วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551

คำพิพากษา(ศาลฎีกา) คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของนายวีระ มุสิกพงศ์ เมื่อปี พ.ศ.2531


สำหรับศาล
(๑๙)
หมายนัด
ขอให้ผู้มีชื่อปฏิบัติตามนี้

คดีหมายเลขดำที่ ๒๘๓๑/๒๕๒๙
คดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๓๑/๒๕๒๓
(นายพิชิต คำแฝง)
(ผู้พิพากษา)

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาล จังหวัดบุรีรัมย์
วันที่ ๑๖ เดือน มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๑
ความ อาญา
พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์
ระหว่าง{
นายวีระ มุสิกพงศ์
หมายถึง นายวีระ มุสิกพงศ์

ฟังคำพิพากษา
ด้วยคดีเรื่องนี้ศาลได้นัด ศาลฎีกา
ณ วันที่ ๒๒ เดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๑ เวลา ๙.00 นาที

สำหรับศาลใช้
(ฎ. ๔)
คำพิพากษา
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ที่ ๒๓๕๔/๒๕๓๑ ศาลฎีกา
วันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๑
ความ อาญา
พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์

โจทก์ระหว่าง{
นายวีระ มุสิกพงศ์ ศาลฎีกาพิพากษา จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี
และรัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
จำเลย ฎีกาคัดค้าน คำพิพากษา
ศาล อุทธรณ์ ลงวันที่ ๑๖ เดือน กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๑



โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้และในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่9 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในตำแหน่งอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเป็นรัชทายาท อันประกอบขึ้นเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันคือ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2529 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำการโฆษณาหาเสียงโดยการกล่าวป่าวประกาศด้วยการกระจายเสียงทาง เครื่องขยายเสียงทางเครื่องขยายเสียงสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ ในท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน

ซึ่งตอนหนึ่งในการโฆษณานี้จำเลยได้กล่าวว่า ผมถ้าเลือกเกิดเองได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไม เป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไม ถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นจะต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยงๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้ว ตื่นอีกทีบ่ายสามโมง ที่มายืนกลางแดดอยู่ทุกวันนี้ก็มันเลือกเกิดไม่ได้

อันเป็นการพูดโฆษณาเปรียบเทียบละเมิด-หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชการปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท ทั้งนี้เพราะพระบรมมหาราชวังเป็นของและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ในราชวงศ์จักรี สำหรับคนที่จะเกิดในใจกลางพระบรมมหาราชวังและเป็นพระองค์เจ้านั้น จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์และเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นรัชทายาทเท่านั้น

ที่จำเลยกล่าวถึงเกิดในใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้า มีความหมายถึงพระมหากษัตริย์พระราชินี และรัชทายาทดังกล่าวแล้วข้างต้น และเป็นการกล่าวต่อนายศิวณัฐพงศ์ วัฒนาชีพ และประชาชนอีกหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลที่สามว่า ทุกพระองค์มีแต่ความสุขสบาย ไม่ทรงทำอะไร ตอนเที่ยงก็เข้าห้องเย็น(หมายถึงห้องที่มีเครื่องทำความเย็น) เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ไม่ต้องออกไปยืนกลางแดด

ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้พระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟลำปลายมาศ ตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

ต่อมาในวันเวลาดังกล่าวข้างต้นภายหลังจากที่จำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าว แล้ว จำเลยได้กระทำการโฆษณาหาเสียงโดยการกล่าวป่าวประกาศด้วยการกระจายเสียงทาง เครื่องขยายเสียงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด บุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ ในท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน

ซึ่งตอนหนึ่งในการโฆษณานี้จำเลยได้กล่าวว่า ถ้าคนเราเลือกที่เกิดได้ ผมทำไมจะไปเกิดเป็นลูกชาวนาที่สงขลาให้มันโง่อยู่จนทุกวันนี้ ผมเลือกเกิดมันใจกลางพระมหาราชวังไม่ดีเหรอ เป็นพระองค์เจ้าวีระไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มที่แล้วนะ

อันเป็นการพูดโฆษณาเปรียบเทียบละเมิดหมิ่นพระบรม เดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถซึ่งเป็นพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลย เดชฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท ทั้งนี้เพราะพระบรมมหาราชวังเป็นของและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี บุคคลที่เกิดในใจกลางพระบรมมหาราชวังและเป็นพระองค์เจ้านั้น จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์เป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่เป็นรัชทายาทเท่านั้น

ที่จำเลยกล่าวถึงเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังเป็น พระองค์เจ้ามีความหมายถึงพระมหากษัตริย์พระราชชินีและรัชทายาทดังกล่าวแล้ว ข้างต้นและเป็นการกล่าวต่อร้อยตำรวจโทวิเชียร เฉลิมรมย์และประชาชนอีกหลายคนซึ่งเป็นบุคคลที่สามว่า พระองค์มีแต่ความสุขสบายไม่ต้องมาพูดให้ประชาชนฟังจนคอแหบคอแห้ง ขณะนี้เป็นเวลาหกโมงครึ่ง (หมายถึงเวลาหกโมงครึ่งตอนเย็น)จะได้เสวย น้ำจัณฑ์(สุรา) ให้สบายอกสบายใจ ขณะที่ยืนพูดก็เมื่อยพระชงฆ์(หมายถึงแข้ง)เต็มทีแล้ว

ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสตึก ตำบลสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 91 รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 มาตรา 6 นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 26228/2528 ของศาลแขวงพระนครเหนือ และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 22128/2528 ของศาลแขวงพระนครใต้

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทย์ขอให้นับโทษต่อศาลชั้นต้น พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ข้อความที่จำเลยกล่าวไม่เป็นการใส่ความและไม่อาจทำให้เสียชื่อเสียงถูกดู หมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้ จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง


* โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท จำเลยมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี คำขอให้นับโทษต่อให้ยก


* จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น เห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดีจึงให้งดเสีย ทางพิจารณาโจทย์นำสืบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชฯ เป็นรัชกาลที่ 9 ในราชวงศ์จักรี มีพระบรมราชินีทรงพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ส่วนองค์รัชทายาทคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ขณะเกิดเหตุ จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2529 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยได้กล่าวปราศรัยในการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่หน้าสถานีรถไฟลำ ปลายมาศ ตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยพูดทางเครื่องขยายเสียงมีประชาชนมาฟังประมาณ 4 –5 พันคน

ในคำปราศรัยของจำเลยตอนหนึ่ง จำเลยได้กล่าวว่า ผมถ้าเลือกเกิดได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไม ถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังนั้น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นต้องออกมายืนตากแดดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยง ๆ ก็เข้าห้องเย็นเสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้ว ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ที่มายืนอยู่กลางแดดอยู่ทุกวันนี้ก็มันเลือกเกิดไม่ได้ เลือกเกิดในท้องคนจนก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดในท้องคนรวยก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดที่กรุงเทพฯก็ไม่ได้ เลือกเกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ก็ไม่ได้ ปรากฎข้อความตามแถบบันทึกเสียงหมาย จ. 2 และคำถอดแถบบันทึกเสียงเอกสารหมาย จ. 8 ในวันเดียวกัน

หลังจากที่จำเลยได้ปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศแล้ว จำเลยได้ไปกล่าวปราศรัยที่หน้าว่าการอำเภอสตึก ต่อหน้าประชาชนที่มาฟังประมาณ 2 หมื่นคน มีข้อความตอนหนึ่งว่าถ้าคนเราเลือกที่เกิดได้ ผมทำไมจะไปเกิดเป็นลูกชาวนาที่สงขลาให้มันโง่อยู่จนทุกวันนี้ ผมเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังไม่ดีกว่าเหรอ เป็นพระองค์เจ้าวีระ ไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้งนี่ก็เวลาตั้งหกโมง ครึ่ง ผมเสวยนำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ ปรากฏข้อความตามแถบบันทึกเสียงหมาย จ. 3 และคำถอดแถบบันทึกเสียงเอกสารหมาย จ. 9

คำกล่าวปราศรัยของจำเลยทั้งสองแห่ง เป็นการกล่าวตำหนิล่วงเกินองค์พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมโอรสาธิราชฯ ทั้งนี้ คำที่จำเลยกล่าวถึงพระบรมมหาราชวัง มีความหมายถึง พระบรมมหาราชวังใหญ่อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็น พระมหากษัตริย์ รวมทั้งเป็นที่ประสูติและสวรรคตด้วย พระบรมมหาราชวังนี้นอกจากจะหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์แล้ว ย่อมหมายถึงพระราชินี และองค์รัชทายาทด้วย แม้จะประสูติที่ใดก็ให้ถือว่าประสูติในพระบรมมหาราชวัง ส่วนที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ แม้จะไม่ได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังที่ประทับนั้นก็ให้ถือว่าเป็นพระบรมมหาราชวังด้วย

ฉะนั้นเมื่อประชาชนได้ยินคำพูดถึงพระบรมมหาราชวังก็จะนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะประสูติทรงมีฐานันดรเป็นพระองค์เจ้า ดังนั้นพระองค์เจ้าที่เกิดในพระบรมมหาราชวังจึงหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การที่จำเลยกล่าวที่อำเภอปลายมาศว่า ไม่จำเป็นต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยงๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้วตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง มีความหมายว่า ทั้งสามพระองค์มีความเป็นอยู่สุขสบาย การงานไม่ต้องทำ พักผ่อนกันตลอด

ส่วนข้อความที่จำเลยกล่าวที่อำเภอสตึกว่า ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยนำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี้ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ ข้อความนี้หมายความว่า ทั้งสามพระองค์อยู่อย่างสะดวกสบาย ดื่มสุราเพื่อความสำราญ ผิดกับประชาชนธรรมดาที่ต้องทนกรำแดดกรำฝนไม่มีเวลาพักผ่อน คำว่า บรรทม น้ำจัณฑ์ และพระชงฆ์ เป็นคำราชาศัพท์ ใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระองค์เจ้าอยู่หัว พระมเหสี หรือองค์รัชทายาท ซึ่งความจริงแล้วทั้งสามพระองค์มิได้เป็นอย่างที่จำเลยว่า พระองค์มีพระราชภารกิจอยู่มากมายและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศ ชาติและความมั่นคง ความอยู่สุขของประชาราษฎร์ พระราชภารกิจประจำวันของพระองค์ ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่จำเลยว่า

การกล่าวเช่นนี้ทำให้พระองค์ได้รับความเสียหาย เป็นการใส่ความ ทำให้ประชาชนขาดความเคารพสักการะ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ซึ่งตามปกติพระองค์เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะล่วงเกินมิได้ การที่จำเลยกล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวอย่างมีเจตนา โดยเมื่อจำเลยพูดในตอนบ่าย ก็ยกตัวอย่างในช่วงตอนบ่าย ซึ่งเป็นพฤติการณ์ในตอนบ่าย ครั้งถึงตอนเย็นจำเลยก็ยกตัวอย่างเกี่ยวกับพฤติการณ์ตอนเย็น ซึ่งเรื่องนี้หากจำเลยไม่ตั้งใจ จำเลยจะพูดเพียงครั้งเดียวแล้วไม่พูดอีก แต่จำเลยพยายามที่จะดัดแปลงข้อความในการพูดทั้งสองครั้งให้เข้ากับบรรยากาศ ในเวลาที่กำลังพูด

ต่อมาประชาชนบางกลุ่มมีความเคลื่อนไหวที่จะเดินขบวนประท้วงการกระทำของจำเลย ซึ่งจะเกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง สมาชิกวุฒิสภาและนายทหารราชองค์รักษ์ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ยื่นญัตติไป ยังประธานรัฐสภาตามเอกสารหมาย จ. 13 หรือ ป.จ. 1 ให้รัฐบาลแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าได้ดำเนินการไปอย่างไร เพื่อประชาชนจะได้ทราบข้อเท็จจริง จำเลยได้ติดต่อขอทำความเข้าใจกับผู้ที่ยื่นญัตติโดยจำเลยยอมรับว่าได้มีการ กล่าวข้อความดังกล่าวจริง

และในที่สุดจำเลยได้ทำพิธีขอขมา โดยกล่าวขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ห้องรับรองของรัฐสภา ตามข้อความในเอกสารหมาย จ. 14 หรือ ป.จ. 2 ต่อหน้าสื่อมวลชนและสมาชิกวุฒิสภาที่ยื่นญัตติ การที่จำเลยได้กระทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษดังกล่าว แสดงว่าจำเลยทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพโดยความสมัครใจ ต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษผ่านทางราชเลขาธิการในพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามเอกสารหมาย จ. 15 หรือ ป.จ. 14

จำเลยนำสืบว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่ศึกษาอยู่นั้นได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนนักศึกษาของคณะนิติศาสตร์ และเป็นหัวหน้าทีมโต้วาทีของมหาวิทยาลัยหลายปีติดต่อกัน หลังจากจบการศึกษาแล้ว จำเลยประกอบอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ไทยรัฐ มติชน และชาวไทย โดยเริ่มงานเป็นผู้สื่อข่าวการเมือง และเขียนบทความการเมืองประจำเมื่อปลายปี พ.ศ. 2517 จำเลยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในกรุงเทพมหานคร และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตกรุงเทพมหานคร 2 ครั้ง และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดพัทลุง 3 ครั้ง ติดต่อกัน

ระหว่างเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2519 จำเลยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2524 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ.2525 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งในพรรคการเมืองจำเลยเคยเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาได้เป็นกรรมการบริหารในตำแหน่งโฆษกพรรค และครั้งหลังสุดเป็นเลขาธิการพรรค ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่มีบทบาทในการหาเสียงคือหัวหน้าพรรค นายชวน หลักภัย นายมารุต บุนนาค และตัวจำเลย

เกี่ยวกับคดีนี้ เนื่องจากมีการเลือกตั้งทั่วไปในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวัน ที่ 27 กรกฎาคม 2529 จำเลยในฐานะเลขาธิการพรรคต้องเดินทางไปช่วยหาเสียงให้แก่ลูกพรรคทั่วประเทศ ในจังหวัดบุรีรัมย์พรรคประชาธิปัตย์ส่งสมาชิกลงสมัครในเขตเลือกตั้งทุกเขต เขต 1 มีนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ระหว่างหาเสียงนั้นจำเลยได้รับรายงานจากนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ว่าได้รับความนิยมจากประชาชนมาก ทำให้คู่แข่งหวั่นวิตกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้ง คู่แข่งขันจึงระดมกันโจมตี นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ โดยการปราศรัยและออกใบปลิวแจกจ่ายแก่ประชาชน อ้างว่าชาวบุรีรัมย์ควรเลือกคนบุรีรัมย์เป็นผู้แทนราษฎร นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เป็นคนเกิดที่กรุงเทพมหานคร และเป็นลูกเศรษฐีจึงไม่ควรเลือกนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดบุรีรัมย์

ข้อกล่าวหานี้ทำให้นายพรเทพ เตชะไพบูลย์วิตกว่าอาจจะทำให้คะแนนเสียงลดลงหรือทำให้ไม่ได้รับเลือกตั้ง จำเลยจึงรับที่จะแก้ไขให้ ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2529 จำเลยได้ไปช่วยหาเสียงให้แก่นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ นายการุณ ใสงาม เฉพาะในเขต 1 จำเลยไปปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก ส่วนเขตของนายการุณ ใสงาม จำเลยปราศรัยที่หลังสถานีรถไฟอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ข้อความที่ปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก จำเลยปราศรัยเรื่องการเมืองและปัญหาสังคม และอธิบายถึงหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่แท้จริงให้ประชาชนได้เข้าใจ

เมื่ออธิบายถึงหน้าที่ของผู้แทนราษฎรแล้ว จำเลยได้อธิบายถึงคุณสมบัติของผู้สมัครของพรรคว่า นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ มีวุฒิทางการศึกษาสูง จบจากต่างประเทศ มีสถานะส่วนตัวดี อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ และได้ขอร้องประชาชนว่าอย่าถือเอาที่เกิดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนเราไม่สามารถเลือกเกิดเองได้ โดยจำเลยกล่าวว่า แม้ตัวจำเลยเอง เมื่อปี พ.ศ.2524 ไปลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดพัทลุง ก็ถูกคู่แข่งโจมตีในลักษณะนี้มาแล้วโดยที่ถูกโจมตีว่าเป็นคนที่จังหวัดสงขลาแล้ว มาลงสมัครผู้แทนราษฎรที่จังหวัดพัทลุง ขอให้ประชาชนชาวพัทลุงต่อต้านอย่าเลือกจำเลยเป็นผู้แทนราษฎร

ในครั้งนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดพัทลุงคือ นายพร้อม บุญฤทธิ์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวปราศรัยแก้แทน จำเลยซึ่งเป็นผู้สมัคร จำเลยเล่าให้ประชาชนฟังเหมือนกับที่จำเลยกล่าวที่อำเภอลำปลายมาศและ อำเภอสตึก ข้อความที่จำเลยกล่าวที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก ปรากฎตามข้อความในเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ขีดเส้นใต้ที่โจทย์ทำมาฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดนั้น จำเลยพูดโดยมีเจตนาจะแก้ข้อที่ว่าคนเรานั้นเลือกเกิดไม่ได้ แต่สามารถที่จะเลือกทำความดีได้ และการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรให้ดูว่าเขามีความสามารถทำงานในฐานะผู้แทนราษฎร ได้หรือไม่ ไม่ถือที่เกิดเป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนการที่จำเลยยกเรื่องดังกล่าวขึ้นพูดเป็นเรื่องอุปมาอุปมัย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจชัดว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้จริงๆ จะเลือกเกิดเป็นคนจนก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดเป็นคนรวยก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดที่บุรีรัมย์ก็ไม่ได้ จำเลยไม่ได้มุ่งที่จะเปรียบเทียบหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือองค์รัชทายาทแต่อย่างใด คำว่าถ้าเลือกเกิดได้นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยสมมุติตัวเองขึ้น และคำว่าพระองค์เจ้าวีระนั้น จำเลยหมายถึงตัวจำเลยเอง เป็นเรื่องที่จำเลยสมมุติขึ้นแล้วที่ว่าเป็นพระองค์เจ้าวีระแล้วจำเลยจะ บรรทมตื่นสายนั้น จำเลยหมายถึงตัวจำเลย ไม่ได้เปรียบเทียบกับพระองค์อื่นใด

ที่โจทย์อ้างว่าพระบรมมหาราชวังหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี และองค์รัชทายาทนั้นเป็นการตีความที่บิดเบือน เพราะเป็นการเอาวัตถุมาหมายถึงบุคคลซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หนังสือพระราชวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ.2324-2525) ตามเอกสารหมาย ป.จ. 33 ให้ความหมายคำว่า พระบรมมหาราชวังคือศูนย์กลางการปกครอง และที่ประทับของพระมหากษัตริย์ คนทั่วไปมีความเข้าใจว่าพระบรมมหาราชวังคือบริเวณพระราชวัง ซึ่งอยู่ที่วัดพระแก้ว และเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส พระราชธิดาทุกพระองค์ไม่ได้ประทับที่พระบรมมหาราชวัง หากแต่ประทับอยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็มิได้ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ส่วนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประสูติที่พระที่นั่งอัมพรสถาน

และคำว่าพระองค์เจ้าที่โจทย์กล่าวหาว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และองค์รัชทายาทนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ มีน้อยคนที่จะทราบว่าความจริงแล้วพระองค์ทรงอิสริยยศเป็นอะไร ตามตำราของกระทรวงศึกษาธิการตามเอกสารหมายเลข ล. 10 ปรากฎว่าเดิมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีฐานันดรเป็นหม่อมเจ้า จึงเข้าใจมาตลอดว่าพระอนุชาคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเป็นหม่อมเจ้าด้วย หาชาพระองค์เจ้าไม่ ฐานันดรเดิมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นหม่อมราชวงศ์ พระองค์ไม่เคยทรงฐานันดรเป็นพระองค์เจ้า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อตอนประสูติก็ทรงฐานันดรเป็นเจ้าฟ้าไม่เคยทรงมีฐานันดรเป็นพระองค์เจ้า

เมื่อเอ่ยคำว่าพระองค์เจ้าลอยๆ ไม่ระบุชื่อ จะไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด เมื่อระบุชื่อลงไปด้วยจึงจะทราบว่าหมายถึงใคร ที่โจทย์นำสืบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไปประทับทีไหน ก็ให้ถือว่าที่นั่นเป็นพระบรมมหาราชวังนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการบัญญัติถ้อยคำขึ้นเองเพื่อลงโทษจำเลย คำราชาศัพท์ที่ว่าบรรทมตื่นสาย เสวยน้ำจัณฑ์ เมื่อยพระชงฆ์นั้น เป็นราชาศัพท์ที่คนทั่วไปรู้ว่าใช้ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป

สำหรับความรู้สึกของประชาชนต่อการที่จำเลยกล่าวปราศรัยที่อำเภอลำปลาบมาศ และอำเภอสตึกทั้งหมดนั้น ประชาชนรู้สึกเฮฮาสนุกสนาน ไม่มีปฏิกิริยาประท้วงหรือลุกขึ้นเดินหนีแต่ประการใด จำเลยกล่าวปราศรัยให้ นายการุณ ใสงาม ที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จำเลยก็ไม่ได้กล่าวข้อความที่โจทก์ฟ้อง เพราะในเขตเลือกตั้งนั้นไม่มีการกล่าวการโจมตีนายการุณ ใสงาม ในประเด็นเดียวกันกับนายพรเทพ เตชะไพบูลย์

หลังจากจำเลยกล่าวคำปราศรัยแล้วทั้งสองแห่ง ไม่มีประชาชนไปแจ้งความเรื่องที่จำเลยกล่าวปราศรัย ต่อมานายเชิดชัย เพชรพันธ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรคสหประชาธิปไตย เขตกรุงเทพมหานครฯ ได้ไปแจ้งความ นายศิว์ณัฐพงศ์ พยานโจทก์เป็นผู้แทนของพรรคสหประชาธิปไตย และนายจรูญ นิ่มนวล เป็นหัวคะแนนของพรรคสหประชาธิปไตยซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของพรรค ประชาธิปัตย์ การที่นายเชิดชัย เพชรพันธ์ ไปแจ้งความก็เพื่อหวังผลทางการเมืองและเพื่อทำลายคะแนนเสียงของพรรค ประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ หลักการเลือกตั้งจำเลยได้รับการแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ต่อมาได้มีการปลุกระดมกลุ่มมวลชนต่างๆ โดยเริ่มจากพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายทหาร ทำการปลุกระดมในกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ท.ส.ป.ช. และกลุ่มกระทิงแดง เพื่อเร่งรัดให้ดำเนินคดีแก่จำเลย แรกเริ่มเกิดเรื่องนี้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ พนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องไปให้กรมตำรวจพิจารณาก่อนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนเบื้องต้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เห็นว่าไม่มีความผิด ไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงส่งเรื่องให้กรมตำรวจทางกรมตำรวจได้ให้พลตำรวจตรีสุภาส จีรพันธ์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานเรื่องกฎหมายในสถานการณ์เลือกตั้งพิจารณา

เรื่องนี้ พลตำรวจตรีสุภาส จีรพันธ์ ได้ประชุมพิจารณาและทำความเห็นไปยังอธิบดีกรมตำรวจว่าไม่เข้าข่ายองค์ ประกอบของมาตรา 112 จึงให้ระงับเรื่อง ขณะเดียวกันกลุ่มประชาชนเริ่มลุกฮือเป็นที่หวั่นเกรงว่าจะเกิดความไม่สงบ ขึ้นได้ ในที่สุดตำรวจได้สั่งการให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยให้ถือว่าคดีพอมีมูลที่จะฟ้องร้องได้ทั้งนี้จริงๆแล้วเพื่อแก้ปัญหาความ กดดันทางการเมือง เมื่อมีความกดดันดังกล่าวจำเลยจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการลาออกโดยไม่มีใคร บังคับ ทั้งนี้เพื่อเจตนาที่จะแก้ปัญหาความกดดันทางการเมืองและปกป้องรัฐบาลและ ระบอบประชาธิปไตย ที่จำเลยกล่าวขอขมาเนื่องจากพลโทวัฒนชัย วุฒิศิริ ซึ่งในขณะนั้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยเพื่อแก้ปัญหา โดยให้จำเลยพบ พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1

ในขณะนั้น จำเลยก็ได้ไปพบตามที่นัดหมาย และได้พูดคุยทำความเข้าใจจนชัดแจ้งว่าจำเลยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเจตนาที่จำเลยปราศรัยที่จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อแก้ ข้อกล่ให้แก่นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ และไม่ได้มีเจตนาอย่างที่ฝ่ายค้านหรือทางทหารเข้าใจ พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ ก็เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างและจะเลิกรากันไป แต่มีปัญหาว่าญัตติที่พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ ยื่นไว้ต่อวุฒสภากล่าวหาว่าจำเลยละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถ้าจะถอนญัตติจะอธิบายแก่ประชาชนอย่างไร เพราะประชาชนอาจมองไปในแง่ไม่ดี จำเลยบอกว่าจะให้ทำอย่างไรก็ยินดี

พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ จึงเชิญสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นเจ้าของญัตติมาพบพร้อมกันที่รัฐสภา ขอให้จำเลยกล่าวคำขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ จำเลยจึงกล่าวขอขมาเพื่อให้ผู้ยื่นญัตติทุกคนสบายใจ และเพื่อให้กลุ่มมวลชนที่กำลังลุกฮือสลายตัวไป ทั้งนี้โดยการแสดงออกถึงความจริงใจของจำเลยในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนคำกล่าวของจำเลยตอนหนึ่งที่ว่า จะผิดหรือไม่ผิดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในประเด็นข้อกฎหมายนั้นจะไม่พูดถึงทั้งนี้เพราะจำเลยเห็นว่าเป็นเรื่องของ ศาล และถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทจำเลยก็พร้อมที่จะขอพระราชทานอภัย

สำหรับคำกล่าวขอพระราชทานอภัยตามเอกสารหมาย ป.0. 2 นั้น กองทัพภาคที่ 1 ได้จัดพิมพ์ใส่ซองมาให้จำเลยกล่าว ไม่ใช่เป็นการรับสารภาพเพราะจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจน ถึงชั้นศาล จำเลยมีสาเหตุขัดแย้งกับพยานโจทย์ คือ นายสิงห์โต จ่างตระกูล นายสรวง อักษรานุเคราะห์ นายชวลิต รุ่งแสง พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ และ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ที่โจทย์นำสืบว่าจำเลยปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก เป็นการพูดหลายครั้ง เป็นการกระทำโดยเจตนานั้น ไม่เป็นความจริง เพราะจำเลยไม่มีเจตนา จำเลยเป็นรัฐมนตรี เห็นว่าสิ่งใดผิดจะไม่พูด และขณะนั้นเป็นช่วงหาเสียงต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน หากพูดสิ่งที่ประชาชนโกรธและเกลียดก็จะไม่ได้คะแนนเสียง

จำเลยเข้าใจอย่างทราบซึ้งว่าทุกพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย ยากที่บุคคลธรรมดาจะปฏิบัติได้ และการที่นายสุจินต์ ทิมสุวรรณ อธิบดีกรมอัยการมีคำสั่งให้พนักงานอัยการพิเศษ 2 นายเป็นผู้ดำเนินคดีนี้เฉพาะเรื่อง ก็เพราะมีเหตุโกรธเคืองจำเลยเนื่องมาจากเรื่องคดีฆ่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จังหวัดภูเก็ต สำหรับคดีที่จำเลยถูกฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือและศาลแขวงพระนครใต้ซึ่ง โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลทั้งสองได้พิจารณายกฟ้องแล้ว พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่าตามวันเวลาเกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง

จำเลยซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและเป็น เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ไปกล่าวปราศรัยต่อประชาชนที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อช่วยหาเสียงให้แก่ นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ สมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดบุรีรัมย์ เขต 1 ในการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม 2529

คำปราศรัยของจำเลยที่กล่าวที่อำเภอลำปลายมาศซึ่งได้มีการบันทึกเสียงไว้มี ข้อความตอนหนึ่งว่า “ถ้าผมเลือกเกิดเองได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไม ถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยงๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้ว ตื่นอีกที่ก็บ่ายสามโมง ที่มายืนกลางแดดอยู่ทุกวันนี้ ก็มันเลือกเกิดไม่ได้”

คำปราศรัยของจำเลยที่กล่าวที่อำเภอสตึกซึ่งได้มีการบันทึกเสียงไว้มีข้อความ ตอนหนึ่งว่า “ถ้าคนเราเลือกที่เกิดได้ ผมทำไมจะไปเกิดเป็นลูกชาวนาที่สงขลาให้มันโง่จนอยู่ทุกวันนี้ ผมเลือกเกิดมันในใจกลางพระบรมมหาราชวังไม่ดีเหรอ เป็นพระองค์เจ้าวีระไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์ เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ”

คำกล่าวของจำเลยเป็นการกล่าวแก้ให้นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ซึ่งได้ถูกผู้รับสมัครเลือกตั้งฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีว่านายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เป็นลูกเศรษฐีและไม่ได้เกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่สมควรเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมามีประชาชนบางกลุ่มเคลื่อนไหวกล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งได้ยื่นญัตติด่วนต่อประธานรัฐสภาตามเอกสารหมาย จ. 13 ป.จ. 1 วันที่ 24 สิงหาคม 2529

จำเลยได้ไปกล่าวคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ห้องรับรองของรัฐสภาซึ่งมีข้อความตามเอกสาร หมาย จ. 14 หรือ ป.จ. 2 และจำเลยมีหนังสือขอพระทานอภัยโทษผ่านทางราชเลขาธิการตามเอกสารหมาย จ. 15 หรือ ป.จ. 4 ข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยต่อประชาชนนั้นมีข้อความตรงตามที่โจทย์บรรยาย ในฟ้อง

คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทหรือไม่ โจทย์มีพยานหลายปากซึ่งได้ยินได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัยในวันเวลาและสถานที่ เกิดเหตุทั้งสองแห่งมาเบิกความให้ความเห็นต่อคำกล่าวของจำเลย โดยนายเปลื้อง เขียนนิลศิริ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดบุรีรัมย์เบิกความว่า การปราศรัยของจำเลยตอนหนึ่งพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จำเลยไม่ควรเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มากล่าวในการหาเสียงอย่างนี้ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพบูชาของคนไทยทั้งชาติ ถ้าพยานไม่ทราบพระราชกรณียกิจในพระราชวัง ก็อาจเชื่อตามที่จำเลยกล่าวว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสุขสบาย แต่เท่าที่ทราบทั่วไปก็ปรากฎว่าไม่มีความสุขสบายอย่างนี้

การที่จำเลยซึ่งเป็น รัฐมนตรีพูดจะทำให้ประชาชนเชื่อถือว่าเป็นจริงเพราะไม่ค่อยมีคนได้รู้ได้ เห็นเรื่องในรั้วในวัง อาจจะทำให้คุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ลดน้อยลงในทางสังคม นายศิว์ณัฐพงศ์ วัฒนาชีพ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ เขต 1 สังกัดพรรคสหประชาธิปไตย เบิกความว่า พยานได้ไปฟังจำเลยปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและบันทึกเสียงไว้ด้วย จำเลยกล้าปราศรัยพาดพิงไปถึงพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นการไม่บังควร เป็นการปราศรัยที่จะทำให้เสื่อมเสียแก่พระมหากษัตริย์เพราะจะทำให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์มีชีวิตอย่างสุขสบาย ในลักษณะที่ไม่ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเหมือนผู้ปกครองประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นหมายความว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ที่จำเลยกล่าวว่าเกิดในใจกลางพระบรมมหาราชวัง ผู้ที่จะเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังนั้นจะต้องเกิดจากพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นองค์รัชทายาท พยานเห็นเป็นการพูดดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

นายจรูญ นิ่มนวล ชาวนาตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เบิกความว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยหาเสียงไม่ควรจะพูดเปรียบเทียบกับพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ทรงทำความดีตลอดมา ไม่ควรเอามาพูดว่าเสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นบ่ายสามโมง ซึ่งความจริงไม่ได้ทรงเป็นเช่นนั้น เพราะพระองค์ทรงเอาใจใส่ต่อประชาชน พยานเห็นว่าเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระองค์ ร้อยตำรวจตรีวิเชียร เฉลิมรมย์ เบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปรัษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่ปราศรัย จึงได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัย

พยานฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ความที่ว่าเป็นพระองค์เจ้า พยานเห็นว่าเป็นการดูหมิ่น เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เมื่อทรงพระราชสมภพ ทรงเป็นพระองค์เจ้า ข้อความที่ว่าเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังก็เป็นการดูหมิ่น เพราะพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ คนที่จะเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังได้ก็มีแต่พระบรมโอรสาธิราชฯ หรือพระราชธิดาที่เกิดจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

และข้อความที่เปรียบเทียบอีกว่าเป็นเวลา 6 โมงครึ่งแล้วได้เวลาเสวยน้ำจัณฑ์ ก็มีความหมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความสุขสบายคือถึงเวลาก็ เสวยน้ำจัณฑ์ซึ่งหมายถึงสุรา ความจริงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามที่ปรากฎในสื่อมวล ชนนั้นไม่ได้ทรงสุขสบาย เป็นการพูดดูหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นที่เคารพรักของประชาชนชาวไทย การพุดในทำนองนี้จะทำให้ประชาชนที่รับฟังมองไปในทางที่ไม่ดี จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย

นายดาบตำรวจประทับ นพตลุง ซึ่งรับราชการประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เบิกความว่า พยานได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัยแล้วรู้สึกตกใจและไม่สบายใจ เพราะเป็นการพูดหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ที่จะเกิด ใจกลางพระบรมมหาราชวังได้ก็คือพระโอรสของพระมหากษัตริย์ซึ่งต่อไปจะได้เป็น พระมหากษัตริย์ และข้อความที่ว่า ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่ก็เวลา 6 โมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์ ให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าหรือ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีอยู่แล้ว เป็นคำพูดที่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและรัชทายาทไม่ได้ทรงทำอะไร มีแต่ความสุขสบายซึ่งไม่เป็นความจริง

นายสัญชัย เลาวเกียรติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เบิกความว่า คำพูดของจำเลยเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมโอรสาธิราชฯ เพราะจำเลยกล่าวว่าไปเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังซึ่งมีคนอื่นอยู่ไม่ ได้นอกจากสองพระองค์เท่านั้น

และนายทรงศักดิ์ สืบขำเพชร กำนันตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เบิกความว่า จำเลยกล่าวปราศรัยเอา สถาบันพระมหากษัตริย์ที่สูงส่งมาเปรียบเทียบในทางที่เสื่อมเสียสถาบันพระ มหากษัตริย์ หมายความถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นการเปรียบเทียบในทางที่เสื่อมเสียว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอะไรซึ่งเป็นการตรงกันข้าม คำว่าที่เกิดเป็นพระองค์เจ้าก็เป็นการพูดล้อเลียนพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวในทางที่เสื่อมเสีย ทำให้ประชาชนขาดความเคารพและศรัทธา พยานและประชาชนที่ฟังต่างไม่พอใจคำปราศรัยของจำเลย

นอกจากนี้โจทย์ยังมีบุคคลอีกมากมายซึ่งได้ทราบคำกล่าวปราศรัยของจำเลยในภาย หลังมาเบิกความเป็นพยาน อาทิเช่น พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้อำนวยการรักษาความสงบภายในประเทศ พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 ยศพลโท พลโท รวมศักดิ์ ไชยโมมินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 พลตรีสุดสาย เทพหัสดิน สมาชิกวุฒิสภา นายสมัคร สุนทรเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าพรรคประชากรไทย นายสิงห์โต จ่างตระกูล สมาชิกวุฒิสภาและผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน นายสรวง อักษรานุเคราะห์ สมาชิกวุฒิสภา เรือตรีหญิงสุรีย์ บูรณธนิต รองอธิการบดีวิทยาลัยกรุงเทพ นายฐัตย์ ชูศิลป์ ทนายความ นายเชิดชัย เพชรพันธ์ ที่ปรึกษาพรรคสหประชาธิปไตย นายสุรินทร์ พันธ์ฤกษ์ นายอำเภอลำปลายมาศ และนายภาวาส บุนนาค รองราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

พยานดังกล่าวต่างเบิกความให้ความเห็นในทำนองเดียวกับพยานโจทย์ซึ่งได้ยิน ได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัยในวันเกิดเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายภาวาส บุนนาค รองราชเลขาธิการ เบิกความว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการจาบจ้วงล่วงเกินองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ คือ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมโอรสาธิราชฯ ด้วย พระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเป็นสัญลักษณ์แทนความ เป็นพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ และองค์รัชทายาท คำว่าพระบรมมหาราชวังนอกจากจะเป็นสถานที่แล้วยังหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นเจ้าของด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันตอนประสูติก็ทรงเป็นพระองค์เจ้า

ปรากฎตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 44 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2470 ผู้ที่เกิดในพระบรมมหาราชวังได้ต้องเป็นพระโอรสและพระธิดาของพระมหากษัตริย์ซึ่งต่อไปจะเป็นองค์รัชทายาท บุคคลอื่นจะเกิดในพระบรมมหาราชวังไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่จำเลยกล่าวว่าเกิดใน ใจกลางพระบรมมหาราชวัง เป็นพระองค์เจ้าย่อมหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นหมายความว่าทั้งสามพระองค์มีความเป็นอยู่สุขสบาย การงานไม่ต้องทำ พักผ่อนกันตลอดไป ซึ่งความจริงทั้งสามพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความสุขของประชาชน ตามปกติพระราชภารกิจประจำวันของพระองค์มิได้เป็นอย่างที่จำเลยว่า

การกล่าวเช่นนี้เป็นการเจตนาใส่ความล่วงละเมิด จะทำให้ประชาชนขาดความเคารพสักการะ ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากทั้งผู้ที่ได้ยินได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัยในวันเกิดเหตุและ ที่ได้ทราบคำกล่าวปราศรัยของจำเลยในภายหลัง ล้วนเบิกความให้ความเห็นสอดคล้องทำนองเดียวกันว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้น จำเลยเจตนาหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ โดยกล่าวใส่ความว่าทรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจใดๆเอาแต่พักผ่อนและดื่มสุรา ผิดกับจำเลยและประชาชนคนธรรมดาสามัญซึ่งต้องทำงานหนัก มีแต่ความเหนื่อยยากลำบาก

พยานโจทก์ดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จักกับจำเลยเป็นการส่วนตัว ส่วนที่รู้จักกับจำเลยก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จะมีบ้างก็เฉพาะผู้ที่เป็นนักการเมืองต่างพรรค ซึ่งอาจมีความขัดแย้งกัน แต่ก็เป็นความขัดแย้งในทางแข่งขันช่วงชิงความนิยมจากประชาชน หาใช่มีสาเหตุโกรธเคืองกันเป็นส่วนตัวไม่ ย่อมไม่มีเหตุที่พยานโจทก์จะกลั่นแกล้งเบิกความแสดงความเห็นปรักปรำจำเลย เพื่อให้ต้องได้รับโทษทางอาญา น่าเชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความให้ความเห็นโดยสุจริตและเป็นธรรม และเป็นความเห็นประกอบกับข้อความที่อ้างว่าหมิ่นประมาทย่อมรับฟังได้

ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อความที่จำเลยกล่าวแล้ว เห็นว่า พระบรมมหาราชวังเป็นที่ประสูติพระราชโอรสและพระราชธิดา พระราชโอรสทรงเป็นรัชทายาทที่จะสืบราชสันติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปใน เมื่อแผ่นดินว่างกษัตริย์ลง นายภาวาส บุนนาค รองราชเลขาธิการพยานโจทย์เบิกความตอนหนึ่งว่า ตามราชประเพณี แม้ความจริงพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ และรัชทายาทจะมิได้ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ก็ให้ถือว่าได้ประสูติในพระบรมมหาราชวังโดยต้องประสูติจากเอกอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์เท่านั้น คนนอกจะมาเกิดในพระบรมมหาราชวังมิได้ นายภาวาส บุนนาค เป็นถึงรองราชเลขาธิการย่อมจะมีความรอบรู้เกี่ยวกับประเพณีในราชสำนักดี

ทั้งพยานโจทก์คนอื่นๆ ก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน ดังนั้น ข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยต่อประชาชนว่าถ้าจำเลยเลือกเกิดได้ จะเลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวัง ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ แม้จำเลยจะมิได้ระบุชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยชัดแจ้งแต่ข้อเท็จจริงตามที่ โจทก์นำสืบก็แปลเจตนาของจำเลยได้ว่าจำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายถึงองค์พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาทส่วนข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นการใส่ความในประการที่น่าจะทำให้เสื่อม เสียพระเกียรติชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดำรงอยู่และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทย อันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับข้อความที่จำเลยกล่าวด้วย

ศาลฎีกาเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 2 บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ มาตรา 45 บัญญัติว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญให้เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญมิได้ มาตรา 46 บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้ และมาตรา 54 บัญญัติว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต

นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญายังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหา กษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากบุคคลทั่วไป รวมทั้งบัญญัติความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามมาตรา 112 ด้วย ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวมา ย่อมเห็นโดยแจ้งชัดว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงฐานะพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิหรือเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศตลอดไป

มิเพียงแต่กฎหมาย แม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล การที่จะกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบเปรียบเปรยหรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท นั้นหามีบุคคลใดกล้าบังอาจไม่ ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วฟังได้ว่า จำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท

พยานโจทก์ทุกปากทั้งผู้ที่ได้ยินได้ฟังจำเลยกล่าวปราศรัยในวันเกิดเหตุ และที่ได้ทราบคำกล่าวปราศรัยของจำเลยในภายหลังล้วนเบิกความให้ความเห็นสรุป รวมว่า จำเลยกล่าวใส่ความว่าทั้งสามพระองค์ทรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องปฏิบัติพระราชภารกิจใดๆ เอาแต่พักผ่อนและดื่มสุรา ผิดกับจำเลยและประชาชนคนธรรมดาสามัญซึ่งต้องทำงานหนัก มีแต่ความเหนื่อยยากลำบาก

พยานโจทก์ดังกล่าวประกอบด้วยบุคคลจากหลายท้องถิ่นและหลายสาขาอาชีพ ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร นักการเมือง ครูบาอาจารย์ ทนายความ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวนาแสดงว่าประชาชนโดยทั่วไปต่างเห็นว่าจำเลยเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ องค์รัชทายาท นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความว่า หลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยได้ไปกล่าวคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษต่อ พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ห้องรับรองของรัฐสภาต่อหน้าสื่อมวลชน และสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าจำเลยรู้สึกสำนึกในการที่ได้กระทำลงไป

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยกล่าวว่าถ้าเลือดเกิดได้จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวัง ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ ไม่ต้องมายืนตากแดดพูดให้ประชาชนฟัง ถึงเวลาเที่ยงก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง พอตกเย็นก็เสวยน้ำจัณฑ์ให้สบายอกสบายใจนั้น เป็นการเปรียบเทียบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท ทรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องปฏิบัติพระราชภารกิจใดๆ เวลาเที่ยงเสวยเสร็จก็บรรทมไปจนถึงเวลาบ่ายสามโมง ตกเย็นก็เสวยน้ำจัณฑ์อย่างสบายอกสบายใจ ต่างกับจำเลยซึ่งเป็นลูกชาวนาต้องทำงานหนัก มีแต่ความยากลำบากเพราะเลือกเกิดไม่ได้

ซึ่งข้อความที่จำเลยกล่าวมานั้นไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศ ทั้งสามพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจและทรงประกอบพระราช กรณ๊ยกิจมากมายนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความเจริญมั่นคงของ ประเทศชาติโดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความเหนื่อยยากแม้แต่จำเลยเองก็เบิกความรับว่า จำเลยเข้าใจอย่างซาบซึ้งว่าทุกพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย ยากที่บุคคลธรรมดาจะปฏิบัติได้ พยานจำเลยที่นำสืบไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังหักล้างพยานโจทก์

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แม้การกระทำของจำเลยจะไม่บังเกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อถือคำกล่าวของจำเลย จำเลยก็หาพ้นความรับผิดไม่ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

ที่จำเลยกล่าวในฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นทั้งสามพระองค์ แต่เป็นการสมมุติอุปมาอุปมัยเพื่อกล่าวแก้ให้แก่นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งถูกฝ่าย ตรงกันข้ามโจมตีในการหาดสียงว่าเป็นลูกเศรษฐีและไม่ได้เกิดที่จงหวัด บุรีรัมย์ จำเลยกล่าวเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าคนเราเลือกที่เกิดไม่ได้ และที่จำเลยกล่าวว่าถ้าเลือกเกิดได้จะเลือกเกิดเป็นพระองค์เจ้าวีระ ก็หมายถึงตัวจำเลยเอง เมื่ออ่านคำกล่าวปราศรัยของจำเลยตลอดทุกข้อความจะไม่เป็นการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยจะมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ มิใช่ถือตามความเข้าใจของจำเลย ซึ่งเป็นผู้กล่าวเอง การที่จำเลยจะช่วยกล่าวแก้ให้นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถูกฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีนั้นย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่จะกล่าวได้ แต่ไม่มีเหตุจำเป็นอย่างใดที่จำเลยจะต้องยกเอาสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนมากล่าวเปรียบเทียบในทางที่เสื่อมเสีย

ที่จำเลยกล่าวว่าถ้าจำเลยเลือกเกิดได้จะเลือกเกิดเป็นพระองค์เจ้าวีระหมายถึงตัวจำเลยเองนั้น ถ้าเกิดเป็นตัวจำเลยเองเหตุใดจึงไม่เป็นนายวีระซึ่งเป็นสามัญชน และเหตุใดจึงจะไปเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวัง ส่วนข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นศาลฎีกาได้พิจารณาทั้งหมดแล้ว มิได้พิจารณาเพียงตอนใดตอนหนึ่ง การที่จำเลยกล่าวข้อความไปอย่างไร แล้วกลับมาแก้ว่าไม่มีเจตนาตามที่กล่าว ย่อมยากที่จะรับฟัง

ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยล้วนเป็นแต่ข้อปลีกย่อยซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลง ผลแห่งคดีได้จึงไม่เป็นสาระแห่งคดีอันควรได้รับคำวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยนั้นต้องด้วยความเห็น ของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วหลายสมัยและเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง ได้ประกอบคุณงามความดีต่อประเทศชาติ จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก เป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดหาทุนสร้างสวนหลวง ร.9 และจัดหาทุนโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย นับว่าเป็นผู้มีคุณความดีมาแต่ก่อน

นอกจากนี้หลังเกิดเหตุแล้ว จำเลยยังได้ไปกล่าวคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ห้องรับรองของรัฐสภา และได้มีหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษผ่านทางราชเลขาธิการ เป็นการรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ มีเหตุสมควรปราณีลดโทษให้จำเลย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์


นายวีระชัย สูตรสุวรรณ
นายสุพจน์ นาถะพินธุ
นายวิศิษฐ์ ลิมานนท์
นายศักดิ์ สนองชาติ


**********

ค้นมาลงโดย : freeman

ที่มา : ย้อนรอยเหตุการณ์ทางการเมือง : คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ศาลฎีกา) นายวีระ มุสิกพงศ์

หมายเหตุ
การเเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาในเรื่องนี้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: