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และน่าจะทรงยินดีเป็นพิเศษที่หมอบรัดเลเป็นผู้พิมพ์ เพราะเป็นผู้ที่ทรงสนิทสนมมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ จนตลอดรัชกาล ของพระองค์๒๔ ซึ่งหมอบรัดเลได้พิมพ์หนังสือกฎหมายทั้งฉบับออกจำหน่ายรวม ๑๐ ครั้ง นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่การศึกษากฎหมายและราษฎรไทยเป็นล้นพ้น.

ข้อที่ชวนคิดก็คือ ในเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยว่าการพิมพ์หนังสือกฎหมายออกจำหน่ายเป็นความผิด แล้วเหตุไฉนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับทรงอนุญาตให้หมอบรัดเลพิมพ์หนังสือกฎหมายออกจำหน่ายได้ ทั้งๆ ที่พระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและกฎหมาย ว่าด้วยขี้ฉ้อหมอความยังมิได้ยกเลิก.

เรื่องนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ใช่เพราะเป็นพระมหากษัตริย์จึงมีอำนาจกระทำได้ตามพระราชหฤทัย แต่มีกฎ เกณฑ์บางประการในทางกฎหมายเอื้ออำนวยให้กระทำได้โดยชอบ. กล่าวคือเนื่องจากกฎหมายตราสามดวง อัน ประกอบด้วยธรรมศาสตร์และราชศาสตร์ มิได้มีบทบัญญัติว่าการพิมพ์หนังสือกฎหมายออกเผยแพร่นั้นเป็นความ ผิด นับเป็นช่องว่างของกฎหมายอยู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชวินิจฉัยว่าเป็นความผิด เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำเป็นคนขี้ฉ้อหมอความ โดยอาจจะทรงเทียบเคียงกับพระไอยการลักษณตระลาการ มาตรา ๔๓ วรรค ๒ ดังกล่าวข้างต้น. แม้ว่าพระราชวินิจฉัยของพระองค์เช่นนี้จะมีผลใช้บังคับได้เช่นเดียวกับกฎหมาย แต่ตามทำเนียมกฎหมายไทย เมื่อมิได้มีการจัดให้เป็นราชศาสตร์ อันเป็นพระราชวินิจฉัยหรือพระราชโองการที่สอดคล้องกับธรรมศาสตร์ สมทบเข้าอยู่ในกฎหมายตราสามดวงแล้ว พระราชวินิจฉัยนั้นก็ย่อมสิ้นผลไปเมื่อเปลี่ยนรัชกาล เว้นแต่รัชกาลต่อมาจะคงไว้หรือจัดเป็นราชศาสตร์สมทบเข้าอยู่ในกฎหมายตราสามดวงเท่านั้น จึงจะยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป.๒๕ เมื่อพระราชวินิจฉัยเรื่องนี้ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นผลไปเมื่อเปลี่ยนรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมจะมีพระราชวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ คือทรงเห็นว่าการพิมพ์หนังสือกฎหมายออกเผยแพร่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำ เป็นคนขี้ฉ้อหมอความ ไม่ใช่เป็นการสนับสนุนการกระทำเป็นคนขี้ฉ้อหมอความ จึงทรงอนุญาตให้หมอบรัดเล พิมพ์หนังสือกฎหมายออกจำหน่ายได้ โดยไม่ต้องยกเลิกกฎหมายว่าด้วยขี้ฉ้อหมอความแต่อย่างใด.

แม้กฎหมายว่าด้วยขี้ฉ้อหมอความจะยังมิได้ยกเลิกไปในรัชกาลที่ ๔ นี้ เนื่องจากยังมีความจำเป็นในการป้องกันและปราบปรามการกระทำเป็นคนขี้ฉ้อหมอความอยู่ เพราะแนวคิดและกฎหมายว่าด้วยทนายความ แบบปัจจุบันยังมิได้เกิดขึ้น แต่ในส่วนผลที่เป็นการจำกัดความรู้กฎหมายของราษฎรได้ถูกทำลายไป โดยการพิมพ์ หนังสือกฎหมายออกเผยแพร่ของหมอบรัดเล และพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงแยกการพิมพ์หนังสือกฎหมายออกเผยแพร่กับการสนับสนุนการกระทำเป็นคนขี้ฉ้อหมอความออกจากกันดัง กล่าว.

การขยายความรับรู้กฎหมายของราษฎรในรัชกาลที่ ๔ เช่นนี้เป็นการวางรากฐานอันทรงคุณประโยชน์ และจำเป็นแก่การปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในรัชกาลต่อมา.

ประวัติศาสตร์ของสังคมใดก็คือเรื่องราวที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้น. การเปลี่ยนแปลงของสัง คมมักจะเริ่มต้นด้วยความขัดแย้งระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ การปะทะกันระหว่างสองสิ่งนี้ และลงเอยด้วยการ ที่สิ่งใหม่เอาชนะสิ่งเก่าได้ในที่สุด หากว่าสิ่งใหม่นั้นเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าและถูกต้องกว่าสิ่งเก่า. ผู้ที่กระทำการในฐานะตัวแทนของสิ่งเก่าที่ถูกพิชิตนั้น ควรจะได้รับความเข้าใจโดยอุเบกขาธรรมว่า เป็นธรรมดาที่เขาจะต้องกระทำ ไปตามกฎเกณฑ์เดิมของสังคม ด้วยความเคยชิน และมักจะหลงติดยึดเอาสิ่งเก่านั้นเป็นสรณะ ไม่ว่าจะเห็นว่าสิ่งเก่านั้นดีอยู่แล้วหรือไม่แน่ใจว่าสิ่งใหม่จะดีกว่าสิ่งเก่าก็ตาม. ส่วนผู้ที่กระทำการในฐานะตัวแทนของสิ่งใหม่ที่ก้าวหน้าและถูกต้องนั้น ควรจะได้รับการยกย่องในความเป็นผู้อยู่เหนือยุคสมัยของตนในความกล้าหาญ และในความ เพียรพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ก้าวหน้าและถูกต้องยิ่งขึ้น ควรที่อนุชนจะรำลึกถึงและควรที่จะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง.

เสรีภาพในการรับรู้กฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งระบบของราษฎรไทย ซึ่งเห็นกันอยู่ในเวลานี้ว่าเป็นสิ่งธรรมดาสามัญจนบางครั้งไม่ได้คิดว่ามีอยู่หรือไม่ด้วยซ้ำ เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต สมัยที่ ความรับรู้กฎหมายของราษฎรถูกจำกัด ตลอดจนได้รู้ถึงกรณีริบหนังสือกฎหมายในรัชกาลที่ ๓ แล้ว เสรีภาพในการรับรู้กฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งระบบของราษฎรไทยนั้นก็กลับกลายเป็นสิ่งอันทรงคุณค่าและน่าหวงแหนยิ่งนัก ด้วยมิใช่สิ่งที่มีอยู่มาแต่ไหนแต่ไร และกว่าจะได้มาก็ต้องใช้ความพยายาม อย่างใหญ่หลวงและลำบากยากยิ่งของคนรุ่นก่อนนั้น.


กำธร เลี้ยงสัจธรรม



เชิงอรรถ

๑. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๑. (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๐๔), หน้า ๓๓-๓๔.

๒. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระยาอนุมานราชธน. ให้พระยาอนุมานราชธน. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, ๒๕๒๑), หน้า ๑๙๗-๑๙๘.

๓. โหมด อมาตยกุล. บันทึกความทรงจำของพระยากสาปนกิจโกศล, ๓๓๑ ปีสกุลอมาตย์ และ ๗๓ ปีแห่งการพระราชทานนามสกุลอมาตยกุล. (กรุงเทพฯ : บริษัท รักษ์สิปป์ จำกัด, ๒๕๒๙), หน้า ๒๘.

๔. ร. แลงกาต์. ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เล่ม ๑. (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๖), หน้า ๒๗-๒๘.

๕. ชัย เรืองศิลป์. ประวัติศาสตร์ไทยสมัย ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ตอนที่ ๑ ด้านสังคม. (กรุงเทพฯ : บ้านเรืองศิลป์, ๒๕๑๗), หน้า ๕๑๕-๕๑๖.

๖. ชัย เรืองศิลป์. เรื่องเดิม. หน้า ๒๓๐-๒๓๕.

๗. ชัย เรืองศิลป์. เรื่องเดิม. หน้า ๕๑-๕๒.

๘. สันต์ ท. โกมลบุตร แปล, เดอะ ลาลูแบร์ แต่ง. จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์ เล่ม ๑. (กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า, ๒๕๑๐), หน้า ๒๖๑-๒๖๒ และ ๒๗๔-๒๗๕.

๙. ดู : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส, ๒๓ เมษายน ๒๕๑๗.

๑๐. กาญจนาคพันธุ์. คอคิดขอเขียน. (กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น, ๒๕๑๓), หน้า ๓๗๙.

๑๑. ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ จ.ศ. ๑๑๖๖ เล่ม ๑ : หน้า ๒๙๕, ๓๒๖, ๓๙๖; เล่ม ๒ : หน้า ๓๗๘-๓๗๙; เล่ม ๓ : หน้า ๖๑, ๓๐๕, ๓๒๓-๓๒๘.

๑๒. ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ จ.ศ. ๑๑๖๖ เล่ม ๑. หน้า ๓๙๕.

๑๓. สันต์ ท. โกมลบุตร แปล, เดอะ ลาลูแบร์ แต่ง. เรื่องเดิม. หน้า ๓๘๑.

๑๔. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. อธิบายความว่าด้วยประกาศรัชกาลที่ ๔, ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๐๐. (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๐๓), หน้า ๑-๗.

๑๕. ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ จ.ศ. ๑๑๖๖ เล่ม ๓. หน้า ๘๐-๘๑.

๑๖. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแปล. จดหมายเหตุของหมอบรัดเล, ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๐. (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๐๗), หน้า ๓๐๔-๓๐๕.

๑๗. ยอร์จ ฮอส์ เฟลตัส. ดร.เรโนลด์ เฮาส์ หมอฝรั่งสามรัชกาล. (กรุงเทพฯ : สุริยบรรณ, ๒๕๒๕), หน้า ๖๐.

๑๘. ยอร์จ ฮอส์ เฟลตัส. เรื่องเดิม. หน้า ๖๑.

๑๙. ตรี อมาตยกุล. ประวัติบุคคลสำคัญในสายสกุลอมาตยกุล, ๓๓๑ ปีสกุลอมาตย์ และ ๗๓ ปีแห่งการพระราชทานนามสกุลอมาตยกุล. (กรุงเทพฯ : บริษัท รักษ์สิปป์ จำกัด, ๒๕๒๙), หน้า ๔๕-๔๖.

๒๐. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประวัติพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน, จดหมายเหตุเสด็จประพาสต่างประเทศในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์แจกในงานศพพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (แฉล้ม อมาตยกุล), ปีมเสง นพศก พ.ศ. ๒๔๖๐, หน้า (๙)-(๑๐).

๒๑. เดือน บุนนาค. ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ๒๔๙๓), หน้า ๗๒-๗๓.

๒๒. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และวิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. "ร. แลงกาต์กับประวัติศาสตร์กฎหมายไทย," ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๐ (สิงหาคม ๒๕๒๔) หน้า ๖๔.

๒๓. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประกาศเรื่องออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา, ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๐๑-๒๔๐๔. (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๐๔), หน้า ๑-๔.

๒๔. ดู : ป่วน อินทุวงศ์ แปล. จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันมาประเทศสยาม, ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๘. (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๐๘), หน้า ๑-๑๓๗; สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแปล. จดหมายเหตุของหมอบรัดเล, ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๐. หน้า ๒๘๔-๓๙๕.

๒๕. ร. แลงกาต์. ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เล่ม ๑. หน้า ๔๖-๔๘.


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 26 ฉบับที่ 02

ปล.
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: