หมายเหตุ บทความนี้เป็นเพียงบทความแนะนำเบื้องต้นก่อนไปร่วมงานอภิปราย “สถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ” ในโอกาสเปิดตัวหนังสือ “คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์” ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้อง ๒๒๒
“องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหา
หรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ
โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ"
หยุด แสงอุทัย
ในบทความชื่อ“อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย”
อ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙
หยุด แสงอุทัย เกิดเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๑ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนมัธยมโฆษิตสโมสร เนติบัณฑิตไทยจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม สำเร็จปริญญาเอกกฎหมายขั้นเกียรตินิยมชั้นสูง (Magna Cumlaude) จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ในอดีต เคยรับราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการร่างกฎหมาย จนกระทั่งถึงปี ๒๕๑๑ จึงเกษียณอายุราชการ นอกจากนั้นยังดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นอีก เช่น ตุลาการรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายลักษณะต่างๆ แทบทุกลักษณะวิชาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นๆ ด้วย หยุดแต่งตำราทางกฎหมาย เขียนบทความทางกฎหมายและบันทึกท้ายคำพิพากษาฎีกาไว้เป็นจำนวนมาก หยุด ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๒
หยุดเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแทบทุกประเภท แต่ที่ได้การยอมรับนับถือเป็นอย่างมาก คือ กฎหมายอาญา และกฎหมายรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้หยุดยังเขียนตำราคลาสสิก “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป” ซึ่งปัจจุบันยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย หยุดเข้าไปมีบทบาททางการเมืองเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยตำแหน่งของหยุดแล้วก็เปรียบเสมือนเป็น “มือกฎหมาย” ของรัฐบาลนั่นเอง จากบทบาทดังกล่าว ส่งผลให้หยุดต้องรับวิบากกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จากขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามของจอมพล ป. (ดูรายละเอียดได้ในบทความ “กรณี หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๒๔๙๙” ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลได้ที่ http://somsakwork.blogspot.com/2006/09/blog-post_1973.html และ http://midnightuniv.org/midnight2545/document9542.html)
จากการศึกษาตำรากฎหมายของรัฐธรรมนูญของหยุด ตลอดจนบทความ หรือคำอภิปรายต่างๆของเขา เรายืนยันได้ว่า หยุด แสงอุทัย มีความคิดอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย คือ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีผู้ใดที่มีและใช้อำนาจทางการเมืองโดยปราศจากความรับผิดชอบ เพื่อมิให้กษัตริย์ต้องรับผิด ตามคำกล่าวที่ว่า “The King Can Do No Wrong” จึงต้องมิให้กษัตริย์กระทำการใดๆ เว้นแต่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการซึ่งเป็นผู้กระทำอย่างแท้จริง
ดังปรากฏให้เห็น เช่น
“ในขณะนี้ปรากฏว่าได้มีการวิพาษ์วิจารณ์การกระทำของพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมสาธารณะหรือในทางหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญนั้น องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ฉะนั้นในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จึงทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์”
"องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ"
(ในบทความชื่อ “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” อ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙)
“ในเวลานี้ ในประเทศไทยยังมีรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนเอาพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ ๓ ประการ คือ สิทธิที่จะได้รับการปรึกษาหารือ สิทธิที่จะทรงสนับสนุน และสิทธิที่จะทรงตักเตือน ไปใช้ในทางที่ผิด กล่าวคือ มักจะนำพระราชดำรัสในการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ ๓ ประการดังกล่าวนั้น ไปเผยแพร่แก่สื่อมวลชนบ้าง แก่บุคคลอื่นบ้าง การที่ทำเช่นนั้น อาจเป็นโดยเจตนาดี เพราะเห็นว่าจะเป็นที่เชิดชูพระเกียรติบ้าง หรือเห็นว่าแสดงว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยบ้าง หรือเป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้าและรับสนองพระราชประสงค์บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งนั้น คำแนะนำหรือตักเตือนของพระมหากษัตริย์ย่อมต้องเป็นความลับ เพราะมิฉะนั้น ผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ และจะทำให้องค์พระมหากษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ ถ้าคณะรัฐมนตรีจะรับคำแนะนำตักเตือนไปปฏิบัติ ต้องปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบของตนเอง จะอ้างพระมหากษัตริย์มิได้ เพราะเป็นการนำพระมหากษัตริย์ไปทรงพัวพันกับการเมือง”
"... ในกรณีที่ไม่ทรงเห็นด้วย ก็จะทรงทักท้วงตักเตือนให้เห็นภยันตรายของการดำเนินตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงทักท้วงเช่นว่านี้ ย่อมเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะต้องประชุม ปรึกษาหารือกันใหม่ คณะรัฐมนตรีอาจยืนยันความเห็นเดิมก็ได้ และเมื่อคณะรัฐมนตรียืนยันตามความเห็นเดิม พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงยอม เพราะคณะรัฐมนตรีต่างหากเป็นผู้รับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ..."
(หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๕. หน้า ๔๖-๔๗)
ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาของหยุด แสงอุทัยในเรื่องพระราชอำนาจของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว ได้กลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขา เมื่อตอนที่เขาได้เข้าไปมีบทบาททางการเมือง ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หยุดฯถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จากขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามของจอมพล ป. โดยอ้างจากบทความเรื่อง “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” ที่หยุดฯอ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ (ดูรายละเอียดได้ในบทความ “กรณี หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๒๔๙๙” ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลได้ที่http://somsakwork.blogspot.com/2006/09/blog-post_1973.htmlและ http://midnightuniv.org/midnight2545/document9542.html)
หนังสือพิมพ์สมัยนั้นพาดหัวข่าวเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งก็เพื่อต้องการนำข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” กระทบต่อไปถึงจอมพล ป. เช่น หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ ได้ตีพิมพ์เนื้อหาว่า
“ประชาชนทั่วทั้งแผ่นดินพากันเศร้าสลดใจในพฤติกรรมของบุคลลผู้หนึ่งซึ่งได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของปวงชน กล่าวคือ เมื่อคืนวันอังคารที่แล้วมา กระบอกเสียงของรัฐบาลได้กระจายเสียงออกอากาศภาคบทความของนายหยุด แสงอุทัย ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรมร่างกฎหมาย) สังกัดในสำนักคณะรัฐมนตรีซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าโดยได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทยว่า “องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใด ที่เป็นปัญหาหรือเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศโดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ” และกล่าวคำอื่น ๆ อีกที่เพียรพยายามจะแสดงให้เกิดความเข้าใจกันว่าองค์พระมหากษัตริย์ประมุขของชาติคือ “หุ่น” ที่รัฐบาลจะเชิดเท่านั้นเอง
กรณีเหตุที่ทำให้บรรยากาศเกี่ยวกับองค์พระประมุขของชาติ โดยมีบุคคลได้กระทำการดูหมิ่นขึ้นนั้นก็เนื่องด้วยที่ได้มีพระราชดำรัสพระราชทานในวันกองทัพบกว่า “ให้ทหารรู้จักหน้าที่ในความเป็นทหาร ทหารไม่บังควรเล่นการเมือง” เป็นต้น
คำกล่าวด้วยความทะนงองอาจของบุคคลผู้หนึ่งครั้งนี้ เป็นการกล่าวถ้อยคำในฐานะที่เป็นข้าราชการ และได้นำไปออกอากาศกระจายเสียงที่กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นสำนักงานแถลงข่าวของรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้นความสัมพันธ์ในการเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและบังคับบัญชากันในทางราชการนั้น บุคคลผู้นี้ได้สังกัดขึ้นตรงต่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย นับว่าเป็นสายบังคับบัญชางานขึ้นตรงโดยเฉพาะและบุคคลผู้นั้นไม่ใช่ข้าราชการผู้น้อยชั้นถ่อยแต่เป็นข้าราชการชั้นพิเศษ ซึ่งรัฐบาลคณะนี้ยกย่องถึงขนาดเป็นผู้เชี่ยวชาญรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นที่ปรึกษาทั่วไปในทางกฎหมายประจำทำเนียบของรัฐบาลนี้โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นการกล่าวถ้อยคำอันเป็นการดูหมิ่นด้วยความทะนงองอาจต่อองค์พระมหากษัตริย์ ประมุขของชาติเช่นนี้ จึงอาจที่จะบิดเบือนเป็นอื่นไปได้ที่ว่าจะกล่าวขึ้นด้วยความโง่เขลารู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือ โดยเฉพาะรัฐบาลจะไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย
อนึ่ง เมื่อวันเสาร์ซึ่งมีเพรสคอนเฟอรเรนซ์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กล่าวชี้แจงแก้แทนนายหยุด แสงอุทัย ในคำกล่าวหานั้นว่า “ไม่มีผิด” และนายหยุด แสงอุทัย ก็ได้นำคำมากล่าวย้ำอีกว่า กษัตริย์อังกฤษนั้นไม่กระทำการใดๆที่ไม่มีรัฐมนตรีรับสนอง ซึ่งคำกล่าวลักษณะนี้ ขอให้พี่น้องทั้งหลายพิจารณากันดูเอาเองเถิด และก็ควรจะได้พิจารณากันให้ลึกซึ้งด้วยว่าข้าราชการในอังกฤษซึ่งอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับนายหยุด แสงอุทัยได้มีผู้แนะนำความอันเกี่ยวกับอังกฤษมากล่าวย้ำสั่งสอนพระราชาของเขาทำนองนี้บ้างหรือไม่
การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์พระมหากษัตริย์กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๙๘ ได้บัญญัติไว้มีความว่า “ผู้ใดทะนงองอาจแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระราชเทวีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันจำคุกไม่เกิน ๗ ปี และปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง”
เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเยี่ยมราษฎรภาคอีสาน ได้มีเหตุการณ์ขึ้นเรื่องหนึ่งคือ ชายผู้หนึ่งจะนำหนังสือเข้าทูลเกล้าถวายฎีกาแต่ไม่สามารถเข้าไปได้ บุคคลผู้นั้นได้ปาหนังสือตรงไปยังรถพระที่นั่ง แม้เหตุการณ์เพียงเท่านั้น เจ้าพนักงานฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครองก็ได้จับคนผู้นั้นในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและให้ศาลได้ลงโทษจำเลยผู้นั้นไปแล้วโดยให้จำคุก เมื่อได้นำเอากรณีดังกล่าวแล้ว มาเทียบกับพฤติการณ์แห่งความทะนงองอาจของนายหยุด แสงอุทัย ที่ได้กระทำขึ้นต่อพระมหากษัตริย์ประมุขของชาติคราวนี้เป็นการทะนงองอาจใหญ่ยิ่งกว่ากันหลายเท่านัก หากบุคคลที่ได้ขว้างปาเอกสารเป็นบุคคลธรรมดาสามัญ แต่นายหยุด แสงอุทัยเป็นบุคคลพิเศษอยู่ในฐานะใกล้กับรัฐบาลคณะนี้ จึงยังไม่ปรากฎว่าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจได้ดำเนินการกับนายหยุด แสงอุทัยประการใดเลย ซึ่งคดีดังกล่าวนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน เป็นหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายปกครองและตำรวจจะดำเนินการได้ทันทีไม่พักให้ต้องมีผู้นำความมาแจ้งและร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานนั้น คงไม่มีประเทศใดในโลกนี้เขาทำกันหรอกและก็ทำให้สงสัยว่าอาจจะเงียบกันต่อไป เพราะจอมพล ป. พิบูลสงครามได้แก้แทนเสียแล้วว่า “ไม่ผิด”
ทางที่ถูกต้องเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจจะต้องเข้าดำเนินการสอบสวนพิจารณาองค์การของรัฐบาลคือเจ้าหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ที่ได้ยอมให้นายหยุด แสงอุทัยนำข้อความไปอ่านออกอากาศกระจายเสียงโฆษณาต่อประชาชนทั้งประเทศนั้นว่า ได้มีความเห็นสอดคล้องต้องด้วยหรืออย่างไร กับเจ้าพนักงานสอบสวนจะต้องตั้งตนเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของนักการเมืองเกรงกลัวผู้มีอำนาจบาทใหญ่ ต้องการกระทำการสอบสวนหัวหน้าผู้บังคับบัญชาโดยตรงของนายหยุด ด้วยว่าได้มีส่วนรู้เห็นเจตนาจงใจร่วมกับนายหยุด แสงอุทัยให้กระทำขึ้นเพื่อลบหลู่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์เช่นนั้นด้วยหรือไม่
ประชาชนทั้งเมืองต่างเอาใจใส่กับเหตุการณ์ที่เกิดนี้โดยทั่วกัน และก็ใคร่จะได้ฟังคำปฏิบัติการของเจ้าพนักงานทุกฝ่ายว่ากระทำการกันฉันใด เพราะเหตุการณ์เช่นนี้กระทำให้เป็นที่หวั่นไหวต่อจิตใจของพสกนิกรที่เคารพรักพระมหากษัตริย์อยู่โดยทั่วหน้าเพราะต้องการทราบข้อเท็จจริงโดยแจ้งชัด”
เช่นเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็รีบนำข้อหานี้มาใช้ประโยชน์ทางการเมืองของตน ดังที่นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรค ได้ให้สัมภาษณ์ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ดังนี้
“หลังจากที่ ดร.หยุด แสงอุทัย ถูกส.ส.สงวน ศิริสว่างแจ้งให้พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจจัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งพล.ต.อ.เผ่า ได้ส่งบทความของดร.หยุด ให้กองคดีกรมตำรวจวินิจฉัย ในที่สุดกองคดีพิจารณาแล้วปรากฏว่าบทความของดร.หยุดไม่ผิดและไม่มีการหมิ่นพระมหากษัตริย์แต่อย่างใดนั้น
จากการพบกับนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นว่า “ดร.หยุด เป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญของรัฐบาลเสียเปล่ ถึงจะพูดถูกหรือไม่ถูกก็ตาม ทำให้คนทั้งบ้านทั้งเมืองเข้าใจผิด ใครที่ได้ฟังวิทยุในคืนนั้นก็เข้าใจว่าเป็นการหมิ่นในหลวง แล้วมันก็ใช้ได้ที่ไหน”
นายควงยกตัวอย่างให้ฟังว่า “เหมือนอย่างครูเหมือนกัน ถึงแม้จะเก่งหรือวิเศษสักปานใด แต่สอนแล้วนักเรียนไม่เข้าใจ ครูคนนั้นก็ใช้ไม่ได้ อย่างดร.หยุด ที่จอมพล ป.คิดว่าเป็นนักกฎหมายที่เก่งและดีมาก แต่อย่าลืมนะว่าเป็นดีคนเดียว ไปอยู่ในหมู่คนบ้าก็กลายเป็นบ้าเหมือนกัน ไม่เชื่อใครก็ได้ไปหาลูกน้องหมอฝนที่หลังคาแดงปากคลองสานซิ พวกนั้นจะหาว่าบ้าทั้งนั้น และก็ดร.หยุด เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย อุตส่าห์เขียนมาอ่านให้คนฟังเข้าใจผิดกันทั้งเมืองก็แปลกเต็มทน”
เกี่ยวกับจอมพลที่เข้าข้าง ดร.หยุดโดยออกรับแทนในที่ประชุมหนังสือพิมพ์ นายควงกล่าวว่า “นั่นแหละจอมพลยิ่งผิดใหญ่ทีเดียว เพราะหากที่ดร.หยุดพูดไปเป็นการหมิ่นในหลวง และจอมพล ป.ก็เป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จอมพล ป.ก็ผิดเต็มประตู แต่ถ้าดร.หยุด ไม่พูดหมิ่นในหลวง จอมพลเป็นคนอนุญาตให้พูด ทำให้คนเข้าใจผิดกันทั้งเมือง จอมพล ป.ก็ผิดอีก ไม่ใช่แต่เพียงหนังสือพิมพ์หรือ ส.ส.สงวนที่เข้าใจว่าเป็นการหมิ่นในหลวง คนอื่นๆทั้งที่มีสติปัญญาและไม่มีสติปัญญา เขาก็เข้าใจอย่างนั้นทั้งสิ้น ใคร ๆ ที่มาหาผมถามว่าคืนนั้นฟังวิทยุหรือเปล่า ผมบอกว่าเปล่า เขาบอกว่าที่ดร.หยุดพูดนั้นหมิ่นพระมหากษัตริย์จริง ๆ แล้วก็ด่ากันเปิงไปหมด เขายังบอกต่อไปอีกว่าต้นฉบับที่แจกหนังสือพิมพ์วันนั้นไม่ตรงกับที่จ่ายทางวิทยุ เมื่อดร.หยุดพูดให้คนเข้าใจผิดกันหมดอย่างนี้ จะเลี่ยงได้ไหม?“ นายควงกล่าวในที่สุด”
(“ควงวิพากษ์วิจารณ์ ดร.หยุด ครื้นเครง จอมพลไปออกรับแทนก็ยิ่งผิดใหญ่ คนไปที่บ้านเจริญพรกันเปิงไปเลย” หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙)
หยุดฯชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า
“ถึงแม้ขณะนี้ผมก็ยังยืนยันว่าผมไม่ผิด ผมพูดตามหลักวิชาการ และเคยพูดแบบนี้ทางวิทยุกระจายเสียงมา ๗ ครั้งแล้ว เช่น ในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา วันฉัตรมงคล มีข้อความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เห็นมีเรื่องอะไรแต่คราวนี้กลับเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตไปได้ก็ประหลาดเหมือนกัน ผมมันซวยจริงๆ ความจริงบทความเรื่องนี้ของผมตามรายการกระจายเสียงแล้วจะต้องพูดในวันที่ ๒๑ เดือนนี้ แต่บังเอิญคุณโอภาส ชัยนาม เจ้าหน้าที่ทางสาขาเนติธรรมเหมือนกันเขาจะพูดทางรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย แต่เขาเขียนไม่ทัน เขาก็เอารายการของผมเข้ามาแทน ถ้าหากผมไปพูดในรายการเดิมคือวันที่ ๒๑ เข้าใจว่าคงจะไม่มีเรื่อง แต่บังเอิญถึงคราวซวยของผม เลยได้จังหวะกันพอดี ส่วนที่ว่าผมกำลังรวบรวมหลักฐานที่จะฟ้องคุณสงวนและหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวเรื่องนี้นะหรือ ตราบใดที่ผมยังเป็นข้าราชการอยู่ ตราบนั้นผมจะไม่ฟ้องใครในฐานหมิ่นประมาทเลยเป็นอันขาด เพราะผมถือว่าใครทำดีทำชั่วคนเขารู้เอง สำหรับเรื่องที่ว่าผมหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น ผมสู้เต็มที่ ผมก็เป็นคนที่รักในหลวงคนหนึ่งเหมือนกัน เพราะผมรักพระองค์ท่าน ผมจึงไม่ต้องการให้ใครเอาในหลวงเป็นเครื่องมือ”
(หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙)
แม้หยุด แสงอุทัยจะถูกภัยคุกคามเนื่องจากการแสดงความเห็นทางวิชาการของตนในเรื่องกษัตริย์ แต่หยุดฯก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความคิด ตรงกันข้ามเขายังคงยืนยันหลักการ “The King Can Do No Wrong” ในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของเขา คือ คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๑ และคำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๕
....................
ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองตลอดระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายล้างศัตรูฝ่ายตรงข้าม มีความเห็นจำนวนมากที่สนับสนุนให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจมาก และมากขึ้นจนอาจจะไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มีแนวคิดประเภท “ถวายคืน” พระราชอำนาจ มีหนังสือและบทความจำนวนมาก ที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปในทางยอพระเกียรติ งานหลายชิ้นเป็นการแปรรูปหนังสืออาเศียรวาทให้อยู่ในรูปแบบของงานวิชาการ และมีการนำข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มาใช้เป็นอาวุธทำลายศัตรูทางการเมือง
กล่าวสำหรับวงการกฎหมาย การอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์แทบไม่ปรากฏ (ที่ปรากฏก็มีเพียงแต่ยอพระเกียรติ และสนับสนุนไปในทางมี “พระราชอำนาจ” มาก) ทั้งๆที่หากพิจารณาในทางวิชาการกฎหมายแล้ว เรื่องของสถาบันกษัตริย์ มีประเด็นทางกฎหมายหลายประเด็นที่ควรพิจารณา เช่น
พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในประเทศสเปน เคยถกเถียงกันว่า พระมหากษัตริย์เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือไม่? เป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจเกิดกรณีความขัดแย้งในการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญระหว่างพระมหากษัตริย์กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเข้ามาวินิจฉัยชี้ขาด?
องคมนตรี มีความเป็นมาอย่างไร? เป็นองค์กรประเภทใด? มีขอบเขตอำนาจเพียงใด? สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่? มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันหรือไม่?
สถานะทางกฎหมายและศักดิ์ของกฎมณเฑียรบาล มีสถานะเป็นกฎหมายเหมือนกฎเกณฑ์ทางกฎหมายประเภทอื่นๆหรือไม่? มีศักดิ์เทียบเท่าอะไร? สูงกว่าหรือเท่ากับรัฐธรรมนูญ? สูงกว่าหรือเท่ากับพระราชบัญญัติ? มีโอกาสขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้หรือไม่? ใครเป็นผู้มีวินิจฉัยชี้ขาด? รัฐสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบหรือมีอำนาจเพียงรับรองทางรูปแบบ?
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในระบอบประชาธิปไตย ที่ยังคงรักษาตำแหน่งประมุขของรัฐให้แก่กษัตริย์ กษัตริย์มีพระราชอำนาจทางการเมืองโดยแท้หรือไม่? หรือเป็นเพียงพระราชอำนาจตามแบบพิธี? อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนหรือเป็นของพระมหากษัตริย์? พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแต่ยกให้ประชาชนใช้ชั่วคราว? การถวายคืนพระราชอำนาจเป็นไปได้ในระบอบประชาธิปไตย?
การลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯในเรื่องต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตย โดยแท้จริงแล้ว กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการไม่ลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯหรือประวิงเวลาการลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯในเรื่องต่างๆหรือไม่? หากมี พระราชอำนาจเช่นว่าควรถูกนำมาใช้หรือไม่ อย่างไร? การลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯเป็นเพียงสัญลักษณ์ทางรูปแบบของราชอาณาจักร หรือเป็นพระราชอำนาจโดยแท้? และในกรณีที่กษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯหรือประวิงเวลาการลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ ผู้เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจะทำอย่างไร?
สิทธิ ๓ ประการของพระมหากษัตริย์ในทฤษฎีของวอลเตอร์ แบร์ช็อต อันได้แก่ สิทธิในการสนับสนุนให้กำลังใจ สิทธิในการตักเตือน สิทธิในการให้คำปรึกษาหารือ มีขอบเขตและเงื่อนไขอย่างไร ทฤษฎีนี้มีการนำมาใช้ในระบบกฎหมายของไทยหรือไม่? เป็นต้น
ปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์ถูกนำมาอ้างอยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เป็นความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยดังที่หยุด แสงอุทัยเคยกล่าวไว้ จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งที่สำนักพิมพ์วิญญูชนนำตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของหยุด แสงอุทัย อันได้แก่ คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๑ และคำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๕ มาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และยิ่งดีมากขึ้นไปอีกที่การตีพิมพ์ใหม่ในครั้งนี้ ได้วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้เรียบเรียงใหม่และเขียนคำนำ
ด้วยความร่วมมือกันระหว่างภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย จึงใช้โอกาสที่ปีนี้เป็นปีครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของหยุด แสงอุทัย จัดงานเปิดตัวหนังสือ “คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์” ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ (อันเป็นวันคล้ายวันที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยมีผลใช้บังคับ) ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้อง ๒๒๒ เวลาบ่ายโมงเป็นต้นไป
ในงานจะมีการแนะนำหนังสือเล่มนี้ โดยสมยศ เชื้อไทย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจัดให้มีการอภิปรายเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ และเป็นผู้เขียนหนังสือ “แผนชิงชาติไทย” ซึ่งเกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายจากเยอรมนี และเป็นผู้เรียบเรียงและแก้ไขปรับปรุงหนังสือเล่มนี้, และณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ผู้เขียนบทความหลายชิ้นเกี่ยวกับการตอบโต้คณะราษฎรของพวกนิยมเจ้า เช่น “การรื้อสร้าง ๒๔๗๕” ฝันจริงของนักอุดมคติ “น้ำเงินแท้” ในศิลปวัฒนธรรม และล่าสุดบทความเรื่อง “คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร” : การก่อตัวของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในฟ้าเดียวกัน
ความสำคัญและน่าสนใจในงานนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการเปิดตัวหนังสือของหยุด แสงอุทัยที่นำมาตีพิมพ์ใหม่ ไม่เพียงแต่เป็นการจัดงานรำลึกแด่หยุด แสงอุทัยเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล แต่ยังเป็นโอกาสที่เราจะได้อภิปรายประเด็นทางกฎหมายและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยในทางวิชาการและวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ โดยนำความคิดของหยุด แสงอุทัยที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่มีแต่การอภิปรายในเชิงยอพระเกียรติเหมือนการอภิปรายเรื่อง “พระราชอำนาจ” เมื่อ ๓ ปีก่อน
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ที่มา : ฟ้าเดียวกัน : คอลัมนิสต์ออนไลน์ : ปิยบุตร แสงกนกกุล : ‘หยุด แสงอุทัย’ กับหลัก ‘The King can do no wrong’
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551
‘หยุด แสงอุทัย’ กับหลัก ‘The King can do no wrong’
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 8:57 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น