วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

สื่อในแดนสนธยาของเสรีภาพแห่งการพูด-คิด-เขียน


“เสรีภาพในการพูด” (free speech) อันเป็นองค์ประกอบที่เป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตย กำลังถูกทำให้เป็นอาชญากรรมร้ายแรงในสังคมไทย และสื่อไทยกำลังเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการลากดึงให้สังคมนี้กลายเป็นแดนสนธยาของเสรีภาพ

ไม่ใช่แค่เสรีภาพในการพูด แต่แม้แต่เสรีภาพในความคิดและความเชื่อของบุคคลก็กำลังถูกห้าม

ทั้งๆ ที่สื่อไทยต้องการเสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ ตลอดจนการป่าวประกาศให้สังคมเห็นพ้องต้องกัน

ยามถูกท้วงติง สื่อก็ออกมายอกย้อน กล่าวหา ป้ายยี่ห้อให้ผู้บังอาจแตะต้องเสรีภาพที่ถูกสถาปนาว่าเป็น “ฐานันดรที่สี่”

เมื่อใดก็ตามที่ถูกซักไซ้ วิพากษ์วิจารณ์ สื่อรู้สึกว่า
เสรีภาพสื่อกำลังถูกคุกคาม


สื่อรู้สึกถูกคุกคามเมื่อถูกถ่ายรูป

สื่อรู้สึกถูกคุกคามเมื่อถูกโต้ตอบด้วยท่าทีแบบเดียวกับที่กระทำกับผู้อื่น

สื่อไม่ต้องการให้ผู้ใดฟ้องด้วยเหตุจากการใช้เสรีภาพใน
การพูด การเขียน การป่าวประกาศของสื่อ


แต่เหตุใดสื่อส่วนใหญ่จึงทำให้เสรีภาพในการพูด และการคิดของนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นอาชญากรรมร้ายแรง


กรณีการพูดของนายจักรภพ เพ็ญแข ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศนั้น เป็นกิจกรรมปกติของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่เป็นการเปิดพื้นที่เสรีภาพในการพูด การถกเถียงอย่างเสรี

การที่พรรคประชาธิปัตย์ขมักขะเม้นแปลความหาความผิดจากเสรีภาพในการพูดของนายจักรภพนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก นั่นเป็นวิถีทางการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะทำ ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นคำตอบในวิถีทางทางการเมืองแบบนี้เช่นกัน


แต่การที่สื่อเกือบทุกสำนักนำเสนอข่าว ราวกับว่านายจักรภพกระทำอาชญากรรมร้ายแรงนั้น เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามถึงจุดยืนของสื่อต่อเสรีภาพต่างๆ ที่ร้องเรียกหากันมาโดยตลอด


สื่อยังต้องการให้สังคมนี้มีเสรีภาพในการพูดหรือไม่ ?

สื่อยังต้องการให้คนในสังคมนี้มีเสรีภาพในการคิดหรือไม่ ?

หากใครสักคนหรือหลายคนมีความเห็นแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ เขาจะได้รับอนุญาตให้เห็นต่างอย่างมีเสรีภาพหรือไม่ และสื่อจะยอมรับเสรีภาพที่เขาจะเห็นต่างหรือไม่ ?

หากใครสักคนหรือหลายคนมีความคิดต่อการยอมรับหรือไม่ยอมรับในจารีตใดที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ เขามีเสรีภาพที่จะคิดหรือไม่ และสื่อจะยอมรับให้เขาคิดเช่นนั้นหรือไม่ ?


เนื้อหาในคำพูดของนายจักรภพจะละเมิดกฎหมายใด อย่างไร หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม

แต่หน้าที่ของสื่อนั้น
ต้องยืนยันเสรีภาพในการพูด คิด เขียน ของบุคคลทุกคน

แทนที่จะลุกไล่ราวกับว่าการพูด
การคิดที่แตกต่างไปจากประเพณีปฏิบัติของสังคมนั้นเป็นอาชญากรรม

เว้นเสียแต่ว่า สื่อไม่ต้องการเสรีภาพใน

การพูด คิด เขียน ในสังคมนี้อีกต่อไป


สุภัตรา ภูมิประภาส


อ่านเพิ่มเติม
บทความอื่นๆ ใน Silence of the Lamp


ที่มา : ข่าวประชาไท : Silence of the Lamp: สื่อในแดนสนธยาของเสรีภาพแห่งการพูด-คิด-เขียน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางส่วนทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: