อีกไม่กี่วันก็จะถึงโอกาสจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่ปัจจุบันเรียกว่างาน “๕ ธันวา มหาราช” (ชื่อที่เกิดหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา) อีก ดังที่ผมได้ชี้ให้เห็นในบทความเรื่อง “ประวัติศาสตร์วันชาติไทย” (ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒, เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๗), ในสมัยสมบุรณาญาสิทธิราช งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นงานที่ทางราชการให้ความสำคัญมากที่สุด มีการจัดงานมหรสพ ประดับประดาประทีปโคมไฟ อย่างเอิกเกริกในพระนคร เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสมัยรัชกาลที่ ๗ จึงให้งดจัดเป็นการชั่วคราว แต่เมื่อคณะราษฎรขึ้นมามีอำนาจ การงดชั่วคราวนี้จึงกลายเป็นเรื่องถาวรไป คือรัฐบาลใหม่ไม่ได้จัดให้มีขึ้นอีก แต่หันไปให้ความสำคัญกับการจัดงาน ๑๐ ธันวา “วันรัฐธรรมนูญ” ในฐานะงานที่สำคัญที่สุดของทางราชการในแต่ละปี โดยมีกิจกรรมต่างๆ (มหรสพ, ประดับประดาโคมไฟ, ฯลฯ) ในลักษณะเดียวกับที่รัฐบาลก่อน ๒๔๗๕ เคยจัดให้มีขึ้นในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในช่วงสั้นๆในครึ่งแรกของทศวรรษ ๒๔๘๐ ก็เปลี่ยนไปให้ความสำคัญและจัดงานในลักษณะนี้ กับ “วันชาติ ๒๔ มิถุนายน” แทน (แม้ว่ายังมีงาน ๑๐ ธันวา อยู่ในระดับที่เล็กลงมากว่างานวันชาติ) เมื่อเกิดสงคราม งานรื่นเริงเฉลิมฉลองกลางแจ้งทั้งหมดก็งดไปชั่วคราว แต่พอหลังสงคราม โดยเฉพาะหลัง ๒๔๙๐ รัฐบาลก็กลับไปให้ความสำคัญกับงาน ๑๐ ธันวา ในฐานะงานเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดของปีอีก งาน ๑๐ ธันวา ในช่วงนี้จะรวมเอางานกาชาดฤดูหนาว และการประกวดนางสาวไทยเข้าไว้ด้วย
หลังการยึดอำนาจเมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ และ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ รัฐบาลพจน์ สารสินและ “คณะปฏิวัติ” ของสฤษดิ์ ได้งดการจัดงาน ๑๐ ธันวา ใน ๒ ปีนั้น โดยชี้แจงในลักษณะที่เข้าใจได้ว่า เป็นเพียงการงดชั่วคราว (ปี ๒๕๐๐ ความจริง มีการเตรียมการจะจัดแล้วโดยรัฐบาลจอมพล ป. แต่ปี ๒๕๐๑ เข้าใจว่าไม่มีการเตรียมการเลย) แต่ในความเป็นจริง กลับกลายเป็นการงดเด็ดขาดมาจนทุกวันนี้ เพราะในปีต่อมา (๒๕๐๒) รัฐบาลสฤษดิ์ ได้รื้อฟื้นการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้นใหม่ในลักษณะเดียวกับที่เคยมีการจัดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช คือทำให้เป็นงานที่สำคัญที่สุดของทางราชการประจำปี และยุติการจัดงานในลักษณะเดียวกันให้กับวันที่ ๑๐ ธันวาอีก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงวันชาติ ๒๔ มิถุนา ซึ่งในปีถัดไป (๒๕๐๓) สฤษดิ์ประกาศให้เปลี่ยนเป็นวันที่ ๕ ธันวา และยกเลิกความเป็นวันสำคัญ-วันหยุดราชการของ ๒๔ มิถุนา โดยสิ้นเชิง
การจัดงานวันเฉลิม, เลิกจัดงาน ๑๐ ธันวา, เปลี่ยนวันชาติ, ยกเลิกความสำคัญของ ๒๔ มิถุนา เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการและกิจกรรมฟื้นฟูสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่สฤษดิ์และราชสำนักได้ร่วมกันดำเนินการอย่างรวมศูนย์ในช่วงระหว่างกลางปี ๒๕๐๒ ถึงต้นปี ๒๕๐๔ (กิจกรรมอื่นได้แก่ รื้อฟื้นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, การเสด็จแห่เรือทอดกฐิน, การเสด็จเยือนยุโรปและอเมริกา) ซึ่งผมได้เสนอว่า “นี่คือช่วงปีเศษ...ที่เปลี่ยนสถานะของสถาบันกษัตริย์ในวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย”
ข้างล่างนี้ ผมขอนำเสนอบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี ๔ ครั้งที่เกี่ยวกับการรื้อฟื้นการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้นใหม่ คือ ครั้งที่ ๑ เมื่อสฤษดิ์เสนอให้จัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาแบบสมัยก่อน ๒๔๗๕, ครั้งที่ ๒ เมื่อคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบด้วยกับแผนการจัดงาน, ครั้งที่ ๓ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกับการถวายตำแหน่งและยศทหาร เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และครั้งที่ ๔ หลังจัดงานแล้ว สฤษดิ์แสดงความเห็นประเมินความสำเร็จของงาน
สฤษดิ์เสนอให้จัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา
สฤษดิ์ เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๔๔/๒๕๐๒ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๐๒ เป็นหัวข้อที่ ๓ ในวาระที่ ๒๒ ของการประชุม
๒๒. เรื่องที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
...................
๓) งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เสนอว่า ตามประเพณีเดิม ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เคยมีการตามประทีปโคมไฟ หรือประดับประดาคำถวายพระพรเป็นการถวายความจงรักภักดี นอกจากนั้น ยังมีการแสดงมหรสพให้ประชาชนได้ชมเป็นบางแห่งด้วย นับเป็นประเพณีที่ควรจะได้รักษาไว้ตามสมควร
มติ – เห็นชอบด้วยตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเสนอ และมอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของเรื่อง รับไปพิจารณา ร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับแผนการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ประมาณ ๑ เดือนหลังจากนั้น กระทรวงมหาดไทยได้นำแผนการจัดงานซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปเตรียม มาเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา (การประชุมครั้งที่ ๔๘/๒๕๐๒ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๒) ขอให้สังเกตการย้ำว่า “จะต้องตามประทีปโคมไฟด้วย” (หัวข้อ ๒ การตกแต่งสถานที่)
๕. เรื่อง การจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา
กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๐๖ ให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าของเรื่องรับไปพิจารณาจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา ร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปนั้น
กระทรวงมหาดไทย ได้เชิญผู้แทนกระทรวงทุกกระทรวง และผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ไปร่วมประชุมพิจารณาจัดดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว ที่ประชุมได้ตกลงในหลักการต่างๆสรุป ดังนี้ –
๑. กำหนดวัน – วันที่ ๕, ๖ และ ๗ ธันวาคม
๒. การตกแต่งสถานที่ – นอกจากการประดับธงทิว จะต้องตามประทีปโคมไฟด้วย ให้แต่ละหน่วย พิจารณาดำเนินการเป็นการภายใน ให้อยู่ในหลักการประหยัด
๓. การมหรสพ – แบ่งเป็นทางราชการจัด และประชาชนจัด ตามสมควรและเหมาะสม
๔. กำหนดเวลาตามประทีปโคมไฟ – เริ่มแต่พระอาทิตย์ตก ถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. เว้นสถานที่พิเศษ ไม่ควรเกินเวลา ๐๒.๐๐ น.
๕. ยานพาหนะประจำทาง – ยืดกำหนดเวลาไปถึง ๐๑.๐๐ น. ทั้ง ๓ วัน
๖. การโฆษณา – ให้กรมประชาสัมพันธ์
๗. ตลาดนัด – งดในวันเสาร์ที่ ๕ และอาทิตย์ที ๖ นี้
๘. ในส่วนภูมิภาค – ให้ถือปฏิบัติโดยอนุโลม
มติ – เห็นชอบด้วยตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และมอบให้หน่วยราชการต่างๆรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่อไป
ถวายตำแหน่งและยศทหาร
อีก ๒ สัปดาห์ต่อมา ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๕๐/๒๕๐๒ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอของกองทัพบก ที่ให้ถวายตำแหน่งทางทหารแก่ในหลวง และขอพระราชยศและตำแหน่งทหารแก่พระราชินี
๗. เรื่อง กองทัพบกขอน้อมเกล้าฯถวายตำแหน่งและยศทหาร
กระทรวงกลาโหมเสนอตามรายงานของกองทัพบก ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้
๑. ขอพระราชทานเปลี่ยนชื่อ กรมผสมที่ ๒๑ เป็น กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์
๒. ขอพระราชทานให้กรมทหารราบที่ ๒๑ เป็น หน่วยทหารรักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
๓. ขอพระราชทานยศ พันเอก และตำแหน่ง ผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ และเป็นนายทหารพิเศษ ของกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ ถวายแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
๔. ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายตำแหน่ง ผู้บังคับการพิเศษ หน่วยทหารรักษาพระองค์ทุกหน่วย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ –
(๑) กองนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ และขอพระราชทานให้ ทหารในหน่วย กองนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ มีสิทธิประดับ อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ที่เครื่องแบบด้วย
(๒) กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็ก รักษาพระองค์
(๓) กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์
(๔) กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์
(๕) กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์
(๖) กรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์
สฤษดิ์ประเมินความสำเร็จของการจัดงาน
หลังงานผ่านไปแล้ว ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๒ สฤษดิ์ได้กล่าวประเมินความสำเร็จของการจัดงาน ซึ่งผมคิดว่า มีเนื้อหาที่น่าสนใจมาก ผมยังได้คัดลอกอีกหัวข้อการประชุมหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกันมาให้ดูด้วย (ทั้งคู่อยู่ในวาระ “เรื่องที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี”) คือ เรื่องเกี่ยวกับการรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของรัฐมนตรีในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาในปีนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญและน่าสนใจเพราะแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์ เท่าที่ผมหาหลักฐานได้ นี่เป็นครั้งแรกหลัง ๒๔๗๕ ที่มีการบันทึกว่า การได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ถูกถือเป็นเรื่องสำคัญในหมู่คณะรัฐมนตรี ผมคิดว่า เราอาจนับได้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับ “เครื่องราชฯ” ในหมู่ข้าราชการระดับสูงของไทยที่เราเห็นกันทุกวันนี้
๑. เรื่อง ที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
๑) รัฐมนตรีได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ก่อนที่จะเริ่มประชุมตามระเบียบวาระ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีต่อบรรดารัฐมนตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้ ทั้งนี้ย่อมถือว่า ได้กระทำคุณงามความดี ได้ปฏิบัติงานมาด้วยความเอาใจใส่และเรียบร้อย ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ดูทรงพอพระราชหฤทัย และทรงชมเชยในการปฏิบัติงานของรัฐมนตรีทุกคน เป็นเครื่องหมายความดีความชอบที่ได้ปฏิบัติงาน รู้สึกว่า น้ำพระทัยพระองค์ท่านดี
ทางด้านส่วนตัวของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์นั้น มิใช่หมายความว่า เป็นเกียรติยศสำหรับตัว ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอย่างเดียว แต่เป็นเกียรติของรัฐบาลร่วมกันด้วย เพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาล และรู้สึกมีความรับผิดชอบในการบริหารของรัฐบาล หากมิได้รับความร่วมมือจากรัฐมนตรีแล้ว ก็คงไม่สามารถที่จะให้รัฐบาลมีชื่อเสียง ได้รับความนิยมไปในทางดีได้ จึงขอขอบคุณรัฐมนตรีทุกท่านอย่างจริงใจในโอกาสนี้ด้วย
เสด็จในกรมฯรองนายกรัฐมนตรี [พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์] ได้ทรงกล่าวขอบคุณ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีในนามของรัฐมนตรี สรุปว่า ทรงชื่นชมยืนดีในการที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์ และรัฐมนตรีทุกท่านก็ได้ตระหนักในผลงานที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติและได้พยายามเอาใจใส่ทนุบำรุงบ้านเมือง เพื่อให้ประชาราษฎร์สุขสมบูรณ์ บรรดารัฐมนตรีทุกท่านจึงขออำนวยพรให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีมีความสุข ความเจริญ สมบูรณ์ด้วยพลานามัยยิ่งๆขึ้นไป
๒) งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ทราบว่า ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครั้งนี้ เท่าที่ได้สดับตรับฟังมา ก็รู้สึกว่าเป็นที่พอใจ ประชาชนชื่นชมยินดี จะเห็นได้จากประชาชนไปเที่ยวเตร่เป็นจำนวนมากมาย หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา ๒๗ ปีแล้ว ไม่เคยมีการเฉลิมฉลองและประดับประดาไฟ เพิ่งจะมีในปีนี้เป็นครั้งแรก เข้าใจว่า คนที่เกิดมาซึ่งในขณะนี้มีอายุประมาณ ๓๐ ปีนั้น คงจะไม่ได้เห็น ปัญหาที่ว่าไฟฟ้าไม่เพียงพอนั้น ก็จะเห็นผลประจักษ์ในครั้งนี้แล้วว่า มีพอได้ยินก็ดีใจ ขอเรียนว่า อะไรอะไรนั้นมาอยู่ที่รัฐบาล เขาบ่นเขาด่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดีหรือไม่ดีก็มาอยู่ที่รัฐบาล หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คราวนี้รู้สึกว่า ประชาชนชื่นชมยินดีมาก สำหรับในปีต่อไป ก็เข้าใจว่า คงจะดีขึ้นกว่าปีนี้อีก ทางด้านประชาชนก็คงจะมีเวลาตระเตรียมงานประดับประดาไว้ล่วงหน้า
ส่วนงานปีใหม่ที่จะถึงนี้ ก็ขอมอบให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณาต่อไป แต่การจัดงานนั้น ควรเป็นของเทศบาล และทางด้านกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ
มติ – ทราบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับทราบไป
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ที่มาของบทความ : somsak's work : กำเนิดการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา
หมายเหตุ
ข้อความที่ถูกเน้นเปนไปตามความสนใจของผู้จัดเก็บบทความเอง
วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
กำเนิดการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 10:17 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น