วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ปัญหาประวัติศาสตร์ไทย


ความนำ

ในปัจจุบันประวัติศาสตร์สยาม/ไทย ได้รับความสนใจมาก, ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ดีจริง, ดีกว่าที่คนจะเฉยเมยไม่สนใจดังเป็นมาก่อน ในขณะเดียวกันประวัติศาสตร์ยังกลายเป็นที่เดือดร้อนทะเลาะเบาะแว้งกัน (ถึงเผาพริกเผาเกลือ)

นักวิชาการเสรีนิยมสมัยใหม่เห็นว่าประวัติศาสตร์เหมือนวิชาอื่นๆ ที่ต้องถกเถียงตามหลักฐานที่มีอยู่, และพลิกแพลงเปลี่ยนได้ตามความรู้ใหม่, ความเข้าใจใหม่, และการแลกเปลี่ยนกันระหว่างสาขาวิชาต่างๆ (Inter-disciplinary Studies)

แต่นักวิชาการฝ่ายอนุรักษนิยม (รวมทั้งชาวบ้านที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่) ต่างอ้างว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่อง "ศักดิ์สิทธิ์" ที่ตายตัว, แตะต้องหรือคิดใหม่ไม่ได้

เรื่องนี้น่าสนใจมาก, ว่าทำไมคนไทยบางคนเกิดเป็นโรคจิตผวาขึ้นมาในเมื่อเผชิญกับข้อถกเถียงหรือสงสัยทางประวัติศาสตร์ ?


ผมพยายามศึกษาเรื่องนี้ (อย่างเบื้องต้น) แล้วพบปมประเด็นอย่างน้อยสามประการคือ :-

1) ความศักดิสิทธิ์, ปัญหาเดิม

อาจารย์คึกฤทธิ์ เคยสังเกตมานานแล้วว่า ชาวบ้านสยาม/ไทย โดยมากนับถือพุทธและผี, แต่รัฐสยาม/ไทย นับถือพราหมณ์/ฮินดู

ตามหลักพราหมณ์/ฮินดูนั้น อดีตเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ตายตัวว่าด้วยเทพฤทธิ์ที่ปรากฏในคัมภีร์ปุราณะและมหากาพย์ (รามายณะและมหาภารตะ) ส่วนพระมหากษัตริย์อาจจะสร้างกฤษฎาภินิหารที่ปรากฏตามพงศาวดารบ้าง, แต่ชาวบ้านไม่สร้างประวัติศาสตร์, ไม่มีประวัติศาสตร์, และไม่รู้หรือสนใจประวัติศาสตร์

นี่คือหลักการพราหมณ์/ฮินดู ที่กรุงศรีอยุธยาสืบทอดมาจากพระนครธม กรุงเขมร ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 18-19, และยังเป็นปัญหาการศึกษาของไทยตลอดจนถึงปัจจุบัน ตามหลักการนี้ วิชาความรู้ไม่ได้เป็นเรื่องสาธารณะของประชาชน, หากเป็นสมบัติผูกขาดของพราหมณ์ ซึ่งท่านในฐานะ "ครู" อาจจะประทานให้กับศิษย์สามัญชนตามแต่จะเห็นชอบ, หรือยับยั้งไม่ประทานก็ได้ สามัญชนไม่มีสิทธิ์ศึกษากันเอง

นี่คือปัญหาขั้นพื้นฐานของประวัติศาสตร์ไทย


2) ยุคจักรวรรดินิยม

ในครึ่งหลัง คริสต์ศตวรรษที่ 19 และครึ่งแรกคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักล่าเมืองขึ้นชาวอังกฤษและฝรั่งเศส ต่างเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์สยาม/ไทย พร้อมกับเจ้านายสยาม, แล้วสรุปผลออกมาอย่างที่รู้ๆ กันอยู่

ประวัติศาสตร์สยาม/ไทย ที่อุปโลกน์ขึ้นมาในยุคนั้น เกิดจากการมองอดีตด้วยสายตาจักรวรรดินิยม (โรมัน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ) ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในอุษาคเนย์สมัยโบราณ จึงผิดเพี้ยนไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม จะโทษฝรั่งก็ไม่ควร, เพราะเขาย่อมมองโลกตามที่อัตวิสัยและภววิสัยปรุงแต่ง, คือมองจากผลประโยชน์และมุมมองเฉพาะของตนในยุคนั้น

ส่วนเจ้านายสยามก็ยิ่งโทษไม่ได้ เพราะท่านถูกความคิดร่วมสมัย (จักรวรรดินิยม) ครอบงำเหมือนกัน เพราะเห็นประจักษ์ว่าในยุคนั้นไม่มีใครในโลกจะต้านทานอังกฤษและฝรั่งเศส, แม้กระทั่งแผ่นดินจีน

ถ้าจะโทษใคร ก็เห็นจะต้องโทษคนรุ่นหลังที่นำ ข้อสันนิษฐานของ ร.6, กรมพระยาดำรงฯ และเซเดส์ มาผูกขาดเป็นคัมภีร์หลักสูตร และสอนกันจนทุกวันนี้ โดยไม่เปิดเวทีให้มีการคิดค้นใหม่หรือวิเคราะห์ ผู้กล้าคิดค้นใหม่และวิเคราะห์โดยมากจึงต้องทำงานนอกระบบหรือ "ใต้ดิน" ดังนี้น่าละอายจริงๆ


3) ยุคฟาสซิสต์

ในยุค จอมพลแปลก (สงครามโลกครั้งที่ 2) หลวงวิจิตรวาทการ ได้นำประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นมาตามหลักจักรวรรดินิยมมาผนวกกับลัทธิคลั่งชาติของฟาสซิสต์ อิตาลี, นาซีเยอรมัน, และทหารนิยมของญี่ปุ่น

จะโทษท่านได้ยาก, เพราะยุคนั้น อิตาลี, เยอรมัน และญี่ปุ่น อยู่ในขาขึ้น และดูเหมือนกับว่าเป็นเจ้าของอนาคตในขณะที่จักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสอยู่ในขาลงอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม "ประวัติศาสตร์คลั่งชาติ" เป็นพิศกาฬกูฏที่ทำลายความสามัคคีที่แท้จริง แล้วสร้างสามัคคีเทียมโดยสมมติว่า ประเทศหนึ่งประกอบด้วยเชื้อชาติเดียว, ภาษาเดียว, วัฒนธรรมเดียว, ซึ่งไม่เป็นความจริง

ความคลั่งชาติ และการสอนประวัติศาสตร์เชื้อชาตินั้น เป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่สร้างความสับสน, ความแตกแยก และความระส่ำระสายให้สังคมโดยทั่วไป, และทำให้คนในสังคมจำนวนมากไม่สามารถ (หรือไม่กล้า ?) เผชิญหน้ากับความเป็นจริง


4) ยุคหลังสงครามโลก

ในยุโรป ลัทธิ "เชื่อผู้นำ" ของฟาสซิสต์ และลัทธิ "คลั่งชาติ" ของนาซี ถูกถอดรื้อโดยสิ้นเชิงจนไม่มีใครนับถือ, ไม่มีวันจะผุดจะเกิดอีก แต่ในเมืองไทยไม่เป็นเช่นนั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศนี้ถูกกระทำทารุณอย่างที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง นั่นคือ หลังสงครามไม่ช้าไม่นานเกิดสงครามเย็นขึ้นมา, ทำให้โลกตะวันตกต้องการ "ไทยแลนด์" (ไม่มี "สยาม" เสียแล้ว) เป็นสัมพันธมิตรที่เข้มแข็งฝ่ายขวาเพื่อต่อต้านกระแสคอมมิวนิสต์ในอุษาคเนย์

ดังนั้น "เสรีไทย" ถูกลบล้างจากความรับรู้ของประชาชน, ขบวนการเสรีนิยมถูกปราบปราม, ส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตยถูกวิสามัญฆาตกรรม, และ "ท่านผู้นำ" ในสงครามโลก, คือนายแปลกและพรรคพวก, ก็กลับสู่อำนาจอย่างสง่าผ่าเผยพร้อมทั้งลัทธิเผด็จการ และลัทธิคลั่งชาติ

ส่วนหลักสูตรประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการที่สอนอยู่ในโรงเรียนทั่วประเทศจนทุกวันนี้ ก็ยังเป็นประวัติศาสตร์เชื้อชาติ ตามหลักของพรรคนาซีเยอรมันครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2


5) ปัจจุบัน

ข้อคิดเหล่านี้ชวนให้สงสัยว่าเมืองไทยปัจจุบันยังเป็นโรคจิตเรื่องประวัติศาสตร์, เพราะไม่ยอมเผชิญหน้ากับความผิดพลาดทางปัญญาที่เกิดครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2

อย่าลืมว่าจักรวรรดินิยมคลาสสิค (อังกฤษ-ฝรั่งเศส) พังทลายสิ้นดีเมื่อเกือบ 60 ปีมาแล้ว คนไทยยังจะระแวงอีกหรือ ? ผมว่าจักรวรรดินิยมแนวใหม่ของสหรัฐน่ากลัวกว่ากันอีกแยะ

แต่นั้นมาประวัติศาสตร์ไทยจึงกลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ปิดเล่มเสียแล้ว ใครทักท้วงหรือสงสัยหรือคิดใหม่, ค้นใหม่, กลายเป็น "มิจฉาทิฐิ" ที่ต้องถูกเผาพริกเผาเกลือ, หรือต้องเป็น "อีแอบ" ทำงานใต้ดินเพราะรัฐไทยไม่เปิดเวทีให้


ความส่งท้าย

เป็นไปได้ไหมว่า รัฐบาลปัจจุบันที่มีคำขวัญว่า "คิดใหม่ทำใหม่" จะมีแก่ใจที่จะจี้ให้กระทรวงศึกษาธิการให้คิดใหม่บ้าง ?

อีโมหิณี แมวรักของผม, ฟังแล้วหัวเราะจนสำลัก "ไอ้ไมค์เอ๋ย", เธอว่า "ประวัติศาสตร์ไทยเป็นของรัฐมาแต่ไหนแต่ไร

ประชาชนไม่มีสิทธิ์จะเสือกรู้เห็น


ไมเคิล ไรท์
ฝรั่งมองไทย : มติชนสุดสัปดาห์
ปีที่ 24 ฉบับที่ 1258 [24-30 ก.ย. 2547]

ที่มา : http://mynoz.blogspot.com/2005/05/inter-disciplinary-studies-1-18-19-2.html

ไม่มีความคิดเห็น: