วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551

L’Internationale : ความเป็นมาของเพลง


เมื่อไม่กี่ปีก่อน ผมลองทำเว็ปไซต์ของตัวเองเล่นๆ โดยในหน้าแรกสุด (homepage) ผมใส่เพลงบรรเลง The International เป็นแบ็คกราวน์ ผู้รู้จักผมท่านหนึ่งแวะมาดู แล้วเอ่ยปากว่าชอบเพลงนี้ ผมจึงเล่าเรื่องแปลกๆที่เกิดขึ้นกับผมก่อนหน้านั้นให้ฟังว่า วันหนึ่งขณะอยู่ที่บ้าน ผมก็ได้รับโทรศัพท์ทางไกลจากสหรัฐอเมริกา จากนักเรียนไทยท่านหนึ่งซึ่งผมไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย เธอบอกว่า กำลังจะทำรายงานชิ้นย่อยส่งอาจารย์ อยากจะถามว่า มีเพลง The International ที่เป็น anthem ของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ในฉบับภาษาไทยหรือไม่ เธอเองเป็นคนรุ่นหลัง และแทบจะไม่รู้เรื่องการเมืองไทยสมัย 14 ตุลา - 6 ตุลา เลย ผมก็ตอบไปว่ามีเพลงนี้ในภาษาไทยอยู่ และได้ร้อง ‘ฮัม’ เนื้อเพลงนี้สดๆไปทางโทรศัพท์ แต่ก็จำได้ไม่หมด จึงให้เธอโทรกลับมาใหม่ ผมจะไปค้นหนังสือเก่าๆ หาเนื้อเพลงนี้ให้ ตอนหลังเธอก็โทรกลับมา และผมก็ให้เนื้อเพลงไป (บอกจดทางโทรศัพท์)

เมื่อผมเล่าเรื่องแปลกๆนี้เสร็จ ผู้รู้จักผมท่านนี้ก็เอ่ยปากว่า ขอเนื้อเพลงนี้ในภาษาไทยบ้างได้ไหม ผมก็ว่าได้ และได้เขียนเป็นจดหมายฉบับหนึ่ง ให้เนื้อเพลง International ฉบับภาษาไทยทั้ง 2 สำนวน และยังได้อธิบายความเป็นมาของเพลงนี้ในภาษาไทยที่ผมจำได้ไปคร่าวๆ จดหมายฉบับดังกล่าว มีข้อความดังนี้

ครับ ข้างล่างนี้คือเนื้อเพลง The International
ฉบับภาษาไทยที่คุณขอมา:


แองเตอร์นาซิอองนาล (สามัคคีนานาชาติ)

ตื่นเถิดพี่น้องผองทาสผู้ทุกข์ระทม
ลุกขึ้นเถิดปวงชนผู้ยากไร้ทั่วหล้า
เลือดรินปรี่ล้นทุกข์ทนเรื่อยมา
สองมือคว้าไขว่หายุติธรรม
โลกเก่าฟาดมันให้แหลกยับไป
ผองทาสทั้งหลายลุกขึ้นสามัคคี
อย่าคิดว่าเรานั้นยากไร้ซึ่งทุกสิ่ง
ด้วยความเป็นจริงโลกนี้เป็นของเรา

นี้เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย
สามัคคีให้ถึงวันพรุ่ง
แองเตอร์นาซิอองนาล
จะต้องปรากฏเป็นจริง
นี้เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย
สามัคคีให้ถึงวันพรุ่ง
แองเตอร์นาซิอองนาล
จะต้องปรากฏเป็นจริง

เคยมีหรือพระเจ้าที่มาโปรดช่วย
หวังอำนวยจากใครไม่ได้
หยัดยืนพึ่งลำแขนของเราไซร้
สังคมใหม่จึงจะได้มา
ขอพวกเราจงช่วงชิงชีพของเราคืน
จงหยัดจงยืนความคิดใหม่ไว้ให้ได้
โหมเพลิงในเตาให้พุ่งโชนขึ้นไป
ตีเหล็กตีได้เมื่อยังร้อนแดง

ผู้ใดคือชนชั้นผู้สร้างโลก
คือเราชนชั้นผู้ใช้แรงงาน
ผลทั้งสิ้นจะต้องเป็นของพวกเรา
ไม่เหลือให้พวกทากสูบกิน
แค้นเจ้าพวกสัตว์ร้ายเลวทรามนั่น
แค้นที่มันสูบกินเลือดเรา
มีแต่กำจัดการขูดรีดให้สิ้น
ตะวันสีแดงสาดแสงทั่วหล้า


ดังที่ผมได้บอกไปว่าเพลงนี้ในภาษาไทย
มีอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งมีเนื้อร้องดังนี้:


อินเตอร์เนชั่นแนล

ตื่นเถิดพี่น้องคนจนผู้ทุกข์ระทม
โค่นล้มสังคมแห่งการกดขี่
ตื่นเถิดพี่น้องผู้ไร้สิทธิ์เสรี
ครั้งนี้เราสู้เป็นครั้งสุดท้าย
ล้างโลกเก่าให้ดับย่อยยับสิ้นไป
สร้างโลกใหม่ที่สดใสเปรมปรีย์
ทั้งนี้จงอย่าดูหมิ่นตนเอง
อันพวกเรานี้คือผู้สร้างโลกใหม่
พร้อมใจกันจงอย่ารั้งรอรา
สามัคคีกันตราบชั่วกัลป์
อินเตอร์เนชั่นแนลนั้น
คือแสงทองส่องบนท้องฟ้า
พร้อมใจกันจงอย่ารั้งรอรา
สามัคคีกันให้แน่นแฟ้น
อินเตอร์เนชั่นแนลรุ่งเรืองเฟื่องฟ้า
เริงใจ ทั่วหล้า ไชโย


เมือง บ่อยาง (ในหนังสือ จิตร ภูมิศักดิ์ ความใฝ่ฝันแสนงาม: รวมงานกวีนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ 2489-2509 ที่เขาเป็นบรรณาธิการ) กล่าวว่าเพลงนี้จิตรแต่งขึ้นระหว่างอยู่ในคุก ก่อน พ.ศ.2505 ผมเองมีเหตุผลที่ทำให้คิดว่าน่าจะเป็นก่อนถูกจับในพ.ศ. 2501 มากกว่า (ขอไม่อธิบายเหตุผลในที่นี้เพราะจะยืดยาวมาก) เมือง บ่อยาง ยังกล่าวด้วยว่าเวอร์ชั่นข้างบนนั้นแปลมาจากภาษาจีนหลัง 14 ตุลา ‘อันที่จริงก็ไม่รู้ว่ามีอะไรขัดข้องหรือเปล่า เช่น คนพิสูจน์อักษรอาจพิสูจน์ผิด เพราะสำเนียงฝรั่งเศสไม่น่าจะออกเสียงเป็น “แองเตอร์นาซิอองนาล” ไปได้ ควรจะเป็น “แองแตร์นาซิอองนาล” ต่างหาก’ ในประเด็นที่ว่าเวอร์ชั่นยาวนั้นแปลมาจากภาษาจีนผมเห็นด้วยว่าคงจริง แต่ประเด็นที่ว่าภาษาฝรั่งเศสควรออกเสียงอย่างไรนั้นผมไม่ทราบ สงสัยต้องถามให้อ.เกษียรยืนยัน

ผมเห็นเวอร์ชั่นยาวตีพิมพ์ครั้งแรกราวต้นปี 2517 บนปกหลังวารสาร ปช.ปช. ของกลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ใช้ชื่อย่อกลุ่มเป็นชื่อวารสารด้วย) นี่เป็นกลุ่มที่ธีรยุทธ บุญมีตั้งขึ้นหลัง 14 ตุลา เดิมทีเดียวเป็นความต่อเนื่องจากกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญของเขา เพราะฉะนั้นแรกๆจึงไม่ซ้าย (ตัวธีรยุทธเองยังไม่ซ้าย) เช่นมีคนอย่างอนันต์ เสนาขันธ์ (ซึ่งร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ) เป็นสมาชิกกลุ่มและร่วมทำวารสารด้วย แต่ถึงเกือบๆจะกลางปี 2517 ทั้งกลุ่มและวารสารก็เปลี่ยนเป็นซ้าย (ตัวธีรยุทธด้วย ว่ากันว่าเพราะกรณีหมู่บ้านนาทราย) คนอย่างอนันต์ก็ออกไปทำกลุ่มและหนังสือของตัวเอง วารสารปช.ปช. ฉบับที่พิมพ์เนื้อเพลงนี้บนหลังปกนั้น มีปกเป็นรูปลายเส้นแบบที่ฝรั่งเรียกว่า silhouette เป็นรูปชาวนากลุ่มหนึ่งเดินกันมาจูงควายถือคันไถ และชูปืนด้วย ผมมีอยู่เหมือนกัน แต่กระทันหันหาไม่เจอ วันหลังถ้าเจอจะเอาให้ดู เพลงนี้ถูกตีพิมพ์บนหลังปกอย่างที่ผมพิมพ์มาให้ดูข้างบน คือไม่มีคำอธิบายใดๆ ผมเข้าใจว่า เมือง บ่อยางคงพูดถูกที่ว่าแปลมาจากภาษาจีน ซึ่งทำให้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า คนแปล (อาจจะมีมากกว่าหนึ่งคน) น่าจะเป็นพวก ‘สายจีน’ คือสมาชิกหรือแนวร่วมของพรรคที่ทำงานใต้ดิน พวกที่เป็นลูกหลานจีน และผมจึงเข้าใจว่าน่าจะมีการเผยแพร่กันในแวดวงกลุ่มฝ่ายซ้ายก่อนที่ปช.ปช.จะมาพิมพ์

ตามความเข้าใจของผม คนที่นำเวอร์ชั่นนี้มาร้องคือวงดนตรีชื่อ กงล้อ ซึ่งเป็นวงของพรรคพลังธรรม ธรรมศาสตร์ (พวกเพื่อนๆอ.สินิทธ์ สิทธิรักษ์ มีอยู่คนหนึ่งคืออรรถการ ติดคุกเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา 6 ตุลาร่วมกับผมด้วย) ถ้าจำไม่ผิดเริ่มร้องในราวปลายปี 17 ต่อต้นปี 18 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสพคท.กำลังจะครอบงำขบวนการนักศึกษาอย่างเด็ดขาด พวกเขาเอาเพลงนี้มาร้องปิดการแสดงของตนคู่กับเพลงภูพานปฏิวัติที่เขาบรรเลงเปิดการแสดงของตน เรียกว่าเป็น signature tunes (เพลงเอกลักษณ์ของวง) ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นกระบวนการที่ความคิดแบบพคท.ครอบงำขบวนการที่ว่า ที่น่าสังเกตุคือ เพลงนี้แม้ว่าน่าจะมีกำเนิดมาจาก ‘สายจีน’ แต่น่าจะเป็นพวกในเมืองเท่านั้น เพราะไม่เคยปรากฏว่าวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (วิทยุ สปท.) ของพรรคในป่า (ความจริงตั้งอยู่ในคุนมิง) เคยเอาไปร้องออกอากาศเลย ตรงข้ามกับเวอร์ชั่นของจิตร ที่ผมจำได้ว่ามีการนำไปร้องทางวิทยุสปท.เพียงแต่ไม่บ่อยมาก นานๆจะเปิดออกอากาศทีหนึ่ง ผมเองเคยฟังเพียงไม่กี่ครั้ง

พูดถึงวงกงล้อที่เอาแองเตอร์นาซิอองนาลไปร้อง เขาได้เปลี่ยนท่วงทำนองเล็กน้อย จากท่วงทำนองที่เป็นสากล คือเขาร้องช่วงแรกจนถึงจบสร้อยครั้งแรกแบบช้าๆ แล้วจึงเข้าทำนองเร็วขึ้นตามแบบสากล (จาก ‘เคยมีหรือพระเจ้าที่มาโปรดช่วย…’) เช่นเดียวกับกรณีเพลงภูพานปฏิวัติ ซึ่งเขาเริ่มร้องอย่างช้าๆสามวรรคแรก (‘ยืนตระหง่านฟ้า แผ่ไพศาลทิวยาวยอดสูงสง่า ภูพานมิ่งขวัญคู่หล้าแหล่งไทย’) แล้วจึงร้องเร็วตามแบบฉบับของพรรค โดยส่วนตัวผมว่าทำให้ไพเราะกว่าแบบฉบับ โดยเฉพาะเพลงภูพานปฏิวัตินั้น ผมชอบวิธีร้องของกงล้อมากกว่าวิธีแบบฉบับ

ผมได้กล่าวข้างต้นว่า กงล้อบรรเลงภูพานปฏิวัติเปิดการแสดงของตน คือรู้สึกกันว่าการร้องเนื้อจะแรงเกินไป (นี่เป็นเพลงประจำพรรค และยังมีเนื้อหาสดุดีการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรค) ครั้งแรกที่เขาลองร้องเนื้อจริงๆคือ งานชุมนุมประท้วงการจับผู้นำชาวนานักศึกษาภาคเหนือในเดือนสิงหาคม 2518 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสของพคท.ในขบวนการขึ้นถึงขีดสุด (มีความพยายามเอาไอเดียพรรคเรื่องสงครามยืดเยื้อมาประยุกต์ใช้กับการชุมนุมในเมืองเป็นต้น) จำได้ว่าทันทีที่เขาร้องเนื้อกลางเวทีชุมนุม ตอนดึก เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ ซึ่งเป็นเลขาศูนย์นิสิตตอนนั้นได้ยินเข้าโกรธมาก รีบไปต่อว่าที่เวที ช่วงหลังจากนั้น กงล้อก็ยังใช้การบรรเลงทำนองเพลงนี้เปิดการแสดงของเขา แต่ก็เริ่มร้องเนื้อเป็นประจำ แม้จะไม่ทุกครั้งที่แสดง เพราะถึงปี 2519 เพลงของพรรคก็ถูกนำมาร้องบ้างแล้ว เช่น บ้านเกิดเมืองนอน และเพลงเพื่อชีวิตทั่วไปก็มีเนื้อหาที่แรงมากแล้ว โดยเฉพาะเพลงโคมฉาย (‘ข้ามเขาลำธารฟันฝ่าศัตรู กระชับปืนชูสู้เพื่อโลกใหม่ กองทัพประชาแกร่งกล้าเกรียงไกร…’) ซึ่งมักจะถูกร้องคู่กับบ้านเกิดเมืองนอน และวีรชนปฏิวัติ (เขียนถึงตอนนี้ผมเพิ่งรู้ตัวว่าจำเนื้อร้องโคมฉายซึ่งเป็นเพลงโปรดของผมตอนนั้นไม่ได้หมดเสียแล้ว!!)

สำหรับเรื่องการแต่งเพลง The International ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากคอมมูนปารีสนั้น หนังสือรวมเพลงเพื่อชีวิตพิราบขาว ที่อมธ.พิมพ์ในปี 2519 (เข้าใจว่าเป็นฝีมือของสุพจน์ แจ้งเร็ว กับอรรถการ และอาจจะประชาด้วย) เล่าว่า . . . . .


จดหมายฉบับนี้ ผมเขียนได้เพียงเท่านี้ ก็ไม่มีเวลาเขียนต่อ แต่ก็ส่งไป โดยบอกผู้รู้จักท่านนั้นว่า ถ้ามีเวลาจะเขียนเล่าประวัติของเพลง L’Internationale ต่อ อันที่จริง ตอนนั้น เฉพาะเรื่องเพลง ผมก็ไม่ได้รู้มากไปกว่าที่ พิราบขาว เล่าไว้ เฉพาะในส่วนเรื่องคอมมูนปารีสเท่านั้น ที่อาจจะรู้มากกว่าที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนั้นเล็กน้อย

เวลาก็ล่วงเลยมาหลายปี และผมก็ไม่ได้เห็นหน้าค่าตาหรือได้ข่าวคราวผู้รู้จักท่านนั้นอีก และสำเนาจดหมายฉบับที่เขียนไม่จบนี้ ก็ถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์รวมๆกับจดหมายและบทความที่เขียนไม่จบอีกหลายชิ้น แต่ก็ยังจำได้รางๆอยู่ จนเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมแวะไปที่ร้าน PB Foreign Books Center ซึ่งเป็น supplier หนังสือภาษาอังกฤษรายใหญ่ของห้องสมุดธรรมศาสตร์ (และมหาวิทยาลัยอื่นๆ) เพราะเขามีเทศกาลลดราคาหนังสือประจำปี บังเอิญได้เจอหนังสือเกี่ยวกับคอมมูนปารีสเล่มใหม่ เพิ่งพิมพ์เมื่อปี 1999 ชื่อ The Paris Commune 1871 ของ Robert Tombs จึงรีบซื้อไว้ เพราะ ‘สะสม’ หนังสือเกี่ยวกับคอมมูนปารีสอยู่ เฉพาะเล่มนี้ ที่ชอบเป็นพิเศษคือนอกจากจะเล็กกระทัดรัดแล้ว ยังมีบทกวี L’Internationale และคำแปลภาษาอังกฤษในภาคผนวกด้วย ทำให้ผมหวนนึกไปถึงจดหมายที่เขียนค้างไว้ข้างต้น และนึกถึงสัญญาที่ให้ไว้กับผู้รู้จักท่านนั้น สัญญาย่อมเป็นสัญญา แม้จะผ่านมาหลายปี ประกอบกับพอจะมีเวลา ‘ว่าง’ อยู่เล็กน้อย จึงลงมือค้นเรื่องเพลง International ทางอินเตอร์เน็ตดู ปรากฏว่าได้ข้อมูลที่น่าสนใจบางอย่าง เช่น ในภาษาอังกฤษ เพลงนี้มีอยู่ถึง 4-5 เวอร์ชั่น (อังกฤษ, อเมริกัน, อัฟริกาใต้ และยังมีเวอร์ชันใหม่ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ คือยุคหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายด้วย) และทำให้เกิดปัญหาว่า เวอร์ชั่นภาษาไทยของจิตร ภูมิศักดิ์ นั้นแปลมาจากไหน เพราะดูแล้วไม่ใกล้เคียงกับเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษไหนเลย ในส่วนเวอร์ชั่นไทยอีกอันหนึ่ง (‘แองเตอร์นาซิอองนาล’) นั้น คิดว่าคงแปลมาจากภาษาจีนจริงๆ สำหรับเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษที่สำคัญที่สุด 2 อัน คือของอังกฤษและอเมริกัน มีดังนี้


The Internationale
British version

Arise ye workers from your slumbers
Arise ye prisoners of want;
For reason in revolt now thunders
And at last ends the age of cant.
Away with all your superstitions
Servile masses arise, arise!
We'll change henceforth the old tradition
And spurn the dust to win the prize.

So comrades, come rally
And the last fight let us face
The Internationale
unites the human race!

No more deluded by reaction
On tyrants only we'll make war
The soldiers too will take strike action
They'll break ranks and fight no more
And if those cannibals keep trying
To sacrifice us to their pride
They soon shall hear the bullets flying
We'll shoot the generals on our own side.

So comrades, come rally
And the last fight let us face
The Internationale
unites the human race!

No saviour from on high delivers
No faith have we in prince or peer
Our own right hand the chains must shiver
Chains of hatred, greed and fear
E'er the thieves will out with their booty
And give to all a happier lot.
Each at the forge must do their duty
And we'll strike while the iron is hot!

So comrades, come rally
And the last fight let us face
The Internationale
unites the human race!



The Internationale
USA-version

Arise, you prisoners of starvation!
Arise, you wretched of the earth!
For justice thunders condemnation:
A better world's in birth!
No more tradition's chains shall bind us,
Arise, you slaves, no more in thrall!
The earth shall rise on new foundations:
We have been naught, we shall be all!

'Tis the final conflict;
Let each stand in their place!
The international working class
Shall be the human race.

We want no condescending saviors
To rule us from their judgment hall,
We workers ask not for their favors
Let us consult for all:
To make the thief disgorge his booty,
To free the spirit from its cell,
We must ourselves decide our duty,
We must decide and do it well.

'Tis the final conflict;
Let each stand in their place!
The international working class
Shall be the human race.

The law oppresses us and tricks us,
the wage slave system drains our blood;
The rich are free from obligation,
The laws the poor delude.
Too long we've languished in subjection,
Equality has other laws;
"No rights," says she "without their duties,
No claims on equals without cause."

Behold them seated in their glory
The kings of mine and rail and soil!
What have you read in all their story,
But how they plundered toil?
Fruits of the workers' toil are buried
In strongholds of the idle few
In working for their restitution
the men will only claim their due.

We toilers from all fields united
Join hand in hand with all who work;
The earth belongs to us, the workers,
No room here for the shirk.
How many on our flesh have fattened!
But if the noisome birds of prey
Shall vanish from the sky some morning
The blessed sunlight then will stay.


สำหรับยูเชเน่ ปอตติเย่ (Eugène Pottier) นั้น เกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 1816 ในครอบครัวยากจนในกรุงปารีส เขาเคยทำงานเป็นกรรมกรบรรจุหีบห่อในโรงงานและในระยะหลังทำงานออกแบบบล็อกลายผ้า เมื่ออายุ 14 ปี ก็แต่งเพลงแรกในชีวิต ชื่อ เสรีภาพจงเจริญ! (Long Live Liberty!) เขาเข้าร่วมการปฏิวัติปี 1848 ต่อมาได้เป็นสมาชิกสมาคมกรรมกรสากล (International Working Men’s Association) ที่ภายหลังรู้จักกันในนาม ‘สากลที่หนึ่ง’ (First International) ซึ่งเป็นองค์กรที่มาร์กซเข้าไปมีบทบาทนำทางความคิด ในระหว่างเหตุการณ์คอมมูนปารีส (มีนาคม-พฤษภาคม 1871) ปอตติเย่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาของคอมมูน เมื่อคอมมูนพ่ายแพ้ในเดือนพฤษภาคม 1871 เขาลี้ภัยไปอังกฤษและสหรัฐอเมริกา (ซึ่งในระหว่างนั้นเขาถูกฟ้องศาลและตัดสินประหารชีวิต) เขาสามารถเดินทางกลับฝรั่งเศสได้ในปี 1887 แล้วเข้าร่วมกับพรรคกรรมกรฝรั่งเศส แต่มีชีวิตอยู่ไม่นาน ก็ถึงแก่กรรมในสภาพที่ยากจนในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น หนังสือรวมบทกวี 2 เล่มของเขาได้รับการตีพิมพ์ในปี 1884 และ 1887

ปอตติเย่เขียนบทกวี L’Internationale เพื่อสดุดีคอมมูนปารีส ในเดือนมิถุนายน 1871 โดยอุทิศให้กับ Gustave Le Francais เพื่อนสมาชิกสภาคอมมูน (อย่างไรก็ตาม ผมพบข้อมูลบางแห่งที่กล่าวว่า ร่างแรกของบทกวีนี้ เขียนตั้งแต่ปี 1870) บทกวีนี้ ไม่ได้กลายเป็นเพลง จนกระทั่งหลังจากปอตติเย่ถึงแก่กรรมแล้ว โดยในปี 1888 สาขาพรรคกรรมกรฝรั่งเศสในเขตเมือง Lille ได้จัดตั้งคณะนักร้องประสานเสียงชื่อ ‘พิณของคนงาน’ (La Lyre des Travailleurs) และได้ขอร้องให้ Pierre Degeyter สมาชิกคนหนึ่งของคณะ ซึ่งเริ่มชีวิตการเป็นคนงานตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ แต่เคยผ่านโรงเรียนฝึกฝนดนตรี (Lille Conservatorium of Music) ทำให้มีความสามารถทั้งเล่นเครื่องดนตรีและแต่งเพลง ให้เอาบทกวีของปอตติเย่นี้ไปใส่ทำนอง เพลง L’Internationale ที่มีคำร้องของปอตติเย่และทำนองดนตรีของ Degeyter ได้รับการแสดงต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 1888 โดยคณะพิณของคนงาน เพลงนี้ได้รับความนิยมในหมู่คนงานฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว แต่ครั้งแรกที่เพลงเริ่มเป็นที่รู้จักของขบวนการสังคมนิยมนอกฝรั่งเศสคงจะเป็นในการประชุมสมัชชาพรรคกรรมกรฝรั่งเศสในปี 1896 ทีจัดขึ้นที่เมือง Lille เมื่อพวก ‘ชาตินิยม’ ฝ่ายขวาของฝรั่งเศสเดินขบวนประท้วงการที่มีตัวแทนพรรคสังคมนิยมเยอรมันเข้าร่วมประชุมด้วย และถูกคนงานตอบโต้ด้วยการร้องเพลง L’Internationale ต่อมาในปี 1910 บรรดาพรรคสังคมนิยมที่เข้าร่วมประชุมสมัชชาพรรคสังคมนิยมสากลในโคเปนเฮเกน ได้ตกลงรับเอาเพลงนี้เป็นเพลงประจำคณะ (anthem)

ในบทความรำลึกการถึงแก่กรรมครบ 25 ปีของ ปอตติเย่ ที่ตีพิมพ์ใน
ปราฟด้า ฉบับวันที่ 3 มกราคม 1913 เลนิน กล่าวว่า:


In whatever country a class-conscious worker finds himself, wherever fate may cast him, however much he may feel himself a stranger, without language, without friends, far from his native country—he can find himself comrades and friends by the familiar refrain of the Internationale. . . . . When he was composing his first song, the number of worker socialists ran to tens, at most. Eugene Pottier’s historic song is now known to tens of millions of proletarians.


แทบทุกครั้งที่ผมนึกถึงเพลง L’Internationale ก็มักจะนึกถึงคอมมูนปารีส และความเรียงของมาร์ซเรื่อง The Civil War in France ผู้ที่ศึกษามาร์กซมาบ้างคงทราบความสำคัญของความเรียงชิ้นนี้ในระบบความคิดของมาร์กซและในประวัติศาสตร์ของมาร์กซิสม์ ในระยะหลัง งานวิชาการหลายชิ้น ได้ชี้ให้เห็นว่า ในความเรียงนี้ มาร์กซได้สร้างมายาภาพให้กับคอมมูน (mythification) แต่สำหรับผม เมื่อนึกถึงความเรียงนี้ของมาร์กซ ผมกลับนึกไปถึงอีกเหตุการณ์หนึ่ง เหตุการณ์ในเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม 1976 (2519) ในประเทศไทย และประโยคสุดท้ายใน Civil War in France ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงของเหตุการณ์คอมมูนปารีสได้ตามที่มาร์กซตั้งใจ กลับสามารถ - ในใจของผม - พูดแทนความรู้สึกของผมต่อเหตุการณ์หลังได้เป็นอย่างดี:


Working men’s Paris, with its Commune, will be forever celebrated as the glorious harbinger of a new society. Its martyres are enshrined in the great heart of the working class. Its exterminators history has already nailed to that eternal pilory from which all the prayers of their priests will not avail to redeem them.



สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

22 มิ.ย. 2545


ที่มา : วิกิพีเดีย : พูดคุย:แองเตอร์นาซิอองนาล

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: