รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
อะไรคือจุดเริ่มต้นของการรัฐประหารแบบไทย ผมคิดว่า เราไม่สามารถประณามโยนความให้ 2475 และผมคิดว่าการรัฐประหารในปี 2490 ต่างหากที่เป็นจุดกำเนิดของการรัฐประหารแบบไทย
สิ่งที่เราเรียกกันว่า รัฐประหารแบบไทย จะเริ่มจาก หนึ่ง ความรู้สึกว่าสถาบันกษัตริย์ถูกคุกคาม หรือการที่รัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศแล้วทุจริตคอร์รัปชั่น เมื่อมีเหตุการณ์อย่างนี้ และเกิดความรู้สึกว่าวุ่นวายจริงๆ ขึ้น เพราะฉะนั้นกองทัพทหารต้องเข้ามายึดอำนาจ เมื่อยึดอำนาจแล้วจะมีการตั้งรัฐบาลขัดตาทัพ จากนั้นคณะทหารจะควบคุมอำนาจเอง และอยู่ในอำนาจไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กันอีก มีการทุจริต สถาบันกษัตริย์ถูกคุกคาม ก็จะเกิดการรัฐประหาร จะมีทหารอีกกลุ่มมาโค่นทหารกลุ่มนั้นลงไป และเริ่มต้นวัฎจักรแบบนี้อีก ซึ่งทังหมดเริ่มตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมา และยังมีข้อสังเกตด้วยว่า รัฐประหารแบบไทยยังเป็นการรัฐประหารภายใต้แนวคิดอนุรักษ์นิยม
ในขั้นต้น การรัฐประหารจะทำลายและขัดขวางการพัฒนาแนวคิดประชาธิปไตย น้อยมากหรือแทบจะไม่มีรัฐประหารที่ส่งเสริมประชาธิปไตยเลย รวมทั้ง 19 ก.ย. ปีที่แล้วด้วย เพราะฉะนั้น การรัฐประหารแบบไทยเป็นความอัปลักษณ์ของการเมืองแบบสมัยใหม่
หลัง 2490 จะพบว่ามีรัฐประหารเกิดขึ้นต่อเนื่องมา โดยรัฐประหารสำเร็จ 9 ครั้ง ไม่สำเร็จ 8 ครั้ง สถิติทั้งหลายเป็นสถิติอัปยศทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่สถิติที่น่าชื่นชม ความน่าเศร้าของประวัติศาสตร์ไทยก็คือว่า ปัจจุบันรัฐประหาร 2490 ผ่านมาแล้ว 60 ปี ประเทศไทยก็ยังอยู่ใต้ระบบรัฐประหารเช่นเดิม
หากเริ่มต้นมองย้อนหลังไปที่รัฐประหาร 2490 จะพบว่า สาเหตุหลักประการที่หนึ่งคือ ความล้มเหลวของรัฐบาลพลเรือนในสมัย 2490 ซึ่งนำโดยพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่รัฐบาลนี้เป็นที่เข้าใจหรือทราบกันดีว่า บริหารภายใต้นโยบายภายในภายนอกที่คล้ายๆ กับว่ามี ปรีดี พนมยงค์ อยู่เบื้องหลัง เพราะฉะนั้น การรัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ นัยหนึ่งก็คือ ต้องการโค่นอำนาจของปรีดี พนมยงค์
โดยความล้มเหลวที่ถูกกล่าวหาในขณะนั้นมีสองเรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง ความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ คือไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังสงครามได้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเกิดภาวะเงินเฟ้อ ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ขาดแคลนข้าวสาร รัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์อาจจะแก้ไม่ได้หรือแก้ไม่ทันเวลา
แต่ที่โดนโจมตีมากกว่า คือเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น โดนโจมตีว่า ‘กินจอบ กินเสียม’ คือ รัฐบาลซื้อจอบซื้อเสียมจากต่างประเทศมาแจกให้ชาวนา แต่ ส.ส. เอาไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋า อย่างไรก็ตาม หลังรัฐประหาร 2490 ไม่สามารถเอาผิดรัฐมนตรีเรื่องคอร์รัปชั่นได้ ไม่มีหลักฐานเพียงพอ
กรณีมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็เคยมีธนาคารของตัวเอง ซึ่งปรีดีตั้งเพื่อเป็นที่สนับสนุนการเงินแก่มหาวิทยาลัย นั่นคือ ธนาคารเอเชีย สมัยนั้น คณะทหารเชื่อว่า ธนาคารเป็นสถานที่ทุจริตคอร์รัปชั่น แต่หลัง 2490 ซึ่งมีการควบคุมกิจการของธนาคารเอเชีย โดยคณะทหารซึ่งคิดว่า พวกนักการเมืองคงร่ำรวย ปรีดีคงร่ำรวยมหาศาล แต่ปรากฎว่า เกือบไม่มีเงินเลย จึงไม่สามารถเอาผิดฐานทุจริตกับปรีดี และ ส.ส. สหชีพได้ ซึ่งค้นพบความจริงว่า ส.ส.สหชีพ ไม่มีเงิน ต้องกู้เงิน เป็นหนี้มหาศาล ที่สุดต้องถอนการอายัติทรัพย์ไป
อีกเรื่องคือ มีการฟื้นตัวของกลุ่มนิยมเจ้า ซึ่งจะสำคัญมากจนถึงปัจจุบัน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มทางการเมืองที่มีความคิดแบบเก่า คิดว่าบ้านเมืองเป็นแบบเดิม แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือแบบที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เขาจะมองว่า 2475 เป็นกบฎ สำหรับกบฎบวรเดช ในปี 2476เป็นความพยายามครั้งแรกของฝ่ายนิยมเจ้าที่ต้องการกู้ชื่อคืน ทำลายรัฐธรรมนูญถวายอำนาจคืนให้กับพระมหากษัตริย์ แต่ล้มเหลว
แต่หลัง 2487 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. หมดอำนาจลง รัฐบาลปรีดีได้ประนีประนอม โดยปล่อยนักโทษการเมือง ทำให้พลังฝ่ายนิยมเจ้าเริ่มฟื้นตัว ในที่สุด ปี 2489 กลุ่มนิยมเจ้าร่วมกับขุนนางเก่า ตั้งพรรคการเมืองขึ้น คือพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรองหัวหน้าพรรค และมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาฯ ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นคนที่ประกาศตัวว่า เขาเป็นรอยัลลิสต์ เป็นคณะเจ้า ไม่ใช่คณะราษฎรตัวจริง
ในช่วงนี้เองเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 บังเอิญมากที่ขณะเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เป็นเวลาที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกฯ พอดี เลยกลายเป็นจุดที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมสร้างเรื่องใส่ร้ายป้ายสีโจมตี ครั้งแรกบอกว่า ปรีดีเป็นนายกฯ ต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดกรณีแบบนี้ ต่อมาจ้างคนไปตะโกนในโรงหนังเฉลิมกรุงก่อนหนังฉายว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” ก่อให้เกิดการใส่ร้ายป้ายสี ซึ่งกลายเป็นเรื่องอัปลักษณ์ทางการเมืองที่สืบเนื่องต่อมา
สาม มีปัญหาเรื่องกลุ่มทหารที่ไม่พอใจว่า กองทัพบกตกต่ำลงอย่างมากหลังสงคราม ทหารจำนวนมากถูกปลดประจำการหมดบทบาทลง เกิดความรู้สึกทั่วไปในสมัยนั้นว่า สมัยที่หลวงพิบูลเป็นนายกฯ เป็นสมัยที่ดีกว่าหลวงธำรง ถ้าเป็นหลวงพิบูลจะแก้ปัญหาได้แน่นอน ก่อให้เกิดความรู้สึกถวิลหา เป็นมายาคติสำคัญ ที่จะทำให้หลวงพิบูลสงครามจะกลับคืนสู่อำนาจต่อมา
การก่อรัฐประหารเมื่อ 2490 เป็นที่ทราบกันดีว่า คนที่เริ่มคิดก่อการรัฐประหาร เข้าใจกันว่า คือ พลโทผิน ชุณหะวัณ แต่จากข้อมูลที่เป็นจริงไม่ใช่ คนที่คิดก่อการตัวจริงคือ น.อ.กาจ เก่งระดมยิง (หลวงกาจสงคราม) กับ พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท จากนั้นชวนพรรคพวก ร.อ.ขุนปรีชารณเสฏฐ์ พ.อ.ศิลป์ รัตนพิบูลย์ชัย ส. สวัสดิ์เกียรติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากสองอย่างคือ หลวงกาจฯ กับ พ.ท.ก้าน เป็นทหารนอกราชการ แต่ พ.อ.สวัสดิ์ ส.สวัสดิ์เกียรติ เป็นทหารในราชการ ระดับทหารประจำการคนแรกที่เข้าร่วม โดยขณะนั้นเป็นเจ้ากรมเกียกกายทหารบก ซึ่งมีหน้าที่ด้านเสบียงอาหาร สอง เป็นคนชวน พลโทผิน เข้าร่วมรัฐประหาร
คนสำคัญคนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นรัฐประหารแบบไทยจริงๆ คือ ร.ต.ทองคำ ยิ้มกำภู ซึ่งเป็นโหร ดูฤกษ์ยามว่า จะทำรัฐประหารวันไหนดี รับหน้าที่ดูว่าวันไหนที่หลวงธำรงฯ และปรีดีดวงตก จะได้กำหนดวันรัฐประหาร เพราะเราต้องเข้าใจว่า 2475 พระยาพหลฯ ไม่เคยดูดวง ไม่ดูฤกษ์ แต่ 2490 ดู และมีคนกำหนดฤกษ์ยาม ผิน ชุณหะวัณก็ชวนเผ่า ศรียานนท์มาร่วมรัฐประหาร นายวรการบัญชาเป็นคนสนับสนุนเงิน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นนายทุนคณะรัฐประหาร นายทหารประจำการคนสำคัญที่เข้าร่วมรัฐประหารคือ พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารกรมทหารราบที่ 1 กุมกำลังในพระนคร จากนั้น กำลังอื่นๆ ที่เข้าร่วม เช่น ทหารม้า 1 ของ พ.ท.กฤช ปุณณกันต์ กองพันที่ 2 ของ พ.ท.ละม้าย อุทยานนท์ กรมป้องกันต่อสู้อากาศยานของ พ.อ.หลวงสวัสดิ์สรยุทธ กรมรถรบของ พ.อ.เจริญ สุวรรณวิสูตร์ ที่น่าตกใจ มีนักเรียนนายร้อยเข้าร่วมด้วย โดยมีครูโรงเรียนนายร้อยนำเข้าร่วม คือ พันโทถนอม กิตติขจร พันโทปรุง รังสิยานนท์
การรัฐประหาร 2490 นั้นง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ การรัฐประหาร 2475 ที่ได้ชื่อว่าทำอย่างง่ายๆ 2490 ง่ายกว่านั้นอีก กระทำการเพียงแค่พวก ผิน หลวงกาจฯ สฤษดิ์ ยกกองทหารไปยึดกระทรวงกลาโหม จากนั้นส่งกองกำลัง 3 กอง ไปจับปรีดี หลวงธำรงฯ หลวงสังวรณ์ฯ (พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ-ประชาไท) ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมตำรวจ แต่จับไม่ได้ จึงไปเชิญ จอมพล ป. เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร และให้ ถนอม กิตติขจร ไปหากรมขุนชัยนาทนเรนทร เพื่อลงนามในรัฐธรรมนูญ พอเช้าวันรุ่งขึ้น จอมพล ป. มาถึงกระทรวงกลาโหมถูกนายทหารยกขึ้นบ่ายกเป็นหัวหน้าคณะฯ รัฐประหารชนะแล้ว ซึ่งฟลุ้คมาก เพราะไม่มีใครต้านเลย แทบไม่มีใครต้านเลย ผบ.ทบ.ขณะนั้นคือหลวงอดุล (พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส- ประชาไท)ต้านอยู่นิดเดียว พอตอนเช้าก็เลิกต้าน กองทัพเรือ กองทัพอากาศไม่ต้าน เพราะฉะนั้นรัฐประหาร 2490 ได้ชื่อว่าเป็นรัฐประหารที่หมูที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่ส่งผลร้ายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
ผลร้ายที่เกิด คือมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นฉบับหนึ่งที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด ล้มเลิกรัฐบาลรัฐสภา ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม ซึ่งเป็นฉบับแรกที่ให้มีสองสภา คือมีสภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภาที่มีจำนวนเท่ากัน ให้กษัตริย์ทรงเลือกตั้งวุฒิสภา (มาตรา33) นอกจากนั้นมีการฟื้น ‘อภิรัฐมนตรีสภา’ ซึ่งยุบไปตั้งแต่รัชกาลที่ 7 โดยอภิรัฐมนตรีสภาเป็นต้นกำเนิดของ ‘องคมนตรี’ ซึ่งเป็นสภาที่ยังคงมีอำนาจเกรียงไกรอยู่ในปัจจุบัน
รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม ไม่มีมาตราห้ามวุฒิสภาเป็นข้าราชการประจำ แปลว่า ข้าราชการประจำเป็นวุฒิสภาได้ ให้อำนาจฉุกเฉินแก่พระมหากษัตริย์ในการออกพระราชกำหนดเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ให้เอาพระราชกำหนดนั้นมาเสนอให้ทราบ ไม่ต้องพิจารณา โดยที่สภาค้านไม่ได้ นี่คือการให้อำนาจเต็มแก่ฝ่ายบริหาร ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ตราพระราชกำหนดด้านการเงิน แปลว่ารัฐบาลออกกฎหมายด้านการเงิน เช่นพระราชบัญญัติได้ ที่สำคัญคือ มาตรา 95 มีการระบุตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญให้มั่นคงถาวร ซึ่งจะเป็นแม่แบบให้รัฐธรรมนูญฉบับอื่น แม้ผ่านมา 60 ปีก็ยังเป็นตามนี้
หลังรัฐประหารแล้ว คณะรัฐประหารแสดงสปิริต ไม่เป็นรัฐบาลเอง ให้พรรคประชาธิปัตย์บริหารประเทศแทน เป็นรัฐประหารครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารเต็มๆ ซึ่งจะมีอีกหลายครั้งและอาจรวมถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นความร่วมมือระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับคณะรัฐประหาร โดยเมื่อรัฐบาลประชาธิปัตย์ขึ้นมาบริหารประเทศ ก็อนุมัติเงินงบประมาณ 8 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการรัฐประหาร ไม่อยากบอกว่าเหมือนกับอะไร
ให้มีการร่างเจตนารมณ์ของคณะรัฐประหาร โดยแปลเป็นภาษาอังกฤษ กระจายเสียงออกต่างประเทศเพื่อให้ต่างประเทศเห็นใจและเข้าใจคณะรัฐประหาร ผมก็ว่าคล้ายๆ อะไรบางอย่างเหมือนกัน จากนั้น รัฐบาลควงแถลงนโยบายต่อวุฒิสภา โดยเน้นสองเรื่องคือ เร่งสอบคดีสวรรคต และปราบทุจริต
จากนั้นก็มีการออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมการรัฐประหาร ซึ่งอันนี้เป็นแบบเก่า สมัยนั้น คงนึกไม่ถึงว่าเขียนนิรโทษกรรมไว้ได้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องไปออกกฎหมายใหม่เสียให้เมื่อย
สิ่งที่ดำเนินต่อมาคือ การกวาดล้างปราบปราม โดยมีการสร้างข่าวโกหกว่า มีคนกลุ่มหนึ่งนำโดยปรีดี คิดการเปลี่ยนประเทศเป็นมหาชนรัฐ จากนั้นก็เริ่มการกวาดล้างปราบปรามพวกปรีดี ซึ่งสุดท้ายเป็นข่าวลือข่าวโคมลอยทั้งหมด
จากนั้น รัฐบาลออก พ.ร.บ. ชื่อ พ.ร.บ. คุ้มครองความสงบสุข เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หมายถึง การกวาดล้างจับกุมทั้งหลายทำได้ภายใต้กฎหมายนี้ โดยไคลแมกซ์อยู่ที่การจับกุมผู้ต้องหากรณีสวรรคต จับนายชิด สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน นายเฉลียว ปทุมรส พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร และคนอื่นๆ อีกหลายคน ซึ่งต่อมาจะสั่งฟ้องสามคน คือ นายเฉลียว นายบุศย์ นายชิด และถึงกับถูกสั่งประหารชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม สำหรับผมถือว่าเป็นมลทิน จุดด่างครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรม ของการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์โดยใช้กระบวนการทางการศาล
หน้าที่ใหญ่ของรัฐบาลควงก็คือ จัดการเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ต่างประเทศรับรอง เมื่อรัฐบาลใหม่บริหารได้เดือนเดียว คณะรัฐประหารได้ส่งนายทหาร 4 คนบอกให้นายกฯ ควง อภัยวงศ์ ลาออก ในวันที่ 6 เมษายน เพราะจอมพลพิบูลจะเป็นนายกฯ เองแล้ว
เป็นเรื่องที่แปลกมาก นายควง อภัยวงศ์ มาจากการเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากในสภา เป็นนายกฯ โดนทหารจี้ให้ออก กลับไม่ไปหาสภา เรียกแม่ทัพเรือและแม่ทัพอากาศมาถามว่าจะเอาอย่างไร เมื่อแม่ทัพเรือและแม่ทัพอากาศไม่ต่อต้าน นายควงก็เลยลาออก จะเห็นว่านายควงไม่เห็นว่าสภามีความสำคัญ ไม่เห็นว่ากระบวนการทางประชาธิปไตยมีความสำคัญเลย เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ยอมลาออกตามที่คณะทหารจี้ โดยไม่ได้ลาออกในสภา แต่ยื่นใบลาออกเอง
เพราะฉะนั้น รัฐประหาร 2490 คือจุดเริ่มต้นของอำมาตยาธิปไตย ประการแรก เนื่องจากรัฐประหาร 2490 นั้นเป็นการปิดฉากประชาธิปไตยแบบเดิม ที่คณะราษฎรสายพลเรือนต้องการทำ คือให้มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง พรรคไหนชนะเสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาล แต่การรัฐประหารนี้ไม่เล่นด้วย สอง การฟื้นคืนของอำนาจนิยม คืออำนาจทางการเมืองกลับไปอยู่ที่กองทัพ คนอย่างพลโทผิน ชุณหะวัณ พลโทกาจ กาจสงคราม คนเหล่านี้กำหนดชะตากรรมทางการเมือง
สาม ผมคิดว่า การรัฐประหารเป็นชัยชนะของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายนิยมเจ้า หรือฝ่ายศัตรูของคณะราษฎรที่ต้องการเล่นงานและจัดการคณะราษฎร ซึ่งการจัดการไม่ใช่เอาคณะราษฎรออกจากอำนาจอย่างเดียว แต่จัดการทางความคิดด้วย โดยทำลายลัทธิรัฐธรรมนูญ ระบบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักหมาย โดยสมัยนั้นมีการโฆษณา ไม่ใช่แค่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เฉยๆ แต่เป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญถือเป็นมิ่งขวัญ เป็นหลักชัยของชาติ
แนวคิดที่กลับมา คือเรื่องการถวายอำนาจคืน หมายถึงอำนาจนั้นต้องอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่อยู่ที่รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากมานำการรัฐประหารแล้ว ก็อธิบายไว้ว่า
“รัฐประหารครั้งนี้ คณะทหารอยากเปลี่ยนรัฐบาล จะเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น ท่านจะได้โอกาสช่วยดูแลบ้านเมือง”
ผมคิดว่า นี่เป็นคีย์เวิร์ดหนึ่งของรัฐประหาร 2490 ที่โยงการรัฐประหารเข้ากับอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการรัฐประหารที่ผ่านมา รวมทั้ง 19 ก.ย. 2549 สอดคล้องกัน ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชหัตถเลขา แสดงความปิติยินดีด้วยกับการรัฐประหาร
ประเด็นสุดท้ายคือ ทำไมอำมาตยาธิปไตยจึงพัฒนาอย่างจริงจังหลัง 2490 อำมาตยาธิปไตยคืออะไร อำมาตยาธิปไตย ไม่น่าจะหมายถึงเพียงแค่ระบบการเมืองหรือการบริหารที่ขึ้นอยู่กับข้าราชการประจำเฉยๆ เพราะจริงๆ แล้ว หลายประเทศก็มีระบบราชการในการบริหาร หรือเป็น bureaucracy อาจไม่น่าเชื่อว่าประเทศในยุโรปบางประเทศเป็น bureaucracy น่าดู เช่น เนเธอร์แลนด์เป็น bureaucracy อย่างมาก ทำอะไรตามขั้นตอนราชการมาก อำนาจราชการนั้นมีมาก แต่จะเรียกเนเธอร์แลนด์ว่าเป็นอำมาตยาธิปไตย หรือไม่ ผมคิดว่า ไม่ มันต่างกันตรงที่ อำมาตยาธิปไตยนั้นต้องดูที่รากฐานของความคิด ไม่ใช่เพียงแค่วิธีบริหารเฉยๆ คือ ถ้าเป็น bureaucracy ที่บริหารภายใต้กรอบคิดของประชาธิปไตยแบบหลัง 2475 สำหรับผมคิดว่าไม่ใช่อำมาตยาธิปไตย
ผมคิดว่าอำมาตยาธิปไตยนั้นยืนอยู่บนรากฐานความคิดแบบนิยมเจ้า คือไม่เชื่อในอำนาจประชาชน เห็นว่าประชาชนไม่มีคุณภาพ ไม่เหมาะสมที่จะได้รับอำนาจ ประชาชนอาจจะโง่ อาจจะซื้อตัวได้ด้วยนักการเมืองด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นการบริหารและการปกครองที่ดีต้องมาจากข้าราชการ นักวิชาการ นักกฎหมายที่ทรงความรู้ หรือเป็นบุคคลที่ทรงคุณงามความดี พวกคนเหล่านี้ก็จะไม่ตกอยู่ใต้นักการเมือง คนดีเท่านั้น คนที่มีความรู้ นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญเท่านั้นที่เหมาะสมกับการปกครอง ไม่ใช่ราษฎรที่นักการเมืองฝ่ายไหนมาก็ซื้อ
เมื่อมีวิธีคิดอย่างนี้ รัฐประหารจึงเป็นวิธีแก้ปัญหาของอำมาตยาธิปไตย หมายความว่าอำมาตยาธิปไตยไม่ปฏิเสธการรัฐประหาร เพราะเห็นว่าเมื่อรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งหากทุจริต ก็สามารถใช้วิธีรัฐประหารโค่นอำนาจได้ เช่นรัฐบาลหลวงธำรงฯ เมื่อรัฐบาลหลวงธำรงฯ ทำการทุจริต รัฐประหารจึงเป็นวิธีการที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา โดยไม่ต้องมีพรรค ไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ตามขั้นตอน
เพราะฉะนั้น ประเด็นสำคัญคือ อำมาตยาธิปไตยนั้นวางอยู่รากฐานแนวคิดแบบกษัตริย์นิยม หรือพวกนิยมเจ้า หรือใช้คำว่า อุลตราโรยัลลิสต์ ซึ่งปรีดี พนมยงค์แปลคำนี้ว่า ‘เป็นผู้ที่ยิ่งกว่าราชา’ แนวคิดแบบนี้เชื่อว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชน แต่เป็นของกษัตริย์ ประชาชนเป็นไพร่ฟ้ามีหน้าที่ต้องจงรักภักดี ถือว่าแผ่นดินเป็นของกษัตริย์ ประชาชนเป็นผู้อาศัยในแผ่นดิน ชีวิตของไพร่ฟ้าต้องดำเนินไปตามพระมหากรุณาธิคุณ แล้วแต่พระมหากษัตริย์จะโปรด ไม่มีร้องเรียน ไม่มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีบุญญาธิการ พระมหากษัตริย์จะถูกต้องเสมอ ไม่มีทางผิดพลาด อะไรก็ตามที่มากระทบพระมหากษัตริย์ ต้องต่อต้าน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าตรงนี้เป็นกรอบสำคัญของอำมาตยาธิปไตย
สรุปว่า รัฐประหาร 2490 ที่มาจากความร่วมมือของฝ่ายทหารและนิยมเจ้า คือจุดเริ่มต้นที่เป็นจริง และถ้าเราเข้าใจรัฐประหาร 2490 เราจะเข้าใจ 19 ก.ย. 2549 ได้
หมายเหตุ
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา ‘ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ.ศ.2454-2550’ ตั้งแต่วันที่ 15-16 กันยายน 2550 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในงานเสวนาครั้งนี้ มีการอภิปรายภายใต้หัวข้อ ‘เริ่มแรกประชาธิปไตยแบบไทย/ไทย: รัฐประหาร 2490 และปฏิวัติซ้ำ/ซ้อน 2500/2501’ ซึ่งผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ณัฐพล ใจจริง, อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ โดยมี รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผู้ดำเนินรายการเริ่มเวทีด้วยการเกริ่นนำว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เรามักมองว่าเป็นการวางพื้นฐานเบื้องต้นของประชาธิปไตย แต่เกียรติชัย พงษ์พานิช สรุปว่า บัดนี้ก็ยังไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่าง หลายคนเวลาพูดถึงปัญหาประชาธิปไตย ปัญหาการเมืองก็มักโยงกลับไปที่การเริ่มต้นที่ไม่สมบูรณ์ คิดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการตีความ ซึ่งนักวิชาการหลายท่าน ทั้งผม รวมทั้งชาญวิทย์ เกษตรศิริ มองต่าง ไม่คิดว่า 2475 เป็นการเริ่มต้นที่ไม่สมบูรณ์ หรือปัญหาปัจจุบันสืบทอดมาจากการยึดอำนาจในครั้งนั้น
“ผมคิดว่า พ.ศ. 2475 -2490 ช่วงประมาณ 15 ปี การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยเปลี่ยนเข้าสู่กระบวนการรูปแบบเนื้อหาจุดหมายเป้าหมายที่ค่อนข้างดี ถ้าให้คะแนน อย่างน้อยก็ได้ บี ถึง บีบวก แต่โดยทั่วไป มักเชื่อกันว่า 2475 ล้มเหลวหมดทุกอย่าง
หลังกบฎบวรเดช ทุกคนประณามฝ่ายที่ทำลายรัฐธรรมนูญ แปลว่าความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยไม่มีปัญหา คนรู้ว่าคืออะไร บางคนบอกว่า ชาวบ้านไม่รู้ว่า รัฐธรรมนูญคืออะไร บางคนบอกว่า ชาวบ้านคิดว่ารัฐธรรมนูญคือลูกพระพหลพลพยุหเสนา ผมคิดว่านี่คือวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นหลังเครดิตของคณะราษฎรถูกทำลาย การยึดอำนาจเปลี่ยนอธิปไตยไปอีกแบบแล้ว มายาคติทั้งหมดนี้ถูกสร้างขึ้น หลัง 2490 โดยเฉพาะหลัง 2500
เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงที่มีปัญหากับเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน ต้องดูตั้งแต่ 2490 หมุดหมายสำคัญเหล่านี้จะตอบคำถาม แต่ไม่ใช่ 2475
และต่อจากนี้ จะเป็นหน้าที่ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่จะได้นำเสนอถึงการรัฐประหาร 2490 ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการรัฐประหารแบบไทยๆ ซึ่งทำลายความหมายของลัทธิรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรได้ให้ไว้เมื่อปี 2475 นอกจากนี้ ยังเป็นการกลับมาอีกครั้งของ ‘ระบอบอำมาตยาธิปไตย’ หรือกลุ่มนิยมเจ้า ซึ่งไม่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของประชาชนด้วย
ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9593&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai
วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
รัฐประหาร 2490 จุดเริ่มต้นรัฐประหารแบบไทยๆ ที่นำ ‘อำมาตยาธิปไตย’ กลับมา
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 1:22 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น