วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ฐานะทางประวัติศาสตร์ของการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475


วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หรือเป็นเวลาเมื่อ 75 ปีที่ผ่านมา กลุ่มข้าราชการทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ในนามของ คณะราษฎร ได้ก่อการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง เปลี่ยนระบอบการเมืองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่ง ในการนำมาสู่การได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระดับที่มากขึ้น และทำให้อำนาจทางการเมืองซึ่งเคยอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์แห่งพระมหากษัตริย์ และใช้อำนาจผ่านเจ้านายเชื้อพระวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนน้อย เปลี่ยนมือมาสู่กลุ่มข้าราชการ และกลุ่มพ่อค้าชนชั้นกลาง อันมีฐานที่กว้างขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 ยังได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ทำให้ระบอบศักดินานั้นค่อยเสื่อมสลายลง ทำให้สังคมไทยเข้ายุคใหม่แห่งสามัญชนอย่างแท้จริง ซึ่งในส่วนนี้ต้องถือว่าการเปลี่ยนแปลง พ.ศ.2475 เป็นการอภิวัฒน์สังคมครั้งยิ่งใหญ่ ดังจะพิจารณาได้ดังประเด็นคือ


1.
การสร้างระบอบการเมืองใหม่

การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การอภิวัฒน์ 2475 ได้นำมาสู่การสร้างระบอบการเมืองในมิติใหม่ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นระบอบการเมืองก่อน พ.ศ.2475 ถือว่าเป็นการเมืองในระบอบเก่า เพราะมีรากฐานแห่งอำนาจทางการเมืองอยู่ที่กษัตริย์และราชวงศ์ ตามเงื่อนไขของระบอบการเมือง พระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นผู้มีอำนาจสิทธิขาดทั้งในทางบริหารและตุลาการ ทรงบริหารบ้านเมืองโดยผ่านเจ้านายเชื้อพระวงศ์ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พระราชโองการของพระองค์เป็นกฏหมายโดยตัวเอง อำนาจบริหารและการเมืองเป็นเรื่องของกษัตริย์และชนชั้นสูง มิใช่เรื่องที่ราษฎรที่เป็นไพร่สามัญจะเข้าไปเกี่ยวข้อง หนังสือ คู่มือพลเมือง ซึ่งออกในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หน้าที่ของราษฎรที่เป็นพสกนิกร คือจะต้องจงรักภักดี และน้อมใจปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ไม่มีการเอ่ยถึงในเรื่องสิทธิเสรีภาพของราษฎรแต่อย่างใด ต่อมาหนังสือ หลักราชการ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เน้นย้ำในหลักธรรมอันเดียวกัน คือให้ข้าราชการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แต่ปรากฏว่าในสมัยรัชกาลที่ 7 อำนาจสูงสุดในการบริหารก็ยังคงอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ได้ตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้น ประกอบด้วยพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ และทรงมอบให้สภานี้เป็นสภาที่มีอำนาจวินิจฉัยสูงสุด แต่ปรากฏว่ารัฐภายใต้การนำของพระองค์เริ่มไม่มั่นคง เพราะหลักธรรมแห่งอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ ถูกตั้งข้อสงสัยและถูกท้าทายมากขึ้น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็ทรงทราบ และพยายามที่จะปฏิรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้เป็นแบบสมัยใหม่มากขึ้น โดยมอบให้ขุนนางและที่ปรึกษา คือพระยาศรีวิสารวาจา(เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) และนายเรมอนต์ บี. สตีเวน ไปร่างเค้าโครงธรรมนูญมาให้พิจารณาเพื่อพระราชทาน ในพ.ศ.2475 ปรากฏว่า เค้าโครงรัฐธรรมนูญฉบับสตีเวนนี้ ก็ยังเป็นธรรมนูญฉบับเจ้าที่ให้อำนาจสูงสุดแก่พระมหากษัตริย์ และอภิรัฐมนตรีเช่นเดิม ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจจากกษัตริย์ อำนาจในการทำสัญญากับต่างประเทศก็ยังสงวนไว้แด่พระมหากษัตริย์ เพียงแต่ให้มีรัฐสภาเป็นที่ปรึกษา และมีคณะรัฐมนตรีขึ้นมาช่วยในการบริหารประเทศ เค้าโครงธรรมนูญเช่นนี้ จึงมิใช่เป็นธรรมนูญที่วางฐานความชอบธรรมแห่งอำนาจไว้ที่ประชาชน ตามหลักประชาธิปไตยทั่วไป จึงกำหนดให้มีสมาชิกที่แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ มีอำนาจเท่าเทียมกับสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีการประกันสิทธิของประชาชนเลย กระนั้นก็ตาม คณะอภิรัฐมนตรีก็ยังคงยับยั้งเค้าโครงธรรมนูญนี้โดยเห็นว่าราษฎรไม่พร้อม โอกาสที่สยามจะมีระบอบรัฐสภาโดยกษัตริย์พระราชทานจึงหมดสิ้นไป และสถานการณ์ได้นำมาสู่การอภิวัฒน์ของคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน ดังกล่าว

หลังจากการอภิวัฒน์สิ่งที่คณะราษฎรต้องการจะสร้างขึ้นก็คือ ระบอบการเมืองแบบใหม่ ซึ่งวางรากฐานอยู่ที่อำนาจของราษฏร ในมาตรา 1 ของธรรมนูญปกครองแผ่นดินฉบับคณะราษฎรได้ประกาศเป็นครั้งแรกว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย โดยนัยเช่นนี้ ในมาตรา 2 จึงได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่ใช้อำนาจแทนราษฎร คือ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และ ศาล แต่กระนั้น คณะราษฎร ก็ได้ยกอำนาจสูงสุดที่ยึดมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน มามอบแก่สภาผู้แทนอย่างเป็นทางการ หมายถึงว่า สภาผู้แทน ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของราษฏรโดยตรง จะเป็นองค์กรใช้อำนาจสูงสุดตามระบอบใหม่ ซึ่งลักษณะทางการเมืองเช่นนี้นับว่าเป็นการอภิวัฒน์อย่างมากในด้านที่มาแห่งอำนาจ และด้วยลักษณะเช่นนี้เอง ที่กลุ่มผู้นำของคณะราษฎรถือว่า ระบอบใหม่ของตนนั้นเป็นประชาธิปไตยแล้ว


2.
การปกครองด้วยกฏหมาย

ตามหลักการของกฏหมายแบบสากลนั้น ถือว่าการปกครองที่ดีนั้น จะต้องเป็นการปกครองที่มีหลักการชัดเจน และเป็นลายลักษณ์อักษรอันเป็นที่รับรู้ได้ในสังคม ปัญหาส่วนหนึ่งของการปกครองก่อน พ.ศ.2475 ก็คือ การปกครองที่ปราศจากลายลักษณ์ที่จะให้สาธารณชนทราบทั่วกัน เพราะถือกันว่าเรื่องการเมืองนั้นเป็นเรื่องของชนชั้นสูง คือเจ้านายและขุนนางเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของราษฏรที่เป็นไพร่ทาสแต่อย่างใด ดังนั้น การมีรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นย่อมไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะกษัตริย์ของสยามก็ปกครองได้ในอดีตเรื่อยมาโดยไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญ ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ถวายความเห็นต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯว่า การพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่การปฏิรูประบบราชการต่างหากที่สำคัญ ที่จะทำให้รัฐสยามดำเนินอยู่ได้ แต่ในความเห็นของนักกฎหมายฝ่ายก้าวหน้า การปกครองที่ไม่มีรัฐธรรมนูญนั้น ถือว่าเป็นการปกครองที่ปราศจากหลักวิชา เพราะทำให้รัฐบาลสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ การที่พระราชโองการของพระมหากษัตริย์ถูกถือว่าเป็นกฏหมายได้เลยนั้น ถือว่าเป็นการใช้กฏหมายที่ขาดการกลั่นกรอง และเป็นกฏหมายที่ราษฎรมิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ถูกต้องด้วยหลักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

แม้ว่าภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะมีความพยายามในการปฏิรูปกฏหมาย และใช้กฏหมายสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก แต่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้อธิบายว่า กฏหมายคือคำสั่งของรัฐาธิปัตย์ที่ไพร่ฟ้าจะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งนัยเช่นนี้ กฏหมายจึงเป็นคำสั่งด้านเดียวซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการของกฏหมายแบบประชาธิปไตย ซึ่งถือว่า กฏหมายมหาชนนั้นจะต้องเป็นสัญญาประชาคมระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากราษฎรให้ทำหน้าที่บริหารประเทศนั้น จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้กับราษฏร และจะต้องให้ราษฏรทราบในสัญญานั้นด้วย โดยจะต้องทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบทั่วกัน โดยนัยเช่นนี้ รัฐธรรมนูญจึงมิได้มีความหมายเป็นเพียงกฏหมายสูงสุดธรรมดา แต่ยังเป็นเสมือนหนังสือสัญญาที่รัฐบาลกระทำกับราษฎร และจะต้องทำตามนั้น รัฐธรรมนูญจึงมีฐานะเป็นกฏหมายปกครองอันสำคัญยิ่ง และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จึงเท่ากับเป็นการสร้างหลักประกันของการปกครองด้วยกฏหมาย การที่คณะราษฎรต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากระบอบกษัตริย์เหนือกฏหมาย มาสู่ระบอบ กษัตริย์ใต้กฏหมายการปกครองแผ่นดิน จึงมีความสำคัญเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็ทรงทราบนัยทางการเมืองนี้เช่นกัน ในระยะแรกพระองค์จึงให้ความร่วมมือกับระบอบใหม่ด้วยดี หากแต่ไม่ทรงยอมรับคำว่า กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ของคณะราษฎร ทรงใช้คำอธิบายสถานะของพระองค์ว่าเป็น กษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ แทน

ในความเห็นของคณะราษฎร ความหมายของระบอบใหม่ก็คือ ระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็การสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเป็นหลักชัยของประเทศ ดังนั้น เมื่อมีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ก็ได้มีการพิมพ์รัฐธรรมนูญแจกไปทั่วทุกอำเภอ และได้มีการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเป็นมิ่งขวัญของประเทศ เป็นหลักสำคัญในคำขวัญ ชาติ ศาสนา กษัตริย์ และ รัฐธรรมนูญ แต่กระนั้น หลักการปกครองด้วยกฏหมาย มิได้มีความหมายเพียงแค่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแต่อย่างเดียว ในเมื่อสถานะของพระราชโองการ มิได้เป็นกฏหมายโดยอัตโนมัติอีกต่อไป จึงเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรแรกสถาปนา ที่จะต้องเร่งพิจารณาออกกฏหมายให้ครอบคลุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั้งหมด เราจึงพบว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกนั้น มีการประชุมทุกบ่ายวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ตลอดปี เพื่อออกกฏหมายใหม่ให้ทั่วด้านและเพียงพอ นอกจากนี้ยังได้มีการเร่งจัดทำประมวลกฏหมายแพ่งและพานิชย์ ที่ค้างมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เสร็จโดยเร็วเพื่อเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้า ดังนั้นประมวลรัษฎากรฉบับใหม่สมบูรณ์ จึงได้ประกาศใช้ระยะเวลาเพียง 5 ปีหลังอภิวัฒน์ เพื่อวางรากฐานระบบภาษีของประเทศให้มั่นคง


3.
สิทธิเสมอภาคของราษฎร

สังคมสยามก่อนการอภิวัฒน์ 2475 นั้น เป็นสังคมชนชั้นและฐานันดรที่ชัดเจน ความแตกต่างระหว่างบุคคลในสังคมถูกกำหนดโดยชาติกำเนิดและฐานันดรศักดิ์ ชนชั้นเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่กุมอำนาจทางการเมือง เป็นกลุ่มสังคมที่มีฐานะสูงที่สุดด้วย ฐานะของชนชั้นเจ้านายนั้น ได้มาโดยชาติกำเนิด ที่สูงส่งเหนือกว่าราษฎรที่เป็นไพร่ทาสทั้งปวง และสถานะอันสูงส่งนี้ จะนำมาซึ่งเบี้ยหวัดเงินปี และผลประโยชน์ต่างๆ อันควรแก่ชนชั้นเจ้านาย ที่จะพยุงขัตติยะมานะของตนไว้มิให้มัวหมอง ถัดลงมาจากเจ้านาย ก็คือชนชั้นขุนนาง ซึ่งจะได้รับพระราชทานตำแหน่ง ยศ และ บรรดาศักดิ์ จากพระมหากษัตริย์ ชนชั้นเจ้านายและขุนนางเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าราษฎรทั่วไป ที่เป็นไพร่ทาส สถานะทางสังคมนี้นี้ค่อนข้างตายตัว การที่ราษฎรที่เป็นไพร่และทาส จะเลื่อนสถานะขึ้นเป็นเจ้านาย หรือ ชนชั้นสูง เป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่มีชาติกำเนิดอันเหมาะสมเช่นนั้น ความเป็นผู้ดีและไพร่จึงเป็นสิ่งตายตัว แม้กระทั่งภาษาที่ใช้ ราษฎรทั่วไปก็ไม่สามารถจะใช้คำทั่วไปในระดับเดียวกับเจ้านายเชื้อพระวงศ์ได้ แต่จะต้องมีศัพท์เฉพาะ ที่ใช้ตามสถานะของไพร่และเจ้านาย ไม่ให้ปะปนกัน

สถานะทางสังคมอันไม่เท่าเทียมกันเช่นนี้ ไม่สอดคล้องด้วยหลักการแห่งประชาธิปไตยที่ถือว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิโดยพื้นฐาน อย่างน้อยก็คือ สิทธิในทางการเมืองและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ก็คือแนวคิดในเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ภายใต้กฏหมาย การถือเอาชาติกำเนิดและฐานันดร มาแบ่งชั้นบุคคล จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความไม่เท่าเทียมกันในลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นเป้าหมายหนึ่งที่คณะราษฎรต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงยกเลิก ดังนั้น ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎรข้อที่ 4 ที่ระบุไว้ว่า จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรดังที่เป็นอยู่) จึงเป็นเสมือนการประกาศสิทธิมนุษยชนเช่นกัน และหลักการนี้ ได้ถูกถ่ายทอดมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ในมาตรา 12 ที่ว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฏหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิอย่างใดเลย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอง ที่มีข้อความในมาตรา 11 ยกสถานะของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ให้อยู่เหนือการเมือง ซึ่งทำให้ชนชั้นเจ้านายหมดบทบาทไปจากการบริหารประเทศโดยตรง

สิทธิทางการเมืองของราษฎรที่เกิดขึ้นหลังการอภิวัฒน์ ก็คือ
สิทธิของราษฎร ที่จะเลือกตัวแทนของตนเข้าไปมีส่วนกำหนดการบริหารบ้านเมือง สิทธิเช่นนี้ เป็นเรื่องใหม่อย่างยิ่งแก่สังคมไทยเช่นกัน และเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ เนื่องด้วยความขัดกันในแหล่งที่มาแห่งอำนาจ การเลือกตั้งครั้งในสยามมีขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2476 ซึ่งเป็นการเริ่มเปิดฉากการเมืองในระบอบรัฐสภาในประเทศสยาม


4.
เอกราชและลัทธิชาตินิยม

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ 2475 ที่ยังมิได้เคยเป็นที่กล่าวขวัญกันมากนัก คือ ประเด็นในเรื่องเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยม และปัญหาเอกราช ทั้งที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก กระแสแห่งการอภิวัฒน์ 2475 นั้นเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขแห่งการขยายตัวของลัทธิชาตินิยมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ที่จะนำให้ปัญญาชนชั้นนำที่เป็นชาวพื้นเมือง จะจัดตั้งองค์การต่อสู้เพื่อเอกราชจากเจ้าอาณานิคม ในกรณีของสังคมสยาม กระแสความรู้สึกที่จะต้องต่อสู้เพื่อ ชาติบ้านเมือง ได้เกิดขึ้นแล้ว คำว่า ลัทธิชูชาติ ได้ถูกนำเอ่ยถึงและนำมาใช้ เพื่อมุ่งจะสร้างชาติสยามให้ก้าวรุดหน้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับนานาประเทศ กระแสที่นำมาสู่การอภิวัฒน์ 2475 ส่วนหนึ่งจึงมาจากความรู้สึกที่ว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์นั้น ล้มเหลวในการสร้างประเทศให้ก้าวรุดหน้า และจากความเข้าใจที่ว่ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิ์ขาดความกระตือรือล้น ในการแก้ปัญหาสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสยามกับมหาประเทศ และยังมีลักษณะในทางการเมืองระหว่างประเทศที่โน้มเอียงไปในทางอังกฤษมากเกินไปเสมอ

ความมุ่งมั่นเช่นนี้เอง จึงนำมาสู่การประกาศให้หลักเอกราช เป็นหลักการข้อแรกในหลัก 6 ประการ ที่เอ่ยถึงการรักษา เอกราชในทางการเมือง เศรษฐกิจ และ การศาล และทำให้รัฐบาลในระบอบใหม่ เร่งพิจารณาออกประมวลกฏหมาย เพราะการทีประมวลกฏหมายโดยครบถ้วนกระบวนความ เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ประเทศสยามสามารถขอเปิดเจรจายกเลิกสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกับมหาประเทศได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเพื่อไปเจรจายกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมกับมหาอำนาจ ดังนั้นการแก้สัญญาเหล่านี้จึงทำได้โดยเรียบร้อยภายใน 6 ปีหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลใหม่ของ พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งขึ้นบริหารประเทศเมื่อปลายปี พ.ศ.2481 จึงได้ประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482 เป็น วันชาติและฉลองสนธิสัญญา และมีการเฉลิมฉลองใหญ่ในปีนั้น ความจริงแล้วกระบวนการสร้างชาติ เป็นส่วนหนึ่งแห่งการรณรงค์ ที่จะให้ ชาติไทย กลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ อันเป็นที่ยึดเหนี่ยวของประชาชน แทนที่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นลัญลักษณ์เดิม ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


5.
สังคม การศึกษา สตรี

ประเด็นสำคัญที่น่าจะต้องพูดถึงก็คือเรื่อง การปฏิรูปสังคม ความจริงการประกาศให้บุคคลเสมอภาคกันตามกฏหมาย ยกเลิกอภิสิทธิ์ของเชื้อพระวงศ์ และเจ้าขุนมูลนาย ก็นับเป็นความก้าวหน้าอย่างสำคัญ ในกระบวนเช่นนี้ คณะราษฎรได้ยกเลิกพิธีถือน้ำพระพิพัฒนสัตยา เลิกบรรดาศักดิ์ และยศข้าราชการพลเรือน กรณีเหล่านี้ทำให้ สังคมมีความเสมอภาค เท่าเทียมกันมากขึ้น ฐานะอันสูงส่งจากชาติกำเนิดสลายตัวลง พร้อมทั้งการที่พวกผู้ดีสมัยเก่าหายหน้าไปจากประวัติศาสตร์ สามัญชนรุ่นใหม่ อันได้แก่ ข้าราชการ นายทุนและชนชั้นกลาง ขึ้นมามีบทบาทแทน นอกจากนี้ ก็คือ การรับรองความชอบธรรมในการสมรสของเจ้านายสตรีกับสามัญชน การให้สิทธิแก่สตรีในการเลือกตั้ง และการออกพระราชบัญญัติครอบครัว พ.ศ.2476 ให้ชายไทย จดทะเบียนภรรยาได้คนเดียว ก็เป็นการเลิกระบบชายเดียวมากเมีย หรือระบบ สาวสวรรค์กำนัลใน ที่เป็นของยุคศักดินา นอกจากนี้ก็คือการขยายการศึกษา ด้วยแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2475 เพื่อมุ่งให้ประชาชนทั้งชายหญิง มีโอกาสในการศึกษาภาคบังคับถึงชั้นประถม 4 ทั่วประเทศ และเลิกเก็บเงินศึกษาพลี เพื่อให้ราษฎรทั่วประเทศมีความรู้อ่านออกเขียนได้โดยทั่วกัน แผนการศึกษาฉบับนี้ จึงเป็นฉบับแรกที่มุ่งการศึกษามวลชน แทนที่จะเป็นการจัดการศึกษาเพื่อผลิตข้าราชการ การขยายการศึกษานี้ หมายรวมถึงการขยายการศึกษาในขั้นอุดม จากการที่คณะราษฎร ได้เปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สอง เป็นมหาวิทยาลัยด้านกฏหมายและการเมือง โดยเปิดเป็นตลาดวิชา รับนักศึกษาโดยไม่จำกัด เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีความรู้ในด้านประชาธิปไตยสำหรับประเทศ เพื่อให้การเมืองในระบอบใหม่มีความมั่นคงต่อไป มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงมีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อมวลชนมาตั้งแต่แรก


6.
สรุป

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ยังมีประเด็นต่างๆ ที่จะสามารถศึกษาได้อีกหลายเรื่อง แต่ก็ต้องถือว่า การอภิวัฒน์ 2475 นี้เป็นจัดเปลี่ยนแปลงสำคัญในประวัติศาสตร์ การอภิวัฒน์ครั้งนี้ จึงไม่ใช่เป็นการรัฐประหารธรรมดา แต่เป็นการอภิวัฒน์ครั้งสำคัญ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า เจตนารมย์แห่งการอภิวัฒน์ที่จะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในประเทศไทยให้ก้าวหน้า ต้องประสบอุปสรรค์อย่างมาก ขบวนการทำลายประชาธิปไตยที่สำคัญมาจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ


1.
ขบวนการฟื้นฟูเจ้า ที่มุ่งจะฟื้นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้ทวีมากขึ้น เช่นเดียวกับในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลุ่มฟื้นฟูเจ้านี้โดยอุดมการณ์เป็นพวกอนุรักษ์นิยม และมิได้เห็นด้วยกับหลักการประชาธิปไตย ที่มอบอำนาจสูงสุดแก่ประชาชน เพราะยังคงคิดว่าประชาชนไม่รู้ และอ่อนด้อยอยู่เสมอ จึงควรที่จะถวายพระราชอำนาจคืนให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความพยายามในการรื้อฟื้นแนวคิดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น การถือว่าประเทศชาติทั้งหมด เป็นของพระมหากษัตริย์ ราชฎรทั่วไปไม่ใช่เจ้าของประเทศ แต่เป็นเพียงผู้อาศัยใต้พระบรมโพธิสมภาร ซึ่งเป็นการขัดกับหลักประชาธิปไตย ที่ว่ารัฐอธิปไตยนั้น ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน และที่สำคัญประการหนึ่ง ก็คือการรื้อฟื้นศักดินาฐานันดร ฟื้นฟูการหมอบกราบ ซึ่งยกเลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถวายศักดิ์และสิทธิ์คืนแก่เจ้านายเชื้อพระวงศ์อย่างมาก ซึ่งเป็นการขัดหลักการแห่งความเสมอภาคระหว่างมนุษย์

ความยึดมั่นในอุดมการณ์เก่าเช่นนี้ จึงได้มีความพยายามในการลดอำนาจและบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตย เพราะเกรงว่า ประชาชนจะมีอำนาจมากเกินไปและใช้อำนาจในทางที่ผิด จึงฝากความหวังทางการเมืองไทยไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะไปเข้าใจว่า

อำนาจที่มาจากสถาบันกษัตริย์ถูกต้อง
และชอบธรรมเสมอ


2.
การรัฐประหารของกองทัพ ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองในลักษระอำนาจนิยม ปัญหาหลักก็คือ กองทัพไทยมักจะอ้างว่า ตนเองมีเอกสิทธิ์ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองแต่เพียงผู้เดียว และคิดว่าฝ่ายทหารจะรักชาติบ้านเมืองมากยิ่งกว่าพลเรือน ดังนั้น จึงได้ก่อการยึดอำนาจ ทำลายประชาธิปไตย และฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเพื่อร่างใหม่ตามใจชอบอยู่เสมอ จึงปรากฏว่า ในประวัติศาสตร์ไทย นับตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ฝ่ายทหารจึงก่อการยึดอำนาจถึง 9 ครั้ง และแทบทุกครั้งจะต้องมีการล้มเลิกรัฐธรรมนูญ และรัฐสภา จึงทำให้ประเทศไทยขณะนี้ มีรัฐธรรมนูญที่ถูกประกาศใช้มากที่สุดในโลก คือ ถ้านับฉบับ พ.ศ.2550 ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการร่างขณะนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 และก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า นี่จะเป็นฉบับสุดท้าย โดยไม่มีการล้มเลิกแล้วร่างใหม่อีก สถิติเช่นนี้ ถือเป็นสถิติอัปยศสำหรับระบอบประชาธิปไตยไทย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ประเทศไทยได้เปลี่ยนโฉมเข้าสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตยมาแล้ว 75 ปี จึงถึงเวลาที่จะต้องรำลึกการอภิวัฒน์เช่นนั้น ด้วยความตรึงตราใจ และประชาชนไทยก็ยังคงจะต้องมีภารกิจต่อไป ในการต่อสู้เพื่อให้ประชาธิปไตยในสังคมไทย ได้เป็นจริง



สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ


ที่มา : ประชาไท 14/7/2550 : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : ฐานะทางประวัติศาสตร์ของการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: