วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

“สามทรราช” ไม่ใช่ผู้จุดชนวน ๑๔ ตุลา


ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เมื่อผมพาตัวเองเดินสะโหลสะเหลด้วยความอ่อนเพลียจากการนอนและใช้ชีวิตกลางแจ้งในที่ชุมนุมติดกันหลายวันหลายคืน ไปนั่งรถเมล์กลับบ้าน เพราะคิดว่าทุกอย่างจบแล้ว โดยคลาดกับการปะทะกันที่กำลังเริ่มขึ้นบริเวณรอบสวนจิตร (ผมค้างคืนในวัดเบญจ แล้วเดินกลับไปทางพระรูปทรงม้า การปะทะอยู่อีกทางหนึ่งด้านสวนจิตร) - - ตั้งแต่เช้ามืดวันนั้นเป็นต้นมา ผมไม่เคยหยุดคิด หรือตั้งคำถามว่า การปะทะในเช้าวันนั้น (ซึ่งแน่นอนผมไม่เห็นเอง) เกิดขึ้นได้อย่างไร นี่เป็น ๑ ใน ๒ หรือ ๓ ปริศนา เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ที่ผมคิดอยู่เสมอ อีก ๑ คือ “ความเข้าใจผิด” ระหว่างเสกสรรค์ กับคณะกรรมการศูนย์นิสิตในคืนวันที่ ๑๓-๑๔ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ในช่วงปี ๒๕๒๗-๒๘ ระหว่างกลับมาเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ที่เมืองไทย ผมได้สัมภาษณ์อดีตผู้นำนักศึกษาหลายคน และเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการนักศึกษา, ขบวนการฝ่ายซ้าย และพรรคคอมมิวนิสต์ จำนวนมาก หนึ่งในเป้าหมายของการเก็บข้อมูลคือความพยายามจะแก้ “ปริศนา” ๒-๓ ข้อเกี่ยวกับ ๑๔ ตุลาที่ว่า เมื่อผมกลับไปเขียนวิทยานิพนธ์ที่เมืองนอก ก็ใช้เวลาคิดเรื่องพวกนี้จากพื้นฐานของข้อมูลที่ได้ จนคิดว่า ตัวเองได้ข้อสรุปบางอย่าง ตั้งใจว่ากลับเมืองไทยแล้วจะเขียนเผยแพร่

แต่เมื่อกลับเมืองไทยประมาณ ๑๐ ปีที่แล้วจริงๆ ผมเคยเปรยๆเล่าไอเดียนี้ให้เพื่อนบางคนฟัง โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ความเข้าใจผิด” ระหว่างเสกสรรค์กับกรรมการศูนย์ เพื่อนบางคนแย้งว่า ไม่น่าเขียนออกมา เพราะข้อสรุปไม่เป็นผลดีแก่ “พวกเรา” เท่าไร ผมจึงระงับไม่เขียน ทั้งๆที่ตั้งชื่อบทความไว้แล้วตั้งแต่ตอนนั้น คือเมื่อ ๑๐ ปีก่อน ด้วยซ้ำ (ชื่อ “วันตัดสินใจ: เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กับกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๖” ใครที่สนใจเรื่องนี้จริงๆ อาจจะพอนึกได้ว่า ชื่อที่ตั้งไว้นี้เป็นการ “ตอบ” ต่อชื่อบทความที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ของเสกสรรค์ชื่อ “คืนแห่งชะตากรรม”) เมื่อ ๒ ปีก่อน ตอนหนัง “คนล่าจันทร์” ออกฉาย ผมก็คันไม้คันมือ อยากเขียนเรื่องนี้ แต่ก็พักไว้อีก

สำหรับปริศนาเรื่องการปะทะที่สวนจิตรนั้น ผมไม่คิดว่าจะไม่เป็นผลดีต่อ “พวกเรา” อะไร เมื่อไม่กี่ปีก่อน เมื่อมีโอกาส ผมจึงนำมาเขียน แต่เป็นการเขียนในลักษณะที่ “ซ่อน” อยู่ในบทความขนาดยาวที่อภิปรายเรื่องอื่น (คือบทความชื่อ “การชำระประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลา ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เนชั่นสุดสัปดาห์ พฤษภาคม ๒๕๔๒ รวมพิมพ์ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ส่วนที่พูดเรื่องนี้อยู่ที่หน้า ๗๒-๘๓ ความจริงเรื่อง “ความเข้าใจผิด” ระหว่างเสกสรรค์กับศูนย์นิสิต ผมก็พูดถึงแบบผ่านๆในบทความนั้นเหมือนกัน แต่ขนาดนั้น ก็ยังทำให้บางคนไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไร ถึงกับมาพูดติงๆกับผมด้วยตัวเอง)

หลังจากเขียนบทความที่ว่าไปแล้ว ผมก็ยังคิดเรื่องนี้ต่อเป็นระยะๆ และเคยคิดหลายครั้งว่า ความจริงน่าจะหยิบเฉพาะประเด็นการปะทะมาเขียนเป็นบทความแยกต่างหาก ไม่ใช่เพราะผมเปลี่ยนใจหรืออะไร อันที่จริง ในระยะหลัง ผมรู้สึกค่อนข้างมั่นใจมากขึ้นในข้อสรุปที่ผมเขียนไปอย่าง “ซ่อนๆ” ในบทความนั้นด้วยซ้ำ


ปริศนาการปะทะหน้าสวนจิตร

เป็นธรรมดา ที่ผมจะรู้สึกตาโตสนใจ เมื่อเทพมนตรี ลิมปพยอม ออกมา “เปิดตัวหนังสือ” เกี่ยวกับ ๑๔ ตุลา โดยโฆษณาว่า มีข้อมูลหรือการตีความใหม่ที่สามารถแก้ปริศนาต่างๆของเหตุการณ์นั้นที่ผมคิดอยู่หลายปี ผมออกจะผิดหวังที่ การ “เปิดตัวหนังสือ” ที่ว่านี้ ไม่มี “ตัวหนังสือ” จริงๆ เพราะยังไม่เสร็จ! (ผมอุตส่าห์โทรไปถามเทพมนตรี ได้รับคำตอบว่า จะเสร็จราวต้นพฤศจิกายน) ผมไม่ต้องการวิจารณ์ “หนังสือ” ของเทพมนตรี โดยไม่ได้อ่านตัวหนังสือ หรือโดยอ่านเฉพาะจากที่เป็นรายงานการแถลงข่าวในหนังสือพิมพ์ (ซึ่งเท่าที่อ่านมีหลายประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วย และคิดว่าไม่ยากที่จะวิจารณ์ให้ตกไป) แต่ที่จะทำในที่นี้ คือกล่าวซ้ำ ถึงข้อสรุปของผมเองต่อเหตุการณ์ปะทะหน้าสวนจิตร โดยจะเชื่อมโยงให้เห็นว่า ทำไมผมจึงคิดว่า “ข้อมูล-การตีความใหม่” ของเทพมนตรีในกรณีนี้

มีความเป็นไปได้อยู่ ๔ ทาง คือ

(๑) สามทรรราชตั้งใจทำให้เกิดการปะทะ

(๒) สามทรราชทำให้เกิดการปะทะแบบไม่ตั้งใจ

(๓) กลุ่มอื่นตั้งใจทำให้เกิดการปะทะ

(๔) กลุ่มอื่นทำให้เกิดการปะทะแบบไม่

หรือเราอาจจะสรุปว่า มีวิธีมองได้ ๒ ทาง คือทางด้านผู้กระทำ และทางด้านเจตนา


ปัญหาใครทำให้เกิดการปะทะหน้าสวนจิตรสำคัญอย่างไร?

ประเด็นนี้ก็แล้วแต่จะมองอย่างไร ผมขอเสนอสั้นๆ (เช่นเดียวกัน ถ้ายาวต้องเขียนเป็นบทความ) ว่า นอกจากในแง่ของการหาความจริงว่าใครทำอะไร เหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไรแล้ว กรณี ๑๔ ตุลา มีเรื่องชวนให้คิด ว่าถ้าไม่เกิดการปะทะหน้าสวนจิตร จะเกิดอะไรขึ้น? จะมี “๑๔ ตุลา” แบบที่เรามีในปัจจุบัน? จะเกิดขบวนการนักศึกษาแบบที่เกิดในช่วง ๓ ปีหลังจากนั้น? ฯลฯ ฯลฯ ในวงวิชาการปรัชญาทั่วไป และปรัชญาประวัติศาสตร์ มีการถกเถียงปัญหาเรื่องนี้อยู่ คือเกี่ยวกับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว หลีกเลี่ยงได้หรือไม่ได้เพียงใด สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นสิ่งเดียวที่สามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ มีคำพูดเล่นๆว่า ถ้าเราเขียนประวัติศาสตร์ด้วย if หรือ what if . . .? ได้ เราก็เขียนอะไรก็ได้ หรือการตั้งคำถามประเภทนี้เป็นเพียง game อย่างหนึ่ง ความจริง ความเป็นไปได้ มีข้อจำกัด ไม่ใช่ไม่มีที่สิ้นสุด (not indefinitely) การคิดเรื่องพวกนี้ อย่างน้อยที่สุดมีประโยชน์ในแง่ที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องที่ได้เกิดจริงๆมากขึ้น ในห้องสมุดรัฐศาสตร์ ม.ธ. มีหนังสือเล่มไม่หนานักเล่มหนึ่งชื่อ Plausible Word (ซึ่ง Richard Rorty แสดงความชื่นชม) เขาหยิบเอาเหตุการณ์ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก ๒-๓ เหตุการณ์ มานำเสนอใหม่ ว่าจริงๆแล้ว อาจจะแบบอื่น แบบที่ไม่ได้เกิดจริงๆก็ได้ ที่ห้องสมุดกลางก็ดูเหมือนจะมีหนังสือทำนองนี้อยู่เล่ม ๒ เล่ม (เล่มหนึ่งดูเหมือนจะขึ้นชื่อว่า What if . .? ด้วย) ผมเคยอ่านบทความทางปรัชญาประวัติศาสตร์ เรื่องหนึ่งที่เสนออย่างน่าสนใจว่า ความจริง นักประวัติศาสตร์ทุกคน เวลาเขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ล้วนมีสมมุติฐาน โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดอยู่ เพราะฉะนั้น ความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ในทางอื่น เป็นองค์ประกอบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเขียนหรือเข้าใจประวัติศาสตร์อยู่แล้ว . . .

ทำไมจึงมีการ "เปิดวัง" รับนักศึกษาในเช้าวันนั้น? ความจริง ถ้าผู้เขียนตั้งใจจะยกเรื่องนี้เพื่อพูดถึง "พระมหากรุณาธิคุณ" ในเช้าวันนั้น น่าจะยกให้หมด เพราะที่พูดกัน มีมากกว่านั้น คือ ไม่เพียงแต่ทรงเปิดให้นักศึกษาเข้าไป แต่ยังทรงสั่งให้ตำรวจรักษาความปลอดภัยทุกคน "ปลดอาวุธ" (ผมไม่แน่ใจ บ้างว่า ไม่ถือปืน บ้างว่า ปลดกระสุนออก) เรื่องนี้กลายเป็น "ตำนาน" เล่าขานกันไม่น้อย นอกจากงานของวสิษฐแล้ว ในพระราชบันทึกความทรงจำที่เขียนให้นายทหารหนุ่มผู้หนึ่งที่เสียชีวิตกระทันหันตอนต้นทศวรรษ 2520, พระราชินี ก็ทรงเอ่ยถึงเรื่องนี้ (เรื่องในหลวงสั่ง ปลดอาวุธ ซึ่งทำให้พระองค์ท่านรู้สึกตกใจไม่น้อย โชคดีที่นายทหารผู้นี้รีบมา ทำให้ท่านรู้สึกเบาพระทัยลง) ประมาณปี 2537 ผมเคยไปบรรยายที่ รร.นายร้อย ได้ร่วมโต๊ะเสวยกับสมเด็จพระเทพ คุยรื้อฟื้นเรื่องเก่าๆสมัยนั้น ตามประสาคนยุคนั้น พระเทพก็ทรงยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีก (เรื่องรับนักศึกษา, ทรงสั่งปลดอาวุธ)

ผมต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ ผมไม่ได้คิดเรื่องนี้บ่อยนัก หรือถ้าคิด ก็หาคำอธิบายไม่ได้ (โปรดสังเกตว่าผมไม่เคยเขียนถึงเลย) . . . จนเมือ่ไม่กี่วันมานี้เอง

คำอธิบายมาตรฐานในเรื่องนี้คือ ทรงเปิดวัง ให้นักศึกษาหนีการปราบปรามของตำรวจในเช้าวันนั้น ดูภายนอกก็เหมือนเป็นเช่นนั้น . .

จนเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมเกิดนึกขึ้นมาว่า อันที่จริง "การอ่าน" แบบนี้ ไม่ได้มีหลักฐานมารองรับจริงๆเลย แม้แต่น้อย ผมหมายความว่า ที่จริง ไม่เคยมีรับสั่งว่า ทรงให้นักศึกษาเข้ามา หลบการปราบของตำรวจ

ผมเชื่อว่า ทรงเปิดวัง เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาหลบแน่ๆ แต่ระหว่าง การเปิดให้หลบ กับ การเปิดให้หลบการปราบของตำรวจ มีความแตกต่างอย่างมหาศาล และขอย้ำว่า การตีความแบบหลังนี้ ไม่มีหลักฐานรองรับแต่อย่างใด

ในทางกลับกัน มีทางอธิบายอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมรู้สึกว่าจะ "ฟิต" มากกว่า เรื่องนี้โยงถึงอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมก็หาคำอธิบายไม่ค่อยได้ คือระหว่างการสัมมนา 14 ตุลาที่น่าน มีการเล่ากันถึงเรื่องการเข้าเฝ้า และการกราบบังคมทูลถามของผู้นำนักศึกษา . . . (น่าเสียดายว่า ผมอยากจะบอกให้ไปอ่าน ฟ้าเดียวกัน ฉบับหลังสุด แต่อ่านก็คงไม่ได้อะไรเพราะตรงนี้ต้องเซ็นเซอร์ออก)

คือ สมมุติว่าเป็นไปได้อย่างนี้หรือไม่ว่า ในหลวง ทรงมีทัศนะไม่ต่างจากชนชั้นนำในสังคมไทยทั่วไป ที่มองว่า ในหมู่นักศึกษา มี "คนกลุ่มน้อย" ที่ "แฝงตัวอยู่" และพวกนี้ จะเป็นตัวการชอบคอยก่อนเรื่องวุ่นวายขึ้น . . (โปรดสังเกตว่า ความเห็นที่ 22 ก็สะท้อนการมองแบนี้ เมื่อพูดถึงถ้ามี พคท.แฝงตัวเข้าไปอะไรทำนองนี้) และทรงอธิบายเหตุที่เกิดขึ้นที่หน้าสวนจิตร ว่าเป็นการปะทะระหว่างพวกนี้กับตำรวจ?

การเปิดวังจึงเป็นการเปิดให้นักศึกษาผู้บริสุทธิ์ส่วนใหญ่ หลบการปะทะนี้ ระหว่างตำรวจกับคนพวกนี้เท่านั้น . . . (อันที่จริง นอกจากเรื่องที่เล่ากันที่น่าน ที่เอ่ยข้างต้นแล้ว ผมยังมี "เกร็ด" ที่เล่าๆกัน ในหมู่ผู้ทำงานด้านข่าวกรองของนักศึกษาอีก แต่ต้องเซ็นเซอร์เช่นกัน เพียงแต่อยากจะตั้งข้อสังเกตว่า พวกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ ถ้ามองจากมุมมองของคำอธิบายอย่างใหม่นี้ ฟังดู "ลงตัว" ไม่น้อย)


สรุป ผมเห็นว่า เช้าวันนั้น ทรงเปิดวังให้นักศึกษาหลบเข้าไปจริงๆ แต่ผมไม่คิดว่า หรือ มีหลักฐานว่า ทรงมี perception ว่า เป็นการเปิดให้หลบการปราบปรามของตำรวจแต่อย่างใด (อันที่จริง concept "การปราบปรามของตำรวจ" นี้ไม่น่าจะอยู่ใน perception ทั่วไปของพระองค์ท่าน)

ดังที่กล่าวแต่ต้นว่า การมองการปะทะ สามารถมองจากมุมของผู้กระทำก็ได้ หรือจากมุมของเจตนาก็ได้

ในมุมมองด้านเจตนา เราควรพิจารณาลักษณะของการปะทะว่า น่าจะเกิดขึ้น อย่างมีการวางแผน (ที่ผมใช้คำว่า "ตั้งใจ") หรือ เกิดขึ้นอย่างไม่มีการวางแผน

เป็นความเข้าใจผิดของคนทั่วไป ว่า การปะทะ เกิดจาก ตำรวจ (การปะทะไม่มีทหารเกี่ยวเลย อันนี้สำคัญเหมือนกัน เหมือนการเข้าปราบเช้าวันที่ ๖ ตุลา) ปิดทางเดินหน้าสวนจิตร ทำให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านไม่ได้

ความจริงคือ การ "ปิด" นี้ไม่ใช่ การปิดทั้งหมด เป็นการปิด ไม่ให้เดินบนถนน แต่เปิดให้ทะยอยเดินไปตามฟุตบาทได้

และที่สำคัญอีกอย่างคือ ถ้าไม่นับการปิดถนน ที่จุดนี้ (ซึ่งอยู่บริเวณประตูหน้าวังสวนจิตรพอดี) ผู้ชุมนุมสามารถเดินไปทางอื่นทางไหนก็ได้

เราลองนึกดูว่า ถ้าการปิดถนนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการ ที่จะทำให้เกิดการปะทะ เพื่อนำไปสู่การจลาจลและการปราบ ผู้วางแผนจะตรัสรู้ได้ยังไงว่า จะเกิดการปะทะ?

สามัญสำนึกบอกว่า การปิดถนนลักษณะนี้ ไม่ใช่ปิด เพื่อประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น เพราะถ้าเพื่อปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมไปที่ใดต่อ ทำไมไม่ปิดเส้นทางอื่นด้วย ทำไมไม่ปิดเสียให้หมด ตลอดทั้งฟุตบาท(ผมนึกเหตุผลได้อย่างเดียวเท่านั้นของการปิดแบบนี้ หวังว่าคนอื่นคงนึกออก)

ถ้านี่เป็นการวางแผน ("จงใจ") ให้เกิดการปะทะ ผู้วางแผนก็ต้องเสี่ยงมากว่า จะไม่เป็นไปตามแผน เช่นผู้ชุมนุม อาจจะยอมเดินทะยอยตามฟุตบาทแต่โดยดี หรือไม่ก็หันหลังกลับไปทางอื่น (ถ้าจะเถียงว่า อาจจะมีการวาง "ตัวก่อกวน" ทำให้คนไม่พอใจอยากเดินกลับทางนี้ให้ได้ คำถามก็ยังมีว่า ถ้าจะจงใจปิด เพื่อทำให้คนโมโห แล้วก่อกวนซ้ำ ทำไมไม่ปิดเสียให้ตลอดฟุตบาท?)

ผมคิดว่า ข้อสรุปที่เป็นไปได้มากที่สุดมีอยู่ทางเดียวคือ ใครก็ตามที่สั้งให้ปิดถนนแบบนี้ สั่งเพื่อเหตุผลอย่างอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับการต้องการให้ปะทะ แต่แล้ว โดยไม่ตั้งใจ คือโดยที่คนสั่งเองก็คาดไม่ถึง กลับเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น จนนำไปสู่การปะทะ

แต่แน่นอน เมื่อเริ่มมีการปะทะแล้ว จะต้องมีการออกคำสั่ง หรือ "ไฟเขียว" ให้ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา และกระบอง รวมทั้งปืนได้ คนที่ออกคำสั่งนี้ ก็น่าจะเป็นคนเดียวหรือกลุ่มเดียว กับที่ออกคำสั่งเรื่องการปิดกั้นแบบนี้แต่ต้น เพียงแต่ว่า ตอนเขาสั่งปิดกั้นถนนแบบนี้ เขาไม่ได้คิดว่าจะนำมาซึ่งการปะทะ แต่เมื่อนำมาซึ่งการปะทะแล้ว ด้วย mentality แบบเดียวกับคำสั่งปิดถนนแบบนี้ตอนแรก เขาก็สั่ง หรืออนุญาตให้ตำรวจ respond ด้วยความรุนแรงได้

พูดจริงๆ แล้ว ขณะที่ผมเห็นว่า คำสั่งนี้อาจจะมาจาก ประภาส หรือ "สามทรราช" (คือความเป็นไปได้ที่ ๒ ในตารางข้างต้น) ผมค่อนข้างรู้สึก ไม่ make sense ที่ประภาส จะต้องมา ยุ่งกับเรื่องหยุมหยิมขนาด การปิดถนน ที่ไกลกับที่ตั้งสวนรื่นขนาดนี้


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


เพิ่มเติม
จากเรื่องเดียวกันโดยเจ้าของบทความ

การตัดสินใจเรื่องเปิดฟุตบาธแค่ไม่กี่ฟุต เพื่อให้คนเดินผ่านได้เพียงทีละ 2-3 คน ซึ่งทำให้เกิดภาวะ "แจม" กัน ทำให้ความเหนื่อนล้า อารมณ์ที่ตึงเครียด ฯลฯ เพิ่มสูงขึ้นๆ จนระเบิด.. การตัดสินใจ "จัดการจราจร" แบบเขลาเช่นนั้น (คือแทนที่จะเพียงแค่เปิดรั้วเหล็ก แนวกั้น ให้คนเดินกลับกันไปเท่านั้นก็สิ้นเรื่องเรื่อง) - - การตัดสินใจเช่นนั้น ผมคิดว่า มาจากนายตำรวจที่อยู่ที่จุดน้น เป็นการตัดสินใจระดับเจ้าหน้าที่ (น่าจะเป็นมนต์ชัยนั่นแหละ) - - แต่เจ้าหน้าทีนั้น ไม่ได้ขึ้นต่อสามทรราช (อย่างค่อนข้างแน่นอน) นั่นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง "วิธีคิด" หรือ "สาเหตุ" ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจเช่นนั้น ก็มาจากความต้องการที่จะ protect เจ้านาย (ไม่ใช่ protect สามทรรราช ในแง่ที่วศิษฐ์ ออกมาพูดทำนองว่า ไม่ต้องการให้คนไปสวนรื่น เพราะ จริงๆคือเปิดทางให้เดิน แต่ให้เดินทีละ 2-3 คนอย่างที่บอก ถ้าไม่ต้องการให้ไปสวนรื่นเลย ต้องไม่ให้มีการเดินผ่านเลย) คือ มาจากความกลัวจนขึ้นสมอง ว่าถ้าปล่อยให้คนเฮ เดินผ่านทางนั้นทีละเป็นพันๆหมื่นๆคน จะ "อันตราย" วิธีคิดอย่างนี้ ก็ถูกกำหนดมาจากอะไรบางอย่างเช่นกัน...

แน่นอน ในย่อหน้าที่พูดเมื่อครู่ มีคนเสนอยิ่งกว่านี้อีก คือ เชื่อว่า ไม่ใช่เพียงการตัดสินใจระดับเจ้าหน้าที่ (อย่างมนต์ชัย) เท่านั้น... ผมไม่อธิบายมากในทีนี้ (ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้.. ถ้าบางคนสงสัยว่า แหมระดับสูงกว่ามนต์ชัยจะมาคิดเรื่อง "เล็กๆ" แบบนั้น เพราะ ก.ก่อนอื่นไม่ใช่เรื่อง "เล็ก" ในบริบทขณะนั้น และ ข.ช่วงนั้น ระดับเหนือกว่ามนต์ชัยทุกคนตื่นตัวติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด อันนี้มีหลักฐานในบันทึกต่างๆอยู่ ถ้าถึงกับเป็นคนตัดสินใจให้มนต์ชัย ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้) แต่ถ้าพูดในส่วนตัว ผมยังออกจะเชื่อว่า ไม่น่าถึงระดับอื่น และในที่สุด เป็นเรื่องการตัดสินใจแบบ "งี่เง่า" (คือเป็นอุบัติเหตุ) ไม่ใช่เรื่องการจงใจ วางแผน สร้างสถานการณ์ให้ระเบิด (แต่ในสมัยก่อน พวกเราไม่มีใครเชื่อเรื่องอุบัติเหตุ)

ประเด็นทหารยิงประชาชน การปะทำที่ตามมาในวันนั้น ที่ราชดำเนิน สนามหลวงนั้น เป็นเรื่องของทหาร เป็นคนละเรื่องกันแล้ว แต่อันนั้น ก็เพราะมาจากการ ได้ข่าวการปะทะที่สวนจิตร สามทรราชจึงสั่งให้ deploy ทหาร "ในส่วนของประชาชน ก็นึกว่า สามทรรราช เป็น คน สั่งให้ตำรวจตีที่หน้าสวนจิตร" ทำให้มีคนตาย-บาดเจ็บ (ลือว่าตาย ดูเหมือนในที่สุดมีการเช็คว่าหน้าสวนจิตรไม่ถึงกับมีการตาย แค่เจ็บ) ผมจึง ไม่ได้ บอกว่า "สามทรราชไม่ใช่ผู้ปราบปราบประชาชนเมื่อ 14 ตุลา" (ปราบจริงที่ราชดำเนิน) เพียงแต่พูดว่า ไม่ใช่ ผู้จุดชนวน 14 ตุลา (และไม่ใช่ผู้ที่รับผิดชอบต่อการปราบปราบแรกสุด ในแง่ทำให้คนเจ็บหรือตายตอนเช้า)

การวิเคราะห์ที่ว่ามาทั้งหมด ไม่ใช่การพูดในเชิงความรับผิดชอบใหญ่ หรือไม่ใช่ (อย่างที่บางคนเคยบอกให้ผมฟัง) ในเชิงปฏิเสธการวิเคราะค์ในแง่ทำนอง "ก้อถ้าไม่มีระบอบสามทรราชเป็นแบ็กกราวน์..." อะไรทำนองนั้น เป็นเพียงความพยายามเข้าใจ ในแง่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

กรณีอย่างหน้าสวนจิตรฯ หากเป็นประเทศประชาธิปไตย หรือมีการสอบสวนอย่างตรงๆไปตรง เจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง (น่าจะมนต์ชัย) จะต้องได้รับการลงโทษแน่นอน (อย่างน้อยคือ ลดขั้น ไม่เลื่อนขั้น หรือไม่ก็ทำโทษ) แต่ความจริง คือ มนต์ชัยได้รับการเลื่อนขั้นเมื่อสัญญา "นายกฯพระราชทาน" ขึ้นเป็นนายกฯ (อ้างว่า รบ.ก่อนชงเรื่องไว้แล้ว ต่อให้จริง ก็หยุดเรื่องได้ ไม่ต้องเลื่อนตาม) และหลัง 6 ตุลา ก็ได้รับแต่งตั้งจาก "รบ.พระราชทาน" อีกชุด (ธานินทร์) ให้เป็น อตร.


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มาของบทความ : http://www.sameskybooks.org/webboard/show.php?Category=sameskybooks&No=3660

ไม่มีความคิดเห็น: