หมายเหตุ : ข้างล่างนี้ คือคำแปลของผมต่อรายงานฉบับเต็มที่นายเบิร์กเลย์ เกจ (Berkeley Cage) ทูตอังกฤษประจำประเทศไทยที่เพิ่งหมดหน้าที่ ส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2500 (เขาส่งจากย่างกุ้งระหว่างการเดินทางกลับ) ในรายงานนี้ (ซึ่งเกจจงใจตั้งชื่อเลียนแบบละคอนเพลงและหนังชื่อดัง) เกจได้เล่าถึงการเข้าเฝ้าถวายบังคมลาของเขา ซึ่งในระหว่างนั้นในหลวงทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเมืองไทยในขณะนั้นต่อเขาเป็นครั้งแรก ประเด็นสำคัญและน่าสนใจที่สุด ได้แก่ความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม กรณีงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (หรือ "กึ่งพุทธกาล") ในเดือนพฤษภาคม 2500 รัฐบาลจอมพล ป. ให้ความสำคัญกับงานดังกล่าวอย่างมาก (ในชีวิตการเป็นผู้นำทางการเมืองของเขา มีงานฉลอง 2 งานที่จอมพลให้ความสำคัญอย่างมาก คือ งานวันชาติในต้นทศวรรษ 2480 โดยเฉพาะปีแรก 2482 และงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษนี้) ตามหมายกำหนดการ ในหลวงจะทรงเสด็จไปเปิดและปิดงาน (12 และ 18 พฤษภาคม) และจะทรงเสด็จทอดพระเนตรงานบางรายการ (รวมแล้วจะทรงเสด็จ 4 วัน ในงาน 7 วัน) แต่แล้วทรงไม่เสด็จอย่างกระทันหัน เหตุผลที่เป็นทางการจากราชสำนักคือทรงพระประชวร แต่ดังที่จะเห็นได้จากรายงานของเกจข้างล่าง เหตุผลที่แท้จริงคือ ทรงไม่พอพระทัยเกี่ยวกับการจัดงาน หลังจากนั้น หนังสือพิมพ์ของฝ่ายรัฐบาล ได้ตีพิมพ์ข่าวในลักษณะที่มองกันว่าเป็นการโจมตีพระองค์ ด้วยการพาดหัวประเภท "เจ้าผยองหนัก", "เจ้าล้างศาสนาอย่างนี้แล้วต่อไปเจ้าจะตายโหง", "เจ้าวางแผนคว่ำรัฐประหาร" (ผมเข้าใจว่าเนื้อหาของข่าวจริงๆไม่ได้ระบุถึงในหลวงโดยตรง หนังสือพิมพ์เหล่านี้ ปัจจุบันหาไม่ได้แล้ว แต่คำพาดหัวเหล่านี้ ถูกนักการเมืองฝ่ายค้านรัฐบาล เอามาอภิปรายโจมตีในสภา หาว่ารัฐบาลปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)
ผมทราบการมีอยู่ของรายงานฉบับนี้ครั้งแรกจากเชิงอรรถเล็กๆในบทความเกี่ยวกับจอมพล ป. ของกอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร หลังจากนั้นไม่กี่ปี ผมได้มีโอกาสพบ ดร.เจมส์ เอส โอ๊คคีย์ ผู้บรรยายประจำมหาวิทยาลัยแคนเตอร์บิวรี่ นิวซีแลนด์ (ที่งานเลี้ยงบ้านใหม่ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ) ในระหว่างพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์ไทย ผมได้เอ่ยถึงเรื่องรายงานนี้ที่กอบเกื้อพูดถึงในเชิงอรรถ ดร.โอ๊คคีย์ กล่าวว่า เขามีสำเนาของรายงานและยินดีจะส่งให้ผมดู หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ได้รับสำเนาถ่ายเอกสารของรายงาน (จากต้นฉบับที่พิมพ์จากไมโครฟิล์มอีกต่อหนึ่ง) จาก ดร.โอ๊คคีย์ ซึ่งผมต้องขอบคุณอย่างสูง
นอกจากคำแปลรายงานของเกจแล้ว ในที่นี้ผมยังได้คัดลอกจดหมายโต้ตอบระหว่างราชสำนักกับรัฐบาล เกี่ยวกับกรณีที่ในหลวงไม่ทรงเสด็จเข้าร่วมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษเนื่องจากทรงพระประชวร ซึ่งผมเพิ่งอ่านพบเมื่อเร็วๆนี้มาให้ดูกันด้วย ข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดจะเป็นส่วนหนึ่งของบทความใหม่ของผมเรื่อง "พิบูล-เผ่า กับ ราชสำนัก (2496-2500)"
The King and I
โชคไม่ดี ผมไม่มีโอกาสรายงานจากกรุงเทพก่อนที่จะเดินทางออกจากที่นั่น ว่าเกิดอะไรขึ้นในการเข้าเฝ้าของผมเพื่อถวายบังคมลา เนื่องจากการเข้าเฝ้านั้นมีขึ้นในบ่ายวันก่อนหน้าที่ผมจะออกเดินทาง โดยถูกเลื่อนมาจากกำหนดเดิมในต้นสัปดาห์นั้น เนื่องจากผมถูกไข้หวัดใหญ่เล่นงานอย่างหนัก. การเข้าเฝ้าของผมมีขึ้นที่พระราชวังฤดูร้อนของในหลวงที่หัวหิน ในบ่ายวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม. ผมกับภรรยาได้พยายามเป็นพิเศษที่จะเจียดเวลาว่างที่แทบไม่มี ให้กับการเข้าเฝ้า เนื่องจากพระองค์เจ้าธานี ประธานองคมนตรีได้บอกกับผมว่า ในหลวงทรงปรารถนาที่จะพบผมเป็นพิเศษ เราบินไปหัวหินบนเครื่องบินของผู้ช่วยทูตทหารอากาศ โดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที ซึ่งทำให้เราสามารถลดทอนการเสียเวลาซึ่งมีไม่มากอยู่แล้ว ให้น้อยที่สุด
นี่เป็นครั้งแรกนับแต่ผมได้รู้จักกับท่าน ที่ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสถึงสถานการณ์ภายในประเทศไทยกับผม. ดูเหมือนท่านจะทรงเห็นว่าเสถียรภาพของรัฐบาลถูกสั่นคลอนอันเนื่องมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากการเลือกตั้ง แต่ท่านก็ไม่ได้ทรงแสดงความเห็นว่าวิกฤติการณ์ครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร. ท่านทรงกล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้ อาจจะสิ้นสุดภายใน 3 เดือน หรือไม่ก็ 3 ปี. ท่านเห็นว่ายังไม่อาจพูดได้ในขณะนี้ว่า วิกฤติจะยืดเยื้อนานเพียงไร. ท่านทรงชี้ว่า ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนและภายใต้การนำของบุคคลบางคน [certain personalities] กองทัพสามารถเป็นประโยชน์ [be of service] ต่อพระมหากษัตริย์และรัฐได้ ด้วยการกลายเป็นกองทัพที่ไม่ยุ่งการเมือง [becoming non-political] ท่านไม่ได้ระบุบุคคล [personalities] แต่ผมได้ความรู้สึก [impression] ว่า ทั้งในหลวงและพระองค์เจ้าธานีไม่ได้ทรงไว้ใจสฤษดิ์จริงๆ
ในหลวงทรงแสดงออกว่าทรงขมขื่นอย่างยิ่ง [very bitter โกรธเคือง - สมศักดิ์] ต่อการปฏิบัติของรัฐบาลต่อพระองค์ในโอกาสการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งเพิ่งจัดขึ้นในกรุงเทพ และสถานทูตจะส่งรายงานเรื่องการฉลองนี้มาต่างหาก พระองค์ไม่ได้รับการปรึกษาจากรัฐบาลเกี่ยวกับรายละเอียดของงานและท่านทรงไม่พอพระทัยอย่างเห็นได้ชัดในประเด็นที่ว่ารายละเอียดของงานถูกกำหนดขึ้นในลักษณะที่ต้องการทำให้รัฐบาลมีความสำคัญมากเท่าๆกับพระองค์ - ถ้าไม่ใช่มากกว่า - ซึ่งความจริงงานฉลองควรมีพระองค์เองเป็นจุดศูนย์กลาง ในหลวงไม่ได้ทรงพยายามปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่า แม้จะทรงเป็นหวัด (ไม่ใช่ ไข้หวัดใหญ่ [influenza] ที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างอย่างเป็นทางการ) พระองค์ทรงสามารถเข้าร่วมงานฉลองบางรายการได้ แต่ทรงจงใจไม่เข้าร่วมเอง ในหลวงทรงถูกวิจารณ์จากหนังสือพิมพ์บางฉบับ (โดยมากของรัฐบาล) ในการที่ไม่ทรงเข้าร่วมงานฉลอง และผมได้ความรู้สึก [impression] ว่า คณะองคมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์เจ้าธานี เห็นว่าในหลวงทรงเล่นผิดไพ่ [played a wrong card ใช้ยุทธวิธีผิด - สมศักดิ์] ที่ไม่ทรงอย่างน้อยก็ปรากฏพระองค์ในงาน ผมคิดว่ารายงานเกี่ยวกับการฉลองครั้งนี้ของสถานทูตเราคงจะกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างแน่นอน ในหลวงบอกผมว่า เมื่อประมาณสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลเกือบจะ "ล้อมกรอบ" ["framed" ใส่ความผิดๆ - สมศักดิ์] พระองค์ ในหลวงไม่ได้ทรงอธิบายว่าในแง่ใด แต่มหาดเล็กสนองพระโอษฐ์ดูเหมือนจะคิดว่าพระองค์ทรงหมายถึงเรื่องเรื่องไม่ดี [contretemps] เกี่ยวกับงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
ในระหว่างการสนทนาของเรา ประเด็นเรื่องความเป็นไปได้ที่ปรีดีจะเดินทางกลับประเทศไทยได้ถูกหยิบยกขึ้นมา ในหลวงไม่ทรงคิดว่ามีความเป็นไปได้มากนักเมื่อคำนึงว่าปรีดีคงไม่ต้องการเผชิญกับความเป็นไปได้ที่จะถูกจับและถูกขึ้นศาล (ในข้อหาเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระเชษฐา ในหลวงอานันท์) เป็นเรื่องน่าสนใจที่ในบรรดาการพบปะพูดคุยเพื่ออำลาบุคคลต่างๆของผมทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกับนายกรัฐมนตรี นายร้อยเอกรักษ์ และพระองค์เจ้าวรรณ มีเพียงพระองค์เจ้าวรรณเท่านั้นที่เห็นชอบกับการกลับมาของปรีดี "ไม่ใช่อย่างลับๆหรือไม่ใช่ด้วยการเชิญของรัฐบาล แต่ด้วยความปรารถนาของปรีดีเอง และถ้าเขาพร้อมจะเผชิญกับผลที่ตามมาใดๆ" พระองค์วรรณทรงมีความเห็นดังกล่าวบนพื้นฐานที่ว่าปัญหานี้ต้องได้รับการเผชิญไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ดังนั้นยิ่งเร็วก็ยิ่งดี ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย แม้ว่าปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งนายกรัฐมนตรีและรักษ์ไม่เห็นด้วยอย่างหนักแน่นกับการกลับของปรีดี และอันที่จริง, ดังที่คุณคงเห็นจากโทรเลขของสถานทูตเมื่อเร็วๆนี้แล้ว, ถึงกับขอร้องให้รัฐบาลอังกฤษพยายามอย่างเต็มที่ที่จะป้องกันไม่ให้กลุ่มวัฒนธรรมและกีฬาของไทยเดินทางข้ามจากเกาะฮ่องกงเข้าไปในจีนคอมมิวนิสต์หรือเดินทางกลับจากจีนมาฮ่องกง บนพื้นฐานที่ว่า พวกนั้นไม่ใช่อะไรนอกจาก "ตัวแทนของปรีดี" ["Pridi's agents"] ทางสถานทูตจะรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสนทนาเหล่านั้นของผม
ในตอนท้ายของการเข้าเฝ้า ในหลวงทรงพระราชทานพระบรมฉายาของพระองค์กับสมเด็จพระราชินีซึ่งทรงลงพระปรมาภิไธยให้ผม พระองค์ยังทรงพระราชทาน, ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมแปลกใจมาก, เครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อ [personal cipher] ซึ่งทรงกล่าวทันที, ทรงมองผมอย่างรู้ว่าผมคิดอะไรอยู่, ว่า "นี่ไม่ใช่เครื่องราชอิสริยาภรณ์" เมื่อผมถามเจ้ากรมพิธีการก็ได้รับคำตอบว่า "นี่ไม่ใช่เครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือเหรียญตรา แต่เป็นของที่ระลึกส่วนพระองค์เพื่อแสดงว่าทรงโปรดปราน" [personal token of His Majesty's esteem] อเล็ก อาดัมส์ [Alec Adams] คงสามารถให้คำอธิบายมากกว่านี้ว่าเรื่องนี้จะหมายความว่าอย่างไร และถ้าผมกลับไปแล้ว ผมสามารถจะพูดคุยกับกรมพิธีการได้ ถ้าจำเป็น ว่าควรทำอย่างไรกับเครื่องหมายนี้ดี [ปกติการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นเรื่องทางการที่รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายต้องรับรู้และเห็นชอบก่อน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและบางครั้งก็ยุ่งยากพอสมควร ตัวเครื่องราชฯ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้รับ - สมศักดิ์]
ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาระหว่างการเข้าเฝ้าของผม คือก่อนหน้านี้พระองค์เจ้าธานีได้ทรงบอกผมว่า ในหลวงทรงรู้สึกเสียพระทัย [hurt] หลังการสวรรคตของพระเชษฐา ต่อทัศนะที่ในหลวงทรงเข้าใจว่า "บุคคลในแวดวงชั้นสูง" ของลอนดอนโดยทั่วไปเชื่อกัน ที่ว่า พระองค์ท่านทรงมีส่วนรับผิดชอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อการสวรรคต ผมได้ปฏิเสธว่าไม่เคยทราบทัศนะเช่นนั้นมาก่อน แต่พระองค์เจ้าธานีทรงกล่าวขอร้องต่อไปว่า รัฐบาลอังกฤษควรรีบส่งคำกราบบังคมทูลเชิญในหลวงและพระราชินีของไทย ให้ทรงเสด็จประพาสสหราชอาณาจักร ตามเวลาที่สะดวกของพระราชินีนาถอลิซาเบธและของในหลวงพระราชินีไทย พระองค์เจ้าธานีกล่าวว่า ฝ่ายอเมริกันได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่ในหลวงจะทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง [would particularly appreciate] หากได้คำเชิญเสด็จจากพระราชินีนาถอลิซาเบธ เมื่อผมเอ่ยเรื่องนี้กับในหลวงในระหว่างเข้าเฝ้า ทรงกล่าวว่า พระองค์กับพระราชินีทรงปรารถนาที่จะเสด็จเยี่ยมพระราชินีนาถอลิซาเบธ แต่พวกท่านต้องทรงเสด็จเยี่ยมภาคต่างๆของไทยและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงก่อน [ปัญหาการเสด็จเยือนต่างจังหวัด ต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน ของในหลวง เป็นประเด็นทางการเมืองสำคัญในช่วงนี้ และช่วงสฤษดิ์ที่ตามมา ซึ่งผมจะอธิบายรายละเอียดในบทความ - สมศักดิ์]
ปัญหาการออกคำเชิญให้ในหลวงและพระราชินีของไทยเสด็จเยือนสหราชอาณาจักร เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนที่ผมเริ่มมารับหน้าที่เป็นทูต และคุณอาจจะต้องการดูจดหมายโต้ตอบในครั้งนั้นด้วย ความเป็นจริงก็คือ ในหลวงและพระราชินีของไทยคงไม่ทรงสามารถทำเช่นนั้นได้ภายใน 2 หรือ 3 ปีข้างหน้า แต่การได้รับคำเชิญแต่เนิ่นๆจะสร้างความพึงพอใจให้กับฝ่ายราชสำนักไทยอยู่นั่นเอง นี่จะเป็นเรื่องของทูตคนต่อจากผม แต่คุณอาจจะต้องการพูดคุยกับผมก็ได้เมื่อผมกลับไป
ผมส่งสำเนาจดหมายนี้ให้กับอเล็ก อาดัมส์ ที่กรุงเทพด้วย
ด้วยความจริงใจ,
เบิร์กเลย์ เกจ
(B.E.F. Gage)
ต่อไปนี้คือจดหมายโต้ตอบระหว่างราชสำนักกับรัฐบาล กรณีในหลวงทรงพระประชวร ไม่ได้เสด็จงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
เอกสาร (ก)
บันทึกข้อความจากเลขาธิการสำนักพระราชวัง
ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พร้อมบันทึกของนายแพทย์ประจำพระองค์
ขอประทานเสนอ
เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกรณียกิจในงานฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ และพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขะบูชา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ซึ่งได้แจ้งให้สำนักพระราชวังทางกรุงเทพฯดำเนินไปแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะทรงพระประชวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประชวรพระโรคหวัด มาตั้งแต่การพระราชพิธีฉัตรมงคลแล้ว แต่ที่มิได้มีพระราชกระแสงดเสด็จพระราชดำเนินเสียแต่แรก ก็เพราะทรงคาดว่าเมื่อใกล้เวลาพิธี พระอาการอาจจะเป็นปรกติ เสด็จพระราชดำเนินได้ แต่เมื่อถึงวันที่จะเสด็จฯมาพระนคร นายแพทย์ประจำพระองค์ได้ถวายตรวจแล้ว ถวายคำแนะนำไม่ให้เสด็จพระราชดำเนินเข้าพระนคร ปรากฏรายละเอียดในสำเนารายงานของนายแพทย์ประจำพระองค์ที่ได้แนบมาพร้อมนี้ จึงขอประทานเสนอเพื่อทราบ
[ลายเซ็น]
12 พ.ค. 2500
พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ขณะที่ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ทรงมีพระอาการปวดเมื่อยที่พระอังศะซ้าย ตลอดจนถึงพระกร มีมูลพระนาสิกไหลและแสบพระศอ ไม่มีไข้ ได้ถวายพระโอสถตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ พระอาการทุเลาขึ้นบ้าง แต่จะมีพระอาการทางพระศออยู่
วันที่ ๖ พฤษภาคม เสด็จพระราชดำเนินกลับหัวหิน ในขณะเสด็จพระราชดำเนินนั้น อากาศร้อนอบอ้าวผิดปรกติ พระอาการจึงเพิ่มขึ้นอีก ได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำไม่ให้เสด็จฯลงสรงน้ำหรือตากแดด หรือประทับในที่อบอ้าว แต่ประทับในที่โปร่งได้ พระอาการหวัดยังคงมีอยู่ตลอดมาจนถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม พระอาการพระศอซึ่งก่อนหน้านั้นทุเลาขึ้นเล็กน้อย กลับมีพระอาการแสบขึ้นอีก พร้อมกับมีพระเสมหะติดอยู่มาก ทั้งมีพระอาการมึนพระเศียรด้วย
ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม เวลา ๑๐.๐๐ น. ได้ถวายตรวจพระอาการ ปรากฏว่า มีพระอาการมากขึ้นและความดันพระโลหิตได้ขึ้นสูงกว่าปรกติมาก จึงได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำว่า ยังไม่สมควรจะเสด็จพระราชดำเนินเข้ากรุงเทพฯ เพราะขณะนี้โรคไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดในประเทศใกล้เคียง และมีทีท่าที่จะแผ่กระจายเข้ามาในประเทศไทย เมื่อพระอาการไม่ดีอยู่เช่นนี้ ประกอบกับการเสด็จพระราชดำเนินเข้ากรุงเทพฯโดยรถยนตร์ในอากาศอบอ้าว ทั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปประกอบพระราชกรณียกิจในหมู่ที่มีชุมนุมชนมากเช่นนั้น เป็นการเสี่ยงต่อพระราชอนามัยอย่างมาก
(ลงชื่อ) เกษตร สนิทวงศ์
นายแพทย์ประจำพระองค์
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๐๐ เวลา ๑๑.๓๐ น.
เอกสาร (ข)
คำสั่งของ จอมพล ป. ให้เผยแพร่บันทึกแพทย์เรื่องอาการประชวร
เมื่อได้รับจดหมายเลขาธิการสำนักพระราชวังข้างต้น จอมพล ป. ได้เขียนด้วยลายมือต่อท้ายจดหมาย ดังนี้
1) ให้ทาง [อ่านไม่ออก เข้าใจว่า "ส.ล.ม.ทำหนังสือ" - สมศักดิ์] ว่า ค.ร.ม. รับทราบ และถวายพรให้หายเร็ว มาลงนาม
2) ให้จัดการออกข่าวแพทย์ที่แนบมานี้ (หารือราชเลขาฯดูด้วย)
ป. พิบูล13
พ.ค. 2500
เมื่อได้รับคำสั่งเช่นนี้ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร จึงได้ส่งหนังสือข้างต้นที่มีคำสั่งของจอมพล ต่อไปยังราชเลขาธิการ ดังนี้
ทูล ราชเลขาธิการ
โปรดทราบ พิจารณาคำสั่งท่านนายกฯข้อ 2
[ลายเซ็น]
13 พ.ค. 2500
เอกสาร (ค)
หนังสือจากราชเลขาธิการ ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
หลังจากได้รับหนังสือของเลขาธิการ ครม.แล้ว ราชเลขาธิการ (ม.จ.นิกรเทวัญ เทวกุล) ได้มีหนังสือตอบ ขอให้สังเกตน้ำเสียงแสดงความไม่สุ้พอพระทัยต่อคำสั่งของจอมพล เรื่องให้เผยแพร่บันทึกแพทย์
ตามที่เลขาธิการ ค.ร.ม. ได้ส่งคำสั่งของท่านนายก ร.ม.ต. เรื่องให้จัดการออกข่าวแพทย์ที่เลขาธิการสำนักพระราชวังรายงานไปยัง พณ ท่านฯ มาให้พิจารณานั้น
ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งที่ให้ออกข่าวของแพทย์มิได้เป็นคำสั่งให้ราชเลขาธิการเป็นผู้ดำเนินการ โดยปรกติเมื่อทรงพระประชวรในราชอาณาจักร์ การแถลงข่าวพระประชวร ตามรายงานของแพทย์ เห็นสำนักพระราชวังเคยเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ แต่คำสั่งของท่านนายก ร.ม.ต. นี้ เจาะจงให้ออกข่าวที่แนบมาเท่านั้น มิได้หมายถึงการออกข่าวต่อๆไปด้วย แม้ข้าพเจ้าออกจะเห็นว่า ข่าวแพทย์ที่นายก ร.ม.ต. ให้แถลงนั้น เป็นข่าวที่ผ่านพ้นมาหลายวันแล้ว ข้าพเจ้าก็จะได้วิทยุไปทางรองราชเลขาธิการว่า ถ้าจะโปรดเกล้าฯให้สำนักราชเลขาออกข่าวรายงานของแพทย์ประจำวันต่อไปแล้ว ก็ขอให้โทรเลขข้อความในรายงานเช่นว่านั้นเข้ามาด้วย เพื่อออกข่าวได้ทันการ ข้าพเจ้ายังไม่สู้แน่ใจนักว่า พระอาการจะถึงขั้นต้องแถลงข่าวประจำวัน
ข้าพเจ้ามีความเห็นดั่งนี้ ขอให้เรียนเลขาธิการ ค.ร.ม. ฝ่ายการเมืองด้วย
(ลงพระนาม) ม.จ. นิกรเทวัญ เทวกุล
14 พ.ค. 2500
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ที่มาของบทความ : somsak's work : รายงานการเข้าเฝ้าของทูตอังกฤษ ปี 2500 ฯ
หมายเหตุ ( โดยผู้จัดเก็บบทความ )
การเน้นข้อความเปนการทำโดยความเห็นของผู้จัดฯเองเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาในเนื้อหาตามความสนใจส่วนตัวและเพื่อเปนการต่อยอดทางการศึกษาในวันข้างหน้า
วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
The King and I : รายงานการเข้าเฝ้าของทูตอังกฤษ ปี 2500 ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสถึงการเมืองไทย
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 5:47 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น