วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ทำไมสถาบันกษัตริย์สามารถครองใจประชาชนได้ ?


ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้หลายคนคงเห็นว่าในแวดวงวิชาการในประเทศเราได้มีการหยิบยกประเด็นที่สำคัญ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันไม่น้อย ว่าจริงๆแล้วสถาบันกษัตริย์ของเราดำรงตัวอยู่ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่เราเรียกกันว่ายุคทุนนิยมดอดคอมได้อย่างไร..? และภายใต้สภาพการดำรงอยู่นั้นกระบวนการที่สำคัญด้านหนึ่งก็คือ ต้องมีการพยายามทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อได้ว่า สถาบันกษัตริย์ นั้นมีลักษณะพิเศษบางอย่างที่ต้องคงดำรงไว้โดยไม่มีการตั้งคำถามต่อความชอบธรรมไม่ว่าจะในด้านใดก็ตาม… กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร…?

จริงๆแล้วหากเราย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาเราจะพบว่า หลายต่อหลายครั้งที่ความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ถูกท้าทายอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อครั้ง พ.ศ. 2475 หรือการวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะอย่างในรัฐสภาเองก็ตาม1 คำถามคือ การตั้งคำถามลักษณะนี้ทำไมจึงหายไปจากสังคมไทยทั้ง ๆที่เราเองก็มีวัฒนธรรมแบบนี้มาช้านานเช่นกัน คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ากระบวนการที่สำคัญๆในการที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้คงหนีไม่พ้นการทำความเข้าใจกับเรื่องของการครองความคิดจิตใจ (Hegemony) ซึ่งมีอิทธิพลและมีพลังพอที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้

ในระบบสังคมที่มีชนชั้นเนื่องจากชนชั้นนำเป็นคนส่วนน้อยของสังคมมันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ชนชั้นนำเองต้องแสวงหาความชอบธรรมและปกครองคนบนพื้นฐานของการใช้ความรุนแรงพร้อมๆกัน2 ซึ่งเป็นสองด้านที่ดูขัดแย้งกันแต่มีพลังพอที่จะทำให้คนเชื่อได้ว่าไม่ขัดแย้งกันและดำรงอยู่ด้วยกันได้ผ่านคำอธิบายที่ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่มีมานานแล้ว กรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นตัวอย่างที่ดีของนิทานเรื่อง “กษัตริย์นักประชาธิปไตย” ทั้งๆที่ตอนนั้นผู้ที่เสนอให้มีประชาธิปไตยมิใช่กษัตริย์ก็ตาม ซึ่งเค้าโครงประวัติศาสตร์ชุดนี้ถูกผลิตซ้ำต่อๆ กันมาว่ากษัตริย์เป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแต่ในความเป็นจริง กษัตริย์ในสมัยนั้นต่างหากที่ถูกปฏิวัติเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากประชาชน และองค์กรที่ทำหน้าที่อย่างดีในการผลิตซ้ำทางความคิดหรืออุดมการณ์นั่นก็คือ ประชาสังคม (civil society) ประชาสังคมในที่นี้จะหมายถึง วัด โรงเรียน ซึ่งถือเป็นสถาบันหลักในสังคมที่ทำหน้าที่กล่อมเกลาผู้คนในสังคมเชื่อ ในกรณี 2475 คนส่วนใหญ่จึงเชื่ออย่างไม่มีการตั้งคำถามว่า กษัตริย์ในขณะนั้นอยากมีประชาธิปไตยจริงหรือ….? และนอกจากนี้บทบาทและสถานะที่ดีอีกอย่างหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ก็คือที่พึ่งพาขั้นสุดท้ายของระบบทุนนิยม3 จะเห็นว่าในวิกฤตต่างๆของระบบทุนนิยมสถาบันกษัตริย์จะถูกดึงมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ระบอบการปกครองดำรงตนอยู่ต่อไปได้ดังตัวอย่าง เช่นกรณีการออกมาแก้วิกฤตทางการเมืองในเหตุการณ์ วันที่ 14 ตุลา 2516 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เพื่อตอกย้ำอุดมการณ์เรื่อง กษัตริย์นักประชาธิปไตย แต่เราต้องไม่ลืมว่าการแสดงจุดยืนทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ในแต่ละครั้งนั้นจะพยยายามสะท้อนถึงความเป็นผู้ปกครองที่ดี และจุดยืนแต่ละครั้งนั้นต้องสอดคล้องกับเป้าหมายของชนชั้นปกครองในยุดสมัยนั้นด้วย ตัวอย่างของกรณีนี้ก็ได้แก่ การออกมาแสดงตนเพื่อเรียกร้องความพอเพียงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ในเหตุการนี้เราจะเห็นการทำงานสองด้านของระบบทุนนิยมอย่างชัดเจนที่สุดคือ ด้านแรก มีการปลดคนงานตามสถานที่ทำงานต่างๆออกโดยยกภาระหนี้และความรับผิดชอบให้แก่ผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการนั้นๆ ให้ยอมรับชะตากรรมที่ตนไม่ได้ก่อขึ้นซึ่งส่วนนี้จะกระทำโดยรัฐ กับด้านที่สอง มีการรณรงค์เป็นนโยบายของรัฐว่าด้วยการดำรงค์ตัวในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ โดยยกนิทาน เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือการกินอยู่อย่างพอเพียงเพื่อเป็นการตอกย้ำความคิดของคนในสังคมว่าวิกฤตเศรษฐกิจเกิดจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่อดออมของปัจเจก โดยมีตัวแสดงร่วมคือสถาบันกษัตริย์กับรัฐทุนนิยม โดยโยนความรับผิดชอบที่คนธรรมดาๆไม่ได้ก่อขึ้น ให้คนธรรมดารู้สึกเสมือนหนึ่งว่าเป็นความรับผิดชอบของตนที่ตนต้องรับผิดชอบทั้งๆที่ตนไม่ได้ก่อ

จากปรากฏการณ์ที่ได้พยายามยกมาจะเห็นว่ากระบวนการครองความคิดจิตใจที่เกิดขึ้นโดยสถาบันกษัตริย์นั้นล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ให้กับระบบทุนนิยมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวทั้งสิ้นแต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากระบวนการของการครองความคิดจิตใจ จะมีพลังและความสามารถในการครองความคิดหรือจิตใจของคนส่วนใหญ่ได้ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันที่พยายามเริ่มมีการตั้งคำถามต่อเรื่องของความชอบธรรมของการกระทำต่างๆของสถาบันกษัตริย์และพยายามศึกษากระบวนการครองความคิดจิตใจผ่านงานทางวิชาการซึ่งก็เป็นที่ยอมรับไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของ นักอนุรักษ์นิยมอย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ที่มองว่า ทุกสถาบันหากขาดการวิจารณ์ก็ต้องพัง ต้องเปิดเผย ต้องวิจารณ์ได้4 หรือกรณีการศึกษาการครองความคิดจิตใจของสถาบันกษัตริย์ในสถานะที่จะพยายามสถาปนาพระราชอำนาจนำผ่านการศึกษาเรื่องโครงการพระราชดำริ5 เป็นต้น


เชิงอรรถ

1 โปรดดู ธงชัย วินิจจะกูล,ข้ามไปให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา, (มูลนิธิ 14 ตุลา:กรุงเทพ,2548)น. 21-2.

2 สถาบันกษัตริย์ในระบบทุนนิยมไทย” ใน ใจ อึ้งภากรณ์ และนุ่มนวล ยัพราช บก., รื้อฟื้นการต่อสู้ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ (สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน,2547),น. 89-125.

3 เพิ่งอ้าง .น89-125.

4การมีสถาบันกษัตริย์ถูกกว่ามีประธานาธิบดี”ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับ,สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย, ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2548,น. 85.

5 ชนิดา ชิตบัณฑิตย์โครงการพระราชดำริ:การสถาปนาพระราชอำนาจนำ พ.ศ.2494-2546” วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547.และดูบทคัดย่อวิทยานิพนธ์นี้ได้ใน ฟ้าเดียวกันฉบับ “สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย” ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2548,น. 172-191.


บทความโดย : อภิศักดิ์ สุขเกษม

ที่มาของบทความ : http://www.prachatai.com/webboard/sendreport.php?id=16760

ไม่มีความคิดเห็น: