Machiavelli แนะนำบรรดาผู้ปกครองทั้งหลายให้ปฏิบัติตามหลักการอันนี้ :
ผู้ปกครองจะต้องรวมความเข้มแข็งของสิงโตเข้ากับความหลักแหลมของสุนัขจิ้งจอกเอาไว้ด้วยกัน จะต้องระมัดระวังตัว ไหวตัว ไร้ความเมตตา และมีความพร้อมทันที ฆ่าหรือขจัดปรปักษ์ หรือทำให้ศัตรูเป็นอัมพาตโดยปราศจากการเตือนให้รู้ล่วงหน้า และเมื่อผู้ปกครองกระทำการอันใดที่เป็นอันตรายต่อศัตรู ก็จะต้องกำจัดศัตรูไปพร้อมกันทั้งหมด.
นิยามของคำว่าทรราชในพจนานุกรม
ใน ”พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2525” ระบุว่าถึงความหมายของ ”ทรราช” ว่า เป็นคำนาม หมายถึง “ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทำความเดือดร้อนทารุณให้แก่ผู้อยู่ใต้การปกครองตน เรียกลัทธิเช่นนั้นว่า ทรราชย์ หรือ ระบบทรราช.
ส่วน ”พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ-ไทย” ฉบับราชบัณฑิตสถาน 2524 หากเปิดไปที่คำว่า tyranny จะแปลว่า ทรราชย์ ระบบทรราช หมายถึง การใช้อำนาจโดยพลการ แบบรวบอำนาจเอาไว้แต่ผู้เดียว และโดยปกติเป็นไปในทางที่โหดร้ายทารุณ ทั้งนี้ไม่ว่าจะได้อำนาจนั้นมาด้วยวิธีใด เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ และไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อยู่ใต้อำนาจ
ใน “Merriam-Webster’s Collegiate Dictionary/Thesaurus” ได้ให้ความหมายดังนี้
ty•rant oun [ME tirant, fr. OF tyran, tyrant, fr. L tyrannus, fr. Gk tyrannos] (14c)
1 a : an absolute ruler unrestrained by law or constitution
b : a usurper of sovereignty+
2 a : a ruler who exercises absolute power oppressively or brutally
b : one resembling an oppressive ruler in the harsh use of authority or power
_1996 Zane Publishing, Inc. and Merriam-Webster, Incorporated. All rights reserved.
และใน “The American Heritage Dictionary” ได้นิยามความหมายของคำว่า tyranny ดังนี้
tyr-an-ny (t-r“…-n-) n., pl. tyr-an-nies. 1. A government in which a single ruler is vested with absolute power. 2. The office, authority, or jurisdiction of an absolute ruler. 3. Absolute power, especially when exercised unjustly or cruelly. 4.a. Use of absolute power. b. A tyrannical act. 5. Extreme harshness or severity; rigor.
ทรราชในสารานุกรมอเมริกานา
ศาสตราจารย์ทางด้านสังคมศาสตร์แห่ง Yale University คือ Frederick Mundell Watkins อธิบายคำว่า Tyranny ในสารานุกรมฉบับนี้ว่า "Tyranny" ทรราชย์ คือคำที่ถูกนำมาใช้บ่อยๆกับรัฐบาลที่กดขี่บีบคั้นประชาชนของตน และใช้หลักการต่างๆที่สร้างขึ้นมาด้วยความรุนแรง ทั้งทางด้านศีลธรรม และรัฐธรรมนูญ. ถึงแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะพูดว่า ระบบทรราชเป็นเรื่องระบบซึ่งเกี่ยวกับคนหลายคน หรือกลุ่มการปกครอง แต่ปกติแล้วศัพท์คำนี้จะใช้อ้างอิงถึงคนๆเดียว ที่ปกครองด้วยการใช้อำนาจกดขี่ บังคับ หรือใช้อำนาจไปในทางทีผิด และใช้อำนาจมากเกินไป
ต้นกำเนิดของคำ ๆ นี้ ย้อนกลับไปถึงสมัยกรีกโบราณ ในช่วงระหว่างยุคของ ทรราช(tyrants) (ประมาณ ศตวรรษที่ 7-6 ก่อนคริสตศักราช) ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการล่มสลายของสถาบันต่างๆตามขนบประเพณเดิมีของกรีกโบราณ จากการล่มสลายของขนบประเพณีและสถาบันการปกครองดังกล่าว ได้นำไปสู่การถือกำเนิดขึ้นมาของจอมเผด็จหลายคนในรัฐต่างๆเป็นจำนวนมาก ซึ่งรู้จักกันในฐานะพวก”ทรราช”. บุคคลที่ทำตัวเป็นทรราชเหล่านี้ได้สถาปนาตัวเองขึ้นมา เพราะไม่พอใจในกษัตริย์ต่างๆที่สืบทอดตระกูลตกทอดกันมา และเมื่อยึดอำนาจมาแล้ว บรรดาเหล่าทรราชทั้งหลายจะปกครองโดยไม่สนใจต่อกฎหมายสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญเท่าใดนัก
ทรราชย์หลายคนในสมัยโบราณ มีความเก่งกล้าสามารถมาก และเป็นที่นิยมรักใคร่ด้วย. แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยการถือกำเนิดขึ้นมาของระบอบประชาธิปไตยของกรีก ทำให้การปกครองโดยคนๆเดียวหรือทรราชได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมและไม่มีใครเห็นด้วย. ทรราชจึงเริ่มเสื่อมความนิยมลง และได้ถูกโค่นลง(tyrannicide หมายถึง การฆ่าทรราชย์)ไปในที่สุด. สำหรับการโค่นล้มทรราชนั้น ในสมัยประชาธิปไตยของกรีกถือว่า การกระทำดังกล่าวเป็นภารกิจของผู้รักชาติ
พอมาถึงช่วงประมาณศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล, ความเกลียดชังอาฆาตพวกทรราชได้ถูกฝังลึกเข้าไปในกระดูก ความเกลียดชังอันนี้ได้สะท้อนออกมาให้เห็นในงานเขียนของปรัชญาเมธีทั้งสองท่าน คือ เพลโต และ อริสโตเติล (ในทางรัฐศาสตร์ถือว่า นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้เป็นนักทฤษฎีทางการเมืองที่มีอิทธิพลมากที่สุดของกรีกยุคโบราณ). ทั้งเพลโตและอริสโตเติล แม้ว่าจะมีความรู้สึกต่อต้านประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้ชื่นชมต่อพวกทรราช ดังจะเห็นได้จากงงานเขียนของท่านทั้งสอง ซึ่งได้มีการใช้คำว่า”ทรราช”ในฐานะที่เป็นศัพท์คำหนึ่งซึ่งเป็นการตำหนิ และสบประมาท และใช้เป็นคำเรียกที่แสดงให้เห็นถึงความที่น่าอัปยศอดสู. จนกระทั่งคนรุ่นต่อมาได้เรียนรู้ที่จะจำแนกความแตกต่างระหว่างการปกครองโดย”กษัตริย์” กับ การปกครองโดย”ทรราช”ได้อย่างชัดเจน นั่นคือ การปกครองในระบอบกษัตริย์ถูกรับรู้ว่าเป็น"รูปแบบการปกครองโดยอาศัยกฎหมายอย่างบริบูรณ์และดีงาม" ส่วน"การปกครองในระบอบทรราชนั้น ปราศ จากกฎหมาย และเป็นไปในทางทุจริต".
การจำแนกความแตกต่างอันนี้ กลายเป็นประเด็นหลักหรือแนวทางสำคัญของความคิดต่อมาในสมัยกลาง. ในช่วงยุคกลางนั้น ส่วนใหญ่มีการปกครองในระบอบกษัตริย์หรือราชาธิปไตย แต่กษัตริย์ในสมัยกลางก็ทรงปกครองโดยยึดระเบียบปฏิบัติทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ มากกว่าจะเป็นผู้ปกครองแบบเผด็จการ. พระราชอำนาจของพระองค์จะทรงถูกจำกัดโดยขนบธรรมเนียมและกฎหมายศักดินา รวมทั้งกฎแห่งเทววิทยา เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในพระราชอาณาจักรของพระองค์เอง ซึ่งถูกบัญญัติโดยพระผู้เป็นเจ้าสำหรับรัฐบาลของมนุษยชาติทุกๆคน.
ในสมัยกลางนั้นตำแหน่งผู้ปกครองมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็น"กษัตริย์" ผู้ซึ่งให้ความเคารพต่อข้อผูกมัดทางกฎหมาย หรือจะเป็น"ทรราช" ผู้ไม่เคารพต่อกฎหมายใดๆทั้งสิ้น. อย่างไรก็ตาม ทุกๆคนต่างให้การยอมรับต่ออำนาจแห่งองค์กษัตริย์ทั้งหลายว่าได้รับพระบัญ ชาจากพระผู้เป็นเจ้า แต่อำนาจของเหล่าทรราชนั้นไม่เป็นที่ชัดเจน.
นักเทววิทยาบางคนเชื่อว่า บรรดาทรราชทั้งหลายได้ถูกส่งลงมาโดยพระผู้เป็นเจ้าด้วยเช่นกัน แต่เป็นการส่งลงมาในฐานะที่เป็นการทำโทษ และการต่อต้านภารกิจต่างๆอันถือว่าเป็นบาปอย่างหนึ่งด้วย. นักเทววิทยาบางคนสอนว่า การเชื่อฟังหรืออยู่ในโอวาท เป็นเรื่องที่ต้องยอมให้กับกษัตริย์ต่างๆเท่านั้น, แต่สำหรับพวกทรราชแล้ว มันเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะขับไล่หรือเข่นฆ่าทรราชได้ด้วยกฎแห่งสวรรค์ และกฎหมายสูงสุด เพราะคนเหล่านี้ปกครองด้วยวิธีการอันรุนแรง และกดขี่ขูดรีดประชาชน.
ด้วยการถือกำเนิดขึ้นมาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16-17 คำสอนในยุคกลางเกี่ยวกับการเข่นฆ่าทรราช(tyrannicide) ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาและได้รับการนำมาใช้อย่างได้ผลมากโดยบรรดาผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ. ดังตัวอย่างเช่น เมื่อรัฐสภาอังกฤษได้บีบบังคับให้ขับไล่ และประหารชีวิตกษัตริย์ Charles ที่ 1 (r.1625-1649). การที่รัฐสภาอังกฤษได้ให้ความเห็นชอบให้กระทำเช่นนั้น เนื่องมาจากว่ากษัตริย์ Charles ที่ 1 ทรงใช้พระราชอำนาจของพระองค์ไปในทางทุจริต มีการใช้ความรุนแรงซ้ำๆซากๆในทางกฎหมายของพระราชอาณาจักร์ จากการกระทำดังกล่าวซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นชัดว่า พระองค์ทรงเป็นทรราช ดังนั้น พระองค์จึงสมควรต้องได้รับโทษด้วยชีวิตเพียงสถานเดียวเท่านั้น เพื่อเป็นการชดใช้หนี้กรรมของพระองค์จึงจะเป็นความชอบธรรม.
การประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกัน(1776) ชาวอเมริกันยุคแรกที่เข้ามาบุกเบิกทวีป ต้องทนต่อการกดขี่ขูดรีด และปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลอังกฤษมาเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงมีการรวมตัวกันเพื่อร้องหาอิสรภาพ การเรียกร้องอิสรภาพนั้นได้อิงอาศัยข้ออ้างเหตุผลที่จะต้องทำการปฏิวัติอเมริกัน โดยการฟ้องร้องในทำนองเดียวกันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติที่มีลักษณะ ทรราชของกษัตริย์ George ที่ 3. ด้วยเหตุนี้ การสถาปนาขึ้นมาของรัฐบาลที่ยึดถือหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ จึงเป็นรูปแบบหลักของการเมืองสมัยใหม่ ซึ่งได้เป็นหนี้บุญคุณอย่างมากต่อขนบประเพณี ซึ่งไม่ได้ตัดขาดไปจากยุคโบราณแต่อย่างใดในการต่อต้านระบบทรราช.
และสำหรับคำว่า"ทรราช"นี้ ในตัวของมันเอง มาถึงปัจจุบัน ยังมีสุ้มเสียงบางอย่างที่เป็นแบบฉบับอันเก่าแก่อย่างนั้นอยู่ กล่าวคือ การใช้อำนาจตามอำเภอใจ การใช้อำนาจไปในทางทุจริต. แก่นแท้ใจความสำคัญของคำๆนี้นั้น ก็ยังคงความขัดแย้งร่วมสมัย และยังอยู่กับเราอย่างคุ้นเคยกันต่อไป แต่มันได้เปลี่ยนแปลงชื่อเรียกไปบ้าง กลายเป็นคู่ขัดแย้งกันใหม่ระหว่าง “ระบอบเผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย”.
(อ้างอิง : encyclopedia americana เล่มที่ 27 หน้าที่ 330)
ทรราชในสารานุกรมบริทานนิกา
คำว่า Tyrant หรือ ทรราช / ภาษากรีกคือ TYRANNOS หมายถึง ผู้ปกครองที่โหดร้ายและกดขี่. สำหรับในยุคกรีกโบราณ คำว่า"ทรราช" หมายถึงนักปกครองซึ่งเข้ายึดครองอำนาจโดยมิได้เป็นไปตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ. นอกจากนี้ คำว่า"ทรราช"ยังหมายรวมถึงผู้ปกครองที่รับทอดสืบช่วงอำนาจมาจากนักปกครองคนก่อนที่ได้ยึดอำนาจมาจากกษัตรย์ด้วย.
ในช่วงศตวรรษที่ 10-9 ก่อนคริสตศักราช ระบอบราชาธิปไตยถือเป็นรูปแบบปกติของรัฐบาลในรัฐกรีกทั้งหลาย; แต่ต่อมา ระบบการปกครองโดยชนชั้นสูงได้เข้ามาแทนที่ระบอบราชาธิปไตย ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ถือกำเนิดขึ้นมาราวศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล ระบบการปกครองโดยชนชั้นสูงนี้ ในตัวของมันเองไม่ได้รับความนิยมมากนักจากชนชาวกรีกในยุคโบราณ. ดังนั้น จึงเปิดโอกาสให้กับคนที่มีความทะเยอทะยานที่จะยึดครองอำนาจ กระทำการยึดอำนาจมาเป็นของตนได้.
การปกครองแบบทรราชต่างๆนั้น ที่รู้จักกันดีที่สุดได้รับการสถาปนาขึ้นมาโดย Cypselus at Corinth และ Orthagoras at Sicyon ในช่วงราวๆ 650 BC. สำหรับใน Asiatic Greece ก็มีทรราชอยู่หลายคนเช่นกัน และที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ Thrasybulus of Miletus (c. 600) . ทรราชทั้งหลายเหล่านี้ บ่อยครั้งได้ถีบตัวขึ้นมาจากพวกชนชั้นสูงชายขอบ ยกตัวอย่างเช่น มารดาของ Cypselus ซึ่งอยู่ในสังกัดของวงศ์ตระกูลการปกครองของ Bacchiads, แต่บิดาของเขาไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากนักปกครองคนใดเลย.
ส่วนสำหรับที่ Sicyon (เมืองโบราณของกรีก), Cleisthenes (รัฐบุรุษแห่งเอเธนส์) ได้มาเป็นผู้ปกครองนับจากช่วงเวลา 600 จนมาถึงราวๆ 570 BC. และรัฐบุรุษที่ปกครอง Sicyon ซึ่งประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ Orthagorids แต่อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่ใช่เชื้อสาย Dorian (Dorian หมายถึง ชนเชื้อสายเฮเลนิคโบราณผู้โค่นล้มอารยธรรมไมซีเนียนลง) กลับแสดงออกถึงความไม่พอใจในการปกครองโดยรัฐบุรุษเหล่านี้ พวกเขามีความแค้นเคืองเนื่องมาจาก การที่พวกเขา้ถูกถอดถอนสิทธิ์และการกีดกันในทางสังคม จากบรรดาบุคคลซึ่งอ้างตนว่าสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์มาจาก Dorian.
นักประวัติศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า กองทหารราบกรีกโบราณซึ่งมีจำนวนมากมายในช่วงต้นของศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล ได้เป็นที่มาของการพัฒนาไปสู่การเกิดขึ้นของชนชั้นชาวนาต่างๆ ผู้ซึ่งทำหน้าที่รับใช้กองทหารราบอีกทอดหนึ่งและทหารราบเหล่านี้ได้ให้การสนับ สนุนทรราชต่างๆในฐานะนักรบที่ต่อสู้กับพวกชนชั้นสูงทั้งหลาย. แต่ถึงแม้ว่าว่าบรรดาทรราชต่างๆจะใช้ประโยชน์จากกลยุทธต่างๆจากพวกทหารราบ แต่เป็นไปได้ที่พวกชาวนาจำนวนมากมาย ส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นพวกอนุรักษ์นิยม พวกเขาไม่ใช่นักปฏิวัติ และก็ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะทึกทักเอาเองว่า ทหารราบ-ชาวนาได้พัฒนาความสำนึกทางชนชั้นขึ้นมา.
ทรราชทั้งหลาย ในท้ายที่สุด ได้ถูกพิจารณาว่าเป็นคนที่กดขี่ขูดรีด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดาคู่ปรับทางการเมืองของพวกเขา ทั้งนี้เพื่อต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองนั่นเอง. บุตรของ Cypselus คือ Periander ซึ่งปกครอง Corinth ด้วยอำนาจเต็มอย่างบริบูรณ์ แต่ต่อมา 40 ปีให้หลัง เขาก็ได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นตัวอย่างของ”ทรราชที่เลวร้ายมากคนหนึ่ง". สำหรับระบบทรราช Corinthian ได้เริ่มเสื่อมลงในช่วงปลายทศวรรษ 580 ปีก่อนคริสตศักราช หลังจากการตายของ Periande ไม่นานนัก.
พวก Sparta ได้พัฒนารัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งขึ้นมา ซึ่งระบุว่าพลเมืองทั้งหมดล้วนเป็นทหาร และโดยทางทฤษฎีแล้วผู้คนทั้งหลายต่างมีความเท่าเทียมกัน เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงระบบทรราช. Peisistratus ได้สถาปนาระบอบทรราชขึ้นมาที่ Athens ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 6; บุตรของเขา Hippias ได้ถูกขับไล่โดยกษัตริย์ Cleomenes I ของ Sparta ในปี 510 ก่อนคริสตกาล. ซึ่งจุดเปลี่ยนอันนี้อาจถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดลงของยุคสมัยแห่งทรราช แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนั้นมิได้หมายความว่า เป็นการสิ้นสุดของระบอบทรราช. ชาวเปอร์เชี่ยนชื่นชอบที่จะควบคุมพวกทรราชแห่งนครต่างๆของ Anatolia ของกรีกเอาไว้, ซึ่งชนชาวเปอร์เชี่ยนได้มีชัยชนะราวๆในปี 540 ก่อนคริสตศักราช.
ในตะวันตก ที่ๆอัตตาธิปไตยแบบทหารหยั่งรากลึกลงไปได้ง่าย, ความนิยมชมชอบเกี่ยวกับตัว Gelon แห่ง Syracuse ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และเขาได้พำนักอยู่ในอาณาเขตอันยิ่งใหญ่บนชัยชนะของเขาที่มีต่อ Carthaginians ที่ Himera ในปี 480 ก่อนคริสตศักราช; น้องชายของเขาและในฐานะผู้สืบทอด, Hieron, ผู้อุปการะแห่ง Pindar และอื่นๆ, มีชัยชนะต่อพวก Etruscans ที่ Cumae ในปี 474 ก่อนคริสตกาล และได้มีการเฉลิมฉลองชัยชนะกันในครั้งนั้น. ในปี 405 ก่อนคริสตศักราช Dionysius I แห่ง Syracuse ซึ่งถือว่ามีอำนาจเต็มมากที่สุด ในบรรดาทรราชทั้งหลาย ได้สถาปนาการปกครองของเขาขึ้นมาครั้งแรกในช่วงวิกฤตของการรุกเข้าไปใน Carthaginian อีกครั้ง.
ในยุค Hellenistic ของกรีก ทรราชบางคนยังคงหลงเหลืออำนาจของพวกตนไว้ในความรู้สึกทางชนชั้น; ส่วนทรราชบางคนเป็นชาวต่างประเทศ เหมือนกับทรราชหลายคนที่ได้รับการสนับสนุนโดยกษัตริย์ Macedonian ใน Peloponnese ในศตวรรษที่ 3. ปรากฏการณ์ทั้งหลายยังคงดำเนินต่อไปตราบนานเท่าที่ประเทศกรีกยังเป็นอิสระ.
ทรราชที่ยิ่งใหญ่หลายคนได้เป็นผู้อุปถัมภ์ที่โดดเด่นเกี่ยวกับงานศิลปกรรมต่างๆ และอาคารสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ. บ่อยครั้งบุคคลเหล่านี้ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากรัฐธรรมนูญที่เป็นคนของชนชั้นสูงอันคับแคบ ไปสู่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่า, แต่ในหลักการแล้ว ชนชาวกรีกรู้สึกโกรธและแค้นเคืองต่อการปกครองในลักษณะอัตตาธิปไตย ที่นอกกฎหมายของบุคคลเหล่านี้, ด้วยเหตุนี้ ทรราชย์ในช่วงต้นๆจึงเป็นที่มาของคำเรียกที่มีความหมายไปในทางเลวร้าย, และคำว่า tyrannicides (ผู้เข่นฆ่าทรราช) อย่างเช่น Harmodius และ Aristogiton, ผู้ซึ่งได้ฆ่าน้องชายของ Hippias คือ Hipparchus ที่ Athens, จึงได้รับเกียรติอย่างสูงสุด และได้รับการจดจำในประวัติศาสตร์.
Machiavell
ในสารานุกรม Britannica ฉบับเดียวกันนี้ในเรื่อง”ประวัติศาสตร์ปรัชญาการเมืองตะวันตก ช่วงศตวรรษที่ 16-18” โดยเฉพาะในตอนที่ว่าด้วยเรื่อง “Machiavelli” ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องของทรราชเอาไว้เช่นกัน คือ...
ในความคิดของนักปรัชญาการเมืองอิตาเลี่ยน Niccol Machiavelli อาจได้รับการมองว่าเป็นปรัชญาการเมืองแบบทางโลก(secularization)ที่สมบูรณ์. Machiavelli เป็นนักการฑูตและนักบริหารที่มีประสบการณ์ และเมื่อเขาพูดถึงการต่อสู้กันด้วยอำนาจ เขาได้อธิบายว่า การต่อสู้กันด้วยอำนาจนั้น มันได้รับการชักนำขึ้นมาอย่างไรในสมัยเรอเนสซองค์ของอิตาลี, จากการบรรยายถึงเรื่องนี้ทำให้เขาได้รับชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว. แต่อย่างไรก็ตาม เขามิได้ไม่มีแนวคิดอุดมคติเกี่ยวกับสาธารณรัฐโรมัน และเขาชื่นชมต่อจิตวิญญานอันเป็นอิสระของนครต่างๆของเยอรมันและสวิสส์. อุดมคติอันนี้ทำให้เขารังเกียจเดียดฉันท์มากต่อการเมืองต่างๆของอิตาลี ซึ่งเขาได้ทำการวิเคราะห์มันอย่างเป็นวัตถุวิสัย และขจัดมายาภาพต่างๆออกไปจนหมดสิ้น.
งานเขียนในช่วงปลดเกษียณหลังจากการถูกถอดถอนทางการเมือง, Machiavelli ได้พูดอย่างราบเรียบว่า “เมื่ออันนี้ได้รับการยืนยันโดยทั่วไปเกี่ยวมนุษย์, ซึ่งพวกเขาไม่มีความสำนึกในบุญคุณ เอาแน่ไม่ได้ ผิดพลาด ขี้ขลาด มีกิเลสความต้องการ และตราบเท่าที่ท่านประสบความสำเร็จ ทั้งหมดมันคือของๆท่าน; พวกเขาจะให้เลือดของพวกเขากับท่าน, ให้ทรัพย์สมบัติ, ให้ชีวิต, และลูกๆ...เมื่อความต้องการมันอยู่ไกลห่างมากๆ, แต่เมื่อมันเข้ามาใกล้หรือมาถึง พวกเขาก็จะเปลี่ยนมาต่อต้านท่าน. และมันจะเป็นเช่นนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า.
เมื่อความปรารถนาของมนุษย์มิได้รับการสนองตอบตามความพึงพอใจ ธรรมชาติจะกระตุ้นและสนับสนุนให้พวกเขาแสวงหาทุกสิ่งทุกอย่างๆ และรวมถึงโชคชะตาด้วย. บางครั้งโชคชะตาได้ให้สัญญาแก่พวกเขาถึงความสนุกเพลิดเพลิน แต่ก็ประสบผลเป็นจริงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นั่นจะส่งผลต่อความไม่พึงพอใจอยู่เสมอในจิตใจของพวกเขา, และสร้างความเกลียดชังในสิ่งที่พวกเขาครอบครองอยู่”
ทัศนะอันนี้เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ได้ถูกแสดงออกโดย Plato และ St. Augustine มาแล้ว. Machiavelli ยอมรับข้อเท็จจริงและแนะนำบรรดาผู้ปกครองทั้งหลายให้ปฏิบัติตามหลักการอันนี้. ในเรื่อง The Prince เขาได้กล่าวว่า
“จะต้องรวมความเข้มแข็งของสิงโตเข้ากับความหลักแหลม(ฉลาดแกมโกง)ของสุนัขจิ้งจอกเอาไว้ด้วยกัน: เขาจะต้องระมัดระวังตัว ไหวตัว ไร้ความเมตตา และมีความพร้อมทันที ฆ่าหรือขจัดปรปักษ์ หรือทำให้ศัตรูเป็นอัมพาตโดยปราศจากการเตือนให้รู้ล่วงหน้า. และเมื่อเขากระทำการอันใดที่เป็นอันตรายมันก็จะต้องเป็นไปพร้อมกันทั้งหมด. สำหรับมนุษย์แล้ว ควรจะได้รับการปฏิบัติด้วยดีหรือไม่ก็บดขยี้ เพราะพวกเขาสามารถที่จะแก้แค้นและนำอันตรายมาถึงตัวท่านได้เป็นขบวน แต่ถ้าเอาจริงเอาจังพวกเขาจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้. ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าชายหรือนักปกครองที่มีความลังเลใจ ผู้ซึ่งดำเนินรอยตามหนทางที่เป็นกลาง โดยทั่วไปแล้ว จะประสบกับความพินาศ”.
เขาแนะนำว่า มันจะเป็นการดีที่สุดที่จะลงจากอำนาจในช่วงเวลาที่เหมาะสมตอนที่เป็นฝ่ายชนะ และนครต่างๆที่พ่ายแพ้ควรที่จะถูกปกครองโดยตรงโดยทรราชเอง ด้วยการพำนักอยู่ที่นั่นหรือไม่ก็ทำลายมันเสีย. นอกจากนั้น บรรดาเจ้าชาย(นักปกครอง)ไม่เหมือนกับคนที่สันโดษทั่วไป ไม่ต้องรักษาศรัทธาใดๆไว้: นับแต่ที่การเมืองต่างๆได้สะท้อนถึงกฎหมายที่สับสนยุ่งเหยิงและรกรุงรัง รัฐก็คือกฎหมายของตัวมันเอง, และการปกครองที่มีศีลธรรมธรรมดาไม่จำต้องใช้มันแต่อย่างใด.
ในข้อเท็จจริง Machiavelli ได้กล่าวอย่างไม่เกรงกลัวต่อความจริงเกี่ยวกับการประพฤติตัวของบรรดาทรราชทั้งหลาย; และ วิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้ เขาได้แบ่งแยกระหว่างเจ้าชาย(นักปกครอง)ผู้ซึ่งปกครองโดยกฎหมาย และทรราชซึ่งนำเอากฎหมายมาใช้ตามแต่อารมณ์ของเขา, เขาคิดว่า ผู้ปกครองที่ประสบความสำเร็จจะต้องอยู่เหนือ หรือพ้นไปจากเรื่องศีลธรรม เมื่อความปลอดภัยและการแผ่ขยายของรัฐคือเป้าหมายที่สูงสุด.
ในทัศนะที่สายตาสั้นเช่นนี้, จักรวาลทัศน์(cosmic vision)ของ Aquinas และ Dante จึงถูกมองข้ามและไม่ได้รับความเอาใจใส่, และการเมืองหรือรัฐศาสตร์ จึงกลายเป็นการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด. ในเทอมต่างๆของการอ้างอิง, Machiavelli ได้สร้างกรณีที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ในฐานะที่เป็นนักการฑูตที่มีประสบการณ์ เขาตระหนักว่า มีความเป็นไปได้และน่าเชื่อในความเป็นจริงที่ว่า กลโกงและการหลอกลวงที่เป็นระบบ, การทรยศหักหลัง และความรุนแรง ปกติแล้วจะนำมาซึ่งการแก้แค้น และการจองเวร.
(อ้างอิง : Encyclopedia Britannica CD97)
ผู้เผด็จการ(Dictator)
ในสาธารณรัฐโรมัน "Dictator" ถือเป็นผู้ปกครองชั่วคราวซึ่งมีอำนาจพิเศษ ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาโดย consul (กงสุล หรือผู้มีอำนาจสูงสุดสองคน ในการปกครองแบบสาธารณรัฐของกรุงโรมสมัยโบราณ)โดยการเสนอแนะของสภาสูง และได้รับการยืนยันโดย the Comitia Curiata (ที่ประชุมประชาชน).
ส่วนคำว่า “The dictatorship” เป็นหน่วยงานทางการที่ถาวรอันหนึ่ง ท่ามกลางรัฐละตินต่างๆ(หมายถึงรัฐโรมโบราณ)ในอิตาลี แต่ที่โรม ได้มีการพึ่งพากองทหารเป็นครั้งคราวตามจังหวะเท่านั้น, และภายหลังในภาวะวิกฤติต่างๆ.
สำหรับช่วงเวลาที่ต้องใช้อำนาจเผด็จการนั้น จะมีระยะเวลาจำกัดเพียงแค่ 6 เดือน, อย่างไรก็ตาม เขา(ผู้เผด็จการ)จะวางอำนาจต่างๆของเขาลงตามธรรมเนียมเร็วที่สุด เมื่อเหตุการณ์วิกฤตได้ผ่านไปแล้ว. หลังจากเหตุการณ์ร้ายแรงผ่านไปแล้ว กงสุลและผู้ปกครองคนอื่นๆจะยังคงอยู่ในสำนักงานเผด็จการ(dictatorship)นั้นต่อไป และจะรับผิดชอบหรือเคารพต่ออำนาจ.
ช่วงประมาณศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตศักราช มีการจำกัดขอบเขตของอำนาจเผด็จการ กล่าวคือจะใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัตินอกอาณาเขตของอิตาลี. ยิ่งไปกว่านั้น, ราว 300 BC. ประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้นต่อการจำกัดอำนาจเผด็จการ โดยการควบคุมการใช้อำนาจของบุคคลเหล่านี้ ต่อสิทธิเกี่ยวกับการร้องขอ. ผู้เผด็จการทั้งหลาย ในเวลานั้นจึงได้รับการกล่าวถึง สำหรับหน้าที่ดังกล่าวน้อยลง
การบุกยึด Carthaginian (เมืองโบราณที่เป็นรัฐทางตอนเหนือของแอฟริกาบนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทูนิสในปัจจุบัน)ในสงคราม Punic ครั้งที่สอง(218-201 BC.)ได้กระตุ้นให้มีการฟื้นฟูสำนักงานเผด็จการดังกล่าวขึ้นมาชั่วคราว, แต่ภายหลังปี 202 ก็ไม่มีผู้เผด็จการคนใดได้รับการเลือกขึ้นมาอีกไม่ว่าวัตถุประสงค์ใดๆ.
สำหรับอำนาจเผด็จการนั้นได้มีการประสาทให้กับ Sulla และ Julius Caesar ในช่วงสองทศวรรษสุดท้ายของสาธารณรัฐ, ในศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล, ไม่มีการบ่งชี้ว่ามีการฟื้นฟูเกี่ยวกับสำนักงานเผด็จการนี้ขึ้นมา แต่ได้มีการพัฒนาเกี่ยวกับสำนักงานรัฐธรรมนูญพิเศษ(extraconstitutional office)ขึ้นแทน ซึ่งมีอำนาจอันไม่จำกัด. ระยะเวลาของสำนักงานนี้ได้รับการขยายให้ยาวออกไปจนกระทั่ง Caesar ได้มาซึ่งอำนาจเผด็จการ 10 ปี.
ในปี 46 BC. สำนักงานดังกล่าวได้รับการล้มล้างไป ก่อนที่ Caesar จะถูกฆ่าในปี 44 BC.
(อ้างอิง : Encyclopedia Britannica CD97)
บทความจาก : http://www.midnightuniv.org/miduuu/newpage4.htm
หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางข้อความมิได้มีอยู่ในต้นฉบับ แต่มาจากความสนใจบางประการของผู้จัดเก็บบทความ
วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ประวัติความเป็นมาของทรราช และผู้เผด็จการ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 2:50 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น