วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2550

deja vu ปัญหา "พระราชอำนาจ" ใน พ.ศ.2499 : กรณีหยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


ผู้ที่อ่านบทความของผมใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับใหม่ คงเห็นว่า ผมได้ชี้แจงว่า บทความดังกล่าว ("ความเป็นมาของคำว่า 'นาถ' ใน 'พระบรมราชินีนาถ'") เป็นบทความเรื่องแรกในบทความ 3 เรื่องที่กล่าวถึงความสัมพันธ์-ความขัดแย้งระหว่างราชสำนักกับรัฐบาลสมัยครึ่งหลังทศวรรษ 2490 (คือยุค "กึ่งพุทธกาล") บทความเรื่องที่ 2 จะเกี่ยวกับกรณีที่ ดร.หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในปี 2499 ในที่นี้ ผมขอเล่าโดยสรุปถึงเนื้อหาสำคัญของบทความดังกล่าว (ซึ่งผมยังทำไม่เสร็จดี) เนื่องจากมีประเด็นที่ชวนให้คิดเปรียบเทียบกับกรณีวิวาทะ เรื่อง "พระราชอำนาจ" ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

หยุด แสงอุทัย เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง ความสามารถ และบทบาทมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ หนังสือตำรากฎหมายของเขาหลายเล่มยังถือเป็นมาตรฐานสำหรับนักเรียนนิติศาสตร์ในปัจจุบัน (แม้แต่ตำราอธิบายกฎหมายที่เลิกใช้แล้ว คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ร.ศ.127 ของเขา ก็เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ใหม่ในรูปเล่มหรูหรา เมื่อเร็วๆนี้เอง) ในปี 2499 เขาเป็น "มือกฎหมาย" อันดับหนึ่งของรัฐบาล เพราะมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (ในระหว่างที่มีการวิวาทะ ที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้ มีผู้เรียกเขาอย่างล้อเลียน โดย "แปล" ชื่อเขาเป็นภาษาอังกฤษตรงๆว่า "ดร. Stop Sunlight" ซึ่งผมคิดว่าเป็น "ฉายา" ที่น่าทึ่งดี แม้ว่าความจริง ชื่อต้นของเขามาจาก "สายหยุด")

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2499 หยุด แสงอุทัย ได้อ่านบทความออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาล ชื่อ "อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย" ไม่กี่วันต่อมา ส.ส.สังกัดพรรครัฐบาลของจอมพล ป.ในขณะนั้นคนหนึ่ง (พรรคเสรีมนังคศิลา) ได้ยื่นเรื่องถึงตำรวจขอให้สอบสวนดำเนินคดีกับหยุด ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากข้อความบางตอนของบทความนั้น หลังจากนั้น บรรดาหนังสือพิมพ์ต่างพากันเขียนโจมตีเขาเป็นการใหญ่ ทั้งในบทนำ และคอลัมภ์ประจำ รวมถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วย

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ไม่ใช่บทความของหยุด แต่เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานออกอากาศทางวิทยุก่อนหน้าบทความของหยุด 2 สัปดาห์ คือในคืนวันที่ 25 มกราคม 2499 เนื่องในโอกาส "วันกองทัพบกไทย" (ชื่อที่เรียกวันนั้นในขณะนั้น) ในพระราชดำรัสดังกล่าว ซึ่งสร้างความ "ฮือฮา" ให้กับวงการเมืองอย่างยิ่ง ในหลวงทรงกล่าวตอนหนึ่งว่า "ทหารจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับที่ตนได้รับความไว้วางใจ ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่ไม่อยู่ในหน้าที่โดยเฉพาะของตน เช่น ไปเล่นการเมือง ดังนี้เป็นต้น" ซึ่งถูกตีความโดยทั่วไปว่า เป็นพระราชวิจารณ์รัฐบาลและกลุ่มปกครอง ("คณะรัฐประหาร" หรือ ร.ป.) ในขณะนั้นโดยตรง

ในทัศนะของผม พระราชดำรัสวันที่ 25 มกราคม 2499 มีความสำคัญอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์ คือเป็นครั้งแรกหลัง 2475 ที่พระมหากษัตริย์ทรงแสดงความเห็นทางการเมือง-สังคมของพระองค์เองต่อสาธารณะโดยตรง (ผมไม่นับกรณีการถกเถียงกับรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 ก่อนสละราชย์ เพราะทรงเขียน หรือมีพระราชดำรัสถึงรัฐบาล มากกว่าสาธารณะ การตีพิมพ์เผยแพร่ใน "แถลงการณ์สละราชย์" เป็นเรื่องภายหลัง)

ผมต้องทำความเข้าใจ ประเด็นสำคัญหนึ่งในที่นี้ว่า หลัง 2475 เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและรัชกาลที่ 7 และต่อมาคือผู้สำเร็จราชการพระองค์, ในหลวงอานันท์ และในหลวงปัจจุบัน ว่า พระมหากษัตริย์ไม่สามารถมีพระราชดำรัส, พระราชหัตถเลขา, หรือพระบรมราชโองการต่อสาธารณะได้ โดยไม่ผ่านการเห็นชอบของรัฐบาลก่อน นี่เป็นหลักการของการปกครองระบอบ "รัฐธรรมนูญ" หรือ "ประชาธิปไตย" ที่ปฏิบัติกันทั่วไปทางสากล เหตุผลในเรื่องนี้คือสิ่งที่ หยุด แสงอุทัย จะอธิบายในบทความที่กล่าวถึง และผมจะสรุปต่อไป สมัยหนึ่งถึงกับมีการถกเถียงในหมู่รัฐบาลว่า พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่มีถึงราชวงศ์ต่างประเทศเป็นต้น ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาลหรือไม่

ในทางปฏิบัติ รัชกาลที่ 7, คณะผู้สำเร็จฯ, ในหลวงอานันท์ ถึงในหลวงปัจจุบัน ได้ปฏิบัติตาม "ประเพณี" การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญนี้มาโดยตลอด จนถึงจุดที่กำลังกล่าวถึง (คำว่า "ประเพณี" นี้ ในหลวงปัจจุบันทรงเรียกการปฏิบัตินี้เอง ดังจะได้เล่าต่อไป) ที่น่าสนใจ คือ แม้แต่พระราชดำรัสวันที่ 25 มกราคม 2499 เอง ก็มีการนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ก่อนการออกอากาศ แต่ผมเข้าใจว่า (หลักฐานเรื่องนี้ไม่เด็ดขาด ผมจะอธิบายในบทความจริง)

เนื่องจากร่างพระราชดำรัสถูกนำเสนออย่างกระชั้นชิดมาก คือก่อนเวลาออกอากาศไม่กี่ชั่วโมง (ปกติต้องนำเสนอล่วงหน้าหลายวัน) รัฐบาลเองจึงยอมให้ออกอากาศไป เพราะถ้าห้ามการออกอากาศ หมายกำหนดการจะเสียไป อีกเหตุผลหนึ่ง (ผมกำลังคาดการณ์) คือรัฐบาลอาจจะไม่ต้องการจะขัดแย้งกับในหลวงโดยตรง "ประเพณี" ที่กำลังพูดถึงนี้ อันที่จริงอยู่ได้ในลักษณะที่ "เป็นที่เข้าใจกันโดยปริยาย" ว่า ร่างพระราชดำรัสที่ฝ่ายราชสำนักเตรียม จะไม่มีลักษณะการเมือง ไม่เคยมีกรณีแบบนี้มาก่อน (ความจริงที่ว่า นี่เป็นพระราชดำรัสที่ได้รับการกราบบังคมทูลจาก และทรงพระราชทานต่อ กองทัพบกซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การนำของสฤษดิ์ ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจไม่ยับยั้งการออกอากาศ)

ดังที่กล่าวข้างต้น พระราชดำรัสวันกองทัพบก เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงการเมืองอย่างมากเป็นเวลาหลายวัน แต่ก็ดูเหมือนจะเงียบหายไป (รัฐบาลได้พยายามมีมาตรการภายในที่จะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก ซึ่งผมจะอธิบายในบทความ) แต่แล้วในคืนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ หยุด แสงอุทัย ได้อ่านบทความของเขาออกอากาศ (เขาอธิบายภายหลังว่า เดิมเขามีหมายกำหนดการจะออกอากาศในปลายเดือน แต่เนื่องจากผู้ที่ถูกกำหนดให้พูดเดิมป่วย จึงเลื่อนของเขาขึ้นมา)


หัวใจสำคัญของบทความ "อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย" ของหยุด แสงอุทัย อาจสรุปได้ ดังนี้...

ในระบอบประชาธิปไตย ถือว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้น ผู้ที่ใช้อำนาจแทนประชาชน ไม่ว่าใครก็ตาม จึงต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนควบคู่กันไปด้วย คือ ต้องสามารถถูกควบคุมจากประชาชนได้ ถูกตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ว่าผิดได้ จนถึงถูกให้ออกจากตำแหน่งได้ (คำว่า "ความรับผิดชอบ" ในที่นี้ หยุด ไม่ได้เปรียบเทียบกับภาษาอังกฤษ แต่เขาหมายถึง accountability แน่นอน ซึ่งอาจจะเรียกบทความของเขาให้ตรงยิ่งขึ้นได้ว่า "อำนาจและการถูกตรวจสอบ/เอาผิดได้" หรือ power and accountability)

หลังจากนั้น เขาได้ยกตัวอย่างการที่ผู้มีอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ถูกทำให้ต้องรับผิดชอบได้ (accountable) ในกรณีต่างๆ ตั้งแต่ คณะรัฐมนตรี, ส.ส. นักการเมือง พรรคการเมือง จนถึงรัฐสภา

เมื่อถึงกรณีพระมหากษัตริย์ เขาเสนอว่า เนื่องจากเราไม่ต้องการให้มีการเอาผิด วิพากษ์วิจารณ์ (คือ accountability) กับพระมหากษัตริย์ ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงควรต้องอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถทำอะไรด้วยพระองค์เองได้ คือ ไม่มีอำนาจ นั่นเอง

(ตามข้อเสนอนี้ การที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงมี "ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ" ก็เพราะ จะทรงทำอะไรด้วยพระองค์เองไม่ได้ ต้องทรงทำตามที่ "ผู้รับสนอง" เสนอ และให้การเห็นชอบด้วยเท่านั้น เพราะพระมหากษัตริย์ไม่สามารถจะถูกเอาผิดได้ แต่ประชาชนเอาผิดกับผู้รับสนองได้ ดังนั้น ผู้รับสนองจึงต้องเป็นผู้มีอำนาจแท้จริงในการตัดสินใจ (อำนาจมาพร้อมกับการถูกเอาผิดได้ หรือพูดในทางกลับกัน การถูกเอาผิดได้ของผู้รับสนอง ก็มาพร้อมกับอำนาจ นี่เป็นความเข้าใจต่อการมี "ผู้รับสนอง" ที่ไม่ตรงกับปัจจุบันซึ่งประมวลพูดถึง)

ต้องเข้าใจว่า การที่หยุด เสนอเช่นนี้ มาจากหลักการแรกสุดที่กล่าวในตอนต้น คือ ในระบอบประชาธิปไตย "อำนาจ" ต้องมาพร้อมกับ "ความรับผิดชอบ" หรือ "การถูกตรวจสอบ/เอาผิดได้" ไม่ว่ากรณีใดๆ ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบ/เอาผิดได้กับพระมหากษัตริย์ ก็ต้องไม่ทรงมีอำนาจของพระองค์เอง

ในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนที่มีอำนาจ ต้องถูกตรวจสอบ/เอาผิดได้ ถ้าถูกตรวจสอบ/เอาผิดไม่ได้ ต้องไม่มีอำนาจ

ข้อความสำคัญที่สุดที่หยุดอธิบายเรื่องนี้ คือข้อความต่อไปนี้

"ในขณะนี้ปรากฏว่าได้มีการวิพาษ์วิจารณ์การกระทำของพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมสาธารณะหรือในทางหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญนั้น องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ฉะนั้นในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จึงทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) (และพระมหากษัตริย์จะทรงกระทำผิดมิได้ก็ต่อเมื่อพระองค์มิได้ทรงกระทำอะไรโดยพระองค์เอง-สมศักดิ์) แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์"

"องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองหรือทางสังคมของประเทศโดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ" (คือโดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐบาลก่อนนั่นเอง - สมศักดิ์)

ผมจะไม่เล่ารายละเอียดของพายุทางการเมืองที่เกิดจากบทความของหยุด ในที่นี้ เพียงแต่ขอสรุปว่า ในที่สุดทางตำรวจได้ยืนยันว่า สิ่งที่หยุดพูด ไม่ผิดกฎหมาย จอมพล ป.เองก็ออกมาให้สัมภาษณ์ปกป้องหยุดว่า "หรือพวกคุณต้องการให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงทำทุกอย่างได้โดยไม่ต้องมีผู้รับสนอง"

แน่นอนว่า ฝ่ายปรปักษ์ทางการเมืองของจอมพล ป.ย่อมไม่เห็นด้วย ที่น่าสนใจมากในความเห็นของผม คือการวิจารณ์ของคึกฤทธิ์ ปราโมช (สยามรัฐ 12 กุมภาพันธ์ 2499) คึกฤทธิ์ ไม่ได้ปฏิเสธอย่างแท้จริงว่า สิ่งที่หยุดเสนอไม่ถูกหลักประชาธิปไตย แต่ strategy ของเขา คือ ปฏิเสธว่าระบอบที่เป็นอยู่ไม่ใช่ประชาธิปไตย "ประชาธิปไตยที่ไหนบ้างที่นายกรัฐมนตรีเป็นทหารประจำการ? ประชาธิปไตยที่ไหนบ้างที่ผู้บัญชาการทหารทุกกองทัพมาเป็นรัฐมนตรีอยู่ในคณะ?.....ฯลฯ" (คึกฤทธิ์ยังเสนอเหมือนกับที่ตอนนี้กำลังพูดกันคือ ในหลวงทรงเป็น "จอมทัพ" จึงมีสิทธิ์ที่จะมีพระบรมราโชวาทต่อกองทัพบกโดยตรง ไม่ต้องมีผู้รับสนองหรือได้รับการยินยอมจากรัฐบาลก่อน)

ผมขอจบการเล่าเรื่องนี้เพียงนี้ แต่ขอ "ปิดท้าย" ด้วย พระราชดำรัสอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในทัศนะของผม มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งเช่นกัน กล่าวคือหลังเหตุการณ์ปี 2499 แล้วประมาณ 4 ปี (นี่คือสมัยสฤษดิ์) ทรงมีพระราชดำรัสครั้งหนึ่ง โดยที่ไม่ได้ทรงมีร่างพระราชดำรัสล่วงหน้า เพื่อให้รัฐบาลเห็นชอบก่อน (พูดแบบชาวบ้านคือ ทรงพระราชทานแบบ "สด") ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ ดังนี้

"วันนี้ขอยกตัวอย่างประเพณีที่ดีและไม่ดี ตามประเพณีการปกครองประเทศ โอวาทของพระมหากษัตริย์หรือพระราชดำรัส ต้องเขียนเพื่อให้รัฐมนตรีรับสนอง แต่เดี๋ยวนี้ก็กำลังพูดไม่ใช่อ่าน เพราะว่าได้ทำตามประเพณีอันหนึ่งของคนไทย [ที่] ไม่สู้ดี คือ ทำเกินประเพณีฝรั่ง โอวาทนี้เพิ่งเตรียมเมื่อบ่าย 2 โมงนี้เท่านั้นเอง ควรจะเตรียมมานานแล้ว แต่เห็นว่าไม่จำเป็น อาจจะไม่รู้เรื่องเท่าไรนัก นี่เป็นตัวอย่างประเพณีที่ไม่ดีที่เราไม่ควรจะทำตาม"

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่หลัง 2475 ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกัน คือการที่พระมหากษัตริย์ทรงสามารถ (มี "พระราชอำนาจ") ที่จะทรงมีพระราชดำรัสได้ตามพระราชหฤทัยของพระองค์ โดยไม่ต้องรอการเห็นชอบจากรัฐบาลก่อน ความสำคัญอันใหญ่หลวงของเรื่องนี้ คงไม่จำเป็นต้องอธิบาย (ขอเพียงแต่นึกถึงพระราชดำรัส 4 ธันวาคมของทุกปี) ที่น่าสังเกตคือ เมื่อทรงมีพระราชดำรัสนี้ ยังทรงกล่าวถึงวิธีปฏิบัติตั้งแต่หลัง 2475 มาจนถึงจุดนั้นว่า เป็น "ประเพณีการปกครองประเทศ" ซึ่งการที่ทรง "ทำเกิน" ในครั้งนั้น เป็นการ "ไม่สู้ดี" แต่หลังจากนั้นไม่นาน การพระราชทานพระราชดำรัสในลักษณะนี้ ก็ได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยไป (ผมจะวิเคราะห์เรื่องนี้โดยละเอียดในบทความใหม่อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ แต่มีชื่อแบบไม่เป็นทางการทำนอง "พระราชดำรัสพระราชทาน 'สด' ก่อน 14 ตุลา")


ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มา : http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document9542.html

ไม่มีความคิดเห็น: