ณัฐพล ใจจริง
อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
ช่วงท้ายๆ ของยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม คือช่วงหลัง 2490-2500 เป็นเวลา 10 ปี มีการเปลี่ยนแปลงในโลกค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามามีบทบาททางการเมืองโลกมากขึ้นของสหรัฐฯ ปัญหาสงครามเย็น สงครามเกาหลี ทำให้เราเข้าไปใกล้ชิดกับอเมริกามากขึ้น นอกจากนั้นการเมืองไทยก็แตกเป็น 3 กลุ่มสำคัญๆ ที่เรียกว่า การเมืองสามเส้า คือกลุ่มของจอมพล ป. พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งการต่อสู้ทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีหลังค่อนข้างเข้มข้นมาก
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่คิดว่าสำคัญ คือช่วง 2498 ซึ่งจอมพล ป. ส่งคณะทูตใต้ดินไปจีน เพราะส่วนใหญ่เวลาเราพูดถึงความสัมพันธ์กับจีน เรามักจะเริ่มที่ปี 2518 ในสมัยของคึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ช่วง 2498 เราพยายามส่งทูตใต้ดินไปเจรจากับจีนและสามารถลงนามในข้อตกลงความสัมพันธ์เบื้องต้นได้สำเร็จ ซึ่งรายละเอียดส่วนใหญ่พบได้ในงานของคุณวรรณไว พัธโนทัย และคุณอารี ภิรมย์ ดังนั้น ผมคิดว่ามันน่าจะมีความหมายในเรื่องของความสัมพันธ์ไทยจีนที่ค่อนข้างยาวนานมากกว่าที่นับกันที่ปี 2518
การเปิดไมตรีกับจีนนั้น อีกด้านหนึ่งคือการพยายามลดความกดดันจากพลังปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งค่อนข้างใกล้ชิดกับนโยบายสหรัฐฯ ดังนั้น การเปิดไมตรีกับจีนก็จะทำให้พลังในการต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. จากปัญญาชนฝ่ายซ้ายลดลง นอกจากนี้ การเปิดไมตรีกับจีนก็จะทำให้จอมพล ป. มีโอกาสรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีกับอาจารย์ปรีดีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2500
โดยทั่วไป เรามักจะมองว่าตั้งแต่ 2495 มา จะมีกลุ่มสำคัญ 3 กลุ่ม คือกลุ่มจอมพล ป. กลุ่มพลเอกเผ่า และจอมพลสฤษดิ์ แต่กลุ่มที่เริ่มฟื้นขึ้นมามีบทบาทสำคัญ คือกลุ่มนิยมเจ้า หรือพวกรอยัลลิสต์
ในช่วงปลายปี 2498 จอมพล ป. ได้พยายามเปิดไมตรีกับจีน โดยส่งคุณสังข์ พัธโนทัยไป ซึ่งการเดินทางไปเปิดไมตรีกับจีนช่วงนั้น ด้านหนึ่งเกิดจากรัฐบาลไทยพยายามวางตัวเป็นกลางมากขึ้น เพราะเมื่อใกล้ชิดสหรัฐฯ มากขึ้นแล้ว ปัญหาการเมืองไทยถูกต่อต้านอย่างมาก ดังนั้น การส่งทูตใต้ดินไปจีนนั้นจึงค่อนข้างเป็นความลับอย่างมาก เพราะสหรัฐไม่ต้องการให้เราคบกับประเทศสังคมคอมมิวนิสต์ ผู้แทนสำคัญที่จอมพล ป. ส่งไปยังมี คุณอารี ภิรมย์ คุณกรุณา กุศลาสัย คุณเลื่อน บัวสุวรรณ คุณสอิ้ง มารังกุล ซึ่งเป็นตัวแทนของจอมพล ป. กับกลุ่มราชครู
จะเห็นได้ว่า การเดินทางไปคราวนั้น ไปอย่างเงียบๆ เพราะจอมพล ป. ต้องเดินทางไปประชุมที่พม่า ดังนั้น คณะทูตนี้จะไปพร้อมกับจอมพล ป. แต่กลุ่มหนึ่งปลีกตัวไปพม่า อีกกลุ่มไปติดต่อที่จีน เพื่อขอให้จีนแต่งตั้งทูตจีนที่พม่าเป็นตัวแทนเจรจากับไทย เพื่อไม่ให้สหรัฐฯ รู้ว่าเราแอบเจรจากับจีน ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้ว เราก็สามารถลงนามข้อตกลงร่วมระหว่างจีนกับไทยได้ในวันที่ 17 ธ.ค. 2498 ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในงานของคุณวรรณไว พัธโนทัย
การที่สามารถติดต่อกับจีนได้สำเร็จ จอมพล ป. ได้เลือกใช้คุณอารี ภิรมย์ ซึ่งเป็นข้อต่อสำคัญให้เราสามารถเชื่อมต่อไปยังปักกิ่งได้ เพราะเขาเคยทำงานอยู่กรมโฆษณาการ ซึ่งเป็นคนตรวจและแปลข่าวจากจีนเป็นไทย โดยหลังจากรัฐประหาร 2490 แล้ว หลวงอดุลย์มาพบเขาและสั่งให้แปลเอกสารของหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย ฉวนหมิงเป้า ให้รัฐบาลฟังว่า พวกฝ่ายซ้ายประเทศไทยเคลื่อนไหวอย่างไรกันบ้าง คุณอารีรู้จักทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาของคนจีน จึงบอกว่า ถ้าจะให้แปลเอกสารฝ่ายซ้ายก็อย่าปิด นสพ. ฉวนหมิงเป้า ดังนั้น คุณอารีก็จะอ้างว่า เขาค่อนข้างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหนังสือพิมพ์ฉวนหมิงเป้า
ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์จีนเชื้อสายไทยที่อยู่ในฉวนหมิงเป้า หลังจากเกิดกบฎสันติภาพ รัฐบาลจอมพล ป. ออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ ปี 2495 แล้ว คนพวกนี้ก็ยังหนีกลับจีนไม่หมด คนพวกนี้ก็จะมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลจีน บางคนได้เป็นอธิบดีกรมการทูต บางคนเป็นผู้ว่าการมณฑลซัวเถา ซึ่งการเชื่อมต่อจากไทยไปจีนในช่วงปลายปี 98 จอมพล ป. ก็เลือกใช้คุณอารี ภิรมย์ เป็นข้อต่อข้ามไป ดังนั้น การเชื่อมต่อไปยังจีนจะสะดวกมาก เพราะสามารถต่อไปยังเหมาเจ๋อตงได้
หลังจากการลงนามสำเร็จแล้ว ก็มีการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างไทยกับจีนหลายคณะ ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร คณะทูตการค้า รวมถึงทูตวัฒนธรรมหลายคณะที่จอมพล ป. อนุญาตให้ข้ามไป ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาบาส คณะกรรมกรที่ไปประชุม รวมทั้งคณะศิลปินไทยของคุณสุวัฒน์ วรดิลก
เราอาจจะมองว่า นี่เป็นความพยายามส่งสัญญาณบางอย่างจากจอมพล ป. ไปยังอาจารย์ปรีดีที่เมืองจีน ซึ่ง 3 คณะหลังเดินทางไปในเมืองเดียวกัน และต้นเดือนเมษายนที่ 3 คณะเดินทางไปพร้อมกันนั้น จอมพล ป. บอกว่า อยากให้อาจารย์ปรีดีกลับมาเมืองไทย เพราะจอมพล ป. คิดว่าจะมีการรื้อฟื้นคดีประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ในช่วงท้ายๆ ระหว่างจอมพล ป. กับกลุ่มอนุรักษ์นิยมค่อนข้างไม่ราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงท้ายๆ ที่จอมพล ป. ยึดอำนาจ 2494 ล้มรัฐธรรมนูญ 2492 โดยสาเหตุสำคัญที่จอมพล ป. ยึดอำนาจ 2494 เพราะรัฐบาลจอมพล ป. ค่อนข้างมีปัญหาในการบริหารกับวุฒิสภาซึ่งเป็นวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งบรรดาวุฒิสภาส่วนใหญ่จะเป็นขุนนางเก่า เจ้านาย คุณพระ พระยา ที่หัวเก่า ดังนั้นจึงมีความคิดในการบริหารที่ไม่ค่อยจะตรงกัน
ดังนั้น การรัฐประหารในปี 2494 พอล้มรัฐธรรมนูญ 2492 แล้ว จอมพล ป. ไปหยิบรัฐธรรมนูญ 2475 กลับมาใช้ประมาณ 4 เดือน ซึ่งในช่วงการยึดอำนาจปี 2494 กระทำการก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเดินทางกลับมาประเทศไทยไม่กี่วัน ในบันทึกของพระองค์เจ้า... ซึ่งทรงเล่าให้ ส.ศิวรักษ์ ฟัง ความว่า หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับมาแล้ว พระองค์ทรงกริ้วมากที่จอมพล ป. ทำการรัฐประหาร ล้มรัฐธรรมนูญปี 92 ที่ให้อำนาจกับสถาบันมาก ในช่วง 4 เดือนซึ่งใช้รัฐธรรมนูญ 2475 นั้นจึงมีการเจรจาเพื่อที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแส อ้างอิงในงานของ หยุด แสงอุทัย โดยลงเอกสารถึงพระราชกระแสของพระเจ้าอยู่หัวว่า พระองค์ทรงต้องการให้เอารัฐธรรมนูญ 92 ผนวกเข้ากับปี 2495 ด้วย
นอกจากนั้น ในอีกด้านสิ่งที่จอมพล ป. ต้องเผชิญก็คือ ปัญหาการเมืองในประเทศ โดยกลุ่มของจอมพลสฤษดิ์เริ่มท้าทายจอมพล ป. มากขึ้น และมีแนวโน้มว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมจะค่อนข้างสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นอกจากนี้ ก็เกิดปัญหาอีกหลายอย่างที่ไม่ราบรื่นกับสถาบัน จนกระทั่งฟางเส้นสุดท้ายน่าจะเกิดขึ้นเมื่อจอมพล ป. คิดจะเชิญอาจารย์ปรีดีกลับมาจากเมืองจีน ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีการบันทึกเอาไว้ในงานของคุณประจวบ อัมพะเศวต ที่ได้พูดไว้ในตอนปลายปี 2500 ว่า ตอนที่คุณปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตของอาจารย์ปรีดีได้มาลาบวชกับจอมพล ป. หลังจากมีการนิรโทษกรรมจากกรณีกบฎสันติภาพ คุณประจวบได้เล่าว่า ได้สัมภาษณ์คุณปาล คุณปาลบอกว่า จอมพล ป. ฝากข้อความไปถึงอาจารย์ปรีดีว่า บอกพ่อของหลานด้วยนะว่า ให้ช่วยกลับมาทำงานให้ชาติ เพราะลุงคนเดียวสู้ศักดินาไม่ไหวแล้ว
ดังนั้น การเคลื่อนไหวในการเชิญอาจารย์ปรีดีกลับมาจากเมืองจีนอีกครั้ง นำไปสู่การที่จอมพล ป. อนุญาตให้ลูกศิษย์ของอาจารย์ปรีดีสองคนซึ่งเป็นทนายความเดินทางไปเมืองจีน ไปพูดคุยกับอาจารย์ปรีดีและแจ้งความต้องการของรัฐบาลว่าจะรื้อฟื้อคดีสำคัญขึ้นมาอีก หลังจากกลับมาเพียง 2 สัปดาห์ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พอถึงวันพรุ่งนี้ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว (16 ก.ย.2500 - ขณะอภิปรายคือวันที่15 ก.ย.49) ในตอนดึกก็เกิดการรัฐประหาร โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก ระหว่างความเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคสหภูมิ ซึ่งตั้งโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้โจมตีรัฐบาลเป็นอย่างมาก ในการประชุมสภาผู้แทนในช่วง 2500
ในช่วงปลายยุค จอมพล ป. นั้น การเมืองไทยก็แบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ขั้วหนึ่งคือ กลุ่มรัฐบาลก็คือ จอมพล ป. และพล.ต.อ.เผ่า อีกขั้วคือ จอมพลสฤษดิ์ และรอยัลลิสต์ มีการศึกษางานความเคลื่อนไหวเรื่องพวกนี้ไว้ในงานวิทยานิพนธ์หลายเล่มที่เล่ารายละเอียดเหตุการณ์ของวันพรุ่งนี้ (16 ก.ย.2500) ไว้ว่า เวลา 11 นาฬิกา ของวันที่ 16 ก.ย. จอมพล ป. ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วกลับออกมา 13 นาฬิกา เพราะจอมพล ป. ต้องการให้ปลดจอมพลสฤษดิ์ เพราะเห็นว่า จอมพลสฤษดิ์มีแนวโน้มจะก่อการรัฐประหาร แต่พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วย ต่อมา จอมพล ป. เดินทางไปประชุมพรรคเสรีมนังคศิลา เวลา 14.30 น.เพื่อดำเนินกิจกรรมบางอย่างกับจอมพลสฤษดิ์ แต่จอมพลสฤษดิ์รู้ ในตอนเย็นวันนั้น จอมพล ป. ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่สอง ซึ่งได้จากหลักฐานที่คุณทองใบ ทองเปาว์ เล่าให้คุณสุวัฒน์ วรดิลก ฟังในหนังสือชื่อ ‘จดหมายจากลาดยาว’ ว่า ในเย็นวันนั้น คุณทองใบก็ได้พบจอมพล ป. อีกครั้งหนึ่ง จอมพล ป. ก็ไม่ได้บอกอะไรอีก หลังจากนั้นก็เกิดการรัฐประหารขึ้นในเวลา 23 นาฬิกา
ทั้งนี้ ในบันทึก ‘อยู่อย่างเสือ’ ของคุณจงกล ไกรฤกษ์ ได้พูดถึงเหตุการณ์คืนนั้นเอาไว้ ว่าพอเกิดการรัฐประหาร ได้ยินเสียงรถถัง คุณจงกลซึ่งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ก็ได้โทรศัพท์ไปหาพระยาศรีวิศาลวาจาว่าเกิดรัฐประหารแล้วทำอย่างไรดี สิ่งที่พระยาศรีวิศาลวาจาได้กล่าวกับคุณจุมพลก็คือเสียงหัวเราะ
นี่ก็คือเหตุการณ์สุดท้ายที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันนั้น หลังจากนั้นก็ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร
ผมขอปิดเรื่องราวตรงนี้ด้วยประโยคที่อาจารย์ปรีดีได้พูดถึงเหตุการณ์ความพยายามฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ปรีดีกับจอมพล ป. และความต้องการรื้อฟื้นคดีประวัติศาสตร์ขึ้นมา อาจารย์ปรีดี ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ ‘จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลา’ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2543 แต่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2516 อาจารย์ปรีดีพูดไว้ว่า
“ภายหลังจากที่นายเฉลียว ปทุมรส นายชิด สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน ถูกประหารชีวิตฐานต้องหาว่า ปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 แล้วจอมพล ป. ได้ข้อเท็จจริงใหม่หลายประการที่แสดงความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาเหล่านั้น จึงส่งตัวแทนไปพบข้าพเจ้าซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศจีนว่า จะดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมให้มีการพิจารณาคดีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ขึ้นมาพิจารณาใหม่ตามวิธีพิจารณาของบางประเทศที่อารยะแล้ว ฝ่ายทัศนะระบบทาสได้ครอบงำใส่ร้ายจอมพล ป. ว่าไม่เคารพพระมหากษัตริย์ ครั้นแล้วทัศนะทาสได้ครอบงำให้จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารจอมพล ป. แล้วโฆษณาให้หลงเชื่อว่าเป็นผู้รักษาราชบัลลังก์ไว้”
นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงปลายที่สุดของผู้นำคนสุดท้ายที่มาจากคณะราษฎรที่ถูกรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม
หมายเหตุ
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา ‘ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ.ศ.2454-2550’ ตั้งแต่วันที่ 15-16 กันยายน 2550 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในงานเสวนาครั้งนี้ มีการอภิปรายภายใต้หัวข้อ "เริ่มแรกประชาธิปไตยแบบไทย/ไทย: รัฐประหาร 2490 และปฏิวัติซ้ำ/ซ้อน 2500/2501" ซึ่งผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ณัฐพล ใจจริง, อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ โดยมี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวถึงสาเหตุที่จอมพล ป. พิบูลสงครามถูกรัฐประหารในปี 2500 ว่า นอกจากความสัมพันธ์ของ จอมพล ป. กับกลุ่มอนุรักษ์นิยม ไม่ค่อยจะดี เนื่องจากการรัฐประหารตัวเองของจอมพล ป. ในปี 2494 เพราะขัดแย้งด้านการบริหารกับวุฒิสภาแต่งตั้งแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่จอมพล ป. พยายามจะรื้อคดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ขึ้นมาพิจารณาใหม่ด้วย เนื่องจากรัฐประหารเกิดหลังจากส่งนักกฎหมายไปแจ้งให้นายปรีดี พนมยงค์ ทราบถึงความพยายามในการรื้อคดีได้ไม่นาน
ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9601&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai
ปล.
การเน้นข้อความเปนไปตามความสนใจของผู้จัดเก็บบทความเอง
วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
ใคร และอะไร อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. โดยจอมพลสฤษดิ์
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 7:36 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น