วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เรียนรู้สังคมสยามจากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4


ตอนที่ 1

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อาจเป็นพระมหากษัตริย์ที่คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับพระองค์ท่านน้อยที่สุด เมื่อพิจารณาจากปริมาณหนังสือและงานวิชาการเกี่ยวกับพระองค์ท่าน นอกจากเรื่องสนธิสัญญาบาวริ่ง สุริยุปราคาที่หว้ากอ และเรื่องแต่งของแหม่มแอนนาแล้ว นับว่าความรับรู้เกี่ยวกับพระองค์ท่านในสังคมไทยค่อนข้างพร่าเลือน

26 พฤศจิกายน 2547 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศ ได้จัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อเทิดพระเกียรติในโอกาส 200 ปีแห่งพระราชสมภพ การอภิปรายเรื่อง “ภาพสังคมสยามจากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4” ถูกจัดขึ้น ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

วิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คุณวารุณี โอสถารมย์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต, อ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ประชุมประกาศกว่า 343 ฉบับซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงคัดเลือกเพื่อตีพิมพ์ครั้งแรกในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง... การค้าเสรียุคแรก การเปลี่ยนสถานภาพของรัฐ และการจัดรูปสังคมวัฒนธรรม ฯลฯ รอการเรียนรู้จากผู้คนในสังคมไทย เรื่องราวเหล่านี้กำลังรอการเรียนรู้จากผู้คนในรุ่นหลัง

“เพราะเราคิดว่าเรารู้เรื่องแต่เอาเข้าจริงแล้วเราอาจจะไม่รู้ก็ได้ เพราะเราก็ท่องกันมา เรามักพูดถึงเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เรื่องของการหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคม นั่นเป็นประเด็นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาฯ เป็นส่วนใหญ่ แต่เอาเข้าจริงเราก็เห็นว่าเรื่องมันมีมากมายกว่านั้นอีก”ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวเปิดประเด็น


เราเรียนรู้อะไรจากประชุมประกาศ

“ผมเห็นอะไรในประชุม ผมเห็นความสับสนอ่อนแอทางความรู้ความเชื่อเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและยุคสมัยของพระองค์ในสังคมไทยปัจจุบัน”

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวพร้อมยกตัวอย่างที่เด่นชัด 2 ประการ

“ประการแรก ถ้าในฐานะของผู้สอนหนังสือทางด้านประวัติศาสตร์ทั้งการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ เราจะหมายถึงรัชกาลที่ 123 แล้วเราก็หยุด เมื่อเราอธิบายถึงยุคสมัยการปฏิรูปการปกครองเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ตามแบบตะวันตกเราอธิบายถึงรัชกาลที่ 5 ต่อด้วย 6และ7 เมื่อนั่งอยู่ตรงนี้ผมก็นึกว่าแล้วรัชกาลที่ 4 อยู่ที่ไหน ผู้ที่สอนประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และเศรษฐกิจก็จะบอกว่าอยู่ระหว่างกลางแล้วเราก็ข้ามไป ”

ความเลือนลางในการเรียนรู้เกี่ยวกับพระจอมเกล้าที่เด่นชัดมากคือหนังสือหรือหนังสือวิชาการการค้นคว้าเกี่ยวกับพระจอมเกล้ามีน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับรัชกาลอื่น ๆ ในพระบรมราชจักรีวงศ์

อีกตัวอย่างของความสับสนอ่อนแอในการรับรู้เกี่ยวกับรัชกาลที่ 4 คือข้อเท็จจริงที่ว่า ประชุมประกาศกว่า 343 ฉบับที่รวมเล่มตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ มิใช่ประกาศทั้งหมดของพระองค์ในช่วงรัชสมัย 17 ปี ของพระองค์ แต่เป็นการคัดสรรโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

“คำถามก็คือว่ามีประกาศอีกจำนวนเท่าไหร่ มากแค่ไหนที่อยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ นี่อาจเป็นสภาวะเซื่องซึมของกระทรวงวัฒนธรรมที่ไม่กระทำอะไรเลยเกี่ยวกับช่วงเวลา 200 ปีของพระองค์”

ผศ.ธำรงศักดิ์ กล่าวพร้อมสรุปความรับรู้ของสังคมไทยเกี่ยวกับพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.... “ดูเหมือนยิ่งใหญ่แต่ลางเลือน”


ประกาศ ร.4: ความรู้คืออำนาจ

ประเด็นต่อมาที่ผศ.ธำรงศักดิ์เสนอคือ ความรู้คืออำนาจ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ที่สถาปนาองค์ความรู้มากมาย ดังนั้นจึงเป็นพระองค์เองที่กำหนดว่าอะไรถูกอะไรผิด

ดร.ชาญวิทย์ นำเสนอเพิ่มเติมว่า ประกาศรัชกาลที่ 4 นั้นได้รับการคัดเลือกโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อตีพิมพ์ครั้งแรกในปลายรัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ. 2464 และถูกติพิมพ์ซ้ำมาอีกหลายครั้ง

เนื้อหาของประชุมประกาศที่ได้รับการตีพิมพ์นั้น เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาทั้งเรื่องภาษาวรรณคดี เรื่องราวทางสังคม และรัชกาลที่ 4 ได้มีการฟื้นฟูประเพรีสมัยอยุธยา และหากจะวิเคราะห์ ทางวิชาการจริง ๆ แล้ว หลายสิ่งในประชุมประกาศเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น

ดร.ชาญวิทย์ถึงความรู้ที่ถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 และทรงอิทธิพลต่อสังคมไทยปัจจุบันว่า

รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ประเพณีสมัยอยุธยา โดยที่ก่อนหน้านั้นเอาเข้าจริงแล้วเราในยุคปัจจุบันไม่มีทางรู้จริง ๆว่าอยุธยาเป็นอย่างไร ซึ่งหลักวิชาการทางมานุษยวิทยาสังคมวิทยาเรียกว่าเป็น ประเพณีประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเพณีที่เราถือมาสืบทอดกันอยู่ในปัจจุบันก็ล้วนมาจากวาทกรรมของ ร. 4 แทบทั้งสิ้น”


ตอนที่ 2 : ประกาศ ร. 4 การสื่อสารคืออำนาจ

“เราจะเห็นว่าพระจอมเกล้าทรงใช้ประกาศเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างพระองค์กับผู้อยู่ใต้ปกครองของพระองค์ กลุ่มต่าง ๆ อย่างที่ไม่เคยมีจารีตเช่นนี้มาก่อนในสยาม และประเด็นต่อไปคือประกาศเหล่านี้มีความกว้างขวางและสารสื่อเข้าถึงราษฎร และผู้รับสารโดยเฉพาะได้มากกว่าสมัยก่อน ทั้งนี้เพราะการมีเครื่องพิมพ์ของหลวงเองในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากของสยามที่มีเครื่องพิมพ์เข้ามา” ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าว

“หากรัชกาลที่ 4 ท่านอยู่ในบริบทของเราสิ่งที่ท่านทรงDialogue(พระราชปฏิสันถาร) กับราษฎร ก็จะคล้าย ๆ กับรายการคุยกับประชาชนวันเสาร์ ถ้าเป็นของอเมริกาก็คือรายการ ของ ประธานาธิบดี แฟรงคลินท์ ดีรูสท์เวลท์ คือ การคุยกับราษฎรในทุก ๆ เรื่อง”รศ.ดร.ธเนศเปรียบเทียบโดยมีบทวิเคราะห์ว่า

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 สะท้อนว่า ผู้ปกครองในขณะนั้นเริ่มคิดถึงเรื่องการสื่อสาร ถ่ายทอดถึงความต้องการ อำนาจ หรือเป้าหมายลงไปยังคนจำนวนมาก และในกรณีของรัชกาลที่ 4 หลังจากขึ้นครองราชย์แล้วสิ่งที่ปรากฏในประชุมประกาศ เอกสารสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราชกิจจานุเบกษา เป็นการบอกเน้นความต้องการว่าต้องการสื่อสาร ข้อความและจดหมายทางการเมืองเหล่านั้นไปถึงผู้รับคือราษฎรซึ่งก็คือผู้อยู่ใต้ปกครองโดยทางตรง ไม่ต้องผ่านตัวแทน ไม่ต้องผ่านพิธีกรรมตามประเพณีเดิม

การพยายามสื่อสารทางตรงนี้เอง เป็นสิ่งแสดงว่ากลุ่มผู้เริ่มปกครองเริ่มมองเห็นการก่อรูปขึ้นของผู้อยู่ใต้ปกครองที่เป็นนามธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ดร.ธเนศเปรียบเทียบประชุมประกาศกับกฎหมายที่เคยประกาศใช้ก่อนหน้านี้ซึ่งปรากฏว่า กฎหมายก่อนหน้าประชุมประกาศจะระบุถึงผู้อยู่ใต้ปกครองที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมมาก เช่น ข้า ทาส บ่าว ไพร่ ทุกคนมีสังกัดแน่นอน แต่แนวคิดใหม่ที่มากับรัฐใหม่ที่เกิดขึ้น ระบุถึงผู้อยู่ใต้ปกครองที่เป็นนามธรรม คือ คำว่าพลเมือง ซึ่งระบุไม่ได้ว่าใครอยู่ตรงไหน

ทั้งนี้ การที่ผู้ปกครองสามารถมองเห็นผู้อยู่ใต้ปกครองอย่างเป็นนามธรรมได้เพราะเขารู้ว่าตัวเองมีเทคโนโลยีหรือมีความสามารถในการทำให้การสื่อสารนั้นลงไปถึงมวลราษฎรเกิดเป็นจริงได้

และเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่สร้างอำนาจในการสื่อสารในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็คือคือแท่นพิมพ์ เทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่ที่มาพร้อมหมอบรัดเลย์

...และจากนั้นไปการคิดเรื่องใหม่ ๆ ก็จะตามมาเพราะการพิมพ์นั้นจะสร้างมาตรฐานหรือระเบียบทั่วไปของเรื่องนั้นขึ้นมา เช่นการเขียน การสะกดการันต์ ไปจนถึงการสร้างนโยบายต่างๆ

“ความฝันของบรรดารัฐสมัยใหม่ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นตะวันออกหรือตะวันตก คือ ความสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อยู่ใต้ปกครองด้วยแนวคิดทั่วไปได้ อำนาจที่แท้จริงของผู้ปกครองไม่ต้องถูกตัดทอน แบ่งแยก ตีความและแอบอ้างโดยคนของรัฐอีกต่อไป นี่คือทฤษฎีในทางปฏิบัติ แต่ผมคิดว่าในความเป็นจริงแล้วมันก็ยังไม่สามารถทำได้ถึงขนาดนั้น”

ดร.ธเนศกล่าวและอธิบายต่อไปว่าอย่างไรก็ตาม การสนทนากับประชาชนนั้น ถ้าผู้ทำการสนทนาไม่มีเป้าหมายที่เด่นชัดก็จะไม่เกิดผลประโยชน์เท่าใดนัก แต่สิ่งที่รัชกาลที่ 4ทรงกระทำนั้น มีความพยายามและมีผลงานออกมาจนกระทั่งเป็นรากฐานของการปกครองในปัจจุบันนี้หลายเรื่อง เช่นการพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจะแก้การที่มีคนโกง และใช้อำนาจตามอำเภอใจ สร้างความไม่เป็นธรรม ทำให้ราษฎรไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วกฎหมายเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาก็คือการกำกับอำนาจการปกครองให้เป็นมาตรฐานอันเดียวกัน ให้เกิดความรับรู้ทั่วไป ชาวบ้านก็รู้ได้ แล้วก็รู้กันเองด้วย ไม่ใช่รู้ด้วยปากเป่า แค่การไปป่าวประกาศไม่พอ เพราฉะนั้นทุกคนต้องขวนขวายที่จะรู้ที่จะอ่าน

“รัชกาลที่ 4ทรงพยายามที่จะแก้ปัญหาเกี่ยวกับความไม่รู้ และเข้าใจผิด โดยทรงพยายามสร้างความเข้าใจและความจริง ทว่าสิ่งที่พระองค์เพียรกระทำนั้นบรรลุผลหรือไม่ เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นหลักการตามตัวหนังสือ” ดร.ธเนศกล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ของความพยายามซึ่งไม่อาจชี้วัด และกล่าวถึงมาตรวัดประการหนึ่งว่าหากบรรลุตามที่รัชกาลที่ 4 ต้องการ ผลของการที่รัชกาลที่ 4 ทรงพยายามสร้างความรู้และการสื่อสารจะต้องยกระดับการเมืองให้สูงขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่นี้ในระดับที่สูงมาก แต่ก็จะพบว่าหลังรัชกาลที่ 5 มาเราก็จะพบว่าระบบเศรษฐกิจและการเมืองเริ่มจะถอยหลัง ฉะนั้นพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 4 เมื่อประเมินกับระบบการเมืองที่เป็นจริงแล้วนั้นก็เป็นปัญหาเหมือนกับปัญหาทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับระบบทางการเมืองของเราซึ่งก็เป็นระบบบนลงล่างอยู่ตลอดมา......

“การสื่อสารคืออำนาจ ทั้งความรู้คืออำนาจและการสื่อสารคืออำนาจนำไปสู่กระบวนการผลิตซ้ำทางสังคม นับตั้งแต่หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต โดยการตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 และตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใช้เป็นคู่มือแบบเรียนของชนชั้นนำทางสังคมจนกระทั่งถึงปัจจุบัน.. .ถ้าเราอยากรู้ว่าตัวตนของเราคืออะไรในปัจจุบัน อ่านประชุมประกาศรัชกาลที่ 4” ผศ.ธำรงศักดิ์ให้คำจำกัดความ “อำนาจ” ของประชุมประกาศรัชกาลที่ 4...อำนาจที่ส่งผลกำกับ “ความเป็น” ของคนไทยและสังคมไทยตราบกระทั่งปัจจุบัน


ตอนที่ 3 : การสถาปนารัฐสมัยใหม่ และการกำหนดช่วงชั้นทางสังคม

รศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวถึงการทำความเข้าใจประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ว่า ต้องพิจารณาจากบริบทความเปลี่ยนแปลง 2 ด้าน คือ

ด้านแรก ตัวประชุมประกาศเองแสดงให้เห็นบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 2 ระดับด้วยกัน

-การเปลี่ยนแปลงระดับแรก คือ การเปลี่ยนรูปรัฐมาเป็นรัฐบาล จากรัฐที่ครั้งหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีบริการ(Service) และ การควบคุม (Control)


ก้าวสู่ความเป็นรัฐบาลด้วยการบริการและควบคุม

รัฐดั้งเดิมที่ปราศจากการบริการและการควบคุมนั้นจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นหากจินตนาการถึง รัฐแบบอยุธยา คือรัฐที่มีการเก็บส่วยไปแต่ไม่ต้องสร้างโรงพยาบาล

การเริ่มเปลี่ยนมาเป็นรูปจากรัฐมาเป็นรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 4 หมายถึงการสร้างงานขึ้นมาอย่างน้อย 2 ด้านคือการบริการและควบคุม (Service และ Control) ซึ่งเห็นชัดจากประชุมประกาศฯ เช่น การประชุมประกาศที่เก็บภาษีเพื่อสร้างบริการ คำว่าทำนุบำรุงบ้านเมืองหรือทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขก็คือความหมายของการเปลี่ยนรูปเป็นรัฐบาลที่ต้องทำหน้าที่บริการและควบคุม

เราจะเห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนรูปของรัฐมาเป็นรัฐบาลโดยเฉพาะด้านการควบคุมเป็นร่องรอยแรกที่เกิดขึ้นและดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ด้านการควบคุมนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนเริ่มต้นมาจากการแบ่งช่วงชน ชนชั้น หรือการแบ่งช่วงของชนในสังคม ประเด็นที่ถูกเน้นย้ำที่สุดก็คือการยกระดับของสถาบันกษัตริย์ขึ้นมา อ้างอิงความบริสุทธิ์ของสายเลือด ขีดเส้นแบ่งระหว่างราชวงศ์กับหม่อมราชวงศ์ลงมาการยกระดับการพูดถึงวันเฉลิมเป็นวันหยุด นั่นคือการแบ่งช่วงของคนในสังคมให้ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากการควบคุมและการแบ่งช่วงของสังคม ก็ยังมีการสร้างพื้นที่ของสังคมขึ้นมา เราจะพบว่า ในประชุมประกาศความสะอาดความสกปรก มีการพูดถึงพื้นทางทางสังคมในหลายมิติ ในการควบคุมพฤติกรรมของคนก็มีมีการพูดถึงความสุภาพ หยาบคายและบทบาทของรัฐในการควบคุมก็คือพยายามทำให้สกปรกหายไปกลายเป็นความสะอาดทำให้ความหยาบคายหายไปกลายเป็นความสุภาพ

การควบคุมแบบนี้คือการสร้างพื้นที่แบบหนึ่งซึ่งกลายเป็นพื้นที่ที่รัฐจะต้องเข้าไปดูแลซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่ถูกเน้นขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ...รัฐมีหน้าที่ทำนุบำรุงโดยการสร้างพื้นที่และรัฐเป็นคนดูแล

ด้านการบริการ ที่เกิดขึ้นคือส่งเสริมการค้าขาย บริการด้านความสะอาด การส่งเสริมด้านสมบัติส่วนบุคคล และที่น่าสนใจก็คือความรู้เรื่องสุขภาพอนามัยซึ่งเริ่มเป็นความรู้ที่เข้าไปสู่เรื่องของตัวบุคคลมากขึ้น

“นอกจากเรื่องควบคุมและบริการแล้ว ผมคิดว่ามีการพยายามที่จะจัดกระบวนใหม่ในการช่วงที่ระบบไพร่พังทลายลง เราจะพบการประกาศในเรื่องของมูลนาย ไพร่ จีน เจ้าภาษี ซึ่งเป็นความปั่นป่วนของระบบไพร่ โดยรัชกาลที่ 4 พยายามที่จะจัดการด้วยการขยายอำนาจรัฐลงไปมากขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนระบบไพร่มาสู่ระบบใหม่”

-การเปลี่ยนแปลงระดับล่าง เนื่องจาก ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนเป็นรัฐสมัยใหม่ ไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาด ดังนั้นใครสามารถช่วงชิงพื้นที่ได้ก็จะมีอำนาจมากขึ้น ในช่วงนั้นเอง อนาคตของขุนนางก็ไม่ได้วางอยู่บนฐานเศรษฐกิจแบบส่วยและแรงงานแบบเดิมแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับระบบตลาด ดังนั้นขุนนางจึงแตกเป็นกลุ่ม ไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาด

ประชุมประกาศของรัชกาลที่ 4 สามารถทำให้ทุกคนเห็นซึ่งกันและกันได้ ด้วยการหยิบเอาเรื่องนินทาขึ้นมาประกาศให้ทุกคนรู้ และการที่ทำให้ทุกคนเห็นซึ่งกันและกันได้ก็สามารถลดปัญหาเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อแย่งอำนาจ และยิ่งจะทำให้การเมืองภายในกลุ่มต่าง ๆ ลดลง กระบวนการเปิดทำให้ทุกคนหยั่งรู้ได้ว่าใครจะเดินไปทางไหนและพระองค์ก็สามารถหยั่งรู้ได้มากกว่าคนอื่น ๆ ด้วย


อีกด้านของอำนาจ: เวลากับความรู้

นอกจากการแบ่งช่วงชั้นสร้างพื้นที่ทางสังคมแล้วอีกประการที่สำคัญ คือ ร.4 พยายามที่จะควบคุมเวลา การอธิบายเวลาที่เป็นมาตรฐานเดียวหรือพยายามที่จะทำให้เป็นมาตรฐานเดียว สามารถ จัดปฏิทินชีวิตของคนไทยขึ้นมาได้ สามารถทำให้แต่ละจังหวัด แต่ละช่วงใน 1 ปี ถูกกำกับโดยพระมหากษัตริย์

การควบคุมเวลาได้หมายถึงการมีอำนาจมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วก็มีการควบคุมทางเศรษฐกิจ คือการสร้างมาตรฐานกลางในการแลกเปลี่ยนขึ้นคือสิ่งที่เราเรียกว่าเงินตรา โดยสร้างความเชื่อถือขึ้นมา สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเริ่มระบบแลกเปลี่ยนในสังคมเงินตราคือการสร้างความเชื่อถือให้ได้

อีกประการคือการสร้างสิ่งที่เป็นความรู้ขึ้นมา การแสดงเป็นผู้มีภูมิปัญญาในทุก ๆ มิติ ได้แสดงว่าเป็นผู้มีความรู้ทางด้านอดีตของสังคมไทย พร้อม ๆไปกับการพยากรณ์อนาคตด้วยจึงทำให้รัชกาลที่ 4 สามารถที่ถ่ายทอดอำนาจมายังพระโอรสด้วย


ตอนที่ 4 : สถานะกษัตริย์จากประกาศรัชกาลที่ 4

คุณวารุณี โอสถารมย์ นักวิจัยจากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่าเมื่อพิจารณาจากประชุมประกาศแล้วสามารถจำแนกสถานะออกเป็น 2 ส่วนคือ

ประการแรก ลายลักษณ์ที่ถ่ายทอดมาจากสิ่งที่พระมหากษัตริย์ประสงค์จะสื่อให้กับผู้รับสาร เป็นสื่อในระยะแรก อย่างน้อย 6 ปีก่อนตั้งโรงพิมพ์

ลายลักษณ์ที่ถ่ายทอดออกมาในช่วงแรกนี้ ออกมาในรูปของจารีต คือการรับสั่ง หรือเขียนแล้วให้อาลักษณ์เอาไปคัดลอกต่อ เพราะฉะนั้นประกาศที่เราได้อ่านกันจึงเป็นอกสารลายลักษณ์ที่ผ่านการถ่ายทอด 2 แบบคือ 1 ถ่ายทอดจากสิ่งที่พระองค์เขียน หรือผ่านการถ่ายทอดจากสิ่งที่พระองค์รับสั่ง

อย่างไรก็ตามสถานะของประกาศมีลักษณะพิเศษคือว่า เป็นคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นประกาศจึงเป็นเอกสารลายลักษณ์ที่บอกตัวตนของจักรพรรดิราช

และเมื่ออ่านจากประกาศรัชกาลที่ 4 แล้ว จะพบว่าแม้คนรุ่นหลังจะมองว่ารัชกาลที่ 4 เป็นกษัตริย์สมัยใหม่ แต่แท้จริงแล้ว “ตัวตน” ที่พระองค์พยายามถ่ายทอดในประกาศอันนี้ก็คือการบอกสถานภาพของพระองค์ในฐานะองค์จักรพรรดิราชซึ่งเป็นสมมติเทพที่อาจจะมีรากหรือความเป็นมาในแบบจารีตประเพณี

ตัวตน ที่จะบอกว่าเป็นคำสั่งของพระจักรพรรดิราชอยู่ที่พระนามาภิไธย ปรากฏอยู่ตอนต้น ๆ ของประกาศซึ่งระบุชัดว่าตัวผู้ประกาศเป็นใคร

พระนามาภิไธยบอกความฐานะเป็นสมมติเทพแห่งองค์พระอิศวร และยังมีความสำคัญ 2 ประการคือระบุพระนามเฉพาะพระองค์ซึ่งไม่เคยมี ชื่อเฉพาะของกษัตริย์ไม่มีเคยมาก่อน

พระนามาภิไธยของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถือเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งชื่อเฉพาะของกษัตริย์ แล้วก็ใช้เรียกในเวลาที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เพราะก่อนหน้านั้นจะไม่มีการตั้งชื่อพระมหากษัตริย์ที่เป็นชื่อเฉพาะ

ชื่อพระจอมเกล้ายังเป็นชื่อที่สืบทอดความหมายดั้งเดิม คือพระนามที่พระราชบิดาตั้งให้ก่อนครองราชย์คือ มงกุฎ ความหมายของพระจอมเกล้าและพระมงกุฎก็คือ ที่อยู่สูงสุด ก็คือที่อยู่สูงสุดเหนือร่างกายของมนุษย์ เพราะฉะนั้นพระนามของพระองค์จึงย้ำฐานะของพระองค์ในฐานะเจ้าเหนือหัว ทรงเป็นจักรพรรดิราชไม่ได้เป็นกษัตริย์แบบอื่นเลย

ในขณะเดียวกับที่ทรงตั้งชื่อกษัตริย์แทนพระองค์แล้ว ก็ทำให้ต้องถวายชื่อให้องค์กษัตริย์องค์ก่อนหน้านี้ในราชวงศ์จักรีอีก 3 พระองค์ด้วยการจัดทำพระพุทธรูปฉลองพระองค์ถวาย การตั้งชื่อขนานพระนามที่สำคัญที่สุดก็คือการขนานพระนามของพระเชษฐาก็คือรัชกาลที่ 3 ท่านให้พระนามของพระเชษฐา ต่างกับพระนามของพระองค์เอง

พระนามของพระเชษฐาจะมีลักษณะของสามัญชน ในขณะที่พระนามของท่านจะบ่งบอกความหมายที่อยู่สูงสุด อยู่เหนือร่างกายของมนุษย์ และยังอ้างอิงชาติกำเนิดที่ต่างกันโดยอ้างเชื้อสายที่ต่างกันจากการกำเนิดจากพระราชมารดาที่มาจากสายเจ้า ในขณะที่พระเชษฐาเป็นสามัญชน การอ้างอิงนี้มีความสำคัญมากเพราะในท้ายที่สุดจะมีประกาศอีกชุดหนึ่งที่จะบ่งบอกถึงความแตกต่างของชาติกำเนิดเพื่อที่จะทำให้การสืบสายสายสันตติวงศ์มีความชัดเจนขึ้น

ในสร้อยพระนามที่ว่า “มหาชนนิกรสโมสรสมมติ” นั้น เป็นสร้อยพระนามที่กำลังประกาศความหมายให้ทราบโดยทั่วกันว่าวิธีการได้มาซึ่งการดำรงสถานะกษัตริย์ของพระองค์นั้นผ่านมติเห็นชอบร่วมกันของเหล่านิกร คือที่ประชุมที่ประกอบด้วยเจ้านายกับขุนนาง ท่วงทำนองการอธิบายแบบนี้ดูไม่ไกลเกินไปกว่าความรับรู้ของพระองค์ที่มีต่อสภาพความเป็นไปและการปกครองในสังคมอื่น

ทั้งนี้เมื่ออ่านประกาศประกอบกับพระราชหัตถเลขาซึ่งเป็นพระราชสาสน์ฉบับหนึ่งในปี 2402 ถึงประธานาธิบดีสหรัฐ เนื้อความระบุว่าทรงชื่นชมระบบเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่ทรงเห็นว่าทำให้การสืบทอดอำนาจผู้นำเป็นไปโดยสันติ ไม่ต้องขัดแย้ง ไม่ต้องแข่งขันอำนาจกัน พระองค์อาจจะทรงเปรียบเทียบกับสภาวะที่พระองค์ทรงเคยประสบมาก่อนที่ทำให้ต้องทรงยอมรับสภาพชะตากรรมที่ไม่ทรงต้องการเลยด้วยการผนวชเพื่อลี้ภัยการเมือง และบางทีพระองค์อาจจะกำลังวางพื้นฐานวัฒนธรรมการสืบทอดพระราชอำนาจแบบสันติ เพื่อพระราชโอรสองค์สำคัญที่สุดที่เป็นพระราชปิโยรสในอนาคต

พระนามาภิไธยที่อิงความหมายอยู่กับชาติกำเนิดอันดีแล้วอาจจะบ่งบอกความหมายที่ซ่อนอยู่ในนั้นได้ แต่สิ่งที่สำคัญทั้งหมดของประกาศก็คือการบอกคุณสมบัติของจักรพรรดิอย่างพระองค์เท่านั้นที่จะเป็นเจ้าของคำสั่งที่จะทำให้คนอ่านต้องปฏิบัติตาม


ประชุมประกาศ: การกำหนดไวยากรณ์ภาษา

ประกาศรัชกาลที่ 4 ก่อให้เกิดการสร้างแบบแผนของภาษาในสาสน์ลายลักษณ์ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

จากการศึกษาพบว่า แบบแผนสาสน์ลายลักษณ์ประกอบด้วยรูปแบบการเขียน ไวยากรณ์ภาษา การสร้างศัพท์และความหมายใหม่

ในด้านรูปแบบการเขียน มีการแบ่งประเภทของประกาศได้แก่ หมายรับสั่ง พระอักษรสาสน์ตรา ใบบอก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงกำหนดหลักเกณฑ์ว่าหมายรับสั่งจะต้องใช้แบบไหน ใครเป็นผู้ใช้ ใช้อย่างไร เป็นครั้งแรกที่มีการอธิบายรูปแบบการเขียนในประชุมประกาศทั้งหมดนี้

สิ่งสำคัญอีกประการก็คือการกำหนดว่าต้องบันทึกลงในกระดาษสมุดฝรั่ง ซึ่งไม่แน่ว่ารูปของวัสดุที่ใช้คือการใช้กระดาษสมุดฝรั่งและรูปแบบที่ต้องพลิกจากหน้าไปหลังซึ่งเปลี่ยนไปจากเอกสารลายลักษณ์สมุดไทยที่ใช้วิธีพับทบซึ่งอ่านเป็นม้วนยาว ๆ อ่านเรียงตามความยาวมีผลแตกต่างอย่างไร แต่น่าจะมีนัยสำคัญซึ่งเปลี่ยนวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยในเวลานั้นซึ่งยังมีอยู่น้อยนิด

นอกจากนี้ พระองค์ได้ประกาศให้ความรู้เรื่องการผันวรรณยุกต์ มีการใช้พยัญชนะตามอักษรสามหมู่ ตลอดถึงการใช้สระและวรรณยุกต์ให้ถูกต้อง

ในด้านการสร้างศัพท์และความหมาย ทรงบัญญัติศัพท์เป็นจำนวนมากและมีนัยที่สำคัญทางการเมืองด้วย และเป็นความหมายใหม่ นอกจากจะประดิษฐ์ตัวอักษร ท่านเป็นนักประดิษฐ์ศัพท์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เป็นราชาศัพท์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นศัพท์ที่ยืนยันถึงจิตสำนึกในการใช้ภาษาเพื่อรักษาและสืบทอดโครงสร้างสังคมการเมืองที่ลดหลั่นฐานะกันภายใต้ระบบความสัมพันธ์แบบมูลนายไพร่ ซึ่งจริง ๆ แล้วสังคมแบบนี้ก็น่าจะหมายถึงสังคมศักดินานั่นเอง


ตอนที่ 5 : ประกาศรัชกาลที่ 4 ภาพผ่านของการเปลี่ยนแปลงสังคม

“เงื่อนไขอะไร สภาพแวดล้อมอะไรที่ทำให้เกิดประชุมประกาศ กว่า 343 ฉบับ” รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ตั้งโจทย์ไว้ก่อนการอภิปรายถึงภาพของสังคมสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยให้คำตอบว่า สังคมสยามในช่วงรัชกาลที่ 4 คือสภาพของ 2 กระแสที่เข้ามาปะทะและทำปฏิกิริยากัน

2 กระแสที่ว่านั้น อาจจะหมายถึงการปะทะระหว่างกระแสของความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) กับ ลักษณะดั้งเดิมของสยาม (Tradition) ก็ได้ หรืออาจจะหมายถึงการปะทะระหว่างเรื่องส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมก็ได้

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ นักวิชาการประวัติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอวิธีมองประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 อีกแบบ...

“เราสามารถมองประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เป็นเหมือนบันทึกการเดินทางของคนๆ หนึ่งในการดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นสองข้างทางที่คนๆ หนึ่งเดินทางผ่าน ชีวิต 2 ข้างทางนั้นอาจจะหมายถึงสยาม...”

รศ. ฉลองเสนอว่า สิ่งที่น่าสนใจหากมองภาพสังคมสยามผ่านประชุมประกาศก็คือ ในช่วงระยะเวลา 18 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ เราจะพบว่าในช่วงระยะ 3-4 ปีแรกที่ทรงครองราชย์ คือ ตั้งแต่ 2394 - 2397 ก่อนหน้าที่เซอร์จอห์น บาวริ่งจะเข้ามา ภาพของสองข้างทางจะเป็นแบบหนึ่ง

แต่หลังจากปี 2398 เป็นต้นมาเมื่อดูจากประกาศรัชกาลที่ 4 เราก็จะพบว่าภาพ 2 ข้างทางเปลี่ยนแปลงไป... “อาจจะไม่ถึงกับจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของภาพชีวิต”

ตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ ในช่วงระยะ 2 ปีแรกที่ทรงครองราชย์ ประกาศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศให้หรือประกาศห้าม เกือบทั้งหมดจะเป็นเรื่องของพระราชประเพณี คณะสงฆ์ การกำหนดชื่อเรียกสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเมืองหรือข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ

แต่เมื่อปี 2398 เป็นต้นมาเราจะพบเนื้อหาสาระที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าสนธิสัญญาบาวริ่ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าสนใจคือในปีที่สนธิสัญญาบาวริ่งครบรอบ10 ปี จะพบว่าในปีนั้นมีประกาศซึ่งไม่มากในแง่ปริมาณ แต่เป็นประกาศที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลง


สังคมปลูกข้าวและสังคมค้าขาย

เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างจากประชุมประกาศที่ได้รับผลจากสนธิสัญญาบาวริ่ง รศ.ฉลองตั้งประเด็นก่อนอธิบายต่อมา...

ประการแรก เราเห็นความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสยามให้เป็นสังคมของการปลูกข้าว เป็นสังคมของการส่งออกข้าว

ประการต่อมา เมื่ออ่านตัวประกาศ เนื้อหาใจความเกี่ยวกับเศรษฐกิจจำนวนมากเป็นแนวคิดแบบ อดัม สมิธ เช่น การตักเตือนให้ซื้อข้าวก่อนที่ข้าวจะขาดตลาด ก่อนที่จะแพงขึ้นไปก่อนที่ลูกค้าต่างชาติจะมากวาดซื้อ ภาษาคำอธิบายในการเชิญชวนให้ปลูกข้าว เช่นการลดอากรค่านา การพยายามที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของกลไกราคา กลไกตลาด...“เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นอุดมการณ์แบบ อดัม สมิธ

รศ. ฉลองกล่าวพร้อมอ้างอิงหลักฐานในประเด็น “อุดมการณ์แบบ อดัม สมิธ” ว่า ในประกาศหลายฉบับเห็นได้ชัดว่าเรื่องของกลไกราคา กลไกตลาด หรือการค้าเสรีจะถูกแฝงอยู่ในประกาศเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น หลังปี พ.ศ. 2398 ซึ่งมีการเปิดการค้าเสรีเกือบทุกเรื่อง แม้ว่าจะมีการเกรงกลัวว่าข้าวจะขาดตลาด หรือว่า ฤดูการผลิตปีต่อไปอาจจะต่ำเพราะฝนอาจจะแล้ง ทว่ารัชกาลที่ 4 ทรงยืนยันโดยตลอดว่าจะไม่มีการห้ามการส่งออกข้าวหรือว่าห้ามลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาซื้อข้าว โดยมีประกาศออกมาย้ำเตือนว่าพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้เปิดการค้าขายข้าวอย่างเสรี และทรงเตือนว่าถ้ากลัวว่าจะมีการซื้อข้าวแพงก็ให้รีบซื้อ

โดยภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงที่สามารถมองเห็นได้จากประชุมประกาศคือ การเปลี่ยนภาพสังคมไทยเข้าสู่การเป็นสังคมปลูกข้าว และสังคมของการค้า


สังคมเงินตรา

ประการต่อมาที่เห็นได้ชัดคือ สังคมของการใช้เงินตรา ทั้งนี้ รศ.ฉลองอ้างถึงเกร็ดจากประชุมประกาศที่สะท้อนว่า รัฐมีความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่า การค้าซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วซึ่งไปสู่การแลกเปลี่ยนโดยการใช้เงินตรา จะนำไปสู่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ การที่ตัวกลางของการแลกเปลี่ยนคือตัวเงินตราไม่เพียงพอ

ฉะนั้น ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 12-13 ปี ตั้งแต่ปี 2398-2407 มีการปรับหรือเพิ่มการใช้เงินตราเข้ามาถึง 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกสุด คือ ในปี 2398 มีการประกาศให้การใช้เงินเหรียญนอกใช้ได้อย่างถูกกฎหมายโดยไม่ต้องตีตราก่อน ซึ่งนี่คือการสะท้อนให้เห็นการขยายตัวของการใช้เงินตราและการค้าอย่างน่าตกใจที่เดียว ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2405 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินตราที่จะมาใช้ในการแลกเปลี่ยนมีการนำเงินตราแบบใหม่เข้ามาใช้ คือเงินอัฐ เงินโสฬส และอีก 3 ปีต่อมาก็มีเงินตราแบบใหม่ขึ้นมาหมุนเวียนใช้ที่เรียกว่า เงินเสี้ยวทองแดง

นอกจากนี้ยังมีประกาศไม่ให้เอาเหรียญเมืองนอกมาแต่งตัวให้กับเด็กซึ่งในประกาศจะให้เหตุผลหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจ เช่นแต่งแล้วเหมือนคนป่าคนดอย หรือกลัวจะถูกปล้น... “ผมคิดว่าสาระสำคัญคือการนิยมเอาเหรียญไปห้อยเป็นเครื่องแต่งตัวเป็นการดึงเงินตราออกจากตลาด แทนที่จะเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนซึ่งช่วยให้การค้ามันไหลไปได้ดีก็จะร่อยหรอเป็นอุปสรรคต่อการค้า” รศ.ฉลองให้ความเห็น

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับสังคมที่ใช้เงินตราก็คือ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 นี้เอง เป็นสมัยแรกที่ปรากฏว่ามีการทำเงินปลอมเกิดขึ้น

“ไม่มีเหตุผลที่ผู้คนจะทำเงินปลอมมาใช้ถ้าหากว่าเงินตราไม่มีความสำคัญ ในบรรดาประกาศรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ 2398 เป็นต้นมา โดยที่ก่อนหน้านั้นไม่มีปรากฏประกาศที่เกี่ยวข้องกับเงินปลอม นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน” รศ.ฉลองกล่าว


สังคมอ่อนไหว

ประการสุดท้ายซึ่ง รศ. ฉลองเสนอคือ ภาพของสังคมที่ละเอียดอ่อนต่อการเปลี่ยนแปลง จากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ก่อน พ.ศ. 2398 ไม่ปรากฏประกาศที่สะท้อนความวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวลือที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย แต่หลังปี 2398 เป็นต้นมามีประกาศที่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับข่าวลือ โดยมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ดาวหาง แผ่นดินไหว สุริยุปราคา รวมไปถึงประกาศที่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับความวิตกของราษฎรที่เห็นฝรั่งเข้ามาเดินเพ่นพ่าน การที่มีแขก หรือฝรั่งเข้ามาซื้อข้าวในเมืองไทย

ลักษณะของข่าวเล่าลือสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในลักษณะวิกฤติ ซึ่งสะท้อนว่าผู้คนไม่เคยเห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มาก่อน มีองค์ประกอบใหม่ ที่ทำให้ผู้คนไม่แน่ใจกับความมั่นคงในชีวิต...

รศ. ฉลอง ฉายภาพผ่านของสังคมสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพซึ่งปรากฏความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากสนธิสัญญาบาวริ่ง เป็นภาพซึ่งแกะรอยจากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 นั่นเอง


พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2173&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

ไม่มีความคิดเห็น: