วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

บทบาทของจักรพรรดิฮิโรฮิโตในการปราบกบฎ

โดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชื่อบทความเดิม: บทบาทของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะในการปราบกบฎ1


บทนำ

ความรับรู้ของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อจักรพรรดิฮิโรฮิโต แห่งราชวงศ์โชวะ (Showa) ประเทศญี่ปุ่น ก็คือ การเป็นผู้นำทางทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งหลายประเทศเวลานั้นต่างประหวั่นพรั่นพรึงถึงความโหดเหี้ยมของทหารญี่ปุ่นและความคลั่งไคล้บูชาจักรพรรดิของคนญี่ปุ่น หลังจากประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายพันธมิตรพยามยามที่จะนำจักรพรรดิขึ้นศาลอาชญากรสงครามแต่ด้วยเหตุผล “ความจำเป็นทางการเมือง” (Political necessity) ทำให้ฝ่ายพันธมิตรตัดสินใจไม่ฟ้องจักรพรรดิฐานอาชญากรสงคราม

แต่อีกแง่มุมหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบก็คือ จักรพรรดิฮิโรฮิโตเป็นผู้หนึ่งที่พยายามรักษามิให้มีการละเมิดรัฐธรรมนูญจากการกบฏของทหารกลุ่มหนึ่ง โดยถึงกับเป็นผู้นำในการปราบกบฏด้วยพระองค์เอง สำหรับในเรื่องที่มีการบูชาพระองค์ดุจเทพเจ้านั้นแท้จริงแล้ว จักพรรดิฮิโรฮิโตไม่เคยอ้างตนเป็นพระเจ้า หรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนญี่ปุ่นต้องมาเคารพบูชา แต่ลัทธิบูชาจักรพรรดินั้นเพิ่งเกิดขึ้นช่วง 1930 เป็นต้นมา ข้อเขียนสั้นๆ นี้ คงพอช่วยผู้อ่านได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของจักรพรรดิฮิโรฮิโต


1. จักรพรรดิฮิโรฮิโตกับบทบาทในการปราบกบฎ2

ประเทศญี่ปุ่นได้เกิดกบฏในวันที่ 26-29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1936 การก่อกบฏโดยทหารหนุ่มที่มีแนวคิดแบบชาตินิยม (Kodo-ha) ครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า “February 26 Incident”3 การก่อกบฏครั้งนี้ได้สร้างความสูญสียเป็นอย่างมากทั้งการฆ่านักการเมืองระดับสูงหลายคนและการบุกทำลายสถานที่ราชการหลายแห่งในใจกลางกรุงโตเกียว โดยแผนการก่อกบฎนี้มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 แล้วแต่ถูกทางการจับได้ โดยไม่มีการลงโทษ4 ที่น่าสนใจคือ การก่อกบฏครั้งนี้ ฝ่ายกบฏอ้างว่าเป็นการต่อสู้ในนามของพระจักรพรรดิ แต่ความเป็นจริงก็คือ การก่อกบฏครั้งนี้เกิดแรงต้านมากทั้งจากกองทัพเองและตัวจักรพรรดิเอง โดยความโดดเด่นของจักรพรรดิฮิโรฮิโตก็คือ ทรงเป็นผู้นำในการปราบปรามกบฏ หลังจากที่รัฐบาลไม่สามารถปราบได้ หลังจากที่จักรพรรดิทราบว่าทหารหนุ่มก่อการกบฏ ท่านกำชับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอย่างเฉียบขาดว่า “เราให้เวลาท่านหนึ่งชั่วโมงในการปราบกบฎ” และหลังจากที่รัฐบาลล้มเหลวในการปราบกบฎ จักรพรรดิตรัสว่าตรัสว่า "ด้วยตัวฉันเอง จะเป็นผู้นำกองกำลังของราชองค์รักษ์ (konoe ในภาษาญี่ปุ่น แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Imperial guard) และจะปราบปราบพวกกบฎเอง”5 และพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ตรัสต่อว่าทหารที่ฝ่ายกบฏส่งเข้ามาในพระราชวัง Imperial เพื่ออ่านสาส์นบางอย่างให้จักรพรรดิรับทราบและเรียกร้องให้จักรพรรดิรับรองสถานะของทหารที่ก่อการกบฏครั้งนี้ (imperial approval) แต่จักรพรรดิฮิโรฮิโตกลับตำหนิพวกกบฎอย่างรุนแรงว่า “ เจ้ากล้าดีอย่างไรที่เข้ามาในนี้ เจ้าไม่รู้หรือว่าฉันเป็นจักรพรรดิของพวกเจ้า” ( How dare you come in here? Do you not know that I am your Emperor?)6

ที่น่าสนใจก็คือ มีการเผยแพร่คำสั่งของจักรพรรดิในฐานะที่ทรงเป็น “จอมทัพ” ให้กองทัพบกและกองทัพเรือการปราบกบฎ7 เพื่อแสดงต่อพสกนิกรของพระองค์ว่า พระมหาจักรพรรดิฮิโรอิโตไม่ได้สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการก่อกบฏในครั้งนี้


2. ความเป็นเทวราชาของจักรพรรดิฮิโรฮิโต

หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกานอกจากจะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้กับญี่ปุ่นแล้ว ยังทำลายความศักดิ์สิทธิ์หรือความเป็น “เทพ” ของจักรพรรดิอีกด้วย โดยฝ่ายพันธมิตรเห็นว่า ลัทธิบูชาความศักดิ์สิทธิของจักรพรรดิเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยและนำไปสู่ลัทธิทหารนิยม (Militarism) ดังนั้น ฝ่ายพันธมิตรจึงบีบให้จักรพรรดิประกาศจำนนแบบไม่มีเงื่อนไข และตัวจักรพรรดิฮิโรฮิโตก็ประกาศต่อคนญี่ปุ่นทั่วประเทศทางวิทยุว่า ตนเองมิได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใด แต่เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง8 และแล้ววันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1946 จักรพรรดิฮิโรฮิโตได้มีสาสน์ปีใหม่ประกาศต่อคนญี่ปุ่นทั้งประเทศว่าพระองค์มิได้เป็นเทวราชาตามความเชื่อของศาสนาชินโต (Shinto) ที่ครอบงำสังคมญี่ปุ่นมาเป็นเวลาช้านานว่าจักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นโอรสของดวงอาทิตย์ สาสน์ที่ส่งนี้เป็นรู้จักกันดีว่า “คำประกาศต่อมวลมนุษยชาติ” (人間宣言 หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Declaration of Humanity)9

ประเด็นที่สำคัญของสาส์นนี้ก็คือ ประการแรก จักรพรรดิฮิโรฮิโตได้ทำลายจารีตประเพณี ความเชื่อล้าสมัยที่ฝังหัวคนญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานว่า จักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นเทพเจ้า หรือ เป็นสิ่งศักดิสิทธิ์ เรื่องนี้ต้องย้อนหลังไปตั้งเเต่ยุคเเรกๆ ของการร่างรัฐธรรมนูญเมจิ ที่อิโต้ ฮิโรบุมิ (Ito Hirobumi)10 เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ท่านอิโต้เป็นนักอนุรักษ์นิยม นอกจากอิโต้จะร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญเเก่จักรพรรดิเเล้ว ยังได้เสนอกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา ชื่อว่า the Imperial Rescript on Education (教育ニ関スル勅語, Kyōiku ni Kansuru Chokugo) ในปีค.ศ. 1890 ออกมาควบคุมเเละปลูกฝังความจงรักภักดีแก่พสกนิกรญี่ปุ่นต่อจักรพรรดิและให้ยึดถือคุณธรรมเรื่องความกตัญญู ความเคารพแบบผู้น้อยผู้ใหญ่ พระบรมราชโองการนี้ตั้งอยู่บนลัทธิขงจื้อและศาสนาชินโต11 พระบรมราชโองการนี้ได้ถูกเผยแพร่ไปทุกโรงเรียนทั่วประเทศนักเรียนถูกให้ท่องจำจนขึ้นใจ

คำสอนนี้ได้เเพร่หลายในโรงเรียนต่างๆ นักการเมืองบางท่านอย่าง Mori Arinori ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา ก็ยังตอกย้ำว่า “ปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าในตัวเอง เเต่ดำรงอยู่เพื่อรับใช้จักรพรรดิ เเละผลประโยชน์ของรัฐจะต้องถูกรับใช้โดยการเชื่อฟัง”12 ด้วยการเผยเเพร่ตอกย้ำคำสอนเเบบนี้เป็นเวลานานนำไปสู่ลัทธิการบูชาจักรพรรดิ ทำให้คนญี่ปุ่นมีความจงรักภักดีจักรพรรดิมากโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเทพของจักรพรรดิ

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ประชาชนคนญี่ปุ่นได้ฟังสาสน์จากจักรพรรดิฮิโรฮิโตว่า จักรพรรดิมิได้เป็นสิ่งศักดิ์หรือเป็นเทวราชาอย่างที่เข้าใจกัน (อย่างผิดๆ) ก็มีผลทำให้คนญี่ปุ่นที่เป็นคนรุ่นเก่าถึงกับทำใจกันไม่ได้เลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายพันธมิตรได้ห้ามมิให้มีการอ่านหรือเผยแพร่พระบรมราชโองการเกี่ยวกับการศึกษานี้อีกต่อไปและในที่สุดสภาไดเอตก็ออกกฎหมายยกเลิกพระบรมราชโองการนี้ในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ 1948

มีข้อที่ควรกล่าวอีกว่า ในประเด็นเรื่องความเป็นเทวราชานั้น จักรพรรดิฮิโรฮิโตทรงเห็นด้วยกับศาสตราจารย์มิโนเบะ13 ที่พยายามอธิบายว่าจักรพรรดิมิได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เเต่เป็นเพียงองค์กรสูงสุดของรัฐตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น การตีความของศาสตราจารย์มิโนเบะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าจักรพรรดิเป็นองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรสูงสุด และมีอำนาจจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ อีกทั้งมิได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใด การตีความเช่นนี้ของท่านมิโนเบะเพื่อปกป้องมิให้จักรพรรดิเข้ามาแปดเปื้อนกับเรื่องการเมือง

อย่างไรก็ตาม คำสอนที่ว่านี้ได้เสื่อมลงหลังจากที่กลุ่มชาตินิยมเเบบคลั่งชาติอย่างเช่น Hozumi Yutsuka เเละ Shinkichi เเละ นายทหารอย่าง Honjo Shigeru ได้ปลุกปั่นกระเเสความเป็นเทพของจักรพรรดิ โดยหนังสือคู่มือนักเรียนชื่อว่า Kokutai no hongi ในปี 1937 ได้เขียนว่า “องค์จักรพรรดิคือ akitsu mikami” เเปลว่า the Emperor is divine หรือ “จักรพรรดิเป็นเทพเจ้า”14 และผลงานวิชาการของศาสตราจารย์มิโนเบะกลายเป็นหนังสือต้องห้ามไป

อนึ่ง เคยมีการบันทึกถึงพระราชดำรัสของจักรพรรดิฮิโรฮิโตถึงความอึดอัดที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัด พยายามยัดเยียดความเป็นเทพให้กับพระองค์ (ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรุนเเรงหลังจากที่ญี่ปุ่นทำสงครามกับจีน) โดยพระองค์ตรัสว่า “หากคนเราเอาศรัทธาเเละความเชื่อมาลบล้างความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์กันหมด วิวัฒนาการของโลกก็คงจะมีเเต่ถอยหลัง ทฤษฎีต่างๆ คงถูกพลิกกลับจนตั้งอยู่ไม่ได้” เเต่เป็นที่น่าเสียดายที่พระราชดำริเหล่านี้ก็ไม่เคยถูกเผยเเพร่ให้ประชาชนได้ล่วงรู้อีกเช่นกัน เพราะกลัวว่า พวกฝักใฝ่ราชบัลลังก์เเบบขวาจัดจะไม่เชื่อเเละลุกฮือจนเกิดจลาจล15

ประการที่สอง จักรพรรดิฮิโรฮิโตได้ใช้คำว่า “ประชาชน” (People) โดยตลอดในสาส์นของพระองค์ แทนคำว่า “ข้าแผ่นดิน หรือพสกนิกร” (Subject)

ประการที่สาม พระองค์ได้บอกกับประชาชนว่า สายสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดิกับประชาชนนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (Mutual trust) และความรัก (Affection) มากกว่าที่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของตำนาน (Legend) และอิทธิฤทธิ์ปาฎิหารย์ (Myth)


บทส่งท้าย

ปัญหาการล้มลุกคลุกคลานระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นนอกจากจะเกิดจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทย “เต็ม” ไปด้วยนักกฎหมายประเภท Ultra-royalist (ดังจะเห็นได้จากการเสนอและสนับสนุนให้ใช้มาตรา 7 รวมทั้งเสนอให้ขยายการบังคับใช้ความผิดฐาน lese-majesty ให้คลุมถึงพระบรมวงสานุวงศ์และองคมนตรีด้วย) แต่กลับ “ขาดแคลน” นักกฎหมายอย่าง “ศาสตราจารย์ มิโนเบะ” ที่ประสงค์จะให้จักรพรรดิไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองและมีอำนาจจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ


เชิงอรรถ

1 ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy): ความหมายในเชิงนิติศาสตร์” เนื่องจากบทความนี้ยังเขียนไม่เสร็จและค่อนข้างยาว จึงทยอยนำเสนอบางตอนเป็นระยะๆ

2 อย่างไรก็ตาม บทบาทที่ว่านี้ตรงกันข้ามกับกษัตริย์ วิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ 3 (Victor Emmanuel III) ของประเทศอิตาลีที่ไม่ยอมคัดค้านการยึดอำนาจของเผด็จการมุสโสลินี อีกทั้งยังเป็นพันธมิตรกับมุสโสลินีด้วย และในท้ายที่สุด ก็นำไปสู่การสิ้นสุดระบอบการปกครองแบบ Constitutional monarchy ของอิตาลี จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง อิตาลีเป็นฝ่ายปราชัย กษัตริย์เอมมานูเอลที่ 3 ถูกบีบให้สละราชสมบัติ และให้พระราชโอรสคือกษัตริย์อุมแบรโต้ ที่สอง (Umberto II) ขึ้นครองราชย์แทน แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากมีการทำประชามติในปีค.ศ. 1946 ของคนอิตาลีว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐหรือไม่ ผลการลงประชามติออกมาคือ คะแนนเสียงส่วนใหญ่เห็นควรเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ (Republic) ทำให้กษัตริย์อุมแบรโต้ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศนานร่วม 60 ปี ผู้สนใจประวัติศาสตร์ของสถาบันกษัตริย์ในประเทศอิตาลีโปรดอ่านหนังสือชื่อ Italy and its Monarchy เขียนโดย Denis Mack Smith สำนักพิมพ์ Yale University Press 1992

3 ผู้สนใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก่อกบฏ 26 กุมภาพันธ์ โปรดดู, Edwin Hoyt, Hirohito the Emperor and the Man,(USA: Praeger,1992),pp.90-103; Stephen S. Large, Emperor Hirohito and Showa Japan, (Great Britain: Routledge,1992),pp.65-75

4 Herbert Bix, Hirohito and the Making of Modern Japan, (USA: HarperCollins Publisher, 2000), p.295

5 Peter Wetzler, Hirohito and War, p. 188

6 Edwin Hoyt, supra note, p.101 ข้อความตอนนี้สรุปมาจากหน้า 101 ของหนังสือ Edwin Hoyt

7 ตามรัฐธรรมนูญเมจิ จักรพรรดิทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพบกและกองทัพเรือ โดยมาตรา 11บัญญัติว่า “The Emperor has the supreme command of the Army and Navy.” และ Herbert Bix เห็นว่า จักรพรรดิทรงใช้ตำแหน่งนี้สู้กับกบฏ

8 See http: // histclo.com/royal/ jap/royal-jap.htm

9 พระราชสาสน์นี้ได้มีการเผยแพร่ทั้งในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับของประเทศญี่ปุ่น สำหรับฉบับภาษาอังกฤษมีการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ The Nippon Times ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น The Japan Times โดยภาษาอังกฤษได้แปลดังนี้ (บางตอน)

“….The ties between us and our people have always stood upon mutual trust and affection. They do not depend upon mere legends and myths. They are not predicated on the false conception that the Emperor is divine, and that the Japanese people are superior to other races and fated to rule the world.. .”

(สายสัมพันธ์ระหว่างเรากับประชาชนของฉันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกันและความรัก สายสัมพันธ์มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแค่ตำนานและสิ่งปาฎิหารย์ลี้ลับ และมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดอันผิดๆว่า พระเจ้าจักรพรรดิเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประชาชนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่เหนือกว่าชนชาติอื่นๆ)

10 นายกรัฐมนตรีคนแรกของญี่ปุ่นและประธานองคมนตรี

11 คำแปลภาษาอังกฤษจากภาษาญี่ปุ่นของ “พระบรมราชโองการเกี่ยวกับการศึกษา” มีดังนี้

Our Imperial Ancestors have founded Our Empire on a basis broad and everlasting and have deeply and firmly implanted virtue; Our subjects ever united in loyalty and filial piety have from generation to generation illustrated the beauty thereof. This is the glory of the fundamental character of Our Empire, and herein also lies the source of Our education.

Ye, Our subjects, be filial to your parents, affectionate to your brothers and sisters; as husbands and wives be harmonious, as friends true; bear yourselves in modesty and moderation; extend your benevolence to all; pursue learning and cultivate arts, and thereby develop intellectual faculties and perfect moral powers; furthermore advance public good and promote common interests; always respect the Constitution and observe the laws; should emergency arise, offer yourselves courageously to the State; and thus guard and maintain the prosperity of Our Imperial Throne coeval with heaven and earth.

So shall ye not only be Our good and faithful subjects, but render illustrious the best traditions of your forefathers. The Way here set forth is indeed the teaching bequeathed by Our Imperial Ancestors, to be observed alike by Their Descendants and the subjects, infallible for all ages and true in all places. It is Our wish to lay it to heart in all reverence, in common with you, Our subjects, that we may thus attain to the same virtue.

12 Sylvia Brown Hamano, Incompatible Revolutions and Not So Alien Transplants: The Japanese Constitution and Human Rights, University of Pennsylvania of Constitutional Law, 1999,p.424

13 ศาสตราจารย์มิโนเบะ เป็นปรมาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ เรียนกฎหมายที่ประเทศเยอรมัน และเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยโตเกียว (Imperial Tokyo University)

14 โปรดดู Ben-Ami Shillony, Divinity and Gender: The Riddle of the Japanese Emperor, Nissan Occasional Series 30, 1999, หน้า 8

15 โปรดดู สามจักรพรรดิเเห่งดินเเดนอาทิตย์อุทัย เขียนโดย Stephen S. Large, เเปลโดยเอเชีย, หน้า 321


ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=10053&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


ขอเพิ่มเติมในส่วนของการแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจต่อบทความนี้ ( เจ้าน้อย )


ถามโดย Bach

ขอให้คุณประสิทธิช่วยตอบผมก่อนที่จะเสนอบทความครั้งต่อไป

มาสนับสนุนความคิดของคุณ "ผู้ชื่นชมและหวังดี" เพราะมีงานประวัติศาสตร์ออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าพระองค์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางแผนในการบุกรุกของญี่ปุ่นในแมนจูเรียและจีน ดังข้อมูลใน wikipedia (อันนี้เชื่อถือได้เพราะมีการระบุของแหล่งอ้างอิงชัดเจน)และ Timeasia.com


จากวิกิพีเดีย

Many people from countries once part of the Greater East Asia Co-Prosperity Sphere see Emperor Shōwa as the mastermind behind the atrocities committed by the imperial forces in the Second Sino-Japanese War and in World War II. Some feel that he, some members of the imperial family such as his brother Prince Chichibu, his cousins Prince Takeda and Prince Fushimi, and his uncles Prince Kan'in, Prince Asaka, and Prince Higashikuni, should have been tried for war crimes. Because of this, many Asians residing in countries that were subject to Japanese invasion, as well as others in nations that fought Japan retain a hostile attitude towards the Japanese imperial family

.......

However, the view promoted by both the Japanese Imperial Palace and the American occupation forces immediately after World War II had Emperor Shōwa as a powerless figurehead behaving strictly according to protocol, while remaining at a distance from the decision-making processes.

Many historians such as Akira Fujiwara (Shōwa Tennō no Jū-go Nen Sensō, 1991) and Peter Wetzler (Hirohito and War, 1998), based on the primary sources and the monumental work of Shirō Hara, have produced evidence suggesting that the emperor worked through intermediaries to exercise a great deal of control over the military and was neither bellicose nor a pacifist, but an opportunist who governed in a pluralistic decision-making process. American historian Herbert Bix argues that Emperor Shōwa may even have been the prime mover of most of the events of the two wars. Historians such as Bix, Fujiwara, Wetzler, and Akira Yamada recognize that the post-war view focusing on imperial conferences misses the importance of numerous "behind the chrysanthemum curtain" meetings where the real decisions were made between the emperor, his chiefs of staff, and the cabinet.

Primary sources, such as the "Sugiyama memo" and the diaries of Kido and Konoe, describe in detail the informal meetings Emperor Shōwa had with his chiefs of staff and ministers (For example, Prince Fumimaro Konoe had a very good firsthand view of the surrender events). These documents show that the emperor was kept informed of all main military operations and that he frequently questioned his senior staff and asked for changes.


อันนี้เอาตัดเอามาจาก Timeasia.com...

modern critics have pointed out that Hirohito bore almost as much responsibility for the war as Prime Minister Hideki Tojo, who was sentenced to death by the war crimes tribunal. More than 3 million Japanese--military and civilians--had died in a war waged in the Emperor's name. To exonerate him completely cast doubt on the entire proceedings and has done much over the years to deepen Japan's collective amnesia about the crimes of its military.

จริงอยู่ที่ความพยายามในการทำรัฐประหารอีกในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1936ของพวกหัวรุนแรงแต่ไม่สำเร็จ เพราะองค์จักรพรรดิ์เป็นหลักแต่การขบถเค้ามีเบื้องหลังครับ แต่สรุปแน่ชัดไม่ได้เป็นคาดคะน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการปราบขบถของพระองค์ไม่ได้จำเป็นต้องหมายความว่าพระองค์ไม่ได้เห็นด้วยกับลัทธิทหาร อย่างที่บทความต้องการจะบอกเป็นนัย แต่อาจจะเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพระองค์ตัวเอง

Although there is no conclusive evidence to support their position, some believe that Emperor Hirohito's younger brother, Prince Chichibu Yasuhito, was behind the February 26 Incident in an attempt to seize the throne for himself. Other conspiracy theorists have gone as far as to say that Emperor Hirohito and his cohorts actually faked the rebellion to create the perception of a need for stronger internal security measures.

ผลปรากฏก็คือกองทัพกลับมีอำนาจขึ้นเรื่อยๆ

The military took advantage of the situation to increase its political power and budget, and to impose tighter censorship and controls on civilian political activity. Prime Minister Okada was forced to resign in March, and was replaced by Kōki Hirota (under whose cabinet the Tripartite Pact was signed later). Whatever its original intent, the February 26 Incident effectively resulted in a strengthening of Japanese militarism. It was an important step in the escalation to the Second Sino-Japanese War, which began the following year.

นั้นคือส่งผลให้ นายพลฮิเดจิ โตโจมีอำนาจและบทบาทเรื่อยๆ ในการนำญี่ปุ่นบุกมงโกเลียและจีนในปีต่อมาและได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1940 อันแสดงให้เห็นว่า การปราบขบถหัวรุนแรงของจักรพรรดิ์ไม่ส่งผลอะไรต่อการตัดสินใจของญี่ปุ่นจะบุกประเทศต่างๆ ในเอเชียเลย แน่นอนว่าการวางแผนย่อมมีล่วงหน้าหลายปีมาแล้วตั้งแต่ก่อนจะมีขบถ อันแสดงให้เห็นว่าพวกหัวรุนแรงอีกกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในรัฐบาลเป็นจำนวนมากแน่นอนว่ารวมทั้งโตโจด้วยและคนเหล่านี้ ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนแบบอ้อมๆ จากฮิโรฮิโตจะเป็นตัวผลักดันให้ญี่ปุ่นไม่ยอมแพ้สงครามอย่างง่ายๆ ในช่วงท้ายสงครามและโตโจกลายเป็นอาชญากรสงครามไป

ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าฮิโรฮิโตไม่ได้จริงใจในการปฏิเสธความเป็นสมมติเทพของพระองค์และยังแอบใช้ประโยชน์จากความเชื่อเช่นนั้นในเป็นพลังของกองทัพร่วมกับรัฐบาลทหารและพวกนักคิดฟาสซิสต์ดังนั้นหากญี่ปุ่นชนะสงครามโลก ฮิโรฮิโต้ก็จะฉวยโอกาสกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก ในทางกลับกันเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม การเอาตัวพระองค์รอดจากเชือกแขวนคอที่ดีที่สุดก็คือการอ้างความบริสุทธิ์ของตนและโยนความผิดให้กับพวกทหารและพวกฟาสซิสต์ไป (ร่วมกับแม็คอาเธอร์ซึ่งต้องการจะให้สหรัฐฯยึดครองญี่ปุ่นง่ายๆ เพื่อจะได้เป็นป้อมปราการคานอำนาจกับโซเวียต)การลดอำนาจตัวเองให้เป็นประมุขของรัฐเฉยๆ จึงเป็นวิธีการหนึ่ง

แล้วคุณประสิทธิมาสรุปเปรียบเทียบแบบง่าย ๆแคบๆ แบบปราศจากความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทยอีกว่า

"ปัญหาการล้มลุกคลุกคลานระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นนอกจากจะเกิดจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทย “เต็ม” ไปด้วยนักกฎหมายประเภท Ultra-royalist (ดังจะเห็นได้จากการเสนอและสนับสนุนให้ใช้มาตรา 7 รวมทั้งเสนอให้ขยายการบังคับใช้ความผิดฐาน lese-majesty ให้คลุมถึงพระบรมวงสานุวงศ์และองคมนตรีด้วย) แต่กลับ “ขาดแคลน” นักกฎหมายอย่าง “ศาสตราจารย์ มิโนเบะ” ที่ประสงค์จะให้จักรพรรดิไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองและมีอำนาจจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ"

ความจริงที่ผ่านมาปัญหาการล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยยังมีอีกหลายกรณีไม่ว่าการที่ประชาชนไม่รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง ,นักการเมืองโกงกิน,รัฐบาลที่เลือกตั้งมีความฉ้อฉล และเข้าไปครอบงำองค์ที่มาตรวจสอบรัฐ ฯลฯ เราจึงไม่อาจสรุปได้เพียงสองสาเหตุ สำหรับเรื่องลัทธิคลั่งกษัตริย์ ผมคิดว่าการที่ประชาธิปไตยของไทยมีปัญหาไม่ได้เพิ่งเกิดแต่เกิดมาตั้งแต่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกษัตริย์มากขึ้นเรื่อย ๆตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดังนั้นประสิทธิควรจะบอกว่าทหารที่ทำการปฏิวัติหลายกลุ่มได้มอบอำนาจให้พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เกิดจากนักกฏหมายเพียงฝ่ายเดียว ที่สำคัญ การรุกล้ำประชาธิปไตยของพวกคลั่งกษัตริย์ยังได้รับอิทธิพลจากการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองอย่างบ้าคลั่งที่มีมายาวนานก่อนที่จะมีการเสนอกฏหมายไม่ว่ามาตราเจ็ดหรือการขยายการบังคับใช้ความผิดซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่หลังจากการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด แล้วประสิทธิรู้ได้อย่างไรว่า เมืองไทยเต็มไปด้วยนักกฏหมายแบบคลั่งกษัตริย์ เพราะที่ผมเคยเห็นว่าก็มีเพียงบุคคลบางกลุ่มเท่านั้นที่เสนอมาตราเจ็ดเมื่อปีที่แล้ว และก็มีนักกฏมายไม่เห็นด้วยกับมาตราเจ็ดเป็นจำนวนมาก


ตอบโดย ประสิทธิ์

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกความเห็นที่ติชมงานของผม ที่อย่างน้อยก็มีคนอ่านครับ สำหรับความเห็นของคุณ Bach นั้นผมขอตอบดังนี้ ถ้าคุณอ่านให้ดีๆ ไม่มีตรงไหนเลยที่ผมบอกว่าฮิโรฮิโตไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ควรถูกตำหนิเรื่องไปรุกรานจีน หรือ WW II หลังสงครามโลก ท่านไปเยือนยุโรปก็ถูกปชช รังเกียจถูกปาสิ่งของ ผมเองก็เห็นว่าจักรพรรดสมควรถูกประรามเพราะมีฐานะเป็นประมุขของรัฐเเละจอมทัพ ในรัฐธรรมนูญเมจิก็รับรองอย่างนั้นซึ่งงานของผมไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อเท็จจริงนี้เลย ส่วนประเด็นที่บอกว่าผมไม่รู้เรื่องปวสไทยนั้นโดยคุณ Bach

เห็นว่าผมตำหนิเเต่นักกฎหมายเท่านั้นไม่พูดถึงนักการเมือง ทหาร ฯลฯ ก่อนอื่นต้องบอกคุณ Bach ก่อนว่า การที่ผมไม่พูดถึงคนอื่นไม่ได้หมายความว่าผมไม่รู้เพียงเเต่ผมเป็นนักกฎหมายก็เลยประสงค์จะเน้นหนักถึงบทบาทของนักกฎหมายก็เท่านั้นเองครับ ยกตัวอย่างให้ชัดขึ้น จริงๆเเล้วผมกำลังค้นคว้าเรื่องนี้อยู่เเต่บอกนิดนึงก็ได้ เช่นกรณีของอ. หยุด เเสงอุทัย ทำไมผมจึงยกตัวอย่างมิโนะเบะก็เพราะว่า ชะตากรรมที่อาจารย์ทั้งสองท่านประสบเหมือนกันคือถูกขวามจัดเล่นงาน ทั้งๆท่านทั้งสองตีความรัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจ K เพื่อมิให้เเปดเปื้อนกับการเมือง หรือหากคุณไปอ่านรัฐธรรมนูญหลังการปฎิวัติ 2490 เป็นต้นมา โดยเพาะ ปี 2492 คุณก็จะพบว่ามีการเพิ่มอำนาจ...มากขึ้น หรือ พระราชดำรัสวันที่ 4 2548 พระราชดำรัสชัดเจนมากเเต่ทำไม่ไม่มีใครให้ยกเลิกมาตรา 112 ประเด็นของผมอยู่ตรงนี้ต่างหาก จริงๆมีตัวอย่างอีกเยอะเเต่ขี้เกี่ยจพิมพ์ครับ

สำหรับบทบาทของนักการเมือง เเละทหารนั้น ต้องบอกคุณ Bach ว่า หลังรัฐประหารผมเขียนวิจารร์ทหาร โดยเฉพาะเรื่องหลักสูงสุดของความเป็นพลเรือน ล่าสุดก็เขียนวิจารณ์ร่างพรบ ความมั่นคง ย้ำอีกครั้งว่าที่ผมไม่ได้เขียนถึงทหารหรือนักการเมืองหรือใครต่อใครนั้นก็เพราะผมต้องการเน้นพวกนักกฎหมายที่เป็นพวก right wing อีกทั้งคนอื่นก็วิเคราะห์เเล้ว หรืออย่างที่คุณบอกสมัยสฤษดิ์นั้น ก็มีอาจารย์ทักษ เฉลิมเตีรณเขียนเเล้วว่ามีการฟื้นฟูประเพณีอะไรบ้าง หรือของอ. สมศักดิ์เรื่องประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง เนื่องจากมีคนเขียนเเล้วเเละเขียนได้ดีกว่าผมผมจึงไม่เเตะอีก อีกประเด็นหนึ่งที่คุณบอกว่า มีนักกฎหมายหลายคนคัดค้านมาตรา 7 ผมสงสัยว่าจริงหรือ มีนักวิชาการหลายคนค้านเช่น นิธิ ธงชัย ฯลฯ เเต่นักวิชาการเหล่านี้มิใช่นักกฎหมายครับที่เห็นก็มีเเต่ วรเจตน์ อ.สมชาย ปิยบุตร หรืออาจจะมีอีกเเต่ผมว่าไม่น่าเกิน 10 คน เเต่ดูนักกฎหมายที่สนับสนุนซิครับ เอาเเค่คณะผมก็พอ ก็มีพวกผมหน้าเดิมๆที่คัดค้านตั้งเเต่เรื่องรัฐประหาร คดียุบพรรค เเค่นี้เอง

สิ่งที่ผมกำลังจะสื่อถึงผู้อ่านก็คือ นักกฎหมายพวกขวามักจะได้ดี เเต่นักกฎหมายที่มีจิตใจปชต เเละต้องการปกป้องสถาบันอย่างเเท้จริงกับได้เคราะห็กรรมอย่างสาหัส ดูอย่างอ ปรีดี พนมยงค์ หยุด เเสงอุทัย หรือมิโนะเบะ ไม่รู้เขียนมานี้เข้าใจความคิดผมมากขึ้นหรือปล่าวไม่อาจทราบได้ เเต่เนื่องด้วยมีข้อจำกัดหลายอย่าง ผมเองพูดตรงๆก็ไม่ได้ อย่างไงก็ขอบคุณความเห็นติชมอีกครั้งครับ



จากการถามและตอบของข้อเขียนข้างต้นสามารถดูได้ใน comment ของบทความตามลิงก์นี้...

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2_comment.php?mod=mod_ptcms&ContentID=10053&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

ไม่มีความคิดเห็น: