วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ไพร่อุปถัมภ์?


วิวาทะระหว่าง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับ คุณจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องการบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของคุณจักรภพ เรื่องการเมืองการปกครองของไทย ซึ่งเรื่องนี้เกิดมาเป็นเวลาเกือบปีแล้ว ซึ่งเป็นการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวหาว่า หมิ่นเบื้องสูง และได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งคุณจักรภพได้ตอบโต้ว่าเป็นคำแปลอย่างมีอคติ และท้าให้ออกโทรทัศน์ชี้แจงต่อประชาชนพร้อมกัน ซึ่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับคำท้า พร้อมกับกล่าวตอบโต้ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 ว่า


“นายจักรภพได้บรรยายถึงสาระหลัก คือ ประชาธิปไตย ไม่ก้าวหน้าเพราะระบบอุปถัมภ์ ความหมายคือ นายจักรภพต้องการสื่อว่าอย่างไร เห็นครั้งแรกแล้วไม่น่าเชื่อว่านายจักรภพจะเป็นคนมุ่งมั่นต่อต้านระบบอุปถัมภ์ เพราะนายจักรภพไม่เคยพูดหรือมีพฤติกรรมต่อต้านระบบอุปถัมภ์ แต่ที่ทำให้นายจักรภพนั่งในที่มีความสุข เพราะได้ระบบอุปถัมภ์ แต่บังเอิญเป็น ระบบไพร่อุปถัมภ์ หรือ ระบบอุปถัมภ์สามานย์ที่สุด ที่บางคนกล่าวว่า ถ้าไม่เลือกผมไม่ต้องเอางบประมาณ เหล่านี้นายจักรภพไม่เคยต่อต้าน แต่นายจักรภพกลับอ้างว่าต่อต้านขุนนาง เป็นการยืนยันอะไรบางอย่างหรือไม่ ตรงนี้ไม่ทราบ”

(เดลินิวส์ หน้า 2: 29 พฤษภาคม 2551)


นับว่าเป็นวาทกรรมที่รุนแรงที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยได้ยินจากนักการเมืองผู้นี้ เพราะโดยปกติจะเป็นคนพูดเฉียบคมและสุภาพ สมกับที่เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Oxford และมาจากชาติตระกูลที่ดี แต่จากถ้อยแถลงดังกล่าว ทำให้มองเห็นทัศนคติแท้ของนักการเมืองผู้นี้ และเป็นทัศนคติที่เป็นอันตรายยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตย

คำถามก็คือว่า ทำไม คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงได้กล่าวคำรุนแรงขนาดนี้ เพราะคำว่า “ไพร่” ในที่นี้ คงหมายความถึงใครอื่นไม่ได้ นอกจาก “ประชาชน” เพราะในระบอบประชาธิปไตย เสียงจากประชาชนเท่านั้นที่จะทำให้ใครได้หรือไม่ได้อำนาจรัฐ ปัจเจกบุคคลอื่นใดไม่สามารถทำได้ หรือในสายตาหัวหน้าพรรคการเมืองท่านนี้ ประชาชนที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนคือ “ไพร่”

“ไพร่” คือบุคคลที่ต้องใช้แรงงานรับใช้มูลนาย (เจ้านาย) แต่ไม่เป็นสมบัติของมูลนายเหมือนทาส (ทาสเป็นสมบัติของเจ้านายเหมือนวัว ม้า) ใน “พระอัยการบานแผนก” (กฎหมายเกี่ยวกับไพร่ ในกฎหมายตราสามดวง) ระบุว่า ผู้หญิงอยู่ในฐานะไพร่มาแต่กำเนิด โดยจะถูกแบ่งเป็นลูกหมู่เมื่ออายุ 9 ปี (อัญชุลี สุสายัณห์: 69) ส่วนไพร่ผู้ชายมีสภาพไม่ต่างกัน แต่จะ ขึ้นแรงงานเมื่ออายุ 16–18 ปีโดยประมาณ ทั้งหมดทำงานรับใช้มูลนายตลอดไปจนชราและเกษียณอายุ

ระบบไพร่สมัยรัตนโกสินทร์ มี 3 จำพวก คือ

1.ไพร่หลวง 2.ไพร่สม 3.ไพร่ส่วย

ไพร่หลวง จะสังกัดตามกรมกองต่างๆ รับใช้เจ้ากรม เจ้ากอง ซึ่งเป็นมูลนาย หากมูลนายคนเก่าเสียชีวิต ก็จะขึ้นกับมูลนายคนใหม่ต่อไป ไพร่หลวงจะเข้าเดือนราชการเป็น 3 ผลัด คือ เข้าเดือนราชการ 1 เดือน ออก 2 เดือนทำงานให้ตัวเอง เวียนกันไปตลอดปี ไพร่หลวงบางคนที่ต้องขายตัวเองเป็นทาสนายเงิน จะต้องทำงานหนักอีกหลายเท่า คือ เข้าเดือนราชการ 1 เดือน และทำงานให้นายทาส 1 เดือน พร้อมกับทำงานให้ตัวเองอีก 1 เดือนสลับกันไป ไพร่สม หมายถึงไพร่ส่วนตัวของมูลนาย ขึ้นทะเบียนด้วยการสักเลกเป็นหมวดหมู่ และรับใช้เจ้านายในสังกัด เช่น สร้างบ้าน ทำนาให้ เป็นต้น

ไพร่ส่วย คือ ไพร่หลวงและไพร่สม หากแต่บ้านอยู่ไกลไม่สามารถมาทำงานให้มูลนายได้จึงต้องส่งส่วย เช่น ส่งข้าว วัว ควาย ของมีค่า มาให้ตามแต่มูลนายจะต้องการ

การขึ้นทะเบียนไพร่ ทำด้วยการสักเลก คือ เอาเหล็กแหลมแทงตามรอยหมึกที่เขียนไว้เป็นอักษร ที่บอกชื่อเมือง ชื่อมูลนายต้นสังกัด

ความลำบากยากเข็ญของไพร่ ได้บรรยายไว้ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนหนึ่งกล่าวว่า


“ฝ่ายท้าวพระยาเป็นใหญ่ ก็กะเกณฑ์พลไพร่ให้เรียกหา ไม่ได้ผัวเกาะตัวลูกเมียมา บ้างตีด่าจ้างไสให้ไปทัพ บ้างจัดหาข้าวของมากองไว้ หอกดาบปืนไฟไห้เสร็จสรรพ ช้างม้าวัวควายอเนกนับ กองต่างวางลำดับกระบวนไป”


การเลิกไพร่ เริ่มในปี พ.ศ.2440 โดยมีการแก้ไขระเบียบในกรมพระสุรัสวดี ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เกี่ยวกับหน้าที่ควบคุมกำลังคน การฟื้นฟูทหารหน้า โดยให้เข้าควบคุมกำลังคน แทนที่จะให้มูลนายควบคุม และพระราชบัญญัติเกณฑ์แรงงาน พ.ศ.2443 โดยให้ค่าจ้างแรงงานแก่ผู้ถูกเกณฑ์แรงงาน และออกพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร

โดยให้ชายไทยอายุตั้งแต่ 18-60 ปี ไปเป็นทหาร ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ทำให้ระบบมูลนายไพร่หมดไปจากสังคมไทย

เป็นเวลาเกือบ 105 ปีแล้ว ที่คนไทยได้พ้นจากสังคม ศักดินาทาส และได้พัฒนาตัวเองมาอยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนมีศักดิ์ศรี มีอิสรภาพและเสรีภาพเท่าเทียมกันตามกฎหมาย มีสิทธิ หน้าที่ และมีอำนาจในการเลือกสรรใครก็ได้ที่เห็นว่าจะสามารถมาทำหน้าแทนตัวเองได้ และใครก็ได้ที่เห็นว่ามีความสามารถมาเป็นผู้นำชาติ ซึ่งนี่ก็คือ อำนาจของประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งก็เป็นนักการเมืองอาชีพ และเป็นคนที่มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำประเทศ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ก็ต้องไปกราบไหว้ขอคะแนนจากประชาชน และประชาชนก็ให้การสนับสนุนมาตลอด ถึงแม้ไม่มีคะแนนเสียงพอที่จะเป็นรัฐบาล แต่นั่นคือเสียงที่มีค่าและจากใจของประชาชน ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับเสียงสนับสนุนพรรคพลังประชาชน จนทำให้ คุณจักรภพ เพ็ญแข นั่งในที่ที่มีความสมสุขในพรรคพลังประชาชน เพราะฉะนั้น การประณามเสียงประชาชนว่าเป็น ไพร่อุปถัมภ์ ไพร่อุปถัมภ์สามานย์ที่สุด ของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงเป็นทัศนคติอันตรายยิ่งในระบอบประชาธิปไตย เพราะเท่ากับว่า เขา

1.ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย

2.ไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของปวงชน

3.ดูหมิ่นประชาชนผู้เลือกนักการเมืองว่าเป็นพวก “ไพร่”

นักการเมืองไทยมีสิ่งซึ่งต้องยึดมั่นและหวงแหนมากที่สุด นอกเหนือจากสถาบัน คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ก็คือ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็คือระบอบที่เคารพสิทธิเสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยของปวงชน หากนักนักการเมืองคนใดมีทัศนคติต่อประชาชนว่าเป็นคนด้อยค่า ไร้ความรู้ เป็นแค่ไพร่สนองตัณหาของมูลนาย

ซึ่งก็คือนักการเมืองเท่านั้น นับว่าเป็นทัศนคติที่ทำลายปรัชญาประชาธิปไตยที่อันตรายยิ่ง หรือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ดีมีสุขทุกวันนี้ ไม่มาจากประชาชน หากแต่มาจากระบอบ อำมาตยาธิปไตยอุปถัมภ์ เท่านั้น ผู้เขียนได้แต่ภาวนาว่า สิ่งที่ผู้เขียนเข้าใจคำว่า “ไพร่อุปถัมภ์” ที่ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดออกมานี้ จะเป็นการเข้าใจผิดของผู้เขียนเองต่อทัศนคติของนักการเมืองท่านนี้เท่านั้น


ผศ.ดร.ศิลป์ ราศี
มหาวิทยาลัยศรีปทุม


ที่มา : สำนักข่าว ประชาทรรศน์ : 06 มิ.ย. 2008 :ไพร่อุปถัมภ์?

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำตามความเห็นของผู้จ้ดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: