วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2551

จักรภพ เพ็ญแข กับคดีหมิ่นเดชานุภาพ


กรณีการกล่าวหา จักรภพ เพ็ญแข ว่า “หมิ่นเดชานุภาพ" ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศในเดือนสิงหาคม 2550 เป็นการท้าทายสังคมไทยในสี่ประเด็นที่สำคัญ


1. พลเมืองไทยควรมีสิทธิ์ หรือไม่มีสิทธิ์ ที่จะพูดคุยถึงบทบาทหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในประเทศไทย?

2. กฎหมายหมิ่นเดชานุภาพ ถูกใช้โดยใคร เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองอย่างไร?

3. ตกลงเรามีสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือเรามีระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญไทย?

4. การใช้กฎหมายหมิ่นเดชานุภาพแบบนี้ โดยพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพันธมิตรฯ เป็นการกระทำที่ผิดกับหลักประชาธิปไตย และขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่?


ขอออกตัวก่อนว่าผมเป็นฝ่าย “สองไม่เอา" ผมไม่เคยลงคะแนนเสียงให้ไทยรักไทย และพลังประชาชนแม้แต่ครั้งเดียว และวิพากษ์วิจารณ์ทั้งนายกทักษิณและสมัครมาตลอด และต้องสารภาพว่าครั้งหนึ่งในชีวิต ในช่วงที่ยังโง่อยู่ เคยผิดพลาดไปลงคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 คงไม่ทำอีก


มีใครบ้างที่สนใจว่าจักรภพพูดว่าอย่างไร?

ผมเชื่อว่าหลายคนที่ด่าจักรภพคงไม่สนใจเนื้อหา และอีกจำนวนมากทีมีความเห็นแตกต่างกันไป อาจไม่ได้อ่านต้นฉบับการถอดเทปภาษาอังกฤษที่อยู่ในเว็บไซท์รัฐบาล

จักรภพกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของบทบาท อำนาจ และความชอบธรรมในการปกครองของกษัตริย์ ตั้งแต่สุโขทัยถึงปัจจุบัน ในกรณีรัชกาลปัจจุบันมีการอธิบายว่า มีการผสมผสานความเชื่อเกี่ยวกับบทบาทจากทุกยุคในอดีต และบวกเรื่องใหม่เข้าไปคือกษัตริย์ในระบบประชาธิปไตย ปัญหาที่จักรภพเห็นคือ การส่งเสริมความเชื่อเรื่องบทบาทสถาบันกษัตริย์แบบนี้ โดยผู้อุปถัมภ์ในสังคม หรือคนต่างๆ ที่มีอำนาจ ซึ่งไม่ใช่กษัตริย์ ก่อให้เกิดความสับสน และที่สำคัญก่อให้เกิดความขัดแย้งกับระบบประชาธิปไตย เพราะมีการเสนอว่าประชาธิปไตยไทยๆ ต้องเป็น “ประชาธิปไตยภายใต้การนำของกษัตริย์"

ในความเห็นผม “ประชาธิปไตยภายใต้ผู้นำ" (Guided Democracy) เป็นระบบเผด็จการ เราเคยพบสมัย สฤษดิ์ หรือสมัย ซุการ์โน ในอินโดนีเซีย และแน่นอน ประชาธิปไตยภายใต้การนำของกษัตริย์ ต่างจากประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

ในความเห็นของจักรภพ ระบบอุปถัมภ์มีปัญหาเพราะสร้างความเชื่อว่าพลเมืองไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งขัดกับประชาธิปไตย และในความเห็นผม น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญด้วย

จักรภพเสนอต่อไปว่ามีคนระดับสูงในชนชั้นปกครองที่บิดเบือนคำพูดของกษัตริย์ เช่นประธานองค์มนตรี และผู้พิพากษาชั้นสูง ฯลฯ และคนเหล่านี้บิดเบือนคำพูดเพื่อประโยชน์ส่วนตน พร้อมสงเสริมความคิดโบราณแบบอุปถัมภ์ ว่าประชาธิปไตยไทยควรเป็นระบบภายใต้การนำของกษัตริย์

ทั้งหมดนี้ที่จักรภพกล่าวถึง ไม่มีหลักฐานอะไรว่าหมิ่นเดชานุภาพ และไม่ต่างจากที่นักวิชาการหลายๆ สาย สอนกันในหลักสูตรรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยไทย

ในความเห็นส่วนตัวของผม จักรภพ เป็นคนที่ขาดอุดมการณ์ทางการเมืองที่รักความเป็นธรรม ไม่ใช่นักการเมืองของภาคประชาชน เพราะชื่นชมนายกทักษิณ ซึ่งมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนมานาน และจักรภพก็เข้าร่วมกับคนอย่าง สมัคร ที่มีรอยด่างจาก 6 ตุลา และโกหกเรื่องนี้มาตลอด ดังนั้นผมไม่ค่อยเป็นห่วงอนาคตของจักรภพ เพ็ญแข

แต่ถ้าเขาถูกตัดสินว่าหมิ่นเดชานุภาพจริง มันจะแปลว่า


1. พลเมืองไทยไม่มีสิทธิ์ที่จะพูดคุยถึงบทบาทหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในประเทศไทย ในขณะที่ทหารเผด็จการสามารถทำรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยโดยอ้างถึงสถาบันกษัตริย์ได้

2. กฎหมายหมิ่นเดชานุภาพ จะถูกใช้โดยคนมีอำนาจต่อไป เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองในการทำลายฝ่ายตรงข้าม โดยไม่เกี่ยวอะไรกับการรักษาปกป้องสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด

3. ชนชั้นปกครองอยากให้เราเชื่อว่าเรามีสถาบันกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญไทย

4. การใช้กฎหมายหมิ่นเดชานุภาพแบบนี้ โดยพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพันธมิตรฯ เป็นการกระทำที่ผิดกับหลักประชาธิปไตย และขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เราต้องประณาม


สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

เป็นสิ่งที่สำคัญและงดงามยิ่ง

เราต้องต่อสู้เพื่อปกป้องมันเสมอ


ใจ อึ๊งภากรณ์

พรรคแนวร่วมภาคประชาชน http://www.pcpthai.org/


ที่มา : ข่าวประชาไท : บทความ ใจ อึ๊งภากรณ์: จักรภพ เพ็ญแข กับคดีหมิ่นเดชานุภาพ


เพิ่มเติม..
ความคิดเห็นต่อข่าว/บทความ :


ไม่มีความเห็นเกี่ยวกับส่วนที่พูดถึงจักรภพ

แต่ต้องการชี้ว่าส่วนที่ใจ อ้างเรื่องความ "2 ไม่เอา"
ของตัวเองอย่างภูมิใจนั้น

เช่นเดียวกับพวก "2 ไม่เอา" คนอื่นๆ

ใจ ไม่เคยตอบได้ว่าตกลงที่อ้างว่า "ไม่เอา รปห." นี่
"ไม่เอาอะไร ของ รปห. กันแน่"

ถ้าไม่เอา รปห. 19 กันยา ทั้งหมด ไม่ใช่แปลว่า ต้องสนับสนุน ให้กลับไปสู่สถานภาพก่อน รปห.หรือ?

คือ ไม่ใช่ต้องกลับบอกว่า ต้องกลับที่ รบ.ทักษิณ หรอกหรือ?

การชูป้าย "ไล่ทักษิณ" หรือ "ไม่เอาทักษิณ" หลัง รปห. นี่มัน make sense อย่างไร กับส่วนที่ประกาศว่า "ไม่เอา รปห."?

ไม่เคยตอบได้เลย

ไม่สมกับคนที่ต้องการเสนออะไรต่อสาธารณะเลยการเสนออะไรที่ defend ไม่ได้ ก็เท่ากับมีลักษณะที่ ไม่มี accountibility พอๆกับนักการเมืองนั่นแหละครับ


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: