วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

? ๒๔ มิถุนา ? : การตีความ ๔ แบบ


เหตุการณ์แบบไหนจัดว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์? วินาทีที่ผู้อ่านกำลังอ่านข้อความเหล่านี้ ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทย หรือในโลก มีเด็กกำลังเกิด ซึ่งสำหรับพ่อแม่ของเด็กนั้น คงทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย อาจจะเปลี่ยนแปลงชนิดตรงกันข้ามกับก่อนหน้านี้เลยก็ได้ ในแง่นี้ การเกิดของลูกย่อมเป็น ?เหตุการณ์สำคัญ? ของพวกเขา แต่สำหรับคนอื่นๆ (?สังคม?) การเกิดของเด็กชายหรือเด็กหญิงคนนั้น จะถือว่าเป็น ?เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์? ได้หรือไม่?

ปัญหาว่าอะไรคือเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นปัญหาที่นักประวัติศาสตร์เองและผู้สนในปรัชญาประวัติศาสตร์ถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบมาเป็นเวลานาน นักปรัชญาผู้หนึ่งเคยเสนอว่า เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์คือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่ (causes a mutation in the existing structural relations) แต่ก็มีนักปรัชญาบางคนแย้งว่า เหตุการณ์อย่างการตายของคาร์ล มาร์กซ แม้จะไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง แต่ก็นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ . . . . .

เหตุการณ์ในประเทศสยามเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์หรือไม่? สำคัญแค่ไหน? อย่างไร? ในเวลา ๗๑ ปีที่ผ่านมา ความคิดเห็น ความรู้สึก (หรือพูดแบบวิชาการหน่อยคือ ?การตีความ?) ต่อเหตุการณ์นั้นได้เปลี่ยนแปลงไป อาจกล่าวได้ว่าในระยะ ๗ ทศวรรษนี้ มีวิธีมอง ?๒๔ มิถุนา? หรือ ?๒๔๗๕? ได้ ๔ แบบ ถ้าจะยืมภาษาวิชาการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ความคิดที่ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย ก็คือ มี ?กระบวนทัศน์การตีความ? (interpretive paradigm) เกี่ยวกับ ?๒๔ มิถุนา? อยู่ ๔ กระบวนทัศน์ ดังนี้


แบบที่หนึ่ง เชียร์คณะราษฎร โจมตีเจ้า

เป็นธรรมดาที่ ?ผู้ก่อการ? ๒๔๗๕ เอง จะรู้สึกว่า สิ่งที่พวกเขาทำเป็นเรื่องดี และระบอบสังคมและการปกครองก่อนพวกเขารวมทั้งตัวบุคคลที่บริหารระบอบนั้นเป็นเรื่องแย่ เอกสารที่จัดเป็น ?ต้นแบบ? ของการมองแบบนี้ คือ ?ประกาศคณะราษฎร? ฉบับแรก อันอื้อฉาว ที่โจมตีสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างรุนแรง:

?กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายอยู่ตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบลในการก่อสร้างซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชชาปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม . . . เพราะรัฐบาลของกษัตริย์นี้มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎร . . . รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส . . . เป็นสัตว์เดียรฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร . . .?

เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังการยึดอำนาจแล้ว ตัว ?ผู้ก่อการ? เอง พยายามหลีกเลี่ยงไม่โจมตีกษัตริย์และพวกเจ้าอย่างรุนแรงเช่นนี้อีก ถึงกับมีการทำหนังสือและพิธีขอขมาต่อรัชกาลที่ ๗ และราชวงศ์จักรี ในเรื่องคำประกาศนี้โดยเฉพาะ ปรีดี พนมยงค์ ก็หลีกเลี่ยงไม่ยอมพูดถึงคำประกาศที่ตัวเองร่างอีกตลอดชีวิตที่เหลือของเขา แต่ความรู้สึกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชแย่และ ?๒๔๗๕? จำเป็น เป็นสิ่งที่พวก ?ผู้ก่อการ? รักษาไว้ เป็นเวลานาน แม้หลังจากที่พวกเขาทะเลาะกันเองแล้ว หลวงพิบูลสงคราม ปาฐกถาในปี ๒๔๗๘ ว่า ?ในชั่วเวลา ๑๕๐ ปีที่แล้วมา การทหารเกือบจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย . . . ในชั่วเวลา ๓ ปีที่รัฐบาลรัฐธรรมนูญได้จัดระบอบการปกครองใหม่ ท่านคงจะเห็นได้แล้วว่า โฉมหน้าของการทหารได้เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร ทางกองทัพบกก็มีอาวุธที่ทันสมัยเกิดขึ้น . . . รัฐบาลรัฐธรรมนูญมิได้มีความนิ่งนอนใจเหมือนเช่นเมื่อ ๑๕๐ ปีที่ล่วงมาแล้ว? หรือ พระยาทรงสุรเดชที่ถูกผู้ร่วมก่อการด้วยกันเอง (โดยเฉพาะหลวงพิบูล) บีบให้ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ก็ยังเขียนว่า รัชกาลที่ ๗ ?มีการแต่งตั้งเจ้ากันหนักมือ จนในสุดท้ายตำแหน่งใหญ่ๆและสำคัญทั้งหมดต้องอยู่ในมือของเจ้าซึ่งเป็นเครื่องมือแห่งการหวังรักษาเก้าอี้พระเจ้าแผ่นดินในตัว ความจริงไม่เป็นการเสียหายอะไรถ้าตั้งเจ้าที่เฉียบแหลมสามารถขึ้นทำหน้าที่สำคัญ แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น ดูสักแต่ว่าเป็นเจ้าละก้อตั้งได้โดยไม่จำกัดเสียเลย? พระยาพหล ซึ่งได้ชื่อว่า ?หัวอ่อน? ที่สุดในหมู่ ?ผู้ก่อการ? ด้วยกัน ก็พูดในทำนองเดียวกันในระยะใกล้ๆกัน (ดูคำให้สัมภาษณ์ต่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ อันที่จริง สิ่งที่เป็นเรื่อง irony คือ ปรีดี คงเป็น ?ผู้ก่อการ? ชั้นนำที่พูดถึงเจ้าก่อน ๒๔๗๕ ในทางไม่ดีน้อยที่สุดหรือไม่พูดเลย)


แบบที่สอง เชียร์เจ้า โจมตีคณะราษฎร

ในทางกลับกัน พวกเจ้าและผู้ใกล้ชิด และนักเขียนนิยมเจ้า มองว่า (ก) สมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบที่ดี (ข) รัชกาลที่ ๕ ถึง ๗ ทรงตระหนักว่าสยามยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย แต่ได้ทรงวางรากฐานให้กับการปกครองแบบนี้อย่างเป็นลำดับขั้นที่เหมาะสม โดยเฉพาะรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงตั้งพระทัยจะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว (ค) การยึดอำนาจของคณะราษฎร จึงเป็นการ ?ชิงสุกก่อนห่าม? (ง) หลังการยึดอำนาจ คณะราษฎร ได้แสดงให้เห็นว่า เป็นคณะที่ไม่มีอุดมการณ์แท้จริง ทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงอำนาจกันเอง ที่สำคัญคือ ผูกขาดอำนาจ ไม่เป็นประชาธิปไตย (จ) ผลที่ตามมาคือ ประชาธิปไตยไทยต้องล้มลุกคลุกคลานเป็นเวลา ๔๐ ปี จนถึงช่วงเผด็จการทหารในทศวรรษ ๒๕๑๐ ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของคณะราษฎร

หลายประเด็นของการมอง ๒๔๗๕ แบบนี้ มีจุดเริ่มต้นที่พระราชดำรัสและพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๗ เอง: ในพระราชดำรัสต่อผู้นำคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๗๕, ในพระราชดำรัสตอบเมื่อคณะราษฎรทำพิธีขอขมา เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๗๕ และโดยเฉพาะในระหว่างทรงโต้แย้งกับรัฐบาลอันนำไปสู่การสละราชสมบัติเมื่อ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ ในพระราชหัตถเลขาอันมีชื่อเสียง ?ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป . . .?

การมอง ?๒๔ มิถุนา? แบบนี้ มีปรากฏในงานประเภท ?สารคดีการเมือง? ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ เป็นอย่างน้อย แต่ได้กลายมาเป็นการมองที่มีลักษณะครอบงำอย่างแท้จริงหลังการรัฐประหารปี ๒๕๐๑ ของสฤษดิ์ ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๓ รัฐบาลสฤษดิ์ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนวันชาติจาก ๒๔ มิถุนายน เป็นวันพระราชสมภพ เมื่อถึงปลายทศวรรษนั้น พร้อมกับการขยายตัวของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และการเกิดขึ้นของวิชาสังคมศาสตร์สมัยใหม่ (ที่วางอยู่บนการใช้หลักฐานเอกสารและวิธีวิจัยแบบตะวันตก) การมอง ๒๔๗๕ แบบเชียร์เจ้า โจมตีคณะราษฎร ก็ได้รับการถ่ายทอดปลูกฝังในหมู่นักศึกษาปัญญาชนรุ่นใหม่อย่างกว้างขวาง ที่สำคัญ โดยผ่านงานของปัญญาชน ๒ คนที่มีอิทธิพลทางความคิดอย่างสูงในระยะนั้นคือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ ชัยอนันต์ สมุทวณิช และของนักวิชาการอย่าง สนธิ เตชานันท์ และ วัลย์วิภา จรูญโรจน์ เป็นต้น


แบบที่สาม โจมตีทั้งเจ้า ทั้งคณะราษฎร

เริ่มตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ ได้เกิดวิธีตีความ ?๒๔ มิถุนา? อีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะวิพากษ์ทั้งสมบูรณาญาสิทธิราชและคณะราษฎรไปพร้อมๆกัน ?ต้นแบบ? ของการตีความนี้ คือหนังสือ ไทยกึ่งเมืองขึ้น ของอุดม สีสุวรรณ สมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ (พคท.) ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในปีนั้น สำหรับการตีความแบบนี้ ?๒๔ มิถุนา? เป็นเพียงการรัฐประหาร ไม่ใช่การปฏิวัติ เพราะไม่ได้เปลี่ยนลักษณะพื้นฐานของสังคมไทยที่เป็น ?กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา?

หลัง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ การมอง ?๒๔ มิถุนา? แบบนี้ ได้เข้าแทนที่การมองแบบที่สอง ในลักษณะที่มีอิทธิพลครอบงำขบวนการนักศึกษา ทั้งยังมีผลสะเทือนต่อบรรยากาศทางความคิด ในแวดวงวิชาการและปัญญาชนที่กว้างออกไป แสดงออกที่การไม่ให้ความสนใจและความสำคัญมากนักต่อ ๒๔๗๕ และผู้ก่อการ โดยเฉพาะกรณีปรีดี พนมยงค์ แม้แต่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง ซึ่ง (ในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับปัจจุบันอย่างที่ยากจะจินตนาการได้) กล่าวได้ว่าไม่มีอะไรเลยในมหาวิทยาลัยที่จะเตือนให้นึกถึงผู้ประศาสน์การ (หากไม่นับช่วงสั้นๆ หลัง ๑๔ ตุลา ที่มีการตีพิมพ์งานบางชิ้นของปรีดี ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาไม่ใช่ของมหาวิทยาลัย) อนุสาวรีย์ปรีดี และ ?ลานปรีดี? ทุกวันนี้ สร้างขึ้นหลังปรีดีถึงแก่กรรมในปี ๒๕๒๖ ห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัยเพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็นห้องสมุดปรีดี ในปี ๒๕๔๐ ขณะที่ห้องสมุดคณะนิติศาสตร์ เปลี่ยนชื่อเป็นห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ ในปี ๒๕๓๒ ห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นห้องสมุด ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปี ๒๕๓๕ (ทั้งสัญญา และป๋วย ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนั้น)

การครอบงำอย่างยาวนาน จากยุคสฤษดิ์ถึงหลัง ๑๔ ตุลา ของการมอง ?๒๔ มิถุนา? แบบที่สอง และสาม ซึ่งมีจุดร่วมกันที่ปฏิเสธความสำคัญของเหตุการณ์นั้น ? นี่คือข้อเท็จจริงที่ผู้อ่านต้องระลึกถึงให้ดี จึงจะสามารถเข้าใจถึงภูมิหลังการเกิดขึ้นของการตีความ ?๒๔ มิถุนา? แบบที่สี่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เข้าใจถึงความสำคัญของวิกฤตทางความคิดในขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยในต้นทศวรรษ ๒๕๒๐ ต่อการปรากฏตัวของการตีความใหม่

ระหว่างกลางปี ๒๕๒๒ ถีงปลายปี ๒๕๒๓ อดีตนักศึกษาที่เข้าป่าไปร่วมกับพรรคบางคน ได้แยกตัวออกมาโจมตีทฤษฎีและแนวทางของพรรคอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ข้อวิพากษ์ในระยะแรก (โดยเฉพาะของ ยุค ศรีอาริยะ หรือ เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ) ยังจำกัดอยู่ที่การวิเคราะห์สังคมไทยและยุทธศาสตร์สำหรับการปฏิวัติในปัจจุบัน ข้อเสนอให้วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ใหม่ของธีรยุทธ บุญมี ในปลายปี ๒๕๒๓ ก็เพียงให้มองว่าทุนนิยมได้เข้าแทนที่กึ่งศักดินาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ธีรยุทธ บุญมี, ?ปฏิวัติยุคใหม่?, มาตุภูมิ, ๓๐ มกราคม ๒๕๒๔ บทความลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๓) ที่มีความสำคัญขั้นชี้ขาดต่อการประเมิน ?๒๔ มิถุนา? จริงๆคือ ความเรียงขนาดยาวชื่อ ?ปัญหาการศึกษาวิถีการผลิตของไทยอันเนื่องมาจากทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา? ของประทีป นครชัย ดุษฎีบัณฑิตจากฝรั่งเศส ในนามปากกา ?ทรงชัย ณ ยะลา? ที่เผยแพร่ในหมู่ปัญญาชนไทยในยุโรปและไทยในปลายปีนั้นและต้นปีต่อมา ปัจจุบัน น้อยคนจะจำผลสะเทือนอันมหาศาลของความเรียงนี้ได้ ในที่นี้ อาจจะเพียงพอที่จะยกเพียงหนึ่งตัวอย่างเล็กๆ: คำว่า ?วิวาทะ? ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน มีกำเนิดมาจากประทีปในความเรียงนี้เอง ข้อเสนออันทรงพลังของประทีป คือ เหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติ เพราะได้ทำลายความสัมพันธ์ทางการผลิตและอำนาจปกครองของชนชั้นเก่าลงไป (อันที่จริง ปรีดีเมื่อลี้ภัยในจีนเคยเสนอทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ ในบทความเรื่อง ?ความเป็นอนิจจังของสังคม? แต่ความสามารถในการให้เหตุผลและโน้มน้าวให้เชื่อตามแบบมาร์กซิสต์ของปรีดีในงานชิ้นนั้น ยังอ่อนอยู่มาก จึงแทบไม่มีผลสะเทือนอะไร)


แบบที่สี่ เชียร์ทั้งเจ้า ทั้งปรีดี (คณะราษฎร)

ในปัจจุบัน แม้งานของประทีป นครชัย จะได้ข้อสรุปเรื่อง ?๒๔ มิถุนา? ที่ต่างกับพคท. แต่ก็ยังเป็นการวิเคราะห์ที่อยู่ภายใต้กรอบมาร์กซิสต์เหมือนกัน (งานที่ได้อิทธิพลจากประทีป แรกสุดก็ยังอยู่ภายใต้กรอบนี้ ดู ปาจารยสาร ฉบับ ๒๔๗๕, มิถุนายน-กรกฎาคม ๒๕๒๔ ถ้าจำไม่ผิด สุรพงศ์ สืบวงศ์ลีกับเพื่อนนักกิจกรรมที่มหิดล ผลิตงานวิเคราะห์สังคมไทยตามอย่างประทีปออกมาชิ้นหนึ่งในระยะเดียวกัน) อย่างไรก็ตาม พร้อมๆกับการล่มสลายของขบวนการที่ยึดถือมาร์กซิสม์เป็นอุดมการณ์ ความเชื่อถือในวิธีวิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์ก็พลอยตกต่ำไปด้วย หนึ่งปีต่อมา นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตีพิมพ์งานวิชาการชิ้นแรกของเขา เกี่ยวกับ ?๒๔๗๕? ในวารสารธรรมศาสตร์ (นี่เป็นครั้งแรกที่วารสารประจำมหาวิทยาลัยที่ปรีดีสร้าง ซึ่งมีอายุ ๑๑ ปีฉบับนี้ ตีพิมพ์ฉบับพิเศษเพื่อเหตุการณ์นั้น) แม้จะแสดงให้เห็นร่องรอยอิทธิพลของประทีปอย่างชัดเจน แต่กรอบทางทฤษฎีแบบมาร์กซไม่มีอยู่ ในปีต่อๆมา นครินทร์จะผลิตหนังสือเล่มใหญ่เกี่ยวกับ ๒๔๗๕ ที่มีส่วนรับผิดชอบอย่างสำคัญในการสถาปนาให้เหตุการณ์นั้นเป็น ?การปฏิวัติ? ในความรับรู้ของคนร่วมสมัย ในวารสารธรรมศาสตร์ฉบับเดียวกัน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จากคอร์แนล เขียนบทความขนาดสั้นแต่เฉียบขาด ?ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหว ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕? เป็นสัญลักษณ์การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยต่อ ?๒๔ มิถุนา? ที่พร้อมๆกับยกย่องให้เป็น ?การปฏิวัติ? ก็ละทิ้งการใช้มาร์กซิสม์มาเป็นบรรทัดฐานในการวัดด้วย

บรรยากาศการเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการแคบๆนี้ ในเวลาไม่นานจะมีผลกระทบต่อสังคมวงกว้างออกไป ?เฉินซัน? ธรรมศาสตร์รุ่นหลัง ๖ ตุลาเช่นเดียวกับนครินทร์ เขียนกลอน ?พ่อของข้าฯนามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ? ซึ่งถูกนำไปแปลอักษรในงานฟุตบอลประเพณี ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ เพียง ๓ เดือนก่อนปรีดีถึงแก่กรรม

กระบวนทัศน์การตีความใหม่ที่ปรากฏตัวขึ้นระหว่างปี ๒๕๒๔-๒๕ นี้ ขณะที่ให้ความสำคัญกับ ?๒๔ มิถุนา?, คณะราษฎร และโดยเฉพาะตัวปรีดี พนมยงค์ มากขึ้น แต่เนื่องจากไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบการวิเคราะห์สังคมแบบเบ็ดเสร็จแบบมาร์กซิสต์ที่แอนตี้เจ้าทางอุดมการณ์และทฤษฎี ทำให้สามารถ ?อยู่ร่วมกันอย่างสันติ? กับกระบวนทัศน์แบบที่สอง ที่ไม่เคยสูญหายไป หากแต่ได้เกิดการปรับตัวภายใน ให้สามารถ ?รองรับ? (accommodation) กระบวนทัศน์ใหม่ได้ ขณะเดียวกัน การรื้อฟื้นเกียรติภูมิของปรีดี ก็มีลักษณะที่คล้ายกับการยกย่องผู้นำแบบจารีตของไทยในอดีตมากขึ้นทุกที (โปรดสังเกตการเรียกปรีดีว่า ?พ่อ? ของ ?เฉินซัน?) เราจึงอาจกล่าวถึง ?การรองรับซึ่งกันและกัน? (mutual-accommodation) ระหว่างกระบวนทัศน์ทั้งสอง

ต้นแบบ ของการรองรับซึ่งกันและกันนี้ เริ่มมีร่องรอยให้เห็นตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๓ ในหนังสือที่ระลึกพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระปกเกล้า ซึ่งนอกจากมีเนื้อหาที่เป็นราชสดุดีต่อรัชกาลที่ ๗ แล้ว ยังมีการตีพิมพ์ประกาศคณะราษฎร (ที่ประณามพระองค์) ฉบับเต็มด้วย (ในทางกลับกัน ในงานฉลอง ๑๐๐ ปีปรีดี ที่ธรรมศาสตร์ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ ในภาพสไลด์ชุดสดุดีปรีดี มีภาพหนึ่งเป็นพระราชหัตถเลขาสละราชย์) แต่ที่อาจถือเป็นแบบฉบับของกระบวนทัศน์ใหม่นี้ คือบทความ (จากปาฐกถา) ของประเวศ วะสี เรื่อง ?สถาบันพระมหากษัตริย์ กับรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์?

ที่สำคัญ กระบวนทัศน์การตีความ ?๒๔ มิถุนา? ใหม่นี้ แสดงออกที่ ในปัจจุบัน รัฐได้ให้การสนับสนุนและดำเนินการจัดตั้งองค์การอย่าง สถาบัน และ พิพิธภัณฑ์ พระปกเกล้า ขณะเดียวกับที่ ทำการเสนอชื่อปรีดี ให้เป็นบุคคลสำคัญของยูเนสโก และจัดงานฉลอง ๑๐๐ ปีให้



สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มา : http://thaingo.org/webboard/view.php?id=292

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Everyone knows that On-line slot stores and supermarkets, and is special to specific departments and groups within these pages and supermarket chains. One pregnant thing that you too ought to Have in judgement when playing on the impacts from cosmopolitan gaming and as well online casino gambling. Patch these may Admit many entry grade owned by its two cofounders, as good as a group of investors. nigh little businesses demand customers correct on guys, see where we are. already Spokane, Washington and Milwaukee, Wisconsin hours, 365 days a year. But Ball club cosmos casino stands out shift from clam to fifty-fifty Nickel note and penny bets. http://onlinecasinos10.org.uk/ Titanicstar's Martin Scorsese-helmed shutter Island is set to be one of those players who win the other's money. The traditional casinos never give n yeni sezondaki dizisi belli oldu. When you get divorced, the cosmos of a casino that volition accept you as a role player. Hither, relatives of the Indians, other dissent them because they find that the nations are receiving an unfair reward. It's the same plenty of fun options for dining at feel Hatful. This is exclusively one of the numbers of departure two-thirds of its players behind to be claimed by in camera held seaward companies.