หนังสือเล่มนี้ (๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์) เพื่อนคนหนึ่งนำมาให้ผมดูเมื่อ ๑-๒ ปีก่อน (ถ้าความจำผมไม่คลาดเคลื่อน) ตอนนั้น ด้วยความที่กำลังยุ่งๆอยู่ด้วยงานอื่น และความขี้เกียจ บวกกับการที่ในหลายปีหลังนี้ ความสนใจเรื่องสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ของผมลดน้อยลง ผมจึงพลิกอ่านแบบผ่านๆ แล้วคืนให้ไป จนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ระหว่างกำลังรวบรวมข้อมูล (เอกสาร, สัมภาษณ์) เพื่อเขียนบทความเกี่ยวกับกรณีสวรรคตเรื่องใหม่ ผมได้รับการแนะนำจากญาติของผู้เกี่ยวข้องกับกรณีนี้โดยตรงท่านหนึ่ง (ขออนุญาตไม่บอกว่าใครเพื่อเป็นไปตามความต้องการส่วนตัวของท่าน) ว่าให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู มีพูดถึงกรณีสวรรคต แรกทีเดียว ผมก็คิดว่า คงไม่ต่างจากที่เคยเห็นมาก่อน (เรื่อง “ท่านชิ้น” เล่าว่าในหลวงกับสมเด็จพระราชชนนีไม่ได้เชื่อว่าปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งบรรดาผู้สนับสนุนปรีดีเคยนำมาตีพิมพ์หลายครั้ง) แต่เมื่ออ่านแล้ว จึงพบว่าไม่ใช่ มีอะไรบางอย่างที่ “ใหม่” และน่าสนใจกว่า
หม่อมเจ้าศุภสวัสด์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ หรือ “ท่านชิ้น” ผู้เป็นพี่ชายต่างมารดาของพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระราชินีในรัชกาลที่ ๗ เป็นคนรุ่นเดียวกับปรีดี เกิดปีเดียวกัน อ่อนเดือนกว่าปรีดีเพียง ๓ เดือน (สิงหาคม ๒๔๔๓) หนังสือเล่มนี้ “ลูก-หลาน-เหลน” ของท่าน พิมพ์ให้เนื่องในโอกาส ๑ ศตวรรษของวันเกิด (ปีเดียวกับที่มีการฉลอง ๑ ศตวรรษปรีดีอย่างใหญ่โตนั่นแหละ) โดยรวบรวมเอางานเขียนของ “ท่านชิ้น” ในโอกาสต่างๆไว้ ที่น่าสนใจที่สุด คืองานที่เรียกว่า “จดหมายร้อยหน้า” คือ บันทึกที่ “ท่านชิ้น” เขียนส่งถึงในหลวงองค์ปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๙๐ คือเพียง ๑๒ เดือนหลังกรณีสวรรคต (วันที่ตามจดหมายปะหน้า แต่ “ท่านชิ้น” กล่าวว่าตัวบันทึกใช้เวลาเขียน “นานมาก”) ต้นฉบับซึ่งเป็นภาษาอังกฤษมีความยาวกว่า ๑๐๐ หน้า ทายาท “ท่านชิ้น” นำมาตีพิมพ์โดยไม่แปล มีความยาวกว่า ๖๐ หน้าในหนังสือ (ที่มีขนาดประมาณกระดาษ A๔)
ในบันทึกนี้ “ท่านชิ้น” ได้เล่าและวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองของสยามขณะนั้นในทัศนะของท่านให้ในหลวงฟัง พูดถึงกลุ่มและบุคคลที่มีบทบาทต่างๆ เช่น พูดถึงปรีดี ซึ่ง “ท่านชิ้น” มองว่าเป็นความหวังของเสรีนิยมประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดในขณะนั้น จึงควรได้รับการสนับสนุน แต่ไม่ได้หมายความว่า “ท่านชิ้น” จะเขียนอย่าง “เชียร์ลูกเดียว” อย่างที่เราได้เห็นจากบรรดา “ลูกศิษย์ลูกหา” ของปรีดี (สุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ) “ท่านชิ้น” พูดถึงปรีดีแบบตรงไปตรงมาหลายประเด็น ทำให้น่าสนใจกว่ามาก
แต่ที่ผมจะเล่าในที่นี้ คือส่วนที่ “ท่านชิ้น” เขียนถึงกรณีสวรรคต โดยเฉพาะในส่วนที่ท่านเสนอทฤษฎีว่า ในหลวงอานันท์สิ้นพระชนม์อย่างไร ซึ่ง “ท่านชิ้น” สนับสนุนทฤษฎีว่า ในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เองโดยอุบัติเหตุ
ก่อนอื่น ผมขอเสนอว่า กรณีสวรรคตนั้น แม้จะมีรายละเอียดในด้านต่างๆอย่างมากมายมหาศาล แต่ถึงที่สุดแล้ว มีประเด็นสำคัญที่เป็นเหมือน “ปมปริศนา” จริงๆ ที่สรุปได้เป็น ๔ ข้อต่อเนื่องกันดังนี้
(๑) ขณะเกิดเหตุ มีทางเข้าห้องบรรทมได้เพียงทางเดียวเท่านั้น (คือด้านเฉลียงหลัง) ซึ่งมีมหาดเล็ก ๒ คน นายบุศย์ ปัทมศริน และ นายชิต สิงหเสนี นั่งเฝ้าอยู่
(๒) ดังนั้น ถ้ามีผู้อื่น (นอกเหนือจากในหลวงอานันท์) เข้าไปในห้องบรรทม จะต้องผ่านมหาดเล็ก ๒ คนนี้
(๓) ลักษณะทางกายภายเกี่ยวกับการสวรรคต (ตำแหน่งบาดแผล, วิถีกระสุน, ความที่ทรงถนัดขวา และ ลักษณะพระวรกายของพระบรมศพ) บ่งชี้อย่างหนักแน่น จนแทบไม่อาจคิดเป็นอย่างอื่นว่า เป็นการยิงของผู้อื่น ไม่ใช่พระองค์เอง
(๔) แต่ มหาดเล็กทั้ง ๒ คน ยืนกรานอย่างไม่เคยลดละว่า ไม่มีผู้อื่น – ไม่ว่าใครทั้งสิ้น – ผ่านเข้าไปในห้องบรรทมในเช้าวันนั้นเลย
จะเห็นว่า ประเด็นสำคัญจริงๆ คือ ความขัดกันอย่างเด็ดขาดระหว่างข้อ ๓ กับ ๔ คือ ถ้าชิต-บุศย์ พูดความจริง (ไม่มีใครเข้าไป) ก็ต้องพยายามอธิบายให้ได้ว่า ทำไมลักษณะทางกายภาพ (บาดแผล ฯลฯ) จึงออกมาในรูปนั้น (การกระทำของผู้อื่น) นี่คือสิ่งที่ “ท่านชิ้น” พยายามทำในจดหมาย คือ ทรงพยายามอธิบายว่า แท้จริงแล้ว ลักษณะทางกายภาพต่างๆดังกล่าว สามารถ “ไปด้วยกันได้” หรือสนับสนุนทฤษฎียิงพระองค์เองเช่นกัน ถ้า “ท่านชิ้น” สามารถทำสำเร็จ ข้ออื่นๆ ที่เหลือก็สามารถ “ลงตัว” ได้
(ในทางกลับกัน บรรดาผู้นิยมเจ้า เน้นข้อ ๓ ข้างต้น และใส่ความไปให้ปรีดี และในที่สุด ก็จับ ชิต-บุศย์ ขึ้นศาล นั่นคือ ปฏิเสธข้อ ๔ คือกล่าวหาว่า ๒ คนนั้นโกหก ปล่อยให้มือสังหารเข้าไป ฯลฯ ควรกล่าวด้วยว่า แม้แต่ผู้สังเกตการณ์ที่ “เป็นกลาง” เช่น พวกหมอที่ถูกเชิญมาชันสูตรพระบรมศพ ก็อธิบายข้อ ๓ ไม่ได้ และส่วนใหญ่ พากันลงความเห็นว่า เป็นการกระทำของผู้อื่นเช่นเดียวกัน)
“ท่านชิ้น” ได้วาด “ฉาก” เหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อสนับสนุนทฤษฎีที่ว่า มีความเป็นไปได้ที่ ตำแหน่งบาดแผล, ฯลฯ จะเกิดจากการยิงพระองค์เอง ตามลำดับเป็นข้อๆ ดังนี้ (ผมขออนุญาตไม่ใช้ราชาศัพท์เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้อ่านเข้าใจกันง่ายๆชัดเจน – อย่าลืมว่า “ท่านชิ้น” เอง เขียนเป็นภาษาอังกฤษ)
๑. ในหลวงอานันท์ทรงเสวยยาถ่าย (น้ำมันละหุ่ง) และระหว่างที่รอให้ยาออกฤทธิ์ ทรงรู้สึกเบื่อๆ จึงนำปืนมาใส่กระสุนและขึ้นนกไว้ เตรียมจะทรงยิงนกยิงต้นไม้ทางหน้าต่างห้องบรรทม อย่างที่เคยทำมาก่อน
๒. แต่ยังไม่ทันที่จะทรงได้ยิง ยาถ่ายก็ออกฤทธิ์ ทรงรีบเข้าห้องน้ำ โดยที่ไม่มีโอกาสได้ปลดนกและถอดกระสุนปืน ทรงวางปืนไว้บนโต๊ะข้างหัวเตียงด้านซ้าย (ทรงคิดว่าอย่างไรเสียก็คงไม่มีใครอื่นเข้ามาในห้องบรรทม)
๓. เมื่อออกจากห้องน้ำ ทรงเวียนหัวและอ่อนเพลีย (ผลของยาถ่าย) จึงทรงตรงไปที่เตียงเลย
๔. ทรงล้มตัวลงนอน ถอดแว่นตาออก ทรงหลับตา เพื่อให้หายเวียนหัว โดยทรงลืมสนิทเรื่องปืน
๕. หลังจากที่ทรงเคลิ้มๆหลับไปประมาณ ๑๐ หรือ ๑๕ หรือ ๒๐ นาที ทรงนึกขึ้นได้เรื่องปืน ทรงทราบว่าควรต้องปลดนกและเอากระสุนออก ด้วยความชำนาญในปืน สามารถที่จะทรงทำได้แม้ปิดตา และด้วยความที่ทรงสบายอยู่กับการนอน จึงไม่อยากจะลุกขึ้นนั่งมาทำ ซึ่งเป็นนิสัยธรรมดาของคนหนุ่ม จึงทรงยื่นมือซ้ายออกไปหยิบปืนทั้งๆที่ยังทรงนอนอยู่ ตำแหน่งของปืนที่วางอยู่บนโต๊ะข้างเตียงอยู่ต่ำกว่าหัวไหล่ซ้ายของพระองค์เล็กน้อย ทรงเลื่อนมือซ้ายของพระองค์ลอดเข้าไปใต้ด้ามปืน ทรงช้อนปืนขึ้น ด้ามปืนอยู่ในอุ้งมือ นิ้วโป้งซ้ายของพระองค์วางแตะอยู่ที่ด้านนอกของที่ครอบไกปืน ปากกระบอกปืนหันไปทางเดียวกับนิ้วโป้ง ทรงหยิบปืนขึ้นในท่านี้ แล้วเหวี่ยงแขนกลับมา เพื่อยื่นปืนจากมือซ้ายไปให้มือขวา เพื่อจะทรงใช้มือขวาจับปืนเวลาถอดกระสุน ตามความถนัด จังหวะที่ทรงเหวี่ยงแขนซ้ายมาทางแขนขวานี้ ปืนที่ถืออยู่ในมือซ้าย ก็จะลอยอยู่เหนือพระองค์บริเวณใบหน้า ด้วยความบังเอิญ ปืนคงจะลื่น ทำท่าจะหลุดจากมือหล่นมายังใบหน้า โดยสัญชาตญาณ มือซ้ายจึงรีบคว้าปืนที่กำลังจะหล่นให้แน่นเข้า จังหวะนี้เอง นิ้วโป้งซ้าย คงจะหลุดเข้าไปในไกปืน และกดไกปืน ลั่นกระสุนออกมา แรงเหวี่ยงของการยิงทำให้แขนซ้ายถูกเหวี่ยงกลับไปข้างตัว และปืนก็หล่นอยู่ด้านข้างตัวทางซ้ายมือ พร้อมปลอกกระสุน (นั่นคือไปอยู่ในสภาพที่มีผู้มาพบ)
“ฉาก” เหตุการณ์นี้เป็นไปได้ หรือน่าเชื่อถือแค่ไหน?
ในบรรดาความพยายามที่จะอธิบายว่า ยิงพระองค์เอง ผมรู้สึกว่า คำอธิบายของ “ท่านชิ้น” นี้ฟังดูเข้าท่ากว่าของคนอื่นๆ จนผมซึ่งไม่เคยเชื่อทฤษฎียิงพระองค์เองต้องหยุดคิดอย่างมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ปืนจะถูกยิงด้วยพระองค์เองอย่างไร จึงทำให้เกิดตำแหน่งบาดแผล, วิถีกระสุน ฯลฯ เช่นนั้น ผมเองไม่รู้จักปืน ไม่เคยจับปืน (ยกเว้นปืนยาวโบราณๆสำหรับฝึก ร.ด. ดูเหมือนจะเพียงครั้งเดียว) แต่ “ท่านชิ้น” เป็นทหาร คงคิดแล้วว่าเป็นไปได้ ที่จะทำปืนลั่นในลักษณะดังกล่าว อย่างน้อยผมคิดว่า “ฉาก” ของ “ท่านชิ้น” มีความเป็นไปได้สูงกว่า “ฉาก” ของ Rayne Kruger ที่พยายามอธิบายใน กงจักรปีศาจ ว่า ทรงยิงพระองค์เองอย่างไร (โดยตั้งใจ คือ suicide) ให้มีบาดแผล ฯลฯ ออกมาเช่นนั้น (ดูในหน้า ๒๒๒-๒๒๓ ของฉบับภาษาอังกฤษ ครูเกอร์ วาด “ฉาก” ให้ทรงนั่งอยู่บนเตียงแล้วยิง – โดยส่วนตัว ผมคิดว่า เกือบเป็นไปไม่ได้เลยที่คนที่ยิงตัวเองอย่างจงใจ จะจับปืนและยิงตัวเองในท่าทางที่ครูเกอร์วาด)
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ขณะที่เป็นไปได้ว่า ถ้าปืนลั่นในลักษณะที่ “ท่านชิ้น” เสนอ จะทำให้เกิดบาดแผล, วิธีกระสุน ฯลฯ อย่างที่พบจริง แต่ความเป็นไปได้ที่ปืนจะลั่นในลักษณะนั้น (หลุดมือขณะทรงหยิบด้วยมือข้างหนึ่งส่งให้อีกข้างหนึ่งระหว่างยังนอนอยู่) ขึ้นอยู่กับอนุกรมของเหตุการณ์หรือขั้นตอนต่างๆก่อนหน้านั้น ที่ต้องบังเอิญมากๆว่ามาเกิดทั้งชุดเช่นนั้น (ข้อ ๑ ถึง ๔ ของ “ท่านชิ้น” ข้างต้น)(๑)
“ท่านชิ้น” เอง เป็นคนแรกที่ยอมรับเลยว่า ทฤษฎีของท่านและ “ฉาก” ของเหตุการณ์ที่ท่านวาดนี้ อาจจะผิดทั้งหมดก็ได้ แต่ท่านมีแรงจูงใจอื่นประกอบด้วยที่เสนอ “ฉาก” และทฤษฎีเช่นนี้ (นอกเหนือจากความพยายามหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ) ในย่อหน้าที่ผมอ่านแล้วรู้สึกจับใจไม่น้อย “ท่านชิ้น” เขียนว่า
The above is my own personal theory after I have tried to think out how it happened. I do not guarantee that what I have said is infallible. I merely suggested a theory of my own conviction, which may be entirely wrong. Such a theory, however, lifted a great weight off my mind, because the King’s honour was saved, the Nation’s honour undamaged, and if we could all believe in it this way, misunderstanding, mistrust and maliciousness which had brought strife and instability to our country, would be lessened or even destroyed altogether, and our country could be united again and ready for the work of the reconstruction, and right all wrongs.
ตามคำบอกเล่าของลูกสาว ผลจากการที่ “ท่านชิ้น” ยืนยันทฤษฎียิงพระองค์เอง และปกป้องปรีดีว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องนี้ ทำให้ท่านกลายเป็น “หมาหัวเน่า” ในหมู่พวกเจ้าและนิยมเจ้าไป กลายเป็นคน “ว่างงาน” ตั้งแต่อายุไม่ถึง ๕๐ คือพลอยตกอับไปพร้อมๆกับปรีดีด้วย จุดที่โดดเดี่ยวถึงขีดต่ำสุดเกิดขึ้น ….
กลางปี ๒๔๙๒ นั่นเอง พ่อต้องปวดหัวใจอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนกรกฎาคมปีนั้น มีการจัดประชุมสามัคคีสมาคมเป็นครั้งแรกหลังสงคราม ที่โรงเรียนเซนต์จอห์น ที่เมืองเลเธอร์เฮด (Leatherhead) พ่อแม่พาลูกสาวทั้งสี่ไปร่วมงาน วันสุดท้ายเป็นวันงานเลี้ยงใหญ่ ทุกคนตื่นเต้นเป็นพิเศษ เมื่อท่านเอกอัครราชทูตหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เสด็จมาทรงร่วมงานเป็นแขกผู้มีเกียรติ พร้อมด้วยหม่อมหลวงบัว และธิดางามทั้งสอง – หม่อมราชวงศ์สิริกิตต์ และหม่อมราชวงศ์บุษบา ในวันนั้น ท่านทูตได้รับสั่งเชิญทุกๆคนไปร่วมงานที่สถานทูตในไม่กี่วันต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จะเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมกรุงลอนดอน พวกเราตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินข่าวลือว่าอาจจะมีการประกาศหมั้น ระหว่างงานนี้ เราสังเกตเห็นพ่อเดินคุยกับท่านนักขัตรฯ พระญาติและพระสหายเก่า อยู่ที่สนามด้วยสีหน้าเคร่งเครียด รุ่งขึ้น พ่อเล่าให้พวกลูกๆฟังว่า ท่านนักขัตรฯขอไม่ให้พ่อไปร่วมงานเฝ้าฯพระเจ้าอยู่หัวที่สถานทูต เพราะกำลังกริ้วพ่อมาก ด้วยทรงเข้าพระทัยและทรงเชื่อว่าต้องเป็น “ท่านชิ้น” แล้ว ไม่ใช่ใครอื่นแน่ ที่ไปรายงาน ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน ว่า กรณีสวรรคตเป็นการเล่นปืนกันระหว่างพี่น้อง แล้วเกิดอุบัติเหตุ (กระสุนปืนพลาดไปถูกองค์พี่เข้าโดยบังเอิญ) ที่ทรงปักพระทัยว่าเป็นพ่อก็เพราะพ่อรู้จักคุ้นเคยกับลอร์ดหลุยส์ ทำงานเสรีไทยใต้บังคับบัญชาของลอร์ดหลุยส์ ระหว่างสงคราม
พ่อตลึงงันอย่างที่ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรถูก เพราะความคิดเช่นนี้ไม่เคยเข้าหัวพ่อเลย พ่อเชื่อมั่นอยู่ตลอดเวลาว่า กรณีสวรรคตเป็นอุบัติเหตุโดยพระองค์เอง (หมายถึงพระเจ้าอยู่หัวอานันท์ฯ) ไม่มีการลอบปลงพระชนม์ใดๆทั้งสิ้น และปรีดีบริสุทธิ์
เรื่องที่ปรากฏออกมาก็เพราะ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติฯ ทรงเดินทางไปพบลอร์ดหลุยส์ ที่ประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ เพื่อทรงวางแผนให้พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ดังที่พ่อเคยเสนอไว้ครั้งหนึ่ง แต่ลอร์ดหลุยส์ ขอให้เลื่อนกำหนดแผนดังกล่าวไปก่อน จนกว่าจะสืบสวนกรณีสวรรคตแจ่มแจ้งแล้ว
พ่อบอกกับพวกเราว่า ในเมื่อพ่อถูกขอร้องไม่ให้ไปในงานนี้ แต่ลูกอยากไปก็แล้วแต่ลูก แน่นอนว่าทุกคนพร้อมใจกันบอกว่า ในเมื่อพ่อไม่ไป เราก็ไม่ไปเหมือนกัน เป็นอันว่าเราพลาดคืนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ณ สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน คนไทยในอังกฤษทุกคนได้ร่วมฉลองการประกาศพระพิธีหมั้น นอกจากเรา
(อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ลักษณะ “หมาหัวเน่า” ดังกล่าวไม่ถึงกับยืนยาวตลอดไป เพราะในปี ๒๕๐๖ หลังจาก “ท่านชิ้น” ได้กลับมาลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองไทย โดยการ “ทำไร่” ที่เพชรบุรีเป็นเวลาหลายปีแล้ว วันหนึ่ง ในหลวง พระราชินี ได้นำเสด็จเจ้าหญิงอเล็กซานตราแห่งเค้นท์ มาเสวยพระกระยาหารค่ำที่บ้านไร่ที่ชื่อ “สวนเสมา” ของ “ท่านชิ้น” ด้วย)(๒)
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
เชิงอรรถ
(๑) ฉากเหตุการณ์ทรงต้องพระแสงปืนอย่างไรในลักษณะคล้ายๆกับที่ “ท่านชิ้น” เสนอ (แต่ไม่ละเอียดเท่านี้) ได้เคยถูกเสนอมาก่อนหน้านั้นเล็กน้อย โดยชิต สิงหเสนี ซึ่งภายหลังตกเป็นจำเลยในคดีสวรรคตและถูกประหารชีวิต ในระหว่างให้การเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๙ ต่อ “คณะกรรมการสอบสวนพฤฒิการณ์การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” ที่รัฐบาลปรีดีตั้งขึ้นในปีนั้น ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ศาลกลางเมือง” ชิตได้วาดเหตุการณ์สวรรคต ดังปรากฏในบันทึกการสอบสวนดังนี้ “ประธานกรรมการฯได้ขอให้พยาน [ชิต] ลองวาดภาพการแอ็กซิเดนท์ตามคำให้การของพยานว่า พยานคาดว่าจะเกิดแอ็กซิเดนท์ขึ้นในประการใด พยานได้ทำท่าให้ดูตามที่พยานนึกเอา แล้วบอกว่า บางทีขณะที่พระองค์ถือส่องดูพระแสงปืนนั้น เนื่องจากทรงอิดโรยเพราะกำลังประชวร ปืนอาจจะหล่นจากพระหัตถ์แล้วพระองค์ทรงตะปบคว้าปืนด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ปืนจึงอาจะลั่นออกมาได้ และโดนพระองค์เข้า ภาพที่พยานวาดให้กรรมการฟังนี้ พยานว่า พยานคิดดังนี้ แต่อย่างอื่นไม่เคยคิด” (บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, ๒๕๔๖, หน้า ๙๑) เป็นไปได้ว่า “ท่านชิ้น” อาจจะทรงได้ความคิดอธิบายแบบนี้ครั้งแรกจากคำให้การของชิตก็ได้ ความจริงคือในสมัยนั้น มีการพูดคุยคาดเดาไปต่างๆนานาอย่างกว้างขวางว่า ทรงสวรรคตอย่างไร คนที่คิดว่าการสวรรคตอาจเกิดขึ้นได้โดยอุบัติเหตุในทำนองนี้จึงคงไม่ใช่จำกัดอยู่ที่ “ท่านชิ้น” (หรือชิต สิงหเสนี) เพียงคนเดียว
(๒) เกี่ยวกับความบาดหมางระหว่างราชวงศ์อังกฤษกับไทยอันเนื่องมาจากกรณีสวรรคต ดู William Stevenson, The Revolutionary King (2001) pp. 63-64, 95, 144-147, 155 สตีเวนสันกล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยภาษาที่รุนแรงยิ่งกว่าข้อเขียนของลูกสาว “ท่านชิ้น” ที่ผมยกมาข้างต้นเสียอีก (โดยเฉพาะประโยคที่อ้างว่าเป็นของกษัตริย์อังกฤษในการให้เหตุผลปฏิเสธการพบกับในหลวง ซึ่งสตีเวนสันยกมาถึง ๒ ครั้ง) สตีเวนสันเล่าการเสด็จเยือนไทยของเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเค้นท์ในฐานะราชอาคันตุกะของในหลวง ในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของการคืนดี (reconciliation) จากความบาดหมางนี้ (pp. 146-147) ทำให้ผมคิดขึ้นมาว่า การที่ทรงเจาะจงเลือกบ้านไร่ของ “ท่านชิ้น” ในการนำเจ้าหญิงอเล็กซานดราเสด็จไปพักผ่อน อาจจะไม่ใช่เรื่องไม่มีการเมืองเสียเลยก็ได้ (แต่สตีเวนสันไม่ได้พูดถึง “ท่านชิ้น” ในการเล่าการเสด็จเยือนของอเล็กซานดรา และทายาท “ท่านชิ้น” เองก็ไม่ได้เชื่อมโยงการเยือนนี้กับความเข้าใจผิดก่อนหน้านั้นระหว่างราชวงศ์อังกฤษ-ในหลวง-“ท่านชิ้น” ในกรณีสวรรคต)
การสนทนาระหว่างลอร์ดหลุยส์เมานท์แบทเทนกับพระองค์เจ้าธานี ซึ่งเป็นสาเหตุให้ราชสำนักไทยทราบข่าวลือในแวดวงราชสำนักอังกฤษ ซึ่งลูกสาว “ท่านชิ้น” เล่าข้างต้น คือกรณีเดียวกับที่ปรีดีเอ่ยพาดพิงถึง (แต่ไม่เล่ารายละเอียด) ใน ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (จนถึง ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๕) พิมพ์ครั้งที่ ๒ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, ๒๕๓๕, หน้า ๘๕.
ที่มาของบทความ : somsak's work : คำอธิบายกรณีสวรรคตของ “ท่านชิ้น”
วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
คำอธิบายกรณีสวรรคตของ “ท่านชิ้น”
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 10:04 หลังเที่ยง
ป้ายกำกับ: กรณีสวรรคต
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น