การปฏิวัติกู้เอกราชของอเมริกัน มีผลสะท้อนไปถึงประเทศต่างๆในยุโรปโดยทั่วไป ลัทธิประชาธิปไตยถูกกล่าวขวัญถึงกันเกร่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝรั่งเศส
บัดนี้ได้มีคำตอบต่อปัญหาแก้ความเดือดร้อนของมหาชนแล้ว
นั่นคือการปฏิวัติของประชาชน!
การปกครองแบบของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสตามคำประกาศอย่างกึกก้องว่า “รัฐคือตัวข้า” นั้น, ก่อนให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ทั้งยังสะกัดกั้นความก้าวหน้าของพวกพ่อค้าและนายทุนด้วย
ในศตวรรษที่ ๑๘ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงเก็บภาษีจากชาวไร่ชาวนาอย่างหนัก แต่ทรงงดเว้นภาษีจากเจ้าเมืองขึ้นและพวกบาทหลวง ชาวไร่ชาวนาคราวนี้จึงไม่ได้อยู่ในแอกของเจ้าที่ดินอย่างแต่ก่อน หากอยู่ในเงื้อมมือของพวกเก็บภาษีที่ดิน และเงินภาษีนี้ อาณาประชาราษฎร์ก็มองเห็นกันอยู่ว่าได้ถูกใช้ไปในราชสำนักของราชวงศ์บรูบ็องอันเต็มไปด้วยความหรูหราฟุ่มเฟือย
กษัตริย์และบรรดาเจ้าในราชวงศ์ รวมทั้งขุนนางผู้ใหญ่ได้เข้าสังสรรค์กับพ่อค้าและนายทุนที่เกิดใหม่และสร้างสมาคมชั้นสูงขึ้นในขณะนั้น คนยากจนไม่ได้รับการเหลียวแล ความอดอยากหิวโหย ปรากฏขึ้นทั่วไปในฝรั่งเศส ทั้งๆที่ยุโรปได้ย่างเข้าสู่สมัยใหม่, สมัยแห่งความมั่งคั่งทางอุตสาหกรรมแล้ว
จึงเกิดมีนักเขียนและนักปรัชญาขึ้นในฝรั่งเศสมากมาย พวกนี้ได้เขียนบทความวิจารณ์สังคมในขณะนั้นในหมู่นี้ก็มีรู้ซโซ,วอลแตร์และม็องเต๊สกิเออ นักคิดอีกพวกหนึ่งมีดีเดอโรท์ ดาเล็มแบร์และตูรโก ได้ร่วมมือกันเขียน เอนไซโคละพี’เดีย Encyclopaedia ขึ้น ๒๖ เล่มโดยทำการรวบรวม “บรรดาความคิดใหม่ๆ ทั้งปวงกับวิทยาศาสตร์ใหม่และความรู้ใหม่ไว้” หนังสือชุดนี้มีผู้นิยมซื้ออ่านกันมากมาย
ดีเดอโรท์เองเป็นนักปรัชญาฝ่ายปฏิวัติ เขาเป็นคนแรกที่วางหลักปรัชญาสสารนิยมไว้อย่างค่อนข้างถูกต้องยิ่งกว่าใครๆ ในสมัยนั้น เอ็นไซโคละพี’เดียชุดนี้จึงเท่ากับเป็นการเสนอทรรศนะใหม่อย่างสิ้นเชิงแก่ประชาชนเพื่อเตรียมจิตใจไว้สำหรับการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส!
ในการปฏิวัติคราวนี้ ประชาชนฝรั่งเศสเป็นกำลังปฏิวัติ แต่ชนชั้นกลางเป็นฝ่ายนำในการปฏิวัติ ฉะนั้นจึงเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง ในการนี้ได้มีผู้เสนอให้ใช้ประชาธิปไตยที่มีประมุขเป็นกษัตริย์แบบอังกฤษ แต่ก็มีการกล่าวขวัญถึงปฏิวัติอเมริกาเพื่อเป็นกำลังใจกันอย่างแพร่หลาย ต้นเหตุของการปฏิวัติฝรั่งเศส อยู่ที่ความเดือดร้อน อย่างจริงจังของประชาชนโดยเฉพาะอย่งยิ่งของพวกกรรมกร และคนยากจนในเมือง
จากปี ค.ศ.๑๗๘๙-๑๗๙๑ ได้เกิดความพยายามที่จะสถาปนาระบอบกษัตริยใต้รัฐธรรมนูญขึ้น แต่กษัตริย์บรูบ็องได้เข้าขัดขวางไว้ ระหว่าง ค.ศ.๑๗๙๒ – ๑๗๙๙ ฝรั่งเศสจึงทำการปฏิวัติและปรับปรุงระบบการปกครองเลยเถิดไปถึงระบบสาธารณรัฐ ในการปฏิวัติคราวนี้ได้มีการฆ่าฟันกันมากมายด้วยกิโยติน! ทั้งนี้เพราะชาวฝรั่งเศสขาดทฤษฎีปฏิวัติและขาดการปกครองที่ถูกต้อง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ผู้ทรงเป็นเป้าหมายแห่งการปฏิวัติเป็นกษัตริย์ที่ได้แต่จ่ายพระราชทรัพย์ให้สิ้นเปลืองไปชั่ววันหนึ่งๆ
ตูรโกและเน็คเกอร์เสนาบดีคลังของพระองค์ ถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่ไปตามๆ กัน เพราะหาเงินให้พระองค์ใช้ไม่ทัน พระองค์ทรงช่วยพวกอเมริกันรบกู้เอกราชและอิสรภาพจากพวกอังกฤษ ทั้งนี้เพราะทรงกลัวจะเกิดการผูกขาดของอังกฤษขึ้นในอเมริกา
ต่อมาพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงได้ แคโลนน์ Calonne นักหมุนเงินตัวลือมาเป็นเสนาบดี จึงทรงดำเนินพระราชกิจต่อไปได้ ในปี ค.ศ.๑๗๘๙ พระองค์ทรงต้องการเงินจากภาษีอากร จึงทรงยอนุมัติให้สภาผู้แทนราษฎรรวบรวมกันเข้า เป็นคณะปฏิวัติที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติขึ้นพร้อมๆ กับการแย่งชิงอำนาจกลับไปกลับมาระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ความระส่ำระสายในการนี้ได้สิ้นุสดลงเมื่อนายทหารของคณะปฏิวัติคนหนึ่งชื่อนโปเลียน โบนาปาต ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.๑๗๙๙ นโปเลียน โบนาปาตอยู่ในพรรคซ้ายสุดในขณะนั้น
ระหว่างที่เกิดการปฏิวัติขึ้นในฝรั่งเศสจาก ค.ศ.๑๗๘๙ ถึง ๑๗๙๙ ประเทศในยุโรปซึ่งปกครองด้วยกษัตริย์ได้พยายามเข้าช่วยกันทำลายพลังของฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้เพราะกลัวลัทธิประชาธิปไตยจะลุกลามไปทั่วยุโรป ประเทศแอนตี้ประชาธิปไตยเหล่านี้ได้เข้าช่วยราชวงศ์บรูบ็องให้ได้กลับมาครองราชย์ตามระบบเก่าอีก
อ๊อสเตรีย,อิตาลี,รัสเซียและที่น่าประหลาดก็คืออังกฤษประชาธิปไตย ได้เข้ามาบุกสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่เกิดใหม่ แต่นโปเลียน โบนาปาตกับทหารฝ่ายประชาชนที่ยินดีสละชีวิตเพื่อ
“เสรีภาพ,ภราดรภาพและสมภาพ”
ได้มีชัยชนะต่อกองทัพของผู้รุกรานทุกครั้งไป นี่ทำให้ฝรั่งเศสยิ่งใหญ่ขึ้นในยุโรปแล้ว นโปเลียนก็ฉวยเอาความยิ่งใหญ่นี้ไปไว้ในมือแต่ผู้เดียว
นโปเลียน โบนาปาตเป็นชาวนาจนๆในเกาะ คอสิก้า ในทางการเมืองก็เป็นฝ่ายซ้าย แต่เขาเป็นผู้มองแต่อดีต จึงเกิดใฝ่อำนาจเป็นส่วนตัวขึ้นมา ในปี ค.ศ.๑๘๐๔ เขาถึงสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นมหาจักรพรรดิแห่งประเทศฝรั่งเศส ยิ่งไปกว่านี้อีกเขาได้เข้าลบหลู่อำนาจศาสนจักรโดยได้เรียกโป๊ปไปอุสที่ ๗ มาจากกรุงโรม ที่วิหารโนเตอดามในปารีส เขาได้เรียกโป๊ปไปคอยดูแลเขาอยู่ใกล้ๆ แล้วเขาก็ยกมงกุฎกษัตริย์ขึ้นสวมให้แก่ตนเอง ตั้งแต่นั้นมาประเพณีที่โป๊ปสวมมุงกุฏให้แก่พระมหากษัตริย์ก็สิ้นสุดลง.
พ.อ.สมัคร บุราวาศ
ที่มา : dedicate for the Revolution 2475 : บทความที่๔๒๒.อภิวัฒน์ฝรั่งเศส
หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางส่วนทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2551
อภิวัฒน์ฝรั่งเศส
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 12:50 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น