วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

สถาบันใดในมาเลเซียมีอำนาจมากกว่ากัน


มีผู้อ่านท่านสนใจเกี่ยบกับอำนาจของสถาบันกษัตริย์กและสถาบันการเมืองในมาเลเซีย ถามว่าสถาบันไหนมีอำนาจมากกว่ากัน ผมก็เลยถือโอกาสนี้รับใช้ถึงความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์และสถาบันการเมืองครับ เพื่อให้เห็นภาพกันชัดๆ ว่าสถาบันกษัตริย์ในมาเลเซียนั้น มีสภาพเป็นยังไง?

พ.ศ.2535 รัฐสภามาเลเซียมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ตำหนิสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ ซึ่งในอดีตพระองค์เป็นพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย สุลต่านองค์นี้โดยข้อหาทำร้ายร่างกายผู้ฝึกสอนกีฬาฮอกกี้ รัฐสภาก็จึงเรียกประชุมวาระพิเศษในเดือนมกราคม พ.ศ.2536 เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกสิทธิในการยกเว้นการดำเนินคดีอาญาแก่สุลต่านของรัฐต่างๆ

โดนเข้าไปอย่างนี้ สุลต่านจากทุกรัฐก็ต่อต้านกันน่าดู เพราะเห็นว่าจะกระทบกับความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ ประชาชนคนมาเลเซียก็แบ่งออกเป็น 2 พวก พวกหนึ่งก็เห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สุลต่านถูกดำเนินคดีอาญาได้โดยเฉพาะพวกนักการเมืองและสื่อมวลชนซึ่งใกล้ชิดและรู้พฤติกรรมบางอย่างของบรรดาสุลต่าน แต่ก็ยังมีประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยที่จะให้แก้ไข เพราะถือว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติ ตอนนั้น มาเลเซียเกิดวิกฤตการณ์ตึงเครียดมาก

สุดท้ายก็มีการพบกับครึ่งทาง เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2538 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อทำหน้าที่พิจารณาคดีอาญากับบุคคลที่อยู่ในสถาบันกษัตริย์ของมาเลเซียได้

ตามรัฐธรรมนูญมาเลเซียนะครับ ถือว่าพระราชาธิบดีหรือที่เรียกว่า ยัง ดี เปอร์ตวน อากง เป็นประมุขของประเทศ แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนเลยว่า ให้สุลต่านทั้ง 9 องค์ จาก 9 รัฐ มีสิทธิ์ในการเลือกและได้รับเลือกเป็นพระราชาธิบดี โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเป็นพระราชาธิบดีทุกๆ 5 ปี หลังจากที่สุลต่านองค์อื่นๆ ได้ดำรงตำแหน่งพระราชาธิบดีครบทุกพระองค์แล้ว อดีตพระราชาธิบดีก็อาจจะได้รับเลือกเข้ามาเป็นสมัยที่ 2 ได้

พระราชาธิบดีและสุลต่านแห่งรัฐต่างๆ ของมาเลเซียนี่ มีหน้าที่เพียงทางด้านพิธีการ เสด็จไปเปิดงานเป็นหลัก แต่เดิมพระราชาธิบดีเป็นผู้ลงพระนามในการประกาศใช้และแก้ไขกฎหมายต่างๆ แถมยังมีพระราชอำนาจชะลอการลงพระนามในกฎหมายที่ผ่านมติของรัฐสภาแล้ว

นอกจากนั้น ยังทรงมีพระราชอำนาจเปิดสมัยประชุมรัฐสภาแต่งตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากเป็นนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งประธานศาลและผู้พิพากษา มีพระราชอำนาจอภัยโทษแต่พระราชอำนาจพวกนี้จะต้องมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลถวายคำแนะนำ

ย้อนหลังไปเมื่อ พ.ศ.2526 ตอนนั้น ดร.มหาฎิร มุฮัมมัด เพิ่งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียใหม่ๆ ก็มีการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้พระราชาธิบดีมีอำนาจชะลอการลงพระนามในร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านมติของรัฐสภา แถมยังต้องการให้ร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ที่ผ่านรัฐสภาแล้ว มีสถานภาพเป็นกฎหมายได้ภายในเวลา 15 วัน หลังจากที่มีการเสนอต่อพระราชาธิบดีเพื่อลงพระนาม หากพระราชาธิบดีไม่ยอมตัดสิน พระทัย ก็ให้ถือว่ากฎหมายนั้นบังคับใช้ได้เลย

แถม ดร.มหฎิร ยังต้องการให้อำนาจการประกาศภาวะฉุกเฉินถ่ายโอนจากพระราชอำนาจของพระราชาธิบดี มาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี

โดนเข้าไปอย่างนี้ บรรดาสุลต่านแห่งรัฐต่างๆ อีก 8 รัฐ ก็แอนตี้รัฐบาลมาเลเซียกันน่าดู สุดท้ายก็ประนีประนอมยอมกันได้ โดยให้พระราชาธิบดีมีพระราชอำนาจประกาศสภาวะฉุกเฉินตามเดิม แต่ต้องมีนายกรัฐมนตรีถวายคำปรึกษา

แต่พระราชาธิบดีไม่มีพระราชอำนาจที่จะยับยั้งร่างพระราชบัญญัติใดๆ ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภามาแล้ว เพียงแต่มีพระราชอำนาจในการยืดเวลาที่จะให้มีผลบังคับใช้ออกไปเป็นเวลา 30 วันเท่านั้น

ขออนุญาตไม่ตอบนะครับ ว่าในประเทศมาเลเซียนั้น สถาบันกษัตริย์หรือสถาบันการเมืองมีอำนาจมากกว่ากัน ผู้อ่านท่านโปรดพิจารณาเอาเองเถิด


นิติภูมิ นวรัตน์
วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

ที่มา : NITIPOOM.COM
http://nitipoom.com/th/article1.asp?idOpenSky=1927&ipagenum=97

หมายเหตุ
สงสัยอยู่ว่าแล้วในประเทศ สาละวนLand สถาบันกษัตริย์หรือสถาบันการเมืองมีอำนาจมากกว่ากัน ?

ไม่มีความคิดเห็น: