วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ : God, King and Country


นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงนำเอาคำขวัญของประเทศอังกฤษคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (God, King and Country) มาใช้อธิบายสถาบันหลักของไทย ก็ทำให้คำขวัญทั้งสามนี้กลายเป็นอุดมการณ์ของรัฐไทย ทั้งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สืบมาจนถึงสมัยที่ความเป็นชาติของไทยปรากฏขึ้นชัดเจนมากขึ้นหลัง 2475 เป็นต้นมา

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุดมการณ์นี้ถูกปลูกฝังอย่างเป็นระบบ ผ่านการศึกษามวลชนและสื่อที่ขยายตัวกว้างขึ้น อีกทั้งถูกใช้เป็นเหตุผลในการปฏิบัติการทางสังคมของคนกลุ่มต่างๆ ทั่วไปในเมืองไทย แต่คงมี "เชื้อ" อะไรบางอย่างในสังคมไทยอยู่ด้วย ที่ทำให้แพร่หลายได้เร็วและยึดมั่นกันแน่นแฟ้นอย่างที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนในคำขวัญทั้งสามซึ่งถูกสถาปนาขึ้นเป็นอุดมการณ์ของรัฐไทยมาตั้งแต่แรก และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนนั้นสืบมา แม้ว่าประเด็นความคลุมเครืออาจเปลี่ยนไป จากจุดเดิมกลายเป็นจุดใหม่ซึ่งเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเอง

และผมอยากจะคุยถึงความคลุมเครือนี้ รวมทั้งพยายามสร้างความชัดเจนตามความเข้าใจของผมในบางส่วนด้วย

ความไม่ชัดเจนประการแรกก็คือ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ชาติและศาสนาหมายถึงอะไรกันแน่ ผมขอเริ่มกับศาสนาก่อน

ศาสนาหมายถึงพระพุทธศาสนาหรือทุกศาสนาซึ่งเป็นที่นับถือของประชาชนกันแน่ ถ้ากลับไปอ่านพระราชนิพนธ์ของ ร.6 ก็จะพบหลายบทความด้วยกันที่ทรงชี้ว่าความเป็นคนไทยผู้รักชาติอย่างสมบูรณ์นั้น ย่อมหมายถึงการเป็นพุทธศาสนิกชนด้วย "ศาสนา" ที่จะไปกันได้กับ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" จึงหมายถึงพระพุทธศาสนา

หลัง 2475 กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นผู้ให้คำอธิบายใหม่ว่า "ศาสนา" ในอุดมการณ์ของชาตินั้น ย่อมหมายถึงทุกศาสนา เมื่อทรงอธิบายถึงสถานะ "องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก" ของพระมหากษัตริย์ไทยว่า มิได้ทรงอุปถัมภ์แต่เพียงพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เป็นราชประเพณีมาแต่โบราณแล้วที่ทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนา

ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า "ศาสนา" ในอุดมการณ์ดังกล่าวพึงมีความชัดเจนขึ้นในสมัยหลัง 2475 มานี้เอง

ในส่วนความหมายของชาติยิ่งคลุมเครือ ตามปกติในชาติอื่นๆ "ชาติ" ย่อมหมายถึงประชาชนหรือพลเมือง อันเน้นความหมายของความเป็นเจ้าของรวมกัน และอย่างเท่าเทียมกันของ "ชาติ" จึงเป็นธรรมดาที่ความหมายนี้ย่อมไม่สอดคล้องกับระบอบปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะไม่มี "พลเมือง" ในรัฐอย่างนั้น มีแต่ "ข้าราษฎร" เท่านั้น

และด้วยเหตุดังนั้น ความหมายของ "ชาติ" จึงถูกทิ้งให้คลุมเครืออยู่อย่างนั้น และผมเข้าใจว่ายังคลุมเครือมาจนถึงปัจจุบัน

จะว่าไม่มีความหมายของ "ชาติ" เสียเลยก็ไม่ถูก นับตั้งแต่ ร.6 แล้วที่มีคำอธิบายว่า "ชาติ" หมายถึงคนที่รวมตัวกันมาอยู่ภายใต้การปกครอง (สมัยนั้นย่อมเรียกว่าพระมหากษัตริย์) เดียวกัน นับถือสิ่งที่เห็นว่าดีว่างามร่วมกัน (มีวัฒนธรรมร่วมกัน) และมีความรู้สึกผูกพันเพราะถือเป็นพวกเดียวกัน

ก็ไม่ผิดหรอกนะครับ แต่ขอให้สังเกตด้วยว่า ในนั้นไม่มีความหมายของการเป็นเจ้าของ "ชาติ" ร่วมกัน และไม่มีความหมายของความเท่าเทียมอยู่ด้วย ดังที่ผมกล่าวแล้วย่อมมีไม่ได้ในระบอบปกครองอย่างนั้น

แต่จนหลัง 2475 มาจนปัจจุบัน ผมคิดว่าความหมายของชาติที่เราใช้อยู่ก็ยังรับสืบทอดมาจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หน้าตาเฉย คุณสมบัติสำคัญที่เน้นแทนที่จะเป็นสิทธิอันเท่าเทียมของพลเมือง กลับเป็นความเหมือนกันในด้านต่างๆ เช่น ความจงรักภักดีต่อสิ่งเดียวกัน, วัฒนธรรมที่เหมือนกัน, ภาษาที่เหมือนกัน, และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเมืองการปกครอง (ประเทศไทยอันแบ่งแยกมิได้มีความหมายแม้แต่ห้ามขุดคอคอดกระ ฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงระบบกฎหมายที่หลากหลาย, เขตปกครองพิเศษ, ภาษาทางการที่สอง ฯลฯ)

ความคลุมเครือไม่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างสามสถาบันนี้ ทั้งสามสถาบันนี้จะขัดแย้งกันเองได้หรือไม่ ? เช่น ประโยชน์ของชาติขัดกับประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสถาบันศาสนา เป็นต้น และถ้าหากเกิดอย่างนั้นขึ้นจริง เราจำเป็นต้องเลือกอย่างใดก่อน

ความไม่ชัดเจนในแง่นี้ ไม่เป็นปัญหาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะท่านเน้นให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแกนกลางที่จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างสถาบันทั้งสามนั้น ไม่มีทางนำไปสู่ความแตกสลายได้ เช่น ชาติกับศาสนาอาจขัดแย้งผลประโยชน์กัน แต่ตราบเท่าที่ยังจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความขัดแย้งนั้นก็ไม่นำไปสู่สงครามกลางเมืองหรือสงครามศาสนาได้

แต่หลัง 2475 โดยเฉพาะภายใต้รัฐเผด็จการทหาร สถาบันทั้งสามถูกทำให้เป็นสามอย่างที่ไม่สัมพันธ์กันภายใต้สถาบันใดสถาบันหนึ่ง

ผมเข้าใจว่า คงมีคนเห็นปัญหาความคลุมเครือไม่ชัดเจนตรงนี้เหมือนกัน จึงมีการนำเอา "รัฐธรรมนูญ" เข้ามาเป็นสถาบันที่สี่ในอุดมการณ์ของชาติอยู่ช่วงหนึ่ง

อันที่จริง รัฐธรรมนูญเป็นสถาบันที่อาจเป็นแกนกลางของทุกสถาบันได้จริง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของทั้งสามสถาบันนั้นในเชิงที่สอดคล้องประสานกัน ถ้าสถาบันใดไม่เป็นไปตามนั้นก็ย่อมขัดรัฐธรรมนูญ และไมน่าจะเป็นสถาบันหลักของชาติอีกต่อไป

เช่น โดยอาศัยนามของชาติ ออกกฎหมายห้ามมิให้พลเมืองไทยนับถือศาสนาอื่นใดนอกจากพระพุทธศาสนา กฎหมายนั้นก็ใช้ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ชาติมีความสัมพันธ์กับศาสนาในลักษณะนั้นได้

หรือผู้ใดใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ล้มล้างรัฐบาลที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ การกระทำของเขาย่อมเป็นหมัน เพราะเกินข้อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับชาติในรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้น ตามความเข้าใจของผม การยกรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นสถาบันที่สี่จึงไม่ถูกต้องทีเดียวนัก เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่อีกสถาบันหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นตัวกำกับสถาบันทั้งสามต่างหาก อุดมการณ์ของชาติจึงน่าจะเป็น "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ปราศจากรัฐธรรมนูญ ความประสานสอดคล้องระหว่างสถาบันทั้งสามก็หายไปด้วย เพราะวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมต้องเปลี่ยนไป เกิดบริบทใหม่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์หมดหน้าที่เป็นแกนกลางความสัมพันธ์ของสามสถาบันอย่างที่เคยเป็นมา สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และการดำรงอยู่ของสถาบันย่อมขึ้นอยู่กับการดำรงอยูของรัฐธรรมนูญ

ผมจึงเห็นว่า คาถาที่ท่องกันติดปากเสมอว่า "การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นั้น ต้องท่องคู่กับอีกคาถาหนึ่งคือ "พระมหากษัตริย์อันมีพระราชอำนาจและพระราชสถานะตามรัฐธรรมนูญ"

ผมทราบว่าความเห็นของผมในแง่นี้คงไม่ตรงกับนักนิติปรัชญาไปทุกคน

นักกฎหมายสำคัญของไทยท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า เมื่อเกิดรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยย่อมกลับไปเป็นของพระมหากษัตริย์

ผมรู้สึกว่ามันทะแม่งๆ อย่างไรชอบกลอยู่ ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะหาคำอธิบายแย้งท่านได้

นั่นก็คืออำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชนชาวไทยเพียงเพราะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่โดยหลักการของความเป็นรัฐชาติหรือรัฐประชาชาติ อธิปไตยย่อมเป็นของปวงชนเสมอและอย่างแน่นอน แม้แต่หลีกเลี่ยงไปใช้คำว่า "มาจาก" ก็ยังหนีไม่พ้น เพราะถ้าอธิปไตย "มาจาก" ปวงชน ต้นกำเนิดของอธิปไตยก็คือปวงชนอยู่นั่นเอง

ไม่มีรัฐชาติที่ไหนในโลกจะปฏิเสธหลักข้อนี้ได้ แม้แต่เป็นเผด็จการขนาดฮิตเลอร์หรือสตาลิน ก็ต้องยอมรับว่าอธิปไตยของปวงชน ถ้าไม่ยอมรับก็ต้องเลิกเป็น "ชาติ" แล้วถอยกลับไปเป็นรัฐราชสมบัติ หรือรัฐชนเผ่าอย่างเดิม

ฉะนั้น ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยจะเกิดจากการพระราชทานหรือเกิดจากการลงพระปรมาภิไธยรับ ตอนนั้นอธิปไตยได้กลับกลายเป็นของปวงชนไปแล้ว แม้แต่ในทางทฤษฎี แล้วผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่าจะใช้กระบวนการอะไรจึงจะถอนคืนได้อย่างชอบธรรม แน่นอนว่าถอนคืนด้วยรัฐประหารยิ่งไม่ชอบธรรมขึ้นไปใหญ่

ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อใดที่เกิดรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เมื่อนั้นอำนาจอธิปไตยย่อมกลับคืนมาเป็นของปวงชน โดยไม่มีกติกาของรัฐธรรมนูญกำกับควบคุมการใช้อำนาจนั้นอีกต่อไป ผลคือเละครับ

และโดยอาศัยหลักการดังกล่าวนี้เท่านั้นที่ ม.65 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีความหมายได้ นั่นก็คือ "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้"

เพราะอำนาจอธิปไตยยังเป็นของปวงชนอยู่ ปวงชนจึงมีสิทธิที่จะต่อต้าน ถ้าอำนาจอธิปไตยหลุดมือไปเป็นของคนอื่นแล้ว การต่อต้านย่อมกลายเป็นการกบฏต่ออำนาจอธิปไตย

ผมได้แต่หวังว่า นี่เป็นเพียงข้อถกเถียงทางวิชาการบนกระดาษเท่านั้น เพราะเราคงไม่ต้องเผชิญกับการฉีกรัฐธรรมนูญในเมืองไทยอีกเลย

อย่างไรก็ตาม หลัง 2475 ความคลุมเครือไม่ชัดเจนในอุดมการณ์ของชาติก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าความไม่ชัดอาจเปลี่ยนไปสู่สถาบันอื่นแทน

เช่น มีความชัดเจนในเรื่อง "ศาสนา" ว่าหมายถึงทุกศาสนา ซึ่งหมายความว่าความรักชาติคือความยึดมั่นว่าชาติของเราเป็นชาติที่ประกันเสรีภาพและความเท่าเทียมกันทางศาสนาอย่างแน่นแฟ้น

ในขณะที่จุดเน้นความเท่าเทียมและสิทธิอันเสมอภาคของพลเมืองในความเป็น "ชาติ" เพิ่งแพร่หลายมากขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แม้กระนั้นก็ดูเหมือนผู้มีอำนาจจะเผลอไผลในเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ แต่ผมคิดว่าถึงอย่างไรก็มีโอกาสที่ความหมายของ "ชาติ" ในแง่นี้จะงอกรากในเมืองไทย มั่นคงแข็งแรงขึ้นได้ในอนาคต

ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นของใหม่ในประเทศไทย ซ้ำยังถูกขัดขวางหรือระงับใช้อยู่เป็นเวลานาน ฉะนั้น ทุกสถาบันของสังคมจึงล้วนเป็นคนหน้าใหม่ของระบอบนี้กันทั้งนั้น ว่าเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็นับเป็นของใหม่ในวัฒนธรรมไทยเช่นกัน ฉะนั้น สถานะและบทบาทของสถาบันนี้จึงไม่ชัดเจนนัก ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างข้อถกเถียงที่ผมยกขึ้นข้างบนนั้นเป็นต้น

อันที่จริง ผมควรกล่าวด้วยว่า ที่เรียกกันว่าอุดมการณ์ของชาติอื่นๆ นั้น ก็หาได้ชัดเจนไม่ คลุมเครือไปหมดไม่ ทั้งนี้เพราะเมื่อโลกและสังคมปลี่ยนไป ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่คนจะให้ความหมายใหม่หรือขยายความหมายเก่าให้ครอบคลุมต่อปฏิบัติการทางสังคมใหม่ๆ ซึ่งเกิดขึ้น


นิธี เอียวศรีวงศ์
มติชนสุดสัปดาห์

Monday, May 09, 2005

ที่มา : http://mynoz.blogspot.com/2005/05/god-king-and-country-2475.html

ไม่มีความคิดเห็น: