วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2550

The Queen: ยุคสมัย อำนาจ และสถาบันกษัตริย์


ไปดู The Queen มาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เป็นหนังที่เกี่ยวกับพระราชินี Elizabeth ที่ 2 แห่งอังกฤษ กับแรงกดดันในช่วงที่เจ้าหญิงไดอาน่าเสียชีวิต ดูแล้วให้ความรู้สึกที่แปลกไปจากดูหนังเรื่องอื่น ๆ เพราะความที่หนังพยายามจะสื่อออกมาให้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องจริง แต่ในขณะเดียวกัน เนื้อเรื่องก็ออกจะดูเสียดสีราชวงศ์พอสมควร เลยไม่แน่ใจว่า หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นมาเพื่ออะไรกันแน่ หากต้องการแค่ความสนุกสนาน ก็คงจะได้ แต่ที่แน่ ๆ มันมีภาพลักษณ์ของราชวงศ์ติดมาด้วย ซึ่งอันนี้คนทำหนัง ไม่คิดถึง คงเป็นไปไม่ได้ เพราะหากจะเป็นการช่วยภาพลักษณ์ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ มันก็ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ถ้าเพื่อเสียดสีล้อเลียน เพื่อให้ราชวงศ์ได้อาย และต่อต้าน (หรืออย่างเลวร้ายที่สุด ก็เพื่อล้มล้าง) สถาบันกษัตริย์ ซึ่งผมเห็นจะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่า เพราะตัวละครแต่ละตัวในราชวงศ์ ต่างถูกสร้างขึ้นมาให้ดูน่าขำอย่างที่สุด

คนที่ผมเห็นว่าภาพลักษณ์ดูแย่ที่สุดในเรื่อง เห็นจะไม่ใช่พระราชินี Elizabeth ที่ 2 หากแต่เป็นเจ้าชาย Phillip ที่หนังสร้างให้เป็นคนที่ดูอนุรักษ์นิยมอย่างรุนแรง วัน ๆ เอาแต่เข้าป่าล่าสัตว์ลูกเดียว ซึ่งก็ดูไม่แปลกหากมองว่า สถาบันกษัตริย์ไหน ๆ ก็มีจุดยืนอนุรักษ์นิยมเช่นเดียวกัน [ใจ อึ้งภากรณ์, 2549] เพียงแต่ถ้ามองในเชิงคนดูทั่วไป ก็แน่นอนว่าออกจะดูขัดหูขัดตา คล้าย ๆ กับหนังมีตัวโกงแบบ master mind ยังไง ยังงั้น ในขณะที่เจ้าฟ้าชาย Charles ก็อ่อนแอมาก และออกจะดูไม่ฉลาดหลักแหลมเอาเสียเลย

แต่กระนั้น ประเด็นหลัก ของหนังที่เอามาขายมีอยู่ 3 ประเด็น ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ


1. ความแตกต่างระหว่างวัย สมัย และเวลา

คนส่วนใหญ่จับตามอง ของการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในยุคที่ความเป็นประชาธิปไตยและแนวคิดเสรีนิยม (Liberal) ถือเป็นหัวใจของการบริหารจัดการรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันที่มีขนบธรรมเนียมที่เคร่งครัด สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้นแน่นอนการถ่ายทอดของอำนาจจากยุคสู่ยุค ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมีการปรับตัว ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของทั้งภายใน และนอกประเทศ รวมไปถึงเรื่องสำคัญ อย่างเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน อย่างข่าวล่าสุด ที่ออกฮือฮา เกี่ยวกับสมเด็จพระราชินี Elizabeth ที่ 2 ก็คือ การที่ทรงซื้อ iPod Mini มาใช้ [See also: Engadget] และเสียงพระราชทานอวยพร เนื่องในวันคริสต์มาสก็ยังเป็น podcast ให้คนสามารถ download มาฟังได้ด้วย [See also: Engadget] จน CBS ขี้นหัวข่าวว่า iQueen

2. แรงผลักดันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และประชาชน

การเลือกประเด็นการเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอาน่า ถือเป็นการเลือกแนวเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นเรื่องที่ ปูทางไปสู่การชี้ให้เห็นการคานอำนาจ ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และประชาชน เพราะเจ้าหญิงไดอาน่าเป็นคนยอดนิยมของประชาชนที่ “เคย” เป็นคนในวัง ซึ่งแน่นอนมันก็ต้องมีพื้นที่สีเทาระหว่างพื้นที่ส่วนตัวในวังและประชาชน รัฐบาลในฐานะตัวแทนของประชาชน ก็ต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ทั้งนี้ ทั้งนั้น รัฐเอง ต่างก็หวังเพียงเพื่อความนิยมจากประชาชน แน่นอนการคานอำนาจจึงจำเป็นที่จะต้องมีคนได้ดุล เสียดุลเป็นธรรมดา

3. ความเสียสละของสถาบันพระมหากษัตริย์

ด้วยแรงผลักดันมาจากประเด็นแรก เรื่องความเปลี่ยนแปลงของเวลา และแนวความคิด มาจนถึงแรงผลักดันภาคประชาชน ผ่านรัฐ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องกลายเป็นสถาบันที่กลายเป็นเป้าโจมตี โดยเฉพาะจาก “สื่อมวลชน”

แน่นอนคานที่ต้องอ่อนลงไปในเรื่องนี้ก็คือ ฝ่ายสถาบันกษัตริย์ หากแต่ไม่ได้มองในรูปแบบของ “ความพ่ายแพ้” แต่ในทางตรงกันข้าม กลับมองผ่านมุมมองในเชิง “ความเสียสละ” ที่หนังพยายามจะต่อสู้ให้กับสถาบัน เพื่อซื้อใจประชาชน

จุดสำคัญ คือ การที่หนังนำข้ออ้างที่ว่า การขึ้นครองราชย์ เป็นสิ่งที่คนที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ไม่สามารถกำหนดได้ มีคนกำหนดไว้แล้ว และการที่จะขึ้นครองราชย์ได้ ก็จะต้อง การแลกเปลี่ยนกับการสูญเสีย พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติอันเป็นที่รักไป ในกรณีของพระราชินี Elizabeth ที่ 2 ก็คือ การขึ้นมามีอำนาจ ต่อจากพระราชบิดาของพระองค์เอง ซึ่งเท่านี้ก็ถือว่าเป็น สมการระหว่างอำนาจและความสูญเสีย ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเห็นใจ (แต่อาจจะไม่ตระหนักถึงมาก่อน)

ผมชอบอีกตอนหนึ่ง ที่สมเด็จพระราชินีพูดกับโทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในเชิงที่ว่า การที่ทรงมีพระพักตร์เงียบขรึม ไม่แสดงความเศร้าโศกเสียใจ หรืออารมณ์อื่นใด ตอนที่เจ้าหญิงไดอาน่าเสียชีวิต ก็เป็นเพราะสถาบันกษัตริย์ เป็นสถาบันที่คนให้ความเคารพ การแสดงออกต่อสาธารณะไม่ว่าจะครั้งใด เป็นถืองาน เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ซึ่งควรจะมาก่อนเรื่องส่วนตัว (มิใช่หรือ) อันนำมาซึ่งการโต้แย้งในประเด็นที่ว่า ชีวิตส่วนตัวในวัง ควรจะถูกนำมาเปิดเผยหรือไม่

บอกตรง ๆ ผมเองตอนที่สมัยเจ้าหญิงไดอาน่าเสียชีวิต ผมเองก็ไม่ได้ติดตามข่าวเรื่องภายใน ว่าจริง ๆ แล้วเหตุการณ์มันเป็นไปอย่างที่หนังว่าไว้หรือเปล่า แต่สิ่งที่มองเห็นได้ ก็คือ ราชวงศ์อังกฤษ เป็นที่ได้รับความเคารพของคนในชาติน้อยกว่าราชวงศ์ไทย ถ้าจำไม่ผิดเคยอ่านมาจากที่ไหนซักแห่งว่า สถาบันกษัตริย์ในอังกฤษก็มีฐานะ เป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติเท่านั้น แต่ไม่มีบทบาทในทางการเมือง แต่ถ้าดูจากหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่เช่นนั้น สมเด็จพระราชินีก็ยัง ทรงมีหน้าที่ทางการเมืองที่ต้องทรงปฏิบัติ เพียงแต่คนทั่วไปมักมองไม่เห็น และไม่ได้รับการเปิดเผย

หากมองผ่านคนที่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุด (โดยเฉพาะคนไทย ไม่ว่าเป็นเจ้ามาจากชาติไหน เราก็รัก และเคารพในฐานะที่เจ้าเหล่านั้น ดำรงอิสริยยศเสมอเหมือน “เจ้าอยู่หัว” ของตน) ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ออกจะให้ความรู้สึกที่แปลกไปอีกแบบหนึ่ง เพราะที่แน่ ๆ บ้านเราคงไม่มีใครกล้ามาทำหนังล้อเลียน เสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างเพียงนี้ ถึงแม้จะมี ก็เป็นการเทิดทูน เฉลิมพระเกียรติยศ ไม่ใช่เป็นการเอาเรื่องภายในออกมาเล่นเช่นนี้

การควักเอาเรื่องชีวิตส่วนตัวในวังออกมา (ถึงแม้จะคาบเกี่ยวกับชีวิตภาคสาธารณะ) เป็นถือเป็นการท้าทายความคิดในเรื่อง สมมติเทพ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เหมือนกับที่ Paul Handley เขียนไว้ในหนังสือ The King Never Smiles [ใจ อึ้งภากรณ์, 2549] แต่ใน The King Never Smiles นั้น ผมเองคิดเห็นส่วนตัว ว่า ออกจะมากไปหน่อย เรื่องบางเรื่อง อ่านแล้วก็อึ้งไปเหมือนกัน (ตอนแรกก็กะว่าจะเขียน review หนังสือเรื่องนี้เหมือนกัน แต่พอเขียนไปซักพัก มีความรู้สึกว่าหมิ่นเหม่เหลือเกิน เลยยกเลิก project นี้ไป)

หลายคนอาจจะสงสัยว่า การที่เราดูหนัง The Queen ของราชวงศ์อังกฤษ ให้ความรู้สึกเหมือนคนต่างชาติอ่าน The King Never Smiles หรือ The Revolutionary King หรือเปล่า ตอนแรกผมก็คิดว่า น่าจะเหมือนกัน แต่คิดไปคิดมาไม่น่าจะเหมือน เพราะบ้านเราให้ความสำคัญ และเคารพเทิดทูน สถาบันกษัตริย์มากกว่าประเทศไหน ๆ ภาพของการเอาสถาบันมาเสียดสี ล้อเลียนบนแผ่นฟิล์มก็ทำให้ดูรู้สึกแปลก ไม่เหมือนคนชาติอื่น ที่มองว่าหนังขายเรื่องขำขันไป แล้วอีกอย่าง The King Never Smiles หรือ Revolutionary King ก็ให้อารมณ์ที่รุนแรง จริงจังมากกว่า (เยอะ) แต่ขนาดไม่จริงจัง อย่าง The King & I หรือ Anna and the King ก็ทำเอาคนไทยเป็นเดือดเป็นร้อนไปตาม ๆ กัน เพราะฉะนั้นก็คงจะแตกต่างกันอย่างแน่นอน

อดไม่ได้ที่จะย้อนกลับมาถึงสถาบันกษัตริย์ของบ้านเรา ถ้าจะมองให้มันหมิ่นเหม่ มันก็หมิ่นเหม่ต่อความคิดนะ เพราะอย่างนั้นคนไทยที่ได้ดูทั่วไปก็จะต้องเอามาเปรียบเทียบกับราชวงศ์ไทยแน่นอน แต่ถ้าจะให้ปิดกั้น ผมเองก็คงไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน หวังว่า กบว. คงไม่อ่อนไหวขนาดนั้น


iTeau’s Dirt

ที่มา : http://iteau.wordpress.com/2006/12/27/thequeen/

หมายเหตุ
เน้นข้อความโดยผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: