วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เจ้าจอมมารดา ‘แฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ ซ่อนกลิ่น’ หญิงมอญในราชสำนัก กับนิยายการเมืองเรื่อง ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ และจุดเริ่มต้นของการเลิกทาสในสยาม



เมื่อผู้เขียนเริ่มเปลี่ยนนิสัยการอ่านสมัยอยู่ ‘บ้านโป่ง’ ที่เคยอ่าน ‘พล นิกร กิมหงวน เสือใบ - เสือดำ’ ของ ป.อินทรปาลิต กลายมาเป็น ‘ชาวกรุง’ ย้ายมาอ่านค่าย ‘สยามรัฐ’ และเรื่อง ‘จักรๆวงศ์ๆ’
(สมัยใหม่) ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เขียนติดใจหนังสือแปลอยู่เล่มหนึ่งคือ ‘นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน’ ของ อบ ไชยวสุ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2493 คำนำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์) ซึ่งแปลจากเรื่องThe Romance of the Harem อันเป็นหนังสือเล่มที่สองของ Anna Leonowens

ผู้เขียนจำได้อย่างลางๆและด้วยความรู้สึกประหลาดๆว่าเรื่องในราชสำนักนั้นแสนจะลี้ลับ ซ่อนเร้น ชวนให้ทึ่งและต้องติดตาม แต่ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็หลงเชื่อมานานแสนนานตามวิธีคิดและตีความของอนุรักษ์นิยม
‘ชนชั้นนำไทย’ ว่าแหม่มแอนนานั้น ‘ตอแหล’ เธอ ‘ใส่ไข่’ ลงไปมากมายในหนังสือทั้งสองเล่มของเธอ ไม่ว่าจะเป็น
The English Governess at the Saimese Court (พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1870 หรือ พ.ศ. 2413 ภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 4 เป็นเวลา 2 ปี ) หรือเล่มที่กล่าวข้างต้น (พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1872 หรือ พ.ศ.2415)

ที่ร้ายที่สุดก็คือ ผู้เขียนเคยเชื่อนักเชื่อหนาว่าแหม่มแอนนา

‘หมิ่นสถาบันเบื้องสูง’
(คำใหม่ที่ใช้แทนคำว่า ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’)

เธอเป็นผู้หญิงฝรั่งกระจอกๆหาได้มีความสลักสำคัญใดๆไม่ในการเมืองของราชสำนักพระเจ้ากรุงสยามสมัยถูกจักรวรรดินิยมลัทธิอาณานิคมฝรั่งคุกคามนั้น แม้จะเข้ามารับราชการและสอนหนังสือภาษาอังกฤษให้บรรดาพระโอรสและธิดากับเจ้าจอมหม่อมห้ามในรัชกาลที่ 4 อยู่ถึง 5-6 ปี ระหว่างพ.ศ. 2405 – 2410 (1862 - 1867) ก็ตาม (แหม่มแอนนาบอกว่าเธอมีศิษย์ 20 – 25 องค์)

น่าสนใจว่าศิษย์คนหนึ่งของครูแหม่มแอนนาก็คือ รัชกาลที่ 5 นั่นเอง รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นหนึ่งในบรรดาโอรสและธิดาของรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีทั้งหมด 82 พระองค์ และแอนนาก็เข้ามาบางกอกเมื่อรัชกาลที่ 5 อายุได้ 9/10 พรรษา และเธอกลับออกไปเมื่อพระองค์เจริญวัยได้ 14 พรรษา หรือเพียง 1 ปี ก่อนการสวรรคตของรัชกาลที่ 4 และมีศิษย์อีกคนที่สำคัญของเธอก็คือ เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘ฝ่ายใน’ ของรัชกาลที่ 4 นี่คงเป็นภาพพระราชสำนักสยาม (ที่ฝรั่งเรียกว่า harem ) ที่แสนจะเป็น ‘โอเรียนเตล’ และแสนจะไม่ ‘ศิวิไลซ์’ สำหรับฝรั่งยุควิกตอรีอย่างครูแหม่มแอนนนา

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงนิพนธ์ไว้ใน ‘พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5’ ว่า “ทรงพระราชดำริเห็นว่า ความรู้ฝรั่งจะเป็นวิชาซึ่งจำเป็นสำหรับราชการบ้านเมืองต่อไปในภายหน้า จึงมีรับสั่งให้สืบหาครูฝรั่งที่เมืองสิงคโปร์ ได้หญิงม่ายคนหนึ่ง ชื่อ นางลิโอโนเวนซ์ เป็นครูสอนลูกผู้ดีอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ รับจะเข้ามาสอนภาษาอังกฤษแก่พระเจ้าลูกเธอ จึงโปรดให้ว่าจ้างเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปีจอ พ.ศ.2405 โปรดให้นางลิโอโนเวนซ์เข้ามาสอนที่พระที่นั่งทรงธรรม ในพระบรมมหาราชวัง สอนเฉพาะเวลาก่อนเจ้านายเสด็จขึ้นเฝ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษในสำนักนางลิโอโนเวนซ์อยู่จนทรงผนวชสามเณร (2409)

ผู้เขียนลืมเรื่องครูแหม่มแอนนาไปสนิท แม้จะมีนวนิยายเขียนขึ้นใหม่โดยภริยาอดีตนักการทูต คือ Magaret Landon เรื่อง Anna and the King of Siam (1944/2487) ที่กลายเป็น bestseller และเป็นต้นกำเนิดของหนังฮอลลีวู้ดและละครบรอดเวย์ อย่างเวอร์ชั่นของ Rex Harrison 1946/2489 ที่ไม่ถูกแบนในเมืองไทยยุคประชาธิปไตยเบ่งบานหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเวอร์ชั่นของ Yule Brynner/Deborah Carr 1956/2499 ที่แสนจะสุดฮิต กวาดตุ๊กตาทองไปเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็ถูกแบนในเมืองไทยยุคอำมาตยาเสนธิปไตย/อนุรักษ์นิยมคืนชีพ ผู้เขียนทั้งไม่ได้ดูและไม่ได้อ่าน กล่าวได้ว่าไม่สู้จะสนใจดูหนังเรื่องนั้นสักเท่าไหร่ (เพราะอาจจะยังไม่แตกฉานในภาษาอังกฤษ)

จนกระทั่งไปเรียนเมืองนอกในยุคกลางทศวรรษ 1960s นั่นแหล่ะ ผู้เขียนจึงได้ดูเวอร์ชั่นเพลงแสนสุดเพราะ (เช่น Hello Young Lovers,Shall We Dance,Siamese Children Marching Song,I Have Dreamed) และเวอร์ชั่นนั้น ก็มี Rita Moreno เล่นเป็นเจ้าจอมทับทิมที่มีการแสดงละคร ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ ซ้อนอยู่ในหนังเรื่องนี้

ที่สะกิดใจผู้เขียนมาจากหนังเรื่องนี้ก็คือ ฉากของการแสดงละครซ้อนละครดังกล่าวข้างต้น ให้บรรดาโอรสและธิดาพร้อมด้วยเจ้าจอมหม่อมห้ามแสดงละครจากนิยายยอดฮิต ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ (Uncle Tom’s Cabin) ดังที่เราทราบกันดีว่านวนิยายแห่งคริสตศตวรรษที่ 19 เรื่องนี้ เป็นวรรณกรรมของนักประพันธ์สตรีอเมริกันนาม แฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ (Harriet Beacher Stowe) เธอเป็นหนึ่งในผู้ปลุกกระแสของการเลิกทาส และที่สร้างความงุนงงประหลาดใจให้กับผู้เขียน ก็คือ เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเซ็นชื่อของเธอในจดหมายถึงครูแหม่มแอนนา ว่า Harriet Beacher Stowe Sonklin ช่างเป็นเรื่องเพศสภาวะของสตรีและสิทธิมนุษยชนที่มาก่อนกาลเวลาเสียนี่กระไร และเป็นที่มาของบทความนี้ที่ว่าด้วย 2 สตรี ที่ ‘ไม่ธรรมดา’ คนหนึ่งอยู่ในกรอบประเพณีของโลกตะวันออกของสยาม อีกคนหนึ่งมาจากโลก ‘ศิวิไลซ์’ ของตะวันตก ทั้งสองเป็น ‘มิตร’ เป็น ‘ศิษย์’ เป็น ‘ครู’ ทั้งแตกต่างและทั้งเหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อ

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องของ 2 สตรี ที่ ‘ไม่ธรรมดา’ นี้ ขอแทรกเรื่องของนักประพันธ์สตรีผู้เรืองนามและเคร่งคริสตศาสนา แฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ กับนิยามเอกที่เขย่าโลกเรื่อง Uncle Tom’s Cabin สักหน่อย คงเป็นที่ทราบกันดีว่านวนิยายเอกเรื่องนี้ อ. สนิทวงศ์ นักแปลสตรีมือเอกของเราแปลเป็นไทยชื่อ ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ และตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2495

ส่วน Uncle Tom’s Cabin ฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์รวมเล่มออกมาครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1852 ตรงกับปีที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 และก่อนรัชกาลที่ 5 จะประสูติ 1 ปี คือ ค.ศ.1853 หรือ พ.ศ. 2396 หรือกล่าวให้เห็นได้ชัดเจนอีก ก็คือก่อนที่แหม่มแอนนาจะมาถึงบางกอก 10 ปี เมื่อ พ.ศ. 1862 หรือ พ.ศ. 2405 ซึ่งก็หมายความว่าครูแหม่มแอนนาอยู่ในสยามประเทศ ตรงกับสมัยสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯระหว่าง ค.ศ. 1861 – 1865 นั่นเอง ดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยอะไรที่ครูแหม่มสอนภาษาอังกฤษให้ผู้ดีจากสิงคโปร์ จะมีหนังสือแสนสุดฮิตเล่มนี้ติดมือมาด้วย และกลายเป็นการบ้านอ่านนอกเวลาให้ลูกศิษย์ของเธอในบางกอก

กล่าวโดยย่อ นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่อต่อต้านระบบทาสในสหรัฐฯ และเขียนอย่างบีบคั้นหัวใจคนอ่าน น้อยคนที่อ่านแล้วจะไม่มีน้ำตาไหลพราก อ่านไปร้องไห้ไป สงสารทาส สงสารลุงทอม สงสารเอไลซาและลูกน้อย ที่ต้องกระเสือกกระสนหนีไปตายเอาดาบหน้า ถึงกับมีฉากประทับใจของการกระโดดข้ามไปบนก้อนน้ำแข็งในฤดูหนาว ภาพของทาสที่ต่ำต้อย (ชื่อรองของหนังสือเล่มนี้คือ Live Among the Lowly) ถูกยกให้สูงส่ง มีความงดงาม มีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ในขณะเดียวกันนายทาสก็มีทั้งดีและชั่ว ฝ่ายชั่วช้าอย่างคุณนายเซนต์แคลร์ ก็ดูกาลีบ้านกาลีเมืองเป็นอย่างยิ่ง

กล่าวกันว่า หนังสือขายดีเล่มนี้เป็นหนังสือแห่งศตวรรษที่ 19 จะรองในแง่จำนวนตีพิมพ์ก็แต่คัมภีร์ไบเบิ้ลเท่านั้นเอง และก็เป็นแรงบันดาลใจให้ประธานาธิบดีลินคอร์น เลิกทาสในสหรัฐฯ จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองอเมริกันเมื่อปี ค.ศ. 1861 – 1865 โปรดสังเกตอีกครั้งว่านี่เป็นช่วงที่แหม่มแอนนาอยู่ในบางกอก และเป็นช่วงที่รัชกาลที่ 4 เองก็มีดำริจะส่งช้างศึกไปช่วยประธานาธิบดีสหรัฐ

กล่าวกันอีกว่า ย่อหน้าสุดท้ายของ Uncle Tom’s Cabin ซึ่งเป็นปาฐกถาอมตะว่าด้วยการปลดปล่อยทาสให้เป็นไท โดยยอร์ช นายทาสในเรื่องนั้น กินใจอย่างยิ่ง (เราควรดูไว้เปรียบเทียบกับวาทะปลดปล่อยทาสของนางซ่อนกลิ่น) ดังนี้


“สหายที่รักของฉัน
บนหลุมฝังศพของลุงทอม ฉันได้กล่าวคำปฏิญาณต่อพระเจ้าว่า
ฉันจะไม่ยอมมีทาสไว้ใช้อีกเลย

ในเมื่อสามารถปลดปล่อยทาสเหล่านั้นเป็นไทได้
จะไม่มีผู้ใดต้องเปล่าเปลี่ยวอ้างว้างเหมือนอย่างลุงทอม...
จงคิดถึงอิสระภาพของท่านทุกครั้ง ที่ท่านเห็น กระท่อมน้อยของลุงทอม
ขอให้กระท่อมนี้เป็นเครื่องเตือนใจท่าน ให้ระลึกถึงลุงทอม
สหายที่ดีและซื่อสัตย์ของเรา

แล้วประพฤติตามแบบอย่างอันดีงามของลุงทอม
เพื่อท่านจะได้มีความซื่อสัตย์สุจริต

และโอบอ้อมอารีแก่เพื่อนมนุษย์ทุกคน
เช่นเดียวกับลุงทอมผู้เป็นเจ้าของกระท่อมน้อยหลังนี้”

(คำแปลของ อ. สนิทวงศ์)


ย้อนกลับไปเรื่องของซ่อนกลิ่น และครูแหม่มแอนนา กล่าวคือ ราชสำนักและชนชั้นเจ้านายและขุนนางในสมัยอยุธยา – ธนบุรี – และกรุงเทพฯ นั้น มีธรรมเนียมโบราณที่สืบทอดกันมา คือการแต่งานดองกันอยู่ในกลุ่มของตน ‘วงศ์อสัญแดหวา’ หรือ ‘เรือล่มในหนอง’ ที่สำคัญคือมีการถวายธิดาหรือไม่ก็พี่สาวน้องสาวให้กับพระมหากษัตริย์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นระบบของการสร้างเครือข่ายและการรักษาพระราชอำนาจ กับสร้างความมั่นคงให้กับทั้งราชวงศ์และราชอาณาจักร (ภาษาชาวบ้านก็คงจะเรียกว่า คลุมถุงชน นั่นเอง)

ธรรมเนียมดังกล่าวสืบทอดกันมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ดังจะเห็นได้จากจำนวนเจ้าจอมหม่อมห้ามและพระโอรสพริดาของพระองค์ จนกระทั่งตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เป็นต้นมานั่นแหล่ะ ที่คติความเชื่อว่าการมีภริยาคนเดียว (หรืออย่างน้อยก็มีไว้ออกหน้าเป็นทางการคนเดียว) เป็นเรื่องของ
‘ความศิวิไลซ์’ เป็นเรื่องของความเจริญก้าวหน้าและทันสมัย (ไม่ป่าเถื่อน ล้าหลัง หรือโบราณคร่ำครึ)

ดังนั้นย้อนกลับไปเมื่อ รัชกาลที่ 4 ขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อปี พ.ศ. 2394/1851 เมื่อพระชนมายุได้ 47 พรรษา (เนื่องจากต้องทรงผนวชด้วยสาเหตุทางการเมืองของราชสำนักอยู่ถึง 27 พรรษา ระหว่าง พ.ศ.2367/1824 ถึง พ.ศ.2394/1851) ก็มีการถวายสตรีสูงศักดิ์จากบรรดาตระกูลของเจ้านายและขุนนางเป็นจำนวนมาก

ทำให้ทรงมีพระโอรสและธิดาถึง 82 พระองค์
ภายในระยะเวลาการครองราชย์ 17 ปี
(ระหว่าง พ.ศ. 2394/1851 ถึง พ.ศ. 2411/1868)

ซ่อนกลิ่นก็เป็นหนึ่งในสตรีสูงศักดิ์ร่วมร้อยที่ถูกถวายตัวเข้าไปเมื่อเธออายุได้ประมาณ 20 ปี เธอเป็นธิดาของพระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ที่คุมกำลังคนมอญเกือบทั้งหมดในสยามประเทศสมัยนั้น ความสำคัญลำดับต่อมา คือเมื่อเธอถูกถวายตัวกับรัชกาลที่ 4 แล้ว ก็กลายเป็นเจ้าจอมมารดา มีโอรส คือ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร ต้นสกุล กฤษดากรฯ ประสูติ 7 พฤษภา 2398/1855) เอกสารบางชิ้นก็เรียกเธอว่า ‘กลิ่น’ เฉยๆ เธอมีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2378 -2468 หรือ ค.ศ. 1835 – 1952 กล่าวคือเกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 และสิ้นชีวิตปลายรัชกาลที่ 6 อายุยืนยาวร่วม 90 ปี

ถ้าจะพิจารณาดูเผินๆ ชีวิตและงานของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นก็ไม่แตกต่างจากบรรดาสตรีสูงศักดิ์ ‘ฝ่ายใน’ สมัยนั้นเท่าไร เรามักจะจดจำหรือมีภาพลักษณ์ของเธอในแง่ของจริยวัตรอันงามแห่งราชสำนัก ของการเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา ของการทำกับข้าวกับปลาเก่ง ไม่ว่าจะเป็นข้าวแช่ชาววัง ปลาสลิด ฯลฯ

แต่จากการที่เธอปรากฏตัวอยู่ในหนังสือว่าถูกลงโทษขังคุกอยู่ระยะเวลาหนึ่ง (ดูบทที่ 18 “เจ้าจอมในคุกมืด” ในนวนิยายของ Magaret Landon เรื่อง Anna and the King of Siam บทแปลล่าสุดของกัณหา แก้วไทย “แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม” พิมพ์ปี 2542 น่าสังเกตว่าเรื่องนี้ไม่ปรากฏในฉบับดั้งเดิมของแหม่มแอนนา) การที่เธอถูกจดจำอีกว่ามีเมตตาต่อไพร่ทาสของเธอ ถึงขนาดปลดปล่อยและให้เงินค่าจ้างตอบแทน ฯลฯ ก็ทำให้ ‘ซ่อนกลิ่น’ ดูจะโดดเด่นล้ำยุค เธอดูจะมีสายตาและทัศนะอันกว้างไกล ต้องการรู้ภาษา (อังกฤษ) ของอนาคต แม้จะอยู่ในโลกอันจำกัดคับแคบของชาววังก็ตาม ดังนั้นเธอจึงได้รับคำชมจากครูแหม่มแอนนาว่า “เป็นศิษย์ที่มีความขยันหมั่นเพียร และมาเรียนเสมอมิได้ขาด ผิดกับผู้หญิงอื่นๆที่เรียนบ้างหยุดบ้าง”

แหม่มแอนนากล่าวถึงซ่อนกลิ่นไว้อย่างชื่นชมว่า


“บุคคลหนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณในน้ำใจไมตรีของเธออย่างสุดขีด
จะลืมไม่ได้นี้ คือ คุณจอมมารดาซ่อนกลิ่น
นามของเธอมีความหมายในตัวอย่างเหมาะสมที่สุด
และเธอผู้นี้ก็เป็นผู้หญิงที่แช่มช้อยอ่อนหวานสมนามโดยแท้ทีเดียว
ดวงตาอันมีสีดำดุจนิลของเธอมีประกายแจ่มใส

แต่ทว่าสงบเยือกเย็น ริมฝีปากอิ่มเอม
แม้จะแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีนิสัยเด็ดเดี่ยว

ก็มิทิ้งรอยแห่งความละมุนละไมแย้มยิ้มเป็นเนืองนิตย์

ถึงแม้ว่าซ่อนกลิ่นจะถูกรอนโอกาสที่จะได้

ร่วมรักร่วมชีวิตแบบผัวเดียวเมียเดียว
อันเป็นยอดปรารถนาของผู้หญิงทั่วไปแล้วก็ตาม
ท่วงทีอันเยือกเย็นเป็นสง่าของเธอก็ส่อให้เห็นว่าเป็นผู้ชนะน้ำใจตนเอง
ยอมรับในชะตากรรมที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้

อย่างภาคภูมิสมเป็นผู้ดีแท้

ฉะนั้น เมื่อกระแสแห่งชีวิต

ได้พัดพาเธอให้ตกลงสู่แอ่งอันมิสามารถจะพ้นผ่านไปนี้แล้ว
พระผู้เป็นเจ้าก็ประทานสิ่งตอบแทนให้ชีวิตอันอับเฉาของเธอ
ได้รับความสดชื่นกลับคืนมา
และสิ่งนั้นก้คือโอรสน้อยน่าเอ็นดูคนเดียวของเธอ คือ

พระองค์เจ้ากฤษาภินิหาร ”


กล่าวกันว่าเธออ่านหนังสือที่ครูแหม่มแอนนาให้เป็นการบ้านคือ
Uncle Tom’s Cabin จนแตกฉาน สามารถแปลเป็นภาษาไทยได้ ผู้เขียนยังไม่เคยพบหลักฐานหรือต้นฉบับการแปลนี้ และก็เกิดคำถามเล็กๆในใจว่า ถ้าเธอแปลจะแปลเป็นไทยหรือเป็นมอญ เพราะซ่อนกลิ่นดูจะรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นมอญไว้อย่างไม่น้อย ดังที่เราทราบกันดีว่าในวังของกรมพระนเรศฯนั้นเต็มไปด้วยข้าราชสำนักที่เป็นมอญ ใช้ภาษามอญ แม้องค์พระนเรศฯเองก็เจาะหูใส่ตุ้มตามธรรมเนียมมอญ (พม่า) และที่สะกิดใจผู้เขียนอย่างยิ่งดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็คือการที่เธอถึงกับเซ็นชื่อในจดหมายถึงครุแหม่มแอนนาว่า Harriet Beacher Stowe Sonklin ถ้าจะพูดด้วยภาษาสมัยนี้ ก็คือ เธอดูจะ ‘อิน’ กับนามนักประพันธ์สตรีผู้ก่อให้เกิดกระแสการเลิกทาสครั้งใหญ่ที่ดังระเบิดไปทั่วโลกเป็นอย่างยิ่ง ไม่ทราบว่าความเป็น ‘มอญ’ ของเธอ แม้ว่าเธอจะมิใช่ทาส (ตามกฎหมายสมัยนั้น) แต่ความที่เธอต้องถูกถวายตัวเข้าไปเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามแต่อายุยังไม่มากนัก ต้องอยู่แต่ในรั้วในวัง ก็ทำให้เธอสามารถจะ ‘ซาบซึ้ง’ และ ‘ซึมซับ’ เรื่องของทาสใน ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ ได้โดยไม่ยากนัก เราต้องไม่ลืมว่าเรื่องของการเลิกทาสในสมัยนั้นเป็นกระแสใหญ่มากระดับสากล และมหาอำนาจอันดับหนึ่งคือ อังกฤษเอง ก็ได้ประกาศเลิกทาสทั้งหมดในจักรวรรดิของตน (British Empire) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1833 ก่อนรัชกาลที่ 4 จะเสวยราชสมบัติถึง 18 ปี ก่อนหนังสือ Uncle Tom’s Cabin จะตีพิมพ์ครั้งแรก 19 ปี และก่อนครูแหม่มแอนนาจะเข้ามาบางกอกพร้อมด้วยหนังสือเล่มนั้น 29 ปี

ครูแหม่มแอนนาเล่าตรงนี้ว่า


“มิตรรักของข้าพเจ้าคนนี้ ยังมีความขยันในการศึกษาหาความรู้
เธอเรียนหนังสือฝรั่งกับข้าพเจ้าจนชำนาญ
พอที่จะอ่านหนังสือฝรั่งได้เรื่องรายละเอียดถูกต้อง
หนังสือที่เธอชอบอ่านที่สุดคือ ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’
เธออ่านแล้วอ่านอีก จนรู้จักตัวละครขึ้นใจหมดทุกๆคน
เวลาพูดถึงบุคคลในเรื่องนี้
เธอจะเอ่ยราวกับว่าเป้นผู้คุ้นเคยของเธอมานานปีแล้วฉะนั้น”


ครูแหม่มแอนนายังได้เล่าเรื่องของซ่อนกลิ่นต่อไปละเอียดละออว่า เธอได้รับเชิญให้ไปดินเนอร์ที่เรือนของเจ้าจอมซ่อนกลิ่น เธอพาลูกชายไปด้วย หลุยส์นั่งเก้าอี้ตัวเดียวกันกับพระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร มีบ่าวมอญ อาหารมอญ ปลา ข้าว วุ้นเส้น หมี่ผัด เนื้อวัว นก ปรุงหลายรส ขนมหวานหลายชนิด ของหวานคือผลไม้กวนหรือแช่อิ่มและผลไม้สด เสร็จอาหารก็มีวงมโหรี

แอนนาเล่าว่าในงานคืนนั้นพวกทาสในเรือนคุณซ่อนกลิ่นคลานตามกันออกมาทั้งลูกทั้งหลานรวมด้วยกันเป็นจำนวนถึงหนึ่งร้อยสามสิบสองคน (132)

ถึงตรงนี้ก็เป็น ‘ไคลแมกซ์’ ของงานดินเนอร์ค่ำคืนนั้น
เมื่อซ่อนกลิ่นกล่าวกับแอนนา (คำแปลของอบ ไชยวสุ) ว่า


“ฉันอยากจะเป็นคนดีเหมือน แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์
(คือผู้ประพันธ์เรื่อง กระท่อมน้อยของลุงทอม)
ตั้งแต่นี้ต่อไปดิฉัน จะเลิกซื้อเพื่อนมนุษย์มาเป็นทาส
เว้นไว้แต่จะซื้อมาเพื่อปล่อย ปล่อยให้เขาเป็นไทแก่ตัวไป
นับแต่วันนี้เรือนดิฉัน จะไม่มีผู้ใดขึ้นชื่อว่าเป็นทาสอีกเลย
เราจะเรียกเขาว่าคนรับใช้
เพราะวันนี้ ดิฉันอนุญาตให้เขาเป็นไทแก่ตัวได้ทุกคน
ผู้ใดจะไปจากดิฉันก็ยินดีให้ไป
หรือผู้ใดจะอยู่ก็ยินดีรับไว้
ดิฉันจะให้เงินเดือนคนรับใช้คนละ 4 บาท
ให้อาหารและเครื่องนุ่งห่มด้วย”



โปรดสังเกตคำเปรียบเทียบ
คำพูดของซ่อนกลิ่นที่กล่าวอ้างโดยครูแหม่มแอนนาที่ว่า

“ตั้งแต่นี้ต่อไปดิฉัน จะเลิกซื้อเพื่อนมนุษย์มาเป็นทาส
เว้นไว้แต่จะซื้อมาเพื่อปล่อย ปล่อยให้เขาเป็นไทแก่ตัวไป”


เทียบกับคำพูดของนายทาสยอร์ชจากนวนิยาย
‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ ที่ว่า

“บนหลุมฝังศพของลุงทอม ฉันได้กล่าวคำปฏิญาณต่อพระเจ้าว่า
ฉันจะไม่ยอมมีทาสไว้ใช้อีกเลย ในเมื่อสามารถปลดปล่อยทาสเหล่านั้นเป็นไทได้”

แล้วครูแหม่มแอนนา ก็จบหนังสือของเธอว่าด้วยซ่อนกลิ่น ดังนี้


“ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
คุณซ่อนกลิ่นก็มักจะเซ็นชื่อเธอในจดหมาย
ถึงข้าพเจ้า แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์...
และเพื่อเป็นที่ระลึกถึงว่าเธอได้จำเริญรอยตามทางปฏิบัติอันงดงาม
สมด้วยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเทศนาโปรดพระราชา..

ให้ทรงระลึกถึงสิทธิความเป็นมนุษย์



ปัจจฉิมลิขิต

ผู้เขียนยังไม่มีหลักฐาน และยังไม่ได้ค้นคว้าทางวิชาการที่จะยืนยันประกอบเรื่องการเลิกทาส (เปลี่ยนให้เป็นคนรับใช้ มีเงินเดือน) ของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มที่สองของแอนนา The Romance of Harem ที่อบ ไชยวสุ แปลมานมนานแล้ว แต่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้คือ

หนึ่ง)
การเลิกทาสของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ตามคำบอกเล่าของครูแหม่ม น่าจะก่อนขึ้นประมาณปีพ.ศ. 2410 หรือ ค.ศ. 1867 คือก่อนที่รัชกาลที่ 4 จะสวรรคต 1 ปี และก่อนที่ครูแหม่มแอนนาจะกลับออกไปจากสยาม และที่สำคัญคือก่อนประกาศ (นโยบายและแนวทาง) เลิกทาสของรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2417 หรือ ค.ศ.1874 ประมาณ 7 ปี นี่ไม่ใช่เรื่อง ‘ธรรมดาๆ’ และดูออกจะล้ำยุคด้วยซ้ำไป

สอง)
ดังนั้น สตรีทั้งสองก็ ‘ไม่ใช่ธรรมดาๆ’ ดังที่กล่าวมาแล้ว นางหนึ่งมาจากโลกตะวันตกยุควิกตอเรีย อีกนางหนึ่งเป็นเชื้อสายมอญ ที่อยู่ในราชสำนักของพระเจ้ากรุงสยาม ที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง สตรีทั้งสองดูจะชื่นชมเคารพนับถือในความแตกต่างกันของอัตลักษณ์ฝรั่งกับสยาม แต่สตรีทั้งสองก็ดูมีความสำนึกที่ร่วมกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเคารพในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดทางศาสนาของ ‘กันและกัน’ ไม่ว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระเยซูเจ้า ไม่ว่าจะความเชื่อว่าด้วย ‘อิสรเสรีภาพ’ หรือสิทธิของมนุษยชน

สาม)
นี่ ก็คือเหตุที่เราต้องประเมินทั้งครูแหม่มแอนนาและเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นในสายยตาและทัศนะใหม่ๆ แหม่มแอนนาเป็นมากกว่า ‘ครูฝรั่งวังหลวง’ หรือ ‘ตอแหล’ ‘ซุกซน’ ‘จุ้นจ้าน’ (ดูปรามินทร์ เครือทอง ‘จดหมายคิงมงกุฎ ถึง แอนนา เมื่อครูแหม่มเล่นบทนักเจรจาความเมือง’ ศิลปวัฒนธรรม 1 เมษายน 2547) และเราก็คงต้องประเมิน ‘ซ่อนกลิ่น’ มากไปกว่าความเป็นธิดามอญผู้สูงศักดิ์ทรงอิทธิพล หรือเป็นเพียง ‘ฝ่ายใน’ ที่จะผลิตเพียงโอรสหรือธิดา เป็นเพียงช้างเท้าหลัง เป็นเพียงแม่ครัวฝีมือดี เป็นเพียงผู้เคร่งครัดในธรรมเนียมประเพณีและพุทธศาสนา

สี่)
ครูแหม่มแอนนาจากสยามและจากซ่อนกลิ่นไปเมื่อปี พ.ศ. 2410 เพียงหนึ่งปีของการสวรรคตของรัชกาลที่ 4 เธอจากไปเมื่อศิษย์ของเธอนามซ่อนกลิ่นอายุได้ 32 ในขณะที่ศิษย์ผู้ลูก พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหารชนมายุ 12 พรรษา และศิษย์ผู้จะทรงเป็นรัชกาลที่ 5 มีพระชนมายุเพียง 14 พรรษา ครูแหม่มแอนนากล่าวถึงกษัตริย์องค์ใหม่ของสยามไว้ในหนังสือเล่มแรก (The English Governess...1870 ในบทที่ว่าด้วย The Heir – Apparent ว่า “The Prince Somdetch Chowfa Chulalongkorn was about ten years old when I was appointed to teach him...he was handsome lad; of stuture neither noticeably tall nor short; figure symmetrical and compact, and dark complexion. He was, moreover, and affectionate, eager to learn, and easy to influence” ในบทดังกล่าว ครูแหม่มแอนนาให้รายละเอียดกับพิธีโสกัณต์ของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นอย่างดียิ่ง เธอน่าจะเป็นครูถวายอักษรภาษาอังกฤษให้กับกษัตริย์พระองค์ใหม่อยู่ถึง 4-5 ปี ระหว่างที่มีพระชนมายุ 9/10 ถึง 13/14 พรรษา อันเป็นวัยที่กำลังศึกษาเล่าเรียนและเรียนรู้อย่างเต็มที่)

เมื่อข่าวสวรรคตของรัชกาลที่ 4 มีไปถึงแอนนาซึ่งขณะนั้นได้ย้ายไปอยู่นิวยอร์คแล้ว เธอได้ส่งหนังสือมาแสดงความเศร้าโศกเสียใจ และเธอได้รับสารตอบจากยุวกษัตริย์พระองค์ใหม่ คือรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์เองจากพระที่นั่งอมริทรวินิจฉัย ลงวันที่ Marchc 6th 1869 และเป็นวันที่ 114 ของรัชกาลใหม่ ทรงใช้คำเรียกแหม่มแอนนาว่า Dear Madam และทรงลงพระปรมาภิไธยว่า Somdetch Phra Paramender Maha Chulalongkorn Klau Choueyu Hua, Supreme King of Siam

ห้า)
เราคงจำกันได้ว่ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา เมื่อขึ้นครองราชสมบัติครั้งแรก และต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือ (สมเด็จ) เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อยู่ถึง 5 ปี ในช่วงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น ได้เสด็จต่างประเทศในทำนองของการศึกษาดูงาน ครั้งแรกไปสิงคโปร์ ชวา (9 มีนาคม ถึง 15 เมษายน 2413/1871) ครั้งที่สองไปมะละกา ปีนัง มะละแหม่ง ย่างกุ้ง และอินเดีย (2414/1871-72) และเมื่อพระชนมพรรษาได้ 20 ขึ้นครองราชย์อีกครั้ง สิ่งแรกๆที่ทรงทำก็คือ

ก.) ทันทีที่ทรงบรรลุนิติภาวะ มีพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงมีพิธีราชาภิเษกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2416 ค.ศ. 1873 กุทรงมีประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ (จุลศักราช 1235 พ.ศ. 2416 ค.ศ.1873) ให้ผู้น้อยเลิกหมอบคลาน กราบไหว้ต่อเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันจันทร เดือน 8 แรม ค่ำ 1 ปีจอฉศก 1236) “ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในมหาประเทศต่างๆซึ่งเป็นมหานครอันใหญ่ ในทิศตะวันออกตะวันตก ในประเทศอาเซียนี้ ฝ่ายตะวันออกคือ ประเทศจีน ประเทศยวน ประเทศยี่ปุ่น แลฝ่ายตะวันตก คืออินเดีย แลประเทศที่ใช้การกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านาย แลผู้มีบรรดาศักดิ์ที่เหมือนกับธรรมเนียมในสยามประเทศนั้น บัดนี้ประเทศเหล่านั้นเขาก็ได้เลิก เปลี่ยนธรรมเนียมกันหมดทุกประเทศด้วยกันแล้ว การที่เขาได้พร้อมกันเลิก เปลี่ยนธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้นั้น ก็เพราะเพื่อจะได้เหนความดี ที่จะไม่มีการกดขี่แก่กันในบ้านเมืองนั้นอีกต่อไป...ก็เหนว่ามีแต่ความเจริญมาทุกๆเมืองโดยมาก ก็ในสยามประเทศนี้ ธรรมเนียมบ้านเมืองที่เปนการกดขี่แก่กัน อันไม่ต้องด้วยยุติธรรมนั้นก็ยังมีอยู่อีกหลายอย่าง หลายประการ จะต้องคิดลดหย่อนผ่อนเปลี่ยนเสียบ้าง...ให้พึงรู้ว่าการที่เปลี่ยนธรรมเนียมใหม่เลิกหมอบคลาน ให้ยืน ให้เดินนั้น เพราะจะให้เหนเปนแน่ว่าจะไม่มีการกดขี่แก่กัน ในการที่ไม่เปนยุติธรรมอีกต่อไป”


ข.)
และทันทีอีกเช่นกัน เพียงในปีถัดมา พ.ศ. 2417 ค.ศ.1874 ก็ทรงตรา “พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท” โดยกำหนดว่าลูกทาสที่เกิดในรัชกาลของพระองค์นับแต่ปี พ.ศ. 2411 ให้ใช้ค่าตัวอัตราใหม่ พออายุได้ 21 ปี ก็จะเป็นอิสระ ดังนั้นทาสที่เกิดในปี 2411 ก็เป็นอิสระในปี 2432 เกิด พ.ศ. 2412 ก็เป็นอิสระในปี 2433 ตามลำดับ กล่าวโดยย่อนี่ไม่ใช่ ‘การเลิกทาส’ ในความหมายของการเลิกในระดับสากล แต่เป็นทั้งแนวนโยบายและกระบวนการของการ ‘ปล่อยทาส’ มากกว่า และกว่าจะ ‘เลิกทาส’ ได้ทั้งหมดก็ต้องถึงปี พ.ศ. 2451 เกือบจะปลายรัชกาลเข้าไปแล้ว และกินเวลาถึงกว่า 30 ปี (เรื่องการ ‘เลิก’ หรือ ‘ปล่อย’ ทาสนี้ควรดูควบคู่กับการ ‘เลิกไพร่’ ที่มี ‘การเกณพ์แรงงาน’หรือ ‘การเกณฑ์ส่วย’ ให้กลายมาเป็น ‘การเกณฑ์ทหาร’ ในพ.ศ. 2448 ค.ศ. 1905 ตอนปลายรัชกาลเช่นกัน )


กล่าวโดยสรุป นอกเหนือจากการประเมินบทบาทของสตรีทั้ง 2 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เรายังต้องประเมินบทบาทของครูแหม่มแอนนาต่อศิษย์จำนวนมากของเธอ ที่เป็นโอรสและธิดาของรัชกาลที่ 4 ที่มีทั้งเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ที่ทรงเป็นรัชกาลที่ 5 ผู้นำของสยามรุ่นนี้นำมาซึ่ง ‘การปฏิรูป’ นำมาซึ่ง ‘ราชอาณาจักรสยามใหม่’ ที่เกิดขึ้นในบริบทของโลกสมัยใหม่ ที่มีวิทยาการ วิทยาศาสตร์ แนวความคิด ระบบและระเบียบใหม่ๆ ครูแหม่มแอนนาเป็นส่วนหนึ่งของโลกสมัยนั้น ที่มาจากศูนย์กลางใหม่ของโลกในตะวันตก ที่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสยามประเทศมากกว่าที่เราเคยรับรู้และเชื่อถือกัน


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

เนื่องในเสวนา ‘มอญในสยามประเทศ(ไทย) :
ชนชาติ บทบาท และบทเรียน’ 30 พ.ค. 51 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


ที่มา : ข่าวประชาไท : มองผ่าน ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ ถึง‘แหม่มแอนนา’ สู่ ‘เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น’ และการปฏิรูประบบทาสในสยาม


หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางส่วนทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: