วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ระบอบประชาธิปไตยของปวงประชามหาชน


นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจได้เลวร้ายลงเป็นลำดับ และปัจจุบัน กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่วิกฤตอย่างรวดเร็ว การสัประยุทธ์ครั้งใหญ่ระหว่างระบอบเผด็จการอำนาจนิยมของกลุ่มจารีตนิยม-ราชการด้านหนึ่ง กับขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของปวงประชามหาชนในอีกด้านหนึ่งกำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ

รัฐประหาร 19 กันยายน เป็นข้อพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า การเมืองไทยนับแต่รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 เป็นต้นมามีเนื้อในที่เป็นระบอบอำนาจนิยมของกลุ่มจารีตนิยม-ราชการซึ่งผูกขาดครอบงำการใช้อำนาจรัฐผ่านแกนในของกองทัพและระบบราชการ แต่มีเปลือกนอกเป็นการสลับกันไปมาระหว่างระบอบเผด็จการทหารแบบโจ่งแจ้งกับระบอบรัฐธรรมนูญที่มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองและรัฐบาลที่อ่อนแอ มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนหุ่นเชิดของกลุ่มจารีตนิยม ส่วนในทางเศรษฐกิจ ก็เป็นระบบทุนนิยมขุนนางที่พวกจารีตนิยมและพันธมิตรทุนเก่าของพวกเขาผูกขาดครอบงำเศรษฐกิจ อยู่บนโภคทรัพย์จำนวนมหาศาลที่สร้างโดยหยาดเหงื่อแรงงานชีวิตของปวงประชาชนมหาชนชั้นล่างในเมืองและชนบท

รัฐประหาร 19 กันยายนจึงมีลักษณะเช่นเดียวกับรัฐประหารของพวกจารีตนิยม-กองทัพในอดีต คือเป็นการฉีกเปลือกนอกที่เป็นระบอบรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งซึ่ง “ไม่สะดวก” ออกไป และเผยให้เห็นเนื้อในที่เป็นระบอบอำนาจนิยมของกลุ่มจารีตนิยม-ราชการออกมาอย่างโจ่งแจ้งอีกครั้ง แต่รัฐประหาร 19 กันยายนก็มีลักษณะที่แตกต่างไปจากอดีต เพราะรัฐประหารครั้งนี้มีเนื้อหาสาระพิเศษคือ เป็นการโค่นล้มนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็งและเป็นนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนชั้นกลางและชั้นล่างทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีลักษณะแตกต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีต เพราะเป็นเงื่อนไขให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ มีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มั่นคง สามารถดำเนินนโยบายบริหารประเทศที่เป็นอิสระจากกลุ่มจารีตนิยมได้ชั่วขณะ

ในสายตาของพวกจารีตนิยม ความผิดของผู้นำไทยรักไทยคือ การปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ลงทุนโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ เปิดเสรีการค้าการลงทุน เสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการผลิตและแข่งขันของไทย มุ่งยกระดับเศรษฐกิจไทยจากการผลิตที่เน้นแรงงาน ไปสู่การผลิตที่เน้นฝีมือและความรู้ แปรเศรษฐกิจสังคมไทยให้ทันสมัย แต่ทั้งหมดนี้เป็นทิศทางที่ทำให้กลุ่มจารีตนิยม-ราชการและทุนเก่าต้องสูญเสียผลประโยชน์และอำนาจผูกขาดที่พวกเขาได้ครอบงำเศรษฐกิจไทยมานับร้อยปี

แต่ความผิดบาปขั้นมหันตโทษของผู้นำไทยรักไทยกลับเป็นการดำเนินมาตรการประชานิยมหลายสิบโครงการ โอนย้ายทรัพยากรจำนวนมหาศาลจากส่วนกลางไปสู่ประชาชนชั้นล่างที่เป็นคนจนในเมืองและชนบททั่วประเทศ ให้ประชาชนชั้นล่างได้เข้าถึงโอกาส อาชีพ เงินทุน และสวัสดิการพยาบาลเป็นครั้งแรกในชั่วชีวิตของพวกเขา สร้างความนิยมในตัวผู้นำรัฐบาลอย่างกว้างขวางและไม่เคยปรากฏมาก่อน ชัยชนะเลือกตั้ง 19 ล้านเสียงเมื่อต้นปี 2548 และ 16 ล้านเสียงเมื่อเดือนเมษายน 2549 ของผู้นำไทยรักไทยได้สร้างความตระหนกสุดขีดให้กับกลุ่มจารีตนิยม เพราะประชาชนชั้นล่างผู้ยากจนนับสิบล้านคนทั่วประเทศนั้น แต่ไหนแต่ไรมาก็คือฐานพลังการเมืองที่สำคัญที่สุดของกลุ่มจารีตนิยมที่พวกเขาเพียรสร้างและรักษาเอาไว้ตลอดมา ความนิยมของประชาชนชั้นกลางและชั้นล่างทั่วประเทศที่มีต่อผู้นำไทยรักไทยนี้แหละที่ถูกมองว่า เป็นภัยอันตรายสำคัญต่อสถานะและอำนาจของพวกจารีตนิยม

รัฐประหาร 19 กันยายนมีลักษณะเฉพาะเช่นเดียวกับรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 คือ เป็นรัฐประหารที่พวกจารีตนิยมได้ยอมลงทุนฉีกหน้ากาก “นักบุญ” ของตนเองทิ้งและเผยโฉมหน้าอัปลักษณ์ที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมออกมาอย่างโจ่งแจ้งไม่ปิดบังอีกต่อไป แต่ในขณะที่รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เป็นเพียงการปราบปรามเข่นฆ่านิสิตนักศึกษาฝ่ายซ้ายจำนวนน้อยในเมือง และมิได้มีผลสะเทือนในแง่การเมืองของชนชั้นโดยตรงและชัดเจน รัฐประหาร 19 กันยายนกลับมีผลสะเทือนลึกซึ้งอย่างยิ่งเพราะเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางชนชั้นอันแหลมคมและกว้างขวางทั่วประเทศระหว่างกลุ่มจารีตนิยม-ราชการ-ทุนเก่า-ปัญญาชนขวาจัดด้านหนึ่ง กับกลุ่มทุนใหม่-ปัญญาประชาธิปไตย-ชนชั้นล่างในเมืองและชนบทในอีกด้านหนึ่ง เป็นรัฐประหารท่ามกลางความขัดแย้งที่ประชาชนชั้นกลางในเมืองและชนชั้นล่างทั่วประเทศกำลังมีการตื่นตัวทางประชาธิปไตยและทางการเมืองในระดับสูง

รัฐประหาร 19 กันยายนทำให้ประชาชนจำนวนมากได้เห็น “โฉมหน้าที่แท้จริง” ของพวกจารีตนิยมเป็นครั้งแรก ผลก็คือ ผู้คนเกิดอาการ “ตื่นจากฝันในเทพนิยาย” เป็น “โรคตาสว่าง” และเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า อะไรคืออุปสรรคขัดขวางที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยตลอดหลายสิบปีมานี้

แต่พวกจารีตนิยมไม่เข้าใจว่า ช่วง 15 ปีนับแต่รัฐประหารของ รสช.เป็นต้นมา สังคมไทยและประชาชนไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ในทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยได้พัฒนาก้าวหน้าไปผูกพันกับระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในสากลอย่างแยกไม่ออกทั้งในด้านการค้า การลงทุน วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ในด้านการเมือง ประชาชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชั้นล่างในเมืองและชนบท ได้เกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างสูงอันเป็นผลสะเทือนจากรัฐธรรมนูญ 2540

รัฐบาลทหารจึงได้กระทำการผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าในนโยบายเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากไม่มีความเข้าใจในความเกี่ยวเนื่องระหว่างเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลกและในพัฒนาการล่าสุดของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เป้าหมายของพวกจารีตนิยมคือ กระชากให้ระบบเศรษฐกิจไทยเดินถอยหลัง ปฏิเสธการแข่งขันและการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ต่อต้านโลกาภิวัตน์ แช่แข็งระบบเศรษฐกิจไทยให้หยุดนิ่งจมปลักอยู่กับระบบทุนนิยมขุนนางที่พวกจารีตนิยมและกลุ่มทุนเก่ามีอำนาจผูกขาดครอบงำไปตลอดกาล สกัดและเบียดขับกลุ่มทุนใหม่ ให้ประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทเป็นเพียงข้าไพร่บริวารผู้ผลิตมูลค่า แรงงานและทรัพยากร ที่ถูกสูบขึ้นไปเป็นโภคทรัพย์อันมหาศาลของกลุ่มจารีตนิยม-ทุนเก่าปีแล้วปีเล่าต่อไปไม่สิ้นสุด

พวกเขาชูแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้เป็นนโยบายการบริหารประเทศอย่างทั่วด้าน แต่กลับไม่สามารถอรรถาธิบายความหมายได้อย่างชัดเจน สร้างความสับสนให้แก่ภาคธุรกิจไทยและต่างชาติที่สงสัยว่า นี่อาจเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ พวกเขาเพิ่มงบประมาณกลาโหมปี 2550 จาก 8 หมื่นล้านบาทไปเป็นกว่าแสนล้านบาท เพิ่มถึงกว่า 30% ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ หว่านโปรยเม็ดเงินงบประมาณสารพัดรายการให้กับคณะรัฐประหารและแต่งตั้งนายทหารรวมทั้งสมุนที่เป็นพวกปัญญาชนขวาจัดเข้ามาเสวยผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจอย่างอิ่มหมีพีมัน สร้างความโกรธแค้นชิงชังทั่วไปในหมู่ประชาชน

พวกเขาประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30% ต่อเงินทุนไหลเข้า สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดให้กับตลาดทุนและทำลายความเชื่อถือของนักลงทุนไทย-ต่างชาติที่มีต่อธนาคารแห่งประเทศจนหมดสิ้น อีกทั้งไม่สามารถแก้ปัญหาการเก็งกำไรที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าจนเป็นอันตรายต่อการส่งออกไทยตามที่อ้าง พวกเขาผลักดันการแก้ไข พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กำหนดนิยามใหม่ในการเป็น “ธุรกิจไทย” จงใจใช้กฎหมายย้อนหลังเล่นงานนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย บังคับให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติในธุรกิจบัญชีหนึ่งและบัญชีสองต้องขายหุ้นให้คนไทยภายในสองปี ในอีกด้านหนึ่ง ก็ประกาศ “บังคับยึดสิทธิบัตร” ยารักษาโรคเอดส์และโรคหัวใจของบริษัทยาต่างชาติในประเทศไทยโดยไม่เจรจาหรือเตือนล่วงหน้า อันเป็นการผิดขั้นตอนปฏิบัติตามกฎหมายสากล อีกทั้งยังผลักดัน พรบ.การประกอบธุรกิจค้าปลีก ซึ่งให้อำนาจหน่วยราชการแบบเบ็ดเสร็จที่จะเข้ามาแทรกแซงธุรกิจค้าปลีกได้ เจาะจงที่จะใช้อำนาจรัฐไปเล่นงานย้อนหลังทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจค้าปลีก ทั้งหมดนี้ก็คือ การกลั่นแกล้งยึดทรัพย์นักลงทุนต่างชาติในประเทศไทยเพื่อสนองประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนเก่า สร้างความโกรธแค้นอย่างกว้างขวางในหมู่นักลงทุนต่างชาติ พวกเขาจึงพากันระงับแผนการลงทุนใหม่ทั้งหมดในขณะที่การลงทุนที่มีอยู่เดิมก็ไม่มีการขยายตัวหรือกระทั่งย้ายฐานออกไปยังประเทศอื่น

ในทางการเมือง พวกเขาดำเนินมาตรการ “ล้างแค้น” รัฐบาลไทยรักไทยด้วยการไล่รื้อนโยบายและมาตรการประชานิยม ตัดลดเงินงบประมาณ เปลี่ยนชื่อ บั่นทอน และทยอยยกเลิกบรรดาโครงการที่เป็นผลประโยชน์ของชนชั้นล่างในเมืองและชนบท ทั้งหวยบนดิน โครงการสุขภาพถ้วนหน้า หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ บ้านเอื้ออาทร ทุนการศึกษาหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน เป็นต้น ใส่ร้ายป้ายสีบิดเบือนความบกพร่องเสียหายของสนามบินสุวรรณภูมิ แต่งตั้งศัตรูทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยเข้ามาเป็นฝูง ตั้งหน้า “สอบสวนเอาผิดคดีทุจริต” เจาะจงเฉพาะผู้นำและนักการเมืองในรัฐบาลไทยรักไทย กดดันให้มีการยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิ์ทางการเมืองผู้บริหารพรรค 5 ปี ส่งกำลังทหารเข้าไปในชุมชนแออัดในเมืองและหมู่บ้านชนบท ควบคุมข่มขู่มวลชนมิให้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิทางการเมือง ตลอดจนยังคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกในอีกครึ่งประเทศ ในขณะที่การฆ่าฟันและความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ยิ่งแผ่ขยายรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ กระทั่งเกิดวินาศกรรมคืนวันสิ้นปีทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งหมดนี้ประกอบกับความขัดแย้งกันเองภายในรัฐบาลและในหมู่คณะรัฐประหาร เป็นผลทำลายความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ การลงทุนและการใช้จ่ายบริโภคของประชาชนหยุดชะงัก เศรษฐกิจตกต่ำ

แต่เป้าประสงค์ที่แท้จริงของรัฐประหาร 19 กันยายนนั้นอยู่ที่การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างเปลือกนอกที่เป็นระบอบรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ ปกปิดเนื้อในอำนาจรัฐที่ยังคงเป็นระบอบอำนาจนิยมของพวกจารีตนิยม-ราชการ เปลือกหุ้มนี้ต้องเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทย” ที่มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองขนาดเล็ก มีรัฐบาลที่อ่อนแอไร้อำนาจ และมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนหุ่นเชิดที่ไว้ใจได้ของพวกจารีตนิยม ซึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการนี้จะต้องไม่มี “ข้อผิดพลาด” ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ปล่อยให้มีพรรคการเมืองใหญ่ที่เข้มแข็งและมีรัฐบาลกับนายกรัฐมนตรีที่มั่นคง สามารถใช้อำนาจบริหารที่เป็นอิสระจากพวกจารีตนิยมได้ในระดับหนึ่งนั่นเอง

ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างกลุ่มจารีตนิยม-ราชการ ทุนเก่าและปัญญาชนขวาจัดด้านหนึ่ง กับกลุ่มทุนใหม่ ปัญญาชนประชาธิปไตยและชนชั้นล่างในเมืองและชนบทในอีกด้านหนึ่ง และก็เป็นการต่อสู้สองแนวทางระหว่างระบอบอำนาจนิยมและระบบทุนนิยมขุนนางอันล้าหลังของพวกจารีตนิยม-ทุนเก่าด้านหนึ่ง กับระบอบประชาธิปไตยมหาชนและแนวทางทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ก้าวหน้าในอีกด้านหนึ่ง

รัฐประหาร 19 กันยายนได้ทำให้การต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้สองแนวทางดังกล่าวยกระดับขึ้นสู่ขั้นตอนใหม่ จากก่อน 19 กันยายน ที่กลุ่มจารีตนิยม-ราชการเป็นฝ่ายรุก และฝ่ายประชาธิปไตยเป็นฝ่ายรับ มาสู่ปัจจุบัน ที่กลุ่มจารีตนิยม-ราชการเป็นฝ่ายรับ และฝ่ายประชาธิปไตยกลับมาเป็นฝ่ายรุก การเคลื่อนไหวต่อสู้ของฝ่ายประชาชนมีลักษณะมวลชน มีความหลากหลายทั้งรูปแบบ การจัดตั้ง วิธีการและเครื่องมือ มีการเคลื่อนไหวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นความขัดแย้งที่แหลมคมและไม่อาจประนีประนอมกันได้อีกต่อไป ที่จะนำไปสู่การแตกหักทางชนชั้นและทางแนวทางในที่สุด

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของปวงประชามหาชนในครั้งนี้มีความหมายแตกต่างสำคัญจากการต่อสู้เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 เพราะแม้ในครั้งนี้ เป้าหมายเฉพาะหน้าจะยังคงเป็นการขจัดอำนาจ “เผด็จการทหาร” ออกไป เอาประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญกลับคืน แต่คราวนี้ แม้ภารกิจขจัดเผด็จการทหารจะเสร็จสิ้น การต่อสู้จะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ไปเป็นการขจัดรากเหง้าที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหารและเผด็จการทหาร เป็นอิทธิพลบ่อนทำลายการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยมาทุกยุคสมัย เพื่อขจัดต้นตอของอำนาจนิยมและเผด็จการในสังคมไทยอย่างเด็ดขาด และให้ดอกผลประชาธิปไตยที่ได้มามีความยั่งยืนสถาพร

เป้าหมายเฉพาะหน้าของการต่อสู้คือ คว่ำบาตรการร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ นำเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาและให้มีการเลือกตั้งโดยทันที ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือ ให้มีมาตรการลิดรอนกลไกและอำนาจของกลุ่มนอกรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ 2540 ขจัดอำนาจแฝงเร้นออกไปอย่างสิ้นเชิง ก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตยมหาชนที่ซึ่ง “ปวงชนชาวไทยเป็นทั้งเจ้าของอำนาจอธิปไตยและผู้ใช้อำนาจนั้นด้วยตนเอง”


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=7319&SystemModuleKey=HilightNews

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คิดเก่า เก่า เต่าพันปีสีแดง