ผมรู้สึกฉงนอยู่เป็นนานว่า เหตุใดพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ซึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยกย่อง (ดูเหมือนจะ) มากที่สุดนั้น คือ ร.6
ก็ จอมพล ป. นั้นยืนยันตลอดมาจนถึงเมื่อสูญสิ้นอำนาจไปจากเมืองไทยว่าท่านเป็นคณะราษฎร แม้แต่ที่รัฐประหารตัวเองเพื่อนำเอารัฐธรรมนุญ พ.ศ.2475 กลับมาใช้ใหม่ ก็เพื่อยืนยันว่า ท่านไม่เคยทำลายรัฐธรรมนูญ ของคณะราษฎร (นัยยะก็คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ เสียอีกที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่หลังสงคราม เพื่อใช้แทนฉบับนั้น)
ที่ผมแปลกใจก็เพราะว่า จอมพล ป. นั้นเกิดทันรัชสมัย ร.6 และในบรรดาพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีทั้งหมด เห็นจะไม่มีพระองค์ใดที่ประชาชนในรัชสมัยจะไม่นิยมยินดีด้วยยิ่งไปกว่า ร.6 เพื่อความเป็นธรรมควรกล่าวด้วยว่า ความไม่นิยมนี้เกิดขึ้นทั้งจากพระราชจริยาวัตรส่วนพระองค์ และจากโครงสร้างของความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยของพระราชบิดา
การล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พอจะมองกันได้ออกมาตั้งแต่รัชกาลนี้แล้ว การที่พระราชอนุชาซึ่งได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมาทรงรู้ตั้งแต่ต้นว่าม่านของระบอบนี้กำลังปิดฉากลงในสยามก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง
แม้กระนั้น จอมพล ป. ก็เลือกที่จะยกย่องพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลนี้ไว้อย่างสูง รวมทั้งริเริ่มสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้นด้วย
อันที่จริง การยกย่องสรรเสริญ ร.6 อย่างที่เราเคยชินในทุกวันนี้ ล้วนเกิดขึ้นหลังจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สลายลงแล้วทั้งนั้น แม้แต่พระสมัญญานามว่า "พระมหาธีรราชเจ้า" ก็เกิดขึ้นจากกลุ่มนักเขียนรุ่นหนุ่ม (สำหรับสมัยนั้น) เนื่องจากพระองค์ทรงยกย่องกวี (นักเขียนชนิดหนึ่ง) และทรงมีงานเขียนของพระองค์เองเป็นจำนวนมาก
พระสมัญญานามนี้บ่งบอกคุณลักษณะของ ร.6 มากน้อยแค่ไหนคงเถียงกันได้ แต่ที่บ่งบอกอย่างชัดเจนคือสำนึกทางวิชาชีพแบบใหม่ (นักเขียน) ซึ่งเกิดขึ้นกับคนไทยบางกลุ่ม
แม้กระนั้น ผมยังคิดว่า ไม่ว่าคนอื่นๆ จะยกย่องสรรเสริญ ร.6 มากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่คนที่ทำให้การยกย่องกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของความเป็นชาติของไทย คือ จอมพล ป. อย่างปฏิเสธได้ยาก... ครับผมกำลังพูดว่า จอมพล ป. ผู้นำคนหนึ่งของคณะราษฎรเป็นผู้รับผิดชอบอย่างสำคัญ ในการสร้าง ร.6 ขึ้นมาเป็นวีรบุรุษของชาติไทย
แปลกดีนะครับ เพราะจอมพล ป. นั้นอยากให้คนอื่นมองท่านเหมือนจอมพลผู้เกรียงไกรในเชิงยุทธ์ ก็น่าจะยกย่อง ร.1 หรือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทมากกว่า ผมจึงได้ฉงนอยู่นานว่าเพราะเหตุใดท่านจึงเลือก ร.6
เหตุผลที่ท่านเองอ้างถึงก็คือ เพราะ ร.6 ทรงเริ่มสถาปนาลัทธิชาตินิยมให้แก่ไทย และอุดมการณ์ชาตินิยมของ ร.6 ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองปัญหาเฉพาะบางอย่างของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ก็ถูก จอมพล ป. นำมาใช้โดยแทบไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเลย ทั้งๆ ที่คณะราษฎรเป็นผู้ทำลายระบอบนี้ลงเพื่อสถาปนาระบอบ "ประชาธิปไตย" ขึ้น
ผมคิดว่าข้ออ้างของ จอมพล ป. นั้นฟังขึ้น เพราะชาตินิยมมีความสำคัญสำหรับท่านมาก และเพราะท่านเห็นว่าชาตินิยมแบบนั้นนั่นแหละที่เหมาะกับระบอบปกครองของท่าน
อย่างที่นักรัฐศาสตร์พูดกันมานานแล้วนะครับว่า ชาติ-นิยม ของ ร.6 นั้นเป็นชาตินิยมที่ยัดเยียดมาจากข้างบน หมายความว่าไม่ใช่สำนึกที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนในวงกว้างก่อน หากเป็นส่วนหนึ่งของพระบรมราโชบายที่มุ่งจะกำกับควบคุมความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
และด้วยเหตุดังนั้น อุดมการณ์ชาตินิยมของพระองค์จึงเน้นหรือให้ความสำคัญแก่พระมหากษัตริย์ แม้ความเป็นชาติจะประกอบด้วยสามสถาบัน แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นแกนกลาง ใครที่ไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัติรย์ ก็ย่อมไม่มีความรักชาติ
ชาตินิยมของ จอมพล ป. ไม่ได้แตกต่างไปจากนี้ เพียงแต่เปลี่ยนแกนกลางจากพระมหากษัตริย์มาเป็น "ท่านผู้นำ" เท่านั้น คำขวัญของยุคสมัยคือ "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย"
ชาตินิยมที่รับเอามาจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบนี้ เป็นอริกับหลักการประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมา (เป็นไปตามตรรกะของมันอย่างชัดแจ้งอยู่แล้ว) ดังที่ ร.6 ทรงต่อต้านระบอบรัฐสภาอย่างเปิดเผย (แม้แต่ในวารสารดุสิตสมิต)
ผมคิดว่ามีลักษณะสำคัญอยู่สองประการในชาตินิยมแบบนี้
ประการแรก ก็ดังที่กล่าวแล้วว่าหัวหน้าหรือผู้นำเป็นแกนกลางสำคัญของชาตินิยม ไม่ว่าเขาจะเป็นเจ้าหรือสามัญชนก็ตาม ชาติ คือกลุ่มคน และกลุ่มคนจะดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีความจงรักภักดีและความเคารพเชื่อฟังหัวหน้าเท่านั้น เพราะถ้าต่างคนต่างมุ่งหาประโยชน์ส่วนตัว ก็จะเกิดความแตกแยกจนส่วนรวมพังพินาศไป การเคารพเชื่อฟังหัวหน้าจึงเท่ากับเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
เพราะหัวหน้าย่อมมองแต่ประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น โดยไม่มีประโยชน์ส่วนตัวอยู่ในหัวสมองเลย
ข้อนี้แหละครับที่ทำให้หัวหน้าซึ่งไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินอันสืบราชสันตติวงศ์มานานอึดอัด เนื่องจากในวัฒนธรรมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยค่อนข้างจะไม่ถามถึงประโยชน์ส่วนตัวของพระมหากษัตริย์ (ซึ่งถูกถือว่าเป็น "หลวง" - คือสาธารณะ) แต่ไม่ค่อยเชื่อว่าคนอื่นๆ จะไม่มีประโยชน์ส่วนตัว
ผมคิดว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้ จอมพล ป. ต้องสร้าง "ลัทธิพิธีบูชาบุคคล" ขึ้นสำหรับตัวท่านเอง เช่นให้ยืนเคารพผู้นำเมื่อมหรสพจะเลิก หรือให้หนังสือพิมพ์พิมพ์ข้อความ "ประณามพจน์" แก่ท่านไว้บนหนังสือทุกวัน หรือการเป็นผู้นำทางวัฒนธรรม เข้าไปกำกับการดำเนินชีวิตของประชาชนไปเสียตั้งแต่เช้าจรดเย็น
นี่เป็นกลวิธีอันหนึ่งเมื่อเลือกที่จะรับเอาชาตินิยมของสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาใช้ในระบอบเผด็จการ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้เสมอไป ยังมีกลวิธีอื่นๆ ที่ระบอบเผด็จการไทยใช้อีกหลายอย่าง เช่นแสดงความรวยล้นฟ้า เพราะมีความเชื่อกันว่าคนรวยย่อมไม่โกง (เดี๋ยวนี้ยังเชื่ออยู่หรือไม่ก็ไม่แน่ใจเสียแล้ว) แสดงความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยนัยยะต่างๆ เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แสดงอาการยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์อย่างสุดซึ้ง บางคนอ้างการเป็น "คนของในหลวง" ที่เรียกกันว่านายกฯ พระราชทาน ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาของชาตินิยมที่ไม่มีชาติ มีแต่หัวหน้าซึ่งรับสืบทอดมาจากชาตินิยมของสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง
ประการที่สอง ชาตินิยมแบบนี้ต้องมีวิกฤตเสมอ ถ้าไม่มีก็ต้องสร้างให้มันมี เพราะวิกฤตเกี่ยวข้องกับการนับถือหัวหน้า
พระบรมราชาธิบายของ ร.6 แก่เสือป่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ กลุ่มคนที่ไม่เคารพเชื่อฟังหัวหน้า ย่อมไม่สามารถต่อสู้ป้องกันตนเองจากการคุกคามจากภายนอกได้ ในที่สุดก็ย่อมแตกสลายไป
อันที่จริง ในสมัย ร.6 ภัยคุกคามจากภายนอกต่อประเทศสยามเกือบจะเท่ากับศูนย์ เพราะมหาอำนาจได้ทำสนธิสัญญาประกันเอกราชของสยามไว้แน่นหนาพอสมควรแล้ว
สิ่งที่อาจนำความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงมาสู่สยามได้คือ "กบฏเก๊กเหม็ง" (ปฏิวัติจีน) และ "บอลเซวิค" ในรัสเซีย แต่ทั้งจีนใหม่และรัสเซียใหม่ไม่มีทั้งเจตนาหรือความสามารถที่จะคุกคามสยามได้ สิ่งที่อาจถูกคุกคามคือตัวสถาบันพระมหากษัตริย์ของสยามต่างหาก และการคุกคามถ้าจะมีก็มาจากภายในไม่ใช่ภายนอก
ชาตินิยมของ ร.6 จึงเป็นชาตินิยมที่มุ่งจะปกป้องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ไม่ใช่ปกป้องชาติ แต่ภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยมแบบนี้ เราแยกสองอย่างนี้ออกจากกันไม่ได้อยู่แล้ว พระราชนิพนธ์ของ ร.6 จึงสามารถทำให้วิกฤตของสถาบันกลายเป็นวิกฤตของชาติไปได้
วิกฤตจากภายนอกในสมัยจอมพล ป. เป็นเรื่องจริงกว่า เพราะโลกกำลังย่างเข้าสู่มหาสงครามเอเชียบูรพา และภายใต้บรรยากาศตึงเครียดเช่นนี้แหละ ที่จอมพล ป. สามารถผลักดันชาตินิยมไปได้อย่างกว้างขวาง ทั้งผ่านสื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์และวัฒนธรรมรัฐ
จอมพลสฤษดิ์ใช้ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ (ซึ่งจำแลงรูปออกมาเป็นจีนบ้าง เวียดนามบ้าง)
โลกาภิวัตน์และความล่มสลายของเศรษฐกิจใน 2540 ก็อาจเป็นโอกาสให้ชาตินิยมแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เฟื่องฟูได้อีก เค้าลางของชาตินิยมแบบนี้ก็พอจะเห็นๆ กันอยู่ ทั้งจากธงชาติที่ให้ชักกัน 24 ชั่วโมง จากคำถามแก่ผู้คัดค้านผู้นำว่า "คนไทยหรือเปล่า" และจากความเป็นหมันของบัญญัติในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา
คนที่ไม่ชอบจอมพล ป. เอามากๆ มักพยายามแยกชาตินิยมของจอมพล ป. ออกจากชาตินิยมของ ร.6 แต่ที่จริงแล้วชาตินิยมของจอมพล ป. สืบเนื่องอย่างแยกไม่ออกจากชาตินิยมของ ร.6 เพราะที่จริงก็เป็นอุดมการณ์เดียวกัน นั่นก็คือ โดยจิตวิญญาณแล้วเป็นชาตินิยมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพียงแต่เอามาปรับให้เข้ากับระบอบเผด็จการหรือระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ประชาธิปไตยเท่านั้น
อันที่จริงชาตินิยมไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่โฆษณาตามสื่อและรัฐพิธีต่างๆ หรือที่สอนในแบบเรียน ก็แยกไม่ออกจากชาตินิยมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีองค์ประกอบอันเดียวกับครบสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเน้นผู้นำ, เน้นวิกฤตจากภายนอก, เป็นอริกับหลักการประชาธิปไตย, ประชาชนไม่มีความสำคัญ, ให้ความสำคัญแก่การเน้นความลดหลั่นของสถานภาพ, นับถือฝรั่ง (เพราะฝรั่งประกันความมั่นคงของทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น แต่อาจไม่ประกันบูรณภาพทางดินแดนของชาติ) ฯลฯ
ผมเชื่อว่าชาตินิยมที่แท้จริงนั้นต้องเป็นประชาธิปไตยด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สืบมาจนถึงทุกวันนี้ เรามีแต่ชาตินิยมสมบูรณาญาสิทธิ์ แต่ไม่เคยมีชาตินิยมประชาธิปไตยเลย
ถ้าเรามุ่งจะเดินไปสู่สังคมประชาธิปไตย ก็หลีกไม่พ้นที่เราต้องสร้างชาตินิยมที่แท้จริงขึ้นพร้อมกัน
นิธิ เอียวศรีวงศ์
มติชนรายสัปดาห์
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1279
ที่มา : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q1/article2005february18p12.htm
วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
ชาติ-ประชาธิปไตย
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 2:38 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น