วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

“เศรษฐกิจพอเพียง” กับ “การสถาปนาพระราชอำนาจนำ”: เสวนาที่ ม.อุบลราชธานี


จากวิทยานิพนธ์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2547 หัวข้อ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ = The Rayally-Initiated Projects : the making of royal hegemony (B.E. 2494-2546)” โดย ชนิดา ชิตย์บัณฑิตย์ นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พ.ย.50 ชนิดาได้นำเสนอบทความ “มองเศรษฐกิจพอเพียงผ่านแว่นหลากสี: “เศรษฐกิจพอเพียง” กับ “การสถาปนาพระราชอำนาจนำ” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในการประชุมเชิงวิชาการ เรื่องเหลียวหลังแลหน้าการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบทอีสานช่วงทศวรรษ 2540-2550 กรณี “เศรษฐกิจพอเพียง: ความรู้และความไม่รู้” ที่จัดโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดยมี ผศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็น ต่อไปนี้นี่คือสิ่งที่ อ.ชนิดา นำเสนอโดยสังเขป

ขอเสนอมุมมองเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะเป็นอุดมการณ์ด้านการพัฒนาในสังคมไทย คือเสนอว่า เศรษฐกิจพอเพียงมิได้นำเสนอแต่แนวทางในการพัฒนาเท่านั้น แต่เศรษฐกิจพอเพียงยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นการประสานกันของอุดมการณ์ด้านการพัฒนาของกลุ่มต่างๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ปัญญาชน โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน

โดยการเติบโตของอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์การพัฒนาในสังคมไทยเป็นผลมาจากบริบททางการเมืองยุคหลังสงครามเย็น และบริบททางเศรษฐกิจหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงมีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาในสังคมไทย และยังมีบทบาทสำคัญในการสถาปนาพระราชอำนาจนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แนวคิดหลักที่ใช้คือแนวคิดเรื่องอุดมการณ์และปฏิบัติการทางอุดมการณ์ของกรัมชี่ และแนวคิดเรื่องอำนาจนำ อุดมการณ์ หมายถึงองค์รวมของระบบความเชื่อ ระบบคุณค่าที่บุคคลมีต่อตนเองและมีต่อสังคม เราจะเข้าใจอุดมการณ์ได้ต้องดูที่ปฏิบัติการทางอุดมการณ์ ซึ่งเป็นการแปรแนวความคิด ระบบคุณค่าออกมาเป็นการปฏิบัติ ส่วนอำนาจนำ หมายถึงกระบวนการที่ชนชั้นปกครองหรือชนชั้นอื่น สร้างความยอมรับเหนือชนชั้นอื่นๆ ผ่านกลุ่มปัญญาชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการเผยแพร่แนวคิดหรืออุดมการณ์ในสังคม

ถ้านำแนวคิดทั้งหมดมามองเศรษฐกิจพอเพียง จะพบว่า เศรษฐกิจพอเพียงจัดเป็นปฏิบัติการทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่มีอุดมการณ์ เนื่องจากประกอบด้วย แนวคิด ปรัชญา รวมถึงภาคปฏิบัติการที่ชัดเจน ซึ่งก็คือ เกษตรทฤษฎีใหม่ โดยบริบทและปัจจัยแวดล้อมส่งผลต่อการเผยแพร่แนวคิดสู่สังคม

ในด้านบริบท เศรษฐกิจพอเพียงถูกขานรับจากสังคมภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงโดยตรง ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ประกอบกับในทางการเมืองเป็นยุคที่อุดมการณ์ทางการเมืองไม่มีผลสำคัญต่อการเผยแพร่ หรือเติบโตของบทบาทหรือพระราชอำนาจนำของพระมหากษัตริย์อีกต่อไป ส่งผลให้บทบาทหรือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มีสถานะสูงสุดในสังคมไทย ทั้งในแง่สังคม การเมือง หรืออุดมการณ์ การที่ทรงเผยแพร่แนวความคิดต่างๆ สู่สังคม ย่อมได้รับการยอมรับในวงกว้าง และการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ก็จะส่งผลต่อการสร้างบทบาทพระมหากษัตริย์ยุคใหม่ คือ พระมหากษัตริย์นักพัฒนา

ในแง่นี้อาจมองได้ว่า เป็นการครองอำนาจนำในด้านอุดมการณ์ โดยเฉพาะอุดมการณ์กษัตริย์นิยมในสังคมไทย ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียง สิ่งเหล่านี้ถูกตอกย้ำ และผลิตซ้ำโดยสถาบันทางสังคมต่างๆ เช่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ สื่อมวลชน ส่งผลให้เศรษฐกิจพอเพียงมีบทบาทต่อการกำหนดอุดมการณ์การพัฒนาของประเทศ

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงขยายในแง่อุดมการณ์การพัฒนาไปครอบคลุมส่วนต่างๆ ของสังคม ก็คือ การที่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำมาประสานกับอุดมการณ์การพัฒนาที่องค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งเคยเสนอมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ที่เรียกว่าวัฒนธรรมชุมชน ปัญญาชนที่มีบทบาทสำคัญในการตีความแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้เชื่อมโยงกับแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน ได้แก่ อ.ประเวศ วะสี, อ.เสน่ห์ จามริก, อ.อภิชัย พันธเสน และ อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา โดยปัญญาชนเหล่านี้มีความพยายามเอาเศรษฐกิจพอเพียงมาตีความเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการพัฒนาทางเลือก

เงื่อนไขอีกอย่างที่ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ก็คือ การเชื่อมประสานของอุดมการณ์การพัฒนาของภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่แผน 5 (พ.ศ.2525-2529) ที่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางการพัฒนา โดยประสานแผนความมั่นคงเข้ากับแผนพัฒนา ทำให้พื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาเปลี่ยนไปอยู่ภาคชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่หลักขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานอยู่แล้ว จึงเกิดการประสานงาน เกิดองค์กรประสานงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในปี 2528 ทำหน้าที่ในการเชื่อมกับภาครัฐ แผน 7 เริ่มเชิญนักพัฒนา 4 คนเข้าร่วม โดยผู้ที่มีบทบาทในการเชื่อมต่อองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งกับภาครัฐ ก็คือ หมอประเวศ

แผน 8 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เนื่องจากมีการนำเสนอแนวคิดเน้นคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และวิพากษ์ทิศทางการพัฒนาประเทศเป็นครั้งแรกในแผน ในแง่ของกระบวนการก็แตกต่างจากเดิม มีการจัดเวทีระดมความเห็นจากหน่วยงานราชการ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชน องค์กรชุมชน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน คือ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล(เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา) และในแผน 9 เศรษฐกิจพอเพียงก็ถูกผลักดันให้เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติผ่านเครือข่ายปัญญาชนที่เข้าร่วมในการร่างแผนฯ ดังกล่าว ต่อเนื่องมาถึงแผน 10

รูปธรรมหรือปฏิบัติการของเศรษฐกิจพอเพียงจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็คือเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรที่ดำเนินการตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่จะต้องแบ่งพื้นที่การผลิตออกเป็น 3 ส่วน เพื่อทำการผลิตให้มีกินมีอยู่ ขั้นต่อมา คือรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ พัฒนาการผลิต การตลาด และเติบโตเป็นธุรกิจชุมชนขนาดย่อยต่อไป องค์กรที่มีบทบาทหลักในการเผยแพร่อุดมการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ มูลนิธิชัยพัฒนา หน่วยราชการต่างๆ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่ง

กรณีศึกษาการเผยแพร่อุดมการณ์การพัฒนาตามแนวพระราชดำริโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนา ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเผยแพร่แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงสู่เกษตรกรศูนย์ฯได้จัดตั้งคณะทำงานโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ มีหน้าที่จัดอบรมให้เกษตรกร โดยคัดเลือกเกษตรกรที่อาศัยอยู่รอบๆ มาฝึกอบรม แนวคิด ปรัชญา รวมถึงภาคปฏิบัติ เช่น การแบ่งพื้นที่ การพัฒนากิจกรรมการเกษตรต่างๆ หลังการฝึกอบรม เกษตรกรต้องเขียนโครงการเพื่อปรับปรุงที่ดินของตนเองให้เข้ากับเกษตรทฤษฎีใหม่ คณะทำงานจะประเมินศักยภาพ ถ้าเหมาะสมจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านต่างๆ โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือต้องทำหน้าที่เป็นเกษตรกรตัวอย่าง ในการเผยแพร่ให้กับเกษตรกรอื่นๆ ในแง่นี้ ตัวเกษตรกรจึงถูกพัฒนาให้กลายเป็นผู้เผยแพร่เศรษฐกิจพอเพียงผ่านวิถีชีวิตของตนเอง

จากการสัมภาษณ์เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 13 ราย พบว่า ปัจจัยที่ทำให้อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงดำรงอยู่ได้ หรือเป็นภาคปฏิบัติของเกษตรกรได้ มี 6 ประการ คือ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ เฉลี่ยครอบครัวละหลายแสน, อุดมการณ์ความเชื่อมั่นของเกษตรกรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากเกษตรกรต้องต่อสู้กับกลไกตลาด ต้องกระตือรือร้น ไม่ฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นเรื่องยากในสังคมปัจจุบัน, ทักษะในการประยุกต์แนวคิดทฤษฎีใหม่มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมการเกษตรและในชีวิตประจำวัน, ปัจจัยด้านเงินทุนหมุนเวียน ตลาด และแรงงาน , ภาวะหนี้สินของเกษตรกร ถ้าเกษตรกรมีหนี้สินมาก่อน หรือมีเงื่อนไขที่จะทำให้เป็นหนี้สิน เช่น มีลูก ก็ยากที่จะดำรงชีวิตอย่างพอเพียงได้, และปัจจัยเชิงวัฒนธรรม เช่น ต้องไม่สังสรรค์ ไม่กินเหล้า ไม่ร่วมงานบุญ ถ้าหากขาดปัจจัยเหล่านี้ข้อใดข้อหนึ่ง ก็ยากที่จะบรรลุอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียง

กล่าวโดยสรุป เมื่อมองเศรษฐกิจพอเพียงในความหมายของอุดมการณ์ จะพบว่า อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงมีความย้อนแย้งในตัวเองสูง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของสังคมไทย กล่าวคือ อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียง ในด้านหนึ่งดูเหมือนจะวิพากษ์อุดมการณ์ทุนนิยม แต่ถึงที่สุดแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงก็ไม่ได้นำเสนอให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการผลิตเหมือนระบบเศรษฐกิจอื่นๆ

อีกประการหนึ่ง อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียง มีบทบาททั้งในการหนุนเสริม และวิพากษ์อุดมการณ์รัฐ ในแง่ของการหนุนเสริมอุดมการณ์รัฐ เนื่องจากอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วย อุดมการณ์กษัตริย์นิยม กับ อุดมการณ์การพัฒนา ตัวอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐในแง่ของอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้น การนำเสนอเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะแนวทางการพัฒนาตามพระราชดำริ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตอกย้ำอุดมการณ์ของรัฐ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจพอเพียงก็วิพากษ์อุดมการณ์รัฐ ทั้งในเรื่องการพัฒนาตามแนวทุนนิยม และในเรื่องระบบการบริหารจัดการ ซึ่งก็คือระบบราชการ แต่แท้ที่จริง ปัจจัยการเติบโตของเศรษฐกิจพอเพียงที่สำคัญมาจากการเผยแพร่ผ่านหน่วยงานรัฐเป็นหลัก

ในทางความหมาย เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายที่ลื่นไหลไปมา ไม่ผูกติดกับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่ามีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ในการนำเสนอเสมอ ดังนั้น ถ้าพิจารณาในแง่อุดมการณ์ จำเป็นต้องดูบริบทของกลุ่มที่นำมาใช้หรือตีความ ว่าสร้างความชอบธรรมให้กับการพัฒนารูปแบบใด หรือมีนัยยะทางการเมืองอะไรอยู่เบื้องหลัง

และเมื่อมองเศรษฐกิจพอเพียงประสานกับบทบาทในการสถาปนาพระราชอำนาจนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะพบว่า การเติบโตของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นภาพสะท้อนชัยชนะของการครองพระราชอำนาจนำเหนือสังคมไทย โดยเฉพาะในการกำหนดอุดมการณ์ในการพัฒนา

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ยังกล่าวว่า เห็นด้วยที่ อ.ชนิดา นำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงโดยเชื่อมโยงกับความเป็นไปทางการเมืองและการสถาปนาพระราชอำนาจนำ ประเด็นที่อยากเสนอเสริมคือ การอธิบายเศรษฐกิจพอเพียงในแง่บริบท/ความเป็นมาทางการเมืองไทย

ในแง่ของความหมาย ถ้าเศรษฐกิจพอเพียงหมายถึง โลภน้อย ไม่สุดโต่ง สายกลาง อ.อภิชัยใช้คำว่า พุทธเศรษฐศาสตร์ ไม่แน่ใจว่าศาสนาพุทธกับเศรษฐศาสตร์ไปกันได้หรือเปล่า แต่เป็นการนิยามที่ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นนามธรรมขั้นสูงมาก มีช่องว่างในการตีความมาก

ในเชิงวิชาการ เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึง การผลิตในระดับท้องถิ่น(local) อาจเป็นชุมชนหรืออำเภอ ไม่จำเป็นต้องมีการซื้อขายมาก ลงทุนมาก แต่หน่วยการผลิตไม่ได้อยู่ที่ครัวเรือน มีการแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วเราจะกลับไปสมัยนั้นหรือ ก็คงไม่ใช่

ถ้าในความหมายว่า พอกินพอใช้ คือไม่จำเป็นต้องมีเงินออม แล้วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย ลูกต้องเรียน ต้องปรับปรุงการผลิต เศรษฐกิจพอเพียงจะสอดคล้องไหมในระดับจุลภาค และในระดับมหภาคจะต้องเป็นอย่างไร

โดยนัยยะแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงตามความหมายดังกล่าว มีนัยยะที่สำคัญ คือ จำกัดการเคลื่อนสถานะทางสังคม (social mobility) และรักษาสถานภาพเดิม ส่งผลให้ไม่เกิดความขัดแย้งในทางสังคม

ถ้าพิจารณาเศรษฐกิจพอเพียงในเชิงบริบทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ประเด็นที่จะเสริมก็คือ การสถาปนาพระราชอำนาจนำ มีมานานแล้ว และโดดเด่นมากตั้งแต่ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และถ้าย้อนกลับไป ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 มีความพยายามในการสถาปนาพระราชอำนาจนำของสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น กบฎบวรเดช (ปี 2476) หรือจนถึงปัจจุบันสังคมไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากองคมนตรีแล้วกี่คน...?


โดย : ประชาไท วันที่ : 27/11/2550

ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/10366

ไม่มีความคิดเห็น: