วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ชนชั้นนำสร้างแนวคิด จนกลายเป็น ประชาธิปไตยแบบไทยๆ


เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนะวนิช
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


หัวข้อที่ผมจะพูดในวันนี้ นำมาจากส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ที่ทำที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง แนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทย หวังว่ามันจะสอดคล้องกับหัวข้อในการสัมมนาครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม วิทยานิพนธ์เล่มนี้ แสดงให้เห็นถึงการก่อตัวของแนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทยซึ่งก่อร่างสร้างขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ 2510

ผมพบว่า แนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทย หาได้เป็นแนวความคิดที่มีเอกภาพ แต่สามารถแยกได้เป็น 4 แนวความคิดจากกลุ่มการเมือง 4 กลุ่มที่ปะทะกันอยู่

ในบริบททางการเมืองในช่วง 2490 - 2510 ได้ปรากฏกลุ่มทางการเมืองขึ้น 4 กลุ่มด้วยกัน ทั้ง 4 กลุ่มต่างช่วงชิงต่อสู้ทั้งทางปฏิบัติการทางการเมืองและทางความคิด เพื่อมีอำนาจในทางการเมือง

ทั้ง 4 กลุ่มนี้คือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมเก่า กลุ่มซอยราชครู (ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของจอมพลผิน ชุณหะวัน และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์) กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ (ซึ่งเป็นทหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมีจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร) และกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่

โดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมเก่า คือกลุ่มเจ้าและขุนนางซึ่งมีความสืบเนื่องกับการเมืองก่อน 2475 เช่น กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร กลุ่มอนุรักษใหม่ก็จะสืบเชื้อสายและความคิดจากกลุ่มขุนนาง เจ้า เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยความคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยมทั้งเก่าและใหม่ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

แนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยของแต่ละกลุ่ม ต่างมีคำอธิบาย ต่างมีปฏิบัติการทางการเมืองที่แตกต่างกันแต่สืบเนื่องกัน แนวความคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเก่า ปฏิบัติการในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 2490 ในขณะที่กลุ่มซอยราชครูคือครึ่งหลังของทศวรรษ 2490 กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ในทศวรรษ 2500-2510 และกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา

ในที่นี้ ผมจะนำเสนอ 'ความคิดประชาธิปไตยแบบไทย' ของทั้ง 4 กลุ่มโดยสังเขป การสร้างความคิดดังกล่าว เป็นการสร้างที่ปะทะขัดแย้งกันใน 3 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก ว่าด้วยระบอบการเมืองแบบจารีต ประเด็นที่สอง ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และประเด็นที่สาม ว่าด้วยประชาธิปไตยแบบไทย


การเมืองแบบจารีต
เรื่องแรก การเมืองแบบจารีต เป็นการปะทะกันในแง่การให้ความหมายกับการให้อำนาจทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองแบบจารีตของไทย

กลุ่มอนุรักษ์นิยมเก่ายืนยันว่า ระบอบการเมืองแบบจารีตของไทยนั้น พระมหากษัตริย์มิใช่มีอำนาจอย่างแท้จริง แต่ทว่ามีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นรัฐธรรมนูญ คอยจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์อยู่ อีกทั้งพระมหากษัตริย์ไทยนั้น ยังถูกควบคุมด้วยจารีตการปกครองแบบพ่อปกครองลูก นี่คือทัศนะของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเก่า

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มซอยราชครู กลับพิจารณาว่า ระบอบการเมืองการปกครองแบบจารีต เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจโดยเด็ดขาดสมบูรณ์

ขณะที่กลุ่มสี่เสาเทเวศร์พิจารณาในชั้นแรกว่า ระบอบการปกครองแบบจารีตของไทย ในช่วงสมัยสุโขทัย คือพ่อปกครองลูก แต่ทว่ามาถึงสมัยอยุธยาแล้ว ระบอบการปกครองแบบจารีตของไทย ก็มาเป็นระบอบเทวราชาที่มีพระมหากษัตริย์เปรียบประดุจดั่งเทวะ ในขณะที่ประชาชนคือไพร่ทาส

ส่วนกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่นั้นเสนอว่า ระบอบการเมืองแบบจารีต เป็นการผสมระหว่างระบอบพ่อปกครองลูกกับระบอบเทวราชา คือพระมหากษัตริย์ไทยมีทั้งด้านที่ทรงเป็นเทวะ และด้านที่ทรงมีพระเมตตากับประชาราษฎร์ในแบบพ่อปกครองลูก อีกทั้งในช่วงหลังๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น พระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงมีจิตใจแบบเสรีนิยมด้วย นี่คือทัศนะของกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ในช่วงเกือบทศวรรษ 2510

เราจะเห็นว่า ประเด็นเรื่องการเมืองแบบต่างๆ แต่ละกลุ่มต่างมีทัศนะที่ปะทะขัดแย้ง ไม่อยู่ในร่องรอยเดียวกันอยู่


การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
เรื่องที่สอง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในประเด็นนี้ เป็นการปะทะกันในแง่ความหมายของการเปลี่ยนแปลงในปี 2475 กลุ่มอนุรักษ์นิยมเก่าพิจารณาว่า เหตุการณ์ในปี 2475 นั้น เป็นเหตุการณ์ที่คณะราษฎร "ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนบางอย่างภายในระบอบการปกครองระบอบจารีตของไทยเท่านั้น เป็นเพียงการนำเอารัฐธรรมนูญมาใช้แทนหลักในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์

สำหรับกลุ่มซอยราชครู เห็นตรงกันข้าม โดยมีความคิดว่า การเปลี่ยนแปลงเมื่อ 2475 เป็นการยกเลิกราชาธิปไตย แล้วสถาปนาประชาธิปไตยขึ้นมา

ขณะที่กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ มีความคิดที่แตกต่าง ด้านหนึ่งมีความคิดแบบเดียวกับซอยราชครูที่ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา แต่กลุ่มสี่เสาเทเวศร์พิจารณาต่อไปด้วยว่า การเปลี่ยนแปลง 2475 เป็นการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้นมา ซึ่งไม่สอดคล้องกับสังคมไทย เพราะก่อให้เกิดความปั่นป่วนไร้เอกภาพขึ้นมาในระบอบการเมืองของไทย

ต้องรอจนการปฏิวัติใน พ.ศ.2501 ระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทยที่สอดคล้องกับสังคมไทย

ในกรณีของกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ พิจารณาเหตุการณ์ในปี 2475 ว่าเป็นตัวขัดขวางวิวัฒนาการในระบอบประชาธิปไตยของไทย เพราะกลุ่มอนุรักษ์ใหม่มีทัศนะว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยไทยกำลังเกิดขึ้นภายใต้การนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์เสรีนิยม นี่เป็นทัศนะของกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ เช่น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งขบวนการนี้เป็นขบวนการที่ประชาชนเห็นพ้องด้วย

แต่ขณะเดียวกัน คณะราษฎรซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกลับมายึดอำนาจเสียก่อน ซึ่งทำให้สังคมไทยไม่สามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาได้ แต่ทว่า กลายเป็นระบอบเจ้าหลายชีวิต นั่นคือ การยึดอำนาจเบ็ดเสร็จหมุนเวียนอยู่ในผู้นำไม่กี่คน


ประชาธิปไตยแบบไทย
ประเด็นที่สาม ว่าด้วยประชาธิปไตยแบบไทย ประเด็นนี้ก็มีการปะทะกันในแง่ของการให้ความหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทย และเป็นประชาธิปไตยแบบไทยที่แท้จริง

เริ่มต้นที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเก่า กลุ่มนี้อธิบายว่า มันมีความสืบเนื่องระหว่างการปกครองแบบจารีตของไทย กับระบอบประชาธิปไตยแบบไทย นั่นคือ ระบอบการปกครองแบบจารีตของไทยนั้น มีองค์ประกอบของระบบประชาธิปไตยอยู่แล้ว นั่นคือ มีกฎหมายพระธรรมศาสตร์ที่เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญที่จำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ อีกทั้งการขึ้นสู่อำนาจของพระมหากษัตริย์แบบไทยนั้น ก็เป็นไปตามหลัก "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" นั่นก็คือการขึ้นสู่อำนาจโดยความเห็นพ้องของประชาชน

ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย เป็นเพียงการปรับให้ระบอบการปกครองแบบจารีตทันสมัยขึ้นเท่านั้น นั่นคือ มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีสถาบันใหม่ๆ ขึ้นมาทำหน้าที่ในแง่บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

แต่เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนอำนาจของปวงชนอย่างแท้จริง ตามหลักอเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ในแง่ความคิดของพวกอนุรักษ์นิยมเก่า สถาบันทั้งสาม คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จึงต้องเป็นสถาบันที่ขึ้นต่อและได้รับการมอบหมายอำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังที่กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ทรงกล่าวว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ คือทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา อำนาจนิติบัญญัติทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการทางศาล

ซึ่งหมายความว่า ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย หรืออีกนัยหนึ่งคือทรงมีอำนาจที่แท้จริง

ในขณะเดียวกัน กลุ่มซอยราชครูกลับมีทัศนะที่แตกต่างกัน คือพิจารณาว่า จริงๆ แล้วมันไม่มีความสืบเนื่องระหว่างการปกครองในระบอบจารีตกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย

เพราะการปกครองแบบจารีตนั้น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ รวมอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่อำนาจของปวงชนนั้นถูกใช้โดยสถาบันทั้งสาม โดยเฉพาะสถาบันบริหาร ก็จะมีแหล่งที่มาจากข้าราชการ และจะมีแหล่งที่มาจากสถาบันนิติบัญญัติประกอบไปด้วย

ในกรณีของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ พิจารณาเห็นด้วยกับกลุ่มซอยราชครู ว่ามันมีความแตกต่างไม่สืบเนื่องระหว่างระบอบการปกครองแบบจารีตกับระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรได้นำเอาประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งเป็นประชาธิปไตยในแบบผู้แทนมาใช้ อันเป็นระบอบที่กลุ่มสี่เสาเทเวศร์เห็นว่า มันไม่สอดคล้องกับสังคมไทย

ประชาธิปไตยแบบไทยในทัศนะของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แบบผู้แทน ไม่ใช่ระบอบรัฐสภา ซึ่งเป็นการนำเอาหลักการแบบพุทธ อันเป็นมรดกตกทอดของสังคมไทยมาใช้ นั่นก็คือ หลักของความสมานฉันท์ และไม่มีฝ่ายค้าน

ขณะที่ผู้นำภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยที่ไม่มีฝ่ายค้าน ก็จะต้องเป็นผู้นำที่เปรียบเสมือนเป็นพ่อปกครองลูกของตัวเอง ที่เรียกว่าระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์นั้นเอง

ส่วนกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่เห็นว่า จริงๆ แล้วพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ทรงมีจิตใจเสรีนิยม ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาส ตลอดจนรัชกาลที่ 7 กำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่คณะราษฎรเข้ามาขัดขวางกระบวนการเสียก่อน

ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยอันเป็นระบอบที่เหมาะสมกับสังคมไทยนั้น ควรจะต้องเป็นระบอบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำ และเป็นผู้รักษาดุลแห่งอำนาจ หมายความว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยนั้น แม้ว่าสถาบันนิติบัญญัติ และสถาบันบริหาร จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ทว่า ตัว ส.ส.แต่ละคนนั้น ก็เป็นเพียงตัวแทนของคนเพียงกลุ่มเดียวที่เลือกเขาเข้ามา สถาบันที่เป็นตัวแทนของปวงชนที่แท้จริงนั้น คือสถาบันพระมหากษัตริย์

ในขณะเดียวกัน ในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีการแยกหน้าที่กัน เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งอาจเกิดความขัดแย้งคัดง้างกันบ้างระหว่าง 3 สถาบัน ดังนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งได้รับความเคารพจากทุกฝ่าย จึงเหมาะสมจะทำหน้าที่รักษาดุลในหน้าที่ทั้งสามในฐานะที่เป็นองค์พระประมุข

ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยนั้น จึงเป็นระบอบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั่นเอง

เราจะเห็นว่ามีทัศนะที่แตกต่างกัน ในแง่ของการสถาปนาแนวความคิด แนวความคิด ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ จากกลุ่มทางการเมืองต่างๆ ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า แนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยซึ่งมักมีคนอ้างอิงอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งถึงปัจจุบัน แนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทยเป็นแนวความคิดที่ชนชั้นนำหรือ elite ไทยกลุ่มต่างๆ พัฒนา สร้างขึ้นมา เพื่อจัดสรรอำนาจระหว่างกันนั่นเอง ว่าใครจะเป็นผู้ที่สมควรมีอำนาจในระบอบการปกครองของไทย นี่ก็เป็นแนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทย ในช่วงทศวรรษ 2490 - ทศวรรษ 2510 และอาจสืบเนื่องมาเรื่อยๆ ก็ได้



หมายเหตุ
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 50 มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา ‘ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ.ศ.2454-2550’ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อหนึ่งในการเสวนาคือ ‘ปฏิวัติกระฎุมพี–ประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข: จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาประชาธรรม'

'อ.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนะวนิช' อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของผลงานวิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘แนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทย' (2536) ได้กล่าวถึง 4 กลุ่มใหญ่ในสังคมไทยที่ต่อสู้ทางการเมืองและความคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง น่าสนใจว่า วิธีคิดและการให้ความหมายต่อคำว่า 'ประชาธิปไตย' นั้น ช่างแตกต่างขัดแย้ง และนี่คือเรื่องราวของ กลุ่มอนุรักษ์นิยมเก่า กลุ่มซอยราชครู กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ รวม 4 กลุ่มใหญ่ภายใต้สังคม 'ประชาธิปไตยแบบไทยๆ'


ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9590&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

ไม่มีความคิดเห็น: