วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551

“การรุกกลับขั้นแตกหัก” ของเผด็จการอำมาตยาธิปไตย


ชัยชนะของพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 และการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ ได้สร้างความผิดหวังอย่างรุนแรงแก่กลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตย

ในอดีต ระบอบรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารทุกครั้งก็เป็นเพียงการต่อเนื่องของอำนาจรัฐจารีตนิยมในรูปแบบแฝงเร้น ที่สวมเสื้อคลุมเป็นระบอบเลือกตั้ง มีรัฐสภา แต่มีรัฐบาลพลเรือนที่อ่อนแอและเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดที่ว่านอนสอนง่ายของพวกอำมาตยาธิปไตย

แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 กลับเป็นครั้งแรกที่เป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับอำนาจนิยมที่ร่างโดยคณะรัฐประหารที่นำมาซึ่งรัฐบาลที่มีพรรคแกนนำและมวลชนสนับสนุนที่เป็นพลังต้านรัฐประหารโดยตรง นี่จึงเป็น "ความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์" ที่สำคัญของอำมาตยาธิปไตย สะท้อนอย่างชัดเจนว่า นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน จนถึงวันเลือกตั้ง พวกเขาประสบความล้มเหลวโดยพื้นฐานในการทำลายล้างพลังการเมืองประชาธิปไตยของกลุ่มทุนใหม่และขบวนมหาประชาชน

ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้เรียนรู้จากความล้มเหลวของรัฐประหาร 19 กันยายน ว่า พวกตนประเมินอิทธิพลของอดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยในหมู่มวลชนต่ำเกินไป ไม่เข้าใจว่า พลังความนิยมของอดีตผู้นำไทยรักไทยนั้นแผ่กว้างและหยั่งรากลึกในหมู่มวลชน ยิ่งกว่านั้น พวกเขารู้ตัวแล้วว่า รัฐประหาร 19 กันยายนที่โค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทยที่มาจากการเลือกตั้ง กลับกลายเป็นพลังกระตุ้นให้มวลชนชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบท รวมตลอดถึงปัญญาชนและชนชั้นกลางในเมืองที่ก้าวหน้า ได้ตื่นตัวทางการเมืองประชาธิปไตยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน รวมตัวจัดตั้ง กลายเป็นกองทัพหลวงอันเหนียวแน่นของประชาธิปไตย ประกอบด้วยกลุ่มองค์กรมหาประชาชนหลากหลายทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด พร้อมกับสื่อสารมวลชนทางเลือกออนไลน์ในมือที่ทรงพลัง ขับเคลื่อนโดยนักรบไซเบอร์ที่ชาญฉลาด กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ประกอบกันขึ้นแนวร่วมมหาประชาชนประชาธิปไตยที่ทรงพลัง

แทนที่ค่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยจะยอมรับความจริงว่า ประชาชนได้ตื่นขึ้นแล้ว ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว บัดนี้ ประชาชนไม่ยินยอมให้ถูกปฏิบัติเยี่ยงไพร่ทาสธุลีได้อีกต่อไป และสรุปบทเรียนว่า สมควรถึงเวลาคืนอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงให้แก่ปวงชนชาวไทยแล้ว เพื่อที่พวกเขาจะยังสามารถรักษา “สวรรค์น้อย ๆ” ของพวกเขาไว้ได้ภายใต้กฎกติกาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่เผด็จการอำมาตยาธิปไตยกลับสรุปบทเรียนว่า จะต้องดำเนินตีโต้กลับในขั้นแตกหัก

เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของพวกเขาในขณะนี้คือ การโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนโดยเร็ว เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสองประการคือ หนึ่ง ถอนรากถอนโคนกลุ่มการเมืองของอดีตผู้นำไทยรักไทยให้หมดสิ้น และสอง ทำลายล้างพลังมวลมหาประชาชนอย่างถอนรากถอนโคน ให้ประชาชนสูญเสียจิตวิญญาณ หมดสิ้นซึ่งขวัญกำลังใจที่จะดิ้นรนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยอมสิโรราบภายใต้อำนาจปกครองของอำมาตยาธิปไตยต่อไป

รัฐบาลพรรคพลังประชาชนในปัจจุบันกำลังตกอยู่ในวงล้อมที่ถูกรุมกระหน่ำตีอย่างหนักทั้งจากในสภาคือ พรรคการเมืองสมุนเผด็จการและสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง ประสานกับองค์กรรัฐธรรมนูญ ประกอบกับการล้อมตีนอกสภาจากแนวร่วมรับใช้เผด็จการที่ประกอบด้วยสื่อสารมวลชนขวาจัด ปัญญาชนนักวิชาการและราษฎรอาวุโสสามาณย์ ร่วมกับการเคลื่อนไหวยั่วยุสร้างความรุนแรงบนท้องถนนของกลุ่มอันธพาลการเมืองรับจ้าง รวมตลอดถึงการรวมตัวของกลุ่มทหารฟัสซิสต์ที่สำแดงกำลังกระด้างกระเดื่องข่มขู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่

ค่ายอำมาตยาธิปไตยได้หันมาใช้สูตรสำเร็จรูปของพวกตนที่กระทำสำเร็จมาทุกครั้งในหลายสิบปีมานี้ ซึ่งก็คือ ยุทธการพิฆาตไพรีเรื่อง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และ “โค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์” อันเป็นสัญญาณที่แจ้งชัดว่า บัดนี้ ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยมิได้มุ่งกำจัดรัฐบาลพรรคพลังประชาชนด้วยวิธีภายในกรอบของระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 อีกต่อไป ดังจะเห็นได้จากบทเรียนในประวัติศาสตร์ ดังนี้

นายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลธำรง นาวาสวัสดิ์ถูกกล่าวหาทั้งในและนอกสภาว่า ปกปิดข้อเท็จจริงและมีส่วนในการลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นำไปสู่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 และกวาดล้างคณะราษฎรปีกนายปรีดีจนหมดสิ้น

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามถูกกล่าวหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพในหลายกรณี รวมทั้งในกรณีการเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ นำไปสู่รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 ทำลายกลุ่มนายทหารของคณะราษฎรอย่างถอนราก ตามมาด้วยรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2475 อันเป็นร่องรอยทางการเมืองชิ้นสุดท้ายของการปฏิวัติ 2475

ขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชนถูกกล่าวหาว่า เป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และแสดงละครแขวนคอ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” นำไปสู่การสังหารหมู่ที่นองเลือดที่สุดและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2518

รัฐบาลพล อ.ชาติชาย ชุณหวันแม้จะถูกประณามเรื่องทุจริตคอรัปชั่นมาก่อนเป็นเวลานาน แต่ท้ายสุด ในการแต่งตั้งมนูญ รูปขจร กลับเข้าสู่ตำแหน่งทางราชการ ก็ถูกกล่าวหาว่า “ปกป้องบุคคลที่พัวพันกับคดีลอบสังหารบุคคลสำคัญ” นำไปสู่รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2521

รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่นหลายเรื่อง แต่ท้ายสุดคือข้อกล่าวหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หลายกรณี ที่นำไปสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ยุทธการในครั้งนี้จึงยังคงเรียบง่าย สกปรก หยาบช้า และเป็นเท็จเหมือนเดิม โดยมีข้อกล่าวหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” “เป็นขบวนการสาธารณรัฐ” เริ่มต้นด้วยการจับจักรภพ เพ็ญแข ขึ้นแสดงละครแขวนคอ โดยมีแนวร่วมสื่อมวลชนขวาจัดหลายค่ายรวมตัวกันเป็น “ดาวสยาม 2551” ช่วยกันกระพือข้อกล่าวหาป้ายสี กระตุ้นความโกรธเกลียด เพื่อมุ่งไปสู่ความรุนแรงอย่างเปิดเผยอีกครั้ง

เงื่อนไขสำคัญของการรุกกลับคือ โค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนให้เร็วที่สุด โดยไม่ทิ้งเงื่อนเวลาให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันท่วงที ประกอบด้วยยุทธการสามแนวรบ คือ ความวุ่นวายจลาจลบนท้องถนน “ตุลาการรัฐประหาร” และรัฐประหารโดยกำลังอาวุธ

ยุทธการ “จลาจลบนท้องถนน” ก็เช่นเดียวกับก่อนรัฐประหาร 19 กันยายนคือ ให้ท้ายสนับสนุนให้กลุ่มอันธพาลการเมืองเป็น “กองหน้า” ออกมาชุมนุม เคลื่อนไหว ประท้วง ก่อให้เกิดสถานการณ์ไร้เสถียรภาพที่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ และตกเป็นฝ่ายรับทางการเมือง สับสน ห่วงหน้าพะวงหลัง กระทั่งก่อความรุนแรงบนถนนเพื่อเป็นทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล

ยุทธการ “ตุลาการรัฐประหาร” สร้างวิกฤตการเมือง ผลักดันให้ระบอบเลือกตั้งเข้าสู่จุดอับที่ไม่มีทางออก ประกอบด้วยการดำเนินคดีการเมืองสำคัญอย่างรวดเร็ว บีบให้นายกรัฐมนตรีต้องยุบสภาเพื่อแก้วิกฤต จากนั้น ใช้กลไกองค์กรรัฐธรรมนูญ ขัดขวางมิให้เกิดกระบวนการเลือกตั้งครั้งใหม่ อันจะนำระบอบเลือกตั้งกลับไปสู่สถานการณ์คับขันก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อีกครั้ง

ในสถานการณ์ดังกล่าว หากพรรคการเมืองที่เป็นสมุนรับใช้เผด็จการยังคงไร้สมรรถภาพและมิสามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นตามระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 ได้อยู่ดี ยุทธการ “รัฐประหารด้วยกำลังอาวุธ” จึงเป็นคำตอบสุดท้าย

ขบวนการประชาธิปไตยจักต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการรุกกลับขั้นแตกหักของเผด็จการอำมาตยาธิปไตยด้วยความเชื่อมั่น กล้าหาญ และชาญฉลาด บัดนี้ รัฐบาลพรรคพลังประชาชนคือกองบัญชาการหลักที่จะต้องยืนให้มั่น กุมสภาพกองทัพให้ชัดเจน เตรียมกำลังให้พร้อมสรรพ เพื่อตีโต้การรุกของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยได้ทันท่วงที บีบให้ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่มีกลุ่มอันธพาลการเมืองเป็นกองหน้า เป็นฝ่ายก่อความรุนแรงบนท้องถนนและใช้กำลังอาวุธอย่างเปิดเผยโดยที่สถานการณ์ยังไม่สุกงอมและไม่เอื้ออำนวย ให้พวกเขากระทำผิดพลาดทางการเมืองอย่างร้ายแรง ประสบความล้มเหลวในการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน หรือหากแม้นจะโค่นล้มรัฐบาลลงได้ ก็ไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ในการปกครองในระยะต่อไป

สำหรับฝ่ายมวลชนพลังมหาประชาชน จะต้องกุมสภาพให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยง แสดงบทบาทเป็นกองหนุนรัฐบาลพรรคพลังประชาชนอย่างเหนียวแน่น เตรียมรับภัยคุกคามจากอำมาตยาธิปไตยอย่างเต็มที่ ให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เพื่อรักษาและเตรียมกำลังตีโต้กลับ มุ่งสู่ชัยชนะในขั้นสุดท้ายของประชาชน

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
18 มิถุนายน 2551

ที่มา : ข่าวประชาไท : บทความ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : “การรุกกลับขั้นแตกหัก” ของเผด็จการอำมาตยาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น: