วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ประชาธิปไตย เผด็จการสมบูรณาญาสิทธิ สาธารณรัฐ ราชอาณาจักร


การจับคู่ของคำที่ใช้แทนระบอบการเมืองการปกครองนั้นควรทบทวนเสียใหม่ สาธารณรัฐต้องจับคู่กับราชอาณาจักร เป็นการจับคู่ที่ใช้รูปแบบของประมุขของรัฐเป็นเกณฑ์พิจารณา


อันแรก ประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้ง
(โดยตรงหรือโดยรัฐสภา แล้วแต่กรณี)

อันสอง ประมุขคือกษัตริย์ (จะเรียกอย่างอื่นก็ได้ เช่น เจ้าชาย จักรพรรดิ) สืบทอดทางสายเลือด


ประชาธิปไตยต้องจับคู่กับเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิ เป็นการจับคู่ที่ใช้ผู้ถืออำนาจอธิปไตย ผู้ถืออำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง เป็นเกณฑ์พิจารณา อันแรก ประชาชนทุกคน อันสอง คนใดคนหนึ่ง คณะใดคณะหนึ่งมีอำนาจเด็ดขาด

มิใช่ เอาคำว่าประชาธิปไตยไปแขวนติดกับราชอาณาจักรตลอด จนกลายพันธุ์เป็น "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" และถูกบิดให้เชื่อกันว่า แตกต่างจาก ประชาธิปไตยในราชอาณาจักรอื่นๆ


มาจับคู่ต่อนะครับ

รัฐเดี่ยว - สหพันธรัฐ (รัฐรวม)

อันนี้ก็เอารูปแบบการบริหารทางพื้นที่เป็นตัวแบ่ง อันแรกก็เป็นรัฐเดียว (อาจมีกระจายอำนาจมากน้อยต่างกันไป) อันสอง ก็มีหลายๆรัฐมารวมกัน มีรัฐบาลของตนเอง แต่มีรัฐบาลกลางร่วมกัน เช่น สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี


ระบบรัฐสภา - ระบบประธานาธิบดี -
ระบบกึ่งประธานาธิบดี

อันนี้เอาความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เป็นเกณฑ์ในการแบ่งอันแรก ก็รัฐบาลกับรัฐสภามีความสัมพันธ์กัน รัฐบาลมาจากรัฐสภา เช่น ไทย อังกฤษ เยอรมนี อันสอง รัฐบาลกับรัฐสภาแยกจากกัน ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขฝ่ายบริหาร มาจากเลือกตั้งโดยตรง เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในละตินอเมกา อันสาม ก็เอาสองอันแรกมาผสมกัน เช่น ฝรั่งเศส


ทุนนิยม - สังคมนิยม - คอมมิวนิสต์

พวกนี้ก็เอาลัทธิทางเศรษฐกิจมาเป็นเกณฑ์แบ่ง ตามที่คุณบุญชิตว่าไว้


บุญชิตฯ :

" เจอมึนกว่านี้อีก

เอาประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย) ซึ่งเป็นระบอบการปกครองไปเป็นคู่ตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจและสังคม เสียอย่างนั้นสังเกตจากพวกมึนหลายๆคนในเวบนี้ (ผมว่าเวบนี้มีคนคิดแนวคอมมิวนิสต์ น้อยมากๆ อย่างดีก็สังคมนิยมแก่ๆ)

คอมมิวนิสต์มันเป็นลัทธิทางสังคมและเศรษฐกิจ จะไปจับคู่กับระบอบการปกครองไหนก็ได้แต่โดยธรรมชาติแล้ว ระบบที่ค่อนข้างจำกัด ของเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ จะจับกันลงตัวมาก กับการปกครองในระบอบเผด็จการ หรือสมบูรณาญาสิทธิเพราะประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่เป็นเสรีนิยม และมีหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ (ซึ่งคอมมิวนิสต์จะค่อนข้างจำกัดตรงนี้)

ประเทศคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่จึงมักเป็นประเทศเผด็จการ แต่ก็ไม่แน่ ประเทศประชาธิปไตย หากคนส่วนใหญ่ในประเทศ เลือกเอาพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเป็นใหญ่ ประเทศนั้นก็อาจจะใช้ระบบเศรษฐกิจและสังคมคอมมิวนิสต์ได้ในช่วงรัฐบาลนั้น เท่าที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
(กำลังรอดูสาธารณรัฐเนปาล ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด)

อย่าว่ากระไรเลย หากประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชบางประเทศ เกิดจะมีกษัตริย์เฮี้ยน สมาทานกับคอมมิวนิสต์ จะกลายเป็นราชอาณาจักรคอมมิวนิสต์ยังได้

ดังนั้นเลิกมาป้ายหัวคนที่เห็นต่างจาก "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (แบบพิเศษ)" ว่า "คอมมูนิดๆๆๆ" เสียทีไม่รู้ไม่เป็นไร แต่งมงายอยู่กับความไม่รู้ มันเรียกโง่

ให้เข้ามาด่าแต่ว่า "พวกแม้วๆๆๆ" ยังฟังดูฉลาดกว่ามาด่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ พูดจริงๆนะ "


เรื่องพวกนี้ ผมว่าคนทั่วๆไปก็น่าจะรู้อยู่แล้วนะครับ น่าจะเคยผ่านหูผ่านตามาสมัยเรียน แต่เดี๋ยวนี้มันเอามามั่วปนกันไปหมด

สรุป คือ ประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับว่ามีกษัตริย์หรือไม่มี ไม่เกี่ยวกับว่ามีประธานาธิบดีหรือไม่ พวกที่ชอบออกมาโจมตี ยัดข้อหาว่า "พวกเอ็งจะโค่นระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข" จริงๆควรพูดแค่ท่อนหลังนะครับ ไม่จำเป็นต้องเอา ปชต ไปผูกด้วย เพราะ ปชต หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นราชอาณาจักร หรือ สาธารณรัฐ


ปิยบุตร


เพิ่มเติมความเห็น :

เผด็จการคอมมิวนิสต์ คือการมีพรรคเดียวกำหนดทุกอย่างในทางการเมืองแต่ดำเนินการรูปแบบ ประชาธิปไตย"รวมศูนย์"ที่เป็นประชาธิปไตย(หรือไม่หากเป็นลัทธิแก้) เช่นสาธารณรัฐประชาชนจีน คิวบา เกาหลีเหนือ เวียตนาม...ฯ

ประเทศที่ปกครอง ด้วยระบอบคอมมิวมิสต์ก็เป็นประชาธิปไตนเหมือนกัน
ถึงจะมีพรรคเดียว(ถ้าไม่เป็นลัทธิแก้)

บหค02


ที่มา : บอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : ประชาธิปไตย เผด็จการสมบูรณาญาสิทธิ สาธารณรัฐ ราชอาณาจักร

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความดีๆที่นำมาแบ่งปันให้กัน