วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ประเทศไทย ห้ามเปลี่ยนแปลง?


ตลอดปีที่ผ่านมา ผมมักจะหงุดหงิดใจในปัญหาว่าด้วยคุณธรรม พูดตามตรง ในทัศนะส่วนตัวที่อยากชวนแลกเปลี่ยนแล้ว ‘คุณธรรม’ และ ‘ความดี’ โดยเฉพาะกับการรณรงค์เรื่อง ‘คนดี’ นั้น เป็นเรื่องของผู้ใหญ่หลอกเด็ก คนที่พูด ยิ่งพูด ยิ่งนำมาใช้ ยิ่งนำมารณรงค์ ก็ไม่ได้สะท้อนอะไรมากไปกว่าเพื่อจะบอกว่า ฉันดีกว่าเธอ ฉันถึงเป็นผู้รณรงค์ และเธอจึงอยู่ในเป้าหมายที่ต้องถูกเปลี่ยนทัศนคติ ฉันถึงต้องปกครองเธอ

แต่ความดีน่ะมี ทุกคนล้วนแต่เคยทำความดีเท่าๆ กัน และเลวเท่าๆ กัน บางพฤติกรรมก็เลว บางพฤติกรรมก็ดี เป็นเช่นนี้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะไพร่จะเจ้า เพราะเราต่างก็เป็นมนุษย์ ถ้าอย่างนั้น ‘คนดี’ อยู่ตรงไหน การไปเที่ยวประณามผู้คนฝ่ายตรงข้ามเพื่อผลทางการเมืองตลอดปีที่ผ่านมา นั่นไม่ใช่ความผิดบาปและความเลวชนิดหนึ่งหรอกหรือ อย่างน้อยก็มุสา (โกหก) ล่ะ

เอาเข้าจริง คอการเมืองต่างก็รู้ว่า โครงการเหล่านี้มีขึ้นมาเพื่ออะไร การรณรงค์ชนิดนี้หลายคนยกย่องเชิดชู ทั้งที่แม้แต่การสร้างผลประโยชน์เฉพาะหน้าฉาบฉวยอย่างที่โครงการประชานิยมให้ก็ทำไม่ได้ ร้ายกว่านั้นยังมอมเมาและผลาญเอาทรัพยากรของสาธารณะไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง จนอาจจะกล่าวได้ว่า เลวร้ายกว่าการคอรัปชั่นด้วยซ้ำ แน่นอน หลังโครงการคุณธรรมนำไทยที่รณรงค์อุดมการณ์ซึ่งเป็นนามธรรมแล้ว เราจึงได้เห็นโครงการอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมตามออกมา

การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2535 หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2534 ก็มีการรณรงค์ในลักษณะนี้ ในปี 2550 เราถึงมีคณะกรรมการการดำเนินการตามวาระแห่งชาติ ว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง (ครส.) เดินแนวเดียวกันเป๊ะ 15 ปี คณะทหารที่ฝักใฝ่อำนาจนิยม คิดอะไรใหม่ไม่ได้เลย

อย่าลืมว่า สิ่งเหล่านี้ยังต้องไปประกอบส่วนมาตรการที่มีมาก่อนหน้านี้อย่าง ‘กฎอัยการศึก’ ที่เราได้เห็นตัวอย่างผลของมันแล้วในกรณี ‘ข่าว’ คนสนิทของนักการเมืองพรรคพลังประชาชนถูกทหารนำปืนจ่อท้ายทอย

แต่ปี 2535 สื่อและภาคประชาชนที่เท่าทัน ออกมาคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์คณะรณรงค์ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียงของ รสช. ดังกว่านี้ มากกว่านี้ แต่คราวนี้เงียบจนแทบไม่มีเสียงท้วงติงใดๆ

ปี 35 เรายังพอจะเกิด ‘องค์กรกลาง’ เข้ามาเป็นแกนกลางระดมภาคประชาชนตรวจสอบ แต่ปี 50 องค์กรภาคประชาชนที่รณรงค์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง (พีเน็ต) ถูกเขี่ยให้พ้นทาง เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สนับสนุน ขณะที่องค์กรภาคประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งบางองค์กร หรือองค์กรสิทธิฯทางการเมืองกลับวางเฉย อันอาจจะเนื่องมาจากดิ้นไม่พ้นกับดักและความกลัวระบอบทักษิณ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า แนวทางของฝ่ายอำนาจนิยมไม่พัฒนา ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีพัฒนาการ หรือเป็นศูนย์ แต่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนและสื่อเกี่ยวกับโครงสร้างที่มาของอำนาจ ‘อธิปไตย’ ไม่เพียงไม่พัฒนาแต่กลับถอยหลัง หรือติดลบ บางทีอาจจะเพราะเห็นว่า นี่คือ ‘การเมืองระดับบน’ หรือหลงอยู่กับบทบาทภาคประชาชนที่เฟื่องฟูขึ้นมา จนลืมไปว่า การเมืองระดับบนนั้นคือ ‘พื้นฐาน’ มันครอบคลุมวิถีชีวิต ตั้งแต่วันเกิด วันอยู่อันยาวนาน และวันตายที่ภาคประชาชนครอบคลุมไปไม่ถึง ซึ่งจะอย่างไรสิ่งเหล่านี้มันจะกระทบการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทั้งหมดในทุกมิติอยู่ดี

การซื้อสิทธิขายเสียง แม้จะเป็นเรื่องที่ ‘ไม่ดี’ แต่ก็ไม่เกี่ยวกับว่า คนที่ซื้อสิทธิขายเสียงนั้นเป็นคนดีหรือคนเลว ซึ่งไม่ว่าไม่ว่าจะอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นจากโครงการคุณธรรมนำไทย การกำหนดวาระแห่งชาติว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง (ครส.) ก็ได้ทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงกลายเป็นบาปชนิดหนึ่ง และทำให้นักการเมืองบางประเภทที่ได้แต่โชว์ความสามารถโดดเด่นว่าตนเองไม่ซื้อเสียงกลายเป็นบุคคลทรงคุณค่า โดยเฉพาะกับคนที่ไม่เคยเปื้อนโคลน ไม่เคยเดินหาเสียง ยกมือไหว้คนที่ต่ำต้อยกว่าแต่แอบซ่อนความปรารถนาอำนาจอยู่ตลอดเวลา

ว่าไป คนขายเสียงนั้นไม่ใช่คนโง่หรือเพราะด้อยศึกษา เขากลับซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา ไม่มีเงินก็ต้องการเงิน มีคนช่วยเขาเขาก็เลือก ไม่มุสา ไม่เล่นลิ้น ไม่อ้างโน่นอ้างนี่เอาประโยชน์เข้าตนเอง การเอาแต่กร่นด่าและแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงด้วยการรณรงค์แบบนี้จึงไม่ได้แก้ปัญหา ดูถูกประชาชน และไม่มีอะไรมากกว่าการหาเสียงว่าตัวเองเป็นคนดีเท่านั้นเอง

ยังไม่นับว่า เงินอาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้นักการเมืองได้รับชัยชนะ ไม่เช่นนั้นเราจะตอบปัญหาเรื่องกระบวนการสรรหาตัวผู้สมัครที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีตัวชี้วัดหรือมีผลโพลล์ว่าใครจะได้รับการเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่เป็นอันดับหนึ่งอันดับสองออกมาได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่มีการจ่ายเงินซื้อเสียง

ขณะที่การซื้อเสียง แม้จะเป็นเรื่องที่ ‘ไม่ดี’ และต้องป้องกันปราบปราม แต่คนซื้อเสียงก็ไม่ใช่คนเลวร้ายเสมอไป นักการเมืองเหล่านี้ จะอย่างไรล้วนแล้วแต่ถูกทำให้เลวร้าย เพื่อให้เทคโนแครต ข้าราชการ และนักการเมืองที่ไม่ยอมลงเลือกตั้งเป็นคนดีและใช้เป็นเงื่อนไขในการทำรัฐประหาร เพราะมีแต่การรัฐประหารเท่านั้นที่คนกลุ่มหลังผู้ไม่ยอมเปื้อนโคลนจะได้เข้าสู่อำนาจ ทั้งๆ ที่ว่ากันตามจริง คนกลุ่มหลังนี่แหละที่ออกแบบระบบให้คนกลุ่มแรกต้องซื้อเสียง ดูอย่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นต้น

รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ผู้ร่างทั้งหลายออกแบบให้คนซื้อสิทธิและขายเสียงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับระบบเลือกตั้งแบบเดิมที่เราใช้โดยกำหนดของรัฐธรรมนูญ 40

ในภาพกว้างแล้ว การแบ่งการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเดิมให้กลายมาเป็นแบบสัดส่วน 8 กลุ่มรายชื่อ ทำให้การขายนโยบายเป็นไปได้ยากขึ้น เหตุและผลเบื้องลึกที่ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มเป็น 8 กลุ่ม ยังทำให้เรื่องนี้เป็นปมปัญหา ซึ่งอาจทำให้เกิดคำถามว่าด้วยสถาบันเบื้องสูงกับการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจสังคมไทย อันเป็นผลให้เกิดการระคายสถาบันฯในที่สุด

ไม่เท่านั้น การออกแบบให้การเลือกตั้งเป็นแบบพวง การกำหนดให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้ในวาระแรกตามบทเฉพาะกาล เป็นแพ็คเกตที่ยากจะเกิดพรรคใหญ่และได้รัฐบาลที่เข้มแข็งพอจะผลักนโยบายให้เป็นจริง เมื่อนโยบายยากจะเป็นจริง ที่สุดคนจะไม่เชื่อการขายนโยบาย หรือที่สุดนโยบายจะขายไม่ได้ และผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะเหลือเกณฑ์วัดว่าจะเลือกใครอยู่แค่ใครอุปถัมภ์เรา และใครให้เงิน

กล่าวอีกอย่างให้ชัดเจนกระชับก็จะอาจจะพูดได้ว่า คนออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ต้องการให้เลือกนโยบาย เพราะการเลือกนโยบาย จะทำให้เกิดผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งแข่งบารมี จนอาจจะเปลี่ยนแปลง “โครงสร้าง” ได้ (ส่วนเปลี่ยนโครงสร้างไปแบบไหน เป็นทุนนิยม เป็นซ้ายเป็นขวาเป็นอีกเรื่อง)

ขณะเดียวกัน ปัญญาชนสายวิชาการ (ที่ไม่ได้ต้องแบกรับปัญหาในการปฏิบัติ) ก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ออกเป็นสองลักษณะ ไม่ใช่นโยบาย ‘ขายฝัน’ ก็เป็นนโยบาย ‘ประชานิยม’ พูดอีกอย่างก็คือ ไม่ใช่หลอกลวงก็ฉาบฉวยมอมเมา

ปัญหาจึงมีอยู่ว่า มันมีระบบไหนในการเมืองไทยทั้งในรัฐธรรมนูญและนอกรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อสร้างนโยบายที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้า ยั่งยืน สร้างสรรค์ เดินไปกับโลกาภิวัตน์ได้ สร้างความมั่งคั่งได้ พร้อมๆ ไปกับพอเพียง ไม่โลภ มีคุณธรรม มีรถไฟฟ้า มีนิวเคลียร์ มีผลตอบแทนระดับประเทศอุตสาหกรรม โดยที่ยังคงรักษาระบบการผลิตแบบเกษตรกรรม ที่มีวัฒนธรรมไพร่ เป็นประชาธิปไตยที่เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทิดทูนคุณค่าแบบเดิมได้

ปัญหาจึงมีอยู่ว่า มันมีระบบไหนในการเมืองไทยทั้งในรัฐธรรมนูญและนอกรัฐธรรมนูญ ที่จะเอาและได้ทุกอย่าง

ปัญหายังมีอีกว่า ต่อให้มีทางออกแบบระบบที่เอื้อให้คนทุกฝ่าย ทุกกลุ่มทุกชนชั้น ได้อยู่ได้ต่อรอง ได้ต่อสู้อย่างสันติ จะมีพรรคการเมืองไหนมีพลังพอที่จะขับเคลื่อนสร้างระบบนี้ ผลิตนโยบายออกมา (ดีไม่ดีอีกเรื่อง เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยก็อีกเรื่อง) ไม่โดนด่าว่าขายฝัน ก็ประชานิยม พอสร้างนโยบายที่กระทบโครงสร้างก็โดนรัฐประหาร

จนปัญญาที่จะหาทางออก ซึ่งเอาเข้าจริง นี่ไม่ใช่ปัญหาอะไรเลย นอกจากจะกล่าวสั้นๆ ได้แค่ว่า

‘ประเทศไทย ห้ามเปลี่ยนแปลง’

และจนปัญญาเข้าไปอีก ถ้าสังคมไทยใน พ.ศ.2550 ยังคงแต่หมกมุ่นเรียกหาอรหันต์มาบริหารบ้านเมือง แทนที่จะมุ่งออกแบบโครงสร้าง เหมือนที่เคยเป็นเคยพร้อมใจกันทำก่อนปี 2540


ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข

ที่มา : ประชาไท http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms01&ContentID=2742&SystemModuleKey=BK&System_Session_Language=Thai

ไม่มีความคิดเห็น: