วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

วันสิ้นกษัตริย์เนปาล


เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน อดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์แห่งสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยือนเนปาล ในฐานะที่เขาเป็นที่ปรึกษาสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเนปาล

ศูนย์คาร์เตอร์ของเขาที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่แอตแลนต้า ได้รับการเชื้อเชิญให้มาเป็นที่ปรึกษาในการร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นรัฐธรรมนูญแบบสาธารณรัฐ

นอกจากนี้ สภาร่างรัฐธรรมนูญของเนปาลยังได้ขอให้ศูนย์คาร์เตอร์เข้าไปช่วยจัดการเลือกตั้งให้มีรูปแบบที่ทันสมัยและเหมาะสมกับเนปาลมากที่สุดด้วย

การที่สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีมติให้ยกร่างออกมาในรูปแบบรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐ เช่นนี้ ทำให้บรรดาประเทศกษัตริย์นิยมพากันเป็นห่วงว่า พระราชวงศ์และสถาบันกษัตริย์เนปาลจะล่มสลาย หลังจากการเลือกตั้งในครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนศกนี้

แต่จากการลงคะแนนเสียงเรื่องพระราชอำนาจและหน้าที่ของกษัตริย์เนปาลในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อกลางสัปดาห์ก่อน ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 2 ใน 3 ให้พร้อมยกเลิกระบอบกษัตริย์ได้ หากทรงเข้ามาแทรกแซงการเมืองและการปกครองอีกครั้ง

ฐานะของสถาบันกษัตริย์จึงง่อนแง่นยิ่งนัก จะล่มสลายเมื่อ

ใดก็ย่อมได้

ชาวเนปาลส่วนใหญ่ซุบซิบกันตลอดมาว่า กรรมที่กษัตริย์คะยาเนนทรา ได้ทรงก่อไว้กับพระเชษฐาเริ่มสนองแล้ว

ราชวงศ์เนปาลเคยเกิดเรื่องสะเทือนขวัญชาวโลกมาเมื่อ 5 ปีก่อน เมื่อเกิดการสังหารหมู่สิ้นพระชนม์ชีพ ตั้งแต่กษัตริย์จนถึงมกุฎราชกุมารและพระราชนัดดา

มีการร่ำลือกันว่า มหินทราคะยาเนนทรา กษัตริย์องค์ปัจจุบันได้วางแผนลอบปลงพระชนม์พระเชษฐาและพระราชนัดดาเสียทั้งหมดเพื่อทรงขึ้นครองราชย์บัลลังก์แทน

กษัตริย์เนปาลทุกพระองค์ได้รับการยกย่องเป็นเทพอวตาลของมหาเทพหรือเป็นสมมติเทพ แต่เมื่อกษัตริย์คะยาเนนทราทรงลดพระองค์มาวุ่นวายกับการเมืองและการทหาร ความเป็นเทพนั้นก็เสื่อมลง

การที่ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ที่ฝักใฝ่การเมืองและการทหารจนถึงขั้นมีอิทธิพล ทำให้ทรงเข้ามายึดกุมอำนาจทางการเมือง การปกครอง และการทหาร เพื่อรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

การแทรกแซงเหล่านั้น สร้างความไม่พอใจให้กับนักการเมืองและทหารผู้สูญเสียอำนาจเป็นอย่างมาก

เมื่อกบฏลัทธิเหมาแข็งแกร่งขึ้น เพราะประชาชนเบื่อระบอบกษัตริย์เต็มแก่ รัฐบาลก็เริ่มไม่มั่นคง สภาผู้แทนราษฎรพากันดื้อเงียบต่อกษัตริย์

จนในที่สุด สะสมความไม่พอใจอีกต่อไปไม่ไหว การเดินขบวนประท้วงจึงเกิดขึ้น การจลาจลวุ่นวายระบาดไปทั่วกรุงกัตมันฑุ กษัตริย์คะยาเนนทราทรงบัญชาการการปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่งก็ยิ่งสร้างความเกลียดชังแก่ราษฎรมากขึ้นทุกที

ลงเอยด้วยฝ่ายต่อต้านสามารถกดดันให้กษัตริย์ทรงคืนพระราชอำนาจทั้งหมดไปให้สภาและทหาร

ยังคงเป็นแต่เพียงกษัตริย์เฉยๆ รอวันตัดสินชะตากรรมว่าจะยังทรงได้รับการเทิดทูนเป็นกษัตริย์หรือยกเลิกฐานะ

แนวโน้มในการยกเลิกพระราชฐานันดรค่อนข้างจะสูง เพราะขณะนี้พสกนิกรของพระองค์เกลียดชังพระองค์มาก ถึงกับใช้ก้อนหินขว้างรถพระที่นั่งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินผ่านหลายครั้ง

การมาเยือนเนปาลของนายคาร์เตอร์ คงไม่ได้ช่วยให้ระบอบกษัตริย์เนปาลยังคงอยู่ต่อไปอย่างมั่นคง

เพราะเขาไม่ได้พบกับกษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ใดเลย คงพบแต่บุคคลสำคัญๆ ในสภาร่างรัฐธรรมนูญเสียเป็นส่วนใหญ่

ที่สำคัญ ได้แก่ อดีตผู้นำกบฏลัทธิเหมา นายประจันต์ กับ นายบาบูราม ภัตตารัย อดีตรองผู้นำกลุ่มที่ตอนนี้ได้เป็นสมาชิกสภาร่างฯ แล้ว

ทั้งสองได้ขอร้องให้คาร์เตอร์เจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้ปลดชื่อของพวกเขาทั้งสองออกจากบัญชีผู้ก่อการร้ายระหว่างประเทศเสียที เพราะพวกเขาได้พ้นจากฐานะนักรบกองโจรก่อการร้ายแล้ว

หลังการเจรจาสงบศึก กลุ่มกบฏได้พากันมอบอาวุธให้กับศูนย์พักพิงของสหประชาชาติ และพักอยู่ในศูนย์เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา

กลุ่มกบฏลัทธิเหมาได้รับการเลือกตั้งเข้าสภาร่างรัฐธรรมนูญถึง 87 คน จากสมาชิกทั้งสภา 330 คน ทั้งนี้ สมาชิกส่วนที่เหลือมาจากพรรคการเมืองทั้งหมดของเนปาล

การยกร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยหวังจะให้ทันกำหนดเลือกตั้งเดือนเมษายนที่ผ่านมา

แต่เพราะยังขาดความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายหรือประเทศสาธารณรัฐเต็มตัว ทำให้การยกร่างเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก

เมื่อได้ศูนย์คาร์เตอร์เข้ามาช่วย การยกร่างฯ ก็เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนเชื่อมั่นว่าจะสามารถนำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปใช้กับการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนได้อย่างแน่นอน

การตัดสินชะตากรรมของประเทศเนปาลว่า จะเป็นชาติที่ยังมีกษัตริย์อยู่ต่อไป โดยให้ทรงอยู่ใต้กฎหมาย หรือจะยกเลิกระบบกษัตริย์ไปทั้งหมดเลย ให้เป็นประเทศสาธารณรัฐนี้ จะชี้ชะตากรรมกันหลังการเลือกตั้งเช่นกัน

ในการนี้ อดีตประธานาธิบดีคาร์เตอร์ได้ปรารภว่า เขาอยากจะให้รัฐบาลบุชเข้าไปใช้อิทธิพลต่อรัฐสภาเนปาลชุดใหม่ เพราะสภาร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ยังมีความนิยมในสหรัฐฯ อยู่มาก

ส่วนจะให้ระบอบกษัตริย์ยังคงมีอยู่ต่อไปหรือไม่นั้น คาร์เตอร์ไม่อาจจะหยิบยกมาขอร้องได้

เพราะกษัตริย์ไม่ทรงวางพระองค์เป็นกษัตริย์ที่อยู่เหนือความขัดแย้งและอยู่เหนือการเมือง ความเสื่อมจึงตามมา

ทรงหาเรื่องใส่พระองค์เอง จะไปโทษใครได้


โดย : ไท เค้าภูไทย

ที่มา : มหาประชาชน
http://mahaprachachon.bravehost.com/viewstory.php?articte_id=138&cn_id=4

หมายเหตุ
มองเขามองเรา หลายๆสิ่งไม่ต่างกัน ?
การเน้นขอความเปนไปตามความสนใจของผู้จัดเก็บบทความ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความ